“อ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบเก่า การเตรียมตัวสำหรับลงสนามสอบที่วัดผลคะแนนของแต่ละสนาม เป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าไม่เช่นนั้นคะแนนที่ปรารถนาคงไม่ได้มา แต่การบริหารจัดการเวลาใน “วันสอบ” คือสุดยอดเทคนิคให้สิ่งที่เตรียมตัวมาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“สิงห์สนามสอบ” เป็นอีกหนึ่งคำนิยามที่คิดว่าผู้เขียนมีคุณสมบัตินี้อยู่พอตัว ไม่ใช่เพราะว่า ทำข้อสอบอะไรก็ผ่านฉลุย หรือว่าได้คะแนนดีไปซะทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับการเข้าสู่สนามสอบหลายรอบ หลายครั้ง ก็นับว่ามากพอสมควร อาจเนื่องด้วยผู้เขียนร่ำเรียนชั้นอุดมศึกษาในคณะ “นิติศาสตร์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อเรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้ว หากประสงค์จะประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ก็ต้องมีการเข้าสู่สนามสอบหลายสนาม นับจากเรียนจบ เส้นทางกว่าจะประกอบวิชาชีพกฎหมายอย่าง “ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ” จึงต้องเข้าสู่สนามสอบมากมาย และใช้เวลายาวนาน

หากเทียบกับผู้ที่มีความเลิศในทางวิชาการ ผู้เขียนถือว่าเป็นรอง สอบตกบ้าง สอบผ่านบ้าง แต่มาถึงวันนี้ ผู้เขียนก็ได้ผ่านสนามสอบมาพอสมควร หากต้องการเทคนิคการสอบให้ได้ที่ 1 อาจข้ามบทความนี้ไป แต่หากต้องการเทคนิคของคนกลางๆ ทางวิชาการแล้วสอบผ่าน ให้อ่านให้จบ!!!

ในที่นี้ผู้เขียนจึงอยากมาแบ่งปันเทคนิคส่วนตัว ซึ่งเชื่อมโยงจากการสอบผ่านในระดับชั้น “เนติบัณฑิต” และประสบการณ์การสอบ “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” สนามใหญ่ของผู้เขียนมาเล่าสู่กันฟัง

เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้ที่สนใจเทคนิคนี้นำไปใช้บ้าง ไม่ใช่เพียงในสนามสอบวิชากฎหมายเท่านั้น สนามสอบอื่นก็อาจมีประโยชน์ได้ ต้องบอกว่า “เทคนิค” ล้วนๆ ไม่มี “เนื้อหา” ปนเลยหล่ะ

ทุกครั้งที่ผู้เขียนจะเข้าสู่สนามสอบ สิ่งที่ผู้เขียนจะรู้สึกสนุกและมีพลังอย่างมาก ต้องบอกว่าไม่ใช่เนื้อหาที่จะสอบเลย เพราะเนื้อหาที่ว่าเป็นเนื้อหาวิชากฎหมายที่เยอะและยาก หัวไม่ดีเลิศอย่างเรา อ่าน 3 รอบ บางทียังไม่เข้าใจ แต่เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วว่าต้องสอบให้ได้ เพราะฉะนั้นการวางแผนจึงสำคัญพอ ๆ กับการเตรียมตัวด้านวิชาการ

1.) รู้จักตัวเอง

สำคัญมากสำหรับการสอบแต่ละครั้ง เราจะต้องรู้จักและประเมินความสามารถในทางวิชาการของเราอย่างถ่องแท้ และเป็นธรรมกับตัวเองมากที่สุด ไม่เข้าข้างตัวเอง หรือประเมินตัวเองต่ำเกินไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราต้องเตรียมในส่วนของเนื้อหาอย่างไรและใช้เวลาเท่าไหร่

2.) จะเอาแค่สอบผ่าน หรือต้องการได้คะแนนดีที่สุด

หากประเมินตัวเองแล้ว เราจะต้องรู้ว่าสนามสอบนั้น ต้องการอะไร ? บางสนามสอบต้องทำคะแนนได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเรียงลำดับคะแนนในการถูกคัดเลือก แต่บางสนามสอบต้องการคะแนนผ่านเกณฑ์ก็ถือว่าผ่าน ซึ่งตัวเราเองต้องตัดสินใจว่าเราต้องการแบบไหน การตัดสินใจสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราวางแผนในการเตรียมตัวได้ชัดเจนมากขึ้น

3.) ศึกษา “ข้อสอบ” และ “การตอบ”

ข้อนี้การตอบข้อสอบกฎหมายจะชัดเจน เพราะการตอบข้อสอบกฎหมายจะเป็นอัตนัยทั้งหมด โจทย์ยาวและซับซ้อน การตอบต้องตรงประเด็น ในชั้นเนติบัณฑิตและระดับผู้ช่วยพิพากษา ต้องแม่นในตัวบทกฎหมาย และคำพิพากษาฎีกา ที่สำคัญเวลาในการสอบก็จำกัด เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาลักษณะของ “ข้อสอบ” สังเกตการตั้งคำถาม และรู้ว่าเขาถามอะไร เพื่อจะได้ตอบให้ตรงตำถาม ที่สำคัญคือการตอบ วิธีการตอบให้ดี เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ฝึก ฝึกและฝึก จนสามารถสังเคราะห์คำตอบที่ออกมาจากการเขียนสไตล์ของตัวเองให้ได้ ซึ่งข้อนี้คนที่สอบได้คะแนนดี จะฝึกจนชินในการใช้ภาษา แล้วทำให้มีเวลาในการไป Focus กับประเด็นที่ต้องตอบ เพราะวิธีการหรือรูปแบบการตอบ เราได้ฝึกมาแล้ว

4.) ศึกษา “กฎระเบียบ” ใน “วันสอบ” “สนามสอบ” ให้ละเอียดและแม่นยำ

เรื่องนี้ เพื่อบริหารเวลาและสถานการณ์ในห้องสอบให้ราบรื่น และทำให้เราไม่ตื่นสนามสอบหากมีความเข้าใจในกระบวนการ ขั้นตอน กฎระเบียบใน “วันสอบ” ทั้งหมด ข้อนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญมาก !! ถามว่าทำไม ? ก็เพราะผู้เขียนไม่ใช่ผู้ที่เลิศทางวิชาการ แต่ผู้เขียนตั้งเป้าว่าต้องสอบผ่าน ซึ่งการสอบให้ได้คะแนน ก็ต้องทำข้อสอบให้ได้มาก และทันเวลาด้วย ! การบริหารเวลาและสถานการณ์ในห้องสอบจึงสำคัญ

ผู้เขียนขอแบ่งปันประสบการณ์ครั้งที่ผู้เขียนสอบในระดับชั้นเนติบัณฑิตและการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาก็แล้วกัน

ผู้เขียนก็จะต้องรู้ว่าสนามสอบอยู่ที่ไหน ใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปสนามสอบเท่าไหร่ เดินทางอย่างไร เผื่อให้ทันเวลา จะขับรถหรือนั่งรถโดยสารสาธารณะ ผู้เขียนรู้ว่าการเดินทางในกรุงเทพมหานครนั้นรถติด หากผู้เขียนขับรถไปก็จะทำให้เสียเวลาในการท่องหนังสือ ในวันสอบทุกครั้งผู้เขียนก็จะให้คุณพ่อไปส่งบ้าง หรือนั่งรถโดยสารสาธารณะบ้าง เพื่อจะได้มีเวลาทวนก่อนเข้าห้องสอบ

-การบริหารเวลาในการทำข้อสอบเนติบัณฑิต

เนื่องจากว่าในแต่ละวิชาผ่านเกณฑ์ 50 คะแนน ผู้เขียน “ตัดสินใจ” แล้วว่าจะเอาแค่ผ่านเกณฑ์ ข้อสอบมี 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน ผู้เขียนใช้วิธีเลือกมา 4 ข้อแม่น หมายถึงว่า 4 ข้อนี้ผู้เขียนต้องได้ 7 คะแนนขึ้นไป เพื่อจะได้เน้นการอ่านเตรียมตัวสอบให้จำกัดขึ้น เพราะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย 7 คูณ 4 ได้ 28 คะแนน / 50 - 28 เหลือ 22 คะแนนก็จะผ่าน เพราะฉะนั้น 6 ข้อที่เหลือก็ข้อให้ได้ข้อละ 3 - 4 คะแนนก็พอ และห้ามมีข้อที่ได้ 0 คะแนน ซึ่งหมายความว่า ต้องเขียนทุกข้อ เขียนอะไรได้ก็เขียนพอให้มีคะแนน

นอกจากนี้เวลาในการทำข้อสอบนั้นมีจำกัดมาก ตกข้อละ 24 นาที แต่ผู้เขียนให้เวลาข้อละ 20 นาทีเท่านั้น หากยังเขียนตอบไม่เสร็จก็เปลี่ยนข้อทันที แล้วค่อยมาเก็บตกประเด็นที่เหลือ เพราะอย่าลืมว่าทุกข้อคะแนนเท่ากันคือ 10 คะแนน หากข้อนึงได้่ 10 อีกข้อนึงได้ 0 ก็ไม่คุ้มค่ะ ทำให้ข้อนึงได้ 6 แล้วอีกข้อได้ 5 รวมกันก็ยังได้ 11 คะแนน และอาจได้มากกว่านั้นอีก

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดการตัวเองในการทำธุระส่วนตัวก็สำคัญเช่นกัน ในห้องสอบจะเปิดแอร์เย็นมากและจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย การเตรียมเสื้อกันหนาวมาเผื่อเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเวลาเข้าห้องน้ำอยู่นั่นแหละ เสียเวลาทำข้อสอบไปอีก หรือหากสนามสอบไหนมีให้พักเบรกเข้าห้องน้ำ ก็ต้องประเมินดีๆ ว่าช่วงพักเบรกเราจะเข้าห้องน้ำทันหรือไม่ ซึ่งในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้เขียนประเมินแล้วว่าใน 1 ฮอล์สอบ คนสอบเป็นพันคนและห้องน้ำมีน้อย ช่วงพักเบรกเข้าห้องน้ำก็สั้นเหลือเกิน ต้องต่อแถวเข้าห้องน้ำ คงไม่ทันแน่นอน ผู้เขียนจึงเตรียมแพมเพิสผู้ใหญ่พกติดไปเลยเผื่อฉุกเฉิน ! แม้เรื่องจริงจะไม่ได้ใช้ แต่ก็อุ่นใจขึ้นเยอะ หรือแม้กระทั่งเรื่องจำนวนปากกา ดินสอ นาฬิกา บัตรสอบที่ต้องพกเข้าไป รายละเอียดพวกนี้ หากสามารถเตรียมตัวได้ไม่ติดขัด ก็จะทำให้การทำข้อสอบของเราราบรื่นขึ้นไม่มากก็น้อย

5.)นอนให้พอ ผ่อนคลาย มั่นใจในตัวเองก่อนลงสู่สนามจริง

ไม่มีวันไหนสำคัญเท่าวันสอบจริง ต่อให้เตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่วันสอบจริงสมองเบลอเพราะนอนไม่พอหรืออยู่ในภาวะเครียดจนคิดคำตอบไม่ออก ก็น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นจงมั่นใจในตัวเองให้มาก เพราะที่ผ่านมาเราก็เตรียมตัวดีที่สุดในเวลาที่มีแล้ว หากสอบครั้งนี้ไม่ผ่าน ก็เป็นบทเรียนในครั้งหน้า จะได้แก้ไขอย่างถูกทาง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเคล็ดลับส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง แบ่งปันในฐานะผู้ที่เคยเป็น “สิงห์บ้างแมวบ้าง” ในสนามสอบ ผู้เขียนไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่เมื่อต้องสอบเมื่อไหร่ผู้เขียนก็เต็มที่และมีพลังสนุกไปกับมันอยู่เสมอ ขอให้ “สิงห์สนามสอบ” ทุกท่านโชคดีในการสอบของท่านนะคะ


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of content editor THE STUDY TIMES