‘ข้าวไทย’ เป็นสินค้าส่งออกของประเทศมายาวนาน แต่หากจะสืบย้อนกลับไป ว่าเมืองไทยเริ่มมีการพัฒนา ‘พันธุ์ข้าว’ อย่างจริงจังเมื่อไร เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2450 หรือวันนี้เมื่อ 114 ปีที่แล้วนี่เอง

ตามประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีการศึกสงครามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเวลากว่า 550 ปี จนเมื่อเข้าสู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ

โดยสินค้าส่งออกชนิดหนึ่งที่มีการค้าขายจนกลายเป็นของสำคัญ นั่นคือ ข้าว ทว่า ‘ข้าวไทย’ ในยุคสมัยดังกล่าว มีเมล็ดพันธุ์ที่ปะปนกันอยู่มากมาย ทั้งข้าวพันธ์ดีไปจนถึงพันธ์คุณภาพต่ำ ส่งผลให้มีราคาต่ำกว่าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เมืองธัญบุรี (รังสิตในปัจจุบัน) มีชาวนาส่งข้าวเข้าประกวดถึง 324 ราย รวมข้าวได้ 165 พันธุ์ ซึ่งข้าวที่ได้รับรางวัลที่ 1 มีชื่อว่า ‘ข้าวปิ่นทอง’

จากการประกวดในครั้งนั้น ทำให้มีการจัดแบ่งพันธุ์ข้าวอย่างมีมาตรฐานยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการประกวดพันธุ์ข้าวเรื่อยมา โดยนอกจากจะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว ภายหลังยังมีการแจกจ่ายขยายพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เพื่อให้ประชาชนได้นำไปปลูกต่อไป รวมทั้งยังได้ตั้งพันธุ์ข้าวมาตรฐานเอาไว้ด้วยกัน 8 พันธุ์ ได้แก่ พวงเงิน ขาวทดลอง ทองระย้าดำ จำปาซ้อน ปิ่นแก้ว บางพระ น้ำดอกไม้ และนางตานี ซึ่งต่อมายังได้มีพันธุ์ข้าวอื่น ๆ เกิดขึ้นจากสถานีพันธุ์ข้าว และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

http://brrd.ricethailand.go.th/index.php/2016-07-15-05-29-43/136-2017-05-04-02-32-02

http://www.thairiceexporters.or.th/features/Thai%20rice%20center%20of%20modern%20rice%20varieties.htm