คุยเศรษฐกิจปีหน้ากับ "ไหม - ศิริกัญญา" ส.ส.พรรคก้าวไกล | The States Times Click on Clear EP.1

บทสัมภาษณ์ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี ‘2021’ จาก ‘คนหัวใหม่’ ไหม - ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ใครๆ ก็ยกให้เธอเป็น ‘เพชรแท้’ แห่งแวดวงการเมือง

.

 

.

 

.

 

.

 

.

 

.

รายการ : คุยเศรษฐกิจปีหน้ากับ "ไหม - ศิริกัญญา" ส.ส.พรรคก้าวไกล | The States Times Click on Clear EP.1

 

.

มุมมองต่อเศรษฐกิจปี 2564 

เพราะบทสัมภาษณ์ที่เน้นพูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงเปิดเรื่องด้วยประเด็นที่น่าสนใจอย่างมุมมองต่อเศรษฐกิจปี 2564  โดยคุณไหมมองว่าเศรษฐกิจในปีหน้าเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปี 64 คงโตได้ไม่เกิน 4% สิ่งที่เห็นคือเศรษฐกิจลงมาตั้งแต่ปี 62 และคาดว่าจะกลับมาได้ในปี 65 เพราะผลกระทบหลักจากพิษโควิด อีกทั้งหลายภาคธุรกิจยังคงไม่สามารถกลับคืนมาได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จนกว่าจะถึงวันที่วัคซีนครอบคลุมทั่วทั้งโลก

ซึ่งในการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรกนั้น รัฐบาลยังเตรียมตัวไม่พร้อม แต่ในครั้งสองตนมั่นใจว่าไม่เหมือนรอบแรก เนื่องจากมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า โดยสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนว่ามีความสามารถในการรับมือกับโควิดได้เต็มที่ สร้างความมั่นใจว่าเอาอยู่

หากก้าวไกลได้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ 4 ภารกิจที่จะทำ

ปัญหาที่เป็นคอขวดของรัฐบาลมายาวนาน คุณไหมมองว่า คือ

1.) สินเชื่อที่จะให้กับธุรกิจ SME สภาพคล่อง SME เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดและรัฐบาลพยายามอย่างมาก เห็นได้จากนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา เช่น พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ แต่ผลการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างช้ามาก รวมถึง SME ที่ติดข้อกำหนดต่าง ๆ

โดยวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้อาจเป็นการพูดคุยเพื่อผ่อนคลายเงื่อนไข ทำให้ SME ที่รอความช่วยเหลือได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไม่ควรปล่อยจนต้องปิดกิจการไป

2.) เรื่องของตลาดแรงงาน กลุ่มแรงงานในระบบที่ยังคงเปราะบางอยู่มาก ตัวเลขการว่างงานสูงขึ้นเป็นสองเท่า แต่ด้วยภาคเกษตรที่ค่อนข้างใหญ่จึงมีส่วนช่วยดูดซับแรงงานที่ต้องตกงานไปได้บางส่วน แต่อย่างไรตัวเลขก็ยังคงเป็นสองเท่ากว่าปกติ โดยตัวเลขตกงานในวันนี้นั้นอยู่ที่ 8 แสนคน ที่ยังทำงานอยู่ก็โดนลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้รายได้น้อยลงไปด้วย

จึงต้องกำหนดมาตรการออกมาช่วยเหลือ อาทิ โครงการ Co-Payment ไม่ควรจำกัดการจ้างงานเฉพาะเด็กจบใหม่ แต่ควรขยายวงออกไปให้คนที่มีสกิลหรือทักษะพิเศษด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จะสามารถคงการจ้างงานไว้ได้

3.) หนี้ที่เป็นไปแล้วและกำลังจะกลายมาเป็นหนี้เสีย เนื่องจากหนี้ครัวเรือนขณะนี้สูงเป็นประวัติการณ์ของเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้อยู่ที่ 84% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อไหร่ที่คนมีหนี้เพิ่มขึ้น โอกาสในการจับจ่ายใช้สอยยิ่งน้อยลง 

วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย คุณไหมมองว่าควรได้โอกาส โดยขณะนี้กำลังดำเนินการร่างพ.ร.บ.ล้มละลายโดยสมัครใจของหนี้รายย่อย เพื่อให้โอกาสครั้งที่สองกับลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยังไม่อยากเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย ช่วยให้สามารถขอฟื้นฟูกับศาลเพื่อให้เกิดใหม่ได้ก่อน เป็นอีกทางออกให้แก่ประชาชน

4.) การคลัง คุณไหมมองประเด็นนี้ไว้ว่า หากหนี้สาธารณะจำเป็นจะต้องเกินเพดานจริง สามารถเคาะกรอบขยับขึ้นไปได้ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีซึ่งเพียงพอจะจ่ายค่างวดที่รัฐบาลไปกู้มา แต่ที่มีปัญหาคือกฎหมายที่กำหนดเพดานว่าในแต่ละปีรัฐบาลจะกู้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ สิ่งนี้จะเป็นปัญหาในปี 64 เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลตกลงมาก เพราะในปี 63 และ 64 จะเก็บภาษีไม่ได้ ทำให้โอกาสที่รัฐบาลต้องกู้เพิ่มนั้นมีสูงขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลดันมาติดสิ่งค้ำคอคือเพดานหนี้สาธารณะที่ห้ามกู้เกิน 20%  ในการนี้ต้องหาวิธีที่จะปลดเพดานนี้ออก หรือใช้เทคนิคใดมาแก้ปัญหา 

มุมมองต่อโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล

ในส่วนของโครงการคนละครึ่ง โครงการยอดฮิตของรัฐบาล คุณไหมถือว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างดี ทั้งการซอยค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน การเลือกร้านค้ารายย่อย เป็นภาคต่อของชิม ช้อป ใช้ ที่มีการแก้ไขปัญหาหลักก่อนหน้าได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา 3 มาตรการ ได้แก่ บัตรคนจน ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง หากมองดี ๆ ตนมองว่าการดำเนินการคนละครึ่งมุ่งไปที่การช่วยเหลือด้านค่าครองชีพมากกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องที่รองลงมา 

ซึ่งสามเรื่องที่ตนคิดว่าจะต้องมีการจัดการในส่วนของรัฐคือ วิธีคิดของราชการ โครงสร้างการบริหารงานที่ซับซ้อน การสื่อสารกับประชาชนที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนและตรงไปตรงมา

เด็กจบใหม่กับสถานะทางการเงินที่ไม่พอใช้ 

หากพูดถึงปัญหาของเด็กจบใหม่ก็มักจะพ่วงสถานะทางการเงินที่ไม่พอใช้มาด้วย ในประเด็นนี้ คุณไหมได้แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งรายจ่าย และรายได้ โดยในเรื่องของรายจ่าย รู้กันดีว่าค่าครองชีพในกรุเทพมหานคร ยกตัวอย่างขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ประกาศราชการออกมาพาช็อคกันถ้วนหน้ากับราคาที่แพง เรื่องนี้นั้นเป็นปัญหาที่รัฐต้องออกมาแก้ เนื่องจากการบริหารโครงสร้างมีความขาดทุน ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บค่าโดยสารราคาถูกให้กับประชาชนได้ จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ระบบขนส่งสาธารณะและเรื่องของการขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นปกติ โดยในส่วนนี้เองรัฐสามารถเข้าไปอุดหนุนได้  

ต่อมาเป็นเรื่องของรายได้ สิ่งนี้ต้องมาดูที่ทักษะหรือสกิล ซึ่งหากทักษะที่มีเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นปกติที่ต้องได้เงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่น สิ่งนี้ต้องดูที่คุณภาพของบัณฑิตจบใหม่ว่าตรงกับที่ตลาดต้องการหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องมีโปรแกรมที่จะปรับทักษะใหม่ เพิ่มทักษะอื่น ๆ เพื่อไปทำงานที่ตลาดแรงงานต้องการ 

ค่าครองชีพที่สูง และการควบรวมกิจการระหว่างซีพี-เทสโก้โลตัส

ประเด็นของการควบรวมกิจการระหว่างซีพี-เทสโก้โลตัส สองยักษ์ใหญ่ที่เป็นกระแสว่าใครได้ใครเสียนั้น คุณไหมมองว่าต้องเกิดผลกระทบในธุรกิจค้าปลีกอย่างแน่นอน และทางฝั่งผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกที่น้อยลง จากเดิมที่มีสองเจ้าแข่งกัน อาจคาดหวังว่าราคาจะถูกลง หรือมีการแข่งขันทางด้านคุณภาพ แต่การควบรวมโดยไม่มีเงื่อนไขจะทำให้ประชาชนเจอกับปัญหาราคาข้าวของที่แพงอยู่แล้วซ้ำไปอีก  

ขณะที่ฝั่งที่ได้รับผลกระทบมากกว่านั้น คือ คู่แข่งและผู้ค้า ร้านโชห่วยที่ต้องต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ แต่จะทำอย่างไรให้การแข่งขันรายเล็กจิ๋วกับรายใหญ่สุดเป็นไปในทิศทางที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนที่สามที่ต้องเดือดร้อน คือ ผู้ค้า หากธุรกิจยักษ์ใหญ่ควบรวมกันก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น บีบกรอบของผู้ผลิตลงต่ำได้อีก ทำให้ผู้ผลิตอยู่ยากเพราะไม่มีเงินไปต่อยอดพัฒนาสินค้าของตัวเอง เพราฉะนั้นสิ่งที่พยายามจะผลักดันคือ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างตัวเล็กกับตัวใหญ่ได้

ทฤษฎีสองสูง

ทิ้งท้ายประเด็นทางเศรษฐกิจ มีการหยิบยกทฤษฎีสองสูง ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ขึ้นมาพูด โดยคุณไหมอธิบายว่า ทฤษฎีดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกับที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นเรื่องดีที่พยายามช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น แต่ค่าอาหารก็แพงขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้กลับมาย้อนคิดว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองอย่างที่สูงขึ้น ส่วนเกินที่เกิดขึ้นจะเข้ากระเป๋าใคร ตนมองว่าทฤษฎีสองสูงเกิดได้จริง แต่ต้องเป็นในขอบข่ายที่เศรษฐกิจมีการกระจายตัว ไม่เหลื่อมล้ำอย่างทุกวันนี้ จึงจะได้ผล