4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ย้อนที่มา ‘ม็อบกู้ชาติ’ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล สู่ ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ การรวมมวลชนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เอ่ยคำว่า "ม็อบ" อาจเป็นคำหนึ่งที่อยู่คู่กับเมืองไทยมากว่า 15 ปีให้หลังมานี้ แต่หากจะย้อนเวลาไปหา "จุดแรกเริ่ม" ของม็อบในช่วงตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 หรือวันนี้เมื่อ 15 ปีก่อนนี่เอง

สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อในเครือผู้จัดการ คือผู้นำมวลชนเมื่อ 15 ปีก่อน ให้ออกมารวมตัวกันเรียกร้อง "กดดันให้ ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ลาออก!

สืบย้อนกลับไป สนธิ ลิ้มทองกุล ดำเนินรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ที่ช่อง 9 อสมท. โดยวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศของ ทักษิณ ชินวัตร มาตลอด กระทั่งรายการถูกถอดออกจากผังของสถานี แต่เมืองไทยรายสัปดาห์ยังเดินหน้าต่อในรูปแบบของการสัญจรจัดรายการไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นว่า มีผู้คนติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ

สถานการณ์เดินทางมาจนถึงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เมื่อนายสนธิประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า "กู้ชาติ" เพื่อกดดันทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยชนวนสำคัญมาจากการขายหุ้น 49.6% ของทักษิณในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของทางการสิงคโปร์ ในราคา 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีความไม่โปร่งใส และเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี!

ในเวลาต่อมา จากกลุ่มกู้ชาติ ก็ได้กลายเป็นการจัดตั้ง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือที่ผู้คนเรียกติดปากว่า "ม็อบเสื้อเหลือง" ซึ่งการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงแรกสิ้นสุดลง ภายหลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่เมื่อพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2551 สนธิและแกนนำพันธมิตรฯ ก็ได้กลับมาชุมนุมอีกครั้ง

การชุมนุมของพันธมิตรฯ และสนธิ จบลงเมื่อ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ถือเป็นอันยุติ "ม็อบเสื้อเหลือง" ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปีลง


ที่มา: https://www.posttoday.com/politic/analysis/452915

 https://th.wikipedia.org