27 มกราคม พ.ศ. 2482 วันนี้เมื่อ 82 ปีก่อน ‘แบงค์สยามกัมมาจล’ ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด’ และใช้ชื่อดังกล่าวมาจนปัจจุบัน

หลายคนทราบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คือธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย แต่หากสืบย้อนกลับไปถึงที่มา เริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 กิจการของธนาคารเริ่มต้นในชื่อ บุคคลัภย์ (Book Club) ก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศราชหฤทัย ที่ทรงเล็งเห็นว่าประเทศจำเป็นต้องมีระบบการเงินธนาคารเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศ

หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจมากขึ้น จึงมีการเปิดตัวเป็นธนาคารอย่างเต็มตัว โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ จัดตั้งเป็น ‘บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด’ ดำเนินการเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449

เมื่อกิจการขยายตัว ทำให้ต้องมีการขยายออฟฟิศ จึงย้ายที่ตั้งของธนาคารไปอยู่ที่ย่านตลาดน้อย เพราะมีทำเลดี ติดแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใกล้แหล่งค้าขายใหญ่ ๆ อาทิ เยาวราช และสำเพ็ง กระทั่งกิจการดำเนินผ่านมาอีกหลายปี จนเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น ‘ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด’ ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งคือ มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ จาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ และยกเลิกคำว่า กัมมาจล ซึ่งแปลว่า การกระทำไม่เคลื่อนไหว อันไม่ตรงกับลักษณะของธนาคารที่มีการหมุนเวียนตลอดเวลา

นับจากนั้นเป็นต้นมากว่า 82 ปี ธนาคารก็ได้ใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด เพียงแต่มีการเพิ่มเติมคำว่า มหาชน พ่วงท้ายเข้าไป หลังจากธนาคารได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 ทำให้มีชื่อเรียกเพิ่มเติมว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)