23 มกราคม พ.ศ. 2549 ย้อนรอยกรณีตระกูลชินวัตร ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กับบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง จนกลายเป็นกระแสสังคม นำมาซึ่งการกดดันให้ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

คำว่า ‘เลี่ยงภาษี’ อาจจะเป็นคำที่คนไทยคุ้นเคย แต่หากจะหาว่า ช่วงไหนของเมืองไทยที่กระแสคำว่า ‘เลี่ยงภาษี’ มีความรุนแรงมากๆ ต้องย้อนเวลากลับไป 15 ปีก่อน

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน หรือ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 มีข่าวดังที่สร้างความสนใจกับผู้คนไปทั่วประเทศ เมื่อตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเรื่องนี้ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถูกโยงเข้ามามีเอี่ยว และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารIณ์อย่างหนักว่า นี่เป็นการเลี่ยงภาษีใช่หรือไม่?

ทั้งนี้หุ้นที่มีการซื้อขายกันในตอนนั้น ถือเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นจำนวนกว่า 1,487,740,000 หุ้น (49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท

การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายทิศทาง ทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรเอกชน นักวิชาการ รวมทั้งสาธารณชน โดยประเด็นที่พุ่งเป้าสงสัยนั้นมีหลายประการ อาทิ การได้รับยกเว้นภาษี ประเด็นเรื่องจังหวะเวลาที่ขายหุ้นซึ่งเกิดหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่เพียงสองวัน และประเด็นเรื่องการที่กิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ต้องตกไปอยู่ในการบริหารของต่างชาติ

แม้จะมีคำอธิบายจากนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการออกมากดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง กระทั่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

และต่อมาจึงได้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ต้องพบกับปัญหามากมาย ทั้งมีพรรคการเมืองคว่ำบาตรไม่ลงแข่งขันการเลือกตั้ง หรือผลการเลือกตั้งของผู้สมัครมีคะแนนน้อยกว่าบัตรที่ไม่เลือกใคร รวมทั้งปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนนำมาซึ่งการเลือกตั้งใหม่อยู่หลายรอบ แต่ก่อนที่จะถึงกำหนดการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ก็เกิดการก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยเป็นการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลภายใต้การรักษาการนายกรัฐมนตรีของนายทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki