การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ'ม็อบรุ่นพี่' 'จตุพร พรหมพันธุ์' | The States Times Click on Clear EP.4
บทสัมภาษณ์ของ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’ แม้เสียงจะแผ่วเบาลง แต่อุดมการณ์ยังคงเดิม
นับถอยหลัง!! การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยกสุดท้ายในชีวิต จาก 'ม็อบรุ่นพี่' ผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเมื่อถึงวันเผด็จศึก ต้องไม่มีคำว่า...ถอย!
.
.
รายการ : การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ'ม็อบรุ่นพี่' 'จตุพร พรหมพันธุ์' | The States Times Click on Clear EP.4
.
จุดยืนทางการเมือง ณ ปัจจุบัน
เปิดประเด็นแรกมา นายจตุพรตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นถึงจุดยืนทางการเมือง ณ วันนี้ ว่า ตนมีจุดยืนเดียวตลอดชีวิต คือยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านวัยหนุ่ม จวบจนกระทั่งวันนี้ ที่หายไปไม่ได้แสดงว่ายุติบทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตนยังเหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าให้เปรียบก็คงเหมือนกับนักร้องที่ยังร้องเนื้อเดิม แค่คีย์เสียงมันเบาลง คมน้อยลงตามวัยและยุคสมัย
ชีวิตมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นบทบาททางการเมือง
นายจตุพรเล่าถึงบทบาททางการเมืองที่เริ่มต้นมาจากในรั้วมหาวิทยาลัยไว้ว่า เพราะเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนช้ากว่าคนอื่น ด้วยเหตุผลว่าไปเป็นครูอาสากว่า 3 ปี ตนยังมีความฝัน ไม่ว่าจะเรื่องค่ายอาสาพัฒนาชนบท ลงพื้นที่สร้างโรงเรียน หรือแม้กระทั่งความฝันเรื่องชาติบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจุดรวมความฝันในห้วงระยะเวลานั้น กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 สิ่งที่ตนเป็นทุกวันนี้ได้มาจากในรั้วมหาวิทยาลัย และยังมองว่าห้วงเวลาที่ดีที่สุดของคนหนุ่มสาวนั้นคือช่วงเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
มุมมองต่อกลุ่มแฟลชม็อบนักศึกษาในยุคปัจจุบัน
สำหรับกลุ่มแฟลชม็อบนักศึกษานั้น ในฐานะม็อบรุ่นพี่อย่างนายจตุพรมองว่า สิ่งนี้เป็นความงดงาม และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ตนเห็นการเคลื่อนไหวและความสนใจของนักศึกษายุคนี้มากกว่าตอน 14 ตุลา 2516 และยุคพฤษภา 35 หรือยุค นปช.53 ในม็อบแต่ละยุคสมัยจะมีรูปแบบการแสดงออก และบทเรียนที่แตกต่างกันไป ณ ยุคปัจจุบันถือเป็นยุคของพวกเขา เพราะฉะนั้นการตัดสินใจหรือการเลือกวิถีทาง จะต้องให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจ ยุคปัจจุบันไม่ใช่เวลาของเรา ช่วงเวลานี้ คือ การให้เกียรติกับน้องๆ ที่ปลุกปั้นยุคแห่งการต่อสู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง
บทบาทของรัฐที่ควรแสดงออกต่อการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่
บทบาทท่าทีของรัฐที่ควรแสดงออกต่อการเรียกร้องของเด็กยุคใหม่ นายจตุพรมองว่า รัฐนั้นต้องใช้หู มากกว่าใช้อำนาจ ต้องรับฟังมากกว่าใช้กฎหมาย ประเทศใดที่ไม่มีคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อชาติบ้านเมือง ประเทศนั้นจะหาอนาคตไม่ได้ รัฐต้องใจกว้าง ยอมรับฟัง พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยน และต้องไม่คิดทำลายล้างหรือคิดว่าพวกเขาเป็นศัตรู มองพวกเขาอย่างลูกหลาน ด้วยหลักเมตตาธรรมระหว่างกัน
หากเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาเรื่องความเห็นต่างระหว่าง Generation อย่างไร
นายจตุพรมองว่า เรื่องนี้ต้องมีการคุยเรียงตามลำดับขั้นตอน ระหว่างคนต่างยุค ต่างสมัยกัน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเรื่องที่เห็นต่าง แต่ยังมีเรื่องที่เห็นพ้องต้องกัน ให้นำเรื่องที่เห็นพ้องนั้นขึ้นมาคุยกันก่อน กระทั่งไล่ไปจนถึงความเห็นต่าง ต้องยอมรับทั้งสองฝ่าย เพราะในระบอบประชาธิปไตย ความสวยงามอยู่ที่ความแตกต่าง ต้องมีการจัดพื้นที่พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ตนเชื่อว่าหากหาทางออกในรูปแบบนี้ ความเสียหายจะไม่บังเกิด
บทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตย ณ วันนี้ของ ‘จตุพร’
อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ก็ยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่หากจะต้องออกมาอีกครั้ง ก็ต้องออกมาแบบ ‘ครั้งเดียว’ แล้วต้องเป็นครั้งเดียวที่มีคุณค่า สมกับเป็นการสู้ที่ตั้งใจว่าจะเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’
เพราะตั้งแต่วัยเด็ก จนหนุ่ม และบัดนี้ งัดกับรัฐบาลหลายยุค มองเห็นและเข้าใจเกมการเมืองแบบเด่นชัด จึงอยากใช้ครั้งเดียวต่อจากนี้ให้คุ้มค่าที่สุด คนบอกตนไม่ขยับ นั่นเพราะต้องเลือกเวลาที่ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ตนยืนยันคำพูดหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่จะออกมาต่อสู้อีกครั้ง คือ วันที่รัฐบาลตัดสินใจฆ่าประชาชน และใช้มาตรการปราบปรามหนัก วันนั้นก็จะถึงคิวที่ตนจะก้าวออกมา เหมือนกับช่วงสมัยพฤษภาทมิฬปี 35 และ ช่วงเมษายนปี 53 จะออกมาสู้ร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย
นายจตุพร เล่าต่ออีกว่า เส้นทางของรัฐบาลในตอนนี้เริ่มตีบตัน และมองว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะต้องพังด้วยปัญหาร่วมของประชาชน นั่นก็คือ ‘ปัญหาปากท้อง’ ความหิวของมนุษย์จะทำให้คนโกรธ และรัฐจะเอาไม่อยู่ ยิ่งรัฐไม่ซึมซับบทเรียนจากรอบแรก ทั้งสนามมวยในรอบแรก และตอนนี้ก็มาจากบ่อนระยอง รวมถึงแรงงานพม่าเล็ดลอดเข้ามา จนระบาดกันทั้งแผ่นดิน เป็นความบกพร่องของรัฐ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง
ความคิดหลังพ้นโทษ ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง
หลังจากเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ นายจตุพรกล่าวว่าตนใช้ชีวิตเหมือนกับการไปบวช ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง และตกตะกอนทางความคิด หากเรายังแข็งกร้าวอยู่ตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในเรือนจำ แสดงว่าเราไม่รู้จักตนเลย เพราะเราต้องอยู่กับคนอื่น ณ วันนี้เรารู้ว่าหนทางข้างหน้าคืออะไร เพราะสู้มาตลอดชีวิต การกำหนดจังหวะย่างก้าวไม่จำเป็นต้องแข็งแรงตลอดเวลา ที่จริงแล้ว การต่อสู้มีเพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นเราควรแข็งแรงในเวลาที่เราแข็งแรง และบางเวลาถ้ายังไม่แข็งแรงก็อย่าทำตัวให้แข็งแรง เพราะจะไม่มีโอกาสได้แข็งแรง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจผู้ต่อสู้ ไม่ใช่ว่าจะไม่สู้ แต่จะใช้ความคิดมากกว่าเดิม ใจตัวเองต้องเป็นผู้กำหนด เพราะเราจะรู้ว่าควรสู้อย่างไร สงครามที่เพลี่ยงพล้ำเพราะตามใจคนอื่น ยกสุดท้ายขอกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง
ความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร ณ วันนี้
นายจตุพรเล่าว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจอดีตนายกทักษิณ ตนอยู่ในประเทศไทยก็จะถูกลงมือทุกครั้งไป เป็นเรื่องปกติ การต่อสู้ในหนทางนั้นได้พิสูจน์กันอย่างชัดเจน เวลายืน ก็ยืนกันอย่างแข็งแรง ระหว่างตนกับอดีตนายกทักษิณ ตนกล้าเห็นต่าง และไม่ใช่ครั้งแรก เพียงแต่เป็นคนแรก ๆ ที่เห็นต่างและยังอยู่กันได้นาน แต่ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัว ตนยังเคารพอดีตนายกทักษิณเหมือนเดิมตลอดเวลา แต่ความเชื่อกับสิ่งที่ได้เห็นหลายเรื่องมีความแตกต่างกัน ความสัมพันธ์ ณ ตอนนี้ตอบได้ว่า ไม่ได้คุยกันมานานกว่าสามปีแล้ว ซึ่งเป็นปกติของตนที่ไม่ใช่คนช่างคุย จะอย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ตนเห็นกับอดีตนายกทักษิณนั้นไม่ได้เป็นครั้งแรก และไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย
ภาพในอนาคต ความฝันสูงสุดเกี่ยวกับทิศทางบ้านเมือง
นายจตุพร ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดคือการนำพาบ้านเมืองนี้ให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนอยู่ดีกินดี ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แก้ปัญหาชาติ นักการเมืองยกระดับตัวเอง ยุคต่อไปสิ่งที่เราต้องการจะสร้างคือนักประชาธิปไตย ที่รับผิดชอบบ้านเมืองตามยุคสมัย คนที่เขาจะสู้เพื่อประชาชน
ความฝันที่อยากจะได้สักครั้ง คือได้นักการเมืองที่เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย และทำเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่างมเข็มในมหาสมุทร ตนขอเห็นก่อนตายสักครั้ง