'ดร.สันติ กีระนันทน์' ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ | The States Times Click on Clear EP.2

บทสัมภาษณ์ของ ดร.สันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ เปิดมุมมอง ‘คนการเมืองสายสร้างสรรค์’ ผู้ไม่เคยคิดว่าการเมืองเป็น ‘เกม’ ที่มีไว้เล่น

.

 

.

 

.

รายการ : 'ดร.สันติ กีระนันทน์' ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ | The States Times Click on Clear EP.2

 

.

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564

เนื่องจาก ดร.สันติ นั้นเคยเป็นผู้ที่ทำงานในแวดวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจฟากตลาดทุนมาก่อน การพูดคุยครั้งนี้จึงเจาะจงไปที่ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เปิดคำถามแรกด้วยคำถามที่ทุกคนสนใจ นั่นคือแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยดร.สันติเล่าว่า ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2564 นี้คงหนีไม่พ้นโรคระบาดโควิด-19 เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก โรคระบาดนี้เองที่เป็นสิ่งแทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm Shift ซึ่งหมายถึงปรากฎการณ์ที่จะทำให้คนเกิดความสามารถหรือในการแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันแต่ไม่เคยแก้ไขได้ เกิดมุมมองใหม่ที่นำไปใช้แก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้

ที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัฒน์ มีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กระทั่งเมื่อต้นปี 2020 ที่โรคโควิด-19 เข้ามา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ไม่กี่เดือนน่าจะควบคุมได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะมีการกลายพันธุ์ของโรค กระทั่งมีมาตรการที่ออกมาควบคุม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้กระแสการไปมาหาสู่ของคนแต่ละภูมิภาคเกิดขึ้นได้ เศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างเช่นประเทศไทย ที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวประมาณ 17% ของ GDP ส่งผลให้รายได้ของไทยหายไปสามสี่ล้านล้าน ตัวเลขอาจจะดูไม่เยอะ แต่เนื่องจากสายการผลิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความยาวมาก และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายสิบล้านคน ขึ้นอยู่ที่ประเทศไทยจะสามารถจัดการโรคระบาดได้ดีแค่ไหน รวมทั้งการรับมือของทุกประเทศทั่วโลกเช่นกัน

การอยู่รอดของผู้ประกอบการ SME และภาคเกษตรในปี 2021 เมื่อเผชิญโควิด-19

ดร.สันติเองมองว่าถึงจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกมา แต่โรคนี้คงไม่มีวันหายไปอย่างสิ้นเชิง คนที่ทำมาค้าขายต้องคำนึงว่าจะอยู่กันอย่างไร โดยตนคาดหวังอยู่ 3 เรื่องคือ หากรักษาได้ ควบคุมไม่ให้กลายพันธุ์มากจนเกินไป มีการป้องกันด้วยวัคซีน คาดการณ์ว่า 6 เดือนแรกของปี 2564 ก็ยังคงต้องหวาดผวากันอยู่ แต่เนื่องจากเราเรียนรู้ประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ธุรกิจที่จะไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น เดิมทีมีการทำมาหากินกับการรวมกลุ่มกันขนาดใหญ่ ๆ ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบ ต้องมีการคิดว่าด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปเราจะรับมือกับมันอย่างไร 

ในอีกฟากหนึ่ง โรคระบาดที่เข้ามาอาจเป็นโอกาสได้เหมือนกัน โดยก่อนที่จะมีโรคระบาดได้มีการคุยกันถึงเรื่อง Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีสร้างความพลิก เป็นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาด และ มูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ ล้มหายตายจากไป ในการนี้ถือว่าโรคระบาดมาเป็นตัวกระตุ้นคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะเห็นว่าคนที่ปรับตัวได้กลับมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ ส่งให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นหมายความว่าธุรกิจในยุคใหม่จะประสบความสำเร็จได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม เชื่อว่าหลังจากนี้ Start-Up จะกลับมาได้เร็วและแข็งแรงกว่าเดิม

ในส่วนของภาคเกษตรนั้นดร.สันติมองว่าน่าเป็นห่วง ประชากรภาคเกษตรหากนับเป็นเปอร์เซ็นต์เทจของแรงงานในระบบประมาณเกือบครึ่งของแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรในประเทศ contribution ของภาคเกษตรที่มากับระบบเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP จับตาดูประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่ 12-13% ปัจจุบันเหลือประมาณ 8% ของ GDP เท่านั้น รายได้ของเกษตรกร เฉลี่ยคนหนึ่งประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เทียบกับพวกผู้ใช้แรงงานทั่วไป ประมาณสัก 15,000 บาทต่อเดือน เห็นว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มที่เปราะบางอย่างยิ่ง 

เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นอกเหนือจาก SME ที่ค่อนข้างเป็นพวก low-tech และ low-touch ด้วย ทำให้ค่อนข้างลำบาก เกษตรกรจึงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางของฐานราก ดังนั้นดร.สันติมองว่า นโยบายอะไรก็ตามของรัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใส่ใจกับคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนเยอะ และ SME ที่ยังหาทางออกของตัวเองไม่ค่อยได้ 2 กลุ่มนี้เป็นประชากรจำนวนมากของประเทศ แม้ว่าในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจจะถูกนำมาวัดค่า GDP ค่อนข้างน้อย แต่เพราะประชาชนทุกคนในประเทศนับว่ามีความสำคัญทั้งสิ้น ใครที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้รัฐมีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วย ในขณะที่คนที่สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว รัฐอาจจะยืนอยู่ห่าง ๆ ดูว่าเขาต้องการอะไรสนับสนุน นโยบายของรัฐจึงต้องมีความชัดเจนในการจัดการกับคนแต่ละกลุ่มด้วยกลยุทธ์และกระบวนทัศน์ที่แตกต่าง

นโยบายคนละครึ่ง

ดร.สันติในนามของผู้ที่เคยอยู่ในตลาดทุนและมองเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด ตอบคำถามตามมุมมองวิชาการ เรื่องของนโยบายคนละครึ่ง แน่นอนว่าต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือ โครงการคนละครึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในระบบที่ค่อนข้างดีมาก ในเฟสแรกมีคนลงทะเบียน 10 ล้านคน เฟสที่ 2 เติมไปอีก 5 ล้านคน เพราะฉะนั้นคนที่จะได้เม็ดเงินประมาณ 3,500 บาท ก็มีมากถึง 15 ล้านคน ส่งผลให้กระแสการหมุนเวียนของการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น ดังนั้นในปีนี้ทั้งปีจนจบไตรมาสที่ 4 เชื่อว่า GDP จะไม่ติดลบหนัก ข้อดีที่ 2 คือร้านค้าที่มาลงทะเบียนฟากที่รับเงินมีประมาณล้านกว่าราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ ก็ต้องนับว่าเป็นข้อดีที่เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปถึงคนที่เปราะบาง ข้อดีข้อที่ 3 ถือว่าโครงการคนละครึ่งนั้นเป็นการเร่งกระบวนการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว ผู้เฒ่าผู้แก่อายุ 60 กว่าสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้คล่อง ส่วนข้อที่ 4 ที่เป็นข้อดีอีกข้อคือ ตั้งแต่ชิมช้อปใช้เรื่อยมาจนถึงเราเที่ยวด้วยกัน กระทั่งมาถึงโครงการคนละครึ่ง รัฐได้ฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมหาศาล 

แต่สิ่งที่ดร.สันติอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ คือ เนื่องจากโครงการคนละครึ่งมีเฟส 1 เฟส 2 แล้ว และมีดำริต่อว่าจะออกเฟส 3 - 4 ในความเห็นส่วนตัวมองว่าอาจจะต้องคิดให้ดีอีกสักนิด เนื่องจากการกระตุ้นการบริโภคที่เกิดขึ้นไปแล้วและติดลมไปแล้ว ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกระตุ้นต่อไป ควรนำเม็ดเงินไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่จะสร้างความยั่งยืนต่อไปในระยะยาวดีกว่าหรือไม่ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องของภัยแล้งซ้ำซาก เรื่องน้ำท่วมที่ไม่พึงประสงค์ เอาเม็ดเงินลงไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ระบบน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเกษตรกรทั้งประเทศดีขึ้น แทนที่จะเอามาแจกเพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นเท่านั้น 

ปัญหาเศรษฐกิจคลี่คลายและการฟื้นตัว

หากปัญหาเศรษฐกิจคลี่คลาย การฟื้นตัวควรจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น ดร.สันติเผยว่า อยากเห็นการฟื้นตัวรูปแบบ V-shaped ที่สุด คือจากล่างแล้วขึ้นบนได้เลย หรือน้อยกว่านั้นคือรูปแบบ U-shaped คือตกมาแล้วลากยาวสักแปบนึงแล้วค่อยขึ้น แต่ที่กังวลมากที่สุดคือตัว L คือตกมาแล้วไม่ขึ้นอีกเลย กับอีกแบบคือตัว K ที่ตอนนี้พูดกันทั่วไปก็คือ คนกลุ่มที่มีเรี่ยวมีแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คนกลุ่มที่ไม่มีเรี่ยวมีแรงตกแล้วตายลงสนิท กลายเป็นสองขาแยกจากกัน ปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ 

ปัญหาหนึ่งที่อยู่ในใจของดร.สันติตลอดเวลาคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดร.สันติเล่าว่าประเทศไทยปี 62 และปี 61 มีการโจมตีรัฐบาลมากในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการโจมตีนั้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในแง่ของเศรษฐกิจ อาจจะแยกย่อยได้ 3 เรื่อง คือ 1. ความเหลื่อมล้ำในด้านความมั่งคั่ง 2. ความเหลื่อมล้ำของการหารายได้ 3. ความเหลื่อมล้ำในความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย จริงอยู่ว่าเรามีความเหลื่อมล้ำในแง่ของความมั่งคั่งสูง ประชากรของประเทศไม่เกิน 10% ของประชากร เป็นคนที่ถือครองทรัพย์สินของประเทศนี้ 70-80% เพราะฉะนั้นในแง่ของความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่นคั่งมีสูงแน่นอน แต่ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการหารายได้กลับไม่ได้มากนัก เพราะพวกที่หารายได้ได้มากๆ อย่างมหาเศรษฐี ที่จริงแล้วรายได้ก้อนมหึมาไม่ได้มาจากในประเทศทั้งหมด แต่มาจากการหารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่รายได้ที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศมีความกระจายตัวได้ดีพอสมควร จากคนชั้นบนลงถึงคนชั้นกลางละเว้นคนที่เป็นพวกกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือ SME ที่อ่อนแรง การกระจายตัวของรายได้และการกระจายตัวของความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยไม่ได้น่ากลัว แต่ถ้าเอาคนกลุ่มเปราะบางเข้ามา การที่แก้ไขเศรษฐกิจแล้วมันเกิดเป็นตัว K นั่นหมายความว่าปัญหาที่สะสมเรื้อรังมาในประเทศไทยไม่ได้ถูกแก้ไข และยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา คือเรื่องความเหลื่อมล้ำในการหารายได้กับความเหลื่อมล้ำในการจับจ่ายใช้สอย นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง คราวนี้ก็จะหนักหนากับการจัดการและการบริหารเศรษฐกิจต่อไป 

ข้อเสนอแนะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย

ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ย้อนหลังไปถึงตอนที่มีการหาเสียงเลือกตั้งกัน ดร.สันติกับอาจารย์สุวิทย์เป็น 2 คนในพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับอาจารย์วลัยพร ซึ่งเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ธุรกิจบัณฑิต และน้ององอาจ เป็นทีมที่เดินทางไปทั่วภูมิภาคของประเทศ คลุกคลีกับชาวบ้านชาวช่องที่ไม่มีจะกิน ไม่มีน้ำใช้มาแล้ว 2 ปี เมื่อเห็นปัญหาก็พยายามมาพัฒนานโยบายทางเศรษฐกิจหลายหลาก แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐพอจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่แกนนำทางด้านเศรษฐกิจ เลยต้องพับไป หลังจากที่เกิดโรคระบาดแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้หายไป ช่วงที่โรคระบาดเกิดขึ้น ประเทศไทยคุมการแพร่ระบาดได้ดี อาจจะต้องนับว่าโรคระบาด Set Zero ทั้งโลก ดร.สันติจึงเสนอว่าเราควรจะคว้าโอกาส เพราะในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ 

เมื่อ Set Zero ประเทศไทยต้องคิดแล้วว่าโครงสร้างที่เราพึ่งพานักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ มูลค่าต่ำ แต่ต้นทุนสูง เรายังจะทำอย่างนั้นหรือไม่ ดร.สันติจึงมองว่า ประเทศไทยต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ ในระยะกลางถึงยาว แทนที่จะส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เราต้องเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าเจาะจงซื้อ เพื่อให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ยังหวังว่าจะมีคนมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน ดร.สันติมองว่าทำไมไม่ลองคิดให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยเราเป็นแบบภูฏานที่จำกัดและแพง โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้นักกลยุทธ์ในการคิด