ชำแหละ VAR ส่งผลดีหรือผลเสียต่อโลกฟุตบอล?

เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกคู่ระหว่าง ไบรท์ตัน กับ ลิเวอร์พูล ที่จบลงไปด้วยการเสมอกัน 0-0 ดูจะทำให้เหล่าบรรดาสาวกหงส์แดงคันตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า หลายคนมีอาการอยากกระโดดโอเวอร์เฮดคิกเข้าใส่ที่หน้าจอทีวีตอนถ่ายทอดสด เนื่องด้วยลิเวอร์พูลถูกริบประตูไป 2 ประตู ด้วยฝีมือของ ‘พี่ VAR’ แถมที่เดือดขั้นสุดยิ่งไปกว่านั้น คือช่วงท้ายของเกม ลิเวอร์พูลมาโดนจับเช็ก VAR จนเสียลูกจุดโทษ ส่งผลให้ไบรท์ตันมาตามตีเสมอได้สำเร็จ

 

เจออิทธิฤทธิ์ ‘พี่ VAR’ เข้าไปแบบนี้ ด้านผู้จัดการทีมหงส์แดง เจอร์เก้น คล็อปป์ ถึงกับออกอาการหงุดหงิด ทำไม VAR ถึงได้ส่งผลต่อเกมฟุตบอลมากมายขนาดนี้ แล้วตกลง VAR มันส่งผลดีหรือผลเสียต่อฟุตบอลกันแน่ มาหาคำตอบกัน!


VAR หรือ Video Assistant Referees หรือในความหมายภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ‘กรรมการที่ตัดสินจากภาพ’ เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้การตัดสินของ ‘จารย์’ หรือ ‘ผู้ตัดสิน’ ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

ถึงตอนนี้ เริ่มนำมาใช้กันได้สัก 2-3 ปี ถ้าเอาผลลัพธ์ในมุมบวก แน่นอน การตัดสินในกรณีลูกน่ากังขา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็วก็ดี หรือเหตุการณ์ที่กรรมการ คนดู หรือแม้แต่นักฟุตบอลด้วยกันเอง ดูไม่ทันก็ดี เหล่านี้ ช่วยได้ด้วย VAR

อีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้นักฟุตบอลต้องยอมรับในคำตัดสิน เพราะภาพหลายมุมที่ถูกจับด้วยกล้องนับสิบๆ ตัว ยังไงก็ละเอียดมากพอที่จะทำให้นักฟุตบอลไม่กล้าเถียง แต่เมื่อพูดถึงมุมบวก มันก็มีมุมคู่ขนานกัน จะเรียกว่ามุมลบก็พูดไม่ได้เต็มปากนัก เรียกว่าเป็นมุมอับของ VAR ก็แล้วกัน

ที่เห็นกันชัดๆ คือ เกมฟุตบอลในวันนี้ มีสกอร์ที่ได้จากลูกจุดโทษมากขึ้น เพราะค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ของผลที่ออกมาจาก VAR มักจะลงท้ายด้วยการให้จุดโทษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ เกมในวันนี้ คนดูมุ่งเป้าโฟกัสไปที่ ‘จุดโทษจาก VAR’ มากกว่าเกมในสนามเสียอีก แถมที่เป็นตลกร้ายกว่านั้น บางนัดที่เกมตื้อๆ ทำอะไรกันไม่ได้ แฟนบอล(บางราย) ร้องหา ‘เมื่อไรจะมีลูกโทษจาก VAR วะ!’

ตลกร้ายเข้าไปอีก หากมีช็อตที่ผู้เล่นกระทบกระทั่งกันเพียงเล็กน้อย หรือเอาเท้าแหย่กันให้หกล้มในเขตโทษ ประโยคที่ดังก้องสนามก็คือ VAR!!

อันนี้เป็นมิติของคนดูนะครับ ส่วนมิติของผู้เล่นในสนาม เอามุมที่แย่ที่สุดก่อน จากเมื่อก่อนที่จะมีผู้เล่นที่เป็นสายพุ่ง สายดีดตัว ที่เป็นจอมเรียกจุดโทษ โชคดีฟาวล์จริงก็แล้วไป แต่โชคร้ายตั้งใจเป็นนักแสดง พอแสดงไม่เข้าตากรรมการ ก็อาจะถูกใบเหลืองจากจารย์ไปได้ ทว่าเมื่อวันนี้มีพี่ VAR เข้ามาเป็นตาวิเศษเห็นนะ กลับกลายเป็นว่า เราจะได้เห็นสายดีด สายพุ่ง สายล้ม มากขึ้นอย่างเสียไม่ได้

ลองสังเกตช่วงท้ายของเกมที่เสมอกันกันดูสิครับ เกิดกรณีดราม่ากันมาแล้วกี่คู่?

เล่ามาถึงตรงนี้ ไม่ได้บอกว่า เทคโนโลยี VAR ไม่ใช่ของดี หรือกลายเป็นตัวทำให้เกมฟุตบอลผิดเพี้ยนไป แต่ชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วว่า มาเป็นผู้ช่วย (assistant) ไม่ใช่คนตัดสินใจ ชี้ถูก ชี้ผิด เป็นตัวช่วยให้เห็นว่า ผลลัพธ์ควรเป็นอย่างไรต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ บนโลกนี้ ที่เหนือกว่าเทคโนโลยี ก็คือ ‘คน’ นี่ล่ะ เทคโนโลยีมันออกมาเพื่อรองรับคน ดังนั้น คนอย่างเราๆ นี่แหละ ที่จะต้องนำพาเทคโนโลยีไปเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด

ปิดท้ายด้วยการย้อนเวลาไปยังยุคฟุตบอลโบราณ สมัยนั้นไม่มีหรอกรองเท้าสตั๊ด หรือปุ่มสตั๊ดที่เป็นเหล็ก หรือสนับแข้ง หรือแม้แต่ถุงมือโกล์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อะไรๆ เหล่านี้ก็ได้เข้ามาเพื่อ ‘ช่วย’ ให้นักเตะและเกมฟุตบอลมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หันกลับมาที่เทคโนโลยี VAR ในวันนี้ ก็เชื่อว่ามันเกิดขึ้นมาด้วยความประสงค์ที่จะทำให้เกมฟุตบอลสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วล่ะว่า จะใช้มันให้ตอบโจทย์กับคำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ ได้มากน้อยเพียงใด