Saturday, 20 April 2024
EDUCATION NEWS

‘วอนเดอร์’ สตาร์ทอัพสายการการศึกษาของไทย นำบทเรียนที่ยากและน่าเบื่อ มาพัฒนาเป็นเกมตอบคำถาม นักเรียนสวมบทบาทเป็นตัวละคร ตอบคำถามโจมตีคู่ต่อสู้ เสียงตอบรับดีเยี่ยม เผยมีครู-นักเรียนเข้ามาใช้บริการเพียบ!

ที่บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (สำนักงานใหญ่) อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายชิน วังแก้วหิรัญ กรรมการผู้บริหาร บริษัทวอนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ "Edtech Ecosystem and Development in Thailand" แนวคิดและมุมมองในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมของ "เอ็ดเทคสตาร์ทอัพ" ในประเทศไทย ว่า

วอนเดอร์ (Vonder) คือ สตาร์ทอัพสายการศึกษาในประเทศไทยและเป็นสมาชิกของ AWS EdStart โดยทางวอนเดอร์ได้พัฒนาเนื้อหาที่ยาก และน่าเบื่อของบทเรียนในระบบการศึกษาของไทยให้เป็นบทเรียนสั้นๆ ในรูปแบบของการเล่นเกม โดยจะเป็นเกมตอบคำถามแบบโต้ตอบ ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่นาทีในการตอบคำถาม และทดสอบความสามารถในการตอบสนองของผู้เรียน โดยครูสามารถเป็นผู้สร้างเกม ใส่คำถาม จากนั้นให้นักเรียนมาร่วมตอบคำถามผ่านเกมที่สร้างขึ้น

ซึ่งนักเรียนเมื่อลงทะเบียนเข้ามาแล้วจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม หากตอบคำถามถูกก็จะสามารถโจมตีศัตรูในเกมได้ แต่เมื่อตอบคำถามผิดก็จะโดนศัตรูโจมตี ทั้งนี้ ในแต่ละด่านจะมีหัวหน้า ซึ่งจะใช้สำหรับคำถามที่ยากที่สุดด้วย และเมื่อเล่นจบเกมจะมีการสรุปสถิติคะแนนของแต่ละคนให้ด้วย

โดยหลังจากที่เปิดให้ทดลองใช้พบว่ามีผู้สนใจเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก จากสถิติที่ทาง วอนเดอร์ตรวจสอบมาล่าสุดพบว่า มีนักเรียนเข้ามาตอบคำถามผ่านเกมที่มีครูเข้ามาสร้างขึ้นแล้วกว่า 150,000 คน โดยต่อไปทางวอนเดอร์กำลังพัฒนาการให้การบ้านเป็นเกมด้วย คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนเมษายนนี้ สำหรับครูหรือสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.vonder.co.th หรือ เฟซบุ๊ก @vonderofficial

สำหรับ AWS EdStart เป็นโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีการศึกษาของ Amazon Web Services (AWS) โดยออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสตาร์ทอัพด้านการศึกษามีทรัพยากรที่จำเป็นในการเริ่มต้นการใช้งานบน AWS อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โปรแกรมนี้จะช่วยผู้ประกอบการสามารถสร้างการเรียนรู้ออนไลน์ การวิเคราะห์ และโซลูชั่นการจัดการสถานศึกษาในอนาคตบน AWS Cloud โดย AWS EdStart ม่งเน้นไปที่เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สร้างผลลัพธ์ของผู้เรียนในเชิงบวก โปรแกรมนี้จะช่วยให้เทคโนโลยีการศึกษาในช่วงเริ่มต้น สามารถเข้าถึงทรัพยากรและความสัมพันธ์ที่ต้องการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แล้วยังเป็นชุมชนของผู้คนและบริษัทจากทั่วโลกที่มีจุดประสงค์เดียวกันในการแก้ปัญหาทางการศึกษาที่ซับซ้อน

ทั้งนี้สตาร์ทอัพด้านการศึกษาสามารถสมัครเข้าร่วม AWS EdStart ได้ หากองค์กรมีการก่อตั้งน้อยกว่า 5 ปี อยู่ในตลาดที่ AWS Region อนุมัติ และสร้างรายได้ต่อปีน้อยกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใบสมัครจะต้องระบุแผนงานสำหรับโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้เรียน ผู้สอน หรือผู้ดูแลระบบ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาในปัจจุบัน โดย AWS EdStart มีให้บริการในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ The AWS EdStart program page (https://aws.amazon.com/th/education/edstart/)


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/education/826203

สพฐ.ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นระยะ เบื้องต้น ยังคงยืนยันการสอบรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามปฏิทินเดิม รับสมัคร 24 - 28 เม.ย. สอบ 1 - 2 พ.ค.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การสอบรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2564 นั้น สพฐ.ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นระยะ เบื้องต้น ยังคงยืนยันตามปฏิทินเดิม

คือ มัธยมศึกษาปีที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน สอบคัดเลือกวันที่ 1 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 5 พฤษภาคม มอบตัววันที่ 8 พฤษภาคม มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน สอบคัดเลือกวันที่ 2 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 6 พฤษภาคม มอบตัววันที่ 9 พฤษภาคม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภูมิภาค ม.4 รับสมัครวันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ สอบคัดเลือก 6 มีนาคม ประกาศผล 15 มีนาคม มอบตัววันที่ 18 มีนาคม ยกเว้นว่า จะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินค่อยมาพิจารณาแก้ปัญหา

“ขณะนี้กำหนดการจัดสอบรับเด็กเพื่อเข้าเรียนม.1 และม.4 ยังเป็นไปตามปฏิทินเดิม แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาต่อไป แต่เท่าที่ดูขณะนี้คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา โดยผมได้ย้ำให้เตรียมการจัดสอบ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาทิ มีการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิ เตรียมเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไว้ในห้องสอบ และสถานที่โดยรอบ เพื่อให้เด็กที่เข้าสอบได้ใช้ในการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า "ส่วนโรงเรียนที่ใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือโอเน็ต เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 นั้น ก็ยกเลิกเช่นกัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบายการใช้ผลสอบโอเน็ต เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียน ของผู้ที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. ที่ให้ยกเลิกการทดสอบโอเน็ตชั้น ป.6 และม.3 แต่ให้ถือเป็นสิทธิโดยส่วนตัวที่จะเข้าสอบโดยความสมัครใจ"

"อย่างไรก็ตาม อนาคตจำนวนนักเรียนต่อห้องต้องลดลง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า จำนวนต่อห้องซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 40 คน ต่อห้องนั้น เป็นไปตามหลักวิชาการ ดังนั้นจึงอาจยังไม่จำเป็นต้องมีการปรับ แต่หากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทางโรงเรียนก็ต้องปรับตัว จัดการเรียนการสอน ตามมาตรการป้องกันของสธ. อย่างเคร่งครัด"


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2584606

สพฐ.เตรียมรับแผนรมว.ศึกษาธิการ บูรณาการด้านการศึกษา เพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมหาข้อสรุป จัดทำแผนงบประมาณปี 65 หนุน บูรณาการโรงเรียน เสริมสร้างการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ภายหลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแผนบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน และให้สามารถบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนครอบคลุมโรงเรียนทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะผู้กำกับด้านนโยบาย คณะติดตามนโยบาย และผู้รับผิดชอบการดำเนินการในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการระดับ 9 - 10 จากทุกหน่วยงาน มาร่วมมือกันปฏิบัติ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบูรณาการทางการศึกษาว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแผนบูรณาการจากผู้รับผิดชอบจังหวัดขนาดเล็ก 15 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากนี้ไป ทาง สพฐ.จะนำแผนที่ได้รับมาประชุมหาข้อสรุป และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมกับแผนของจังหวัดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณ โดยจะเริ่มบรรจุในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า แผนบูรณาการเบื้องต้น เท่าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ในหลายจังหวัดผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง มีความยินดี และเห็นชอบกับการบูรณาการโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งทางกายภาพ รวมถึงงบการสนับสนุน เพราะจะเป็นโรงเรียนที่สามารถมีครูครบชั้น ครบวิชา นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ บางจังหวัดสามารถนำเงินงบประมาณที่ให้กับโรงเรียนเล็กหลายแห่ง มาบริหารจัดการผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชนใหม่ โดยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

ทั้งนี้ แผนบูรณาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็กที่มีโรงเรียนไม่เกิน 200 โรงเรียนมี 15 จังหวัด กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง มีโรงเรียนระหว่าง 200 - 400 โรงเรียน มีจำนวน 36 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 400 โรงเรียนขึ้นไป มี 26 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับโรงเรียนคุณภาพชุมชน การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และการพัฒนาโรงเรียน Stand alone

นายอัมพร กล่าวว่า แผนบูรณาการนี้เป็นไปตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ที่ชูเป้าหมายให้การศึกษาไทยพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ ที่ทำให้หลักสูตรต่างๆ มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงผู้เรียนผู้สอนได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/468981

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

ตามที่ได้มีการประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดของทางราชการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2545 และมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษาเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จึงยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต ดังต่อไปนี้


อ่านประกาศเพิ่มเติม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/038/T_0004.PDF

รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูชาวต่างชาติไม่มีใบอนุญาตทำงาน พร้อมสร้างการรับรู้ ตั้งเป้าสถานศึกษารัฐ - เอกชน ทราบแนวปฏิบัติ การขอใบอนุญาตทำงานให้ครูต่างชาติ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูต่างชาติในโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เป็นหน้าด่านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานกฎ ระเบียบ และโทษหากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบครูต่างชาติในตำแหน่งครูผู้สอนและการขอรับใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้แก่สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง รวมทั้งตรวจสอบและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ

จากผลการตรวจสอบโรงเรียน และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 922 แห่ง พบว่ามีครูต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย จำนวน 6,129 คน โดยสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.) ฟิลิปปินส์ 2,667 คน 2.) อังกฤษ 558 คน 3.) สหรัฐอเมริกา 465 คน 4.) จีน 237 คน 5.) แอฟริกาใต้ 160 คน และอื่น ๆ 2,042 คน และพบสถานศึกษาและครูต่างชาติกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 8 คน

2.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงผู้เป็นนายจ้าง สถานที่ทำงานของนายจ้าง และลักษณะงานหลักที่ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงานและต้องแจ้งทุกครั้งที่เปลี่ยนนายจ้าง จำนวน 3 คน

3.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 1 แห่ง

4.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงชื่อและสัญชาติของคนต่างด้าว และลักษณะงานที่ให้ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จ้างและไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ เมื่อคนต่างด้าวนั้นออกจากงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน จำนวน 20 แห่ง (ข้อมูลจากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2563 - 25 มกราคม 2564)

“ สำหรับคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งครูผู้สอนในสถานศึกษา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (NON-IMMIGRANT VISA) ไม่ใช่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน (TOURIST/TRANSIT VISA)

โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานพร้อมเอกสารการประกอบวิชาชีพครูและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษา ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบครูชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกผลักดันกลับประเทศ

ส่วนโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะถูกดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ายังพบกระทำผิดซ้ำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือที่ไลน์ @)Service_Workpermit และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามภาษาอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สร้างห้องเรียนอาชีพ มุ่งเปิดหลักสูตรต่อยอดอาชีพ เก็บหน่วยกิตประกอบการเรียนต่อปวช. ปวส.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต

และให้ประชาชนในทุกจังหวัดมีรายได้ โดยมีการนำนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองมาต่อยอด เพื่อที่จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

นายอัมพรกล่าวต่อว่า สพฐ. กับอาชีวศึกษา ได้ตกลงกันว่าจะมีการทำห้องเรียนอาชีพร่วมกัน โดยจะมีการดำเนินการ 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การจัดหลักสูตรอาชีพระยะสั้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้แล้วสามารถทำได้ หรือเป็นอาชีพได้ เช่น การประกอบอาหาร การทำขนม เป็นต้น และ 2 การจัดการเรียนการสอนอาชีพที่จัดเป็นหน่วยการเรียน โดยกำหนดให้เรียนในวิชาพื้นฐาน หรือวิชาเลือก ซึ่งผู้เรียนสามารถนับและเก็บหน่วยกิตตั้งแต่มัธยม หากต้องการศึกษาต่อด้านสายอาชีพ ก็สามารถนำหน่วยกิตไปนับรวมได้

"การจัดการเรียนสอนดังกล่าว นอกจากทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้แล้ว ยังสามารถใช้ประกอบการเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจมากขึ้น คาดว่าประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และจะเริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2564 ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่มีความพร้อม" นายอัมพรกล่าว


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2582666

เตรียมผนึกกำลังหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ วางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนออกแบบชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โมเดลธุรกิจในภาคการศึกษายุคดิจิทัลกำลังถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบุคลากรด้านการวางแผนนโยบาย การปรับเปลี่ยนแผนงานเชิงรุกตลอดจนทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นแบบไหน ซึ่งตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ นักเรียนมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเรียนออนไลน์ แม้โครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศจะยังไม่พร้อมในทุกจังหวัดก็ตาม

‘ไหมฟ้า คำมุงคุณ’ จากเด็กนักเรียนแถวหน้าดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การเป็นผู้บริหารสถาบันวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศกับไอเดียโมเดลธุรกิจการศึกษาในยุคที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ Digital Disruption อย่างรวดเร็ว ซึ่งมองแล้วว่าการเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคตไม่ใช่นั่งเรียนในห้องแบบเดิมๆ และเชื่อว่านักเรียนทุกคนต้องเตรียมรับมือกับโลกของการศึกษาในศตวรรษหน้า เผยเตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 กลางปีนี้

น.ส.ไหมฟ้า คำมุงคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม วี กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจการศึกษา เปิดเผยว่า จากที่คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษามากว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงคือมุมมองของเด็กนักเรียนในปัจจุบันหันเหไปทางสายธุรกิจมากกว่าการเรียนในสายวิชาการ เช่น สนใจในสายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) โปรแกรมเมอร์ นักบัญชี ครีเอทีฟ โดยมองหากิจกรรมเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งในปัจจุบันจะเห็นว่าหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัวในการจัดหลักสูตร เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนไปอย่างมาก

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ต้องมีเครื่องมือหรือโมเดลธุรกิจเพื่อมารองรับธุรกิจภาคการศึกษาที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าไป ซึ่งอาจจะต้องฉีกกฎการนั่งเรียนเดิมๆ ในห้องเรียน ขณะที่ครูผู้สอนสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในยุคดิจิทัลได้หลากหลาย พร้อมที่จะแนะแนวและให้คำปรึกษา หาคำตอบ สำคัญที่สุดต้องให้ความมั่นใจกับนักเรียน/นักศึกษาในสาขาวิชาชีพใหม่ๆ

โดยวิสดอม วี กรุ๊ป เตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศวางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ แนะแนวให้ความรู้กับนักเรียนที่สามารถนำประสบการณ์ตรงจากผู้รู้ไปใช้ได้จริง ชี้ให้นักเรียนได้เห็นถึงความยาก-ง่ายของการเรียนในสาขานั้นๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนหรือออกแบบชีวิตก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“สิ่งสำคัญนักเรียนต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมายต้องการเป็นอะไร อยากทำอะไร” น.ส.ไหมฟ้ากล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5954284

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

คุณสมบัติผู้สมัคร

- ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ในระดับ ปวช. , ปวท. , ปวส. , ปริญญาตรี และปริญญาโท

สมัครสอบระหว่างวันที่ 3 - 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่

https://ocsc9.thaijobjob.com

ชำระค่าธรรมเนียมสอบระหว่างวันที่ 3 - 25 กุมภาพันธ์ 2564

จำนวน 800,000 ที่นั่งสอบ

สอบ 20 มิถุนายน และ 4 กรกฎาคม 2564

รมช. ศึกษาธิการ เร่งสตาร์ท "โครงการวิทย์พลังสิบ" หลัง ครม.อนุมัติ มุ่งสร้างโอกาสเด็กไทยเข้าถึงการเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ ลดเนื้อหา เพิ่มการปฏิบัติ สร้างความเท่าเทียมองค์ความรู้พื้นฐาน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระยะ 10 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมด 9,000 ล้านบาทว่า จะเริ่มดำเนินโครงการทันทีในปีงบประมาณ 2564 โดยจะใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาครูในการเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงวิทยศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รูปแบบใหม่ลดเนื้อหาด้านวิชาการ และเน้นการเรียนแบบปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้จริง

เนื่องจากในอนาคตการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งยังมีบทบาทต่อวงการอุตสาหกรรม และการเกษตรอย่างก้าวกระโดด จึงริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบนี้ขึ้น โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยการเพิ่มพลังวิทยาศาสตร์ จาก 10 คน เป็น 100 คน และจาก 100 คน เป็น 1,000 คน

นอกจากนี้ โครงการนี้ถือเป็นการเพิ่มพลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้มีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบ คิดแบบวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จะมีการต่อยอดเพิ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ป.4 – ม.6 โดยมีภาคีเครือข่ายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มาช่วยเติมเต็มการอบรมให้แก่ครูทั่วประเทศให้สอนในเรื่องนี้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการเรียนรู้ของเด็กด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต

“เบื้องต้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เนื่องจากต้องมีการพัฒนาครู ซึ่งจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีครูที่เชี่ยวชาญเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ที่วิชาเรียนจะน้อยลง เน้นการปฏิบัติมากขึ้น และเพิ่มเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตทั้งการทำงาน และการใช้ชีวิต ที่ประชุม ครม. ขอให้พิจารณาดำเนินการทุกอย่างให้รอบคอบมากที่สุด” รมช. ศึกษาธิการ กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกให้ปี 64 เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ วางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ สอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลัก

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ว่า ในปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกให้เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนสังกัด สพฐ. โดยในส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดกรอบสมรรถนะไว้ ว่า

ครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ A และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานความรู้ภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับ B ตามตัววัดมาตรฐานสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)

โดยขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างการวางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้ารับการพัฒนาหลักสูตรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีกระบวนการทดสอบสมรรถนะให้แก่ข้าราชการครู จากนั้นจะมีการไต่ระดับสมรรถนะด้านภาษา รวมถึงจะนำภาษาอังกฤษมากำหนดเป็นค่าคะแนนให้ครูใช้เลื่อนวิทยฐานะด้วย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษาให้แก่ครูมากขึ้น ดังนั้นต่อไปนี้ครูทุกคนจะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น

"ส่วนตัวผู้เรียนจะเริ่มฝึกการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยด้วยการสื่อสารภาษาคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย เพราะต้องยอมรับว่าโลกยุคนี้คงไม่สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียวแล้ว ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนให้มากขึ้น ซึ่งผมจะกำหนดให้โรงเรียนขับเคลื่อนการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนอย่างเข้มข้น อีกทั้งครูผู้สอนจะต้องสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักด้วย"เลขาฯ กพฐ.กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/93107?fbclid=IwAR3G4kD5MLmbw6MfoLL7c7gpVk2vE11BM5rRq---tBTDjBgf1k-D61x5CoU


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top