‘นักวิชาการ’ มองการเมืองปากน้ำ หลัง ‘บ้านใหญ่’ สิ้นหัวเรือ เปลี่ยนขั้วย้ายค่าย หลังผล ‘เลือกตั้ง 66’ ชัด!! อาจบังเกิด
ดูเหมือน 1 ในจังหวัด ที่น่าสนใจและถูกหยิบมาวิเคราะห์ในฐานะพื้นที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลัง กกต. ปิดรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีไปแล้วเรียบร้อย ดูจะไม่พ้น 'เมืองปากน้ำ' จังหวัดสมุทรปราการ ที่มี ส.ส. 8 คน จาก 8 เขต ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ สามารถกวาด ส.ส.ยกแผง 6 จาก 7 ที่นั่ง
โดยในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ ‘ตระกูลอัศวเหม’ ส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส.ด้วยกันถึง 5 คน จาก 2 พรรค ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต นำโดย...
อัครวัฒน์ อัศวเหม ลงชิงเขต 1 พรรคพลังปราชารัฐ, วรพร อัศวเหม เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ, ต่อศักดิ์ อัศวเหม ชิงเก้าอี้เขต 7 สมุทรปราการ ขณะที่ พิม อัศวเหม มีชื่อในปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 8 ของพรรคพลังประชารัฐ และ ชนม์ทิดา อัศวเหม ที่ติดอันดับ 5 ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย
ทว่า การจากไปอย่างกะทันหันของ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ หัวเรือบ้านใหญ่ปากน้ำ ก็ดูจะสั่นสะเทือนการเมืองสมุทรปราการไม่น้อย ด้วยขาดผู้นำทัพที่พาให้สมุทรปราการก้าวหน้า กวาดที่นั่งทั้งผู้แทนระดับประเทศ และ ระดับท้องถิ่นไปได้ทั้งหมด
ทำให้การเมืองปากน้ำ น่าจับตาถึงก้าวต่อไป ไม่เฉพาะเพียงแต่จะสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้อีกครั้งเหมือนปี 2562 หรือไม่ แต่ยังต้องมองต่อไปถึงหลังเลือกตั้งกันทีเดียว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจการเมืองท้องถิ่น และ ตระกูลการเมือง ได้มองภาพการเมืองปากน้ำ ที่มากไปกว่าการเลือกตั้งรอบนี้ เมื่อสิ้นหัวขบวนบ้านใหญ่ปากน้ำ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยก่อนจะวิเคราะห์ถึงเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ อาจารย์ชาลินี เปิดประเด็นชวนมองถึง ‘บ้านใหญ่ สมุทรปราการ’ ที่แตกต่างกับจังหวัดที่มีบ้านใหญ่อื่น ๆ ไว้ว่า สมุทรปราการนั้น แต่เดิมไม่ได้เป็นพื้นที่อันหนึ่งอันเดียวอยู่แล้ว ตระกูลอัศวเหมไม่ได้สามารถควบคุมพื้นที่เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เหมือนในบางพื้นที่
“การทำงานของบ้านใหญ่โดยทั่วไปแล้ววางอยู่บนการทำงานลักษณะเครือข่าย มีกลุ่มก้อนหลายระดับมารวมกัน ซึ่งบ้านใหญ่ คือคนที่ประสานกลุ่มก้อนการเมืองมาไว้ในเครือข่ายและร่วมมือกันได้ และความที่ธรรมชาติของเครือข่ายมันมีความเปราะบาง การรักษาเครือข่ายก็ต้องใช้ความสามารถระดมทรัพยากรมาดูแล รวมไปถึงความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้กับกลุ่มย่อย ๆ ในเครือข่ายใหญ่ เพื่อให้ไปดูแลพื้นที่ ไปดูแลฐานเสียงได้”
“อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องการมาก ๆ ก็คือ Charismatic Leadership ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการนำ โดยปกติแล้วทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางการเมืองหลายอย่างอาจส่งต่อให้ลูกหลานได้ อาจมีระบบวางไว้พอสมควร แต่ คาริสมาติก และภาวะการนำ มันไม่ได้ส่งต่อให้ลูกหลานกันได้ง่าย ๆ”
การเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ท้าทายคนที่จะมาดูแลต่อ ว่าจะมีความสามารถขนาดไหน ซึ่ง อ.ชาลินี ระบุว่า ความท้าทายในระยะเปลี่ยนผ่านนี้เคยเกิดขึ้นกับในชลบุรี และ สุพรรณบุรี เช่นกัน บ้านใหญ่ชลบุรีเอง ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมา และยังเจอความท้าทายอยู่ ขณะที่ในสุพรรณบุรี ก็มีความท้าทายอยู่เช่นกัน
ขณะที่ ‘สมุทรปราการ’ ก็นับเป็นพื้นที่ ที่ยากเป็นพิเศษ ในทัศนะของอ.ชาลินี ด้วยเพราะเป็นเมืองที่มีพลวัตสูง มากกว่า ชลบุรีและสุพรรณบุรี มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ด้วยความที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อยู่ในสถานะที่ยากในการรักษาความมั่นคงของเครือข่ายทางการเมือง กล่าวคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการสะสมและผูกขาดทรัพยากรของชนชั้นนำ มีโอกาสที่เกิดชนชั้นนำใหม่ๆ มาแย่งชิง และก็ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลเครือข่าย
ในด้านสังคม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มองว่า องค์ประกอบของประชากรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะเศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีคนเข้า-ออกมาก ขณะที่คนในพื้นที่เดิมก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ยากที่จะ Hold ประชาชนไว้ คนย้ายเข้ามาใหม่นั้น ยากมากที่จะเกิดความผูกพันทางสังคมกับพื้นที่ หรือจะผนวกตัวเองเข้ากับเครือข่ายเดิม ยิ่งการเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ยิ่งคาดเดาได้ยาก
เพราะกลุ่มนี้เป็นคนที่เปลี่ยนใจทางการเมืองได้ตลอดเวลา และมีแนวโน้มที่จะผูกโยงตนเองเข้ากับชนชั้นกลางนอกพื้นที่ มากกว่าผูกตัวเองในพื้นที่ คือ เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนสมุทรปราการ แต่มีวิถีชีวิต ผูกกับคนชนชั้นกลางพื้นที่อื่นมากกว่า ซึ่งเกิดขึ้นกับ นนทบุรี เช่นกัน คือ มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับนโยบายมหภาค มากกว่าการเมืองเชิงพื้นที่ คือไม่ต้องเอาตัวไปผนวกกับเครือข่ายไหน ก็เข้าถึงนโยบายรัฐได้
“ไม่รวมถึงว่า จะสูญเสียนายชนม์สวัสดิ์ไหม แต่มันลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตั้งแต่ก่อน วัฒนาจะไม่อยู่ และยังมีอีกระลอก จึงเป็นความยากในยากในยาก”
ชาลินี กล่าวต่อว่า ตอนที่นายวัฒนาไม่อยู่ นายชนม์สวัสดิ์ ได้ถูกเตรียมพร้อมมากพอสมควร แต่วันนี้ที่ชนม์สวัสดิ์ไม่อยู่ อัศวเหมรุ่นที่ 3 ยังไม่ถูกเตรียมความพร้อม ในระดับเดียวกับที่ชนม์สวัสดิ์ถูกเตรียม ยิ่งกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงสูงขนาดนี้ ‘ยิ่งท้าทายมาก’
“เป็นโอกาสอันดี ที่คนที่เคยอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ที่เกาะกันแบบหลวมๆ นั้น จะมีคนที่อยากช่วงชิงการนำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเครือข่ายเดิม หรือ พวกนอกเครือข่าย ที่มาแย่งชิงกลุ่มก้อนการเมืองที่อยู่กับอัศวเหม ไปผนึกขั้วกับเขาได้ หรือเป็นไปได้แม้กระทั่งว่า อาจเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองอย่างก้าวไกล ที่ชูความเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ และทำการเมืองแบบใหม่ อาจจะเข้าไปเกาะเกี่ยวผู้คนที่หลุดออกจากเครือข่ายการเมืองเดิมได้” ชาลินี กล่าว
ในระยะสั้น แน่นอนว่าคำถามมักไปตกอยู่กับกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ขั้วพลังประชารัฐ ที่หลายคนมองว่า จะสามารถกวาดเสียงสมุทปราการได้แบบครั้งที่แล้วหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ ชาลินี มองว่า การเมืองมีความสะส่ำระส่ายสูง ฐานเสียงของผู้สมัครแต่ละคนถูกช่วงชิงไป วิธีการการเมืองเป็นแบบนี้ การมีหรือไม่มีชนม์สวัสดิ์ ส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดกลุ่มการเมืองท้องถิ่น พอไม่มีอยู่ ก็เป็นไปได้ที่จะถูกแย่งชิง อีกทั้งบางส่วนยังเป็นพื้นที่เสื้อแดง จึงเรียกว่าายากขึ้น ที่จะกวาด ส.ส.ยกจังหวัดเหมือนเดิม
แต่ นักรัฐศาสตร์ ชวนมองมากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะได้เห็น ในช่วงการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ นั่นเพราะ รอยรั่ว อันเกิดจากการสูญเสียหัวเรือใหญ่ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้คนมีศักยภาพ เข้าไปแทนที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ เพื่อไทย / ก้าวไกล และ ภูมิใจไทย
“ทายาทสายตรงทางการเมืองของ คุณชนม์สวัสดิ์ ก็คือ ‘น้องเพลง’ ซึ่งยังใหม่มาก จำเป็นต้องมีทีมซัพพอร์ตเยอะมาก ถ้าจะสืบทอดการเมืองต่อ แต่เราไม่รู้ว่าในตระกูลอัศวเหมมีความเป็นเอกภาพขนาดไหน ไม่เหมือนอย่าง ตระกูลคุณปลื้ม ที่ชัดเจนว่ามีความเป็นเอกภาพมาก แม้ว่าของอัศวเหมเรายังเห็นคนเป็นหลาน ที่ลงมาเล่นการเมืองอยู่ แต่มีบารมีมากพอไหม และเคยได้มีโอกาสช่วยดูแลเครือข่ายทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีใครคิดว่าจะสูญเสียผู้นำหลักเร็วเช่นนี้”