Friday, 19 April 2024
INSIGHT

LPN Wisdom คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 มีแนวโน้มติดลบ 3% ถึงเติบโตประมาณ 10% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 LPN Wisdom ได้มีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์อสังหาฯ ในปี 2564 จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% และการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากการคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก ทำให้บริษัทต้องมีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564

โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ (Scenario) ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาฯ จะติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล

สถานการณ์แรก (Best Case Scenario) รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และวัคซีนสามารถเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 ในกรณีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4-5% จะทำให้มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 13-15% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9-10% เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลายรายได้ระบายหน่วยคงค้างไปได้จำนวนมากในปี 2563 จะเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านของกำลังซื้อ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2564 โดยประมาณการว่า จะมีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,500 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563

สถานการณ์ที่สอง (Base Case Scenario) รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ภายในเดือนเมษายน ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่า มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 7-9% และกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,000-6,300 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

และ สถานการณ์ที่สาม (Worst Case Scenario) เป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือควบคุมสถานการณ์ได้หลังไตรมาส 2 ของปี 2564 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่และกำลังซื้อในตลาด โดยคาดกว่าจะทำให้มูลค่าการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่มีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องจากปี 2563 โดยคาดว่าจะติดลบประมาณ 15-18% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะติดลบประมาณ 8-12% จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการ ในด้านอุปสงค์ คาดว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะลดลง 3-5% เหลือเฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วยต่อเดือน

ขณะที่ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 37% หรือจากเปิดตัว 111,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 448,000 ล้านบาท เหลือ 70,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 276,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 โดยเน้นเปิดตัวบ้านพักอาศัย และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียม

โดยในปี 2563 ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายบริษัทได้มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่จากคอนโดมิเนียมมาเป็นการเปิดตัวบ้านพักอาศัยมากขึ้น ทำให้ในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยคิดเป็นสัดส่วน 63% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2562 หรือมีการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในปี 2563 ทั้งสิ้น 44,001 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 205,578 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 เพียง 4%

ในขณะที่การเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปี 2563 มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงถึง 60% ขณะที่มูลค่าเปิดตัวลดลง 70% จากเปิดตัวทั้งหมดในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 64,639 เหลือ 26,125 หน่วยในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาระบายหน่วยคงค้างคอนโดมิเนียมที่มีจำนวน 94,000 หน่วยในปลายปี 2562 และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะที่กำลังซื้อในปี 2563 มีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 6,000 หน่วยต่อเดือน ลดลงจากปี 2562 25% เหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในปี 2563 ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลงมาก เป็นผลมาจากการเร่งระบายสินค้าในสต๊อกของผู้ประกอบการโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price War)

“การคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2564 ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่ใจในรายได้ในอนาคตของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 น่าจะทรงตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายเริ่มออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่ประกาศปิดประเทศ (Lockdown) เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ทำให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ รักษาการจ้างงานในประเทศไว้ได้บางส่วน ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มต่ำ น่าจะเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย”

โอกาสทางธุรกิจ!! โควิดดันเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยพุ่ง หลังพบตัวเลขปี 63 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต 81% ขณะที่บริการเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มูลค่าแตะ 3.3 หมื่นล้าน นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ตลาดยังโตได้อีก แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้ง

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านราย ในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านราย ในปี 2563 (2020)

จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 ราย มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ทั้งนี้จากแนวโน้มที่คนอาเซียน และคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่า สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value : GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) นั้นมียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี

ดร.สุทธิกร กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025) ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในการสั่งอาหารออนไลน์ และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่ดีและสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปของเทคโนโลยีโดยเฉพาะการกำหนดโควตาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดัน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ควรต้องเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควตาอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ”ดร.สุทธิกร ระบุ และย้ำว่า

การกำหนดโควตา (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควตาน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด

ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ มีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด

โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น

ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควตา ควรหันไปลดเงื่อนไข และข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าหรือไม่? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด

“การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุม และกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว”

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Startup” กันอย่างหนาหู หลัง ๆ มีหลายบริษัทที่เกิดใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วและโดดเด่นขึ้นมา ขณะที่การแบ่งขนาดธุรกิจในวงการ Startup จะใช้สัตว์ในตำนานมาแบ่งขั้นอย่างเกรงขาม ใครเป็นอะไรมาลองดูกัน

Ponies (โพนี): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น แอปพลิเคชัน eko, eatigo

Centaurs (เซนทอร์): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น LINE MAN

Unicorn (ยูนิคอร์น): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Uber, Airbnb และ Snapchat

Decacorn (เดเคคอร์น): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest

ทันทีที่ข่าวการอวดโฉม เรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ซึ่งจะเริ่มทดสอบจริงในช่วง7ม.ค.นี้ ดูจะทำให้ประชาชนคนไทย และภาคธุรกิจหลายๆ ส่วน เฮ!! ดังมากๆ

โปรเจ็กต์นี้ทาง ‘กรมเจ้าท่า’ ได้ร่วมกับ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด เพื่อให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) - ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จังหวัดสงขลา ด้วยความเร็ว 17 น็อต จาก 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้เต็มที่

โดยโครงการนี้ ทางผู้ประกอบการลงทุน100% ได้ซื้อเรือเฟอร์รี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด

จากนั้นก็เตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค. นี้ แล้วก็คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือนมกราคม หรืออย่างช้าก็เดือนกุมภาพันธ์

ส่วนรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากกำลังจัดทำรายละเอียดของต้นทุนในการเดินเรือนำเสนอและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้

ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับ เฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ นั้นมีเพียบ ตั้งแต่...

• ขนรถบรรทุกได้ถึง80คัน

• รถส่วนตัว20คัน

• ผู้โดยสาร586คน

• สร้างระบบโลจิสติกส์แบบวาร์ป จาก ‘ตะวันออกไปถึงภาคใต้’

• และถ้าเวิร์คเฟสต่อไป ก็จะไปจอดท่า ‘ปราณบุรี’

ตามมุมมองของ วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ความเห็นว่า โครงการเดินเรือเฟอร์รี่ ระหว่าง ‘สัตหีบ-สงขลา’ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ผ่านระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ ‘Very Good’

เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้ ไม่แค่เพื่อการขนส่งอย่างเดียว แต่ยังมาช่วยลดปัญหา ความแออัดของการจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

อีกทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ อันนี้คือข้อดีตามแผนของโครงการดังกล่าว

โดยในระยะแรกจะให้บริการในเส้นทางชลบุรี(สัตหีบ) – สงขลา เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับเขตเศรษฐกิจภาคใต้พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว

ฟังๆ ดูแล้วที่เล่ามาทั้งหมด ช่างดูเป็นโปรเจ็กต์ที่สวยหรู และพร้อมเดินหน้าได้โลด!!

แต่เดี๋ยวก่อน หากหันไปมองดู ‘ข้อสะดุด’ บางอย่างก็ยังมี และเหมือนจะมีแบบหนักหนาด้วย!

นั่นก็เพราะมีคนในโลกโซเชี่ยลตั้งประเด็นเรื่องเรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นว่า ‘ไม่ปลอดภัย’

จากข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ที่ทราบชื่อภายหลังว่า ‘นฤพันธ์ โชติช่วง’ ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น และอดีตเจ้าหน้าที่ ได้มีมุมมองที่ย้อนแย้งที่ทำให้ต้องสะอึกกับโครงการเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา พอดู

อันที่จริงแล้ว นฤพันธ์ เห็นด้วยกับโครงการนี้ว่ามีความน่าสนใจ เพราะลดลดทั้งความหนาแน่นบนท้องถนน และมลพิษที่ออกจากรถยนต์ตามที่กรมเจ้าท่าบอก แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการเอาเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส หรือเรือเฟอร์รี่มือสองจากญี่ปุ่นมาวิ่งเส้นทาง สัตหีบ – สงขลา

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ถูกโพสต์ทิ้งไว้ในเพจให้ต้องคิดตามหลายเรื่อง!!

“เรือลำนี้ เป็นเรือมือสอง (ถ้านับจริงๆ ก็มือสาม) ที่ต่อตั้งแต่ปี 1994 อายุสิริรวมก็ได้ 27 ปี ช่วงรอยต่ออายุระดับเกือบ 30 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อกังขาในเทคโนโลยีความปลอดภัยด้านตัวเรือ

แถมถ้ามองเส้นทางวิ่ง สัตหีบ-สงขลา ที่มีระยะทางมากกว่า 100 ไมล์ทะเลแล้ว ต้องบอกเลยว่ามันอาจจะเกินประสิทธิภาพไปมาก เพราะทราบหรือไม่ว่าเรือลำนี้ก่อนจะถูกซื้อมา ถูกใช้วิ่งบริเวณช่องแคบสึกะรุ ที่มีเส้นทางวิ่งไกลสุดเพียง 65 ไมล์ทะเลเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบเส้นทางวิ่งของเรือลำดังกล่าว เป็นการวิ่งข้ามฝั่งระหว่างช่องแคบ แต่ของเราจะเอามาวิ่งตัดอ่าวไทย เพราะอยากประหยัดเวลามากขึ้น มันก็ต้องวิ่งตัดอย่างเดียว ไม่สามารถวิ่งเลาะชายฝั่งได้

ประเด็นเหล่านี้ คงพอทำให้คิดตามได้เล็กๆ ว่า ‘มันไม่อันตรายหรือ?’

ผมจะไม่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเลย หากประเทศไทยมีระบบการช่วยเหลือทางน้ำที่ยอดเยี่ยมอย่างญี่ปุ่น เพราะเอาแค่เหตุการณ์ที่เรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะพะงัน-สมุย กับ สุราษฏร์ฯ ที่ล่มห่างจากฝั่งไม่ถึง 10 กิโลเมตร แล้วไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทั้งหมด

ผมใบ้ให้คร่าวๆ ละกัน!!

1. ประเทศไทยมีระบบกู้ภัยของรัฐที่เชื่องช้าครับ ที่เราเห็นว่าปอเต็กตึ้ง หรือร่วมกตัญญู สามารถไปถึงได้เร็ว เพราะว่าเป็นเอกชน แม้แต่เคส 13 หมูป่า คนที่เริ่มลงมือช่วยเหลือกลุ่มแรกก็เป็นกู้ภัยอาสาสมัคร

2. ปัญหากู้ภัยทางบกเราถูกปิดบังด้วยความสามารถของเอกชน แต่ทางทะเล นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าอุปกรณ์และความชำนาญต่างๆ มันเฉพาะด้านมากกว่ากันเยอะ เอกชนเลยไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การช่วยในกลุ่มเล็กๆ โดยมีนักประดาน้ำจำนวนไม่เยอะ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ภัยล้วนมีราคาแพงมาก เฮลิคอปเตอร์ เรือกู้ภัย บลาๆ ระดับเกิน 10 ล้านบาทขึ้น แถมต้องการเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอีก เรื่องนี้เลยต้องเป็นราชการเป็นผู้รับผิดชอบ

3. อุปกรณ์ที่หลากหลาย และความชำนาญเฉพาะด้าน ก็เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่นั้นอยู่คนละองค์กร แต่ต้องทำงานร่วมกัน ภายใต้คำสั่งการของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย แล้วมีผู้ว่าคนไหนชำนาญด้านการช่วยเหลือทางทะเลบ้าง?

กู้ภัยไม่ทันไร ‘มืด’ ก็ยกเลิกการค้นหา รอฟ้าสว่าง ค่อยทำต่อ ไม่ทราบว่า เอาอะไรคิด ไม่ได้หลงป่านะ นี่อยู่กลางทะเล จะเอาตัวให้อยู่พ้นเหนือน้ำก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะเช้าอีก

ประเด็นนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน หากทราบเรื่องนี้แล้ว จะสามารถฝากชีวิตไว้บนเรือนี้ได้เกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่? แน่นอนว่าโครงการนี้ไม่แย่นะครับ ผมชอบนะ แต่ปัญหาคือ ลดต้นทุนด้านความปลอดภัยด้วยการซื้อเรือเก่ามาให้บริการเนี่ยนะ”

แม้ทางผู้ประกอบการจะเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือ ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

แต่ในมุมของคนที่ไม่ใช่ช่างเทคนิค ก็ไม่กล้าตัดมุมมองของ นฤพันธ์ ที่แม้จะไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่พลังข้อมูลมันก็สะท้อนให้ประชาชนตาดำๆ สัมผัสได้ถึง ‘ความเสี่ยง’ พอตัว

ช่วยไม่ได้ ก็เหรียญมันมี 2 ด้านนิหว่า!!

อ้างอิง: ที่มาฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่าเรือ

เฟซบุ๊ก Naruphun Chotechuang

หากจะพูดถึง หุ้นที่ร้อนแรงที่สุดประจำปี 2563 ถ้าในต่างตลาดประเทศ คนอาจจะโฟกัสไปที่หุ้นรถยนต์ไฟฟ้า TESLA แต่ถ้าเมืองไทยชั่วโมงนี้ต้องยกให้ DELTA ที่ขี่พายุทะลุฟ้า ราคาทะยานในรอบ 1 ปี ถึง 3,000% !!!

กระแสความร้อนแรงของหุ้น TESLA ที่ทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ นิวไฮ ที่ 695 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค ที่ผ่านมา ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบปี ที่ 70 เหรียญ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ช่วงที่โควิด -19 เริ่มระบาดและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ TESLA ก็สามารถทะยานขึ้นมาเกือบ 1,000% หรือ 10 เท่าภายในเวลา 9 เดือนอย่างสวยงาม อาจจะไม่ได้สร้างความฮือฮามากนัก

แต่เมื่อย้อน กลับมามองตลาดหุ้นไทย ที่ต้องยกตำแหน่งหุ้นร้อนแรงแห่งปีให้กับหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน จากราคาที่ลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปต่ำสุดในรอบปีที่ 969 จุด เช่นกัน

แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น DELTA เริ่มพุ่งทะยานจนขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายของวันที่ 28 ธันวาคม โดยพุ่งขึ้นไปยืนที่ 838 บาท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์สุดยอดหุ้นแห่งปีที่คนในวงการหุ้นต้องกล่าวถึง

เพราะเมื่อเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นปี 2562 กับจุดสูงสุดที่ 838 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 784.50 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,466.35% หรือ 14.66 เท่า

แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 27 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 811 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,003.70% หรือ 30.03 เท่ากันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงภายใน 1 ปี สร้างผลตอบแทนถึง 14 เท่า ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นกันได้ง่าย ๆ ว่ากันว่านักลงทุนบางคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ DELTA เป็นหุ้นตัวแรกที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเกินกว่า 1,000% ภายใน 1 ปีก็ได้

สำหรับ DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5.46 แสนล้านบาท (ณ ราคาปิด วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ) และเมื่อคำนวณจากราคาสูงสุด 838 บาท จะมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.04 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่เพียงปตท. เท่านั้น (ปัจจุบัน มาร์เก็ตแคป อันดับ 1 คือ PTT 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนอันดับ 2 คือ AOT 8.78 แสนล้าน)

แต่อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของ DELTA อาจปิดฉากลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งมาราธอน จนสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ราคา 838 บาท จากนั้นก็ถูกเทขายอย่างหนักกระทั่งราคาร่วงอย่างหนัก โดยราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 63 ลงมาที่ 438 บาท เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด 838 บาท เท่ากับว่าราคาร่วงไปแล้ว 47%

ซึ่งอาจมองได้ว่าราคาหุ้น DELTA อาจจะหมดรอบแล้วก็เป็นได้ เพราะราคาเริ่มสะท้อนความเป็นจริง หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามไปยังผู้บริหาร DELTA ว่า บริษัทมีพัฒนาการด้านใดเป็นพิเศษที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร DELTA ที่ส่งเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดที่ส่งผลต่อการซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA ก็ดิ่งเหวทันที

อย่างไรก็ตาม การลากราคาหุ้น DELTA และทิ้งดิ่งเหวในครั้งนี้ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการทำราคาของกองทุนขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงกองทุนต่างประเทศ ที่พากันลากขึ้นมา เพราะปีหน้า DELTA จะถูกดันเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET 50 ที่จะทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

บทเรียนจากราคาหุ้นที่ร้อนแรงแห่งปี ทั้ง TESLA และ DELTA ทำให้นักลงทุนทั้งมือเก่าและมือใหม่ ได้เรียนรู้ว่า หุ้นที่ขึ้นมาจากพื้นฐานธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนอย่าง TESLA มักจะทำราคาสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องและราคาจะไม่ร่วงดิ่งเหว ผิดกับ DELTA ที่ราคาขึ้นอย่างร้อนแรง โดยไม่มีเหตุผลและพื้นฐานทางธุรกิจรองรับ เมื่อถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ราคาจึงสะท้อนให้เห็นดังเช่น 2 วันที่ผ่านมานั่นเอง

เรียกว่าต้องหักกันชั่วคราว สำหรับ ‘ลาว’ กับ ‘ไทย’ หลังจากโควิดสมุทรสาคร ‘ทำพิษ’ จนทำให้ทางประเทศลาว มีคำสั่งชัดในการห้ามนำเข้าอาหารทะเลสด - แช่แข็งของไทยชั่วคราว

ก่อนหน้านี้รายงานจาก ลาวโพส สื่อท้องถิ่นประจำประเทศลาว ได้รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่มี สมจิด อินทะมิด รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ลงนามในหนังสือด่วน ถึงกรมภาษี กระทรวงการเงิน กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงด่านชายแดนระหว่างลาว-ไทย เกี่ยวกับเรื่อง ห้ามนำเข้าชั่วคราว อาหารทะเลสดและแช่แข็งทุกประเภท จากราชอาณาจักรไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.) ห้ามนำเข้าชั่วคราว อาหารทะเลสด และแช่แข็ง ที่นำเข้ามาจากราชอาณาจักรไทย

2.) มาตรการห้ามนำเข้านี้ เป็นมาตรการชั่วคราว และจะมีผลบังคับใช้จนกว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว และราชอาณาจักรไทย จะสามารถปรึกษาหารือมาตรฐานการตรวจสอบ คัดกรอง และยืนยันถึงความปลอดภัยของอาหารทะเลที่ส่งออกจากราชอาณาจักรไทย ว่าไม่พบการเจือปนของเชื้อโควิด

3.) มอบให้กรมอาหารและยา เป็นเจ้าภาพ สมทบกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของลาวและไทย ค้นคว้าหามาตรการการแก้ไขตามที่ระบุไว้ในข้อ 2

ส่วนโอกาสที่จะกลับมาค้าขายกันอีกนั้น ก็คงต้องรอจนกว่าเจ้าหน้าที่ของลาวและไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะร่วมกันหาหนทางตรวจสอบ คัดกรอง และรับรองความปลอดภัยของอาหารทะเลที่มาจากไทยได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ได้แบบ 100%

ล่าสุด ‘โควิดสมุทรสาคร’ ก็ทำให้ทางการลาว ตัดสินใจเด็ดขาด ‘ห้ามนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งทุกประเภทไทยชั่วคราว’

ล่าสุด!! หนุ่มโคราชได้รายงานข้อมูลด่วนจากแหล่งข่าวในระดับเชื่อถือได้ว่า ‘กระทรวงพาณิชย์ลาว’ จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีของอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ที่ทางภาครัฐบาลไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว จนทางการลาวไทยเปลี่ยนคำสั่งยกเลิกห้ามนำเข้า ‘อาหารทะเลสด - แช่แข็งจากไทย’ ได้อย่างรวดเร็ว

รู้ไหม Apple จะไม่ได้มีขายแค่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป นั่นก็เพราะภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Project Titan ซึ่งถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 ได้วางแผนที่จะสร้าง Apple Car อย่างจริงจัง

โดยรายงานจาก Reuters ได้เผยว่า Apple กำลังกลับมาจริงจังกับโครงการนี้ และตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ Apple Car ให้ได้ภายในปี 2024 

สำหรับเป้าหมายของการผลิตรถยนต์ Apple Car คือ มุ่งสู่ตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ตลาดขนส่งมวลชน หรือสาธารณะ เหมือนกับคู่แข่ง เช่น บริษัท Waymo ของ Alphabet (Google) ซึ่งต้องการสร้างแท็กซี่ ที่ให้บริการแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือไร้คนขับ

จุดเด่นหลัก ๆ ของ Apple Car คือเรื่องของ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่ได้ถูกออกแบบและพัฒนาใหม่ทั้งหมด และจะทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ให้ได้
 
นั่นจึงทำให้ Apple พยายามตรวจสอบหาแนวทางในการใช้ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) ที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า และปลอดภัยกว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ Apple กำลังพิจารณาเลือกพันธมิตรภายนอก เพื่อมาร่วมสร้างและผลิต Apple Car เช่น ผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Lidar ที่ช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น โดยสามารถตรวจจับภาพแบบ 3 มิติ ได้รอบคัน

แน่นอนว่าพอมีข่าวนี้ออกมา ราคาหุ้นของผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Velodyne Lidar ก็เลยพุ่งขึ้นเกือบ 23% และ Luminar พุ่งขึ้นกว่า 27% หลังจากมีข่าวว่า Apple กำลังมองหาพันธมิตรใหม่ทางด้านนี้

ทั้งนี้ หนึ่งในความท้าทายที่สุดของ Project Titan คือ การผลิตตัวรถยนต์เป็นจำนวนมาก เพราะทาง Apple ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ใครจะเป็นพันธมิตรของ Apple ในการทำหน้าที่ประกอบรถยนต์ Apple Car

ก็ต้องนับถอยหลังกันดูว่าในอีกราวไม่เกิน 4 ปี (2024) Apple จะสามารถผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ออกสู่ตลาดได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ละกัน

 

4 ปัจจัยที่แท้ทรู!! มุมมองใหม่ "คนรวย" ยุค 2021 เมื่อ "คนมีทรัพย์" จะไม่ใช่คนที่มีเงินสดเยอะอีกต่อไป

ในอดีตการออมหรือการเอาเงินไปฝากธนาคาร เพื่อให้เงินในบัญชีมีมากๆ พอมีมากๆ ก็เท่ากับมีเงินสดเยอะ พอมีเงินสดเยอะ ใคร ๆ ก็บอกว่า "รวย"

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนที่เงินเยอะ อาจจะไม่ถูกเรียกว่าคนรวยอีกต่อไปก็ได้

ลองย้อนไปมองดูปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นขึ้นทำจุดสูงสุดไปเรื่อย ๆ ทั้งที่โควิดก็ยังอยู่ แม้เศรษฐกิจตกต่ำก็ยังไม่ลดลงแบบบ้าคลั่งตามสถานการณ์ที่ร้ายแรง

เหตุผลของเรื่องนี้เป็นเพราะระบบการเงินในโลกหลาย ๆ ส่วนเริ่ม "รวน"

ฉะนั้นการมองว่า "เงิน" คือสินทรัพย์ที่ต้องเกาะเอาไว้กับตัวแล้ว "มั่งคั่ง - ร่ำรวย" อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมดอีกต่อไป

แล้วสินทรัพย์แบบไหนถึงจะตอบโจทย์ ความปลอดภัยและยกระดับให้เกิดความมั่งคั่ง จนถึงขั้นเรียกว่า "รวย" สไตล์ใหม่ได้บ้าง?

มีอยู่ 4 ปัจจัยง่าย ๆ แต่ไม่รู้ทำได้ง่ายไหมมาแนะนำ!!

ปัจจัยแรก "จับสินทรัพย์ถูกตัว"

สังเกตได้จาก "การพิมพ์เงิน" อย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลโลก ส่งผลให้ "เงินลดมูลค่า" ของตัวเองลง แต่สิ่งที่ตามมา คือ สินทรัพย์ต่าง ๆ ราคาขึ้น หมายความว่า คนที่จะรวยมหาศาลในยุคนี้ ก็คือ คนที่จับสินทรัพย์ถูกตัว ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หุ้น หรือแม้แต่เงินดิจิทัล และ กล้าที่จะถือผ่านความผันผวนของราคา ที่เรียกว่า "อดทนรวย" นั่นแหละ

ปัจจัยที่ 2 คือ "หาเงินเก่ง ไม่สำคัญเท่าลงทุนเป็น"

เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ส่งผลให้หาเงินยาก คู่แข่งเยอะ แต่ในด้านการลงทุน ถ้าถูกตัว ถูกจังหวะ มันจะเติบโตแบบไม่คิดชีวิต "ขึ้นแหลก!!" เห็นได้จากปรากฏการณ์หุ้น Tesla ที่ทำให้ Elon Musk ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งที่ธุรกิจยังไม่ได้ทำเงินมหาศาลเลย

ปัจจัยที่ 3 "สินทรัพย์เสี่ยง น่าลงทุนกว่าสินทรัพย์ไม่เสี่ยง"

ในเมื่อคนส่วนใหญ่ วิ่งหาความชัวร์ ความมั่นคง ในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่ สินทรัพย์ไม่เสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนแย่งกันซื้อ จนราคาแพง บางครั้งแทบไม่คุ้มที่จะซื้อด้วยซ้ำ ตรงข้ามกัน สินทรัพย์เสี่ยงบางอย่าง กลับถูกเกินความจริง และ สามารถสร้างเศรษฐีได้ในอนาคต

ปัจจัยที่ 4 "ตลาดทุนและการระดมทุน เปิดกว้างและหลากหลายขึ้น"

เป็นโอกาสการสร้างตัวแบบก้าวกระโดดในยุคนี้ การทำธุรกิจเพื่อหาเงินอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะยุคนี้ การทำธุรกิจเพื่อเข้าตลาดหุ้น สามารถระดมเงินได้มากกว่า โตได้เร็วกว่า ใช้เงินตัวเองน้อยกว่า และ โตได้ไกลกว่า

ที่ว่ามานี้ น่าจะพอให้เห็นภาพว่ากระแสเงินสด อาจจะไม่ได้สรุปถึงคนรวยอีกต่อไป แต่คนรวยในยุคต่อไป อาจจะเป็นคนที่มีสินทรัพย์แห่งอนาคต ที่ผ่านการซื้อสะสมแบบต่อเนื่อง

ในวันที่มูลค่าเงินสดมีแต่ลดลง หากเลือกสินทรัพย์ที่ให้โอกาส เช่น ที่ดิน หุ้น สินทรัพย์แห่งอนาคต เช่น เงินดิจิทัล...เราจะได้อิสรภาพทางการเงินแถมไปด้วย


ที่มา: Pawawit Stock Comment

ที่มาภาพ: https://www.mic.com/articles/180662/smart-things-to-buy-as-an-investment-in-your-future-from-bitcoin-ether-litecoin-and-stocks-to-bonds-and-more

ไม่ผิดคาด!! ก๊วนเนชั่นพลัดถิ่น จ่อชิดรั้ว "NEW18" หลังสะพัด "สนธิญาณ" ปิดดีล 800 ล้าน คว้าดิจิทัลทีวีบ้าน "เหตระกูล" ไปครอง

ข่าวที่มั่นอันลงตัวใหม่ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย เริ่มสะพัดหนาหูขึ้นเรื่อยๆ และเหมือนจะไปจบลงที่ช่อง "NEW18"

ก่อนหน้านี้ สนธิญาณ ได้มีภาพร่วมเฟรมกับอดีตผู้ประกาศข่าวเนชั่นทีวี เช่น น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายสันติสุข มะโรงศรี, นายกนก รัตน์วงศ์สกุล, นายธีระ ธัญไพบูลย์, นายวรเทพ สุวัฒนพิมพ์, นายสถาพร เกื้อสกุล และ น.ส.อุบลรัตน์ เถาว์น้อย ที่มีการคาดเดาไปกันว่าจะใช้เพื่อโปรโมตรายการใหม่

โดยอดีตก๊วนเนชั่นทุกคนได้รับคำยืนยันจาก สนธิญาณ ว่า ตอนนี้ได้ช่องรายการที่จะไปผลิตรายการแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความตื่นเต้นของแฟนคลับหลายคน

ทั้งนี้ได้มีแรงยันจากโพสต์ข้อความของ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือ ‘เป๊ปซี่’ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์นิวทีวี ด้วยว่า สนธิญาณ เตรียมแถลงข่าวประกาศเป็นทางการ ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดว่าทีมนายสนธิญาณจะมาเริ่มงานกับช่อง NEW18 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ตาม ก็มีการสืบถึงความเป็นไปได้ของช่อง สนธิญาณ และก๊วนเนชั่นมือเก๋า กับ NEW18 หลังสื่อออนไลน์ที่ชื่อ The Key News ได้รายงานว่า...

บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของคลื่น NEW18 เผยถึง ผู้บริหารของบริษัทฯ ที่มีการเจรจาตกลงที่จะขายสัมปทานช่อง NEW18 ที่จะเหลือเวลาสัมปทานอีกประมาณ 8 ปี ให้กับกลุ่มของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยการเจรจาที่ผ่านมา หารือกันประมาณ 5 รอบ ในห้วงเวลา 3 สัปดาห์ มีคนกลางที่เป็นผู้เจรจาคือ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้เรียกคุณแดง - ประภา เหตระกูล มาหารือโดยตรงกับนายสนธิญาณ เพื่อหาข้อยุติ

เนื่องจากกลุ่มนายสนธิญาณ ได้นำใบเซ็นสั่งซื้อโฆษณาระยะยาวจากบริษัทที่มีชื่อเสียงประมาณ 6 - 7 บริษัท ซึ่งเป็นการการันตีว่า มีรายได้โฆษณาแน่นอน โดยจบที่ตัวเลข 800 กว่าล้านบาท และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการโอนที่ดิน โอนตึก โอนเครื่องมือ เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทฯ ใหม่

สำหรับบุคลากร ทราบมาว่า ทีมของนายสนธิญาณจะคัดเลือกบุคลากรบางคนมาร่วมงาน อย่างนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือ เป๊ปซี่ ก็จะได้ไปจัดรายการใหม่กับทีมนายสนธิญาณ ส่วนคนอื่นๆ ยังไม่ทราบแน่ชัด ก็คงต้องมีการเจรจากันต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้รับการสนับสนุนด้านโฆษณาจาก 7 บริษัท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยผู้ให้การสนับสนุนโฆษณาเหล่านี้ไม่กลัวเรื่องการถูกแบนโฆษณา และวางแผนการลงโฆษณาระยะยาว ซึ่งนายสนธิญาณ จะเปิดแถลงข่าวเป็นทางการในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 นี้ เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และจะออนแอร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 15.00 น. โดย 2 ชั่วโมงแรกจะเป็นรายการพิเศษ จากนั้นหลัง 17.00 น. เป็นต้นไป จะเข้าสู่ผังรายการปกติ

...บิ๊กเซอร์ไพรซ์จากผู้อาศัยเป็นเจ้าของช่อง!!

สำหรับการเข้ามาสู่ช่องใหม่ของทีมสนธิญาณนั้น มีข่าวมาได้ระยะหนึ่งกับการปักหมุดลงช่อง NEW18 แต่ก็ไม่ถึงขั้นมีมูลข่าวว่าจะทำการซื้อขายช่อง NEW18 ให้ปรากฏชัดนัก

อย่างไรก็ตาม หากมองดูจากผลประกอบการและการขาดทุนสะสมของช่อง NEW18 ดีลนี้ก็ค่อนข้างจะดูสมเหตุสมผล

นั่นก็เพราะ ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด หรือช่อง NEW18 ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของตระกูล "เหตระกูล" เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นั้น มีตัวเลขขาดทุนสะสมถึงปัจจุบันอยู่ที่ 2,934.01 ล้านบาท จัดอยู่ในกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่ขาดทุนมากที่สุดช่องหนึ่ง

.

โดยตัวเลขรายได้ของ NEW18 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

  • พ.ศ.2557 รายได้ 14.20 ล้านบาท
  • พ.ศ.2558 รายได้ 75.21 ล้านบาท
  • พ.ศ.2559 รายได้ 84.25 ล้านบาท
  • พ.ศ.2560 รายได้ 124.30 ล้านบาท
  • พ.ศ.2561 รายได้ 117.63 ล้านบาท
  • พ.ศ.2562 รายได้ 124.20 ล้านบาท

.

หากดูจากจุดนี้ ก็เหมือนว่าทางช่อง NEW18 ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากรายได้โฆษณาที่ยังน้อยนิด เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำสถานีแต่ละปี แม้ระยะหลังจะมีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้ดีขึ้นมากก็ตาม

นอกจากนี้แผนการปรับรูปแบบรายการอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมาเผชิญกับช่วงโควิด-19, การแข่งขันของวงการสื่อที่รุนแรง และพิษเศรษฐกิจต่อเนื่อง จึงอาจจะเป็นการถอยให้ผู้ที่พร้อมกว่ามาปิดดีลนี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกในระยะยาวของกลุ่มเหตระกูล

ฉะนั้นการเข้ามาของกลุ่ม นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เชื่อว่าจะมาพร้อมกับแนวข่าวการเมืองเข้มจัดและฐานแฟนคลับที่ชัด น่าจะทำให้ NEW18 มีโอกาสสร้างผลประกอบการในรูปแบบกำไรได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าหนี้อย่าง "แบงก์กรุงเทพ" จึงพร้อมเซย์เยส!!

 

วิเคราะห์ราคา "ทองคำ" 64 โอกาสพุ่งยังมี!! แม้เลวร้ายสุด ก็ไม่หลุด 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

แม้ว่าสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำ มีการปรับลดลงค่อนข้างมากจนหลุด 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำให้นักลงทุนกังวลว่าราคาทองคำอาจจะเป็นช่วงขาลงแล้ว

แต่จากราคาทองคำล่าสุดได้ดีดกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ได้อีกครั้ง ซึ่งหากมองในแง่เทคนิค แสดงให้เห็นว่า ราคาทองคำยังไม่ถึงกับเป็นช่วงขาลง เพราะเมื่อราคาลงไปแตะ 1,764 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก็มีแรงซื้อกลับมา ส่วนถ้าจะมองเป็นขาลงนั้น ราคาจะต้องปรับลดลงไปถึง 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

สถานการณ์ราคาทองคำดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ที่ประเมินว่า แนวโน้มราคาทองคำในระยะยาวยังเป็นขาขึ้น แม้ว่าระยะสั้นจะยังแกว่งตัวผันผวน

เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสได้เห็นราคาขึ้นไปแตะ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในสิ้นปีนี้ ถึงแม้ว่าช่วงนี้ราคาทองคำจะปรับลดลงมาจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ทำไว้ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ก็ตาม แต่ก็ยังนับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของทองคำอย่างน้อยอีก 1-2 ปี

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาทองคำเป็นขาขึ้น มาจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของหลาย ๆ ประเทศ ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทองคำจำนวนมหาศาล แม้จะมีวัคซีนออกมาใช้แต่กว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติยังต้องใช้ระยะเวลา 1 - 2 ปี

ดังนั้น แต่ละประเทศยังต้องดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินอัดฉีด ซึ่งทุกครั้งที่ทำจะมีเงินไหลเข้ามาตลาดทองคำดังเช่นในอดีตเมื่อปี 2554 ที่มีการทำ QE จนพบว่าราคาทองคำขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับลดลง หลังจากหยุดทำ QE ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากในอนาคตราคาทองคำมีการปรับเป็นขาลง ก็จะปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ สาเหตุที่ราคาทองคำจะไม่ปรับลงไปกว่านี้ เพราะเหมืองทองคำจะมีต้นทุนหน้าเหมืองโดยประมาณอยู่ที่ระดับดังกล่าวนั่นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top