ทดลองวิ่ง ‘หัวรถจักรไฟฟ้าจาก EA’ สู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แบตเตอรี่ 4.1 MWh - วิ่งฉิวกว่า 300 กม. - ชาร์จเร็วเพียง 1 ชม.
ถือเป็นก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่ระบบขนส่งทางรางของไทยจะได้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ไร้มลพิษ พร้อมมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ภายใต้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้ร่วมกันพัฒนา ‘หัวรถจักรไฟฟ้า’ (EV) หรือ ‘MINE Locomotive’
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ได้รับโอกาสจากทางกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาควิชาการ ร่วมผลักดันนโยบาย EV on Train โดยได้ทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
ความพิเศษของหัวรถจักรไฟฟ้า (EV) หรือ ‘MINE Locomotive’ พร้อมตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car) เพื่อเพิ่มระยะทางการวิ่ง รวมแบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh สามารถชาร์จเต็มภายใน 1 ชั่วโมง ออกแบบตามมาตรฐานการรถไฟไทยเพื่อการใช้งานหลากหลาย ทั้งการสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เข้าชานชาลาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารผู้โดยสารและสามารถลากขบวนสินค้า (Cargo train) จาก ICD ลาดกระบังถึงแหลมฉบัง และขบวนโดยสาร (Passenger Train) ในเขตเมืองและระหว่างจังหวัด ด้วยความเร็วสูงสุด (Max Operating Speed) 120 km/h พร้อม Regenerative Braking ที่สามารถชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่จากการเบรก โดยจากการทดสอบประเมินว่าสามารถวิ่งได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตร ตามแต่การใช้งาน ซึ่งจะประหยัดต้นทุนพลังงานได้ถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ลงทุนต่ำกว่าระบบไฟฟ้าเหนือหัวกว่าครึ่งและสามารถขยายได้ทั้งประเทศ
นอกจากนี้ EA ได้ออกแบบพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชม. ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง สามารถขยายผล ยกระดับการขนส่งโดยสารเมืองรอง สามารถรองรับการใช้งานทุกระดับ และนำไปพัฒนาระบบ Light Rail Transit (LRT) สำหรับขนส่งตัวเมือง
“นับเป็นโอกาสสำคัญในการพลิกโฉมประวัติศาสตร์การคมนาคมทางราง ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่สังคมปลอดคาร์บอนได้เร็วยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานและการคมนาคมของประเทศ”
ทั้งนี้ทาง EA เล็งเห็นว่า Electritication ที่เป็นเทรนด์โลกในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด
แน่นอนว่าหัวรถจักรไฟฟ้า (MINE Locomotive) จะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมและมูลค่าให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืน เพราะเป็นเทคโนโลยี Zero Emission ไม่ก่อให้เกิด PM2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด Carbon footprint ที่เป็นพันธกิจของประเทศไทยในเวทีโลก นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20
นอกจากหัวรถจักรไฟฟ้า (MINE Locomotive) แล้ว EA ยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘Green Product’ ยกระดับการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า (MINE Bus) รถบรรทุกไฟฟ้า (MINE Truck) หัวรถลากไฟฟ้า(MINE Tractor) รถกระบะไฟฟ้า (MINE MT30) เรือโดยสารไฟฟ้า (MINE Smart Ferry) เพื่อตอบโจทย์การคมนาคมด้าน ‘รถ-เรือ-ราง’ และจะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืนให้เดินหน้าพร้อมสร้างความสมดุล ในการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคธุรกิจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) เพื่อพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy)
ก็หวังว่าคนไทยจะได้ใช้บริการ ‘รถ-เรือ-ราง’ ไร้มลพิษแบบครอบคลุมทั้งระบบในเร็ววัน