Monday, 20 May 2024
POLITICS TEAM

อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจอาหารทะเลไม่ขาดแคลนและไม่กระทบด้านราคามากนัก เล็งดึงแหล่งผลิตอาหารทะเล ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ทดแทน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครหลายราย ซึ่งตลาดปลามหาชัยถือเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อการซื้อขายอาหารทะเลในบางพื้นที่แน่นอนเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ขึ้น

ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้มีการเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารทะเลอื่น ๆ ในทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ไปยังผู้ที่ต้องการทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหารขาดแคลน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า "ในด้านผลกระทบด้านราคาอาหารทะเลนั้น เบื้องต้นกรมฯ ประเมินว่า ราคาไม่น่าทำให้สูงขึ้นนัก เพราะเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ทำให้คนเกิดความกังวลบางส่วนอาจลดการบริโภคอาหารทะเลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลกลุ่มชาวประมงนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเชื่อมโยงหาตลาดให้จำหน่ายได้อย่างเป็นธรรม"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยยังไม่ห้ามจัดเคาท์ดาวน์ทั้งประเทศ วอนเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งงานแต่ง งานบวช ยืนยันเวชภัณฑ์ไม่ขาดแคลน องค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ แต่ขู่อย่าคิดโก่งราคา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ เพื่อรายงานสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครและอีกหลายจังหวัดว่า ตนและคณะได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครให้นายกฯทราบ โดยเฉพาะมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นที่พักของบรรดาแรงงานต่างด้าว จนเกือบครบแล้ว

โดยอัตราการติดเชื้ออยู่ร้อยละ 42 แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และยังต้องกักกันโรค โดยห้ามเข้า ห้ามออก และดูแลเรื่องอาหาร ชีวิตประจำวัน ให้เขามีความปลอดภัย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ดังกล่าวเบื้องต้นประมาณ 100 เตียง

ซึ่งถ้าบุคคลในพื้นที่นั้นมีอาการป่วยขึ้นมาแล้วไม่ได้เข้าขั้นรุนแรงก็จะรักษาในนั้น ไม่ให้ออกมาข้างนอก เว้นแต่คนที่มีอาการรุนแรงมาก ก็จะมีวิธีการขนถ่ายไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสมบูรณ์ในการรักษาโดยยึดหลักความปลอดภัย

นายอนุทิน กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรี เน้นให้มีความพร้อมในการสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน หากมีสิ่งใดขาดเหลือให้มารายงานนายกฯโดยตรง และเน้นย้ำความปลอดภัยของประชาชนให้มีเวชภัณฑ์ให้เพียงพอและตรวจค้นหาให้มากที่สุด ส่วนมาตรฐานต่าง ๆ หากจะมีออกมานั้นขอประเมินตามสถานการณ์"

เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่เสนอต่อนายกฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้มงวดมากขึ้นมีข้อสรุปอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า "ขณะนี้เราอยู่ภายใต้พรก.ฉุกเฉิน และ ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตลอด หากเป็นข้อบังคับที่ใช้กันทั่วประเทศ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สามารถออกมาตรการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุถึงพรบ.โรคติดต่อที่จะเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 นั่นคือเรื่องการแก้ไขพรบ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะต้องเลิกพรบ.ฉุกเฉิน แล้วมาใช้พรบ.ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นแทน แต่จนถึงขณะนี้ คงต้องพรก.ฉุกเฉินไว้ก่อน"

ส่วนตลาดใหญ่ๆหลายแห่ง เช่น ตลาดไทย ตลาดบางใหญ่ จะเข้าตรวจเชิงรุกหรือไม่เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า "กระทรวงสาธารณสุขทำได้ แต่โดยพื้นฐานก่อนที่จะเข้าไป เขาก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด คือต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ล้างมือและวัดไข้ก่อนเข้า ถือเป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการติดเชื้อได้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด และส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หรือ สวมไว้ใต้คาง"

นายอนุทิน กล่าวว่า "สำหรับความพร้อมของเวชภัณฑ์ในการรักษาพยาบาล ยืนยันว่าวันนี้เพียงพอ เพราะได้สะสมมาตลอด9 - 10 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ได้เตรียมไว้ถึง 50 ล้านแผ่น เพราะองค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ ผลิตได้และขายแผ่นละไม่เกิน 2 บาท ถ้าใครกักตุน และมีการขึ้นราคา ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็จะปล่อยทั้ง 50 ล้านแผ่นออกมา"

"ดังนั้นประชาชนอย่าไปซื้อของแพง หรือแม้แต่หน้ากาก N95 ก็มีเป็นล้านแผ่น ยารักษาโรคก็มีเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย ต่อให้มีการปะทุของโรคก็ตาม แต่มั่นใจว่าไม่ไปถึงขนาดนั้น เพราะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถควบคุมป้องกันการระบาดของโรคได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้"

"ส่วนกรณีที่มีการขอรับบริจาคตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัดนั้น ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้หมายถึงเราขาดแคลน เพราะจิตศรัทธา หรือ ความต้องการที่อยากจะช่วยเพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยนั้น เรายินดีรับอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เปิดรับบริจาคอย่างเป็นทางการไม่มี"

ส่วนในช่วงเทศการปีใหม่ หลายคนยังกังวลว่าจะจัดกิจกรรมรื่นเริง หรือ จัดเคาท์ดาวน์ ทั้งประเทศได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ต้องประเมินตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คิดว่าตอนนี้เอาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักไว้ก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในเรื่องนี้ด้วยว่า ให้รีบไปดู แต่ถ้าสามารถควบคุมได้และผลตรวจออกมานิ่งแล้ว ก็ต้องมารายงานเป็นรายวันไป ช่วงนี้ทุกอย่างต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรม"

เมื่อถามถึงงานบวช งานแต่งในช่วงนี้ยังจัดได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ถ้าอยู่นอกเขตที่ประกาศควบคุมก็ยังจัดได้ปกติ แต่ก็ต้องเข้มมาตรการกันหน่อย ย้ำกระทรวงสาธารณสุขพยายามทำงานเต็มที่ไม่ใช่ว่าเราจะหาวิธีห้ามประชาชนทำกิจกรรม เราอยากให้ทุกคนทำกิจกรรมปกติ ให้มีความสุข แต่ขอให้ช่วยกันรักษามาตราการเพื่อให้ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะถ้ามีหน้ากากอนามัยอยู่บนใบหน้าก็จะไม่มีปัญหาอะไร"

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น.

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น. โดยมีจังหวัดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญ คือ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

2. เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครอิสระ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 โดยเอาชนะ น.ส.วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

3. นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

4. สมุทรปราการ นางนันทิดา แก้วบัวสาย ทายาททางการเมืองตระกูลดังบ้านใหญ่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 

5. ขอนแก่น นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ สามารถป้องกันตำแหน่งนายก อบจ.เอาไว้ได้ มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 จ่อเป็นว่าที่นายก อบจ.สมัยที่ 6 ติดต่อกัน

6. ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายตำรวจคนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ว่าที่นายก อบจ. ผู้ล้มนายก อบจ.คนเดิม นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ. 4 สมัย โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

7. ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ. คนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เตรียมทำหน้าที่ต่ออีกสมัย

8. นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

9. นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1 โดยคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ เตรียมทำหน้าที่นายก อบจ.

10. นนทบุรี พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตนายก อบจ. ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่มายาวนาน ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1

11. สระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง ผู้สมัครตระกูลการเมืองคนดังในพื้นที่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

12. นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์อิสระ ผู้สมัครทายาทตระกูลการเมืองดัง มีเครือข่ายการเมืองทุกระดับ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ว่าที่นายก อบจ. ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้งหมด ต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป



ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง พร้อมอธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้กำชับหน่วยงานในสังกัด ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานอย่างเคร่งครัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการและดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมและประสานข้อมูลรายงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ได้มีมาตรการป้องกันโควิด – 19 ที่เข้มงวดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่บูรณาการร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

รวมทั้งประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ไปยังหัวหน้าส่วนในสังกัดจังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามสถานการณ์ โดยได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เครือข่ายภาคเอกชน และ NGOs เพื่อให้ทางการเมียนมาออกสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาเมียนมา เพื่อให้ลูกจ้างเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยรับทราบและปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยรณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค

โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อย ๆ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 275,782 คน (ข้อมูล 15 ธ.ค.63) เมียนมา 243,617 คน ลาว 13,200 คน กัมพูชา 9,648 คน และสัญชาติอื่นๆ 9,317 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงานนั้น ด้านป้องกัน ได้แก่

1) การชะลอการอนุมัตินำเข้แรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

2) การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่ใบอนุญาตจะครบตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 - ธันวาคม 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปอีก 2 ปี

3) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง (PIPO)

4) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประขาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ลูกจ้าและผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการการคัดกรองลูกจ้างแรงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

6) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโดยจัดทำเอกสารเผแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาผลกระทบ มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ มีกระบวนการคัดกรองและการกักตัว 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

7) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและจำนวนแรงงานต่างด้าวทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และแจ้งข้อมูลให้ ศบค.ทราบเพื่อใช้ในการวางแผนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.)

ส่วนในด้านเยียวยา การให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ได้แก่ 1) ส่งเสริมการจ้างานคนไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 2) จัดทำข้อมูลความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศ และ 3) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สั่งล็อกดาวน์ด่วน หลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ในอังกฤษ ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบาดได้เร็วกว่าเดิมสูงถึง 70%

CNN รายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดรอบใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังเขาออกมาบอกว่า "เป็นการไร้มนุษยธรรมมากเกินไปหากจะให้มีการยกเลิกการจัดฉลองวันคริสต์มาสที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้"

อย่างไรก็ตามจอห์นสันได้ออกแถลงมาตรการต่างๆ สำหรับการป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หลังการระบาดในประเทศยังเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 67,000 คน และติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน

โดย จอห์นสันได้กล่าวว่า กรุงลอนดอน และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางใต้ รวมถึงทางตะวันออกของอังกฤษที่มีเคสพุ่งสูงนั้นจะเข้าสู่มาตรการจำกัด 4 ขั้นที่คล้ายกับการล็อกดาวน์โดยเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ (20)

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในการแถลงข่าวนั้น คือ การพบไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ในอังกฤษ โดยจอห์นสัน เผยว่า “การระบาดถูกทำให้หนักมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่” และเสริมต่อว่า “มัน (ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์) ดูเหมือนติดง่ายกว่าและดูเหมือนสูงถึง 70% ของการระบาดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม”

สำหรับการเตือนขั้นระดับ 4 ได้ถูกใช้ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เวลส์ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งภายใต้มาตรการเตือนขั้นระดับ 4 ประชาชนต้องอยู่แต่ภายในที่พักเว้นแต่เหตุผลที่จำเป็น และต้องไม่พบปะกับผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้านพักเดียวกัน ส่วนธุรกิจร้านค้านั้นต้องปิดตัว

เหตุการณ์นี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ของ WHO โดยประกาศจะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อังกฤษในสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หลัง อังกฤษได้ส่งข้อมูลจากการศึกษาที่กำลังวิจัยอยู่ในเวลานี้เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัส และทางองค์การอนามัยโลก โดยจะแจ้งให้ชาติสมาชิกอื่นๆ และสาธารณะทราบข่าวความคืบหน้าในการเรียนรู้ลักษณะไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการแบ่งตัวของมันต่อไป

โควิด-19 ระบาดรอบแรก ประชาชนต้องประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย แถมพวงมาด้วยราคาที่แพงหูฉี่ โควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ ทาง ‘ลุงตู่’ จึงรีบออกมากำชับให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นอย่าให้ซ้ำรอยเดิมเด็ดขาด

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศ ทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้มงวดเรื่องการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยประชาชนควรหาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพง

โดยได้ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคา รวมทั้งดูแลเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง และให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้นายกฯ ยังขอให้ประชาชนปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยสามารถสวมใส่หน้ากากผ้าได้ เพียงแต่ใช้แล้ว 1 วันต้องซัก จึงควรมีหน้ากากผ้าสลับสับเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไม่ป่วยคือ การล้างมือบ่อยๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลักๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และข้อสำคัญสุดท้ายคือการรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว กวดขัน คัดกรองพนักงานอย่างเคร่งครัดป้องกันโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานความคืบหน้าการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก และจังหวัดสมุทรสาครได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดตามที่ได้มีการแถลงข่าวต่อสาธารณชนไปแล้วนั้น

จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ กำชับให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางและคำสั่งจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค โควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรการบังคับและสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และการนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ ขอให้มีการติดตามสถานการณ์และมาตรการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกวดขัน คัดกรองพนักงาน โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานและบุคคลภายนอกที่มาติดต่อในโรงงาน และให้ดูแลสุขอนามัย ในโรงงาน อาทิ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นทางเดินเข้า–ออกอาคาร ลิฟต์ ห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ตรวจเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะต่างๆ และลดความเสี่ยงการติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานในนิคมและนอกนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครกว่า 6,082 โรงงาน คนงานกว่า 345,464 คน” นายสุริยะ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังได้มีมาตรการสำหรับการปฏิบัติงานสำหรับข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอให้ติดตามสถานการณ์และมาตรการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายในของสำนักงาน เช่น การให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้าน (work from home) ได้ตามความจำเป็น และให้งดเดินทางออกจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานติดต่อกับส่วนราชการอื่น ให้ใช้การประสานงานทางโทรศัพท์ทางระบบสารสนเทศหรือการประชุมโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

สำหรับส่วนราชการอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและหรือพื้นที่เสี่ยงระมัดระวัง สังเกตอาการของเจ้าหน้าที่และให้ส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดทราบทุกคน

และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาดในช่วงเวลาที่จังหวัดสมุทรสาครกำหนดให้พิจารณาดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัดซึ่งอาจจะมีการประกาศต่อไป

ด้านส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมดให้งดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการแจ้งให้หรือประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครทราบ เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแจ้งนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ประสานงานกันก่อน

ในช่วงระหว่างนี้ให้ใช้การติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์หรือช่องทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ แทนการเข้าพื้นที่ และให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องสอดรับอย่างเคร่งครัด

นายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าแผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดัน 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร รุกหนักปีหน้า 56 โครงการ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี

โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่ตรงนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ การดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม

พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ 1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนการนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซีให้พร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนฯระยะ 5 ปี (2565-2570) ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท

และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map) โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ: มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม โครงการต่างๆที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณหน้า จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมากแต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก

อีกทั้ง ผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดในอีอีซี

นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่สมุทรสาครแล้ว พร้อมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข -หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหยุดการแพร่เชื้อ มั่นใจรับมือได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบสถานการณ์ล่าสุดของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร

และได้ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เฝ้าระวัง สอบสวน และเร่งดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครในเชิงรุกต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือประชาชน ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายจังหวัด ได้แนะนำอย่างเคร่งครัด

ส่วนประชาชนที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ขอให้เฝ้าระวัง สังเกตอาการตนเอง เป็นเวลา 14 วัน และให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยไม่ควรไปในที่ชุมชน

หากเริ่มมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ และขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะเดินทางตลอดเวลา

สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( ศบค. )และใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคในที่อื่นๆ

จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดทางด้านสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ โดยความร่วมมือของประชาชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการระบาดในพื้นที่จำกัด และไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

หากประชาชนมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และติดต่อสอบถามได้เพิ่มเติมที่สายด่วนสมุทรสาคร หมายเลข 065-549-3322 และ 034-871-274 ตลอด 24 ชั่วโมง

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 20 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 576 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,907 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 17 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,041 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 806 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 576 รายเป็นคนไทย 38 ราย สัญชาติกาตาร์ 1 ราย อัฟกานิสถาน 1 ราย
อังกฤษ 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ จาก กาตาร์ 1 ราย  ,บาห์เรน 30 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 2 ราย, เยอรมนี 1 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย,สาธารณรัฐกานา 1 ราย , สหราชอาณาจักร 2 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย , เมียนมา 2 ราย ผ่านการคัดกรองและเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้
ผู้ติดเชื้อในประเทศ  อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย


ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 362 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.36 แสน เสียชีวิต 19,659 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 91,969 ราย รักษาหายแล้ว 76,242 ราย เสียชีวิต 433 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.15 แสน ราย รักษาหายแล้ว 94,118 ราย เสียชีวิต 2,424 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.21 แสน ราย เสียชีวิต 8,911ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,403 ราย รักษาหายแล้ว 58,274 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,411 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top