Thursday, 9 May 2024
แพท แสงธรรม

‘สื่อพลเมือง’ (Citizen Media) ‘อิสรภาพ’ ที่ไร้ความรับผิดชอบ

คำว่า 'สื่อพลเมือง' อาจฟังดูไม่ชัดเจนหรือดูเข้าใจง่ายเท่ากับคำว่า 'สื่อภาคประชาชน' หรือ 'นักข่าวประชาชน'

แต่คำๆ นี้เริ่มมีบทบาทกับโลกของสื่อยุคใหม่ โดยบางครั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะทำเพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบโดยส่วนตัว หรือด้วยความรู้สึกท้าทายว่าตนทำหน้าที่เสนอข่าวและข้อมูลได้ดี จนหวังการอวยยศให้เป็น 'นักข่าวอิสระ' ก็ตามนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมแอบห่วง!! 

สื่อพลเมือง สามารถเสนอเนื้อหาได้อย่างมีอิสระ ไม่มีใครควบคุมหรือกลั่นกรองข้อมูล

สื่อพลเมือง สามารถนำเสนอเรื่องราวได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งทางวิทยุ, ทีวี, พอดแคสท์, ยูทูบ, โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ, บล็อกและเว็บไซต์

สื่อพลเมือง อาจทำงานลำพัง หรือมีผู้ร่วมงานและทีม ช่วยกันคิดรูปแบบ คอนเทนต์ และสไตล์อันจะสร้างความแตกต่างให้ตนเด่นขึ้นมา

สื่อพลเมือง เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันที่หามาได้ในราคาไม่แพง ทำให้ความฝัน ที่อยากเป็น 'สื่อพลเมือง' กลายเป็นจริงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เช่น กล้องจากโทรศัพท์มือถือ มีคุณภาพสูงพอเพียงทั้งสำหรับภาพนิ่งและภาพวิดิโอ ซอฟท์แวร์ตัดต่อภาพและเสียง ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแบบจัดเต็ม ก็สร้างลูกเล่นจากฟังก์ชั่นที่สามารถผลิตคลิปวิดิโออันเร้าใจและอยู่ระดับมาตรฐานสากลได้ 

สื่อพลเมือง สามารถเพิ่มพูนทักษะของตนได้จากการอ่าน, คำแนะนำจากผู้อื่น, บทความออนไลน์, ดูจากคลิปออนไลน์, เรียนจากการสอนออนไลน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ ศักยภาพของสื่อพลเมืองยุคใหม่ ที่เรียนรู้ทุกอย่างของอาชีพสื่อได้หมดโดยไม่ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยใดๆ

พูดแบบนี้ แล้วรู้สึกว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมีระบบการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่ออีกเลยก็น่าจะได้!! 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเรียนรู้ในระบบอุดมศึกษา ไม่ได้ว่าด้วยการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิค หรือครอบคลุมเฉพาะเรื่อง 'เนื้อหา' ของการนำเสนอ ทั้งข่าว สารคดี งานบันเทิง การคิดเชิงวิเคราะห์ หลักการวิจารณ์ ที่ดูๆ แล้ว สื่อพลเมือง ก็คงเรียนลัดเองได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาได้สอน และเชื่อได้ว่า 'สื่อพลเมือง' จะไม่มีวันเรียนรู้ได้ คือ... 

จริยธรรมของการเป็นสื่อ!! 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับผู้อ่านในที่นี้ คือ ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต

สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!! 

ในกระบวนการด้านการศึกษาที่จัดทำเป็นรายวิชานั้น จะมีวิชาหนึ่งที่นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องเรียน รวมทั้งยังมีหนังสือ, ตำราวิชาการ และเนื้อหาเชิงวิเคราะห์จากผู้ประกอบอาชีพสื่อและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มาถ่ายทอดเป็นความรู้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อโดยไม่ได้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนโดยตรงมากมายด้วย

อันที่จริงจรรยาบรรณของสื่อ ไม่ใช่กรอบความคิดที่นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่แปรเปลี่ยน หากแต่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ต่างจากจรรยาบรรณในสาขาอื่นๆ

โดยบรรทัดฐานที่เคยใช้เป็นแนวทางในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน จะมีการเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและค่านิยมของผู้เสพสื่อ ยิ่งเมื่อทุกสิ่งถาโถมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เน้นการเสนอข้อมูลแบบแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ความรอบคอบและความใส่ใจ ต่อความถูกต้องก็ลดน้อยลง เรื่องจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ...ทุกวันนี้หลายคนคงเห็นข่าวปลอม ข่าวผิด ข่าวมั่ว ข่าวโจมตี ข่าวปลุกปั่น ที่ไหลซัดมาพร้อมกับความเร็ว แต่บังเอิญเป็นความเร็วที่มากับการมุ่งที่จะแข่งขันเพียงแค่หวังสร้างความนิยม และฉวยโอกาสจากยอดการติดตามเท่านั้น

หมายความว่าอะไร? 

สื่อพลเมือง กำลังเข้ามามีบทบาทในการ 'ลด' เพดานของจรรยาบรรณสื่อ เพื่อที่จะแต่งเติมให้พาดหัวข่าว กระตุ้นความสนใจได้ สื่อใช้ภาพประกอบที่ไม่ตรงกับเรื่อง หรือนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาติ และทำให้สื่อหลักที่น่าเชื่อถือ ยังหลงประพฤติตนตาม เพื่อยอดรับชม

ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่ลุกลามในกลุ่ม 'สื่อพลเมือง' ส่วนหนึ่งผมมองแง่บวกว่าเพราะทำงานกันอิสระ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการช่วยกันกลั่นกรองตรวจตรา ขาดประสบการณ์ที่ตกผลึก หรือผู้รู้ที่จะช่วยกรองข้อมูลที่ผิดพลาด ล่อแหลมและล่วงละเมิดออกไปจากเนื้อหาและพาดหัวเรื่อง

>> Citizen media is here to stay – สื่อพลเมืองจะอยู่ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง ในบทบาทของสื่อพลเมือง แต่เชื่อว่า 'สื่อพลเมือง' จะอยู่กับเราตลอดไป และจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาทดแทนสื่อหลักในอดีต  

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ในวันที่สื่อพลเมือง พร้อมจะแปลงร่างเป็นสื่อหลักได้ทุกเมื่อ คือ การยกระดับศักยภาพของสื่อพลเมือง เมื่อคิดจะเป็นสื่อ ต้องเป็นสื่ออย่าง 'มืออาชีพ' เหมือนกับสื่อที่มีสังกัดชัดเจน ที่เขียนข่าวหรือบทความให้กับหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือค่ายวิทยุข่าว (ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง และข่าวกีฬา)

ผมไม่อยากเห็นสื่อพลเมือง อาศัยความเป็นอิสระและรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอ

ยิ่งสื่อพลเมือง ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้ติดตามมากไม่น้อยกว่าสื่อสำนักใหญ่ ยิ่งควรทำงานด้วยความระมัดระวัง 

>> เพราะนี่คือการก้าวเข้าเท้ามาในสายสื่อแล้วแบบค่อนตัว
>> จริยธรรมและจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์สื่อจึงควรพึงมี 
>> และจงพึงรับรู้ว่าทุกการสื่อสารของคุณ ควรต้องอยู่บนเกียรติและศักดิ์ศรีของตนและผู้อื่น
>> เนื่องจากสื่อของคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน จงท่องให้ขึ้นใจว่า "อะไรคือความรับผิดชอบต่อสังคม" 

อย่างไรซะ ก็ไม่ใช่ว่าจะมาพูดจาเพียงเพื่อกล่าวโทษ อิสรภาพของสื่อพลเมืองที่นำมาสู่จริยธรรมอันมืดบอด แต่อยากบอกทางรอดให้ในตัว โดยผมอยากให้ภาคส่วนที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่ของสื่อต้องตื่นตัว!!  

ควรมีการจัดอบรมเพื่อเติมเต็มให้กับความรู้และแนวคิดด้านสื่อสารมวลชนแก่ สื่อพลเมือง อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพได้ ก็จัดมาให้เต็มที่ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ บริษัทโฆษณา สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ

หน่วยงานเหล่านี้ ต้องออกมาเล่นเกมรุก ต้องมุ่งอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสื่อพลเมือง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าอย่าพยายามยัดเยียดบุคลากรของตน หรือผู้อาวุโสทางตำแหน่งเข้าไปในการอบรม แบบนั้นมันเอาท์!! ในทางตรงกันข้าม ต้องคัดเฟ้นบุคลากรด้านวิชาการที่มีเครดิตเป็น 'นักคิด' และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสื่อตัวจริงในโลกยุคใหม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ติดว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า แต่ขอเป็นบุคคลที่เชื่อมโซ่ข้อกลางของวงการสื่อยุคนี้ให้ได้

จับคนเหล่านี้มาเจอกัน เรียนรู้กันและกัน แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ตรงนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายด้านอาชีพที่มีลักษณะจับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำสื่อจากเพื่อนร่วมอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้สื่อพลเมืองต้องพัฒนาตนเองเพื่อจะได้อยู่ในระนาบเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพในแง่ของมาตรฐานและจริยธรรม

นอกจากนี้ อยากให้ตระหนักถึง 'การคัดเลือก' โดยการเฝ้าติดตาม หรือสร้างการประกวดเพื่อมอบรางวัลแก่สื่อบ่อยๆ ฟังดูอาจเป็นวิธีที่ล้าสมัย แต่การชนะรางวัลเอย การมีวุฒิบัตรเอย โล่ห์เกียรติคุณเอย ย่อมผลักดันให้อาชีพนั้นๆ อยากรักษาและปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งอาชีพสื่อก็ไม่ต่างกัน

และนั่นอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรดา สื่อพลเมือง อยากก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตข่าวอย่างถูกต้อง ปัญหาการสร้างข่าว หรือเขียนข้อมูลขึ้นมาเองจะค่อยๆ หมดไป 

สิ่งที่จะตามมา คือ พวกเขาจะต้องแน่ใจว่าข่าว และข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดเป็นความจริง มีหลักฐานยืนยันได้ ก่อนนำออกเสนอหรือตีพิมพ์ จะต้องแน่ใจว่าไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งโดยตัวอักษรหรือภาพ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ สื่อพลเมือง หลายกลุ่มกำลังย่ำแย่ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในด้านกฎหมาย เพราะด้วยความที่ไม่มีสังกัด หรือองค์กร คิดว่าอิสรภาพของตนไร้ขอบเขต พอเจอฟ้องเอาผิด ก็หาคนช่วยเหลือหรือปกป้องคอนเทนต์ไม่ได้ สุดท้ายต้องมาเสียทั้งเงินและเวลาเอาง่ายๆ

แน่นอนว่า วันนี้จุดแข็งของ สื่อพลเมือง และผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต คือ การสร้างสูตรในการนำเสนอ จนผมเชื่อมั่นเหมือนกันว่า บรรดาสื่อพลเมืองเหล่านี้ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานของความสำเร็จ จนเหมือนเป็นนักวิชาการอิสระ ที่ช่วยชี้นำทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อได้มาก

เพียงแต่พวกเขา ควรต้องมีพื้นที่ยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดเกียรติภูมิในอาชีพ มีตัวตนที่จับต้องได้ และมีความภูมิใจ ที่จะเสนอเนื้อหาที่มีพร้อมรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes
คลิก ????  https://lin.ee/vfTXud9

Legal Sex Workers โลกของโสเภณี ที่มีใบอนุญาต

ช่วงนี้กระแสความสนใจในการหาช่องทางด้านอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในต่างแดน มีความแพร่หลายอย่างมาก ในเพจเฟซบุ๊ก ‘โยกย้าย มาโยกย้ายส่ายสะโพก’ เป็นเพจหนึ่งที่ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ขึ้นมานับร้อยอาชีพ เพื่อสนองต่อผู้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานได้สำเร็จแล้วนั้น 

แน่นอนว่าในสาระสำคัญของอาชีพที่เชื่อหลายคนคงคุ้นเคยกันดี ก็จะมีตั้งแต่ พยาบาล, โปรแกรมเมอร์, แอร์โฮสเตส, หมอนวด, ครู, งานครัว, งานบนเรือสำราญ ฯลฯ 

แต่ที่น่าสนใจ คือ มีกลุ่มอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงปรากฎขึ้นมาจากข้อมูลในเพจดังกล่าวให้สืบค้นต่อ!! ซึ่งมีอะไรบ้าง เด่วจะไล่กันแบบจากเบาไปหาหนัก 

อาชีพที่ว่าได้แก่...

1.) นักสปารองเท้าและกระเป๋า

2.) คนทำความสะอาดสุสาน 

และ ๆ ๆ

3.) อาชีพโสเภณีอย่างถูกกฎหมาย 

เกิดแรงสะดุด จนนิ้วไม่กล้าคลิกข้ามอาชีพ ‘โสเภณี’ เพราะมันเตะลูกกะตายิ่งนัก!!

และก็เชื่ออย่างแรงว่าผู้คนที่เข้าไปแวะเวียนในเพจดังกล่าว ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะมีการโพสต์สอบถามเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีมากมาย มีผู้กด Like กว่า 3 หมื่น และมีการคอมเมนต์ สอบถาม และพูดคุยกันกว่า 5 พันคอมเมนต์ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน 

ที่น่าสนใจมากๆ คือ มีข้อมูลยืนยันจากผู้ใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ หรือจากผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นเป็นเวลานาน มาแถลงไขจนใครที่เข้าไปอ่าน สามารถเข้าใจลักษณะการค้ากามารมณ์แบบครบถ้วน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอใบประกอบอาชีพโสเภณีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อได้ใบอนุญาตแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ 

ณ ที่นี้ ขอยกตัวอย่างหนึ่งจากโสเภณีต่างชาติที่เข้าไปทำงานกันเล็กน้อย ซึ่งตัวอย่างนี้มาจากสิงคโปร์ โดยเผยว่าถ้าจะทำงานที่นั่นต้อง…

- มีการเซ็นสัญญาการทำงาน ระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ปี

- ระหว่างนั้นห้ามแต่งงานกับคนสิงคโปร์

- หลังหมดสัญญาแล้วจะไม่สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้อีก

- สัญญาจะระบุเวลาการทำงาน มีทั้งเริ่มแต่เช้า 10.00 น. หรือ เที่ยง หรือบ่าย หรือเย็น

- วันหยุดคือวันที่มีประจำเดือน โดยจะได้หยุด 3 วัน

- สถานที่ทำงานนั้นเรียกว่า ‘บ้าน’

- โสเภณีประจำบ้าน จะออกจากบ้านได้หลังจากเลิกงานแล้วเท่านั้น และต้องแจ้งเวลากลับบ้านให้ชัดเจน

- ต้องตรวจสุขภาพตามกำหนด

- ค่าอาหารต้องออกเอง/บางบ้านอุปกรณ์ทำงานก็ต้องออกเอง

- ค่าแรงในการทำงาน อยู่ที่ 20-25 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 580 บาท) ต่องานไม่เกิน 30 นาที

- ไม่เน้นคุณภาพการให้บริการ เมื่อหมดเวลาแล้วพร้อมรับแขกต่อไป

โอ้โห!! ฟังละอึ้ง

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังมีผู้ให้ข้อมูลการประกอบอาชีพโสเภณีในเยอรมนี ซึ่งเป็นอีกพิกัดมีชื่อเรื่องธุรกิจกามารมณ์ที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในช่วงท้ายของทศวรรษ 60s นั้น มาจนถึงปัจจุบัน เยอรมนีมีซ่องขนาดใหญ่ลือเลื่องรู้กันดีทั่วโลก 

โดยมีคนไทยที่ทำอาชีพโสเภณีอย่างถูกกฎหมายในเยอรมนีได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตัวเธอเรียนจบปริญญาตรี และปริญญาโท จากเมืองไทย และตั้งใจจะมาเรียนปริญญาเอกในยุโรป แต่ชีวิตผิดแผน กลายมาเป็นโสเภณีอย่างถูกต้อง มีใบอนุญาต ได้รับการดูแลจากรัฐ เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ อย่างช่วงโควิด-19 ก็ได้รับเงินช่วยเหลือเกือบ 1 ล้านบาท 

ยิ่งไปกว่านั้นรายได้จากการประกอบอาชีพของเธอ สามารถส่งเสียครอบครัวในเมืองไทยได้อย่างสบาย เวลาติดต่อราชการไม่เจอสายตาเหยียด หรือกริยาดูถูก 

พอเห็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้รู้สึกคัน (คันไม้คันมืออยากค้นหาข้อมูลนะ) จนไปไล่ดูว่า...ทุกวันนี้จำนวนประเทศที่ผ่านกฎหมายให้ อาชีพโสเภณี เป็นอาชีพถูกกฎหมายนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

ปรากฎว่ามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะทางรัฐของประเทศที่เห็นชอบมองว่า การตรวจตราธุรกิจที่ดำเนินอย่างเปิดเผย ย่อมง่ายกว่าธุรกิจหลบซ่อน ในบางประเทศเห็นว่า การค้าประเวณีอย่างถูกต้องช่วยลดอาชญากรรมทางเพศ และลดความรุนแรงในครอบครัว หรือด้วยหลักการอื่น ๆ

เอาเป็นว่ามาลองไล่เรียง เป็นความรู้กัน!! ว่า ‘อาชีพโสเภณี’ ในโลกกว้างนี้ มีมิติเช่นไรกันบ้าง?

สำหรับประเทศในยุโรป ที่อาชีพโสเภณีที่ได้รับการจดทะเบียน เป็นอาชีพถูกต้องตามกฎหมายและมีการตรวจตราอย่างเป็นระบบ ได้แก่ เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, กรีซ, ตุรกี, เบลเยี่ยม, สาธารณรัฐเช็กฯ, เนเธอร์แลนด์, ฮังการี, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส และ ลัตเวีย

ส่วนในแถบสแกนดิเนเวียและใกล้เคียง ได้แก่ ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, สโลเวเนีย, โปแลนด์ และยังมีประเทศอื่น ๆ ที่อาชีพโสเภณีไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการตรวจตราควบคุม 

ข้ามมาฟากแถบทวีปอเมริกา ในอาร์เจนตินา อาชีพโสเภณี ก็เป็นอาชีพถูกกฎหมาย แต่ไม่อนุญาตให้หาประโยชน์จากโสเภณี จึงไม่อนุญาตให้มีพ่อเล้า แม่เล้า และห้ามค้าประเวณีในเขต 500 เมตรที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ 

ในออสเตรีย อาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแต่มีการตรวจตราดูแลอย่างรัดกุม 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชน

โสเภณีในบังคลาเทศ ค้าประเวณีได้อย่างถูกกฎหมาย แต่สังคมยังตราหน้าว่าเป็นอาชีพที่ไร้เกียรติ ทำให้โสเภณีถูกมองว่าเป็นอาชญากร

ในประเทศโบลิเวีย ผู้ที่อายุเกิน 18 ปี สามารถค้าประเวณีได้อย่างถูกกฎหมาย จึงสามารถพบเห็นผู้ยึดอาชีพโสเภณีได้ทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองหรือดูแล ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งทั้งด้านสุขภาพ และความปลอดภัยต่อชีวิตของโสเภณี ทั้งกามโรคต่าง ๆ และการค้ามนุษย์ การบังคับให้ผู้อายุต่ำกว่าเกณฑ์ร่วมเพศกับลูกค้า

สาธารณรัฐโดมินิกัน ให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพถูกต้องตามกฎหมาย และได้ทำให้โดมิกันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวเพื่อเซ็กซ์

ส่วนในเอกวาดอร์ นอกจากอาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังไม่ห้ามการหาประโยชน์จากโสเภณี เช่น การตั้งช่อง หรือสถานที่ให้บริการทางเพศ หรือการเป็นพ่อเล้า หรือแม่เล้า หรือนายหน้า แถมเอกวาดอร์ ยังดึงดูดโสเภณีจากโคลอมเบีย ให้มาหากินในเอกวาดอร์ เพราะค่าตอบแทนเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างจากเงินเปโซของโคลอมเบียที่ไม่เสถียร ซึ่งมีการสำรวจคร่าว ๆ ในเอกวาดอร์พบว่า มีโสเภณีจำนวนไม่น้อยกว่า 35,000 คนกันเลยทีเดียว

ในเอลซัลวาดอร์ กฎหมายระดับชาติ ไม่มีบทลงโทษผู้ค้าประเวณี แต่กฎหมายในระดับเทศบาลสามารถเอาผิดในคดีค้าประเวณีได้ ดังนั้นกลุ่มลูกค้า จึงได้พัฒนาเขตเฉพาะขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโสเภณีและการดำเนินกิจกรรมค้าประเวณี 

เอธิโอเปีย อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี ประกอบอาชีพโสเภณีได้อย่างถูกกฎหมาย จึงพบเห็นโสเภณีได้ทั่วไป แต่กฎหมายยังจำกัดการหาผลประโยชน์จากโสเภณี และอาชีพแมงดาให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่

การค้าประเวณีและการซื้อขายเซ็กซ์ในฟินแลนด์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากผู้ซื้อได้ตกลงซื้อบริการทางเพศ จากผู้ขายที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ผู้ซื้อจะมีความผิดโดยบทลงโทษนั้น มีทั้งโทษปรับและจำ

การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมายสำหรับผู้มีอายุเกิน 18 ปี ในอิสราเอล แต่มีบทลงโทษจำคุก 3 ปี ต่อผู้ซื้อเซ็กซ์จากผู้เยาว์ และอาชีพ ‘แมงดา’ จะถูกจำคุก 5 ปี 

ส่วนในญี่ปุ่น กฎหมายระบุว่า การซื้อขายเซ็กซ์นั้นผิดกฎหมาย โดยมีการระบุนิยามความหมายเพิ่มเติมความผิดภายใต้คำว่า ‘กิจกรรมทางเพศ’ ไว้ ซึ่งหมายถึงว่าการร่วมเพศกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้นที่ผิด ฉะนั้นกิจกรรมทางเพศ ที่ไม่ได้กระทำต่ออวัยวะเพศหญิง จึงถือว่าไม่ผิดกฎหมาย (อ่า)

ในมอลตา ประเทศเกาะกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การประกอบอาชีพโสเภณีด้วยความสมัครใจถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่การกระทำใด ที่เป็นการล่อหลอก หว่านล้อม หรือบังคับ ให้ผู้อื่นประกอบอาชีพโสเภณีนั้นผิดกฎหมาย และการหาประโยชน์จากโสเภณีมีบทลงโทษ

เม็กซิโก ประกอบด้วยรัฐ 32 รัฐ และมีกฎหมายกลางที่ใช้กับทุกรัฐ ระบุกว่า ห้ามจัดตั้งซ่อง แหล่งค้าประเวณี หรือเป็นพ่อเล้า แม่เล้า ผู้ประกอบอาชีพโสเภณี ต้องจดทะเบียนและพกบัตรตรวจโรคติดตัวไว้ตลอดเวลา การซื้อขายเซ็กซ์ไม่ผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้แต่ละท้องถิ่น ออกกฎหมายบังคับใช้เพิ่มเติมได้ ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยโสเภณีและการค้าประเวณีของเม็กซิโก จึงไม่มีลักษณะปูพรมผืนเดียวทั้งประเทศ มีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาคและเมือง

กฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีของนอร์เวย์ มีความแตกต่างและน่าสนใจ คือ กฎหมายอนุญาตให้คนสัญชาตินอร์เวย์ขายบริการทางเพศได้ แต่ห้ามไม่ให้ผู้มีสัญชาตินอร์เวย์ หรือผู้ที่พำนักในนอร์เวย์ ซื้อบริการทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ การซื้อบริการทางเพศมีโทษทั้งปรับ และจำคุกนาน 1 ปี ในสวีเดนก็ไม่ต่างกันคือ ชาวสวีเดนสามารถค้าประเวณีได้ แต่ห้ามเป็นผู้ซื้อ

ในเซเนกัล เกณฑ์อายุที่จะยึดอาชีพโสเภณีได้คือ 21 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุในการประกอบอาชีพที่สูงกว่าประเทศอื่น และมีการตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการตรวจโรคและการไม่ถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มค้าประเวณี หรือพ่อเล้า แม่เล้า

ส่วนในสิงคโปร์นั้น แม้อาชีพโสเภณีไม่ผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมายผูกพันมากมาย เช่น ห้ามหาลูกค้าในสถานที่สาธารณะ ห้ามหาประโยชน์จากโสเภณี ห้ามเป็นเจ้าของซ่อง ห้ามโฆษณาหรือประกาศขายเซ็กซ์ รวมทั้งทางอินเตอร์เน็ต 

จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่อนุญาตให้อาชีพโสเภณีถูกต้องตามกฎหมาย มักจะเน้นว่า ห้ามหาผลประโยชน์จากโสเภณี 

แต่ในความเป็นจริง ก็เชื่อว่าการหากินบนหลังโสเภณีนั้นมีอยู่ จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ‘ในทางปฎิบัติ’ เพราะอาชีพนี้ มันยากมากที่จะปลอดจาก แมงดา พ่อเล่า หรือแม่เล้า  

อย่างไรก็ตาม โสเภณี ก็เป็นอาชีพอย่างอิสระอย่างหนึ่ง และก็ควรจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองที่ดี การปฏิบัติตน การให้เกียรติจากสังคม เพื่อไม่ให้โสเภณีเหล่านั้น หลุดเข้าไปสู่วัฏจักรอันเลวร้าย วนเวียนสู่วงจรของอาชญากรรมจัดตั้ง

ที่นำมาเล่านี้ เป็นประสบการณ์ของอาชีพหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นการส่อแววอนาจารหรือสนับสนุนใด ๆ เพียงแต่เป็นการตีแผ่เรื่องจริง ที่ได้แรงหนุนจากบรรดาคอมเมนต์ ‘เพจโยกย้ายฯ’ ก็มีคอนเทนต์มากมายทั้งชุดคำพูดสนุกสนาน ขบขัน หรือข้อมูลความรู้ทั่วไปแบบเล่าสู่กันฟัง 

แต่อย่างไรเสีย บทสรุปของอาชีพนี้ ที่ทิศทางคำถามได้ในแนวเดียวกัน คือ “ทำไมถึงอยากเป็นโสเภณี?” 

คำตอบแบบชัด ๆ อาจระบุไม่ได้ แต่หากให้คลี่คลายอย่างผิวเผินและไม่เป็นทางการนั้น มีความจริงเพียงแค่หนึ่งเดียว...

“เพราะค่าตอบแทนคุ้มค่าแรงไง”

“แค่นั้นจริงๆ”

Migration of Generation Me ย้ายประเทศกันเถอะ

ปรากฎการณ์ 'ย้ายถิ่น' ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อจะสื่อว่า “ประเทศนี้ไม่น่าอยู่” ทำให้กลายเป็นกระแสที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจากจำนวนหมื่น สู่จำนวนหลายแสน จนใกล้หลักล้านอย่างรวดเร็ว

อันที่จริงแล้ว การย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า มีมาตั้งแต่โบราณกาล จึงได้มีคนต่างเชื้อชาติอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้คนจากทวีปเอเชีย เริ่มอพยพเข้าไปหางานทำ และสร้างฐานะกันมากมายจนเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายว่าด้วยผู้อพยพเข้าประเทศและการถือสัญชาติกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960s มีผู้อพยพจากเอเชียจำนวน 5 แสนคน และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมทุกทศวรรษตลอดมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพจากเอเชียอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 14 ล้านคน และถือเป็น 31% ของผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 45 ล้านคน 

สำหรับการอพยพจากประเทศบ้านเกิด ไปยังประเทศอื่นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาส ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มการศึกษา เพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแสวงหาเสรีภาพทางศาสนา เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัวจากภัยทางการเมือง จากสงคราม หรือภัยธรรมชาติ 

แรงผลักดัน และความจำเป็นในการอพยพไปยังประเทศอื่นในส่วนนี้ จึงไม่เกี่ยวกับความรู้สึกเกลียดชังแผ่นดินเกิดหรือไม่แต่อย่างใด!! เพราะผู้คนที่ยังคงรักประเทศบ้านเกิด ยังเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ก็ย้ายถิ่นฐานโดยพกความรักชาติติดตัวไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ภาพในปัจจุบัน การร้องตะโกนว่า ประเทศบ้านเกิดของตนนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต อาจดูเป็นชุดคำพูดที่ไม่เป็นความจริงสำหรับพลเมืองทั้งประเทศไทย เพราะผู้คนจำนวนมาก ยังใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ยอมรับวิถีของสังคม กฎหมาย และความมานะอุตสาหะ พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้ และเห็นว่าความเป็นไปในบ้านเกิดยังให้ความสุขแก่ชีวิตได้ 

การประกาศก้องว่าจะย้ายประเทศ จึงไม่สามารถสร้างความตระหนกตกใจ ให้กับใครได้ ไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปั่นกระแสขนาดไหน การอ้างถึงปรากฎการณ์ “สมองไหล” ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะคำว่าสมองไหล หมายถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ช่างทักษะระดับสูง นักวิชาการ และอื่น ๆ 

ฉะนั้นหากระดับความสามารถทางวิชาชีพของท่านใด อยู่ในระดับกลุ่มแรงงาน จะไม่อยู่ในข่ายสมองไหล เมื่อมีการแสดงออกถึงความใฝ่ฝันที่จะไปสร้างอนาคตในประเทศอื่น จึงไม่มีใครต้าน และต่างอวยพรให้ไปดีมีชัย!! 

ทีนี้ลองมาดูภาพการอพยพของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ไปสร้างชีวิตใหม่ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา เป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันสักเล็กน้อย

กลุ่มคนใน SEA ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเชีย ไทย และฟิลิปปินส์นั้น ต่างกระจายตัวทำงานอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส แคนาดา และอีกหลายประเทศทั่วโลก (ยังมีธุรกิจที่ผู้อพยพจาก SEA เป็นเจ้าของกิจการรวมอยู่ด้วย)

การสำรวจในปี 2019 พบว่า มีผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์อยู่ในสหรัฐฯ 2 ล้านคน, เวียดนาม 1.4 ล้านคน, ไทย 2.5 แสนคน, ลาว 1.8 แสนคน และเมียนมา 1.5 แสนคน นี่คือจำนวนคนอพยพสะสมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s 

ว่าแต่สงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็นสหรัฐฯ ? 

เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากทุกมุมโลก ผู้คนในวัยเรียนจึงวางแผนที่จะไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ และการได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษา ยังเป็นการกรุยทางให้อยู่ต่อเพื่อฝึกงาน ทำงาน หรือวางแผนที่จะย้ายมาตั้งรกรากอย่างถาวร 

เรื่องนี้น่าสนใจตรงจำนวนนักเรียนนักศึกษาจาก SEA ที่ศึกษาต่อในอเมริกานั้น สามารถสะท้อนถึงโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศต้นทางไปพร้อมกัน เพราะหากประเทศต้นทางจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพดี จำนวนพลเมืองที่เดินทางออกไปแสวงหาการศึกษาในประเทศอื่นจะไม่สูงนัก 

ทั้งนี้ ตัวเลขนักศึกษาจากทวีปเอเชียที่เข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2019-2020 มากที่สุดจะประกอบไปด้วย... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. เกาหลีใต้ 4. ซาอุดิอาราเบีย 5. เวียดนาม  6. ใต้หวัน 7. ญี่ปุ่น 8. เนปาล 9. อิหร่าน 10. ตุรกี

กลุ่มคนพลัดถิ่น (Diaspora) ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจ หรือถูกบีบบังคับจากสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ จากทวีปเอเชีย ในสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนมากที่สุด มีดังนี้... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. ฟิลิปปินส์ 4. เวียดนาม 5. เกาหลี

ส่วนข้อมูลจำนวนนักศึกษาจากประเทศไทย ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ในปี 2018 รวมทั้งสิ้น 6,636 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นนักศึกษาจากเวียดนามในปีเดียวกันมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคน อินโดนีเซีย 9,000 คน และมาเลเชีย 7,864 คน ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน มีนักศึกษาจากสิงคโปร์กำลังศึกษาในสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นจำนวนถึง 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เรียนในระดับปริญญาตรี 40% ปริญญาโทและเอก 30% อีก 30% เป็นการฝึกงานหรือเพิ่มเติมทักษะทางวิชาชีพ

การมีความใฝ่ฝันที่จะแสดงหาสังคมที่ให้โอกาสแก่เรา ในการสร้างฐานะ หากดูเพียงรายได้ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับเกณฑ์รายได้ในเมืองไทยก็คงไม่ผิดอะไร แต่การไปอยู่ต่างแดน ยังมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสัดส่วนรายได้ต่อค่าครองชีพ การปรับตัวในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความสามารถในการสื่อสารอย่างคล่องแคล่ว ความสุขทางใจ ความรู้สึกที่มั่นคงอันได้จากความอบอุ่นของครอบครัวที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง การได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว และการมีสถานภาพเป็นผู้มาอาศัย หรือเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศใหม่ 

ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจะได้แค่เงิน แต่ไร้ซึ่งความสุขไปทั้งหมด เพราะความสามารถทางภาษา และการปรับตัวทางวัฒนธรรมและสังคมนั้น เป็นความสามารถส่วนตัว การที่จะมีความสุขในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ได้มีกำแพงกั้นสำหรับใคร

แต่หัวใจสำคัญคือ การสร้างต้นทุนไว้ให้พร้อม ทั้งเงินเก็บ ผลการศึกษาที่จะช่วยให้ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีระดับ ความชำนาญทางภาษาที่ใครได้ยินได้ฟังแล้วนับถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา รวมถึงการซึมซับวัฒนธรรมของประเทศนั้น เพื่อใช้ปรับตัวให้มีความสบายใจ และสร้างเพื่อนใหม่ได้ แม้ชาติพันธุ์จะแตกต่าง แต่เมื่อมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และรอดตัวจากการเหยียดเชื้อชาติได้ในสถานการณ์ปกติ

“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

"Chinese people will not allow some foreigners to eat China's rice while smashing its bowls"

“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

คำกล่าวนี้ หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศ และอธิบดีกรมสารสนเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวโต้ตอบสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก ที่กล่าวหาจีนว่า ใช้แรงงานอุยกูร์เยี่ยงทาสในเขตซินเจียง ในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตผ้าผ้าย เมื่อช่วงปลายเดือน มีนาคม 2564

จีนแถลงว่าการกล่าวหาของอเมริกาและประเทศตะวันตก เป็นการโกหกให้ร้ายอย่างไร้ความอาย ส่วนการต่อต้านสินค้าจีนนั้น ถูกพลเมืองจีนตอบโต้โดยการงดซื้อสินค้าระดับแบรนด์ของตะวันตก โดยมีดาราจีนและผู้เป็นพรีเซนเตอร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนช่วยผลักดัน โดยการยกเลิกสัญญากับแบรนด์ ส่วนผู้บริโภค และผู้ค้าขายออนไลน์ ทำการยกเลิกแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ ของแบรนด์ต่าง ๆ

แม้ฟังดูจะเหมือนเป็นกิจกรรมบอยคอตต์เชิงสัญลักษณ์ ที่อาจไม่มีผลกระทบมากนัก แต่โดยความจริง จีนมีพลเมือง 1,400 ล้านคน และยอดขายสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ในตลาดจีนนั้น ล้วนมีมูลค่าแต่ละปี หลายร้อยหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นตลาดของ H&M ในประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจาก UK (1), US (2) และเยอรมันนี โดยทำยอดขายจากร้าน H&M ทั่วประเทศจีนกว่า 500 ร้านได้ถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 หากมียอดขายตกไป 10% ย่อมหมายถึง 140 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจาก H&M แล้ว แบรนด์อื่น ๆ ที่เจอกระแสต่อต้านได้แก่ Nike, Adidas และ Burberry โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแถลงนโยบายที่จะไม่ใช้สินค้าฝ้ายของจีน หรือแสดงการเห็นด้วยกับคำกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา

คำพูดในเชิงโวหาร ของหัว ชุนหยิง นั้น เป็นคำพูดที่ต่อยอดมาจากคำอธิบาย ที่เธอพูดไว้ว่า “ตลาดของประเทศจีนอยู่ตรงนี้ เราต้อนรับบริษัทต่างชาติด้วยความใจกว้าง แต่เราต่อต้านการโจมตีประเทศจีนด้วยความเกลียดชังและใช้วิธีสกปรก ใช้เรื่องโกหกและข่าวลือ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศจีน”

คำพูดชุดนี้ ช่วยให้ความหมายของ “ทุบชามข้าวของเรา” ชัดเจนขึ้น

สำหรับคนจีน คำว่า “ชามข้าว” ไม่ได้มีความหมายตรง ๆ แต่หมายถึง ช่องทางในการทำมาหากิน เช่นเดียวกับที่คนไทยพูดว่า “ทุบหม้อข้าวของตนเอง” จากความหมายดั้งเดิม ที่ชามข้าวหมายถึง “อาชีพ” ความหมายได้ถูกปรับไปตามบริบท คำว่า “ชามข้าว” หรือ rice bowl นั้น จึงรวมถึง ธุรกิจ การค้า การลงทุน และแหล่งรายได้ทุกประเภท และคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” นั้นยิ่งเป็นการย้ำในความหมายของ “แหล่งรายได้ที่มั่นคงถาวร”

บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเปิดร้านและดำเนินธุรกิจในประเทศจีน กอบโกยรายได้มหาศาลจากพลเมืองจีน เปรียบเสมือน เข้ามา “กินข้าวของคนจีน” แต่การไม่ยอมซื้อผ้าฝ้ายของจีน เพราะอ้างว่าเป็นสินค้าจากการใช้แรงงานทาสตามข่าวลือ คือการ “ทุบชามข้าวจีน” นั่นเอง

ชาวจีน มีโวหารมากมายที่เกี่ยวกับ “ข้าว” ที่น่ารู้ เช่น

- ข้าวทุกเม็ดได้มาจากเหงื่อที่หยดมาจากคิ้ว

- ข้าวหุงสุกไปแล้ว ยังไงก็แก้ไขไม่ได้ (อย่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว)

- พูดมากแค่ไหนก็ไม่อาจทำให้ข้าวสุกได้ (อย่าดีแต่พูด)

- ภรรยาจะทำอาหารเก่งเพียงใด ก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีข้าว (ถ้าเครื่องมือไม่ครบย่อมทำอะไรไม่สำเร็จ)

- เอาข้าวไปล่อจับไก่ ได้ไก่มาแต่ไม่มีข้าวกิน

- ไม่มีจิตใจที่จะดื่มชาหรือกินข้าว (อยู่ในอารมณ์โศกเศร้าอย่างที่สุด)

- จะให้ข้าวสาร 3 ถัง ข้าก็ไม่มีวันก้มหัวให้ (ไม่ยอมแลกเกียรติกับสิ่งของใด)

- ข้าราชการตงฉิน คือคนที่กินข้าวกับเกลือเท่านั้น

- มีเวลาปีเดียว จงปลูกข้าว มีเวลาสิบปีให้ปลูกป่า ถ้ามีเวลาตลอดชีวิตจงให้ความรู้แก่ผู้คน

- ครูคือผู้ทำนาด้วยปากเพื่อให้ได้ข้าวมาใส่ชาม

- คนรอเกี่ยวข้าว ย่อมดีกว่า ข้าวรอให้คนมาเกี่ยว

คำว่า “ทุบหม้อข้าว” ที่คนไทยใช้นั้น จะให้ภาพที่ชัดกว่าสำหรับคนไทย เพราะหม้อเป็นภาชนะที่ใช้หุงต้ม อันเปรียบเทียบให้เห็นว่า หม้อเป็นช่องทางทำมาหากินที่ชัดกว่า อย่างไรก็ตามคนจีน ก็ใช้ทั้ง “ชามข้าว” และ “หม้อข้าว” ตามความคุ้นเคยของแต่ละคน ส่วนคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” ซึ่งหมายถึงอาชีพที่มั่นคงถาวรนั้น ยังใช้เรียก ตำแหน่งงานราชการ เพราะมีความมั่นคงระยะยาว ตกไม่แตก ในเกาหลี ข้าราชการจะมีชื่อเปรียบเทียบว่า “ชามข้าวเหล็ก” เพราะมีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง

สตรีนิยม (Feminism) การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม... แต่จงเป็นการใช้เสรีภาพและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

ภาพโปสเตอร์นี้มาจากงาน Black Feminist Festival ณ กรุงปารีสในปี 2017 ปรัชญาของ Feminism เกิดขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อน เพื่อให้สตรีมีความเท่าเทียมในสังคม เช่นการมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่สิทธิในการครองสมบัติในนามของตน เมื่อเข้ายุค 1960s จนถึง 1970s การเคลื่อนไหวของสตรีนิยม เน้นการต่อสู้เพื่อขจัดการกีดกันสตรี และการกดขี่ทางเพศ ซึ่งได้รับการเสริมด้วยกระแสด้านสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านสงครามเวียดนาม

Don't agonize, ORGANIZE! อย่าโอดครวญด้วยความทรมาน แต่ลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990s สตรีในสหรัฐอเมริกา มีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้นจากกฎหมายที่ให้ความคุมครองแก่สตรีเพิ่มขึ้นในหลายมิติ เช่นสิทธิเกี่ยวกับการลางานโดยได้ค่าจ้างช่วงตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการป่วยและลาคลอด การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในช่วงที่สตรีมีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้สตรี ได้สร้าง อัตลักษณ์ของตนเอง พัฒนาความเป็นปัจเจกบุคคล และแนวคิดนอกกรอบ โดยไม่ต้องหวั่นกระแสสังคมอย่างที่เป็นมาก

การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน และกระแสในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการต่อสู้เรื่องการโดนรังแกทางเพศ ที่โยงไปถึงการใช้อำนาจของผู้ชายในด้านอาชีพ เช่นกระแส MeToo และยังเกิดการโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม ว่าเป็น White Feminism หรือ “สตรีผิวขาวนิยม” เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสตรีผิวดำ และเชื้อชาติอื่น ๆ

บ่อยครั้งการเคลื่อนไหวทั้งในการรณรงค์และโดยพฤติกรรมส่วนตัวของผู้หญิง มีการแสดงออกอย่างก้าวร้าว จนเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า สตรีนิยมไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว พร้อมชนกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนคนทั่วไปบางครั้งเข้าใจว่า คนเหล่านี้เป็นทอม หรือเลสเบี้ยน หรือเกลียดผู้ชาย

การแสวงหาความเท่าเทียมยังคงมีอยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทุกกลุ่มจึงมีการใช้คำว่า LGBTQ และเป็นสิ่งที่ยังต้องมีต่อไป เพื่อปรับทัศนะของผู้คนในสังคม

กาลเวลาผ่านมา ในหลายประเทศทั่วโลก สตรีมีสิทธิในการศึกษา ได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย ได้รับตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาลและบริษัท สตรีได้เป็นผู้นำประเทศมากมาย ทั้งในศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล อังกฤษ เยอรมันนี นิวซีแลนด์ ฯลฯ ศักยภาพเหล่านี้ ยืนยันว่าสังคมไม่ได้คิดว่าผู้หญิงด้อยกว่าเพศชายหรือเพศอื่น ๆ และได้สร้าง "พลัง" และ "ศักดิ์ศรี" ให้กับผู้หญิงโดยรวม ยืนยันสถานภาพความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับเพศชาย

เมื่อมีพลังและศักดิ์ศรีแล้ว การเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยม ก็ต้องทำในสิ่งที่เพิ่มพลังและศักดิ์ศรีแก่สตรีเพศ ดังจะเห็นว่า female empowerment หรือการสร้างพลังให้แก่สตรี นอกเหนือจากด้านกฎหมายแล้ว ยังพัฒนาโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโตและมีบทบาทสำคัญในทุกมิติของสังคม

ไม่ว่าจะอ้าง แนวคิดสตรีนิยมเชิงทฤษฎี แบบ มาร์กซิสต์ เฟมินิสม์ (Marxist Feminism) โซเชียลลิสต์ เฟมินิสม์ (Socialist Feminism) คัลเจอรัล เฟมินิสม์ (Cultural Feminism) หรือ อินเตอร์เซคชันแนล เฟมินิสม์ (Intersectional Feminism) ต้องไม่ทำการเหยียด ความเป็นมนุษย์ผู้หญิง

มาร์กซิสต์ เฟมินิสท์ เป็นแนวปรัชญาที่แตกมาจากเฟมินิสซึม โดยผสมทฤษฏีของมาร์กซิสต์เข้าไว้ เช่นการวิเคราะห์มิติที่สตรีถูกกีดกันในระบบทุนนิยม และการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ส่วนสตรีนิยมแบบสังคมนิยมนั้นต่อยอดจากแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เฟมินิสต์เรื่องระบบทุนนิยมที่กดขี่สตรีเพศ และอ้างถึงทฤษฎีเฟมินิสต์ที่ว่าด้วยบทบาทของเพศสภาพ และสถานภาพที่ผู้ชายเป็นใหญ่

Cultural feminism มองสตรีเพศ โดยพิจารณา “ธรรมชาติของเพศหญิง และแก่นแท้ของความเป็นผู้หญิง โดยมีเจตนาที่จะประเมินคุณค่าและศักยภาพของสตรี และให้นิยามใหม่กับความเป็นผู้หญิง โดยแยกลักษณะของเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิด

Intersectional feminism ต้องการวิเคราะห์บทบาทของสตรีในกรอบของสังคมและการเมือง อันทำให้เกิดการกีดกัน และอภิสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับสตรีเพศ

การอ้างว่า การใช้ sex toy หรือการสนุกทางเพศอย่างสำส่อน ในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง คือ การเหยียด ลบหลู่ และด้อยค่าความเป็นสตรี อย่างชัดเจน เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้ชาย กะเทย LGBTQ ที่เป็นอารยชน ก็ไม่ทำ

แม้ว่าการกีดกัน หรือเหยียดสตรีเพศ ยังมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก แต่มนุษย์ที่ อยู่ร่วมสังคมกันโดยยึดถือในบรรทัดฐานอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงเพศสภาพ หรือเพศสภาวะเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องจริยธรรมและกาลเทศะ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสตรีเพศ ผู้หญิงไม่ว่าจะเก่งกาจเพียงใด หากไม่รู้จักกาลเทศะ ขาดจริยธรรม ย่อมไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมอารยะ ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมที่ไม่แยแสต่อจริยธรรมและกาลเทศะ ยังเป็นการ “ด้อยค่า” ให้กับสตรีเพศ

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และอิสระทางความคิด ไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายได้ ถ้าเน้นย้ำแต่เพียงความสนุกทางเพศ เวลาใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นิทรรศการของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่จัดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ก็ดูเหมือนจะเน้นแต่การสำรวจความเป็นผู้หญิง ผ่านเรื่องเซ็กส์และอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เชย ตกยุค เพราะสังคมปัจจุบัน ไม่ได้รังเกียจอวัยวะเพศหญิง โดยการตีตราให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสกปรกอย่างในอดีตอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แม้ว่าในบางสังคมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะมีการบัญญัติไว้ในความเชื่อทางศาสนา

การนำแนวคิด feminism มาอ้าง ต้องทบทวนให้รอบคอบก่อนพูด ก่อนตอบโต้ การแย้งกับค่านิยมของสังคมและเหตุผลขาดน้ำหนัก ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ ดูเป็นเรื่องตลก

ผู้หญิงเก่งในสังคมไทยมีมากมายทั้งในองค์กรของรัฐ และในบริษัทเอกชน และถ้าไม่ต้องการให้สังคมมองเห็นว่า สตรีผู้มีศักยภาพสูงเท่าเพศชาย หรือเหนือกว่าผู้ชายทั่วไป ต้องแสดงให้สังคมเห็นการเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้การสนับสนุนแก่เยาวชนหญิง ให้เกิดความมั่นใจในความเป็นเพศหญิงที่ไม่ได้ด้อยกว่าเพศชาติ ให้เกิดความมุ่งมั่น ผ่านความรู้สึกว่าเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพเช่นคนอื่น และจะได้รับความเกรงใจ และความนับถือจากสังคม ด้วยพฤติกรรมที่สังคมมองว่าเป็นคุณค่าที่ควรแก่การยกย่อง ไม่ใช่เพราะมีใจเสรี อยากทำอะไรก็ได้ไม่แคร์

Feminism ที่มีความจริงใจในการเคลื่อนไหวเพื่อให้สตรีเพศมีความเข้มแข็ง มีความสำคัญในสังคมทุกระดับ จะรู้แก่ใจว่า You are what you do การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ มีพื้นที่อีกมากไม่ใช่แค่บนเตียง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top