Sunday, 20 April 2025
เรื่องเล่าจากเครมลิน

‘ปูติน’ ลั่น!! ไม่ยอมให้ ‘ยูเครน’ มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้นักวิชาการตะวันตก จะออกมาให้การสนับสนุน

(18 พ.ย. 67) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวจากทางฝากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในเคียฟของยูเครนกำลังคิดใคร่ครวญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาเพื่อต่อกรกับทางรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจยุติการสนับสนุนของวอชิงตันต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีต้องดิ้นรนหาทางออกในการป้องปรามรัสเซียด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้แนวโน้มของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวในเดือนตุลาคมว่าเขาได้บอกกับทรัมป์ระหว่างการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่นิวยอร์กว่ายูเครนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่ก็พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเซเลนสกีอ้างว่าทรัมป์ได้ยินเขาแล้ว และกล่าวว่า ‘เป็นการตอบโต้ที่ยุติธรรม’ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของเซเลนสกีทำให้เกิดการคาดเดาว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่จากมุมมองทางเทคโนโลยีและการเมือง จากการที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยข้อนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ยูเครนได้รับมรดกจากคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ปี ค.ศ. 1994 เคียฟยอมจำนนต่อตะวันตกโดยยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกโจมตีเนื่องจากรัสเซียละเมิดโดยการรุกรานยูเครนอย่างเปิดเผยโดยที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรไม่สามารถรับประกันความมั่นคงของยูเครนได้ แม้ว่าพวกเขาได้จัดหาอาวุธจำนวนมหาศาลให้กับเคียฟ หลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มขึ้นในต้นปี ค.ศ. 2022 ในทางการเมืองเคียฟจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากหากตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามรัสเซีย โดยอาจต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้ครั้งใหญ่จากพันธมิตรตะวันตกที่กองทัพยูเครนต้องพึ่งพาอาวุธธรรมดาเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่สามแล้ว 

นักวิชาการตะวันตกหลายคนออกมาสนับสนุนยูเครนให้มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น คลอส มาธีเซน (Claus Mathiesen) อาจารย์ประจำสถาบันกลาโหมแห่งเดนมาร์กและอดีตผู้ช่วยทูตทหารประจำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือที่น่ารังเกียจ โดยรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และกำลังขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน หากดินแดนเหล่านี้ถูกยึดไป ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับยูเครน คือการตอบโต้การป้องปราม โดยการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง” ดร.เจนนี มาเทอร์ส (Jenny Mathers) อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเซเลนสกี "แสดงเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐต่างๆ มากมายจึงพยายามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ... เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากการโจมตีโดยตรงโดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสนามรบ และไม่ได้ป้องกันรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านั้นจากการพ่ายแพ้ทางทหารด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ที่สถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ เชื่อว่า “ยูเครนจำเป็นต้องมีการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงที่ยั่งยืน ...การตัดสินใจของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนและใช้มาตรการบังคับทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่วันแรกของการรุกราน ได้เผยให้เห็นถึงอันตรายของการถูกทิ้งไว้นอกร่มนิวเคลียร์ ...การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การบังคับขู่เข็ญด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อกาสที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คือการเข้ารับเป็นสมาชิกของ NATO โดยเร็วที่สุด”

แม้ว่าในปัจจุบันยูเครนจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานพิฟเดนมาช (Pivdenmash) ในเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนผลิตขีปนาวุธที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ในขณะที่โรงงานเคมีปรีดนิพรอฟสกี้ (Prydniprovsky Chemical Plant) ในเมืองคาเมียนสค์ (Kamianske) แคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์เป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปแร่ยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต โดยเป็นผู้เตรียมเยลโลว์เค้กซึ่งเป็นขั้นตอนกลางในการแปรรูปแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้ยังมีแหล่งสะสมยูเรเนียมในโชฟติ โวดี (Zhovti Vody) ในแคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์อีกด้วย ยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งในแคว้นซาโปริซเซีย, ริฟเน, คเมลนีตสกี และแคว้นมิโคลายิฟ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นซาโปริซเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

คำถามที่ว่ายูเครนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยูเครนไม่ได้ผลิตขีปนาวุธนิวเคลียร์แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเคียฟที่จะสร้างมันขึ้นมา โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley) วิศวกรที่มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่ยูเครนจะสร้างระเบิดฟิชชันยูเรเนียมแบบดั้งเดิมภายในห้าปี..มันค่อนข้างง่ายที่จะทำในศตวรรษที่ 21 การสร้างระเบิดฟิชชันพลูโทเนียมของยูเครนจะยากกว่า และมันจะยากต่อการซ่อนด้วย โดยจะใช้เวลาห้าถึง 10 ปีในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียม” เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยูเครนอาจจะสามารถสร้างอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาใดๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวยูเครนต่างยืนยันว่ายูเครนมีความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) กล่าวว่า“ยูเครนจะมีความรู้และทรัพยากรที่จะกลายเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน หากยูเครนตัดสินใจทำเช่นนั้น”เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายประเทศ และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต” “...ยูเครนสามารถพัฒนาทั้งหัวรบนิวเคลียร์และยานพาหนะบรรทุกได้ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมทางทหาร แหล่งสะสมยูเรเนียม และภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่จำเป็น” 

นิโคไล โซคอฟ (Nikolai Sokov) เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายแห่งกรุงเวียนนา (the Vienna Center for Disarmament and Non-Proliferation) ให้ความเห็นว่า สำหรับยูเครนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี เงินจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก อย่างน้อยก็ในด้านอุปกรณ์"” “ยูเครนไม่มีความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตและบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ ไม่มีวัสดุฟิสไซล์ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะ การผลิตพลูโตเนียม และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ลิวิว โฮโรวิตซ์ (Liviu Horovitz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์แห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งเยอรมนี (the German Institute for International and Security Affairs) กล่าวด้วยว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากตัดสินใจสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เพราะโครงการอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจมีต้นทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยโครงการระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมที่สุดที่เน้นไปที่เครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมอาจมีราคาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ โครงการระเบิดพลูโตเนียมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์)

ในขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน รัสเซียซึ่งมีคลังแสงมากมายทั้งขีปนาวุธธรรมดาและขีปนาวุธแบบธรรมดา สามารถโจมตีโรงงานใดๆ ของยูเครนที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะสามารถดำเนินโครงการนี้สำเร็จได้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป โดยรัสเซียจะดำเนินการโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถระบุได้เพื่อขัดขวางโครงการนิวเคลียร์รวมถึงการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหารด้วย ซึ่งคล้ายกับการขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน 5 คน ระหว่างปีค.ศ. 2010 – 2020 โดยอิสราเอล

นอกจากนี้การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลกระทบทางการเมืองของยูเครน โดยยูเครนเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจะทำให้เกิดการตอบโต้จากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปของยูเครน สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ทุกรายของยูเครน โครงการอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชาวตะวันตกของยูเครน ดังนั้นพันธมิตรของยูเครนจึงมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ยุติโครงการทันทีที่ถูกค้นพบ สหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะต่อต้านยูเครนหรือรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หากแสวงหาเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะตอบโต้โดยการคว่ำบาตรยูเครนทั้งทางการฑูตและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกยังมีแนวโน้มในการตีความการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนว่าเป็นการยกระดับสงครามครั้งใหญ่ โดยมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนจะยิ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายสงครามไปสู่ระดับการทำลายล้างที่มากยิ่งขึ้น พันธมิตรตะวันตกอาจจะหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หากยูเครนเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันขัดต่อความคิดเห็นของสาธารณชนภายในประเทศ

มิคาอิล โปโดเลียกที่ปรึกษาระดับสูงของเซเลนสกีกล่าวอย่างชัดเจนว่าแม้จะติดอาวุธปรมาณู เคียฟก็ไม่สามารถขัดขวางรัสเซียได้ อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของยูเครนจะไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งรัสเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างท่วมท้น เขาโพสต์ลงบนทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา “...แม้ว่ายูเครนจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ..แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางจักรวรรดิรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้...” 

ตามเอกสารของสถาบัน think tank ของยูเครนซึ่งร่วมเขียนโดยโอเล็กซี ยิจฮัก (Oleksii Yizhak) เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติของยูเครน เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูที่ใช้พลูโทเนียมได้ภายในไม่กี่เดือน คล้ายกับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งที่นางาซากิในปี ค.ศ. 1945 โดยใช้พลูโทเนียมจากแท่งเครื่องปฏิกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เอกสารดังกล่าวซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ระบุว่าเคียฟสามารถควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ปฏิบัติการได้ 9 เครื่องและสิ่งนี้จะทำให้ยูเครนสามารถเรียกพลูโตเนียมได้เจ็ดตัน ซึ่งสามารถสร้างหัวรบที่มีน้ำหนักทางยุทธวิธีหลายกิโลตัน ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวทำลายฐานทัพอากาศรัสเซียทั้งหมด หรือสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทางทหาร อุตสาหกรรมหรือโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม กีออร์จี้ ทีคี (Heorhii Tykhyi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ตอบโต้คำกล่าวอ้างที่ว่าเคียฟสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในไม่กี่เดือน “...เราไม่ได้ครอบครอง พัฒนา หรือตั้งใจที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนทำงานอย่างใกล้ชิดกับ IAEA และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ซึ่งห้ามการใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร” 

ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียคงไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเขากล่าว่า “การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ...ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอสโกจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์” ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของยูเครนเพื่อให้ได้อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถปกปิดได้และจะได้รับการตอบโต้ที่เหมาะสมจากรัสเซีย

‘รัสเซีย’ เปิดตัว!! เครื่องบินรบรุ่นใหม่ ในงาน Airshow China 2024 เมืองจูไห่

งานนิทรรศการการบินและอวกาศนานาชาติแห่งประเทศจีน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Airshow China หรือ Zhuhai Airshow เป็นนิทรรศการการค้าการบินและอวกาศที่สำคัญของจีน มีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ สองปีในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 ถือเป็นงานแสดงทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยปี ค.ศ. 2024 นี้ เป็นงานแสดงทางอากาศครั้งที่ 15 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยมีผู้ร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศจาก 47 ประเทศ ราว 150 ราย โดยร่วมนำเสนอเครื่องบินทางทหารและพลเรือน เทคโนโลยีอวกาศ อาวุธ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือเครื่องบินรบจากฝั่งรัสเซีย 

โดยเมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา รัสเซียได้เปิดตัวเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 รุ่นใหม่ซึ่งเป็น เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่มีความคล่องตัวสูงรุ่น SU-57E [รุ่นส่งออก] ในงาน Airshow China 2024 ณ เมืองจูไห่ของจีน โดยเครื่องบินลำนี้ได้แสดงการบินผาดโผนโดยเซอร์เกย์ บ็อกดาน (Sergey Bogdan) นักบินทดสอบฝีมือดีชาวรัสเซีย ทั้งนี้เครื่องบินขับไล่หลายบทบาท Su-57 ได้รับการออกแบบมาให้หลบเลี่ยงเรดาร์และโจมตีเป้าหมายทางอากาศและภาคพื้นดินรวมถึงฐานป้องกันภัยทางอากาศ เครื่องบินดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Sukhoi «Компания „Сухой“» โดยผสมผสานความสามารถในการพรางตัว ความคล่องตัวสูง การบินแบบซูเปอร์ครูซ ระบบอากาศยานแบบบูรณาการ และความจุในการบรรทุกขนาดใหญ่ โดยเครื่องบิน Su-57 ลำแรกเข้าประจำการในกองกำลังอวกาศของรัสเซีย ในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายวาดิม บาเดคกา (Vadim Badekha) ซีอีโอของบริษัท United Aircraft Corporation (UAC) เผยว่า "เครื่องบิน Su-57 ถือเป็นเครื่องบินรุ่นที่ 5 ที่ดีที่สุดในโลก และด้วยคุณลักษณะหลายประการทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ไม่มีใครเทียบได้" เขายังกล่าวเสริมว่า "เครื่องบินรุ่นนี้ได้รับความสนใจจากพันธมิตรระยะยาวเป็นเวลานานแล้ว" และ “มีหลายคนต่อคิวรอซื้อเครื่องบินรุ่นนี้อยู่” บริษัทรัสเทค (Rostec) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการป้องกันประเทศของรัฐบาลรัสเซีย กล่าวถึงเครื่องบิน Su-57E ว่าเป็นดาวเด่นของงานนิทรรศการที่จัดขึ้นในประเทศจีน โดยระบุว่าเครื่องบินรุ่นนี้สามารถใช้กับอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูงได้และอุปกรณ์ตรวจจับไม่สามารถตรวจจับได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางความขัดแย้งในยูเครน ในปี  ค.ศ. 2022 บริษัทรัสเทคได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มการผลิตเครื่องบินขับไล่ Su-57 โดยระบุว่ากองทัพอากาศรัสเซียจะได้รับเครื่องบิน Su-57 ใหม่นี้

นอกจากเครื่องบินรบ Su-57 แล้ว หน่วยงานรัสอบารอนเอ็กพอร์ต (Rosoboronexport) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลรัสเซียที่ดูแลการค้าอาวุธระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดงานแสดงอาวุธร่วมของรัสเซียในงานนี้ยังจัดแสดงอาวุธ ยิงจากอากาศรุ่นล่าสุด เฮลิคอปเตอร์หลากหลายรุ่น และระบบป้องกันภัยทางอากาศอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีขีปนาวุธร่อน X-69 ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อน โจมตีจากอากาศสู่พื้นแบบสเตลท์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ รวมถึงขีปนาวุธนำวิถียิงจากอากาศ Grom-E1 ระเบิดทางอากาศที่แก้ไขแล้ว K08BE และระเบิดทางอากาศร่อนนำวิถี UPAB-1500B-E ในงานนี้ทางรัสเซียยังได้เปิดตัวเครื่องยนต์ AL51 รุ่นที่ 5 ที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องบิน Su-57 รุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งเป็นพระเอกของงาน โดยเครื่องยนต์ AL-51 ถือเป็นความสำเร็จด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศขั้นสูงที่สุดของรัสเซียที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 เช่น Su-57

บอยโก้ นิโคลอฟ (Boyko Nikolov ) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบินจาก BulgarianMilitary.com ให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องยนต์ AL51 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เครื่องยนต์นี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยนต์หลักเท่านั้นแต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของ Su-57 ในฐานะเครื่องบินขับไล่ที่ทรงพลัง คล่องแคล่ว และล่องหนได้ เป็นเครื่องบินที่ท้าทายอำนาจทางอากาศของชาติตะวันตก ในปัจจุบันได้ AL-51 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวิศวกรรมการบินของรัสเซียและทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในศักยภาพการปฏิบัติภารกิจโดยรวมของเครื่องบิน Su-57

เมื่อมองจากภายนอก เครื่องยนต์ AL-51 แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานที่หลากหลาย โครงสร้างที่มีระบบภายนอกและท่อต่าง ๆ มากมาย แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่จัดวางอย่างพิถีพิถันและเชื่อมโยงกัน ส่วนประกอบทุกชิ้นได้รับการออกแบบมาให้รับมือกับการจัดการความร้อนได้อย่างเหมาะสมที่สุด แรงขับ และประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ที่คาดว่าจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและภายใต้สภาวะกดดันสูง การออกแบบเครื่องยนต์สะท้อนถึงความสมดุลระหว่างกำลัง ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งแต่ละส่วนมีความจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการของการรบสมัยใหม่

คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของเครื่องยนต์ AL-51 ประการหนึ่ง คือความสามารถในการควบคุมทิศทางแรงขับ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้นักบินสามารถควบคุมเครื่องบินให้บินไปในทิศทางที่เกินขีดจำกัดของอากาศพลศาสตร์ทั่วไปได้ โดยเปลี่ยนทิศทางแรงขับที่เกิดจากเครื่องยนต์ คุณสมบัตินี้ทำให้ Su-57 มีข้อได้เปรียบที่ไม่มีใครเทียบได้ในการต่อสู้ทางอากาศ ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ หลบหลีกขีปนาวุธ หลบการยิงของศัตรู และได้รับความได้เปรียบในตำแหน่งในการต่อสู้แบบประชิดตัว โดยการกำหนดทิศทางแรงขับของ AL-51 ถูกควบคุมโดยชุดการเชื่อมโยงไฮดรอลิกและกลไกที่มองเห็นได้รอบพื้นที่หัวฉีด แสดงให้เห็นถึงวิศวกรรมแม่นยำที่จำเป็นในการทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูงและความเค้นมหาศาล

เค้าโครงภายนอกของเครื่องยนต์ยังแสดงให้เห็นระบบระบายความร้อนและระบายความร้อนที่ซับซ้อนอีกด้วย ที่ระดับความสูงและความเร็วสูงเครื่องยนต์จะต้องเผชิญกับความเครียดจากความร้อนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในโหมดการเผาไหม้ต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิอาจสูงเกินหลายพันองศาฟาเรนไฮต์ เครื่องยนต์ AL-51 ใช้วัสดุขั้นสูงและสารเคลือบทนความร้อนเพื่อทนต่ออุณหภูมิดังกล่าวร่วมกับเครือข่ายท่อระบายความร้อนและวาล์วที่ซับซ้อนซึ่งควบคุมอุณหภูมิภายใน ซึ่งระบบจัดการความร้อนนี้มีความจำเป็นต่อการรักษาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ตลอดอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับเครื่องบินรบสมัยใหม่ที่ต้องพร้อมสำหรับภารกิจหลายครั้ง โดยต้องบำรุงรักษาน้อยที่สุด AL-51 ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องยนต์รุ่นที่ 5 ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดสัญญาณอินฟราเรด [IR] ลง ซึ่งการลดการปล่อยอินฟราเรดถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปฏิบัติการล่องหน เนื่องจากความร้อนเป็นหนึ่งในวิธีหลักที่เซ็นเซอร์ของศัตรูใช้ในการตรวจจับเครื่องบิน โดยการใช้วัสดุพิเศษและแผ่นกันความร้อน รวมถึงการปรับการไหลของไอเสียให้เหมาะสมผ่านระบบระบายความร้อนและการผสมภายใน AL-51 ช่วยลดสัญญาณความร้อนของ Su-57 ทำให้เครื่องบินมีความสามารถในการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่มีการสู้รบซึ่งกองกำลังของศัตรูอาจใช้ขีปนาวุธติดตามอินฟราเรดขั้นสูง

โครงสร้างภายในของเครื่องยนต์ประกอบด้วยโลหะผสมที่มีความแข็งแรงสูงและวัสดุผสม ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์มีความทนทานในขณะที่ยังคงรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมได้ โครงสร้างน้ำหนักเบาโดยไม่ลดทอนความแข็งแกร่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องยนต์รุ่นที่ 5 ช่วยให้ Su-57 ทำความเร็วได้สูงขึ้นและประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของ AL-51 จะช่วยลดน้ำหนักโดยรวมของเครื่องบิน ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินสามารถบรรทุกเชื้อเพลิง อาวุธ หรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ ได้มากขึ้นโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภารกิจระยะไกล ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทุกปอนด์ล้วนมีความสำคัญในแง่ของการประหยัดเชื้อเพลิงและความจุของน้ำหนักบรรทุก

ข้อได้เปรียบที่สำคัญของ AL-51 คือ การผสมผสานรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบินที่ทันสมัยและระบบควบคุมเครื่องยนต์แบบดิจิทัล เครื่องยนต์ใช้หน่วยควบคุมดิจิทัลขั้นสูงซึ่งตรวจสอบพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น การไหลของเชื้อเพลิง ปริมาณอากาศเข้า และอุณหภูมิไอเสียอย่างต่อเนื่อง

ระบบควบคุมแบบดิจิทัลนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ ทำให้เครื่องยนต์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการบินที่เปลี่ยนแปลงได้ทันที ถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนักบินที่ต้องการการควบคุมที่แม่นยำในสถานการณ์การสู้รบ นอกจากนี้ ระบบนี้ยังช่วยให้สามารถวินิจฉัยและบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ได้ ลดระยะเวลาหยุดทำงานและทำให้ Su-57 พร้อมสำหรับภารกิจ

อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของ AL-51 ทำให้มีปัญหาบางประการ แม้ว่าเครือข่ายท่อและข้อต่อภายนอกที่หนาแน่นจะบ่งบอกถึงความซับซ้อนของเครื่องยนต์ แต่ก็ทำให้ต้องมีการบำรุงรักษามาก ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ห่างไกลหรือท้าทาย เครื่องยนต์เหล่านี้อาจต้องใช้อุปกรณ์สนับสนุนเฉพาะทางและบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการใช้งานเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่เรียบง่ายกว่า

ในแง่ของการพรางตัว แม้ว่า AL-51 จะมีคุณสมบัติในการลดอินฟราเรดบางประการ แต่ก็อาจไม่ถึงระดับการลดอินฟราเรดที่พบในเครื่องยนต์รุ่นที่ห้าของตะวันตก เช่น F135 ที่ใช้ใน F-35 สิ่งนี้อาจทำให้ Su-57 ถูกตรวจจับได้ง่ายขึ้นในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตามปรัชญาการออกแบบของรัสเซียมักให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความทนทานมากกว่าความสามารถในการพรางตัวเพียงอย่างเดียว โดยสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการตรวจจับกับความคล่องตัวในการใช้งานที่แข็งแกร่ง

ส่วนประกอบที่โดดเด่นอย่างหนึ่งที่มองเห็นได้ใน AL-51 คือส่วนเผาไหม้ท้าย เครื่องยนต์เผาไหม้ท้ายช่วยเพิ่มแรงขับอย่างมาก ทำให้ Su-57 สามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องยนต์แบบดั้งเดิม ทำให้สามารถบินแบบ “ซูเปอร์ครูซ” ได้ ซูเปอร์ครูซเป็นคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 เนื่องจากช่วยให้บินด้วยความเร็วสูงได้โดยไม่ต้องเสียเชื้อเพลิงจำนวนมากจากการใช้ระบบเผาไหม้ท้าย

แม้ว่า AL-51 จะทำได้เพียงบางส่วน แต่รายงานบางฉบับระบุว่าเครื่องยนต์อาจไม่ประหยัดเชื้อเพลิงเท่าเครื่องยนต์ในเครื่องบินบางรุ่นของชาติตะวันตก ซึ่งอาจจำกัดความทนทานในภารกิจบางรูปแบบ

นอกจากนี้ การออกแบบเครื่องยนต์ยังรวมถึงการทำงานซ้ำซ้อนเพื่อเพิ่มความทนทานในสถานการณ์การรบ ระบบควบคุมซ้ำซ้อนและส่วนประกอบที่ทนทานต่อความผิดพลาดหมายความว่าหากระบบใดระบบหนึ่งเสียหาย เครื่องยนต์จะยังคงทำงานต่อไป ทำให้เครื่องบินสามารถกลับฐานได้ คุณสมบัตินี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความอยู่รอดของเครื่องบินในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามสูงซึ่งอาจเกิดความเสียหายได้

บทบาทของ AL-51 ในการเสริมศักยภาพการปฏิบัติการของ Su-57 นั้นไม่สามารถพูดเกินจริงได้ โดยเครื่องยนต์นี้รองรับความเก่งกาจของ Su-57 ในบทบาทต่างๆ ตั้งแต่ความเหนือกว่าทางอากาศและการสกัดกั้น ไปจนถึงการโจมตีภาคพื้นดินและการลาดตระเวน การผสมผสานระหว่างความเร็ว ความคล่องตัว และความสามารถในการพรางตัวของ Su-57 ทำให้ Su-57 สามารถตอบสนองภารกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย ซึ่งแต่ละอย่างต้องใช้คุณลักษณะเฉพาะที่ AL-51 มอบให้

โดยสรุปแล้ว เครื่องยนต์ AL-51 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรบของ Su-57 อย่างมาก โดยทำให้ Su-57 เทียบเท่ากับเครื่องบินรบรุ่นล่าสุด แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น ความต้องการในการบำรุงรักษาที่สูงขึ้นและความสามารถในการตรวจจับอินฟราเรดที่สูงขึ้น แต่ก็มีคุณสมบัติด้านประสิทธิภาพอันทรงพลังที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัว ความเร็ว และความยืดหยุ่นในการปฏิบัติภารกิจของ Su-57

เครื่องยนต์ AL-51 ช่วยให้ Su-57 ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในน่านฟ้าที่มีการสู้รบ โดยมอบตัวเลือกการรบทางอากาศขั้นสูงให้กับกองทัพอากาศรัสเซีย ในขณะที่ Su-57 ยังคงพัฒนาต่อไป เทคโนโลยีในเครื่องยนต์ เช่น AL-51 ก็จะพัฒนาตามไปด้วย โดยสัญญาว่าจะมีความสามารถที่มากขึ้นสำหรับการปฏิบัติการทางอากาศของรัสเซียในอนาคต

การพัฒนาเครื่องยนต์ AL-51 สำหรับเครื่องบินขับไล่ Su-57 รุ่นที่ 5 ของรัสเซียเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายทางเทคนิคและทางการเงิน ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษปี 2000 เป็นต้นมา วิศวกรชาวรัสเซียต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการสร้างเครื่องยนต์ที่สามารถเร่งความเร็วได้เร็วและควบคุมแรงขับขั้นสูงได้ในขณะเดียวกันก็ต้องลดอินฟราเรดของเครื่องบินเพื่อความสามารถในการพรางตัว การบรรลุข้อกำหนดเหล่านี้ต้องใช้วัสดุทนอุณหภูมิสูงแบบใหม่และวิศวกรรมที่ล้ำสมัย ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากงบประมาณของรัสเซียมีจำกัดและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างได้ เส้นทางสู่การสร้าง AL-51 นั้นจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยระยะเวลาของเครื่องยนต์ขยายออกไปเนื่องจากวิศวกรต้องจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความทนทาน การจัดการความร้อน และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง

ข้อจำกัดทางการเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากงบประมาณด้านการป้องกันประเทศของรัสเซียถูกขยายออกไปสำหรับโครงการอื่นๆ หลายโครงการ ทำให้เงินทุนสำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์ AL-51 ไม่คงที่ โดยบางครั้งการพัฒนาก็ช้าลงจนแทบจะหยุดนิ่ง ทำให้ความสามารถในการควบคุมแรงขับของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญต่อความคล่องตัวของเครื่องบิน Su-57 ก่อให้เกิดความท้าทายทางเทคนิคที่สำคัญ เนื่องจากรุ่นก่อนๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือภายใต้สภาวะกดดันสูง

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อชาติตะวันตกคว่ำบาตร ทำให้การเข้าถึงวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางมีจำกัด ส่งผลให้วิศวกรของรัสเซียต้องหาทางเลือกในประเทศ ซึ่งเพิ่มเวลาและความซับซ้อนให้กับโครงการ

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 ในที่สุด AL-51 ก็พร้อมสำหรับการผลิตในจำนวนจำกัด แม้ว่าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการใช้งาน เช่น ความทนทานที่ลดลงและประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงเมื่อเทียบกับเครื่องบินของชาติตะวันตก แม้ว่าจะมีฟังก์ชันการทำงานและทรงพลัง แต่ AL-51 ก็สะท้อนถึงการประนีประนอมหลายประการอันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและภูมิรัฐศาสตร์

ในปัจจุบันเครื่องยนต์ AL-51 ยังคงได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจากวิศวกรของรัสเซียที่พยายามจะลดช่องว่างด้านประสิทธิภาพกับคู่แข่งในระดับนานาชาติ โดยเครื่องยนต์ AL-51 ได้แสดงออกถึงความเพียรพยายามของรัสเซียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศในการสร้างเครื่องยนต์เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ที่สามารถแข่งขันกับตะวันตกภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทายได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รับประกันต่อความมั่นคงของรัสเซียท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตะวันตกทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

เปิด!! สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ข้อตกลงความร่วมมือของ ‘รัสเซีย - เกาหลีเหนือ’

(20 ต.ค. 67) ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

เป็นข่าวสะเทือนวงการการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ยื่นข้อตกลงทางทหารฉบับใหม่กับเกาหลีเหนือเพื่อขอการรับรองต่อรัฐสภารัสเซียโดยผลักดันให้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการต่อข้อตกลงป้องกันร่วมกันที่เขาได้จัดทำกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 เมื่อครั้งไปเยือนเกาหลีเหนือปูติน ซึ่งถือเป็นการเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนเอกสารการให้สัตยาบัน

แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเรียกว่า ‘สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม’ ( ‘Treaty on Comprehensive Strategic Partnership’) แต่เงื่อนไขของสนธิสัญญานี้ที่ให้ความช่วยเหลือทางทหารซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารและการเมือง โดยข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและสถานการณ์โลกในปัจจุบันโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้อตกลงยืนยันว่าทั้งสองประเทศมี ‘ความปรารถนาที่จะปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศจากความทะเยอทะยานที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่นและความพยายามที่จะกำหนดระเบียบโลกขั้วเดียว’ และ ‘เพื่อสร้างระบบระหว่างประเทศหลายขั้วบนพื้นฐานของความร่วมมือโดยสุจริตของรัฐ การเคารพซึ่งกันและกันในผลประโยชน์ การแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติร่วมกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอารยธรรม อำนาจสูงสุดของกฎหมายระหว่างประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความพยายามร่วมกันเพื่อต่อต้านความท้าทายใดๆ ที่คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ’

แม้ว่าสนธิสัญญามีเนื้อหาไม่มากเพียงแค่ 23 มาตราเท่านั้นแต่มีข้อกำหนดที่น่าสนใจประการหนึ่ง โดยระบุว่า ในกรณีที่มีภัยคุกคามจากการโจมตีโดยอำนาจที่สาม ผู้ลงนาม ‘จะตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการความร่วมมือตามคำขอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และรับรองความร่วมมือในการกำจัดภัยคุกคามนั้น’ ส่วนอื่นระบุว่า ‘หากฝ่ายหนึ่งพบว่าตนเองอยู่ในภาวะสงครามอันเนื่องมาจากการโจมตีด้วยอาวุธโดยประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ฝ่ายนั้นทันทีด้วยวิธีการทั้งหมดที่มี’

ซึ่งระบุเอาไว้ในมาตรา 4 ของข้อตกลงระบุว่า หากรัสเซียหรือเกาหลีเหนือถูกโจมตีและเข้าสู่ภาวะสงคราม อีกฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือทางทหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ โดยใช้ทุกวิถีทางที่มีอยู่ ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ สนธิสัญญายังกำหนดให้ทั้งสองประเทศ “สร้างกลไกสำหรับกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสงครามและรับรองสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ” และโต้ตอบกันเพื่อ “ร่วมกันเผชิญหน้ากับความท้าทายและภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพและห่วงโซ่อุปทาน” รวมถึงการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และการอพยพที่ผิดกฎหมาย

ในด้านเศรษฐกิจ ข้อตกลงหุ้นส่วนเรียกร้องให้มีการ ‘ขยายและพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคนิค” ตั้งแต่ความพยายามในการเร่งความร่วมมือด้านการค้าและเทคโนโลยี และการส่งเสริม “การวิจัยร่วมกันในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสาขาต่างๆ เช่น อวกาศ ชีววิทยา พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ’

ข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจัดทำขึ้นเป็นพิเศษและสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ เพราะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่อยู่นอกอดีตสหภาพโซเวียตที่รัสเซียได้ร่างข้อตกลงดังกล่าวด้วย (จนถึงขณะนี้มีเพียงเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐสหภาพของรัสเซียและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) เท่านั้นที่ได้รับการรับประกันความมั่นคงในลักษณะเดียวกัน) 

ในสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ข้อตกลงดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญมากระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีภาระผูกพันซึ่งกันและกัน โดยรัสเซียจะมีภาระผูกพันในการปกป้องพันธมิตรใหม่ของตนอย่างเกาหลีเหนือ หากมีการรุกรานเกิดขึ้น และในทางกลับกันเกาหลีเหนือจะมีภาระผูกพันที่จะให้การสนับสนุนเราทุกรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางทหาร หากมีการรุกรานรัสเซีย

ข้อตกลงดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและช่วยลดความเสี่ยงของสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี 

ซึ่งปัจจุบันเราเห็นได้จากการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ยั่วยุมากขึ้นของโซล ประกอบกับความพยายามที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซี่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ได้

รัสเซียซึ่งเคยเป็นและยังคงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางการทหารชั้นนำของโลกและเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่า หากเกาหลีเหนือถูกโจมตีจากเกาหลีใต้ รัสเซียจะถูกร้องขอให้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญานี้และเข้ามาช่วยเหลือเกาหลีเหนือต่อต้านเกาหลีใต้ (เพราะสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) โซลและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ จะต้องไม่เพียงแค่จัดการกับเกาหลีเหนือเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเกาหลีเหนือและรัสเซียด้วย 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สงครามระหว่างเปียงยางและโซลมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเนื่องมาจากการยั่วยุของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจึงถือเป็น "ก้าวหนึ่งสู่การรักษาเสถียรภาพและการรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ" เนื่องจากสร้างสมดุลทางทหารซึ่งจะช่วยแก้ไข "ความไม่สมดุลของกองกำลังทหาร" ที่เพิ่มมากขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้และพันธมิตร 

ในสายตาของเกาหลีเหนือสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่ง สามารถผลิตอาวุธสมัยใหม่ทุกประเภท ตั้งแต่อาวุธขนาดเล็กไปจนถึงเรือดำน้ำและเครื่องบินขับไล่ ปล่อยดาวเทียมตรวจการณ์ของตนเอง แต่สิ่งเดียวที่เกาหลีใต้ไม่มีคืออาวุธนิวเคลียร์ แต่การได้มาซึ่งอาวุธดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองและอาจใช้เวลาไม่มากนัก ศักยภาพทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือเพียงลำพังไม่อาจแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ติดอาวุธครบครันและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงพลังที่สุดในโลก ร่วมกับญี่ปุ่นได้ ซึ่งหากเกาหลีเหนือยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้เพียงลำพัง ก็มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของเกาหลีใต้และพันธมิตร

ในขณะเดียวกันในฝั่งของรัสเซียข้อตกลงดังกล่าวสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่เกาหลีเหนือในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และทหารเพื่อทำสงครามกับยูเครนอย่างเปิดเผยและต้องคิดถึงการสนับสนุนจากพันธมิตรของรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการสร้างความกังวลใจให้กับยูเครนและพันธมิตรนาโต้ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน 

ดังนั้นข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียจึงเป็นข้อตกลงที่เราควรให้ความสำคัญ และจับตามองว่าจะช่วยป้องปรามและลดความขัดแย้งในพื้นที่สำคัญของโลกได้หรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top