Tuesday, 14 May 2024
กิตติธัช ชัยประสิทธิ์

เผยความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ผู้คนมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือ การรื้อทิ้งทำใหม่ทั้งฉบับ

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า "การแก้ไขนั้นทำได้" หากแต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันลงคะแนนเสียงรับ-ไม่รับ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559

ดังนั้นการแก้ไขก็ควรต้องกลับไปถามประชาชนก่อน

เพราะหากดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเลือก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนเพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คาดว่าต้องใช้เวลา 15 เดือนและใช้งบประมาณถึง 11,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

- ค่าทำประชามติแก้ - ไม่แก้ 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- [หากแก้ไข] ค่าเลือกตั้ง ส.ส.ร. 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- เงินเดือน ส.ส.ร. 200 คน ซึ่งอ้างอิงจากฐานเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว. ตกคนละแสนกว่าบาท/เดือน และเงินเพิ่มอีกคนละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท

- ค่าเบี้ยประชุม ส.ส.ร. รายบุคคล ในทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมาธิการ

- ค่าจัดทำประชามติใหม่เพื่อรับ-ไม่รับ รธน.ใหม่ อีก 3,000 - 4,000 ล้านบาท

-------------------

หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

-------------------

- ข้อดี : มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้ข้อครหาหรือข้ออ้างว่า รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย” นั้นหมดไป (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม)

- ข้อเสีย : ใช้งบประมาณเยอะ และไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนในยุคการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รวมถึงในความเป็นจริง น้อยคนมากที่จะนั่งอ่าน รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะข้อที่ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนก็มักจะไม่สนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฝ่ายการเมืองแอบยัดใส่ความต้องการของตน(ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชน)ไว้ได้

-------------------

หากแก้ รธน.เป็นรายมาตราในรัฐสภาฯ

-------------------

- ข้อดี : ประหยัดงบประมาณ ได้นำมาตราที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหาขึ้นมาหารือกัน สื่อมวลชนรายงานเจาะได้เป็นรายมาตรา และประชาชนได้เห็น "ความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง" อย่างชัดเจน ว่ามาตราที่ต้องการแก้ไขนั้น เกี่ยวกับปากท้องประชาชน การรักษาอำนาจของตน การเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง หรือการมุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ กันแน่?

- ข้อเสีย : แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามกระบวนการในสภาผู้แทนฯ แต่ฝ่ายค้านและม็อบนอกสภาฯ ยังก็คงนำเรื่อง รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เป็นประเด็นเพื่อเครื่องไหวทางการเมืองต่อไป

-------------------

สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเรื่อง รธน. 

-------------------

1.) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และ ความวุ่นวายทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ หรือมาจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส ?

2.) กฎหมายที่มีอยู่ เพียงพอในการจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ?

3.) หากกฎหมายมีประสิทธิภาพพอสมควร เหตุใดการบริหารงานราชการแผ่นดินหลายอย่างจึงมีปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพดังกฎหมายที่เขียนไว้ ?

4.) หากเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขหรือ "ปฏิรูป" ระบบการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพขึ้นต้องทำอย่างไร ?

คำตอบที่ได้ในคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องเป็นคำตอบที่มาจาก "ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในแง่ของกระบวนการทำงาน" ไม่ใช่เป็นโวหารหลักการลอยๆ อย่างที่ฝ่ายการเมืองใช้โจมตีกันไปมาตลอดหลายปีนี้

*** ในคอลัมน์ตอนต่อไป ผมจะมาเขียนเจาะลึกลงไปถึงปัญหาที่คนไทยทุกคนต่างเคยพบเจอและอยากให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางเท้า สัญญาณไฟจราจร การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตของหน่วยงานราชการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ และอื่นๆ

*** เพื่อวิเคราะห์กันให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงของ การขาดประสิทธิภาพ” นั้น มันต้องแก้ไขหรือ ปฏิรูป” กันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ตามเกมการเมืองที่ฝ่ายการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ทำกันอยู่แบบทุกวันนี้แน่นอนครับ


ข่าวอ้างอิงประกอบ:

https://www.posttoday.com/politic/news/631007

https://www.thairath.co.th/news/politic/2048532

https://www.prachachat.net/politics/news-621654

เยาวชนจีนยุคใหม่หัวก้าวหน้าและรักชาติไปพร้อมกัน

“ประเทศจีนไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่มันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” ความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ในจีน ยุคที่เราเรียกว่า #เยาวชนยุคสีจิ้นผิง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา The Economist ได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนในเวลานี้ นั่นคือ ‘เยาวชนรุ่นสีจิ้นผิง’ หรือ ‘Generation Xi’

ซึ่งเป็นการนิยามเยาวชนจีนในปัจจุบันที่ทั้งมี ‘ความรักชาติ-ชาตินิยม’ (Patriotism) แต่ก็ ‘หัวก้าวหน้า’ (Progressive) มีความคิดสมัยใหม่ พร้อมขับเคลื่อนสังคมจีนให้พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา

----------------

'เยาวชนคืนถิ่น'

----------------

ปัจจุบันเยาวชนจีน เริ่มหลั่งไหลกลับไปทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดตามชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทในประเทศจีนลดน้อยลง

พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง การสร้างเมืองใหม่ การค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละมณฑล ระบบอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบ มีทางเลือกมากกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานหรือพนักงานกินเงินเดือนในเมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง

----------------

ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงด้วยเทคโนโลยีออนไลน์

----------------

เทคโนโลยีและระบบออนไลน์ ทำให้ความแตกต่างระหว่างการอยู่ ‘เขตเมือง’ กับ ‘เขตชนบท’ ลดน้อยลงมาก ผู้คนในเมืองเล็กๆ หรือชนบทช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่

เมื่อทุกคนเข้าถึงระบบได้จากทุกที่บนผืนแผ่นดินจีน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมากระจุกตัวกันตามเมืองใหญ่

คนรุ่นใหม่ในจีนเห็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวจากระบบออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัล จากการลงทุน การค้า การโฆษณา การทำตลาดออนไลน์ ในขณะที่ทัศนคติเรื่องการรับราชการมีน้อยลง

กระแสโรแมนติกของการหวนคืนสู่ธรรมชาติอันชนบทมีมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่พากันหาสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมารีวิวขายในตลาดออนไลน์ ประกอบกับการรีวิวการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชนจีนก็ได้พัฒนาระบบการค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกในทุกมิติ ตั้งแต่การสั่งซื้อ-ขาย การขนส่ง ค่าบริการขนส่งที่มีราคาต่ำ ซึ่งช่วยทำให้ตลาดการค้าเติบโตได้อย่างดี

----------------

'คนจีนโพ้นทะเลคืนถิ่น' (海归)

----------------

ด้านคนรุ่นใหม่ของจีนที่ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก เริ่มหันกลับมาทำงานในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสเติบโตที่มากขึ้น รวมถึงรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อในการทำงาน

ประกอบกับปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และนโยบายกดดันจีนของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ชาวอเมริกันมองจีนและชาวจีนเป็นภัยคุกคามต่อการครองอำนาจนำของตน จนเกิดกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ชาวเอเชียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีน หันหน้ากลับไปยังแผ่นดินแม่ที่ซึ่งมีโอกาสมีรายได้ที่ดี และไม่มีปัญหาด้านการเหยียดชาติพันธุ์ รอพวกเขาอยู่

จากสถิติคนจีนที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวน 6.2 ล้านคนในระหว่างปี ค.ศ. 2000 - 2019 ปัจจุบันมีถึง 4 ล้านคนที่กลับมาทำงานในประเทศจีน

ในขณะที่ปี 2001 มีเพียงแค่ 14% เท่านั้นที่กลับมาทำงานในประเทศจีนหลังจบการศึกษาในต่างประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คนจีนที่ไปศึกษาต่อและกลับมาทำงานในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นไปถึง 4 ใน 5 ส่วนของทั้งหมด

----------------

*** แน่นอนว่าทุกประเทศทุกสังคมล้วนมีปัญหาของตน แต่การที่คนรุ่นใหม่จะมีสำนึกรักชาติหรือภูมิใจในชาติบ้านเมืองได้ พวกเขาต้องเห็นอนาคต เห็นโอกาส และการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย

และนั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำให้กับประชาชนของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศทุกประเทศควรนำมาศึกษาเป็นบทเรียนครับ


อ้างอิง:

https://www.economist.com/special-report/2021-01-23

https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/young-chinese-are-both-patriotic-and-socially-progressive

https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/the-gap-between-chinas-rural-and-urban-youth-is-closing

https://thinkmarketingmagazine.com/should-mena-be-looking-into-chinas-youth-for-the-future-zak-dychtwald-talks-young-china/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top