Sunday, 12 May 2024
พิธา

กรณ์ โพสต์ยาว เรื่องจริงหลังเลือกตั้ง ไม่เคยขอร่วมรัฐบาล และไม่เคยคิดแตะ ม.112

หลังจากพรรคก้าวไกลออกแถลงไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า เนื่องจากมีกระแสกดดันโลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู ไม่พอใจที่ดึงพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช ครั้งหนึ่งเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. มาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ทำให้ขัดกับหลักของก้าวไกลที่มีจุดยืน "มีเราไม่มีลุง"


ล่าสุด วันที่ 20 พ.ค.2566 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ชี้แจงประเด็นร้อนทางการเมือง ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นี่คือ "เรื่องจริง" ที่เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้ง ผมมาอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย จนเมื่อวานบ่ายคุณสุวัจน์โทรแจ้งว่า ก้าวไกล ชวนเข้าร่วมรัฐบาล
คุณสุวัจน์กับผมสรุปกันว่าจะคุยกันวันจันทร์ในที่ประชุมกก.บห. เพราะมีประเด็นสำคัญสำหรับเราคือ นโยบายสู้ทุนผูกขาดพลังงาน และจุดยืนไม่แก้ ม.112

โดยผมไม่เคยติดต่อร่วมรัฐบาลกับใครเลย เพราะเรามีเพียง 2 เสียง และไม่ได้แม้แต่คิดจะมีเงื่อนไขต่อรองอะไรมีสื่อโทรมาหาผมที่เมลเบิร์นว่า เราเข้าร่วมรัฐบาลแล้วเหรอ ผมก็ตอบไปว่าเรายัง ต้องคุยเรื่องนี้กันในวันจันทร์ (สื่อลงว่าผม ‘กั๊ก’)

ผมยืนยันเหมือนเดิมว่า พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ถึงจะมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล นี่คือหลักประชาธิปไตยที่เป็นจุดยืนของผม ชาติพัฒนากล้า พร้อมทำงานกับทุกพรรค แต่เราไม่แตะ 112 และเราต้องการเน้นแก้ปัญหาราคาพลังงาน

ผมโดนด่าฟรีจากทั้งขวาและซ้าย ผมรับได้ทุกข้อกล่าวหา ทุกคำหยาบ ทุกข้อมูลเท็จ แต่ที่ผมเสียใจคือผลกระทบที่มีต่อครอบครัวและคนที่ผมรักการเมืองที่ผมสร้าง ผมไม่ได้สร้างบนความเกลียด ความกลัว แต่ผมทำบนความเชื่อ เชื่อที่อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย

‘พิธา ฟีเวอร์’ ทำเมืองชล แทบแตก ตระเวนขอบคุณ ลั่น ขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ ไม่มีสูญเปล่า

21 พ.ค. 2566 –   เมื่อเวลา 14.00 น.ที่บริเวณหน้าตลาดหนองก้างปลา ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  พร้อมด้วยนายสหัสวัต คุ้มคง ว่าที่ ส.ส.เขต 7 ชลบุรี และว่าที่ ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ทุกเขต  ได้ขึ้นรถแห่ปราศัยขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ในพื้นที่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี   โดยมีนักเรียน ประชาชน กลุ่มพนักงานโรงงาน และแฟนคลับมารอให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ตลอดเส้นทาง

สำหรับขบวนแห่ จะเริ่มจาก ตลาดสดหนองก้างปลาไปยังเส้นทางต่างๆในพื้นที่ตำบลลบ่อวิน  โดยนายพิธา แนะนำตัวว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งจะไม่สูญเปล่าแน่นอน จะไม่หยุดทำงานและตั้งใจเต็มที่ เข้าไปในสภาฯ จะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง รวมถึงมาสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงาน ส.ส.ด้วย

งานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ในงานแถลงข่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66

เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานร่วมกันของทุกพรรค ว่า “ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐฯ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์” 
 

‘วันชัย’ เชื่อ ส.ว.มีวุฒิภาวะ พร้อมรับฟังเหตุผล ไม่กังวลม็อบกดดัน เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม หนุน ‘พิธา’ - ยังไม่ตัดสินใจ - กำลังพิจารณา

‘วันชัย’ เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม โหวต ‘พิธา’ แต่กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ-อยู่ระหว่างการพิจารณา มีจำนวนมาก ส่วนเอ็มโอยูรู้สึกเฉยๆ ชี้ ม.112 ยังอีกไกล ส่วนม็อบกดดันไม่กังวล แต่จะรับฟังด้วยเหตุผล เชื่อ ส.ว. 250 คนมีวุฒิภาวะไม่มีใครสั่งได้

(23 พ.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หลังทำเอ็มโอยูกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้น การหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน

ดังนั้น ขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ

กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน

และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย

นายวันชัย กล่าวว่า ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯจะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว.มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน

เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่าตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่าโหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อข้อถามว่าทางพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทาง ส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะหาวิธีการ เพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างๆ ที่เขาจะตกลงกันเชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ และในทำนองเดียวกันอะไรที่เห็นว่า ส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน การที่จะมาพบ ส.ว.ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม บางพวกที่มี ซึ่งเท่าที่ตนทราบก็มี แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อน ส.ว.คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนกัน เพราะจะต้องเป็นประธานรัฐสภาด้วย ทาง ส.ว.มีการพูดคุยกันเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกนายกฯหรือไม่ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีหน้าที่เลือกประธานสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ทาง ส.ว.จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละสภาที่จะตัดสินใจเอง แม้ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกันในฐานะประธานรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยว และไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยู การร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว.เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ตนเองพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว.แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้น ใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็นเอ็มโอยูแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน

ต่อข้อถามถึง การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้เท่าที่พูดคุยกัน ส.ว.หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย ฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่ตัดสิน และ ส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้ (23 พ.ค.) ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้ การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่า ส.ว. แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และ ส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้ (23 พ.ค.) ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดอยากจะบอกว่า ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้น ส.ว.หลายคนสงวานท่าทีที่จะตอบ ส่วน ส.ว.คนใดประกาศตัวว่าเลือกหรือไม่เลือก ก็ถือว่าเป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ายังมีเวลาในการตัดสินใจ

‘ปรเมษฐ์’ มองภาพ ‘ชัชชาติ’ และ ‘พิธา’ จากคนไร้ผลงาน สู่ความหวังของหมู่บ้าน ที่ประชาชนต่างพากันเทคะแนนให้ .

(23 พ.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต ผู้ดำเนินรายการ คุยถึงแก่น สถานีโทรทัศน์ NBT โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิเคราะห์ความแตกต่าง ระหว่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยระบุว่า…

‘ชัชชาติ’ กับ ‘พิธา’ ความเหมือน และ ความต่าง...!!

ทั้งสองคนนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ท่วมท้นทั้งคู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของทั้งสองคน ล้วนเป็นผลมาจากความสำเร็จ จากการทำการตลาดการเมือง ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งการเมืองคนอื่นๆ ประสิทธิภาพดังกล่าว สามารถสร้างให้คนที่ ‘ไม่เคยมีผลงานระดับชาติ’ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน กลายมาเป็นคนที่ป๊อปปูล่า เป็น ‘ความหวังของหมู่บ้าน’ ที่ใครก็ตามที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงต้องเลือก

ขณะเดียวกันทั้งสองคน (รวมถึงทีมที่วางกลยุทธเบื้องหลัง) ได้สร้างภาพให้คู่แข่ง กลายเป็น ‘สิ่งเก่า’ ที่ชำรุด ไม่เหมาะที่จะใช้งานอีกต่อไป

สำหรับชัชชาตินั้น แม้จะเคยมีประสบการณ์เมื่อ เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์  แต่ก็ไม่มีผลงานอะไรที่โดดเด่นชนิดที่หยิบขึ้นมาอวดอ้างได้ มิหนำซ้ำปัญหาบางเรื่อง นอกจากจะอวดไม่ได้แล้ว เขายังต้องออกตัวว่า “ผมไม่เกี่ยว” อย่างเช่น เรื่องที่องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศ อย่างมาก และเป็นปัญหาใหญ่ให้ คสช.ต้องเข้ามาสะสาง แต่ด้วยกระบวนการทำการตลาดการเมืองที่เหนือชั้น ทำให้ อดีต รมว.คมนาคม ที่ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลายมาเป็น ‘บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบถล่มทลาย ได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯ ไป 1.3 ล้านคะแนน ผ่านมาเกือบ 1 ปี ในตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ผลงานประทับใจแค่ไหน ก็เห็นๆ กันอยู่

ส่วนพิธา ผู้ที่สถาปนาตัวเองตั้งแต่ไก่โห่ว่าเขาคือ ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30’ หากดูโปรไฟล์เขาตามเนื้อผ้า นอกเหนือจากดีกรีนักเรียนนอกจบจากสถาบันมีชื่อเสียง ก็มีประสบการณ์แค่เป็นส.ส.สมัยแรก ที่ถูกพูดถึงเพราะการอภิปรายในสภาที่โดดเด่น และก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และธนาธร หัวหน้าขบวนการตัวจริงถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส่วนประสบการณ์ในการบริหารองค์กรธุรกิจครอบครัว หรือ การทำงานกับภาคเอกชนอื่นๆ พูดแบบกลางๆ ก็ไม่ถึงขนาดเปรี้ยงปร้าง โดดเด่นอะไร แต่ด้วยกระบวนการที่ทรงพลังของพรรคก้าวไกล บวกและหรือ การประสานพลังกับขบวนการ ที่มุ่งหมายในการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมไทยแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ที่สามารถยึดครองพื้นที่ในโซเชียลมีเดียได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหนือกว่าพรรคการเมืองคู่แข่งทุกพรรคหลายช่วงตัว (ขบวนการนี้ใหญ่โตกว่าขบวนการสร้างชัชชาติให้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาก) ได้สร้างให้พิธาให้กลายมา ‘ตัวชูโรง’ เป็นฮีโร่ของคนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้ที่หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย บรรดานักอุดมคติ NGO สื่อ อินฟลูเอนเซอร์ ศิลปิน ฯลฯ

ผู้คนในหลายวงการเหล่านี้ ต่างพร้อมใจกันมองข้าม เรื่องส่วนตัวด้านลบของพิธา ไม่ว่าจะเป็นการพูดกลับไปกลับมาเรื่องงานศพพ่อ เรื่องชีวิตครอบครัวในอดีต ล้วนแต่ไม่มีผลในการสั่นคลอนคะแนนนิยมเขาแม้แต่น้อย และพาพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ชนิดที่คนไปเลือกไม่สนใจด้วยซ้ำว่า ผู้สมัครของพรรคเป็นใคร และผู้คนจำนวนมาก ไชโยโห่ร้องด้วยความยินดีบ้างก็ขึ้นสเตตัสอย่างปิติว่านี่คือ ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ทุกๆ การเลือกล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย เพียงแต่จะคุ้มหรือไม่คุ้มเท่านั้น!! ดังเช่นคน กทม. กว่า 1.3 ล้านคน มอบให้กับชัชชาติ และ 1 ปีที่ผ่านมาคือคำตอบ

ส่วนกรณีของพิธานั้น เพิ่งจะเริ่มต้น คงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ว่าผลของการเลือกนั้นจะคุ้มกับราคาที่คนไทยต้องจ่ายหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ราคาที่คนไทยต้องจ่ายสำหรับพิธานั้น ‘แพงกว่า’ ราคาที่คน กทม.จ่ายให้ชัชชาติหลายเท่านัก!!

‘จตุพร’ ชี้!! ส.ว.จะแสดงละครโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ แต่ถูกเกมการเมืองควบคุมตัวเลขไม่ให้ถึง 376 เสียงอยู่ดี

วันที่ (24 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน ‘หายนะ?’ โดยเชื่อมั่นว่า ทุกสถานการณ์การตั้งรัฐบาล 8 พรรคทำเอ็มโอยูหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ หรือพรรคเพื่อไทยแปลงร่างมารให้เป็นเทพมาจับมืออีกขั้วตั้งรัฐบาลแทนที่ ล้วนเป็นหายนะของประเทศ ดังนั้น ทุกทางเลือกจึงเดินมาถึงทางตัน สิ้นทางสงบสุขเป็นทางออก

นายจตุพร กล่าวว่า เอ็มโอยู (MOU) การร่วมรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองนั้น ดูเหมือนพรรคก้าวไกลถอยสุดซอย โดยไม่บรรจุการแก้ไข ม.112 การออกกฎหมายนิรโทษกรรม สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม อยู่ในเอ็มโอยูด้วย เพื่อลดแรงเสียดทานขัดขวางไปเป็นนายกฯ คนที่ 30

อีกอย่างการกำหนดเวลาประกาศเอ็มโอยู ยังกำหนดในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทหารยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 นอกจากนี้ยังเกิดปรากฎการณ์ข่าวลือฮ่องกงและหนึ่งในพรรคร่วม 8 พรรคไปพบกับคณะ 3 ป.คนหนึ่งที่กัมพูชา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความพยายามแปลงร่างเทพให้เป็นมาร หรือมารกลายร่างเป็นเทพ ซึ่งเป็นละครอีกฉากแสดงหลอกขย่มพรรคก้าวไกล

นายจตุพร มั่นใจว่า เสียง ส.ว.มีแนวโน้มงดออกเสียงกับการเลือกนายกฯ ดังนั้น เสียงคงไม่ถึง 376 เสียงจากทั้งหมด 750 คนของการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่เพียงเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ส.ว.จะแสดงละครโดยการกำกับโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ทยอยออกมาเป็นลำดับ แต่ถูกควบคุมจำนวนตัวเลขไม่ให้ถึง 376 เสียงอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุแห่งเกมและการแสดงละครการเมืองของทุกฝ่ายนั้น ประเมินถึงชะตากรรมของนายพิธา จะไปไม่ถึงนายกฯ ขณะที่ ส.ว.บางส่วน ก็ลวงทิศ จะออกมาให้ข่าวราวกับหยอดน้ำข้าวต้มโหวตให้นายพิธา เพื่อเป็นการสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ตามบทละครที่ผู้สั่งการคอยกำหนดบทให้เล่น

นายจตุพร เชื่อว่า ทั้งข่าวการเจรจาตั้งรัฐบาลระหว่างเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยที่ฮองกง แม้ทุกคนเกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธอย่างร้อนรน แต่ปรากฎการณ์นี้พรรคก้าวไกลย่อมรู้เช่นกันว่า กำลังจะถูกอะไรย้อนรอยมาหลอนชิงการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้ง 3 ป. คนหนึ่งไปกัมพูชา พร้อมมีพรรคการเมืองหนึ่งไปคุยกันที่นั้น ล้วนเป็นการปั่นความหวาดระแวงให้พรรคก้าวไกลหวั่นไหวทั้งสิ้น

รวมทั้งปรากฎการณ์เหล่านั้น คงมีส่วนให้พรรคก้าวไกลรอมชอมลดเงื่อนไขเอ็มโอยูลง ดังนั้น วิกฤตศรัทธาจะเกิดกับพรรคก้าวไกล เพราะการแถลงเอ็มโอยูที่กำลังถอยสุดซอยเท่ากับเป็นการสละอุดมการณ์เพื่อแลกกับอำนาจนายกฯ ซึ่งเป็นการแลกเพื่อทำลายตัวเอง แล้วยังไม่ได้เป็นนายกฯ อีกเสียด้วย

“ถ้าใครคิดว่า พรรคก้าวไกลแลกอุดมการณ์ของตัวเองแล้ว นายพิธา ยังได้เป็นนายกฯ ต้องไปเรียนหนังสือชั้นอนุบาลหรือ ป.1 เรื่องการนับตัวเลขกันใหม่ในการบวกลบ คูณหาร เพราะเสียงโหวตนายกฯ จะไม่ถึง 376 เสียงค่อนข้างชัดเจน”

ส่วนเพื่อไทยยื่นไม้ตายในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายจตุพร กล่าวว่า เพราะรู้นายพิธา เป็นแคนดิเดตนายฯ คนเดียวของพรรคก้าวไกล และยังมีการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อมวลชนด้วย ซึ่งส่อรอดจากคุณสมบัติขัดกับการลงสมัคร ส.ส.ได้ยาก ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมองไกลไปว่า ประธานสภาฯ จะอยู่ในมือ และแคนดิเดตนายกฯ ก็จะอยู่ในมือ และเชื่อพรรคก้าวไกลจะเกิดความพินาศย่อยยับ

นายจตุพร คาดว่า พรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบพรรคมาแรงแซงทางโค้งกว่าคุณสมบัติของนายพิธา ตลอดจนการคิดหนทางสู้อำนาจการเมืองจึงเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเองทั้งสิ้น แม้โชว์เหนือต้องการอำนาจมาอยู่กับตัวเอง จึงเกิดความหวาดระแวงกันขึ้น ดังนั้น ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นการโชว์ความหายนะมากกว่าการโชว์เหนือกว่พรรคก้าวไกล

“ถ้าสมการไปตามข่าวลือแล้ว พรรคก้าวไกลอาจถูกทิ้งให้เป็นฝ่ายค้าน แล้วที่เหลือจะไปจับมือจัดดุลอำนาจตั้งรัฐบาลกันใหม่ ใครคิดว่าบ้านเมืองจะจัดกันอย่างง่ายดายนั้นจะไม่ง่ายตามที่คิดเลย เพราะความรู้สึกที่สั่งสมกันมาจะรอวันระเบิดขึ้น ยิ่งเมื่อจะมีชุมนุมกันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.) เพื่อกดดัน ส.ว. ก็อาจมี ส.ว.พูดเอาใจโหวตให้นายพิธา แต่รวมความแล้วจะไม่ถึง 376 เสียงอยู่ดี”

นายจตุพร กล่าวว่า ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ตั้งรัฐบาลแข่งกันแล้ว พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย จะมองหน้ากันไม่ติด มวลชนจะมีปัญหาตามมา ส่วน ส.ว.จะแสดงบทบาทความรู้สึกเอาใจรัฐบาล นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะลงดาบฟันพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรค การรับรอง ส.ส.พร้อมสอยไปด้วย

อีกทั้งให้จับตา กกต. ชี้ขาดข้อหาการถือหุ้นสื่อมวลชน ที่จะกดดันให้นายพิธา ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วตามด้วยยุบพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การเมืองจะไม่มีความสมหวัง แต่จะมีคำตอบสุดท้ายคือ เลือดที่ไม่ต้องการให้เกิดการนองพื้นกันอีกแล้ว

“เดินมาถึงจุดหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่า 8 พรรคจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้าไม่ยอมรับความจริงนี้แล้ว จะไปยากมาก แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลโดยการย้ายขั้วเปลี่ยนข้างจาก 8 พรรค แต่จะพังพินาศกันไปหมด”

นายจตุพร กล่าวว่า มีการเสนอแนวทางยื้อเวลาให้ ส.ว.หมดวาระ แต่ยังมี กกต.กับศาล รธน. คอยเป็นกับดักขวางทางตั้งรัฐบาลอยู่ จึงยากที่จะให้การยื้อถ่วงเวลา ส.ว.หมดวาระได้ นอกจากนี้การเสนอให้พลังกดดันลงถนนคงมีแต่ความฮึกเหิม แต่จะถูกการตอบโต้ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เพื่อเป็นการทำลายความชอบธรรมให้พังกันไปเป็นทิวแถวอีกเหมือนเดิม

“ความจริงบทเรียนนี้อธิบายกันหลายอย่างแต่ทุกคนไม่สนใจ ถ้าเอาประเทศไทยมาก่อนก็ไปได้ แต่กลับเอาตัวเองมาก่อนประเทศไทย เมื่อต้องการเลือกนับหนึ่งของตัวเอง ดังนั้น เรียกร้องให้เสียสละจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนเห็นแก่ตัวเองทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริงไปไม่ถึง 376 และนายพิธา จะเจอข้อหาคุณสมบัติ แล้วคดีการยุบพรรคตามมาอีก”

นายจตุพร เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ทางตัน แม้ยังมีการเคลื่อนไหวตั้งรัฐบาลได้อยู่ เพราะอยู่เป็นช่วงเวลา 2 เดือนที่ กกต.ทำหน้าที่รับรอง ส.ส. ขณะเดียวกัน หากเกิดการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ยิ่งเกิดหายนะอย่างแรง การย้ายขั้วไปจับมือกับซีกรัฐบาลเดิมก็พังเหมือนกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยไปด้วยการแปลงร่างจากการยุบตัวเอง โยกเข้ามาก็ได้ แบบไหนก็พินาศเหมือนกัน

“ส.ว.คนหนึ่งบอกจะยกมือให้นายพิธาเท่านั้น มันไม่มีเหตุผล เพราะเขามีจุดยืนอยู่อีกซีกชัดเจน และลูกก็ลง ส.ส.อีกพรรคหนึ่งด้วย สิ่งนี้เป็นคำพูดอาบยาพิษ เพราะรู้ปลายทางว่านายพิธาไปไม่ถึงนายกฯ แล้ว เพราะเห็นข้อมูลหมด จึงพูดออกมาแบบน้ำกรดแช่เย็น อีกฝ่ายก็ขอบคุณตอบรับทันที”

นายจตุพร ย้ำว่า นายพิธา จะไม่มีวันได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ย้ายขั้วไปก่อน ถึงที่สุดต้องดูปรากฎการณ์ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า พรรคเพื่อไทยอาจจะถูกยุบพรรคก็ได้ ดังนั้น การเมืองถ้าคิดข้างเดียวจะสวยงามมาก ไม่มีคำถามแย้งเลยว่า อีกฝ่ายจะคิดอย่างไร โดยไม่คำนึงว่า ความจริงคืออะไร และวิกฤตกำลังจะก่อตัวกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคหนึ่งใน 8 พรรคกำลังไปดีลตั้งรัฐบาลกับอีกขั้วหนึ่งนั้น ทั้งปรากฎการณ์ฮ่องกงหรือหารือที่กัมพูชา ล้วนเป็นสิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงในฝ่ายพรรคประชาธิปไตยเดียวกัน และการร่วมตัวกัน 313 เสียงห่างไกลกับ 376 เท่าไร ดังนั้น การทำท่าจับมือกัน เป็นเพียงละครแสดงบทร่วมกันไปก่อนเท่านั้น

“เมื่อเหตุผลให้พรรคก้าวไกลเข้าสู่อำนาจได้ แต่ยอมสละแนวทาง อุดมคติ อุดมการณ์ของตัวเองที่ได้ประกาศจนได้รับเลือกตั้ง หากนายพิธา เป็นนายกฯ แล้วเสนอแก้ ม.112 หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว พรรคก้าวไกลก็ต้องลงนามด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความหวาดระแวงของกลุ่ม ส.ว.ที่ตั้งแรงค้านอยู่ดี”

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลายังต้องพิสูจน์คน!!

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในอีก 2 เดือนข้างหน้าได้หรือไม่? แต่ที่เหนือกว่าการเป็น ‘นายกฯ’ คือการนำพารัฐนาวาให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง

ซึ่งกุญแจสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ การมี ‘ทีมที่ดี’ ว่าแล้วลองเหลียวมอง (ว่าที่) ส.ส.ที่จะมาเป็นลูกทีมบริหารของพิธา แต่ละคน สายล่อฟ้าเรียกพี่!!

ย้อนไทม์ไลน์ ‘พิธา’ เส้นทางการเมืองจากคนตัวเล็กๆ สู่ผู้ถืออำนาจใหญ่ของการเลือกตั้งไทย ปี 66

นาทีนี้ ไม่มีใครร้อนแรงเกินกว่า ‘ทิม - พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ใช้เวลากว่า 3 ปี เปลี่ยนผ่านจากยุคอนาคตใหม่มาสู่ยุคของพรรคก้าวไกลที่มีเขาเป็นผู้นำพรรค สั่งสมความนิยม จากพรรคอันดับรอง ไต่กระแส สร้างปรากฏการณ์ ‘สีส้ม’ ทั่วทั้งแผ่นดิน จนสามารถโกยคะแนนเสียงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งล่าสุด

ความสำเร็จของ ‘พิธา’ ไม่ได้ไหลบ่ามาเพียงชั่วข้ามคืน แต่มาจากการค่อย ๆ สั่งสม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากการข้องเกี่ยวกับผู้คนในแวดวงการเมืองมานานเกือบ 20 ปี ขยับจากเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่นั่งจดวาระการประชุมหลังห้อง จนกระทั่งกลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดวาระของประเทศไทยในวันนี้ เส้นทางการเมืองของ ‘พิธา’ เป็นอย่างไร ย้อนไปดูกัน 

#เลียบเคียงการเมือง
ถ้ากล่าวถึง ‘ลิ้มเจริญรัตน์’ คนที่ติดตามการเมืองคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นนามสกุลของ ‘ผดุง’ เลขานุการส่วนตัวของ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และด้วยความที่ ‘พิธา’ มีศักดิ์เป็นหลานของนายผดุง ทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักมักคุ้นกับบุคคลการเมืองในพรรคไทยรักไทย รวมถึงทายาทของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง โอ๊ค เอม และอุ๊งอุ๊งมาตั้งแต่ก่อนก้าวขาเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ และกลิ่นอายของการเมืองด้วยตัวของเขาเอง

#จากเจ้าหน้าที่แถวหลัง ค่อยๆ ขยับก้าวมาสู่แถวหน้าการเมือง 
ช่วงปลายของการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชี - การเงิน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พิธาเริ่มต้นฝึกงานที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมี ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นผู้บริหาร และเป็นผู้ที่พิธายกให้เป็นเจ้านายคนแรกของเขา ก่อนจะขยับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับอีกบริษัท ซึ่งพิธาเล่าว่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสดูแลลูกค้ารายแรก คือ ‘ไทยซัมมิท’ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งมีโปรเจกต์ขยายตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปที่ประเทศอินเดีย  

หลังจากนั้น 2 ปี พิธาได้มีโอกาสขยับเข้าใกล้งานการเมืองมากขึ้น ในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ ที่ภาคใต้ และทีมงานของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ติดต่อมายังบริษัทของเขา ให้เข้าไปทำงานให้กับหลายกระทรวง ทำให้พิธา ได้เริ่มสัมผัส และซึมซับการทำงานของนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลในช่วง ปี 2547-48

ก่อนที่เขาจะขยับเข้าใกล้การเมืองมากขึ้น เมื่อตัดสินใจข้ามฝั่ง จากที่ปรึกษาธุรกิจเอกชน มารับบทบาทข้าราชการ ติดตาม ‘ดร. สมคิด’ ตั้งแต่ในทำเนียบรัฐบาล ก่อนย้ายไปที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับทีมงานของ ดร. สมคิด อย่าง ดร. อุตตม สาวนายน, ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รวมถึง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ 

ในบทบาทของทีมเลขาฯ ตามนาย ที่นั่งอยู่แถวหลังสุดมุมห้อง พิธาใข้ช่วงเวลานั้น แอบบันทึก และซึมซับสาระสำคัญ รวมถึงวิธีคิด ของคีย์แมนทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย แม้เป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ก่อนเขาจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในปี 2549

#เป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองระดับโลก
อีกด้าน พิธา มีโอกาสได้เปิดมุมมอง และได้พบเห็นการทำงานการเมืองระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปศึกษาต่อ ทั้งในปี 2000 ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ที่เป็นการขับเคี่ยวกัน ของ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากรีพับลิกัน และ อัล กอร์ จากเดโมแครต  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขาไปเรียนต่อด้านการเงิน ที่รัฐเท็กซัส ทำให้ได้เห็นบรรยากาศและวิธีการหาสียงในฟากของพรรครีพับลิกัน 

กระทั่ง 16 ปี คล้อยหลัง พิธากลับไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แต่หนนี้เขาได้ไปอยู่ในพื้นที่ของพรรคเดโมแครต ได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ‘โอบามา’ กับ ‘แม็คเคน’ ซึ่งพิธาได้เห็นวิวัฒนาการการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมคลาสการเมือง ซึ่งต่อมาเติบโตไปเป็นคนการเมืองระดับประเทศในสหรัฐฯ รวมถึงได้ติดตามเพื่อน ออกไปหาเสียง ได้เห็นและเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องจักรทางการเมือง’ ซึ่งเป็นยุทธวิธี ในการลงพื้นที่เรียกคะแนน รวมถึงการเคาะประตูเพื่อขอรับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง จนได้นำสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัส กลับมาปรับใช้ได้จริง เมื่อเขาตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่บทบาท ‘นักการเมือง’ เต็มตัว

‘พิธา’ ในบทบาทของผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งประกาศเอ็มโอยู ระหว่าง 8 พรรค 313 เสียง ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปเมื่อต้นสัปดาห์ แน่นอนว่า กระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ และ ‘ด้อมส้ม’ มาแรงต่อเนื่อง หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดทางการเมืองเกิดขึ้น ว่าที่ผู้นำคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมความคาดหวังในความเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ทางการเมือง ที่ชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ กับประสบการณ์การเมืองที่เขาเรียนรู้และสั่งสมมา จะได้ใช้งานอย่างเต็มที่ในบทบาท และฐานะผู้นำของประเทศต่อไป

‘พิธา’ ถือหุ้น ITV ตั้งแต่ปี 2551 โดยไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’ หลังบิดาเสียชีวิตปี 2549 ชนวนกกต.สอบปมคุณสมบัติต้องห้าม

จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า พรรคก้าวไกล ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวแสดงใหญ่’ทางการเมืองขณะนี้ ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น มีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.⁣ ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปข้อเท็จจริงเอาไว้เป็นประเด็นสำคัญต่างๆดังนี้
1.นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง (เจ้าตัวยอมรับแจ้งว่าเป็นหุ้นมรดก) แต่ถือหุ้นในสัดส่วนน้อย
2. บมจ.ไอทีวี มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อ (รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ ข้อ (18 ) ข้อ (40) และ ข้อ (41) ตามเอกสารจดแจ้งต่อนายเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ปัจจุบันไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ บริษัทฯไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ สถานะยังเปิดดำเนินการ  นำส่งงบการเงินทุกปี งบการเงินรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2564 งบดุล สินทรัพย์รวม 1,270,457,704 บาท หนี้สิน 2,894,513,831 บาท ขาดทุนสะสม (ยังไม่ได้จัดสรร) 7,488,800,690 บาท งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 23,683,771 บาท (ผลตอบแทนจากเงินทุนและดอกเบี้ยรับ) ค่าใช้จ่ายรวม 10,937,852 บาท กำไร สำหรับปี 10,177,063 บาท กำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 4,169,647 บาท

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (แบบ บมจ.006) นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามารายงาน พบว่า
วันที่ 23 เม.ย.2550 (23/04/2550) นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (บิดานายพิธา) ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ลำดับที่ 1,042 จากจำนวนผู้ถือหุ้นรวม 9,246 คน แจ้งที่อยู่ 59 ซ.แสนสบาย 3 ถ.พระราม 4 คลองตัน คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180135571 
.
หลังจากนั้นวันที่ 10 เม.ย.2551 (10/04/2551) - 26 เม.ย.2566 ( 26/04/2566) มีชื่อนายพิธาเป็นผู้ถือครองหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น มีรายละเอียดดังนี้
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 10 เม.ย.2551 นายพิธาถือลำดับที่ 6,222 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,297 คน แจ้งที่อยู่ THE BOSTON CONSULTING GROUP U CHU LIANG BLD. ชั้น 31 ถ.พระราม 4 ลุมพินี ปทุมวัน เลขที่ใบหุ้น 06680180148012 

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 9 เม.ย.2553 (09/04/2553) นายพิธาถือลำดับที่ 5,336 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,314 คน แจ้งที่อยู่ 59 ซ.แสนสบาย 3 ถ.พระราม 4 คลองตัน คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180163154 

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 25 มี.ค.2557 (25/03/2557) นายพิธาถือลำดับที่ 4,820 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,346 คน แจ้งที่อยู่ 59 ซ.แสนสบาย 3 ถ.พระราม 4 คลองตัน คลองเตย 10110เลขที่ใบหุ้น 06680180200784 

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 24 เม.ย. 2558 (24/04/2558) นายพิธาถือลำดับที่ 4,482 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,358 คน แจ้งที่อยู่ 59 ซ.แสนสบาย 3 ถ.พระราม 4 คลองตัน คลองเตย 10110เลขที่ใบหุ้น 06680180210146

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 4 เม.ย. 2562 (04/04/2562) นายพิธาถือลำดับที่ 7,649 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,381 คน แจ้งที่อยู่ เลขที่ 98/26 อาคารซิลเวอร์ เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180247993

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 8 เม.ย. 2564 (08/04/2564) นายพิธาถือลำดับที่ 7,531 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,390 คน แจ้งที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์ เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180276092

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 (27/04/2565) นายพิธาถือลำดับที่ 7,138 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,392 คน แจ้งที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์ เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180285422

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 (26/04/2566) นายพิธาถือลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้น 9,401 คน แจ้งที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์ เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 เลขที่ใบหุ้น 06680180304064

จากข้อมูลเห็นได้ว่า การถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด จำนวน 42,000 หุ้นของนายพิธาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงล่าสุดปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในแต่ละปี ท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้นมิได้ระบุว่าถือในนาม ‘ผู้จัดการมรดก’ แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดานายพิธา เสียชีวิตในปี 2549
กรณีการถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นของนายพิธา ยังเป็นประเด็นถูกนายเรืองไกรยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ เนื่องจากไม่ปรากฏการถือครองหุ้นจำนวนดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สินของนายพิธากรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ปี 2562

‘ก้าวไกล’ นโยบายเร่งด่วน 100 วัน เรื่องฝันๆ หรือทำได้จริง?

ยังมีปัญหาความวุ่นวายให้แก้ หลัง ‘นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ 8 พรรค 313 เสียง ลงนาม ‘เอ็มโอยู’ ประกาศแนวทางนโยบายร่วมกัน 23 ข้อ กับ อีก 5 แนวปฏิบัติของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่เส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจ ของรัฐบาลก้าวไกลก็ยังไม่ราบรื่น นอกจากต้องหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 276 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ แล้ว ปัญหาการแช่งชิงตำแหน่ง ‘ประธานสภาฯ’ กับพรรคเพื่อไทยก็ยังตกลงกันไม่ได้

แต่หากพรรคก้าวไกล สามารถฝ่าด่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็น่าสนใจว่า ในช่วง 100 วันแรก  ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘พิธา’ เคยออกมาแถลง ‘โร้ดแมป’ ที่จะเร่งทำให้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่  วันนี้ลองมาทวนดู ว่าสิ่งที่เคยให้คำมั่นไว้ มีอะไรบ้าง 

สำหรับ 100 วันแรก ที่ ‘ก้าวไกล’ ประกาศจะทำทันที เช่น การเสนอ ครม.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดทางให้มี สสร. จากการเลือกตั้ง ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ เอากฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พิจารณาค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว มาทำให้เสร็จ ยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียน และทรงผม พร้อมกับแก้สูตรค่าไฟ เดินหน้าสุราก้าวหน้า ออกโฉนดนิคมสหกรณ์ และนิคมสร้างตนเอง และเปิดเสรีโซลาร์เซลล์

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากออกหวยใบเสร็จแล้ว ที่ดูท้าทายมากที่สุดคือ ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท’

หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมไปที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายสะท้อนปัญหา และข้อกังวลจากตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งก็พบว่า แม้ก้าวไกลจะตั้งเป้าทำทันที แต่นายพิธา ก็ย้ำว่า การขึ้นค่าแรงจะขึ้นตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝั่ง ทั้งนายจ้าง ที่จะสามารถควบคุมต้นทุนได้ ขณะที่ลูกจ้างก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง

‘ค่าแรง 450 บาท’ เป็นโจทย์ต้นๆ ที่พรรคก้าวไกล เลือกหยิบมาเดินหน้าทำ ซึ่งก็อาจเป็นกระจกสะท้อนให้เห็น ว่า นโยบาย 100 วัน ที่อยากเห็น กับความจริงที่เป็น อาจยังเป็นคนละภาพกัน ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียด และความเห็นแตกต่างที่ต้องนำมาพิจารณาให้รอบด้าน ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อดำเนินการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ซึ่งท้ายที่สุดหากฝ่าด่านอุปสรรคนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็รอลุ้นว่าจะสามารถผลักดันตามที่ประกาศไว้ได้หรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top