ย้อนไทม์ไลน์ ‘พิธา’ เส้นทางการเมืองจากคนตัวเล็กๆ สู่ผู้ถืออำนาจใหญ่ของการเลือกตั้งไทย ปี 66

นาทีนี้ ไม่มีใครร้อนแรงเกินกว่า ‘ทิม - พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ใช้เวลากว่า 3 ปี เปลี่ยนผ่านจากยุคอนาคตใหม่มาสู่ยุคของพรรคก้าวไกลที่มีเขาเป็นผู้นำพรรค สั่งสมความนิยม จากพรรคอันดับรอง ไต่กระแส สร้างปรากฏการณ์ ‘สีส้ม’ ทั่วทั้งแผ่นดิน จนสามารถโกยคะแนนเสียงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งล่าสุด

ความสำเร็จของ ‘พิธา’ ไม่ได้ไหลบ่ามาเพียงชั่วข้ามคืน แต่มาจากการค่อย ๆ สั่งสม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากการข้องเกี่ยวกับผู้คนในแวดวงการเมืองมานานเกือบ 20 ปี ขยับจากเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่นั่งจดวาระการประชุมหลังห้อง จนกระทั่งกลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดวาระของประเทศไทยในวันนี้ เส้นทางการเมืองของ ‘พิธา’ เป็นอย่างไร ย้อนไปดูกัน 

#เลียบเคียงการเมือง
ถ้ากล่าวถึง ‘ลิ้มเจริญรัตน์’ คนที่ติดตามการเมืองคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นนามสกุลของ ‘ผดุง’ เลขานุการส่วนตัวของ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และด้วยความที่ ‘พิธา’ มีศักดิ์เป็นหลานของนายผดุง ทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักมักคุ้นกับบุคคลการเมืองในพรรคไทยรักไทย รวมถึงทายาทของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง โอ๊ค เอม และอุ๊งอุ๊งมาตั้งแต่ก่อนก้าวขาเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ และกลิ่นอายของการเมืองด้วยตัวของเขาเอง

#จากเจ้าหน้าที่แถวหลัง ค่อยๆ ขยับก้าวมาสู่แถวหน้าการเมือง 
ช่วงปลายของการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชี - การเงิน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พิธาเริ่มต้นฝึกงานที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมี ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นผู้บริหาร และเป็นผู้ที่พิธายกให้เป็นเจ้านายคนแรกของเขา ก่อนจะขยับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับอีกบริษัท ซึ่งพิธาเล่าว่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสดูแลลูกค้ารายแรก คือ ‘ไทยซัมมิท’ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งมีโปรเจกต์ขยายตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปที่ประเทศอินเดีย  

หลังจากนั้น 2 ปี พิธาได้มีโอกาสขยับเข้าใกล้งานการเมืองมากขึ้น ในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ ที่ภาคใต้ และทีมงานของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ติดต่อมายังบริษัทของเขา ให้เข้าไปทำงานให้กับหลายกระทรวง ทำให้พิธา ได้เริ่มสัมผัส และซึมซับการทำงานของนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลในช่วง ปี 2547-48

ก่อนที่เขาจะขยับเข้าใกล้การเมืองมากขึ้น เมื่อตัดสินใจข้ามฝั่ง จากที่ปรึกษาธุรกิจเอกชน มารับบทบาทข้าราชการ ติดตาม ‘ดร. สมคิด’ ตั้งแต่ในทำเนียบรัฐบาล ก่อนย้ายไปที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับทีมงานของ ดร. สมคิด อย่าง ดร. อุตตม สาวนายน, ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รวมถึง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ 

ในบทบาทของทีมเลขาฯ ตามนาย ที่นั่งอยู่แถวหลังสุดมุมห้อง พิธาใข้ช่วงเวลานั้น แอบบันทึก และซึมซับสาระสำคัญ รวมถึงวิธีคิด ของคีย์แมนทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย แม้เป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ก่อนเขาจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในปี 2549

#เป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองระดับโลก
อีกด้าน พิธา มีโอกาสได้เปิดมุมมอง และได้พบเห็นการทำงานการเมืองระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปศึกษาต่อ ทั้งในปี 2000 ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ที่เป็นการขับเคี่ยวกัน ของ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากรีพับลิกัน และ อัล กอร์ จากเดโมแครต  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขาไปเรียนต่อด้านการเงิน ที่รัฐเท็กซัส ทำให้ได้เห็นบรรยากาศและวิธีการหาสียงในฟากของพรรครีพับลิกัน 

กระทั่ง 16 ปี คล้อยหลัง พิธากลับไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แต่หนนี้เขาได้ไปอยู่ในพื้นที่ของพรรคเดโมแครต ได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ‘โอบามา’ กับ ‘แม็คเคน’ ซึ่งพิธาได้เห็นวิวัฒนาการการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมคลาสการเมือง ซึ่งต่อมาเติบโตไปเป็นคนการเมืองระดับประเทศในสหรัฐฯ รวมถึงได้ติดตามเพื่อน ออกไปหาเสียง ได้เห็นและเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องจักรทางการเมือง’ ซึ่งเป็นยุทธวิธี ในการลงพื้นที่เรียกคะแนน รวมถึงการเคาะประตูเพื่อขอรับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง จนได้นำสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัส กลับมาปรับใช้ได้จริง เมื่อเขาตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่บทบาท ‘นักการเมือง’ เต็มตัว

‘พิธา’ ในบทบาทของผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งประกาศเอ็มโอยู ระหว่าง 8 พรรค 313 เสียง ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปเมื่อต้นสัปดาห์ แน่นอนว่า กระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ และ ‘ด้อมส้ม’ มาแรงต่อเนื่อง หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดทางการเมืองเกิดขึ้น ว่าที่ผู้นำคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมความคาดหวังในความเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ทางการเมือง ที่ชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ กับประสบการณ์การเมืองที่เขาเรียนรู้และสั่งสมมา จะได้ใช้งานอย่างเต็มที่ในบทบาท และฐานะผู้นำของประเทศต่อไป