‘วันชัย’ เชื่อ ส.ว.มีวุฒิภาวะ พร้อมรับฟังเหตุผล ไม่กังวลม็อบกดดัน เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม หนุน ‘พิธา’ - ยังไม่ตัดสินใจ - กำลังพิจารณา

‘วันชัย’ เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม โหวต ‘พิธา’ แต่กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ-อยู่ระหว่างการพิจารณา มีจำนวนมาก ส่วนเอ็มโอยูรู้สึกเฉยๆ ชี้ ม.112 ยังอีกไกล ส่วนม็อบกดดันไม่กังวล แต่จะรับฟังด้วยเหตุผล เชื่อ ส.ว. 250 คนมีวุฒิภาวะไม่มีใครสั่งได้

(23 พ.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หลังทำเอ็มโอยูกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้น การหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน

ดังนั้น ขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ

กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน

และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย

นายวันชัย กล่าวว่า ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯจะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว.มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน

เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่าตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่าโหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อข้อถามว่าทางพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทาง ส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะหาวิธีการ เพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างๆ ที่เขาจะตกลงกันเชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ และในทำนองเดียวกันอะไรที่เห็นว่า ส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน การที่จะมาพบ ส.ว.ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม บางพวกที่มี ซึ่งเท่าที่ตนทราบก็มี แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อน ส.ว.คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนกัน เพราะจะต้องเป็นประธานรัฐสภาด้วย ทาง ส.ว.มีการพูดคุยกันเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกนายกฯหรือไม่ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีหน้าที่เลือกประธานสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ทาง ส.ว.จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละสภาที่จะตัดสินใจเอง แม้ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกันในฐานะประธานรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยว และไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยู การร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว.เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ตนเองพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว.แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้น ใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็นเอ็มโอยูแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน

ต่อข้อถามถึง การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้เท่าที่พูดคุยกัน ส.ว.หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย ฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่ตัดสิน และ ส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้ (23 พ.ค.) ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้ การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่า ส.ว. แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และ ส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้ (23 พ.ค.) ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดอยากจะบอกว่า ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้น ส.ว.หลายคนสงวานท่าทีที่จะตอบ ส่วน ส.ว.คนใดประกาศตัวว่าเลือกหรือไม่เลือก ก็ถือว่าเป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ายังมีเวลาในการตัดสินใจ