Saturday, 11 May 2024
พิธา

‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ จวก ‘พิธา’ หลังต่อสายตรงทูตอิสราเอลในไทย ชี้!! ไม่ใช่หน้าที่ แถมไร้ความเป็นมืออาชีพ หวั่นทำสื่อสารคาดเคลื่อน

(8 ต.ค. 66) จากกรณีที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีใส่กัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการจับกุมตัวแรงงานคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็สั่งการให้เร่งตรวจสอบดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิด

ซึ่งต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัว ระบุว่า…

“ผมพึ่งวางสายโทรศัพท์จากการพูดคุยกับท่านทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพี่น้องแรงงานคนไทยในอิสราเอลจากการประสานของปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ได้ทราบมาว่าสถานการณ์มีความรุนแรงต่อเนื่อง และได้รับคำขอร้องว่าครอบครัวของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อญาติที่อิสราเอลได้ และกำลังตกอยู่ในความกังวลอย่างมาก หากท่านมีญาติไปทำงานที่อิสราเอล และบัดนี้ยังติดต่อไม่ได้ ท่านสามารถระบุชื่อของบุคคล เมืองที่พำนัก มาที่ email : [email protected] เพื่อรวบรวมเป็น database ประสานงานกับ สถานทูตอิสราเอล และ/หรือส่งมอบต่อกระทรวงต่างประเทศต่อไปได้”

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม และดูไม่เป็นมืออาชีพ ของนายพิธา ในโลกโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ให้มุมมองเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ ระบุว่า…

“ทวิตนี้แสดงถึงความไม่เป็นงาน และต้องการแสงของผู้ทวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่อาจตามมาในภายหลัง

1.) เหตุการณ์นี้ คนที่ควรโทรคุยควรเป็นทูตไทยในอิสราเอล มิใช่ทูตอิสราเอลในประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นคนที่มีหน้าที่โดยตรง และต้องพยายามติดต่อคนไทยที่อาศัยในอิสราเอลตามข้อมูลที่มี เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ในทางกลับกันคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศควรมีช่องทางติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน เพราะสถานทูตคงไม่สามารถทราบว่าเราอยู่ที่ใดโดยไม่ได้แจ้ง การไปอยู่ต่างประเทศแบบไม่มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลย

2.) การใช้อีเมลส่วนตัวเป็นช่องทางรับข้อมูล ถือเป็นการกระทำที่ไร้ความเป็นมืออาชีพ และแสดงให้เห็นว่า อีเมลดังกล่าว ตัวเองไม่ได้จัดการดูแลอีเมลดังกล่าวด้วยตัวเอง มีคนอื่นสามารถเข้าถึงอีเมลของตัวเองได้ เพื่อจัดการข้อมูลที่จะเข้ามา

การสร้างอีเมลใหม่เพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลย เจ้าหน้าที่ไอทีทั่วไปสามารถทำได้ด้วยเวลาไม่กี่วินาที ทำให้คิดได้ว่า อาจจะไม่ได้คิดหรือต้องการให้ใช้ชื่อตัวเองเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

3.) เรื่องสำคัญที่สุดคือ คนทวิตไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลย แต่สร้างความสับสนในการติดต่อสื่อสารเพื่อแสงที่ตัวเองเคยทำเสมอมา และผมคิดว่าสุดท้ายก็คงไม่ต่างกรณีติดต่อไปยังรุ่นพี่ที่ MIT เพื่อเอาวัคซีนโควิดเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปล.ตัวผมเองเคยอยู่ในวิกฤตการณ์ในต่างประเทศอย่างเหตุการณ์สึนามิที่โทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นการติดต่อสื่อสารพิการ ทั้งระบบสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ต เลยต้องติดต่อบอกสถานกงสุลไทยในโอซาก้า ด้วยโทรศัพท์ระบบสาย และค่อยบอกข่าวสารตัวเองไปยังมารดาเมื่อมีโอกาสในภายหลัง

‘หญิงหน่อย’ บังเอิญเจอ ‘พิธา’ ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ พร้อมมอบผ้าขาวม้าของดีจากร้อยเอ็ดไว้ให้กันหนาว

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมแคปชันเผยว่า…

“บังเอิญอยู่ New York ช่วงเดียวกัน เลยได้มาทานอาหารเช้า Catch Up และยินดีกับ Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

สำหรับรางวัล TIME 100 NEXT ได้พบคุณฟูอาดี้ด้วย

ได้มอบผ้าขาวม้า จาก #ร้อยเอ็ด ที่กำลังช่วยชาวบ้านใน Project #ZapPower ให้คุณพิธาไว้กันหนาว เลยได้นายแบบกิตติมศักดิ์ มาช่วยกันโปรโมท #ผ้าขาวม้า #สินค้าชาวบ้าน ของไทยค่ะ

และต้องขอบคุณสำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ให้กับน้องจินนี่ จากทั้ง 2 ท่านด้วยนะคะ 💜”

‘พิธา’ บรรยายพิเศษที่ ‘ฮาร์วาร์ด’ ชี้ ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ยกเหตุการณ์ชวดเก้าอี้นายกฯ เพราะเกมการเมืองสุดพิสดาร

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่กำลังเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ได้รับเชิญจากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Moving Forward : Thailand, ASEAN & Beyond’ (ก้าวไปข้างหน้า : ประเทศไทย อาเซียน และโลก) ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

นายพิธา เริ่มการบรรยาย โดยระบุว่าในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตนเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเหมือนทุกคน และสิ่งที่ตนได้รับการศึกษาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตน จากการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในตำราให้เป็นความจริง ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้น ที่ตนเคยเป็นเพียงแค่ผู้นำอ่อนหัดของพรรคการเมืองที่มีอายุเพียง 3 ปี ในเกมที่ออกแบบมาเพื่อให้เราแพ้ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดาร กติกาในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นคุณกับเรา แต่เราก็ชนะมาได้

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนกำลังศึกษาอยู่ที่นี่ สามารถกลายเป็นความจริงได้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์ทางการเมืองของทุกคนในอนาคตได้ โจทย์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับจากชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทั้งการเตรียมพาวเวอร์พอยต์นำเสนอ การประชุมกลุ่ม ฯลฯ ล้วนแต่มีความหมายจริงๆ และวันหนึ่งอาจนำพาให้ทุกคนได้มาเป็นผู้บรรยายที่นี่เหมือนกับตนก็เป็นได้

นายพิธา กล่าวต่อว่า เป็นเพราะสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากที่ฮาร์วาร์ดนี่เอง ที่ร่วมก่อรูปความคิดและนโยบายการรณรงค์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ นโยบายเหล่านี้คือที่มาของชัยชนะของตนและพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ตน ที่เป็นผู้ชนะจากการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยความเห็นชอบของคน 14.1 ล้านเสียง หรือ 36 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลด้านเทคนิค

นี่คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองของผู้ได้รับการเลือกตั้งและผู้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศไทยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร 250 คน ทุกคนคำนวณได้ว่าเราต้องการ 376 เสียง แต่เราได้เพียง 324 เสียง ทั้งที่เราสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองที่สะท้อนเจตจำนงการปฏิรูป และความหวังของประเทศได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังแพ้ด้วยตัวเลขจาก ส.ว. แต่งตั้ง องค์ประชุมวันนั้นจึงเอาชนะแคนดิเดตนายกที่มาจากการเลือกของประชาชนได้

นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะ แต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม และสันติภาพของโลกกำลังเปราะบาง ในปีแรกที่ตนมาถึงที่นี่ในปี 2006 Freedom House เคยออกผลสำรวจพบว่าประชากร 48 เปอร์เซ็นต์ ของโลกอยู่ในสังคมเสรี แต่ตัวเลขวันนี้ตกมาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นที่สุดแล้ว ก็กำลังเผชิญกับการลดน้อยถอยลงเช่นกัน เหตุใดประชาธิปไตยจึงถดถอยทั่วโลก สำหรับตน ต้นตอของเรื่องนี้ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น

ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่เป็นการรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนหมู่น้อย ในเวลาที่ตนเกิดมาความห่างระหว่างผู้มั่งคั่ง 1 เปอร์เซ็นต์บนสุดของโลกกับที่เหลือ ห่างกัน 8 เท่า วันนี้ความห่างนั้นถ่างไปถึง 16 เท่าแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทย กำลังครอบครองความมั่งคั่ง 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศอยู่ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และต่อมากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือหลังวิกฤติโควิด

นายพิธา กล่าวต่อว่า ดังนั้น โจทย์สำคัญจากนี้ คือเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาโครงสร้างสังคม ที่ทั้งสามารถจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม และจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กันได้ ให้การเติบโต กระจายดอกผลไปอย่างทั่วถึง ประเทศต้องไม่จดจ้องอยู่ที่แค่การทำกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายที่ดิน การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนทำงานของเรา หรือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สังคมประชาธิปไตย’

ซึ่งหลายท่านในที่นี้อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ตนเสนอ คือมันถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องกลับมาคิดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในการก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ตนคิดมาตลอดในการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา คือเมื่อใดก็ตามที่ตนและพรรคก้าวไกลสามารถจัดการปัญหาในประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ เมื่อนั้นเราจะยังเหลือการเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านนโยบายต่างประเทศ นั่นคือการออกไปบอกกับทั่วโลกว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว และเราจริงจัง เราเป็นอำนาจกลาง เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ

เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศอาเซียน แม้จะไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ถ้าเรารวมกันได้ นั่นคือตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประชากร 670 ล้านคน ประเทศใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ก็ไม่อาจปฏิเสธเราได้

นายพิธา กล่าวต่ออีกว่า แต่ตราบใดที่เราที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาในประเทศของเราเองได้ ไทยจะมีความน่าเชื่อถืออะไรไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ในการทำให้อาเซียนมีความหมายขึ้นมา เราต้องเข้าไปมีบทบาทต่อโลกและมีความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะต่อปัญหาเมียนมา, รัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นห่างออกไปจากประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งสิ้น เราต้องมองออกไปข้างนอก เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างแท้จริง และด้วยความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน เราสามารถบอกกับโลกได้ว่าความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม บอกกับโลกได้ว่าเรากำลังจะกลับมาเป็นอำนาจกลาง ที่จะมีส่วนฟื้นระเบียบโลก ประเทศไทยกลับมาแล้ว เราเอาจริง และเราจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของเราอีกครั้ง

หลังจากที่เราหายไปจากเวทีโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกองทัพ เราต้องการสร้างสมดุลให้โลกอีกครั้ง และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้าง แต่คือการยืนหยัดในหลักการ เราต้องวิจารณ์เพื่อนเราได้ และก็ต้องพูดคุยกับคู่แข่งของเราได้ด้วย ในฐานะอำนาจกลาง เราสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้ มากกว่าแค่เรื่องของการค้าการลงทุนและพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ให้มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน การควบคุมอาวุธปืน แบ่งปันทุกข์ เรียนรู้ร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันได้

“นี่คือสิ่งที่เราทำร่วมกันได้เพื่อบรรลุสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นความมั่งคั่ง เปลี่ยนคุณค่าให้เป็นชัยชนะร่วมกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งหมด ถ้าทุกคนทำร่วมกันโดยที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะหายไปจากการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ นี่คือบทบาทที่เราทำร่วมกันได้ ในการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ โดยที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมยังคงคาดหวังที่จะได้เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับผู้คน สภากับสภา ภาครัฐกับภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยกัน” นายพิธากล่าว

‘พิธา’ หน้าเสีย!! โดนศิษย์เก่า-กองเชียร์กรุงเทพฯ โห่ไล่ รีบแจง!! "ผมไม่เกี่ยว" หลังมี สส.ก้าวไกล หนุนยกเลิกแปรอักษร

(19 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร โพสต์คลิปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. เป็นเหตุการณ์ ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่งส่งเสียงโห่และลุกขึ้นมาชูเสื้อซึ่งเขียนว่า "อย่าเสือ... เรื่องแปรอักษรของพวก..ู..." ใส่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พบ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ

พร้อมระบุข้อความว่า ทุกคนคะ พิธาถูกโห่ไล่ค่ะ เหตุการณ์เกิดช่วงพักครึ่งแรก ลุงที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ลุกขึ้นมาชี้ที่พิธาและโห่ไล่ กองเชียร์ที่นั่งอยู่ก็ร่วมกันโห่ค่ะ สักพักพี่อีกคนเดินมาจากฝั่งเทพศิรินทร์ชูเสื้อที่เขียนว่า "อย่าเสือ...!! เรื่องแปรอักษรของพวก...ู..." มาชูต่อหน้าพิธา ได้รับเสียงเชียร์เป็นอย่างมาก ส่วนพิธาหน้าเสีย และบอกว่าผมไม่เกี่ยว!!

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สส.พรรคก้าวไกล เคยแถลงเกี่ยวกับกิจกรรม ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ว่า มีกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบ ออกมาเรียกร้องว่า มีการบังคับนักเรียนลงชื่อและเข้าร่วมทำกิจกรรม ละเมิดสิทธิเด็กโดยให้นักเรียนอยู่อย่างแออัด ให้แปรอักษรติดต่อนานหลายชั่วโมงโดยไม่มีเปลี่ยนตัว รวมถึงไม่อนุญาตให้นักเรียนไปเข้าห้องน้ำหรือไปรับประทานอาหาร สถานที่เสี่ยงไม่ปลอดภัย เพราะมีโอกาสที่ส่วนต่อเติมจะทรุดตัวลงหากต่อเติมไม่ดี หรือรองรับน้ำหนักของเด็กมากเกินไป ดังนั้นคณะทำงานการศึกษาก้าวไกลจึงห่วงใยต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียน พร้อมโพสต์รูปภาพติดแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร

เพื่อนช่วยยัน!! ‘พิธา’ ขึ้นแปรอักษรงานจตุรมิตรจริง ส่วนที่ไปเมืองนอก 11 ขวบ คือไปเรียนแบบซัมเมอร์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 อดีตหัวหน้าห้องช่วยยืนยัน ‘พิธา’ ขึ้นแปรอักษรจริง เช็กชื่อทุกเช้า ส่วนไปเรียนเมืองนอกตอน 11 ขวบ เป็นแบบไปซัมเมอร์ เข้าแคมป์ช่วงปิดเทอม พอพร้อมค่อยไปเรียนต่อเต็มรูปแบบ วอนแยกแยะจบดรามา

จากกรณีดรามาเพจดังจับโป๊ะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่าได้ขึ้นแปรอักษร 2 ครั้ง สมัยเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แต่เมื่อย้อนไปดูเทปที่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไปเรียนต่อนิวซีแลนด์ตั้งแต่ 11 ขวบ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะได้ขึ้นแปรอักษร กระทั่งมีภาพยืนยันว่าความจริงแล้วนายพิธา ยังเรียน ม.3 ที่กรุงเทพคริสเตียน จึงถูกตั้งคำถามว่าแล้วจะพูดเท็จเรื่องไปเรียนต่อตั้งแต่อายุ 11 ขวบเพื่ออะไร

ล่าสุด ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ‘Orio Piriyawat’ ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุว่า…

“ในฐานะ อดีตหัวหน้าห้อง ม.2 ห้อง 25 กับ ม.3 ห้อง 35 ผม ‘โอ’ (เพื่อนเรียก ‘เตี้ย’) กท.22718 ‘ทิม พิธา’ เรียนอยู่กับผม ขึ้นแปรอักษรร่วมกัน เป็น BCC145 ตลอดกาล ผมเช็กชื่อนับจํานวนนักเรียนทุกเช้า ประเด็นเรื่องไปเรียนต่อเมืองนอกทับซ้อน โกหก ขออธิบายตรงนี้ เขาไปเรียนจริงแต่เป็นแบบไปเรียนซัมเมอร์ เข้าแคมป์ ตามประสา ปิดเทอม จนพร้อมก็ไปเรียนต่อต่างประเทศเต็มรูปแบบ ดังนั้น แยกแยะนะครับ จบดรามานะครับ #bcc145”

‘เพจดัง’ แฉ!! ‘สส.ก้าวไกล’ อ้างชื่อ กมธ.แรงงาน หาผลประโยชน์ สร้างซีนหล่อให้ ‘พิธา’ ประสานช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร’ โพสต์ภาพหนังสือคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เรื่องร้องเรียนพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของนายสุเทพ อู่อ้น กรณีแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ได้สอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า นายสุเทพ อู่อ้น ดำรงตำแหน่งรองประธาน กมธ.แรงงาน คนที่ 2 แต่การกระทำดังกล่าวของนายสุเทพ เป็นการกระทำส่วนบุคคล มิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ หรือเป็นไปตามที่ที่ประชุมมอบหมายแต่อย่างใด

โดยระบุว่า ทุกคนคะ กรณีคุณพิธาได้โพสต์ลงโซเชียล มอบหมายให้ สส.สุเทพ อู่อ้น อดีต กมธ.แรงงาน เป็นผู้ประสานงาน ‘กรณีช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล’

คุณสุเทพได้ติดต่อกับผู้ประสานงานคนไทย และสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งอนุกรรมาธิการหรือให้รางวัล เพื่อต้องการได้ข้อมูลจากผู้ประสานงานไปให้คุณพิธา

ทีมงานเพจได้สอบถามไปทาง กมธ.แรงงาน พบว่า เรื่องที่คุณพิธาและคุณสุเทพดำเนินการต่างๆ ‘เป็นการกระทำส่วนบุคคล ไม่ได้มีส่วนและอำนาจหน้าที่ของ กมธ. แต่อย่างใด’

หนูขอประกาศว่า หากท่านใดถูกแอบอ้างหรือสัญญาว่าจะให้จากบุคคลทั้ง 2 แจ้งร้องทุกข์มาที่เพจได้ค่ะ ทางเรายินดีช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนชมรมสันติประชาธรรม และคณะ เรื่อง ร้องเรียนพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของอดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงาน ชุดที่ 25 กรณีแรงงานไทยในอิสราเอล

เนื่องจากอดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงาน ซึ่งเป็น สส.พรรคก้าวไกล และขณะนี้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะ กมธ.การแรงงาน คนที่ 2 ได้ติดต่อไปยังผู้ประสานงานแรงงานไทยในอิสราเอล และขอข้อมูลทั้งรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ โดยอ้างว่าจะนำไปหาทางช่วยเหลือ ซึ่งทราบว่าได้มีการส่งมอบให้กับกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ ผู้ประสานงานได้ขอร้องให้อดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงานทราบว่า อย่าโทรศัพท์หาแรงงานโดยตรง ให้ประสานผ่านผู้ประสานงาน เพื่อป้องกันการติดตามสัญญาณมือถือจากผู้ก่อการร้าย ที่อาจรู้พิกัดของแรงงานไทยได้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามและได้มีการติดต่อไป จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตของแรงงานไทย อีกทั้งผู้ประสานงานยังพบว่าอดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงาน ได้นำข้อมูลของแรงงานไทยไปมอบให้อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น) เพื่อให้นำไปแจ้งต่อสื่อมวลชนว่าอดีตหัวหน้าพรรคเป็นผู้ประสานงานแรงงานไทย ทั้งที่แรงงานไทยไม่ได้รับการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด

นอกจากนี้ อดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงาน ได้มีการเชิญชวนบุคคลภายนอก โดยอ้างว่าสามารถแต่งตั้งให้ผู้ประสานงานดำรงตำแหน่งอนุ กมธ.การแรงงานได้ ดังนั้น จึงขอให้นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน ตรวจสอบพฤติกรรมบุคคลดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามกลไกรัฐสภาต่อไป

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การกระทำของอดีตประธานคณะ กมธ.การแรงงาน เป็นการกระทำในนามส่วนตัว อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.การแรงงานได้ประสานกับกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับแรงงานไทยในอิสราเอลตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ส่วนการเชิญชวนบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะอนุ กมธ.นั้น คณะ กมธ.จะนำไปพิจารณาเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงต่อไป

‘อดิศร’ เหน็บ ‘พิธา’ เติมเชื้อไฟ ค้าน-สงสัยไปทุกเรื่อง วิจารณ์รัฐบาล 100 วัน ถาม ดีแค่เฉพาะ ‘ก้าวไกล’ หรือ?

(17 ธ.ค. 66) นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า…

“พิศวง สงสัย ไปทุกเรื่อง ค้าน แค้น เคือง เหลวไหล โลกแห่งความฝันของก้าวไกล พิธา เติมไฟในอารมณ์…

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วิจารณ์รัฐบาล 100 วัน

ดูเหมือนจะไม่มีดีเลย… ดีเฉพาะก้าวไกล เท่านั้น!!!!????”

‘พิธา’ คว้าฉายา ‘ดาวดับ’ สภาปี 66 หลังชวดเก้าอี้นายกฯ ด้านสภาผู้แทนราษฎรได้ฉายา ‘สภาลวงละคร’ ไปครอง

(27 ธ.ค. 66) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566 ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส. และ สว.เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส. และ สว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ สส. และ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ สส. และ สว. ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไปซึ่งมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้

1.) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘สภาลวงละคร’
สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวจับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีกเอ็มโอยู (MOU) ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

2.) วุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แตก ป. รอ Retire’
ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 65 คือ ‘ตรา ป.’ ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประยุทธ์’ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ป.ประวิตร’ แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง ‘2 ป.’ ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมา สว.ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค. 67 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.

3.) นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา ‘(วัน) นอ-มินี’
เนื่องจาก ตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง สส.ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย

4.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา ‘แจ๋วหลบ จบแล้ว’
คำว่า ‘แจ๋ว’ เปรียบเสมือน บทบาทของ ‘ผู้รับใช้’ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่าน นายพรเพชร ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่ สว. 6 ปี ในเดือน พ.ค. 67

5.) นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นควรว่า ควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

6.) ดาวเด่น
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า ‘ไม่มีผู้ใดเหมาะสม’ และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

7.) ดาวดับ
ได้แก่ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก ‘นายกฯ พิธา’ ทำให้เกิดกระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดี ‘หุ้นไอทีวี’ ที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว

8.) วาทะแห่งปี66
ได้แก่ วาทะของ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 ที่ผ่านมาว่า “เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับ 2 มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับ 2 สามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิด เพราะว่ายิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

9.) เหตุการณ์แห่งปี คือ ‘เลือกนายกรัฐมนตรี’
ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 ก.ค. 66 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายพิธา แต่ปรากฎว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. 66 แต่ปรากฎว่า ในที่ประชุมรัฐสภากลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อนายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่า ญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฎว่า เสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้

จากนั้น ช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค. 66 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุให้วันที่ 22 ส.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

10.) คู่กัดแห่งปี
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ลงมติเห็นว่า ควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงตรงกับช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น

11.) คนดีศรีสภา 66
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มี สส. หรือ สว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

‘พิธา’ รอด!! กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี

(24 ม.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) กรณีถือหุ้นไอทีวี

โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัยศาลได้ชี้แจงว่าเคยได้แจ้งให้ทราบว่าคดีนี้ผู้ถูกร้องขอขยายเวลาการชี้แจงสองครั้งครั้งละ 30 วัน ความจริงคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปก่อนหกสิบวันที่แล้วไม่ใช่ศาลล่าช้า และขอแจ้งว่าการไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อถือว่าเป็นการไม่เหมาะสมเพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกหรือลบก่อนศาลวินิจฉัยจะเป็นการชี้นำและกดดันศาลจึงขอเตือนไว้ด้วย

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่และนับแต่เมื่อไหร่ โดยเห็นว่า รธน. มาตรา98 บัญญัติเรื่องการห้ามลงสมัคร สส. ในกรณีการห้ามถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการสื่อ

การจะพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการสื่อ ต้องดูว่ามีเจตนาและยังมีการประกอบกิจการและมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่

โดยเมื่อมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อปี 2566 กำหนดให้วันที่ 4 เม.ย. เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง โดยพรรคก้าวไกล ยื่นรายชื่อนายพิธาเป็นผู้สมัครลำดับที่ 1 และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ลำดับที่ 7,061 จำนวนสี่หมื่นสองพันหุ้น และถือเรื่อยมา จน 15 พ.ค.2566 จึงโอนหุ้นให้นาย ภาษิน ลิ้มเจริญรัตน์ และมีการระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทว่าเป็นสื่อโทรทัศน์

โดยนายพิธาโต้ว่าไม่มีอำนาจครอบงำ เพราะกฎหมายหลักทรัพย์บัญญัติให้ตนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 จึงเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำ ยกเว้นเป็นการได้มาโดยมรดก และจำนวนหุ้น 42,000 หุ้น แต่หุ้นไอทีวีมี หนึ่งพันสองร้อยหกล้านหุ้น ร้อยละ 0.00348 เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่เข้าข่ายการครอบงำ โดยศาลเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าววางหลักว่า รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าจะถือหุ้นเท่าใด หรือมีอำนาจบริหารหรือไม่ การถือเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการถือแล้ว การบัญญัติก็เพื่อไม่ให้ใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ จึงห้าม สส. ถือหุ้นกิจการสื่อโดยไม่ได้ระบุว่าต้องถือหุ้นเท่าไหร่ หรือมีอำนาจครอบงำหรือไม่ การเถือเพียงหุ้นเดียวจึงเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ต่อมาต้องพิจารณาว่าวันสมัครได้ถือหุ้นหรือไม่ โดยนายพิธาอ้างว่า บัญชีผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 โดยระบุว่าถือในนามตัวเองแต่ไม่ได้ถือนามผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดและต่อมาวันที่ 15 พ.ค. จึงโอนหุ้นให้นายภาษิน

โดยศาลเห็นว่า สำเนาบัญชีผู้ถือที่ระบุว่าถือ 42,000 หุ้น รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ ว่าวันที่ 5 ก.ย.2550 รับโอนหลักทรัพย์จากบิดา โดยเป็นการโอนในกรณีผู้จัดการมรดก เมื่อมีฐานะเป็นทายาทอีกทาง รวมถึงหุ้นบริษัทไอทีวี มีผลให้เป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาท จึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีตั้งแต่ปี 2550 และหนังสือโอนหุ้นกับนายภาษิน บอกว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงโอนหุ้นให้และไม่สอดคล้องที่บอกว่าเป็นกิจการต้องห้าม เพราะตามความเข้าใจของผู้ถูกร้องไม่จำเป็นต้องโอน และการยื่นต่อ ป.ป.ช. นายพิธาไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้น และการที่เบิกความว่าหุ้นไอทีวี เป็นหุ้นที่โอนได้ตามตลาดเพราะไม่ได้อนุญาตให้ซื้อขายจึงไม่ได้โอนให้ทายาทอื่น แต่ต่อมาปี 2566 ได้รับคำแนะนำให้โอนทางทะเบียนได้ แสดงว่าการไม่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เป็นความคลาดเคลื่อนและเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง

เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธ จึงฟังไม่ได้ว่าโอนหุ้นดังกล่าว และเป็นผู้ถือหุ้นในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนกรณีไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ศาลเห็นว่าการพิจารณานิติบุคคลใดเป็นสื่อหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ แต่จะพิจารณาควบคู่ไปพฤติการณ์ว่าประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยปี 2538 ได้ดำเนินการกิจการโทรทัศน์และมีสัญญา 30 ปี และต่อมา สปน. ปี 2550 มีหนังสือบอกเลิกสัญญา การแจ้งย่อมเป็นผลทำให้การร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องว่าเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2550 แจ้งประกันสังคมว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีพนักงาน ถึงปัจจุบันก็ปรากฏว่าหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550

นอกจากนี้ไอทีวีเคยดำเนินกิจการโทรทัศน์แต่ถูกเลิกสัญญาและบอกว่ามีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และบริษัทย่อยก็ต้องหยุดกิจการไปด้วย แต่เมื่อดู ภงด. 50 บอกว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ แต่มีรายได้ 0 บาทจากการผลิตสื่อ แต่รายได้อื่นมาจากดอกเบี้ยรับ

ส่วนรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่บอกว่ายังประกอบกิจการอยู่ ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการสื่อมวลชนและหากศาลปกครองพิพากษาให้ชนะจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะประกอบกิจการหรือไม่ ดังนั้นการที่วัตุประสงค์บอกว่าประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่ต้องดูงบการเงินด้วย และยังไม่มีคลื่นความถี่ที่จะประกอบกิจการ และไอทีวีก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องให้คืนสิทธิ์แก่ตนเองแต่อย่างใด

ข้อพิพาทดังกล่าวหากท้ายที่สุดไอทีวีชนะก็ไม่ได้มีผลให้ไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ ปรากฏจึงสรุปว่าไอทีวีไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการสื่อตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 และการคงสถานะเพื่อดำเนินคดีที่ค้างในศาลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ การที่มีการเบิกความว่าหากชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่ จึงเป็นเรื่องในอนาคต ดังนั้นแต่ สปน. เลิกสัญญาก็ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อ ดังนั้น ณ วันที่นายพิธาสมัคร ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อ การถือหุ้นไอทีวี จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง

จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายพิธาไม่สิ้นสุดลง 

‘สว.สมชาย’ ฟัน!! ‘พิธา-ก้าวไกล’ ไม่รอดคดี ม.112 ชี้!! ‘ร่างแก้ไข ม.112’ มัดตัว!! เจตนาล้มล้างไม่ใช่ปฏิรูป

(29 ม.ค. 67) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า (ep.2) เหตุใดคดีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่ถูกนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้น

ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึง 2 ครั้ง แต่ถูกประธานสภาฯ สั่งไม่ให้บรรจุวาระด้วยขัดรัฐธรรมนูญ ยังถูกขับเคลื่อนต่อในนโยบายพรรคและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

โดยหากพิจารณาในเนื้อหาที่ยกร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ยิ่งชัดเจนในการลดมาตรการในกฎหมายคุ้มครองพระประมุข ในเกือบทุกมาตราลงจนอาจต่ำกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปด้วยซ้ำ

สอดรับควบคู่กับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ขององค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว รวมถึงการอภิปรายในเวทีต่าง ๆ การใช้สิทธิ สส. ประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ฯลฯ

ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่สั่งการให้ผู้ถูกร้องและองค์กรเครือข่ายหยุดการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 นี้ อาจเป็นพยานหลักฐานอีกชิ้นสำคัญที่ถูกยื่นไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญ และมีน้ำหนักที่อาจทำให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล มีความสุ่มเสี่ยงในคดีเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสมชาย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ep.1 เหตุใดคดีที่พิธาและพรรคก้าวไกลที่ถูกนายธีรยุทธร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้นในก้าวต่อไป ดังนี้

1) คำร้องประกอบหลักฐานนั้นค่อนข้างแน่นหนา ในการชี้ให้เห็นถึงการกระทำต่าง ๆ ต่อเนื่องหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 สั่งห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ยังปรากฏการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายพรรค การเดินสายในเวทีหาเสียงต่างกรรมต่างวาระ การพูดอภิปรายในรัฐสภา การให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจถูกชี้ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรณี ที่ชัดเจนต่อสถาบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายความมั่นคงคุ้มครองพระประมุข

2) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่19/2564 ระบุถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ด้วย แต่ยังปรากฎการกระทำดังกล่าวโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top