‘สว.สมชาย’ ฟัน!! ‘พิธา-ก้าวไกล’ ไม่รอดคดี ม.112 ชี้!! ‘ร่างแก้ไข ม.112’ มัดตัว!! เจตนาล้มล้างไม่ใช่ปฏิรูป

(29 ม.ค. 67) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า (ep.2) เหตุใดคดีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่ถูกนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้น

ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึง 2 ครั้ง แต่ถูกประธานสภาฯ สั่งไม่ให้บรรจุวาระด้วยขัดรัฐธรรมนูญ ยังถูกขับเคลื่อนต่อในนโยบายพรรคและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

โดยหากพิจารณาในเนื้อหาที่ยกร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ยิ่งชัดเจนในการลดมาตรการในกฎหมายคุ้มครองพระประมุข ในเกือบทุกมาตราลงจนอาจต่ำกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปด้วยซ้ำ

สอดรับควบคู่กับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ขององค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว รวมถึงการอภิปรายในเวทีต่าง ๆ การใช้สิทธิ สส. ประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ฯลฯ

ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่สั่งการให้ผู้ถูกร้องและองค์กรเครือข่ายหยุดการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 นี้ อาจเป็นพยานหลักฐานอีกชิ้นสำคัญที่ถูกยื่นไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญ และมีน้ำหนักที่อาจทำให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล มีความสุ่มเสี่ยงในคดีเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสมชาย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ep.1 เหตุใดคดีที่พิธาและพรรคก้าวไกลที่ถูกนายธีรยุทธร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้นในก้าวต่อไป ดังนี้

1) คำร้องประกอบหลักฐานนั้นค่อนข้างแน่นหนา ในการชี้ให้เห็นถึงการกระทำต่าง ๆ ต่อเนื่องหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 สั่งห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ยังปรากฏการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายพรรค การเดินสายในเวทีหาเสียงต่างกรรมต่างวาระ การพูดอภิปรายในรัฐสภา การให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจถูกชี้ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรณี ที่ชัดเจนต่อสถาบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายความมั่นคงคุ้มครองพระประมุข

2) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่19/2564 ระบุถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ด้วย แต่ยังปรากฎการกระทำดังกล่าวโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา