Saturday, 12 October 2024
FAMILY

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นและเข้าใจอะไรกันบ้าง ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 3)

ความเดิมในตอนแรก คุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ (จาก BASE Playhouse) กล่าวว่า mindset สร้างได้ด้วยประสบการณ์ และหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ สำหรับคุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย (จาก Sharktank incube) คือความกล้า มาเตรียมพร้อมความแข็งแรงของหัวใจลูก สู่สนามโลกแห่งการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วค่ะ

ให้ลูกเรียนอะไรดีถึงจะเป็นผู้ประกอบการได้

คุณม๋ำ : การเรียนรู้ตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยแล้ว น้องแค่เข้าไปเซิร์ชในกูเกิ้ลก็มีความรู้ฟรี ๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด หลัก ๆ คือการ take action น้องได้ลงมือทำหรือเปล่า ต่อให้น้องเรียนขนาดไหน เคยเอาเงินของตัวเองออกมาลงทุนบ้างหรือเปล่า ถ้าได้ลงทุนด้วยตัวเอง mindset ก็จะเกิดความรู้สึกของการเป็นเจ้าของการลงทุนนั้น แล้วชีวิตเราขึ้นอยู่กับมัน ทุกการตัดสินใจของเรา จะมีเงินใช้หรือไม่มีก็อยู่ที่เรา

‘ถ้าเด็กได้ควักเงินตัวเองออกมา ในระหว่างทาง เขาจะหาวิธีเอาเองว่าทำยังไงให้ไม่เจ๊ง เด็กจะเซิร์ชวิธีแล้วลงมือทำเอง บทเรียนนี้จะ form skill set ขึ้นมา เด็กคนไหนเรียนรู้เร็วในวันที่ล้มได้ ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมก่อนออกสนามจริง’

เด็กไทยมีศักยภาพพอไหม

คุณม๋ำ : เด็กไทยมีศักยภาพ เด็กไทยเรามีจุดแข็งเป็นฐานคิด ผมว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่เขาเอามันออกมาจากหัวไม่ได้ เราเลยมองไม่เห็น ความไม่แฟร์ของโลกธุรกิจคือ ถ้าเราเอาสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาไม่เป็น มันไม่มีคุณค่าเลย ฉะนั้นทักษะที่ต้องฝึกคือ การสื่อสาร (communication) การนำเสนอ (pitching) หรือการขาย เช่น การพูดกับคนเยอะ ๆ กับการพูดกับคนรอบข้างให้เข้าใจ ในโลกธุรกิจ การพูดแค่นี้ก็ต้องฝึกฝนมหาศาล

เห็นในหลายประเทศเน้นให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม แต่เด็กไทยจะเก่งทำงานเดี่ยว เราจะทำได้ไหม

คุณม๋ำ : เป็นทักษะที่เรียกว่า collaboration หรือความร่วมมือกัน เด็กไทยมีทั้ง 2 กลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่ทำได้แบบสบายเลย กับที่ยังต้องฝึกฝน เด็กเหล่านี้อาจจะมีจุดแข็งที่มีความคิดที่ลึกกว่า อันนี้ต้องกลับไปที่ทักษะ communication ที่ยังเป็นความท้าทายเด็กไทยอยู่ ยังไงก็ต้องฝึก มันไม่มี shortcut การทำไม่ได้คือการฝึก ต้องให้ได้ทำ การได้ทำนั่นแหละคือการฝึก 

‘ให้พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่จุดด้อยอะไร จริง ๆ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ การทำความเข้าใจว่าลูกอาจไม่ถนัดด้านการสื่อสาร เพราะ personality type ของเด็กมีความหลากหลาย ให้มองว่าเด็กมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน’

คุณกันต์ : อันนี้ผมเห็นด้วย ที่กันต์จะเสริมคือตอนนี้โรงเรียนก็มีงานกลุ่มเยอะแล้วเหมือนกัน แต่ยังขาดการเสริมทักษะด้านบริหาร อาจารย์ยังสุ่มกลุ่ม และกำหนดวันส่งงานให้ ซึ่งแต่ละคนถนัดทำสิ่งที่ไม่เหมือนกัน อย่างด้าน people management การบริหารงานกลุ่ม เด็กบางคนทำได้เก่งมาก มีคนแบบนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงพ่อแม่ทุกคน

คุณกันต์ : อยากให้พ่อแม่ลองเปิดใจฟังไอเดียเด็ก ๆ ดู เขาอาจจะมีความคิดที่ดีอยู่แล้วที่เป็น deep thought และฝากดูแลตัวเองในช่วงโควิดด้วยนะครับ

คุณม๋ำ : อยากให้พ่อแม่ให้โอกาสเด็ก โลกยุคนี้โหดร้ายจริง ๆ แต่ขอให้เชื่อว่าเด็กแกร่งพอ พ่อแม่เราพร้อมอยู่เคียงข้างลูกอยู่แล้วถ้าเขาล้ม ให้เขาได้ทดสอบ ทดลองด้วยตัวเอง

ยังมีสาระดี ๆ เพื่อครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์ ให้ติดตามใน The States Times Family 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นและเข้าใจอะไรกันบ้าง ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว คุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO และ Co-founder BASE Playhouse และ คุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย Sharktank incube  แนะนำสิ่งที่ช่วยให้ลูกสร้าง mindset ของผู้ประกอบการในอนาคต ตอนนี้เรามาฟังทั้งสองคนกันต่อค่ะ

ครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเถ้าแก่ ลูกจะเป็นเถ้าแก่ในอนาคตไปเลยไหม

คุณม๋ำ : ไม่เกี่ยวซะทีเดียว แต่ก็มีชุดความคิดหรือ mindset ที่ถูกถ่ายทอดมาเองจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวที่เด็กโตมา ถ้าพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เห็นกระบวนการหรือสิ่งที่พ่อแม่ทำ หรือได้ยินสิ่งที่พูดคุยกันเกี่ยวกับธุรกิจบนโต๊ะกินข้าวเป็นประจำ องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดส่งต่อลูกก็เพิ่มโอกาสให้เด็กเข้าใจคอนเซ็ปต์ของผู้ประกอบการได้เช่นกัน

แล้วทำไมเด็กบางคนไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน

คุณม๋ำ : น่าจะเป็นที่มุมการศึกษา สร้าง norm หรือค่านิยม เหมือนไม้บรรทัดที่สังคมวัดให้ อย่างยุคผมนี่จบวิศวะต้องต่อบริหาร แต่มหาวิทยาลัยสมัยนี้เค้าดิสรัปท์แล้ว รูปแบบ mindset ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป ความเป็นเทรนด์ก็ค่อย ๆ ลดลง

คุณกันต์ : เราโตมากับการสอบเพื่อเข้าคณะเรียนที่ดี ที่สูงขึ้น พ่อแม่ยุคนี้ก็ยังภูมิใจถ้าลูกเป็นหมอ เป็นวิศวะ ตอนนี้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เด็กยุคนี้เข้าใจอาชีพเหล่านี้ อย่าง Tech Startup หรืออาชีพนักท่องเที่ยว

คุณม๋ำ : เทคโนโลยีดิจิทัล มาทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป เกิดอาชีพใหม่ และมาล้มล้าง fact เดิม ๆ ที่ว่าแค่หมอหรือวิศวะ มีคนที่ทำงาน Smart Farming มีอาชีพของคนที่ขับโดรนได้ เทคโนโลยีทำให้เกิดอาชีพใหม่ และมากระตุ้นการสร้างผู้ประกอบการ

Startup คืออะไรกันแน่

คุณม๋ำ : สตาร์ทอัพก็คือการสร้างธุรกิจที่เกิดใหม่ แต่ความแตกต่างคือ มีธุรกิจที่เป็น Tech Startup ที่ถูกผูกกับเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยปลดล็อคการสเกลธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ถามว่าสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูงมั้ย ความเสี่ยงสูง แต่พอสำเร็จ ก็สำเร็จจริงเหมือนกัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคาแรกเตอร์ที่เหมาะจะมาเป็น entrepreneur คนที่เหมาะต้องมีคาแรกเตอร์ที่มีความสุขได้บนความเสี่ยงนั้น คนที่ชอบความสบายใจที่มีเงินเติมมาในบัญชีทุกเดือน อาจจะไม่เหมาะ

คุณกันต์ : สตาร์ทอัพคือธุรกิจที่พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ถ้าให้กันต์ตอบคือมันไม่ง่าย ต้องเรียนรู้รอบด้าน ทำสตาร์ทอัพเหมือนไต่บันไดงู ขึ้นไปหน่อยเดี๋ยวก็ลงมา ลงแล้วก็ขึ้น แล้วเดี๋ยวก็ลงอีก

ถ้า mindset ได้แล้ว มีทักษะอะไรที่ต้องมีบ้าง

คุณม๋ำ : ทักษะของการลุกเป็น ล้มแล้วลุกเร็ว หรืออาจจะเรียกว่า resilience skill เป็นทักษะโดยทั่วไปพื้นฐานในการทำธุรกิจ อย่างทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านธุรกิจ ต้องรู้จักการลงทุน เข้าใจว่าคุ้มไม่คุ้มคืออะไร แม้ว่าจะขายน้ำส้มยันธุรกิจยูนิคอร์น ต้องตอบให้ได้ว่ามีของแล้วทำกำไรได้ยังไง อันนี้เป็นทักษะพื้นฐาน แล้วจะมีแตกทักษะตามสายงานอีก อย่างเช่น CEO คือคนที่มองภาพรวม สายการตลาด อยู่มุมธุรกิจ หรือสายเทค เป็น developer เขียนโค้ดไปเลย อยู่มุมกลยุทธ์ออกแบบโซลูชั่น หรือมุมดีไซน์ เราก็เพิ่มทักษะเฉพาะทางแล้วแต่ว่าจะอยู่ในมิติไหนก็วิ่งไปตามแทร็คนั้น

คุณกันต์ : ผมเสริมเรื่องการปรับตัว (Adaptability) เช่น กับลูกค้า เราเอาฟีดแบ็คของลูกค้ามาปรับใช้มั้ย รวมถึงประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำมาปรับใช้ด้วยมั้ย ผมว่าทักษะธุรกิจกับการตลาดในยุคนี้มันหาเพิ่มเติมได้

ติดตามความรู้การเตรียมพร้อม mindset ผู้ประกอบการให้แก่ลูกในตอนหน้า เป็นตอนสุดท้ายค่ะ 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นอย่างไร ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 1)

กระแสซี่รี่ส์เกาหลี Start up กระตุ้นหัวใจคนมีฝันหลายคนอยากจะลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง นอกจากซี่รี่ส์เรื่องนี้จะปลุกไฟในตัวแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจการเป็นผู้ประกอบการรูปแบบใหม่ในยุคดิสรัปชั่นมากขึ้นอีกด้วย

ในฝั่งประเทศไทย ธุรกิจแนว startup ก็เป็นที่จับตามองไม่น้อย เห็นอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเริ่มสนใจอยากให้ลูกมีคุณสมบัติผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 กันบ้าง วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จากคุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO และ Co-founder BASE Playhouse และ คุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย Sharktank incube มาแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ให้ฟังกันค่ะ

ถามก่อนเลย ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการมาก่อน อยากให้ลูกมีคุณสมบัติผู้ประกอบการ ควรส่งเสริมอะไร

คุณม๋ำ  : ความเป็น Entrepreneurship หรือคุณสมบัติของผู้ประกอบการ แบ่งองค์ประกอบออกเป็น 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ ความรู้ ความคิด mindset ความรู้คือสิ่งที่หาได้ ความคิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนทักษะด้าน mindset ถูกสร้างได้ด้วยประสบการณ์ ถ้าจะเปลี่ยน mindset ต้องสร้างประสบการณ์ขึ้นมาใหม่หรือการลงมือทำ สร้างสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งแวดล้อมผู้ประกอบการก็สามารถสร้างขึ้นในโรงเรียนได้

คุณกันต์ : ผมคิดว่าความกล้าสำคัญ หลายคนคิดแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ความเป็นผู้ประกอบการก็ไม่เกิด

การเลี้ยงดูยังไงที่จะบ่มเพาะจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ประกอบการ

คุณม่ำ : การเลี้ยงดูมีผลมาก เพราะ mindset มาจากประสบการณ์ ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ ย่อมส่งผลต่อชุดความคิดด้วย เช่น ถ้าลูกอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยมาก ถูกห้ามว่า ‘อย่า’ หรือ ‘ไม่’ เพื่อความปลอดภัย เด็กจะหยุดอยู่ในกรอบ สูญเสียศักยภาพนอกกรอบ เกิดเป็นชุดความคิดที่หลีกเลี่ยงความท้าทาย ถ้าท้าทายเด็กจะไม่ทำ แต่เด็กที่ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก จะได้เรียนรู้โดยไม่ต้องกลัวล้มเหลวเหมือนมี sandbox ที่พ่อแม่สร้างให้

คุณกันต์ : ผมเสริมอีกมุมหนึ่งแล้วกัน มีเด็กส่วนหนึ่ง ประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้จักการอดทน ไม่รู้จักคำว่ายังไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาด้วยเงิน เงินเป็นเหมือน cheat code ในโลกของเรา เช่น เด็กทำของหายก็ไม่หา ซื้อใหม่เลย ทั้ง ๆ ที่ถ้าหาอาจจะเจอก็ได้ ควรให้เด็กรู้ว่าการหาเงินนั้นมันไม่ง่าย โตมาเราต้องหาเงินนะ การที่เด็กไม่รู้ที่มาของเงินเป็นลูปที่ออกยากและกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ทำงานแล้ว ควรสอนให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่เอาเงินมาจากไหน สอนให้ลูกจัดการเงินเองได้ เข้าใจการลงทุนและการได้มาของเงินตั้งแต่เด็ก 

มีวิธีที่พ่อแม่ช่วยเรื่อง mindset และทักษะได้ยังไงบ้าง

คุณม่ำ บนพื้นฐานของคุณสมบัติผู้ประกอบการ มองเป็น 3 ข้อ

1.) ความเชื่อมั่น รับรู้ ศักยภาพขอตนเอง เรียกว่า self-efficacy คือรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร เก่งอะไร self-efficacy เป็นส่วนหนึ่งใน mindset ของ entrepreneurship อีกอย่างหนึ่งคือ growth mindset ที่จะเปลี่ยนจากสิ่งที่เก่งที่ถนัดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ จะขาดสิ่งนี้ไม่ได้

2.) Take Risk หรือการกล้าเสี่ยง สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการทำงานแบบ full-time และ entrepreneur คือการเล่นกับสภาวะความมั่นคงทางการเงิน การสร้างสิ่งใหม่ที่หาเงินได้นั้นมีความเสี่ยง take risk ก็เป็น mindset อย่างหนึ่งเหมือนกัน

3.) Opportunity Finding หรือ มุมมองของการเห็นโอกาส สังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มองเห็นเป็นโอกาสแล้วหยิบสิ่งรอบตัวมาหาเงินได้ อันนี้เป็นกึ่ง ๆ ทักษะ 

อันที่จริงมีมากกว่านี้แต่ 3 สิ่งนี้คือหลัก ๆ 

คุณกันต์ : ของทาง incubator ถ้าไม่รู้อายุ ก็มี 4 สิ่งที่ต้องมี

1.) Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ริเริ่ม ไม่รอให้ใครมาสร้างให้ สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเอง

2.) Try การลอง อาจจะเป็นการลองทำในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ลองไปเรื่อย ๆ ถ้ามันไม่เวิร์คก็หา solution หรือวิธีใหม่ การคิดอย่างเดียวไม่สามารถต่อยอดได้ ต้องลอง

3.) Impact เราอยากให้เกิดประโยชน์ขนาดไหน เกิดประโยชน์กับคนในซอยหมู่บ้าน หรืออยากทำให้ทำเงินได้จริง หรือสามารถพัฒนาชีวิตประจำวันของคนอื่นได้

4.) เติมความเป็น Entrepreneur การเป็นผู้ประกอบการเขาต้องรู้อะไรบ้าง มันมีเงินมาเกี่ยวข้อง แต่ก็อย่าให้เงินมาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของเราได้

ติดตามความรู้การเตรียมพร้อม mindset ผู้ประกอบการให้แก่ลูกกันต่อได้ ในตอนหน้าค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เมื่อการเล่น ‘เกมโกะ’ สามารถฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดี ย้อนไปดูประโยชน์ของเกมนี้ ที่ผู้บริหารระดับสูงยังต้องเล่นเพื่อฝึกสมอง

ว่ากันว่าต้นกำเนิดเกิดการละเล่น ‘โกะ’ แต่เดิมเลยนั้น มีขึ้นเพราะจักรพรรดิต้องการเปลี่ยนนิสัยลูกชายจอมเหลวไหลให้มีความขยัน รับผิดชอบขึ้นมาบ้าง และหลังจากนั้น โกะ ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นเกมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 - 4 พันปีก่อน ก่อนสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ไม่มากนัก หากนึกภาพตามไม่ออก ก็ให้นึกถึงฉากในนิยายสามก๊ก ในยามบ้านเมืองสงบพักจากการพุ่งรบ กลุ่มชนชั้นสูง ชั้นผู้บริหาร ว่างเว้นจากภารกิจคิดอยากหาเกมเล่นแก้เบื่อ จึงได้สั่งให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นในยุคราชวงศ์ฮั่น ออกแบบเกมที่ทำด้วยไม้กระดานขีดเส้นเป็นตาราง เหลาเม็ดเล็ก ๆ สีขาวและสีดำ ใช้เป็นหมากเดินเกมบนกระดาน ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจกัน แพร่หลายในชนชั้นผู้ปกครอง กติกานั้นก็แสนง่าย หัดเล่นเพียง 10 นาทีก็เล่นได้ แต่จะหัดให้เก่งได้นั้นต้องใช้เวลาทั้งชีวิต เรียกเกมนี้ว่า เหวยฉี รู้จักกันทั่วโลกในนาม โกะ หรือในภาษาไทยเรียกว่า หมากล้อม

ถ้าจะให้สาธยายประโยชน์ของการเล่นโกะนั้นแบ่งเป็น 10 ตอนก็เขียนไม่หมด หลักๆ คือ เพื่อลับวิธีคิด การวางกลยุทธการบริหาร ซึ่งผู้บริหารประเทศจีนทุกคนยังต้องเล่นเกมนี้ นักธุรกิจระดับต้นของบ้านเราก็นิยมเล่นโกะเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ไอน์สไตน์ก็เล่นเกมนี้กับเขาด้วย 

แนวคิดของการเล่นโกะ คือการอ่านหมากล่วงหน้า คือการมองไปให้ไกล ไม่ได้ต้องการรบราฆ่าฟันคู่ต่อสู้แต่อย่างใด การจะชนะนั้นแม้ชนะเพียงครึ่งแต้มก็นับว่าชนะแล้ว ฝึกให้เราเป็นคนไม่โลภ รอคอยได้ 

ความสนุกของเกมโกะมันอยู่ตรงนี้ค่ะ เมื่อฝ่ายเราขยายตัวใหญ่ขึ้น คู่ต่อสู้จะพยายามเข้ามาบุกลดทอนให้เราเล็กลง เกิดการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่บนกระดานด้วยการเดินหมาก ที่คนเปรียบเปรยว่า เป็นการสนทนาด้วยมือ เราจะได้อ่านใจอ่านแผนคู่ต่อสู้ว่าจะมาโจมตี หรือป้องกันจากการเดินหมากของคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันฝ่ายคู่ต่อสู้ก็อ่านใจเราอยู่เหมือนกัน โดยไม่ต้องอ่านปากถามกันเลยซักคำ

หากได้ลูกฝึกเล่นโกะตั้งแต่เด็ก นอกจากจะได้ลับความคิดแล้ว ยังได้ฝึกเรื่องของจิตใจและอารมณ์ด้วย ในระหว่างเล่นนั้น ต้องระวังอารมณ์อย่างมาก อารมณ์ส่งผลต่อการตัดสินใจให้เดินผิดพลาดได้ และเกมมีแพ้มีชนะอยู่ตลอด เด็กจะได้ฝึกการให้เกียรติกัน ต่างรู้ว่าเราและเขาพลาดกันตรงไหน เรียนรู้มารยาทของผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะจะแนะนำวิธีเล่นแก่ผู้แพ้ ผู้แพ้ก็ได้เรียนรู้วิธีคิดของคู่ต่อสู้ที่เก่งกาจกว่า เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพื่อพัฒนาต่อไปให้เก่งขึ้นได้ โกะไม่ได้วัดว่าใครเก่งกว่าใคร แต่วัดว่าใครผิดพลาดน้อยกว่ากัน

นายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิของไทย เคยกล่าวไว้ว่า การเล่นโกะช่วยเพิ่มไซแนปหรือกึ่งก้านสาขาในสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีและยังช่วยลดโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

สิ่งที่เด็กจะได้ฝึกอย่างมากจากการเล่นโกะ คือความสามารถในการเอาตัวรอด ซึ่งเป็นทักษะที่คนพูดถึงมากที่สุดทักษะหนึ่งในยุคนี้เลยก็กว่าได้ ในการเลือกตัดสินใจบนกระดานโกะเมื่อเจอปัญหานั้น มีอยู่ 3 ทางเลือก 1. ปีนข้ามไป 2. เดินอ้อมไป และ 3. เดินหนีไป 

ในการเล่นโกะ เด็กจะได้เจอจุดที่ต้องตัดสินใจตลอด ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตจริงของคนเรา หากเด็กเลือกเดินหนีไปตลอด เขาก็จะเลือกเดินหนีไปในชีวิตจริงเช่นกัน ดังนั้นการเล่นโกะเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดีทีเดียว

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจให้ลูกหัดเล่นโกะ มีตารางขนาด 9x9 ให้ฝึกก่อนเล่นตารางมาตรฐานได้ และถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้เล่นโกะกับลูกด้วยจะดีมากเลยค่ะ แต่ขอเตือนว่าฝึกซ้อมให้ดีนะคะ เกมนี้ดูถูกฝีมือเด็กไม่ได้เลยนะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รู้จักโกะ GO MASTER

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3310010885793282 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

ตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นและได้รับความนิยมในตอนนี้ คือ การปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ มาตรวจดูกันว่า ลูกของคุณเข้าข่ายสมาธิสั้นแล้วหรือยัง รวมทั้งวิธีป้องกันนั้นต้องทำอย่างไร

ในทศวรรษแห่ง Productivity ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ คนเป็นพ่อเป็นแม่ไหนจะต้องรักษาสุขภาพจิตสุขภาพกายแบ่งเวลาไปพัก และต้องเลี้ยงดูลูก ได้เจ้าแท็บเลตหรือสมาร์ทโฟนมาเป็นพี่เลี้ยงให้ซักพัก พอได้หายใจหายคอกันบ้าง ต้องอุทานเลยว่า แหม ดีจริง

เข้าใจครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน เมื่อหน้าจอมือถือหรือแท็บเลตมาแบ่งเบาเวลาดูแลลูกได้ดีขนาดนี้ ยื่นหน้าจอให้ปุ๊บ ลูกเรานั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาปั๊บ พอเมื่อไรเราต้องการสมาธิหรือเวลา พี่เลี้ยงไอแพดก็จัดให้ได้ กลายเป็นตัวเลือกหลักให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาเพิ่มมากขึ้น

คุณผู้อ่านที่รักรู้หรือไม่ การที่เด็กสามารถนั่งดูจอได้นานนั้น ไม่ได้แปลว่าเด็กมีสมาธิ การปล่อยลูกนั่งหน้าจอเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้นได้ และสมาธิสั้นในเด็กคือสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถในห้องเรียนของลูกด้วย

เอาแล้วสิ ลูกเราก็ชอบเล่นแท็บเลตซะด้วย หรือลูกเล่นไม่บ่อยแต่เราก็ให้ลูกเล่นบ้างเหมือนกัน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเรามีภาวะสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินอาการเบื้องต้นของเด็กได้ค่ะ โดยในตอนนี้เรานำข้อสังเกตอาการสมาธิสั้นเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ

อาการสมาธิสั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่ะ คือ กลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง (ADHD) และกลุ่มซนแต่นิ่ง (ADD)

มาดูกลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง หรือกลุ่ม ADHD กันก่อน ผู้ปกครองลองสังเกตอาการของเด็กดูได้ตามนี้ค่ะ

1.) เด็กทำอะไรได้ไม่นาน เช่น ทำการบ้าน หรือเล่นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไม่นาน จดจ่อได้ไม่นาน

2.) หุนหันพลันแล่น ไม่รอคอย อยากได้อะไรหยิบทันที แย่งทันที

3.) ฟังคำพูดไม่จบ พูดแทรก ทำตามคำสั่งไม่ครบ

4.) ทำของหายเป็นประจำ ถ้าเด็กทำยางลบ ทำดินสอสีหายบ้าง บางครั้งถือเป็นธรรมดาปกติของเด็กค่ะ แต่ถ้าหายบ่อยขนาดที่หายแทบจะทุกครั้ง อาจมาจากอาการสมาธิสั้นได้

5.) เด็กพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้สมาธิจดจ่อ ถึงแม้เมื่อเด็กลงมือทำแล้ว เด็กจะสามารถสะกดตัวเองได้ แต่จะพยายามเลี่ยงที่จะไม่ทำ ทั้งนี้ไม่นับการจดจ่อที่หน้าจอทีวี มือถือ หรือแท็บเลตนะคะ

อาการทั้ง 5 ข้อนี้ จะต้องสังเกตเห็นได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนนะคะ หากเกิดขึ้นเพียงที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นปัจจัยอื่น ไม่ได้มาจากภาวะสมาธิสั้นของตัวเด็กค่ะ

ส่วนสมาธิสั้นกลุ่มที่ซนแต่นิ่ง หรือกลุ่ม ADD จะสังเกตอาการได้ยากกว่ากลุ่มแรก หรือแทบดูไม่ออกเลย ต้องขอความร่วมมือจากคุณครูช่วยสังเกตให้ด้วย ดังนี้ค่ะ

1.) เด็กดูตั้งใจเรียนในห้องแต่ผลคะแนนกลับได้น้อย

2.) ชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง ในขณะเรียนในห้อง

3.) ชอบนอนเลื้อย นอนฟุบโต๊ะบ่อย อาการสมาธิสั้นมักพบกล้ามเนื้อหลังนิ่มร่วมด้วย เด็กจึงนั่งได้ไม่นาน

ระยะเวลามีสมาธิของเด็กที่ถือว่าปกติในแต่ละช่วงอายุ

วัยประถมต้น ปกติจะมีสมาธิประมาณ 15-30 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที วัย 2 ขวบหรือก่อนอนุบาล 3-5 นาที ส่วนเด็กเล็กกว่า 2 ขวบ มีสมาธิได้ 2 นาที ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะ

เมื่อสังเกตและประเมินแล้ว สงสัยว่าลูกเราอาจจะมีภาวะสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไรต่อ

อันดับแรกค่ะ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและยอมรับลูกก่อน ภาวะสมาธิสั้นเกิดจากสารในสมองทำงานผิดปกติหรือถูกกระตุ้นจากภายนอก ลูกไม่ได้ตั้งใจมีสมาธิสั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจตรงนี้ได้ ต่อไปก็ง่ายแล้วค่ะ ลำดับต่อไปเมื่อเราสังเกตและสังสัยว่าลูกอาจจะสมาธิสั้น ให้ไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดอีกครั้ง จึงจะฟันธงว่าเป็นสมาธิสั้นจริง

ในกระบวนการรักษานั้น ในช่วงแรกคุณหมอจะให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมของครอบครัวให้ช่วยพัฒนาสมาธิให้แก่ลูก ส่วนในการรักษาที่ต้องใช้ยาร่วมด้วยนั้น คือหลังจากที่ปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจเมื่อพบว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น การปรับพฤติกรรมก็สามารถทำให้เด็กหายขาดจากอาการสมาธิสั้นได้ค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ยังมีข้อสงสัย ลองเข้าไปทำแบบทดสอบเช็คความเสี่ยงสมาธิสั้นเบื้องต้นได้ โดยแอดไลน์ @MorOnline ค่ะ 

ยิ่งเราทราบเร็วและปรับแก้ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดีต่อลูกและคุณพ่อคุณแม่ หากเลยวัย 8 ขวบไปแล้ว การรักษาจะกินเวลายาวนานกว่าการรักษาในเด็กเล็กค่ะ

ส่วนวิธีป้องกันลูกรักจากภาวะสมาธิสั้นนั้น คือการให้เด็กได้เล่นซนตามธรรมชาติ ให้ลูกได้มีพื้นที่คลาน ปีนป่าย ได้วิ่ง เล่นน้ำ เตะบอล ให้ลูกได้สนุก หัวเราะเยอะ ๆ และที่สำคัญที่สุดและดีที่สุด คือให้ลูกได้มีเวลาเล่นสนุกไปกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ดีต่อลูกชวนคุย#16 ลูกเราสมาธิสั้นหรือเปล่านะ

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3278387462275390 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

นิสัยแห่งความมุ่งมั่น พยายามไม่ล้มเลิก จนนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นทักษะที่สำคัญและสร้างได้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ความหมายของ GRIT ศาสตร์ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มุ่งมั่นนำทางไปสู่ความสำเร็จ

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ใครเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้บ้างคะ

เชื่อว่า แต่ละคนอาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความหลากหลายของประสบการณ์ส่วนตัวผสมกับความเชื่อส่วนบุคคล และไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้หรือไม่ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความพยายามคือตัวแปรสำคัญของสมการความสำเร็จอย่างแน่นอน 

และแล้ว GRIT ผลลัพธ์จากการศึกษาพฤติกรรมสู่ความสำเร็จ ก็ได้มาไขคำตอบให้เรารู้ว่า สุภาษิตนี้ เกือบถูก รวมถึงยังเผยตัวแปรอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นกุญแจที่หล่นหายมาไขสมการความสำเร็จให้เราด้วย

GRIT คืออะไร

หากใครที่เป็นสายพัฒนาตนเอง (personal development) ต้องเคยผ่านตาหรือได้อ่านเกี่ยวกับ GRIT มาบ้าง และหลายคนก็อาจเข้าใจความหมายของ GRIT ว่า คือนิสัยแห่งความมุ่งมั่นพยายามไม่ล้มเลิกจนไปสู่ความสำเร็จ แต่แท้จริงแล้ว ความหมายคำว่า GRIT ของคุณ Angela Duckworth เจ้าของหนังสือ GRIT: The Power of Passion and Perseverance นั้น คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์

“GRIT คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์”

หากคุณพ่อคุณแม่เพียงต้องการให้ลูกมีความพยายามกับสิ่งที่เขาเองไม่ได้สนใจ เราเรียกสิ่งนั้นว่า ความถึก ลูกต้องใช้กำลังมาก ลูกจะเหนื่อยและท้อได้ง่าย แต่หากลูกสนใจสิ่งนั้น อยากทำได้ด้วยตัวเอง ลูกจะมีกำลังภายในที่อยากพิชิตเป้าหมายให้ได้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็เพียงส่งเสริม GRIT ของลูก และคอยตอบรับลูกในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความหมายของ GRIT แล้ว เราก็สามารถส่งเสริม GRIT ในลูกได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1.) ความสำเร็จของลูก ให้ลูกได้เลือกเอง

กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลูกสนใจและเลือกที่จะเริ่มทำมัน หากลูกขอเงินคุณพ่อคุณแม่ไปทำกิจกรรมใด ๆ แสดงว่าลูกมีความปรารถนาและเป้าหมายของเขาที่อยากจะทำสิ่งที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเพียงทำตามเทรนด์ แต่การได้ลองทำ ถือเป็นการทำความรู้จักกับความพยายามที่ดี ถึงแม้จะเป็นการเรียนเต้นคัฟเวอร์เกาหลีก็ตาม

2.) ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง

ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้างวินัย นั่นเอง โดยการตั้งกรอบเวลาของเป้าหมายย่อยนั้น และทำสะสมจนครบเป็นเป้าหมายใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกย่อยเป้าหมายเป็นรายวัน วันนี้จะทำอะไรให้สำเร็จ เดือนนี้ในวันที่เท่านี้จะทำอะไรให้ได้ จะเรียนคอร์สอะไรให้จบก่อนจึงค่อยเริ่มคอร์สต่อไป เป็นต้น

3.) เป้าหมายต้องชัดและท้าทาย

เป้าหมายที่ดีคือเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย ไม่ง่ายจนสบายเกินไป ไม่ยากเกินจนไม่เห็นหนทาง มีจุดชี้วัดความสำเร็จที่เข้าใจได้ทันทีว่า ถึงหรือยังไม่ถึงเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้เราไม่ล้มเลิกง่าย ๆ และเสริมด้วยการย่อยเป้าหมายตาม ข้อ 2 ช่วยให้เห็นความคืบหน้าด้วย

4.) เมื่อไรถึงจะฟีดแบ็คลูกได้ 

กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เด็กบางคนพัฒนาเร็วตั้งแต่ต้น เด็กบางคนอาจเป็นม้าตีนปลาย ช่วงเวลาที่จะฟีดแบคหรือประเมินผลกับลูกที่ดี คือเมื่อจบครบรอบของเป้าหมายนั้น เช่น จบคอร์สเรียน ครบเดือนที่กำหนด ครบวันที่ลูกเราตั้งเป้าหมายไว้ การฟีดแบ็คที่มีประสิทธิภาพคือการฟีดแบ็คที่ส่งเสริมให้ลูกไปต่อได้ และยิ่งเจาะจงเท่าไรยิ่งดี

5.) หากลูกล้มเลิกกลางคัน

หากลูกอยากล้มเลิกกลางคัน อับดับแรก เช็คก่อนเลยว่า สิ่งที่ลูกล้มเลิก ลูกเลือกทำเองและล้มเลิกเอง หรือคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำ การเลือกเองนั้นส่งผลต่อความพยายามของลูก ถ้าลูกเลือกเองและล้มเลิก สาเหตุมักมาจากการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน แล้วรู้สึกว่ายากไป ไม่สนุกแล้ว อยากชวนให้คุณพ่อคุณแม่ยื้อลูกไปอีกซักนิดให้จบครบรอบของเป้าหมาย และจะได้ฟีดแบ็คกัน ถ้าลูกไปต่อไม่ไหวจริง ๆ นั่นคือบทเรียนที่ดีของลูก ลูกได้เรียนรู้อะไรจากการล้มเลิกนี้ แล้วต่อไปลูกจะทำอย่างไร ชวนลูกสรุปบทเรียนไปเลยค่ะ

talent x effort = skill

skill x effort = achievement

สูตรความสำเร็จของคุณ Angela Duckworth นั้นประกอบด้วย สูตรแรก สิ่งที่ใจเราใฝ่กับความพยายามทุ่มเท สองสิ่งนี้รวมกันจะได้ ทักษะ และสูตรที่สอง ทักษะกับความพยายามทุ่มเทรวมกันจะได้ ความสำเร็จ จะเห็นว่าต้องใส่ความพยายามถึงสองครั้งจึงจะเกิดความสำเร็จ 

ทุกอย่างที่ลูกเรียนรู้ไป ล้มบ้าง เลิกบ้าง สำเร็จบ้างนั้น ไม่เสียเปล่า วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะ Connect the Dots ได้ เกิดเป็นทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และ passion นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ลูกเริ่มสนใจ แต่เกิดขึ้นเมื่อลูกมองหันกลับไปยังสิ่งที่ลูกได้ทำ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ พ่อแม่และครูส่งเสริม grit ในเด็กได้อย่างไร 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1671798873025624 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

แม้วิกฤติโรคระบาดจะยังไม่หายไป แต่นี่คือช่วงเวลาทองของคุณพ่อคุณแม่ ในการเสริมสร้าง พัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อย ลองมาจัดระเบียบการใช้บ้านเป็นที่ทำงานและ โรงเรียนออนไลน์ของลูกกันดีกว่า

คุณพ่อคุณแม่ต้องสูดยาดมลึกสุดถึงขั้วปอดอีกรอบ เมื่อโควิด-19 ระลอกสอง กลับมาทำให้หายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง และยังทำให้ที่บ้านกลายเป็นที่ทำงานและโรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน

หนักสุดคงหนีไม่พ้นบ้านที่ต้อง work from home และมีลูกวัยเล็กอย่างปฐมวัย แค่คิดว่าจะจับลูกใส่กระด้งเรียนออนไลน์ เส้นเลือดที่ขมับก็กระตุกแล้ว

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของพ่อแม่ที่มีลูกช่วงปฐมวัย เมื่อคุณแอมป์ เจ้าของเพจ ‘Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น’ แนะนำตรง ๆ ว่า “การเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัยน่ะไม่เวิร์ค” 

คุณแอมป์บอกว่า การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยคือการสร้าง EF ซึ่งเกิดจากการได้เล่น ได้จับ ได้ลงมือทำ ฉะนั้นการนั่งเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอไม่ได้ทำให้เด็กวัยนี้เกิดพัฒนาการ หรือพูดอีกอย่างก็คือ การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไร้ประโยชน์

อยากให้คุณพ่อแม่ที่มีลูกปฐมวัย สูดยาดมลึก ๆ อีกรอบ เปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วเล็งเห็นโอกาสในวิกฤต นี่คือช่วงเวลาทองของการเสริมสร้างพัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เป็นบุคคลคุณภาพที่รักคุณมาก และยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคุณครูหรือโรงเรียนมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้รับทราบว่าลูกเราเรียนอะไร หลักสูตรเป็นยังไง ครูสอนอะไรจากที่โรงเรียน เพียงแค่เรารู้วิธีการจัดการกับสถานการณ์นี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูก ซึ่งคุณแอมป์ได้แนะแนวทางปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านที่มีลูกปฐมวัยเรียนออนไลน์และผู้ใหญ่ต้อง work from home ดังนี้

1.) การจัดตารางเวลาให้เหมือนที่เด็กคุ้นเคย

จัดตารางชีวิตประจำวันของเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ให้ตรงกับตารางเวลาปกติเหมือนยังไปโรงเรียน  เพื่อลดภาวะต้องปรับตัวของเด็ก ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและง่ายที่จะเข้าใจต่อผู้ปกครองด้วย

2.) แบ่งโซนทำงานกับโซนเล่นของลูก 

เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะแบ่งโซนทำงานและโซนเล่นของลูก แต่อย่างน้อยให้ลูกได้รับรู้โซนของตัวเอง และที่สำคัญ ลูกต้องเล่นอยู่ในระยะสายตาของผู้ปกครองด้วย

3.) สร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้เล่น

ในเมื่อการเรียนออนไลน์นั้นไม่เหมาะกับปฐมวัย เราสามารถสร้างรูปแบบการเล่นเพื่อการเรียนรู้ให้ลูกได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ

  • การเล่นอิสระ คือเด็กสามารถเล่นได้ด้วยตนเอง เป็นการเล่นที่ง่ายสุดและเสริมสร้างลูกน้อยได้ดี เช่น การเล่นทราย เล่นดินน้ำมัน ตัวต่อเลโก้ โดยไม่ต้องบอกให้ลูกสร้างหรือปั้นเป็นตัวอะไรเพื่อให้ลูกได้เล่นใช้จินตนาการเสริมสร้าง EF อย่างเต็มที่ และลูกยังได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วย
  • การเล่นที่พ่อแม่จัดหาให้ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไปหาวิธีเล่นกับลูกจากแหล่งต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต อย่างนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกไปด้วย

หากคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่พร้อมจะเล่นกับลูกจริง ๆ คุณแอมป์เข้าใจตรงจุดนี้และได้แนะนำวิธีจัดการที่ง่ายที่สุด คือ Plan Do Review คือการวางแผน ทำ และสะท้อน โดยกำหนดสิ่งที่ลูกจะเล่น ระยะเวลา และมาสะท้อนว่าลูกเล่นแล้วได้อะไร แล้วเริ่มเล่นสิ่งต่อไปเป็นรอบ โดยใช้การวางแผน ทำ และสะท้อนเหมือนเดิม เช่น กำหนดให้ลูกเล่นปั้นดินน้ำมัน 1 ชั่วโมง เมื่อปล่อยให้ลูกเล่นครบกำหนดแล้ว เราก็ไปถามลูกว่าเล่นแล้วเป็นยังไง สนุกไหม ได้ทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นกำหนดเวลาอีก 1 ชั่วโมงให้ลูกเล่นระบายสี ครบ 1 ชั่วโมงเราก็เข้าไปถามเพื่อสะท้อนอีกครั้ง โดยทั้งหมดนี้ลูกอยู่ในสายตาเราตลอด

หากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห่วงว่าลูกจะอ่านเขียนไม่ทันเพื่อน อยากให้ใจเย็น ๆ เด็กจะอ่านเขียนได้เมื่อเข้าประถมหรือตามพัฒนาการ เขียนได้ช้าไม่ใช่เขียนไม่ได้ ปูพื้นกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกจับดินสอแน่น ๆ ด้วยการเล่นดีกว่า เมื่อลูกพร้อม อ่านเขียนสำหรับลูกนั้นไม่ยากเลย

คุณแอมป์แนะนำอีกว่า เด็กวัย 6 - 10 ปีควรอยู่ที่หน้าจอได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน วัย 2-5 ปีไม่เกิน 1 ชั่วโมง และเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบครึ่งหรือ 18 เดือน ไม่ควรอยู่หน้าจอเลย

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง หากผู้ใหญ่มีความเครียดเกิดขึ้น การปลดปล่อยความเครียดนั้นไม่ผิด แต่ควรพยายามไม่แสดงอาการรุนแรงให้ลูกเห็นต่อหน้า ความรุนแรงส่งผลต่อภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกายลูก ลูกคือคนที่เรารักและเราอยากเห็นเขาพัฒนาอารมณ์ให้ดีที่สุด ผู้ใหญ่ควรหาที่ปลดปล่อยอารมณ์ให้ไกลสายตาเด็ก 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก 

หัวข้อ ลูกปฐมวัย เล่น เรียนรู้ อย่างไรดี ในยุค COVID

https://www.facebook.com/watch/live/?v=210791220708868&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เผยวิธีการ ‘โค้ชชิ่ง’ ให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ตุ๊บ!! เสียงมาจากทิศที่ลูกเราเล่นอยู่ ลูกเราล้ม เพียงเสี้ยววินาที แววตาลูกน้อยพุ่งมาหาแม่ทันที หนูจะร้องหรือหนูจะลุกดี หนูต้องทำยังไง

สำนึกแรกของแม่อยากจะวิ่งไปประคองลูกใจจะขาด แต่แม่กัดฟันยิ้มอย่างสดใส แล้วพูดออกไปว่า “หนูลุกได้มั้ยลูก”

ถ้าศักยภาพของนักกีฬา ถูกดึงออกมาด้วยมือของโค้ช ศักยภาพของลูกก็ต้องถูกดึงออกมาด้วยมือของพ่อและแม่ นักกีฬาเก่ง ๆ ที่ขาดโค้ชที่ดี ยากที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายหรือชัยชนะ ลูกของเราก็เช่นกัน วันนี้จะมาชวนคุยเรื่อง การโค้ชลูกกันค่ะ

ศาสตร์การโค้ช หรือ โค้ชชิ่ง เริ่มต้นมาจากอุตสาหกรรมกีฬานี่แหละค่ะ จุดมุ่งหมายของโค้ชนักกีฬานั้น คือการดึงศักยภาพของนักกีฬาออกมาใช้ได้สูงสุดและเหมาะสม ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งต่อมาศาสตร์การโค้ชถูกนำไปใช้ในวงการอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงศาสตร์การเลี้ยงลูก หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า Parenting

จำเป็นไหมที่ต้อง ‘โค้ชลูก’ เรามาลองอ่านประโยคนี้ดูค่ะ

“จุดมุ่งหมายของพ่อแม่นั้น คือการดึงศักยภาพของลูกของมาใช้ได้สูงสุดและเหมาะสม ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จ”

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นด้วยกับประโยคนี้แล้วล่ะก็ มาเป็นโค้ชให้ลูกของเรากันดีกว่า อันที่จริง คุณพ่อคุณแม่โค้ชให้ลูกกันอยู่แล้วตามสไตล์ของเราเอง แต่มันมีกลเม็ดเทคนิคที่โค้ชมืออาชีพเขาใช้กัน การเป็นโค้ชให้ลูกนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงมีความตั้งใจ และมีวินัยในการปฏิบัติค่ะ

มีศาสตร์การโค้ชศาสตร์หนึ่งที่นิยมนำมาโค้ชลูก เรียกว่า NLP 

NLP ย่อมาจาก Neuro Linguistic Programming เป็นศาสตร์ที่ศึกษาภาษาสมองและสร้างกลยุทธ์ทางภาษา เพื่อนำพาบุคคลนั้นไปถึงเป้าหมาย ตัวอย่างศาสตร์ NLP ที่ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงลูก เช่น NLP พบว่า การใช้คำว่า “ไม่” หรือ “อย่า” ในการสอน มักจะไม่ได้ผลและอาจจะได้ผลตรงข้าม ไม่เชื่อลองดูนะคะ “อย่านึกถึงหมูอ้วนสีชมพูผูกโบว์สีแดง” สมองคุณเห็นอะไรคะ หมูผูกโบว์ลอยมาเลยหรือเปล่า

มาดูเทคนิคการโค้ชลูกอย่างง่าย ที่เริ่มทำได้ทันทีกันค่ะ

เล่านิทานก่อนนอน 

ช่วงก่อนเข้านอนเป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับเด็ก เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่สมองของลูกจะซึมซับข้อมูล เพราะช่วงก่อนนอนเป็นช่วงที่คลื่นสมองมีความถี่ต่ำ ลูกจะรับข้อมูลทันที หรือพูดอีกอย่างคือเป็นช่วงโปรแกรมสมอง การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นประจำก่อนนอนนั้น คือช่วงเวลาสอนเด็กที่เกิดประสิทธิภาพที่สุด คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกรู้อะไร หรือบอกรักลูก ให้คุยกับลูกก่อนนอนจะได้ผลดีค่ะ

คุยกับลูกหน้ากระจก 

นึกถึงฉากในหนังเวลาคุณแม่นั่งหวีผมหรือแต่งตัวให้ลูกหน้ากระจก และเปลี่ยนบทพูดเป็นคำพูดอวยพร เช่น วันนี้จะต้องมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับลูกอย่างแน่นอน วันนี้ต้องมีอะไรสนุกที่โรงเรียนแน่นอน ใส่ชุดความคิดที่ดีต่อลูกหน้ากระจก ลูกก็จะตามหาสิ่งดี ๆ เหล่านั้นที่เราได้บอกเขาไปค่ะ

เขียนจดหมายคุยกับคุณครู

คุณครูทำหน้าที่ดูแลลูกของเราที่โรงเรียนอย่างเต็มที่ แต่คุณครูต้องดูแลลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่คนอื่นอีกหลายคนพร้อม ๆ กัน คนที่รู้จักลูกของเรามากที่สุดก็ต้องเป็นเราอยู่แล้วใช่ไหมคะ เราสามารถช่วยให้คุณครูดูแลลูกเราได้ดียิ่งขึ้นโดยการสื่อสารกับคุณครูผ่านการเขียนจดหมายแนะนำไปเลยว่า “คุณครู ลูกเราเป็นคนขี้อายนะ ลูกเรารู้คำตอบแต่ไม่ชอบยกมือ คุณครูช่วยเรียกชื่อน้องให้ตอบหน่อยนะคะ” ถามไถ่ครูว่าลูกเราอยู่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง สื่อสารกับคุณครูเพื่อที่คุณครูจะเข้าใจบุคลิกนิสัยของลูกเรามากขึ้น ทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูได้ร่วมมือกันติดตามและปฏิบัติต่อลูกเราได้อย่างเหมาะสม

ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างลูกให้เติบโตเป็นเด็กที่มีอนาคตสดใสและมีความสุขได้ ติดตามบทความจากเรา ใน The States Times Family เราจะนำเทคนิคการเลี้ยงดูลูกอีกเพียบ ความรู้ใหม่ๆ อีกพรึ้บ คุณพ่อคุณแม่ได้ติดอาวุธลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีความสุขกันอย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ติดอาวุธให้พ่อแม่กับแม่เก่ง 

Link https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/?ref=page_internal

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เทคนิคสร้างให้ลูกวัยเยาว์มีวิธีคิดอย่างมีระบบ (ตอน2)

บทที่แล้วเราได้เรียนรู้การวาด Mind mapping กับลูกวัย 4-6 ขวบ (โตกว่านี้ก็ยังใช้ได้ดีค่ะ) วันนี้ขอเล็กลงไปอีก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยขวบครึ่งถึง 3 ขวบ โอ้โห เล็กขนาดนี้ก็เริ่มเรียนรู้ได้ มาเสริมสร้างระบบคิดและจินตนาการของลูกกันค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งเข้ามาอ่าน สามารถกลับไปทบทวนว่า Mind mapping คืออะไรกันก่อนได้ในในเว็บไซต์ตอนที่แล้วค่ะ

ลูกเราสร้าง Mind mapping ได้หรือยังนะ? 

ถ้าลูกแบ่ง 2 สิ่งได้ ก็เริ่มสร้าง Mind mapping ได้ เช่น ไดโนเสาร์ใจดี ไดโนเสาร์ใจร้าย ลูกสามารถแบ่งได้ก็เพียงพอค่ะ ไม่มีถูกผิด ถึงลูกยังวาดรูปไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ

1.) ขึ้นโครงให้ลูก วาดหัวข้อและลากเส้นเชื่อมโยง อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มหรือประเภทต่าง ๆ ให้ลูกเติมเอง

2.) ใช้การ์ด สติ๊กเกอร์ แม็กเนต หรือของเล่นต่าง ๆ ได้ แทนการวาดรูป 

เพียงเท่านี้ ลูกก็สามารถฝึกฝนการคิดเป็นระบบและสร้างจินตนาการด้วยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่เพียงเล็กน้อย แต่ผลที่เกิดกับลูกนั้น ส่งถึงกระบวนการเรียนรู้ต่อยอดไปเมื่อลูกโตขึ้น หัวใจสำคัญของ Mind mapping ในวัยนี้ คือจินตนาการและความร่วมมือกัน ไม่มีถูกผิด เมื่อลูกคิดต่าง ชื่นชมและชวนถาม การชมลูกทำให้เขาร่วมมือกับคุณพ่อคุณแม่ เป็นทีมเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่คนไหนไม่ค่อยได้ชมลูก ลองชมลูกเยอะ ๆ ค่ะ อยากให้ทำอะไรก็ชมก่อนเลยค่ะ ลูกเป็นงานเป็นการขึ้นมาเลยค่ะ

เสริมสร้างกิจกรรมของครอบครัวใหญ่ต่างวัย

Mind mapping สำหรับเด็กเล็กยังช่วยส่งเสริมกิจกรรมในครอบครัว หากบ้านไหนมีปู่ ย่า ตา ยาย อาม่า อากง มาช่วยหลานสร้าง Mind mapping ได้ด้วยการ์ด แม็กเนต สติ๊กเกอร์ หรือของที่แทนความหมายได้ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปหรือเขียนใด ๆ ก็ทำให้ได้รู้จักบุคลิกของลูกมากขึ้น และสร้างความใกล้ชิดในครอบครัวค่ะ

ต่อยอดทักษะ

หลังจากได้ Mind mapping ที่ร่วมสร้างกับอาม่า อากงแล้ว ลูกสามารถต่อยอดทักษะได้ด้วยการให้ลูกเล่า Mind mapping ให้ทุกคนฟัง คุณพ่อคุณแม่อาจจะถามให้ลูกตอบ เป็นการฝึกทักษะการนำเสนอ เสริมสร้างความมั่นใจและการสื่อสารได้อีกทาง เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มากเลยค่ะ

ทบทวนรวดเร็ว ลูกจำได้

Mind mapping ไม่ใช่เพียงเสริมสร้างระบบการคิดและจินตนาการ แต่ยังช่วยในเรื่องของการทบทวนเนื้อหา การกลับมาดูซ้ำนั้น ใช้เวลาน้อยมาก แถมยังจำได้ดีด้วย ประโยชน์เหลือล้ำจริงๆ

ไม่ต้องเร่งรัดลูกให้อ่านออกเขียนได้ ลูกก็สามารถฝึกการคิดเพื่อการเรียนรู้ได้แม้ในวัยเล็ก ลองนำไปปฏิบัติใช้จริงเท่านั้นจึงจะเกิดผลลัพธ์ การใช้ Mind mapping ในการเรียนรู้ ยังช่วยให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ลูกได้ฝึกพัฒนาการที่สะสมไว้ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเครียดอีกต่อไปค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเร่งรัด ลูกก็จัดระเบียบความคิดได้

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2774800096137009

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เทคนิคสร้างให้ลูกวัยเติบโตมีวิธีคิดอย่างมีระบบ (ตอน1)

ความสำเร็จของลูกในอนาคตเป็นความคาดหวังสำคัญของคุณพ่อคุณแม่ และเป็นความคาดหวังที่กดดันมิใช่น้อยเลยทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่เองและตัวลูก หากเร่งรัดให้เด็ก ๆ อ่านเขียนเพื่อที่ลูกจะได้เก่งการเรียนรู้ หรือสอนลูกอ่านเขียนตั้งแต่วัยอนุบาล อาจไม่ตรงกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก และอาจเกิดผลเสียต่อลูกมากกว่าผลดีก็ได้นะคะ 

แล้วอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่จะทำยังไงให้ลูกเรียนรู้เก่งโดยไม่ต้องอ่านออกเขียนได้ล่ะ มีวิธีค่ะ วันนี้เราจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่ ลูก และทุกคนในครอบครัวมาคิดเก่ง เรียนรู้เก่งกันทั้งบ้านโดยไม่ต้องอ่านออกเขียนได้ค่ะ และวิธีนั้นก็คือ Mind mapping นั่นเอง

Mind mapping เกิดมาจากการแกะรูปแบบการบันทึกความคิดของอัจฉริยะหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก  เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี นักวิทยาศาสตร์และศิลปินก้องโลก หรือ โทมัส อันวา อดิสัน นักธุรกิจและผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ ถ้าเราได้เห็นสมุดโน้ตของทั้งสอง จะเห็นว่าเต็มไปด้วยรูปภาพ เส้นเชื่อมโยงไปมา มีตัวหนังสือกระจายเป็นกลุ่ม ๆ ทั่วหน้ากระดาษ ไม่ได้เป็นระเบียบตัวบรรจงเต็มบรรทัดแต่อย่างใด

Mind mapping เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก หากใครได้คอยลองเขียนด้วยตัวเองแล้วจะทราบดีค่ะ เหมาะกับนำมาสร้างกิจกรรมระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นเครื่องมือในการสอนลูก จัดระบบความคิดและจินตนาการให้ลูกตั้งแต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลยค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่คุ้นเคย Mind mapping

การวาด mind mapping อย่างง่าย ๆ ก็คือ วาดรูปหัวข้อที่เราจะชวนคิดกันกลางกระดาษเปล่า หัวข้อนี้เกี่ยวกับอะไรบ้าง แบ่งเป็นอะไรได้บ้าง วาดหรือเขียนไว้รอบ ๆ แล้วลากเส้นเชื่อมกับหัวข้อตรงกลาง ต่อมาก็มาดูเรื่องที่เราแบ่งออกมาว่าเกี่ยวข้องอะไร แบ่งเป็นอะไรไปได้อีก ทำซ้ำเหมือนหัวข้อใหญ่กับเรื่องที่แบ่งมาไปเรื่อย ๆ จะทำเท่าไรก็ได้ วาดรูปประกอบยิ่งดี แล้วแต่จินตนาการเลยค่ะ

หัวใจสำคัญของ Mind mapping สำหรับลูก 4-6 ขวบ

หากลูกของคุณอยู่ในช่วงเตรียมเข้าประถม หรือ 4-6 ขวบ ลูกอาจจะยังจับดินสอไม่เก่ง ฉะนั้น Mind mapping ของวัยนี้ไม่ต้องเน้นสวยค่ะ ให้ลูกได้ฝึกจับดินสอระบายสีไปค่ะ ‘หัวใจสำคัญคือจินตนาการและการเชื่อมโยง’ เน้นที่การร่วมมือกันกับคุณพ่อหรือคุณแม่ ส่วนหัวข้อ ก็นำเรื่องง่าย ๆ ที่ลูกรู้จักคุ้นเคย หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกและสามารถนำมาวาดได้ หากนึกไม่ออก ลองเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น การแปรงฟัน การเก็บของเล่น การกินขนมบนที่นอน หรือหากลูกทำจานแตก ก็นำมาวาด Mind mapping ได้ เช่นว่า ทำไมจานถึงแตก จานแตกแล้วเกิดอะไร ถ้าจานไม่แตกจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้จานแตก ชวนลูกตอบถาม สร้างบทสนนนนนาระหว่างวาดไปด้วยแบบสบาย ๆ ค่ะ

หากลูกคิดต่าง ชื่นชมและชวนถาม

Mind mapping นี้เป็นการบันทึกความคิดจินตนาการของลูกเรา ไม่มีถูกผิดค่ะ หากลูกคิดต่าง วิธีการสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ ชื่นชมและชวนถาม “ดีมากค่ะ/ครับ ทำไมลูกคิดว่าอย่างนั้นล่ะ” เช่น หากเราคุยกันว่า น้องหมาเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยง ลูกอาจจะตอบว่าสัตว์ป่า คุณพ่อคุณแม่ก็ทำการชื่นชมและชวนถามเลยค่ะ ไม่มีถูกผิด ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่นึกถึงน้องหมาข้างบ้าน ลูกอาจจะมีภาพจำน้องหมากับเมาคลีล่าสัตว์ก็ได้

เข้าใจ เห็นถึงข้างในใจลูก ด้วย Mind mapping

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจทราบประโยชน์ของ Mind mapping อยู่แล้ว แต่มีประโยชน์หนึ่งที่เราไม่คาดคิดเมื่อนำมาเล่นกับลูก คือ ทำให้พ่อแม่รู้จักบุคลิกของลูกอย่างมาก ว่าลูกเราคิดอย่างนี้นะ ลูกเข้าใจแบบนี้นะ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะคะ สมมุติว่าเราวาด Mind mapping หัวข้อปาร์ตี้ ลูกนึกถึงอะไรในปาร์ตี้ เด็กบางคนอาจจะนึกถึงอาหาร  ขนมเค้ก เด็กบางคนอาจจะนึกถึงเกม ของเล่น บางคนอาจจะนึกถึงของขวัญ หรือนึกถึงของตกแต่งงาน เด็ก ๆ แต่ละคนมีความคิด ความสนใจ และจินตนาการที่แตกต่างไม่ซ้ำกันเลย คุณพ่อคุณแม่ก็จะเข้าใจโลกของลูกมากขึ้นจากการสร้าง Mind mapping ร่วมกัน ช่วยให้เราสามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วยค่ะ

ลูกยังเล็ก ใช้ Mind mapping ได้มั้ย

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังเล็กแต่ตื่นเต้นอยากนำ Mind mapping ไปเล่นกับลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้เร็ว คิดเก่งบ้าง ทำได้ไหม ทำได้ค่ะ บทต่อไปเราจะมาชวนสร้าง Mind mapping สำหรับลูกขวบครึ่งถึง 4 ขวบกันค่ะ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ลูก 4 ขวบแล้ว ลองนำ Mind mapping ไปเล่นกับลูกดูนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเร่งรัด ลูกก็จัดระเบียบความคิดได้

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2774800096137009

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top