Sunday, 13 October 2024
FAMILY

ช่วงที่เด็กตัดสินใจว่าเค้ามีค่าหรือไม่มีค่า คือช่วงก่อนเข้าวัย 3 ขวบ อะไรคือความหมายของคำว่า Self-esteem แนะวิธีการเสริมสร้าง Self-esteem ให้ลูก

ในทฤษฎีของ Erikson บิดาแห่งทฤษฎีจิตสังคม กล่าวว่าช่วง 2 - 3 ขวบ คือช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเองหรือสงสัยไม่แน่ใจตนเอง (Autonomous vs Shame and Doubt) เป็นช่วงเวลาสำคัญว่าเค้าจะเลือกเป็นคนมีค่าหรือไม่มีค่า คู่ควรหรือไม่คู่ควรต่อสิ่งดี หากเด็กถูกปล่อยผ่านช่วงเวลาแห่งการเล็งเห็นคุณค่าในตนเองไปแล้ว การจะกลับมาสร้างคุณค่าให้เค้าใหม่ยังพอทำได้ แต่จะใช้เวลาถึง 3 ปี ในขณะที่การสร้างในช่วงก่อนวัย 3 ขวบ ใช้เวลาเพียง 3 - 5 เดือน

Self-esteem สำคัญอย่างไร อะไรคือความหมายของคำว่า Self-esteem

ลองสังเกตกับตัวเราเองดูค่ะ คุณเคยมีช่วงเวลาที่คุณคิดกับตัวเองว่าคุณไม่น่าจะทำสิ่งนี้ได้ คุณไม่น่าจะมีความสามารถพอ จึงเลือกที่จะไม่ทำมันดีกว่า ซึ่งสิ่งที่คุณอยากจะลงมือทำแต่เลือกจะไม่ทำนั้นยังไม่ทันได้เกิดขึ้น และคุณก็อาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ก็ได้ และก็ยังไม่ได้ลอง อาการนี้ หากเกิดขึ้นกับเรื่องที่ยากมากจริง ๆ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเราไปตัดสินตัวเองกับเรื่องที่พอมีโอกาสจะสำเร็จ เป็นไปได้อยู่ว่าไม่น่าจะทำได้ ไม่ทำดีกว่า และสงสัยตัวเองแบบนี้อยู่บ่อย ๆ อาจเข้าข่ายขาด Self-esteem ได้

คุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูว่า ถ้าเราสงสัยในตัวเองตั้งแต่เด็ก คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอ คิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับสิ่งดี เค้าจะไม่กล้าทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เก่งอะไร อยากพัฒนาตัวเองด้านไหน และจะแสดงออกชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงวัยรุ่น เด็กจะรู้สึกไม่มีตัวตน แล้วเอาคุณค่าไปฝากไว้ที่ เพื่อน สิ่งของ หรือคำตัดสินของคนอื่น และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า มาเริ่มสร้าง Self-esteem ให้ลูกรักของเรากันเลยค่ะ

วิธีการเสริมสร้าง Self-esteem ให้ลูก

เด็กวัยก่อน 3 ขวบ จะเรียนรู้ถูกผิดจากการชมและการทำโทษ คุณพ่อคุณแม่สามารถสะท้อนหรือตอบสนองต่อความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกได้โดยการกล่าวคำชม ทำท่าดีใจสีหน้าพอใจเมื่อลูกทำดีได้ หรือหากลูกกำลังทำผิด เตือนเค้าได้ หรือถ้าเป็นการเล่นที่ปลอดภัย ปล่อยให้เค้าลองเรียนรู้จนเค้าค้นพบไปเองว่ามันไม่ดี

อยากให้คุณพ่อคุณแม่เน้นที่การชื่นชมมากกว่าการห้ามปราม เพราะลูกเราจะเชื่อในสิ่งที่พ่อแม่คิดกับเค้า พ่อแม่คิดกับลูกอย่างไร ลูกจะเป็นอย่างนั้น คำพูดและการกระทำของพ่อแม่สะท้อนมาจากความเชื่อที่พ่อแม่มีต่อลูก หากเราอยากสร้าง self-esteem ให้ลูก เราก็ควรเชื่อมั่นในตัวลูก พูดให้กำลังใจชื่นชมลูก คำพูดและการกระทำของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นสำคัญที่สุด

อีกเครื่องมือหนึ่งที่จะเสริมสร้าง Self-esteem ให้ลูกได้ คือการให้ลูกหัดตั้งเป้าหมาย วันนี้จะทำอะไร และจะทำให้เสร็จตอนไหน ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าด้วย ส่วนเราเคยสนับสนุนให้เค้าทำจนสำเร็จ การให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าลูกจะได้ฝึก Self-control ฝึกความมีวินัยในตนเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ เด็กจะได้ฝึกและเรียนรู้ว่า แม้เค้าจะไม่อยากทำแต่เพื่อไปถึงเป้าหมายเค้าต้องบังคับตัวเองให้ลงมือทำได้ด้วยตัวของเค้าเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ อยากให้ลูกมีชีวิตที่มั่นคง พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูกมี Soft Skills กับครูพี่หญิงฝาย โรงเรียนคู่ขนาน

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3651437871537025

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

ความกล้าแสดงออก คุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก เปิดเทคนิคเปลี่ยนจากลูกขี้อาย เป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้ โดยไม่บังคับลูก

คุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเด็กเหมือนผ้าขาว และเมื่อเด็กลืมตาดูโลกและโตขึ้น จะถูกเติมแต้มสีลงไปในผ้าหรือไม่ หรือเชื่อว่าเด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับสีติดบนผืนผ้ามาแล้ว ครูพีช เจ้าของเพจ ครูพีช ที่ปรึกษาครอบครัว - Family Consultant เชื่อว่า เด็กคือผ้าสีพื้นที่มีหลายเฉด ผ้าที่พร้อมจะถูกเติมแต้มสีต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน วิธีส่งเสริมเด็กแต่ละเฉดก็ต่างกันตามสีพื้นของเค้า

หนึ่งในคุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก ก็คือความกล้าแสดงออก เพราะเป็นคุณสมบัติที่สนับสนุนอนาคตของลูก หากคุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริมให้เด็กที่มีเฉดสีไม่เท่ากันกล้าแสดงออก อาจต้องใช้วิธีต่างกัน ดังนั้น บทนี้เราได้นำเทคนิคของครูพีช ในการแสดงออกต่อลูกอย่างไรให้สามารถเปลี่ยนจากลูกขี้อายเป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้โดยไม่ไปบังคับลูกมาฝากกันค่ะ

ครูพีชแบ่งเด็กออกเป็น 3 แบบค่ะ คือ

1.) Easy Child

2.) Slow to Warm up

3.) Difficult Child

Easy Child เป็นแบบที่เข้ากับคนเร็ว เปิดเผย เด็กแบบนี้จะไม่มีปัญหาในเรื่องกล้าแสดงออก เด็กแบบนี้จะง่ายกว่าแบบอื่นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่จำเป็นต้องฝึกลูกให้กล้าแสดงออก

Slow to Warm up เป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย เมื่อเค้าเปิดใจแล้ว เค้าคือเด็กที่กล้าแสดงออกคนหนึ่ง เพียงต้องให้เวลาเค้าเรียนรู้หรือฝึกซ้อมให้คุ้นชิน อย่าเพิ่งไปเร่งเค้า การเร่งจะยิ่งทำให้เค้ากลัวมากกว่าเดิมได้

และแบบสุดท้ายคือ Difficult Child เด็กแบบนี้ต้องใจเย็น ๆ ให้เวลาเค้าหน่อย เพราะเค้าเป็นคนชั่งคิดชั่งวางแผน สังเกตว่าเด็กแบบนี้จะเงียบไม่ค่อยพูดคุยและส่วนใหญ่จะเรียนเก่ง ดังนั้นเรื่องความกล้าแสดงออกแต่กำเนิดอาจจะยังสู้เด็ก 2 แบบแรกไม่ได้ หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็น Difficult Child ได้ให้เค้าฝึกความกล้าทีละนิดจะสมไป Difficult Child จะฉายแสงโดดเด่นกว่าเป็นไหน ๆ ได้ทีเดียวค่ะ

ต่อไปนี้เป็น เทคนิคฝึกลูกให้กล้าแสดงออก โดยครูพีชให้ชื่อวิธีนี้ว่า 2 ป. 1 บ.

ป. ที่ 1 ปลอดภัย

ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึง ความปลอดภัยทางอารมณ์ของลูก โดยการให้ลูกได้เห็นอารมณ์ของพ่อแม่ เช่น เวลาที่พ่อแม่ตื่นเต้น กังวล ตกใจ สับสน การให้ลูกได้รับรู้อารมณ์เหล่านี้จากเรา ช่วยให้เค้ารู้สึกปลอดภัยได้ ฟังแล้วอาจจะขัดกับความคิดที่พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่าง ไม่แสดงความอ่อนแอออกมาให้ลูกเห็นใช่มั้ยคะ แท้จริงแล้ว การแสดงอารมณ์อ่อนไหวออกมาบ้างทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ก็มีอารมณ์ได้เหมือนกัน ลูกสามารถมีอารมณ์เหล่านี้ได้ รับรู้มันและแสดงออกมาได้เหมือนกันกับพ่อแม่ ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและกล้าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา และนำไปสู่ความกล้าแสดงออกนั่นเอง

ป. ที่ 2 เปิดโอกาส

เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เค้าสนใจอยากทำด้วยตัวของเค้าเอง ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวกับการเรียนหรือไม่น่าจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ แต่การเปิดโอกาสให้เค้าได้ทำในสิ่งที่เด็กสนใจฝึกความกล้าแสดงออกได้ กิจกรรมเหล่านี้ มองเผิน ๆ ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเรามองให้ดี ทุกกิจกรรมนั้นล้วนมีประโยชน์แฝงอยู่ เด็กจะได้ฝึกใช้พลังภายในของตนเอง ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เค้าต้องการ และยังฝึกให้ลูกรู้จักการวางแผน การประสานงาน ความมีวินัย ความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งงานเหล่านี้ สามารถกลายเป็นงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดสำหรับตัวเค้าเองต่อไปได้

และสุดท้าย บ. บ่อย ๆ

ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถจากสิ่งที่เค้าชื่นชอบบ่อย ๆ ไม่เร่งรัดเค้า ปล่อยให้เด็กสะสมความเชื่อมั่น ลูกจะเลเวลอัพความกล้าแสดงออกของเค้าไปเรื่อย ๆ ได้ด้วยตนเอง

เสริมอีกนิดนึงว่า ให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่พูดถึงความไม่กล้าแสดงออกของลูกกับคนอื่นฟัง เพราะลูกคุณอาจจะแอบฟังอยู่ และเค้าจะคิดไปได้ว่าแม้คนที่ใกล้ชิดเค้ามากที่สุดยังคิดกับเค้าแบบนั้น

เราขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนฝึกฝนให้ลูกเป็นคนกล้า และคุณพ่อคุณแม่จะภูมิใจในผลลัพธ์ที่ลูกเราเปลี่ยนจากคนขี้อายมาเป็นคนกล้าได้เพราะความอดทนของคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ การทำให้ลูกเป็นเด็กกล้าแสดงออกและบุคลิกดี

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/467032571141109

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

มอนเตสเซอรี่ ไม่ใช่เพียงแค่ของเล่นเด็กหรือชื่อโรงเรียน แต่มอนเตสเซอรี่ คือ ปรัชญาการสอนและการเรียนรู้ เรามาทำความรู้จักการเลี้ยงดูลูกแบบมอนเตสเซอรี่ให้มากขึ้นกัน

ที่มาของการเรียนรู้แบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori) นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดย มารี มอนเตสเซอรี่ เป็นผู้ให้กำเนิดปรัชญาการเรียนรู้นี้ มอนเตสเซอรี่มีแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของเด็กนั้นต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราเพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ คอยสังเกตเด็กเมื่อเค้ากำลังเล่น และเราจะเข้าไปช่วยได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ปล่อยให้เด็กได้จำลองกระบวนการเรียนรู้ของเค้าจนครบจบขั้นตอนด้วยตัวของเด็กเอง

หากจะพูดให้กระชับขึ้น มอนเตสเซอรี่ก็คือ การเรียนรู้โดยมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางนั่นเอง เด็กคือผู้เลือกว่าเค้าจะเรียนรู้อะไรซึ่งตามธรรมชาติ เด็กจะเลือกสิ่งที่เค้ากำลังชอบหรือสนใจอยู่ เมื่อเค้าสนใจ เค้าจะทำการทดลองเล่นด้วยตนเอง ซึ่งนั่นคือการเรียนรู้ และหากผู้ใหญ่ยื่นมือไปช่วยในระหว่างที่เด็กกำลังทดลองอยู่ อาจจะทำให้การเรียนรู้นั้นไม่สมบูรณ์ได้ และจะมีผลต่อตัวเด็กในระยะยาว

อยากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ ต้องทำอย่างไร เริ่มได้เมื่อไหร่

วิธีการเรียนรู้แบบมอนเตสเตอรี่นั้นเหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เพราะการเลี้ยงดูแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้ฝึกการสังเกตพฤติกรรมการเล่นของลูกจนช่ำชอง มอนเตสเซอรี่ที่ได้รับความนิยมคือการเรียนแบบ Practical Life หรือการให้ลูกได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่าย ๆ เช่น จัดของ เก็บของ หยิบผ้าในตะกร้าใส่เครื่องซักผ้า หยิบผ้าในเครื่องซักผ้าใส่เครื่องอบ ปลอกผลไม้ ทำอาหาร

เชื่อหรือไม่ว่าเด็กยังไม่ถึงขวบก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ โดยการให้เค้าได้เห็นเราตอนที่เรากำลังทำงานบ้าน เมื่อเค้าสนใจอยากมีส่วนร่วม เราก็เปิดโอกาสให้เค้าทำ หรือทำอาหาร ให้ลูกได้มีส่วนร่วมทำ ลูกจะได้ทดลองวิชาเคมี และได้เรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสรับรสและกลิ่น

มอนเตสเซอรี่ยังรวมถึงการพาลูกไปเล่นข้างนอกบ่อย ๆ เพื่อให้เค้าไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แล้วเราก็สังเกตว่าเค้าเล่นอะไร เล่นยังไง ชอบแบบไหน หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจะสามารถเลือกซื้อของเล่นให้เหมาะและส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกเพิ่มขึ้นต่อไปอีกได้ จะเห็นว่า ของเล่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่เท่านั้น

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจการจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้ลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด คือตั้งแต่ 0 ขวบได้เลย เพราะเด็กเกิดมาพร้อมกับความต้องการจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ปล่อยให้ลูกได้ทดลองด้วยตัวเอง

มอนเตสเซอรี่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการสืบเนื่องไปเรื่อย ๆ หากเรารีบยื่นมือเข้าไปช่วยลูกเร็วเกินไปจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เช่น หากเราเห็นลูกกำลังหัดพลิกตัวแล้วเราไปจับพลิกตัวให้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ครบกระบวนการ ฉะนั้น ปล่อยให้น้องลองพลิกตัวด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งรีบไปจับพลิกตัวเค้า หรือหากลูกล้ม พยายามปล่อยให้เค้าลุกขึ้นด้วยตัวเองก่อน

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

ประโยชน์ที่ได้นั้นมีหลายอย่างมาก แต่ประโยชน์หลักที่ได้จากเลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่ คือ

1.) ลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เล็ก สามารถช่วยแบ่งเบางานของคุณแม่ได้

2.) ลูกจะรู้ว่าเค้าชอบอะไรตั้งแต่เด็ก เมื่อเค้ารู้แล้วว่าเค้าชอบอะไร เค้าจะเริ่มได้เร็วกว่าและสามารถต่อยอดไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเมื่อโตขึ้นได้

3.) ลูกจะมีความยืดหยุ่น กล่าวคือเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบมอนเตสเซอรี่จะรู้จักพลิกแพลง รู้จักเปลี่ยนแปลงวิธีการและปรับตัวได้ดี

สาเหตุที่เด็กชอบรื้อของ

การรื้อของออกมาเยอะแยะของเด็กนั้น เป็นการสื่อสารของเด็กอย่างหนึ่ง ลูกรื้อของนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ไม่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าของเล่นเยอะเกินไป ทำให้เค้าหาของเล่นที่เค้าชอบไม่เจอ หรือของเล่นที่เค้าชอบอยู่ในที่ที่ต้องค้นหา เช่น เก็บไว้อยู่ลึกเกินไป หรืออยู่สูงเกินไป หรืออยู่ในที่ที่ไม่สาเหตุมองเห็นได้ เด็กจึงพยายามค้นหา คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกที่ชอบรื้อของดูว่า เค้ากำลังตามหาของเล่นที่เค้าชอบอยู่หรือเปล่า

ทำไมลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ

หากลูกไม่เล่นของเล่นที่เราซื้อ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบก็ได้ และที่เราไม่ได้ซื้อของเล่นที่ลูกชอบ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้สังเกตพฤติกรรมลูก หรือเราไม่ได้อยู่กับลูกมากพอจนรู้ว่าลูกเราชอบอะไรก็เป็นได้ หากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าลูกชอบของเล่นอะไร ลองอยู่กับลูกเยอะ ๆ สังเกตลูก และปล่อยให้เค้าเดินมาช่วยเราทำงานบ้านด้วยตัวเค้าเอง สำหรับผู้ใหญ่ งานบ้านคืองาน สำหรับเด็ก งานบ้านคือการเล่น และของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเค้า คือพ่อแม่

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อและคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เลี้ยงลูกแบบมอนเตสเซอรี่

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=242995180735373&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก ดันลูกวัยรุ่นยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย ชวนพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ตั้งเป้าหมายร่วมกับลูก เพื่อเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกัน

เป้าหมายมีไว้เพื่ออะไร ถ้าหากคำตอบในใจของคุณผู้อ่านคือ เป้าหมายมีไว้พุ่งชน เป็นคำตอบที่ถูกต้องเลยค่ะ เป้าหมายนั้นมีไว้ให้เราพุ่งชน แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายโดยไม่ได้วางแผน เราก็เอาตัวพุ่งชนกับสิ่งอื่นแทนเป้าหมายของเราได้เหมือนกัน วันนี้เราจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมาตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกกันค่ะ

ประโยชน์ของการตั้งเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมาย นอกจากจะทำให้เราวางแผนเพื่อไปสู่ปลายทาง ไม่หลงทิศทาง ติดตามความคืบหน้าได้แล้ว ยังช่วยปลูกฝังวินัยและฝึกความมั่นใจให้แก่ลูก เพื่อเตรียมพร้อมส่งลูกไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าในอนาคตได้อีกด้วย และการตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กวัยรุ่นนั้น ไม่ได้ทำได้เพียงแค่กับการเรียนเท่านั้น พ่อแม่สามารถช่วยลูกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเก็บออมเงิน หรือการตั้งเป้ากับอะไรก็ได้รอบตัวเพื่อให้ลูกได้ลงมือทำจนเกิดการสั่งสมประสบการณ์ ทั้งด้านเรียนรู้จากความล้มเหลวและรู้เรียนจากความสำเร็จ

การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่น

หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นนั้นจะแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก เพราะในวัยนี้เค้าเริ่มโตแล้ว มีความสนใจเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดความชอบ มีโลกและสังคมของตัวเอง เริ่มอยากจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ พ่อแม่ของลูกเข้าสู่วัยรุ่นอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายให้ลูกได้เหมือนตอนที่ลูกยังเล็กอีกแล้ว ฉะนั้น หนทางที่พ่อแม่จะสามารถเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกับลูกได้ คือสร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่างเราและลูกของเรา พ่อแม่ลองนั่งคุยกับลูกเปิดใจพูดคุยกัน สร้างบทสนธนาปลายเปิดกับลูก ถามตอบกันแล้วหาจุดลงตัว แล้วให้ลูกได้ทดลองความสนใจด้วยตนเองบ้าง เพื่อที่ลูกวัยรุ่นของเราจะได้ไม่ต้องก้าวข้ามวัยหัวเลี้ยวหัวต่อไปโดยลำพัง

วางแผนด้วยการคำนวณเวลาที่เหลือ

หากพ่อแม่และลูกตกลงเป้าหมายกันได้แล้ว ลองวางแผนโดยกำหนดจากเวลาที่มีเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายว่าเหลืออีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี และซอยเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งร่วมกันไว้เป็นเป้าหมายย่อยหลายเป้าหมาย การซอยเป้าหมายออกเป็นเป้าเล็ก ๆ ช่วยให้ลูกสามารถทยอยเก็บเป้าหมายเล็ก ๆ นั้นได้โดยไม่รู้สึกท้อก่อนถึงเป้าหมายใหญ่ การวางแผนด้วยการกำหนดเวลา นอกจากจะทำให้วางแผนได้ดีขึ้นแล้วยังช่วยให้ลูกรู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งที่รู้ว่าเหลือเวลาอยู่ไม่มาก

การจัดการเมื่อลูกหลุดโฟกัส

เด็กทุกคนชอบเล่นสนุก บางทีลูกอาจเผลอติดเล่นเพลินจนลืมเป้าหมายแล้วผลัดวันประกันพรุ่งไปได้บ้าง วิธีแก้คือ ให้ลูกวัยรุ่นสร้างกฎของเค้าด้วยตนเอง ส่วนเราเป็นพยาน หากลูกทำผิดกฎที่ตนเองกำหนดขึ้น ลูกมีวิธีรับผิดชอบหรือมีบทลงโทษกับตนเองอย่างไร การให้ลูกสร้างกฎให้ตนเองนั้นทำให้ลูกไม่อยากแหกกฎที่ตนเป็นคนสร้างไว้

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสจากเป้าหมายของตัวเองคือความกังวลของพ่อแม่ ความกังวลของพ่อแม่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสได้ เพราะเด็กสามารถสัมผัสความเครียดจากพ่อแม่ได้ และเด็กจะรู้สึกกดดัน เมื่อเค้ารู้สึกกดดัน เด็กจะหันไปโฟกัสที่ทำอย่างไรไม่ให้พ่อแม่เครียดหรือเป็นทุกข์แทน ส่งผลให้ลูกเห็นเป้าหมายไม่ชัด หรือไม่รู้ว่าเป้าหมายนั้นทำเพื่อตัวเค้าเองหรือเพื่อพ่อแม่ หรือเพื่อทั้งพ่อแม่และตัวเค้าด้วย

แก้นิสัยปรับวินัยโดยให้เจอกับผลลัพธ์บ้าง

หากลูกยังขาดวินัยบ้าง อย่างเช่นไม่ตรงต่อเวลา การให้ลูกได้เจอกับผลลัพธ์ที่เป็นผลเสียของการไม่ตรงต่อเวลาด้วยตัวของเค้าเองบ้าง ก็เป็นวิธีปรับวินัยที่ได้ผลอยู่ทีเดียว

รับมือกับความผิดหวังของลูกวัยรุ่น

เมื่อตั้งเป้าแล้วย่อมมีความคาดหวัง เมื่อคาดหวังย่อมมีสมหวังบ้างผิดหวังบ้าง ผิดหวังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับวัยรุ่น ยังมีสิ่งที่ทำให้ลูกต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกมากรออยู่ในโลกของผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่เคียงข้างเค้าในวันที่เค้าอ่อนแอและต้องการพื้นที่ปลอดภัย ฟังเค้าเยอะ ๆ ให้เค้าพูดระบายออกมา ถามไถ่เค้าด้วยความเข้าใจว่ารู้สึกยังไง ได้เรียนรู้อะไร และจะทำอย่างไรต่อไป

ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คือการสอนเด็กโดยอัตโนมัติ

ความลับที่เหล่านักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นทราบดีคือ เด็กไม่ได้เก่งเชื่อฟัง เด็กเก่งเลียนแบบ ถึงเราจะสอนเด็กแค่ไหน หากไม่มีตัวอย่างให้เลียนแบบหรือหนักไปกว่านั้นมีตัวอย่างในทางตรงกันข้าม การสอนนั้นจะไม่เกิดผลเลย การเป็นแบบอย่าง คือการสอนที่ดีที่สุด เด็กจะเลียนแบบโดยอัตโนมัติ

ความสำเร็จในการเรียนกับความสำเร็จในชีวิต

หากได้ลองค้นคว้าประวัติคนที่ประสบสำเร็จที่คุณผู้อ่านรู้จักกันดีหลาย ๆ คน จะพบว่า คนประสบความสำเร็จไม่ได้เรียนหนังสือเก่งทุกคน ในระบบโรงเรียนมัธยมมีความถนัดให้เด็กเลือกน้อยเกินไป เพียงสองด้านคือ คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ และศิลป์ - ภาษา เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กมีความถนัดที่หลากหลาย และมีทักษะหลายด้านที่สำคัญต่ออนาคตที่เด็กควรได้ฝึกฝน ผลการเรียนในโรงเรียนอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบ่งชี้ความถนัดของเด็กทุกคนได้ และตัวชี้วัดนั้นอาจซ่อนอยู่ในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หากเด็กได้ทดลองทำสิ่งใหม่จะช่วยให้เด็กค้นพบความถนัดของตนเอง และเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเค้าโตขึ้น เค้าอยากเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเองในสิ่งใด


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ลูกวัยรุ่นดันยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=338421374073318&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

การอ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

ผลงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ติดตามชีวิตของคนจำนวนหนึ่งถึง 75 ปี ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือสายสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกวิธีหนึ่ง คือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ในบทนี้อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังกันค่ะ

หากเราอยากให้ลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ดี การให้เด็กดูหนังสือนิทานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคมาช้านาน นิทานช่วยให้ลูกสะสมคลังคำศัพท์และเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กสามารถทำความเข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทว่าหนังสือที่ดีของเด็กเล็กอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับหนังสือที่ดีของเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว เด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ยังคงเห็นโลกแบบที่สดใหม่ แตกต่างและเต็มไปด้วยจินตนาการก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา

แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

สมมติว่ามีพลังวิเศษ เสกให้ลูกพูดได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะเล่าอะไรให้เราฟัง...

“ในตอนที่หนูเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงสามเดือน หนูเหมือนคนสายตาสั้นประมาณแปดร้อย รวมถึงเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน หนูมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอไหวไปมา หนูไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นคืออะไร

ถึงตอนนั้นหนูอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยถนัดแต่หนูได้ยินเสียงชัด ทุกครั้งที่มีเสียงเกิดขึ้น หนูยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร มาจากไหน แต่หนูสัมผัสได้เสมอว่าเสียงนั้นมาพร้อมกับความรัก โอบกอดที่แสนอบอุ่น และนมอุ่น ๆ ให้หนูดื่มกิน

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้กว่าสี่เดือน หนูเริ่มเห็นชัดขึ้น หนูมองเห็นเสียงแห่งความรักนั้น เสียงของแม่ แม่มาพร้อมกับแผ่นภาพพับทับซ้อนกันเปิดกลับไปมาหน้าหลังได้ แผ่นที่มีสีสันสดใสเต็มไปหมด หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูจ้องรูปภาพ หนูไม่รู้ว่ารูปสื่อความหมายอะไร ทุกครั้งเวลาหนูดูภาพสีสันสดใสนั้น จะมีเสียงแห่งความรักเปล่งบรรยายประกอบไปด้วย หนูเริ่มจับได้ว่าเสียงแบบนี้มากับรูปนี้ หนูเริ่มรู้ความหมายทางภาษา

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้เกือบสิบสองเดือน หนูพบว่าหนูใช้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับคว้าทุกอย่างมาเล่นและชิมมัน ทุกอย่างคือของเล่นที่หนูได้เรียนรู้ บางทีของเล่นก็กินได้ หนูเลยชอบชิมมันด้วย

เมื่อหนูครบหนึ่งขวบเต็ม หนูตื่นเต้นอยากเล่นของเล่นใหม่ทุกวัน แม่เอาหนังสือใหม่มาให้เล่น มีภาพที่เปิดออกมาแล้วตั้งขึ้นมาจากหนังสือได้ พอหนูพับหน้าต่อไปภาพที่ตั้งขึ้นก็หดเก็บตัวลงในหนังสือเอง หนูรู้สึกตื่นเต้น ยิ่งหนูได้เล่นสนุก หนูยิ่งจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อหนูเข้าโรงเรียนอนุบาล หนูเจอคุณครูครั้งแรก หนูเข้าใจความหมายของคำที่คุณครูสอนได้ มันอยู่ในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนเต็มไปหมด หนูสามารถจินตนาการในหัวตามสิ่งที่ครูสอนได้ เหมือนกับเอาภาพมากมายในหนังสือนิทานหลายเล่มมาประกอบกันใหม่ หนูเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน”

ตัวอย่างสมมตินี้ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อยู่ในโลกของเด็ก เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เรานำข้อมูลทางวิชาการมาเล่าเท่านั้น ในโลกของเด็กนั้นอาจจะเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด ยากที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่หลงลืมช่วงวัยแรกเกิดไปแล้วจะคิดตามได้ ทุกวันสำหรับเด็กคือการเรียนรู้ และทุกวินาทีของลูกที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือการสร้างสายสัมพันธ์

หากเราอยากจะจินตนาการตามเด็กที่กำลังเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้นั้น คุณหมอแพม หมอกุมารแพทย์ ผู้ที่ทำเพจออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในโลกโซเซียลมีเดีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ที่สนใจการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน กล่าวว่า “ผู้ใหญ่จะเน้นอ่านตัวอักษร ใช้คลังคำศัพท์ที่สะสมไว้เอามาจินตนาการได้หมด แต่การดูนิทานของเด็กเล็กจะอาศัยฟังเสียงพ่อแม่เสริมรูปภาพ แล้วเด็กจะจินตนาการเป็นเอนิเมชั่นในหัว”

หมอแพมแนะนำว่า “หนังสือนิทานในท้องตลาดนั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี คร่าว ๆ คือ หนังสือดี ภาพต้องไม่สื่อไปทางที่โหดร้าย เพราะเด็กอารมณ์อ่อนไหวกว่าผู้ใหญ่ หนังสือที่ดีควรมีรูปชัด ๆ เส้นชัด ๆ เส้นน้อย ๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพง หนังสือไม่ดีก็จะพยายามเอาใจคนซื้อคือพ่อแม่ ยัดเส้นเยอะ ๆ รูปเยอะ ๆ ให้ดูคุ้ม ไม่มีประโยชน์กับเด็ก”

คุณหมอบอกอีกว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น มีแต่ผลดี ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเล่านิทานไม่เก่ง หนังสือนิทานเด็กถูกออกแบบมาให้ใครอ่านก็สามารถเล่านิทานได้ เพียงเราแบ่งเวลา 5-10 นาทีต่อวันเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ จะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ยังได้ ขอเพียงมีคนที่เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนคนนั้นผ่านกิจกรรมเล่านิทานได้ก็เพียงพอ

ถึงแม้หนังสือจะดีซักเพียงไหนคุณหมอก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักการอ่าน หรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ภาพประกอบสีสวยสดใสหรือถ้อยคำจังหวะจะโคลนไพเราะเสนาะใจ หรือว่าส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือดีสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเสียงที่กำลังเล่า แววตาแห่งความห่วงใย และประสบการณ์สัมผัสอุ่นไอจากพ่อแม่

ทีม The Study Times Family ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก Style หมอแพม

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1287921204923232

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 2)

จากบทสัมภาษณ์ครูส้ม ตอนที่ 1 เราทิ้งท้ายไว้ว่า การเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่ ก็น่าสนใจไม่แพ้กับการเรียนดนตรีของเด็กๆ แต่เหตุผลในการเล่นดนตรี และการเรียนนั้นต่างกันออกไปตามช่วงวัยที่ต่างกัน

สอนดนตรีผู้ใหญ่เป็นยังไงบ้างคะ ทำไมเค้ามาเรียนกัน?

นักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์หลักของเค้าคือคลายเครียด และโดยพื้นฐานเค้าจะมีความชอบดนตรีอยู่แล้ว มีร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง อายุที่มาเรียนก็ประมาณ 30 ปีจนถึง 80 ปี

การเรียนดนตรีของผู้ใหญ่เป็นไงบ้าง แตกต่างจากการเรียนของเด็กมั้ย?

การสอนดนตรีของผู้ใหญ่สำหรับผู้สอนจะท้าทายหน่อย เพราะผู้ใหญ่มีความคาดหวังสูง เค้าได้ยินเพลงมาเยอะ เค้าอยากเล่นเพราะ ๆ ให้ได้เหมือนนักดนตรีที่เค้าชื่นชอบ อย่างโชแปงหรือบีโทเฟน แต่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาซ้อมเนื่องจากงานหรือภาระต่าง ๆ ผู้ใหญ่จะใจร้อนกว่า คิดเยอะ วิเคราะห์เยอะ แต่เอาจริง ๆ แล้วกล้ามเนื้อยังไม่พร้อม ความคิดกับทักษะที่มียังไม่บาลานซ์กัน

ส่วนเด็กเค้าจะพอใจง่ายเมื่อเค้าเล่นโน้ตได้ไม่กี่ตัว สำหรับเด็กแค่เล่นเพลงหนูมาลีได้ก็ดีใจแล้ว มีความสุขแล้ว แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีข้อดีอีกอย่าง คือผู้ใหญ่จะมีแพชชั่นมากกว่าเด็ก ตั้งใจกว่าพยายามเยอะกว่าไปได้เร็วกว่าถ้าเค้าซ้อม ถ้าขยันเล่นแปบเดียวก็เป็นเพลงแล้ว มีข้อจำกัดนิดหน่อยเรื่องมือสวยซึ่งเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ต้องแยกระหว่างเล่นเป็นกับเล่นเพราะ บอกตามตรงเลยคือผู้ใหญ่เล่นเป็นเร็วแต่จะเล่นเพราะช้ากว่าเด็กหน่อย มันเป็นเรื่องเทคนิค เรื่องกล้ามเนื้อ ส่วนเด็กเล่นเป็นช้าแต่ซ้อมสม่ำเสมอก็จะเล่นได้เพราะเอง

 

สิ่งหนึ่งที่ส้มเห็นเลย คือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน เค้าจะได้เจอกับมิติที่ไม่ใช่การทำงาน เป็นมิติของความผ่อนคลาย เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ปล่อยให้อารมณ์พาไปสู่ความรู้สึกสงบ ต่อให้ยังเล่นไม่เป็นเพลงก็เข้าถึงความสงบได้

แบบนี้เรียกว่า music medication คือดนตรีเพื่อลดหรือบรรเทาอาการเครียด ช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลาย คนละอันกับ music therapy คนไทยอาจเข้าใจสับสนได้ ในภาษาไทยเราชอบใช้คำว่าบำบัด แต่ในภาษาอังกฤษ บำบัด คือคำว่า therapy ซึ่งต้องเป็น therapist หรือนักบำบัดเท่านั้น ส้มจะเลี่ยงใช้คำว่าบำบัด จะไม่เคลมว่าเป็นนักดนตรีบำบัด บ้านเราจะใช้คำว่าบำบัดทั้งในทางการแพทย์และในทางเพื่อผ่อนคลาย อย่างไรก็แล้วแต่ ประโยชน์ที่ทุกคนจะได้แน่ ๆจากดนตรีก็คือช่วยผ่อนคลายช่วยบรรเทาความเครียด

แปลว่าที่ผู้ใหญ่มาเรียนดนตรีเค้ามาเพื่อความผ่อนคลาย?

ใช่ค่ะ ผู้ใหญ่ชัดเจนมาก มาเพื่อผ่อนคลาย มาเรียนร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง หรือบางคนเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้สมองเสื่อม ส่วนเด็กมาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ นอกจากนั้นสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้แต่ได้กลับไปหลังจากมาเรียนดนตรี คือพ่อแม่ที่เล่นดนตรีจะช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ ต่างจากพ่อแม่ที่อยากเรียนแต่กลับส่งลูกไปเรียนแทน ซึ่งถ้าลูกเค้าไม่ได้อยากเรียนเหมือนเรา ลูกจะรู้สึกถูกบังคับถูกกดดัน เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เป็น negative feeling

แต่ถ้าพ่อแม่มาเรียนดนตรีด้วยตัวเองจะช่วยให้พ่อแม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก คุยเรื่องดนตรีด้วยกันกับลูก พอลูกเห็นเราเล่นดนตรีแล้วรู้สึกสนใจ ลูกก็อยากเรียนกับเราอยากเล่นกับเราไปด้วย เกิด positive feeling เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว

ฉะนั้น พ่อแม่ที่สนใจอยากเรียนดนตรีอยู่แล้วควรมาเรียนด้วยตัวเองจะดีกว่า ได้ทั้งผ่อนคลาย ได้เรียนอะไรใหม่ ๆ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไปด้วย

หากใครกำลังคิดจะเริ่มเรียนดนตรี ครูส้มมีวิธีในการเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะกับเรามั้ย?

เลือกจากเสียงเครื่องดนตรีที่เราชอบฟัง เสียงเพลงที่เราชอบฟัง ลองสังเกตว่าเพลงนี้ใช้เครื่องดนตรีอะไรเล่นนะ

 

อยากให้ครูชักชวนคนที่กำลังตัดสินใจมาเรียนดนตรีหน่อย?

ถ้าชอบ มีตังค์ มีเวลา ทำเลย ไม่ต้องกลัว  อะไรที่ทำแล้วมีความสุขทำเลย ส้มมองว่าการคิดว่าอายุเยอะแล้ว แก่แล้วทำไม่ได้หรอกมันเป็นเรื่องทัศนคติ แค่ได้เริ่มเราจะรู้ว่าเราทำได้ ส้มไม่ขายฝันนะ ไม่ง่ายนะ ลองทำสิ่งที่ท้าทายตัวเอง การเล่นดนตรีทำให้เราหลั่งสารอะดรีนาลีนในตอนที่เรากำลังเล่นท่อนนั้นท่อนนี้ อารมณ์เหมือนเรากำลังเล่นเกมเก็บเลเวล พอเล่นได้มันจะฟินนาเล่มาก

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเสริม คือวัตถุประสงค์หลักของดนตรีคือการได้ผ่อนคลาย ถ้าเราเรียนดนตรีเพื่อไว้โชว์ความสามารถก็ทำได้ แต่มันทำให้เรากลัวที่จะเล่น และความสุขของเราจะไปอยู่แค่ตอนที่เราเล่นได้สำเร็จ ซึ่งจริง ๆความสุขมันเกิดขึ้นตั้งแต่ได้เล่นแล้ว

สุดท้าย ครูมีอะไรอยากจะฝาก?

เราพูดถึงเด็กกับผู้ใหญ่ไปแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงนักเรียน นักศึกษา ส้มฝากถึงนักเรียน นักศึกษา ถ้าใจรักจะเป็นนักดนตรีต้องเริ่มจริงจังตั้งแต่เด็ก เก็บไว้แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่เบบี๋ นี่คือประสบการณ์ตรงของส้มเลย ซึ่งส้มว่ามันสำคัญที่จะแบ่งปัน ถ้าคิดว่าไม่ต้องรีบฝึกหนักก็ได้ในตอนที่เรายังเป็นนักเรียนแล้วมัวทำตามสังคมที่นิยมไปเรื่อย ๆ ทำสิ่งที่คนอื่น ๆ ว่าดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ชอบดนตรี พอเรียนจบเราต้องทำงาน มีความรับผิดชอบด้านอื่น มีภาระตามมา พอเราโตแล้วเรารู้ว่าดนตรีคือส่วนหนึ่งของเรา มันจะไม่ทันแล้ว

การเป็นนักดนตรีมืออาชีพกับการเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสุขมันคนละเรื่องกัน สำหรับคนเป็นนักดนตรี การเล่นดนตรีคือข้าว อาหารที่เราต้องกินทุกวัน ฉะนั้น ถ้าคิดจะเลือกเป็นนักดนตรีต้องตัดสินใจให้ดีและฝึกฝน นักเรียน นักศึกษาควรคำนึงถึงตรงนี้และวางแผนให้ดีด้วย

มีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดหลากหลายวิธีให้เราเลือก แล้วแต่ความชอบความสะดวกของแต่ละบุคคล  หากการเล่นดนตรีนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินความผ่อนคลายแล้วยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวได้ และยังเสริมสร้างวินัยแก่ผู้เรียนดนตรีอีกด้วย

การเรียนดนตรีน่าจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมควรรับไว้พิจารณาในช่วงที่เราเริ่มมีเวลา เปิดโอกาสตัวเองให้ได้ลองสัมผัสกับอีกมิติที่ครูส้มบอกทิ้งไว้ว่า มันคืออีกโลกแห่งความสงบของคนเป็นผู้ใหญ่ โลกที่ยังมีอะไรที่ไม่ใช่เพียงการทำงาน


ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ ครูส้ม ณัจยา อร่ามกุล

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times

ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 1)

ณ สตูดิโอเปียโนแห่งหนึ่ง ย่าน ม.เกษตร บางเขน ที่ที่ครูส้ม ครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดใช้เป็นสถานที่สอนดนตรีและสอนอรรถบำบัด สตูดิโอนี้ดูเหมือนกับห้องนั่งเล่นของเพื่อนมากกว่าห้องเรียนดนตรี ครูส้มนั้นเป็นครูที่มีเทคนิคสอนดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากครูเรียนจบด้านความผิดปกติของการสื่อความหมายจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี พร้อมประสบการณ์นักอรรถบำบัดมาหลายปี และผันตัวเองมาเป็นนักดนตรีเพราะใจรักอย่างเต็มตัว 

ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้เฉพาะทางของครูส้มบูรณาการกัน ออกมาเป็นสูตรการสอนที่มีความเฉพาะ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม เน้นผลลัพธ์และสามารถปรับใช้กับทุกเพศทุกวัยได้อย่างหาตัวจับยากในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ และคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากได้พูดคุยกับครู

ตอนนี้ครูส้มทำอะไรบ้างคะ?

ตอนนี้ส้มเป็นครูสอนเปียโน สอนดนตรีเด็กเล็ก สอนอรรถบำบัด แล้วก็สะสมเครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจจนตอนนี้กลายเป็นอีกงานนึงไปด้วย

เครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจหรอคะ? 

ใช่ค่ะ เครื่องดนตรีวินเทจ มันมีเสน่ห์ ทั้งเสียงและดีไซน์ไม่เหมือนใคร เล่นง่าย เล่นสนุก ทำให้นึกถึงความทรงจำตอนเด็ก ๆ แล้วก็หาซื้อไม่ได้แล้ว

ครูสอนเปียโนระดับไหน สอนวัยอะไรบ้าง?

ส้มสอนได้ทุกระดับทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยผู้ใหญ่ไปจนอายุ 80 ปีก็มี

ทำไมตอนนั้นถึงเลือกเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางการสื่อสาร?

เอาจริง ๆ คือตอนนั้นอยากเรียนภาษามือ แล้วก็คิดเอาเองว่าเรียนคณะนี้แล้วจะได้เรียนภาษามือ พอได้เข้ามาเรียนแล้ว เราก็แบบ อ้าว ภาษามือมันต้องไปเรียนอีกคณะนึงนี่หน่า (ครูหัวเราะ) แต่เราก็ยังเลือกที่จะเรียน และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย

พอได้หลงเข้าไปเรียนแล้วเป็นไงบ้าง?

สนุกดี จบมาก็ได้ทำงานตรงสาย เป็นนักอรรถบำบัดมากว่า 10 ปีแล้ว แล้วส้มได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย ซึ่งส้มเอาหลักจิตวิทยามาใช้ในการสอนดนตรี เวลาเจอเด็กพิเศษ เราก็สามารถช่วยเค้าได้มากกว่าครูสอนดนตรีทั่วไป จริง ๆ จิตวิทยาไม่ใช่วิชาหลักของคณะที่เรียนแต่มันเป็นส่วนสำคัญในการบำบัดที่ส้มนำมาปรับใช้ได้ดีจนถึงทุกวันนี้ 



ครูส้มคิดว่าการให้ลูกเรียนดนตรีมันดียังไง?

การเรียนดนตรีเป็นผลดีทั้งนั้น ทั้งนี้ ส้มอยากให้กลับไปดูที่วัตถุประสงค์ก่อน ว่ามาเรียนเพราะอะไร อย่างที่มาเรียนกันบางคนมาเรียนตามเทรนด์ บางคนอยากให้ลูกมีโปรไฟล์ความสามารถพิเศษ หรือพ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็อยากให้ลูกไปเรียน เหตุผลสุดท้ายคือ เด็กอยากมาเรียนเอง ซึ่งเคสนี้เจอน้อยสุด สามเคสแรกจะเจอบ่อย แต่เหตุผลสามอันแรกที่ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเองส้มว่าไม่จำเป็น 

เพราะประโยชน์จากดนตรีมันไม่ใช่ว่าจะหาจากที่อื่นไม่ได้ สามารถหาจากกิจกรรมอื่นก็ได้ อย่างเช่น ปั้นดินก็ได้ เรียนศิลปะก็ได้ กวนทรายก็ได้ หรืออย่างของส้มเป็นเปียโน หลาย ๆ ครั้ง ส้มก็จะใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเปียโนมาเสริม ในฐานะครู ส้มรู้ว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ส่วนตัวส้มว่าอิงจากความชอบดีกว่า ถ้าเค้าชอบเค้าจะทำได้ดี และเค้าจะได้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาสมองได้เต็มที่กว่าด้วย

แปลว่าถ้าเค้าชอบและอยากมาเรียนเอง เค้าก็จะเรียนได้ดีด้วยมั้ย?

ใช่ อันนี้ตอบได้เต็มปาก ตัวชี้วัดที่ส้มให้ว่าใครจะเรียนได้ดีหรือไม่ดีมีสองตัวชี้วัด คือ ความชอบกับวินัย ส้มให้ความชอบกับวินัยอย่างละครึ่ง ๆ เลย ถึงจะชอบแต่ไม่มีวินัยเรียนให้ตายก็เล่นไม่ได้ ได้เล่นเพื่อผ่อนคลายเฉย ๆ หรือถ้าเด็กถูกฝึกให้มีวินัยแต่ไม่ชอบ ส่วนใหญ่จะเล่นได้แต่ไม่มีความสุข พอถึงจุดหนึ่งเมื่อเค้าเจอสิ่งที่เค้าชอบเค้าจะหยุด เค้าจะไปเอาดีอย่างอื่น ไม่เอาอันนี้ ที่ฝึกมาก็สูญเปล่า สูญเสียเวลาที่จะไปใช้ฝึกฝนกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ด้วย

อย่างเด็กที่ส้มสอน เด็กบางคนมาเพราะความชอบเลย เค้าก็ทำได้ดีไปเลย หรือกับบางคนเค้าดูเหมือนชอบตอนแรก เพราะเราจะสร้าง trust กับเค้าก่อน แต่พอถึงตอนที่ต้องใช้ความพยายามเด็กก็ไม่อยากทำ 

เด็กไปบอกพ่อแม่ว่า ไม่ทำแล้วมันยาก ซึ่งถ้าถึงตรงนี้พ่อแม่ให้กำลังใจเพื่อให้เค้าไปต่อจนเค้าผ่านคอขวดตรงนี้ได้ เค้าจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกได้ทำสิ่งที่ยากสำหรับเค้าได้ด้วยตัวเอง แล้วเค้าจะเริ่มสร้าง self-confidence หรือความเชื่อมั่นในตนเอง หลังจากนั้นจะสบายละ เค้าจะไปต่อได้ของเค้าเอง แต่ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกไม่ชอบ คิดว่าดนตรีคงไม่ใช่ทางของเค้าและหยุดก่อนที่จะหลุดคอขวดนี้ไปได้ พอเค้าไปเรียนวิชาอื่นหรือเรียนสิ่งอื่น เค้าก็จะไม่หลุดคอขวดของความยากไปได้เหมือนกัน เค้าจะหยุดแค่นั้น

สุดท้ายไม่ก่อเกิดการสร้าง self-confidence แล้วทีนี้เราต้องมาใช้ reinforcement หรือแรงผลักจากภายนอก เช่น การให้รางวัล หนูทำอันนี้สิจะได้รางวัล ส่วนตัวส้มมองว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบเหมือนกับสินค้าจีนแดงกับสินค้าญี่ปุ่น สินค้าที่พอใช้ได้แต่คุณภาพอาจไม่ดี การเล่นดนตรีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าใช้แรงภายนอกมากระตุ้น ก็พอให้ทำได้แต่คุณภาพอาจจะไม่ดี

(การสร้าง trust หรือสร้างความไว้ใจที่ครูส้มกล่าวถึง เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเรียนกับเรา) 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเค้าจะชอบหรือไม่ชอบ?

อันนี้ถ้าในเด็กที่ยังเล็กอยู่ ต้องอาศัยความแม่นยำของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมองให้ขาด ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด พ่อแม่จะเห็นเหมือนกับว่าลูกไม่ชอบอะไรเลยซักอย่าง อย่างเช่นเด็กกลุ่มที่ชอบเล่นแบบ Free Play หรือการเล่นแบบอิสระ เค้าจะไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เค้าจะเหมาะกับการเล่น playground ในสนามเด็กเล่นที่ได้สร้างจินตนาการเปิดโลกมากกว่า ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยได้ทำอะไรซ้ำ ๆ  ส่วนดนตรีเป็นกลุ่มการเรียนที่ต้องการการทำซ้ำ ต้องฝึกฝนถึงจะทำได้ ได้ฝึกความอดทน ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด คิดว่าลูกไม่ชอบ แล้วให้ลูกเรียนเป็นสิบ ๆ อย่าง แต่ผลสัมฤทธิ์ไม่ดีซักอย่างเลย เพราะไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง ของพวกนี้มันต้องใช้เวลา

อายุมีผลต่อการเรียนดนตรีมั้ย? 

มีผล เด็กมากยังไม่ได้ฝึกวินัย การเลี้ยงดูก็มีส่วน ถ้าเด็กถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยงเด็ก เค้าถูกตามใจบ่อยและอาจจะไม่มีวินัยได้ ฉะนั้น ส้มจะถามพ่อแม่ที่นำลูกมาเรียนก่อนว่าที่บ้านเด็กช่วยทำงานบ้านมั้ย กินข้าวเองมั้ย ใส่เสื้อเองติดกระดุมเองรึเปล่า ดูตามวิวัฒนาการ ประมาณ 4 ขวบ ควรเริ่มมีวินัยละ เล่นของเล่นเสร็จเก็บของเอง ช่วยเก็บจานที่พอถือไหวได้

เห็นมีสอนเด็กพิเศษด้วย เด็กพิเศษกับเด็กธรรมดาแตกต่างกันยังไงคะ?

ความแตกต่างจะสังเกตอย่างง่าย ๆ ได้ตอนเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป วัย 4 ขวบเค้าจะเริ่มตอบคำถามเชิงเหตุผลได้ ถ้าเด็กตอบไม่ตรงวัย เช่น ถ้าเราถามว่า ทำไมหนูไม่ชอบอันนี้ แล้วเด็กตอบเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ บอกได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งวัย 4 ขวบควรจะเริ่มตอบได้แล้ว หรือสังเกตจากกล้ามเนื้อเด็ก ที่ควรพัฒนาตามวัยด้วย ส้มก็จะใช้วิธีสอนที่ต่างกันให้เหมาะสมกับเด็ก

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษควรส่งลูกไปเรียนดนตรีมั้ย?

ไม่จำเป็น แต่เรียนก็ดี ขึ้นอยู่ที่ครูด้วยว่าครูผู้สอนเข้าใจการสอนเด็กพิเศษมั้ย ถ้าเป็นครูที่ไม่รู้การสอนเด็กพิเศษเรียนไปก็ไม่ได้อะไรเพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กพิเศษ

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจริง ๆ อับดับแรกต้องไปหาหมอก่อนแล้วค่อยไปหานักบำบัด จะเลือกใช้ดนตรีบำบัดก็ต้องเป็นนักดนตรีบำบัดที่มีใบรับรอง ซึ่งหมอก็อาจจะเลือกกิจกรรมอื่นในการบำบัด การเรียนดนตรีเฉย ๆ ไม่ใช่การบำบัด เด็กบางคนอาจไม่ตอบสนองกับดนตรี ดนตรีเป็นเหมือนอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก การเรียนดนตรีเฉย ๆ ยังไม่ใช่ดนตรีบำบัด

ก่อนที่เราจะคุยกับครูส้ม เราได้เข้าไปดูคลิปการสอนในเพจของครูก่อน ในคลาสดนตรีของครูส้มนั้น ครูไม่ได้เพียงสอนเปียโนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนเปียโนให้เด็กได้เล่นเพื่อเปิดจินตนาการและฝึกกล้ามเนื้อ ที่สำคัญ เด็กสนุกและมีรอยยิ้มตลอดการเรียนในคลาส 

นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ยังมีคลาสสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้แต่คุณยาย ซึ่งบรรยากาศการเรียนจะแตกต่างกันไปตามที่ครูส้มจะออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียนนั้น ๆ

ส่วนคลาสเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่นั้น จะมีวิธีการเรียนอย่างไร และทำไมผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ควรมาเรียนเรียนดนตรีสไตล์อรรถบำบัด ติดตามในตอนที่  2 ค่ะ 


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times
 

แชร์ประสบการณ์ ‘โลกการศึกษา’ ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยครูคนไทยที่มีโอกาสไปสัมผัสการเรียน การสอน และมองเห็นถึงการปลูกฝังเด็กๆ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ (ตอน 2)

หลังจากคุณเร คุณครูผู้ช่วยที่ฟินแลนด์พาเดินชมอ่างล้างมือประจำห้องเรียน รวมไปถึงบรรยากาศรอบ ๆ ในห้องเรียนของเด็กชั้น ป.2 เราได้ไปเห็นโต๊ะที่เด็ก ๆ ทิ้งหนังสือไว้เต็มลิ้นชัก เพราะพวกเขาควรได้กลับบ้านไปทำกิจกรรมอื่นมากกว่าทำการบ้าน เมื่อเดินดูโดยรอบเสร็จสรรพ คุณเรก็พากลับมาที่โต๊ะแล้วเล่าต่อ

ครั้งที่แล้วคุณเรได้พูดถึงกลุ่มอาการ LD ADHD และออทิสติกของเด็กที่มีเปอร์เซ็นไม่น้อยเลยในห้องเรียน แต่กลับถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนอ่อน

เกร็ดความรู้ LD ADHD และออทิสติกคืออะไร

LD อาการของเด็กที่มีความผิดปกติในระบบประสาท ส่งผลต่อการเรียนรู้

ADHD อาการของเด็กที่มีสมาธิสั้น

Autism หรือ ออทิสติก อาการของเด็กที่มีระบบประสาททำงานซับซ้อน ส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณเรบอกว่า เด็กเหล่านี้จะมีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นเกินค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นพรสวรรค์แฝงมาทดแทนส่วนที่บกพร่อง ซึ่งถ้าเราหาเจอ จะเปลี่ยนจากเด็กที่ถูกมองว่าเรียนอ่อน ให้กลายเป็นเด็กอัฉริยะแทน

กลับมาที่ห้องเรียนในฟินแลนด์

ข้อสอบ การประเมินวัดผลกันอย่างไร เมื่อไม่มีให้ท่องจำ?

“เป็นวิเคราะห์ค่ะ ตอนให้คะแนนครูจะคว่ำกระดาษคะแนนของใครของมันไว้บนโต๊ะไม่ให้เด็กคนอื่นเห็น เด็กคนไหนได้คะแนนดีเขาจะอยากโชว์เองเป็นธรรมชาติของเขา ที่นี่ไม่ได้สนใจส่งเด็กเข้าแข่งขันวิชาการอะไร ถึงเด็กบางคนจะทำคะแนนได้น้อยในบางวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ก็เป็นเรื่องปกติ ฟินแลนด์เน้นความสามารถในการใช้ชีวิต ให้เด็กฝึกวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้มากกว่า”

คุณเรแชร์เรื่องราวหนึ่งให้ฟังต่อ “ครั้งหนึ่งมีการประกวดที่โรงเรียน มีเด็กคนหนึ่ง เป็นคนที่เรียนเก่งที่สุดในห้อง แล้วยังเรียบร้อย หน้าตาน่ารัก วันนั้นเขาแต่งตัวมาสวยมาก เราคิดว่าเขาต้องได้รางวัลแน่ กระทั่งมีเพื่อนครูประจำชั้นมากระซิบกับเราว่า จริงๆ อยากจะให้รางวัลกับเด็กทุกคนเลย แต่ต้องเลือกเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเพียงคนเดียว ผลปรากฎว่า เด็กคนนั้นไม่ได้รางวัล” 

คุณเรหยุดเล่าไปนิดหนึ่ง ก่อนจะขยายความถึงประเด็นเรื่องนี้ให้ฟังว่า เพราะรางวัลมีแค่รางวัลเดียว ขึ้นอยู่ที่ว่าครูใช้เกณฑ์ใดมาประเมินผลของรางวัล เรื่องทำนองนี้สะท้อนถึงมุมมองและวิธีคิดของคุณครู เพราะในแต่ละโรงเรียนทั่วโลก มุมมองเหล่านี้ย่อมไม่เหมือนกัน

“ค่านิยมของคนเอเชียเราชอบเด็กดี เรียบร้อย นอบน้อม ส่วนที่ฟินแลนด์ ไม่ต้องการให้เด็ก obey (ต้องเชื่อฟัง) แต่สอนให้ใช้ชีวิตเป็น ที่สำคัญคือ ต้องเคารพกฎ เคารพสังคม”

คุณเรยกตัวอย่างให้ฟังต่อ “ที่นี่มีเด็กอ้วน เดินกางเกงหลุด ไม่มีใครล้อ เพราะเขาเคารพกันในสังคม ส่วนเด็กไทยจริง ๆ คือ dream student เป็นเด็กในอุดมคติของครูเลย เพราะเชื่อฟัง แต่แน่ใจหรือว่า เด็กที่อยู่ในโอวาทจะเป็นเด็กที่เก่งและดีในอนาคต”

 

เราสอบถามคุณเรต่อมา เรื่องโรงเรียนที่ฟินแลนด์ เรียนครึ่งวันจริงหรือเปล่า แล้วตอนบ่ายเด็กทำอะไร?

“เด็กเรียนแค่ครึ่งวันจริง ๆ ค่ะ ส่วนตอนบ่ายเขาจะไปทำ hobbies งานอดิเรก ส่วนใหญ่เป็นกีฬา ตีเทนนิส ว่ายน้ำ”

เด็กเลิกเรียนเร็วแบบนี้ แล้วพ่อแม่ทำอย่างไร?

“จริงๆ งานดูแลเด็ก คืองานที่รับผิดชอบร่วมกันทั้งครู โรงเรียน และพ่อแม่”

เด็กชอบทำกิจกรรมอะไรกัน?

“เด็กที่นี่จะปาร์ตี้บ่อย นักเรียนฟินแลนด์ใช้ปาร์ตี้เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันสนุก ๆ แต่ไม่มียาเสพติด ปาร์ตี้ไม่จำเป็นต้องไม่ดีเสมอไป”

ที่ฟินแลนด์มีการทำโทษไหม?

“ไม่มีการทำโทษค่ะ”

แล้วมี Home school ไหม?

“มีค่ะ ส่วนตัวอยากทำ home school เหมือนกัน เพราะเราชอบกิจกรรมล่องเรือใบ และเราอยากให้ลูกไปด้วย ในความเห็นส่วนตัว ถ้าเรียนแบบ home school เราสามารถอยู่กับลูก ปกป้องลูกได้ แต่เรียนที่โรงเรียน เด็กก็จะได้ทักษะสังคมไปด้วย”

สุดท้าย มีอะไรอยากจะแนะนำ?

“อยากแนะนำว่า ให้ฟังเขา เด็กคิดได้ แค่พูดไม่ได้ เด็กไทยน่ารัก แต่ขาดโอกาสจากผู้ใหญ่ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อย่าคิดแทนลูก ให้ respect เด็ก อย่าใช้ความเป็นผู้ใหญ่ตัดสินเขา”


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟินแลนด์

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3233619450057200 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เรื่องเล่าจากคุณครูไทยในประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีรูปแบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก (ตอน 1)

เรื่องเล่าของคุณเร ผู้ช่วยโรงเรียนหรือครูผู้ช่วย (School Assistant) ประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลก ครูเรเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ตัวเองก็เคยเป็นนักเรียนไทยคนหนึ่ง เรียนหนังสือจนจบปริญญาในประเทศไทย ก่อนจะได้ไปใช้อีกค่อนชีวิตที่ประเทศฟินแลนด์ในฐานะคุณครู 

คุณเรเริ่มต้นด้วยประโยคสั้น ๆ “ที่นี่คือสวรรค์ของเด็กและผู้ปกครอง” 

แววตาน้ำเสียงบ่งบอกว่าอยากให้ทุกคนที่ฟังได้สัมผัสความหมายของคำนี้จริง ๆ  

“นักเรียนที่นี่ ทำสีผมมาโรงเรียน ส่วนคุณครูบางคนก็สักลาย” 

คุณเรเล่าต่อว่า โรงเรียนที่ฟินแลนด์ให้อิสระและความสำคัญกับเด็กมาก โดยยกตัวอย่างให้ฟังว่า เคยมีเด็กนักเรียนรวมตัวกันไปฟ้องผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อกดดันให้คุณครูลาออก เรื่องทำนองนี้โรงเรียนที่ฟินแลนด์ก็มีมาแล้ว

“เด็กฟินแลนด์ไม่พูดเล่น พูดตรง ๆ พูดจริง ๆ และมีความตรงไปตรงมา” ครูเรเล่า “อย่างที่โรงเรียนจะห้ามเด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ เคยมีเด็กที่ทำงานของตัวเองเสร็จแล้ว เดินมาขอครูเล่นมือถือ เราบอกเล่นไม่ได้ เด็กมีวินัย ไม่เล่นคือไม่เล่น เราเลยให้เด็กไปใช้คอมพิวเตอร์แทน เด็กก็ทำตาม”

การสอนที่ฟินแลนด์เป็นแบบไหน?

“ที่นี่เรียนไม่ยากค่ะ การบ้านน้อย แต่เน้นอ่านหนังสือนอกเวลา เด็กจะอ่านหนังสือนอกเวลาที่เป็นหนังสือเด็กประมาณ 20-50 เล่มต่อเทอม แล้วแต่ว่าเป็นโรงเรียนเน้นด้านภาษาหรือโรงเรียนพื้นฐาน เด็กจะฝึกงานกันตั้งแต่ ม.2 เพื่อจะได้เลือกว่าจะไปต่อทางสายอาชีพหรือจะเข้า ม.ปลาย”

เน้นวิชาภาษาอังกฤษไหม?

“ภาษาอังกฤษสำคัญมากค่ะ เรียนตั้งแต่เด็ก ๆ  ซึ่งเด็กสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เด็ก ๆ”

วิชาคณิตศาสตร์ต้องเน้นมากแค่ไหน?

“คณิตศาสตร์ไม่ยากค่ะ เราไม่เน้นสอนให้เด็กท่องจำ เช่น ท่องสูตรคูณ แล้วก็ไม่ต้องท่องประวัติศาสตร์ เช่น ใครเป็นนายกฯ ชื่ออะไร คนที่เท่าไร เพราะความรู้เหล่านี้ หาได้ในกูเกิ้ลหมดแล้ว ครั้งหนึ่งเราเคยพูดกับเพื่อนชาวฟินแลนด์ว่า ตอนเด็กๆ ฉันโง่คณิตศาสตร์มากเลย เพื่อนรีบพูดกลับมาเลยว่า เธออย่าคิดแบบนี้อีกนะ ไม่มีใครโง่หรอก”

แล้วครูที่ฟินแลนด์เป็นอย่างไร?

 “ครูจะฟังเด็ก ถ้าเด็กไม่อยากทำกิจกรรม ก็คือไม่ทำ เด็กทำได้มากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด ถ้าเขาได้โอกาสแสดงออก ผู้ใหญ่อาจจะต้องทึ่งไปเลย ยกตัวอย่างมีคลาสศิลปะของเพื่อนครูคนหนึ่ง ชื่อคลาสว่า Only One You (แบบคุณมีได้แค่คนเดียวเท่านั้น) เด็กจะสร้างงานศิลปะที่ตัวเองสามารถเลือกใช้สี รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีข้อกำหนดใด ๆ การมีคลาสแบบนี้ เพื่อให้เขาได้ใช้จินตนาการ และแสดงความสามารถในตัวออกมา”

คุณเรเล่าถึงวิธีการดึงเอาศักยภาพของเด็กในโรงเรียนที่ฟินแลนด์ให้ฟัง แต่ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนปกติธรรมดา ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความแตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป 

“มีเด็กนักเรียนคนหนึ่ง เขามีสมาธิเรียนได้แค่ 20 นาที ครูที่สอนอยู่เห็นแล้วปล่อยให้เด็กคนนั้นเล่นเลย เพราะรู้ว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ”

คุณเรขยายเรื่องราวนั้นให้ฟังต่อว่า “ครูหลายคนยังไม่รู้จักอาการเด็ก LD ADHD หรือ อาการออทิสติกอ่อน ๆ ส่วนตัวเราศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรง เราดูออกว่าเด็กคนไหนในห้องเรียนเป็นหรือไม่เป็น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีอาการ LD ADHD หรือออทิสติกอ่อน ๆ จะมีพรสวรรค์แฝง เหมือนโลกสร้างความพิเศษขึ้นมาทดแทน เด็กเหล่านี้จะทำอะไรบางอย่างได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ในตำราเขียนไว้เลยว่า เด็ก LD คือเด็กที่มี intelligent hidden แต่กลับถูกตัดสินว่าเป็นเด็กเรียนอ่อน”


กำลังฟังคุณเรเล่าเพลินๆ เดี๋ยวมาฟังคุณเรเล่าต่อในตอนต่อไปค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟินแลนด์

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3233619450057200 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการของเด็กๆ ให้อะไรมากกว่าที่คาดคิด ประโยชน์จากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง ไปค้นหาคำตอบนี้ร่วมกัน

ดังพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 จากต้นฉบับ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ พอเราได้ฟังคำบอกเล่าจาก ‘ครูฟ้าใส’ คุณครูสอนดนตรีสำหรับเด็ก ก็ถึงบางอ้อดังเช่นที่เหล่านักปราชญ์กล่าว การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการนั้น ให้อะไรมากกว่าที่คุณคาดคิด ประโยชน์ล้นทะลักจากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง The States Times ขอแชร์ประสบการณ์ตรงจาก ‘คุณครูฟ้าใส’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนดนตรีในเด็ก มาบอกเล่าสู่กันฟังตรงนี้ค่ะ...

ประโยชน์ของการเรียนดนตรีในวัยเด็กมีอะไรบ้าง

นอกจากเด็กจะเล่นดนตรีเป็นแล้ว ในกระบวนการเรียนและฝึกฝนด้านดนตรีนั้น เด็กต้องใช้ทักษะหลายด้านมากเพื่อนำไปสู่บทเพลงเพลงหนึ่ง อันดับแรกคือ ไม่ว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดไหนหรือแม้แต่การร้องเพลง จะได้ฝึกสมาธิทั้งนั้น แม้แต่การเล่นเพลงง่าย ๆ เพียงหนึ่งเพลง เด็กยังต้องใช้สมาธิ ต่อมาเด็กต้องมีความรับผิดชอบและอดทนต่อการฝึกซ้อม ฝึกความจำในการจำเนื้อร้อง จำโน้ตเพลง ได้ฝึกประสาทหูที่ดีส่งผลให้สำเนียงเสียงภาษาดีไปด้วย 

ประโยชน์เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างแล้ว และนอกจากนี้ ถ้าเด็กได้ฝึกร้องเพลงจะได้เรื่องสุขภาพอีกด้วย เพราะต้องฝึกลมหายใจ ทำให้ได้ร่างกายได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ เท่านั้นยังไม่พอ ประโยชน์ที่คาดไม่ถึงคือ การฝึกดนตรีนั้นทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล เพราะดนตรีนั้นมีกฎมีเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผล เด็กต้องทำความเข้าใจจึงจะพัฒนาความสามารถทางดนตรีต่อไปได้

การเล่นเครื่องดนตรีที่ดูรุนแรงอย่างเช่น ตีกลอง ส่งผลต่ออารมณ์ที่รุนแรงไหม

การเล่นดนตรีแนวร็อค เมทัล ฮาร์ดคอร์ หรือเล่นเครื่องดนตรีอย่างเช่น กลอง แท้จริงส่งผลให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์และผ่อนคลายได้ดีกว่าการเล่นดนตรีที่เบากว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการตีกลองยิ่งจะช่วยให้เด็กได้ฝึกควบคุมอารมณ์ เพราะมือกลองคือคนควบคุมจังหวะของวง ควบคุมความหนัก เบา ช้า เร็วของเพลง ซึ่งคืออารมณ์ของดนตรี ประโยชน์อีกอย่างของการอยู่กับดนตรีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ได้ความผ่อนคลาย อารมณ์สดใส ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่น ผู้ร้อง ผู้เต้น หรือผู้ฟัง ย่อมได้รับความผ่อนคลายจิตใจด้วยกันทั้งนั้น

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีสตางค์ส่งลูกเรียนดนตรี 

ปัจจุบันนี้มีคอร์สเรียนเบื้องต้นสอนในยูทูบฟรีเต็มไปหมดเลยค่ะ หรือถ้าไม่มีเครื่องดนตรีให้เล่น ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเครื่องดนตรี เพียงการร้องเพลงเด็กก็ได้รับประโยชน์จากดนตรีแล้ว

อายุเท่าไหร่ที่เริ่มเรียนดนตรีได้

เริ่มได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ในวัยนี้จะยังเล่นดนตรีไม่ได้เหมือนเด็กวัย 8 ขวบ แต่เด็กจะได้ฝึกระบบประสาทการฟัง ซึ่งถ้าได้ฝึกตั้งแต่เล็กจะได้ผลดีมากกว่าคนที่มาฝึกทีหลัง ส่วนชนิดของเครื่องดนตรีสามารถเลือกให้เหมาะสมกับทางกายภาพและกล้ามเนื้อของเด็กได้

ปัจจัยของการเล่นดนตรีให้เก่งมี 2 องค์ประกอบ คือ พรสวรรค์และการฝึกซ้อม หากมีพรสวรรค์แต่ไม่ฝึกซ้อม ไม่สามารถเล่นดนตรีให้ดีได้ แต่หากไม่มีพรสวรรค์แต่หมั่นฝึกซ้อมก็สามารถเป็นนักดนตรีที่เก่งได้ 

หากคุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าดนตรีนั้นดีต่อลูก อยากหาเครื่องดนตรีให้ลูกฝึกสักชิ้น แนะนำว่าให้เด็กได้ลองเลือกเครื่องดนตรีเอง ให้เด็กมีแรงขับที่อยากจะฝึกหรือมีความรักดนตรีจากภายใน เด็กจะหาเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ยิ่งครอบครัวที่รักในเสียงเพลงอยู่แล้ว เด็กจะรักดนตรีไปเอง เมื่อเด็กเลือกเครื่องดนตรีที่เขาชอบและเหมาะสมกับเขาเอง ได้เรียนกับครูที่ส่งเสริมและกระตุ้นเด็ก เด็กซ้อมอย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายว่าทำไมต้องฝึก มีโอกาสได้โชว์ความสามารถ พ่อแม่ชื่นชมให้กำลังใจ ได้เข้าร่วมการแข่งขันทางดนตรี อย่างนี้มีแววไปไกลแน่นอน

หากเด็กขาดความกล้า กลัวคำวิจารณ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกปรับความเข้าใจของคำวิจารณ์ได้ คำวิจารณ์มี 2 ฝั่ง ฝั่งที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงให้เราดีขึ้นได้ ส่วนคำวิจารณ์ที่ไม่เกิดประโยชน์ก็ปล่อยไป หรือทำให้เป็นประโยชน์ได้โดยแปลงคำวิจารณ์เป็นพลังใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตัวเราต่อไป

ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีอาชีพทางดนตรีที่หลากหลายและรายได้ดี ความสามารถทางดนตรีเป็นทักษะสากล ขอเพียงมีวิชาชีพติดตัว ก็สามารถเติบโตทั้งในประเทศและยังต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถทางดนตรีได้ เพราะเราทุกคนมีดนตรีในหัวใจอยู่แล้ว เพียงแค่ยังไม่ถูกดึงออกมา 

ยังมีเนื้อหาดี ๆ เพื่อคนที่เรารักและคนที่รักเราให้ติดตามกันนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ไขข้อข้องใจ ดนตรีกับการเลี้ยงลูก โดยครูฟ้าใส

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/568577534091375

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top