Thursday, 10 October 2024
FAMILY

ผลการวิเคราะห์จากนักวิชาการหลากหลายสาขาเปิดเผยว่า เด็กวัยอนุบาล 3-6 ขวบ คือช่วงเวลาสร้างทักษะสมองที่ดีที่สุด

ในวันหนึ่งที่อากาศเป็นใจ นักวิทยาศาสตร์สื่อประสาทสมอง (Neuroscientist) นัดนักจิตวิทยา (Psychologist) มานั่งทานข้าวจับเข่าเม้าธ์มอยกัน แล้ววันนั้น วงการการศึกษาก็ต้องสั่นสะเทือน เพราะสิ่งที่นักจิตวิทยาและนักสื่อประสาทคุยกันนั้น disrupt สูตรการศึกษาที่เราทำกันมาช้านาน ล้มกระดานทั้งวงการซะไม่เหลือเยื่อใยให้ต่อยอด นักลงทุนทางการศึกษาต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง พลิกจากการลงทุนในระดับอุดมศึกษาไปในระดับอนุบาลแทน

นักจิตวิทยาไม่รอช้า นัดเพื่อนนักวิชาการวงการใกล้เคียงมาทานข้าวอีก มีทั้งนักชีววิทยา นักภาษาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักสังคมศาสตร์ รวมถึงนักคณิตศาสตร์ มาตกลงกันว่าจะเอาไงกันดีกับการค้นพบนี้ จึงเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยัดทุกอย่างลงไป แล้วเรียกว่า Interpersonal Neurobiology (IN)

นัก Interpersonal Neurobiology หรือ IN บอกกับเราว่า พฤติกรรม สมอง และจิตใจนั้น ทำงานสอดประสานกันแยกจากกันไปไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง หากเราเน้นพัฒนาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพียงสองอย่างนั้น ไม่เพียงพอต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ได้เลย ยกตัวอย่าง ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกสอบได้คะแนนดีๆ จึงเน้นพัฒนาลูกด้านสติปัญญา ส่งลูกเรียนพิเศษเพิ่ม เคี่ยวเข็ญการบ้าน ปรากฏว่าลูกก็ยังทำได้ไม่ดี ไม่ใช่เพราะเน้นวิชาการไม่พอ แต่ลูกอาจจะขาดด้านพฤติกรรมหรือจิตใจ หรือทั้งสองอย่าง

วันนี้เรานำสิ่งที่เหล่า IN ค้นพบ มาลบล้างความเข้าใจเดิมที่เรามี คุณพ่อคุณแม่อ่านครั้งแรก อาจจะรู้สึกว่า ใช่เหรอ อ่านผิดหรือเปล่า จนต้องมาอ่านทวนกัน อยากให้ลองเปิดใจดูนะคะ ประโยชน์ที่ได้ย่อมตกถึงลูกเราอยู่แล้ว

นัก IN บอกว่า แก้ที่พฤติกรรมไม่ได้ผลหรอก ต้องแก้ที่ความสัมพันธ์

แก้ที่พฤติกรรมไม่ได้ผล ต้องแก้ที่ความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์คือหัวใจสำคัญของพัฒนาการ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างสมองได้ ความสัมพันธ์จะไปเปลี่ยนโครงสร้างจิตใจ โครงสร้างจิตใจไปเปลี่ยนโครงสร้างพฤติกรรม พฤติกรรมสร้างวงจรในสมอง

การเรียนที่ดีที่สุดของเด็กคือการเล่น เด็กเรียนผ่านการเล่น

เวลาเด็กเล่นเขาจะมีความสุข เด็กอยากเล่นได้ดี จึงมีความตั้งใจในการเล่น ความสุขกับความตั้งใจรวมกัน เกิดเป็นสมาธิ พอเด็กอยากเล่นให้เก่งขึ้น สมองกับจิตใจจะทำงานร่วมกัน เกิดเป็น soft skill เมื่อเกิดวงจรสมาธิ วงจรสมองแก้ไขปัญหา ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนวงจรแข็งแรง เกิดเป็นทักษะ เด็กที่เล่นเยอะจะเรียนรู้เยอะ ธรรมชาติของเด็กถูกออกแบบมาให้อยากเล่น เพื่อจะได้เรียนรู้เยอะที่สุด ถ้าเด็กคนไหนไม่เล่นต้องมีอะไรไม่ปกติเกิดขึ้นค่ะ

ช่วงที่สร้างทักษะดีที่สุดคือวัย 3-6 ขวบ

ช่วง 3-6 ขวบ หรือวัยอนุบาล เรียกว่าเป็นระยะวิกฤติของ EF หรือระยะพัฒนาสมองส่วนหน้าหรือสร้างทักษะสมองที่ดีที่สุด เปรียบได้กับการสร้างแผนผังถนนใหญ่ที่ดีเพื่อรอการจราจรในอนาคต ถ้าลูกได้สร้างถนน 8 เลนที่แข็งแรงรอไว้จากการเล่นเยอะ ๆ ตั้งแต่ 3-6 ขวบ โตไปลูกจะพร้อมเรียนรู้ เรียนรู้เร็ว เรียนรู้เก่ง

ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ตัวบงชี้ความสำเร็จของลูก

พัฒนาการทั้ง 4 ด้านในสมุดพกของลูกเราประกอบด้วย ร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา แต่ทักษะที่เป็นตัวบ่งชี้หรือมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของลูกเราคือ ทักษะอารมณ์และสังคม คะแนนจากการทำข้อสอบเป็นเพียงตัววัดผลทางวิชาการ ไม่ได้บอกว่าลูกจะประสบความสำเร็จเสมอไป 

ความหมายของคำว่า ฉลาด ในยุค AI อาจไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ถึงโลกจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นเสาเข็มของโครงสร้างชีวิตลูกยังคงเป็นครอบครัว อย่างที่นัก IN ว่าไว้ สายสัมพันธ์คือจุดเริ่มต้นของจิตใจ จิตใจไปสู่พฤติกรรม พฤติกรรมไปสู่สมอง สมองที่นำไปสู่ความสุขและความสำเร็จของลูกค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: เล่นน้อยโง่มาก เล่นมากโง่ได้

Link Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2632024200444156

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

วิธีการแก้ปัญหาการบูลลี่ในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

ตอนเราเป็นเด็ก ๆ เคยมีประสบการณ์ล้อเล่นชื่อพ่อชื่อแม่บ้างไหมคะ เคยถูกเพื่อนเปิดกระโปรงหรือไปเปิดกระโปรงเพื่อนเอง หรือถูกเพื่อนแกล้งด้วยการเอาของเราไปซ่อน ดูเป็นการเล่นสนุกของเด็กทั่วไป แต่ลึก ๆ แล้วสะท้อนพฤติกรรมบางอย่างในเด็กที่ตอนนี้เราเรียกรวม ๆ ว่า บูลลี่ (bully)

การบูลลี่ คืออะไร

นพ. โกวิทย์ นพพร แพทย์ชำนาญการด้านจิตวิทยาโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า การบูลลี่ (bully) คือพฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร่ายร่างกาย ส่วนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้ง การบูลลี่สร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลในใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและสร้างบาดแผลทางกายได้ 

บูลลี่นั้นพบได้ในทุกเพศทุกวัย 

ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนเกษียณอายุ ในประเทศไทยก็พบปัญหานี้ไม่น้อยเลยเหมือนกัน การบูลลี่ในเด็กนั้น เหล่านักโค้ชเด็กหรือลูกมองว่า เกิดจากปัญหาของเด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท เรียกว่า SPEC ประกอบด้วย social, problem solving, emotion, และ communication

S = social คือความสามารถในการเข้าสังคม

P = problem Solving คือความสามารถในการแก้ปัญหา

E = emotion คือความสามารถในเข้าใจอารมณ์ตนเอง

C = communication คือความสามารถในการสื่อสาร

ในวัยเรียนรู้ของเด็ก ๆ จะได้ฝึกฝนทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกันในสถานการณ์ต่างๆ โดยมี C หรือความสามารถในการสื่อสารเป็นตัวเชื่อมทักษะอื่น ๆ 

เตรียมพร้อมก่อนลูกโดนบูลลี่

หากลูกเราโดนบูลลี่หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจ สมองส่วน amygdala ซึ่งทำหน้าที่รับรู้ความทรงจำด้านอารมณ์จะเกิดความวิตกอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมเสริมทักษะการป้องกันตัวลูกได้ด้วยการเล่นกับลูกให้รู้สึกผ่อนคลาย หรืออาจจะเล่นบทบาทสมมติว่า ถ้าลูกโดนเพื่อนแกล้ง หรือเพื่อนทำให้ไม่พอใจ ลูกจะจัดการอย่างไร ฝึกให้ลูกประเมินสถานการณ์ แยกได้ว่าอะไรคือก้าวร้าว อะไรคือเข้มแข็ง หากเกินความสามารถของลูก ก็สามารถแจ้งคุณครูให้ทราบได้ ในสถานการณ์ที่ลูกโดนเพื่อนบูลลี่นั้น ลูกจะได้ฝึกทักษะทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างความมั่นใจโดยการเล่นสร้างสถานการณ์สมมติกับลูกได้ 


แล้วหากลูกไปบูลลี่คนอื่น

เด็กที่บูลลี่หรือใช้ความรุนแรงกับคนอื่นนั้นมีหลายเหตุปัจจัย อาจเป็นปัจจัยทางสังคม ความมั่นคงภายในจิตใจ การหนี การแสวงหาความสำเร็จ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เปรียบเด็ก ๆ เหมือนกับการปลูกดอกไม้ หากอยากให้ดอกไม้สวยไม่ได้แก้ที่ดอกไม้ แต่แก้ที่สภาพแวดล้อม น้ำ ดิน แดด ดอกไม้จะปรับรูปร่างตามสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ 

หากลูกเราชกต่อยหรือทำร้ายร่างกายกับเด็กคนอื่น ๆ อย่าเพิ่งดุลูกนะคะ เติมสิ่งดีๆ ก่อนโดยการหาวิธีชมเขาก่อน เช่น ลูกเป็นนักสู้ ลูกเข้มแข็ง แล้วชวนลูกหาเหตุผลของการกระทำ และหาผลลัพธ์ของการกระทำ ลูกคิดยังไง รู้สึกอย่างไร เพื่อนจะเป็นอย่างไร จะคิดยังไง ให้ลูกลองคิดและเรียนรู้เอง 

ยิ่งลูกหัวร้อน พ่อแม่ยิ่งต้องมีสติ

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดวีธีพูดกับลูกไม่ทัน ให้ตั้งสติก่อน แล้วเริ่มด้วยการชมลูก แล้วถามลูกว่าจะทำอะไรต่อไป จะเกิดอะไรหลังจากนี้ ชวนปรับปรุง ลูกสามารถทำอะไรที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ให้ลูกเรียนรู้ไปเองค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ติดอาวุธให้พ่อแม่กับแม่เก่ง https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2545549342411257

หัวข้อ: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกด้วยการเล่น

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/955352284963952 

ข้อมูลอ้างอิง: https://www.sanook.com/health/18825/ 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

โรงเรียนอนุบาลในญี่ปุ่น...แหล่งรวมความสนุก และสร้างให้เด็กเติบโตอย่างสร้างสรรค์

คุณพ่อคุณแม่ที่น่ารักคะ วันนี้จะพาไปส่องโรงเรียนอนุบาลของประเทศหนึ่ง เรามาทายกันเถอะว่า นี่คือการเรียนของเด็กอนุบาลในประเทศอะไร

ไม่มีการบ้าน ไม่สอนอ่านเขียน กิจกรรมคือ เล่น เล่น และเล่น ตอนเช้าวาดรูประบายสี ตอนบ่ายเต้น ตอนเย็นวิ่ง วันต่อมา ดูการ์ตูน ประดิษฐ์ของขวัญ แปะสติ๊กเกอร์ตามโต๊ะตามสมุด ปลูกผัก ทำกับข้าว เด็กอนุบาลที่นี่ทำกับข้าวเองได้ด้วย บางวันโรงเรียนพาไปเที่ยวข้างนอก ไปดูคนตกปลา ไปเล่นกับข้าวนา หรือไปดูคนท้องถิ่นแล้วแต่ว่าโรงเรียนตั้งอยู่แถวไหน ตกเย็นเด็กวิ่งเล่นกลับบ้านเอง ถ้าเด็กล้ม ครูจะยืนดูก่อน ให้เด็กลุกเอง ถ้าลุกเองไม่ได้ เพื่อน ๆ จะมาช่วย

ถึงตรงนี้แล้วทายกันได้หรือยัง ใบ้ต่ออีกนิดนะคะ

เด็กอนุบาลที่นี่ ชอบไปโรงเรียน เขาจะพกเบนโตะน้อยๆ ไปทานตอนกลางวันด้วย เด็กกล้าแสดงออก ชอบยกมือถามและตอบ ชอบแสดงความคิดเห็น เด็กมีความสุข เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่กลัวถูกผิด ชอบเรียนรู้ วางแผน ตั้งใจ มีวินัย และอดทน ทีนี้พอจะทายกันถูกมั้ยคะ 

ใช่แล้ว ที่นี่คือโรงเรียนอนุบาลในประเทศญี่ปุ่นค่ะ

ที่นี่น่าจะเป็นโรงเล่นมากกว่าโรงเรียน แต่รายละเอียดนั้นเต็มไปด้วยการฝึกฝนเด็ก ๆ และติดตามวัดผลตลอด การ์ตูนที่เด็กดูสอดแทรกเรื่องจริยธรรม สติ๊กเกอร์บนโต๊ะ ติดให้รู้ว่าโต๊ะนี้ของเรา เราต้องดูแลนะ คุณครูและผู้ปกครองจะรู้จักสติ๊กเกอร์ของเด็ก ๆ และสติ๊กเกอร์คือคะแนนจากคุณแม่ มีคาบเรียนที่คุณแม่มาโรงเรียนกับลูก คุณพ่อคุณแม่และคุณครูทำงานร่วมกันเป็นทีม เด็ก ๆ ประดิษฐ์ของขวัญเพื่อนำไปให้คุณพ่อคุณแม่ก่อนปิดเทอม และการเล่นในทุก ๆ วัน คือการเรียนรู้

ที่นี่ยังมีคาบเรียนสนุกๆ อย่างคาบเรียนภัยพิบัติ

คาบเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่ได้ เด็กๆ ในโรงเรียนสามารถปรุงอาหารทานเองไปจนกระทั่งปลูกผักเอง เรียนรู้การเอาตัวรอดในช่วงวิกฤติภัยพิบัติทางธรรมชาติ เด็ก ๆ วัยอนุบาลมีศักยภาพที่สูงมาก มากซะจนผู้ใหญ่งงไปเลยค่ะ และการพาเด็กไปดูงานเรียนรู้จากพื้นที่ท้องถิ่น ช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ธรรมชาติ วิถีชีวิต เศรษฐกิจสังคมแบบของจริงไม่อิงตำรา แถมยังสนุกตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ ๆ ไปด้วย ความรู้ที่ได้ก็วนกลับมาเป็นการยกมือตั้งคำถาม หาคำตอบในห้องเรียน เป็นระบบเรียนรู้ที่ครบวงจร เรียนรู้ตามธรรมชาติ

ล้ม ลุกได้ ลุกไม่ไหว เพื่อนช่วย

เด็กเล่นสนุกย่อมมีล้มบ้าง ชีวิตผู้ใหญ่ยังมีล้มบ้างลุกบ้าง สำคัญที่ลุกขึ้นเองได้ ลุกขึ้นเองเร็ว คุณครูญี่ปุ่นจึงเพียงเฝ้ามองไกล ๆ แต่ถ้าไม่ไหว เด็กคนอื่น ๆ จะกรูเข้าไปช่วยพยุงกันใหญ่ทันที คุณครูคือตัวช่วยสุดท้ายของเด็กๆ  นอกจากนั้น เด็กที่ทำงานของตัวเองเสร็จแล้ว จะไปช่วยเด็กคนอื่นเสมอ แล้ววันไหนเด็กคนที่ได้รับการช่วยเหลือทำงานเสร็จก่อน ก็จะไปช่วยเพื่อน ๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังครองอันดับประเทศที่มีการฆ่าตัวตายสูง ปัจจัยหลักของเด็กนักเรียนที่นำไปสู่การคิดสั้นคือการถูกบูลลี่ในโรงเรียน ญี่ปุ่นยังคงพยายามแก้ไขกันอยู่

คนญี่ปุ่นสร้างคนจากเด็กวัยอนุบาล เพราะเค้าเชื่อว่าเด็ก 3 - 7 ขวบเป็นยังไง โตไปเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นแบบนั้น วัยอนุบาลจึงเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก ถ้าคุณมีลูกวัย 3 - 7 ขวบอยู่ ก็ระลึกไว้เลยค่ะว่า นี่คือเวลาทองของการสร้างคน เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: สร้าง EF ฉบับเด็กญี่ปุ่น 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2767178306905258

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

แนะนำเคล็ด (ไม่) ลับ การเล่นของลูกเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา

นัก neuroscience หรือผู้ที่ศึกษาระบบการทำงานของสมองชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับการเล่นซุกซนของเด็ก ๆ ใหม่ การเล่นของเด็ก ๆ นั้น สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสติปัญญา เขายังบอกอีกว่า ในระบบประสาทมีสิ่งที่เรียกว่า neuropathway ที่เชื่อมเซลล์ประสาทของเซลล์สมองเข้าด้วยกัน

ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างให้เด็กไปสู่ศักยภาพสูงสุด และวิธีที่เด็ก ๆ เชื่อมเจ้า neuropathway นั้นก็คือ การเล่น นั่นเอง

เรามีเคล็ด (ไม่) ลับแนะนำการเล่นของลูกจากนักบำบัดมาบอก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมตามช่วงวัยกันค่ะ

ช่วงวัยของการเล่น

ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน เป็นช่วงที่ลูกเรียนรู้ประสาทสัมผัสทางร่างกาย ดังนั้น ควรยิ้ม มองหน้า ร้องเพลง คุย หัวเราะ กับลูกเยอะ ๆ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ร่างกายเบื้องต้นได้

ช่วง 7-12 เดือน เป็นช่วงสำรวจ สงสัย ควรมีของเล่นขนาดใหญ่ ๆ ปลอดภัยจากการเอาเข้าปาก มาให้ลูกเล่นเพื่อกระตุ้นการเล่นใหม่ ๆ มองตาลูกอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาความรู้สึกปลอดภัย

ช่วง 1-3 ขวบ เป็นช่วง toddler หรือเด็กวัยเตาะแตะ ลูกจะเริ่มใช้ร่างกายมากขึ้น เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเอง ควรให้ลูกได้คลาน เดิน เล่นน้ำ 

ช่วง 4-6 ขวบ ช่วงนี้พร้อมที่จะเล่นของเล่นขนาดเล็ก ๆ ได้ เรียนรู้สัญลักษณ์ เริ่มเล่นบทบาทสมมติ เล่นกับเพื่อน ๆ เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์โดยมีผู้ใหญ่สังเกตอยู่ข้างๆ 

ช่วงประถมต้น เริ่มให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น ตกลงเวลาเล่นกับเด็ก ๆ ให้เด็กฝึกการตัดสินใจและสร้างวินัยในตนเอง

ช่วงประถมปลาย เหมาะกับการเล่นที่มีกติกา มีความซับซ้อน โดยปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นเองอย่างเต็มที่

ช่วงวัยรุ่น รุ่นนี้เป็นช่วงที่ซุนซนสนุกสนาน หรือช่วง playfulness ไม่มีรูปแบบการเล่นที่ตายตัว วัยรุ่นจะหาสิ่งสนใจ

ด้วยตัวเอง เราเพียงเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง หาวิธีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเพื่อพอสังเกตการณ์ได้

บางครอบครัวสงสัยว่าทำไมลูกไม่ค่อยเล่นเลย

เด็กที่ไม่ค่อยเล่น ไม่อยากเล่น เล่นไม่เป็น หรือนั่งอยู่เฉยๆ เหตุผลหลักคือ ขาดความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งการเล่นน้อยเกินไป ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาได้ นักบำบัดด้วยการเล่นแนะนำว่า ให้เวลาเขา ไม่ต้องไปเร่งรัด เด็กจะค่อย ๆ สร้างพลังเยียวยาด้วยตัวเอง พอเด็กเริ่มรู้สึกปลอดภัยขึ้น เขาจะเริ่มมาสังเกตของเล่น เริ่มหยิบมาดู และจะเล่นได้เอง เราเพียงให้เวลาเขาแบบค่อยเป็นค่อยไป

เล่นกับลูกช่วงการระบาดของโควิด 19 

ในช่วงโควิด ลูกที่อยู่ในวัยเรียนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของตารางเรียน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนกระทันหัน อาจทำให้ลูกเกิดอาการกังวลรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความกังวลของลูกได้โดยเริ่มจากผ่อนคลายความเครียดก่อนไปเจอลูก อยู่กับลูก พูดคุยกับลูกด้วยการพูดสะท้อนกลับ หรือพูดซ้ำในสิ่งที่ลูกพูด  วิธีนี้ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกได้

Quality time = เวลาร่วมกันของครอบครัว

Special time = เวลาของคุณและลูกโดยเฉพาะ

นักบำบัดด้วยการเล่นฝากบอกกับเราอีกว่า ช่วงเวลาคุณภาพกับช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่เหมือนกัน เวลาพร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัวนั้นสำคัญ และยังมีช่วงเวลาสำคัญสำหรับลูกอีกช่วงหนึ่ง คือการที่คุณได้อยู่กับลูกเพียงสองคน คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวนั้นเพียงพอแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้น ความสัมพันธ์กับคุณเป็นเรื่องที่พิเศษ ควรมีเวลาพิเศษที่คุณกับลูกมีโอกาสเสริมสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ที่แข็งแรงค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกด้วยการเล่น

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/955352284963952

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

เรื่องจริงที่เด็ก ๆ ขอจากลุงซานต้าคลอส

“You better watch out, You better not cry

(หนูดูดีๆนะ หนูต้องไม่ร้องไห้นะ)

You better not pout, I’m telling you why

(หนูต้องไม่ทำหน้ามุ่ยนะ ชั้นจะบอกอะไรให้)

Santa Claus is coming to town”

(ลุงซานต้าคลอสกำลังมา)

คริสต์มาสและปีใหม่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆ ช่วงนี้ไม่ว่าจะไปร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ที่ที่คุณนั่งอยู่ เริ่มตกแต่งสถานที่ด้วยต้นสน กล่องของขวัญ ประดับไฟกระพริบและสายรุ้ง เปิดเพลงสร้างบรรยากาศเฉลิมฉลอง พอพูดถึงคริสต์มาส สำหรับเด็ก ๆ แล้ว นี่เป็นสัญญาณที่บอกถึงการเตรียมหยิบถุงเท้ามาแขวนรอ ‘ลุงซานต้าใจดี’ นั่งรถรากกวางเรนเดียร์เหาะลงมาจากท้องฟ้าในคืนวันคริสต์มาสอีฟ เพื่อมาแจกของขวัญให้กับเด็ก ๆ ที่ประพฤติตัวเป็นเด็กดี

แต่ก็มีเรื่องจริงหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จดหมายหลายแสนฉบับต่อปีที่เด็ก ๆ เขียนไปขอของขวัญจากลุงซานต้าคลอส จนศาสตราจารย์ Carole Slotterback นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทนเห็นกองภูเขาจดหมายที่เก็บอยู่ที่ทำการไปรษณีย์ไม่ไหว หยิบจดหมายมา 1200 ฉบับ เปิดอ่านดูและพบกับสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก ๆ เหล่านั้น

ศาสตราจารย์ Slotterback บอกว่า จดหมายของเด็ก ๆ ถูกเขียนด้วยลายมือของเด็กเองเสมอ ตกแต่งด้วยการวาดรูประบายสี ติดสติ๊กเกอร์ เด็ก ๆ หลายคน ไม่ลืมที่จะเขียนที่อยู่ของตัวเอง และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองให้ลุงซานต้าติดต่อได้เผื่อไว้ในกรณีที่ลุงซานต้าหาบ้านไม่เจอ เด็กส่วนใหญ่ขอของเล่น แถมกำชับกับลุงซานต้าด้วยว่า ปีนี้ไม่เอาเสื้อผ้านะ

ภาษาที่เด็ก ๆ ใช้ในจดหมายถึงลุงซานต้านั้น ช่างต่อรองเจรจา พูดเพราะหว่านล้อมให้ลุงซานต้าใจอ่อนอย่างไม่ธรรมดา หรือเด็กบางคนถึงกับใช้ภาษาที่รุนแรงข่มขู่ลุงซานต้ากันเลยก็มีเหมือนกัน

ในบรรดาจดหมายกองใหญ่นั้น มีเด็กจำนวนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ขอของเล่น เขาขอสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เด็ก ๆ เขียนไปหาลุงซานต้าว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่เลิกทะเลาะกัน ขอให้คุณยายหายป่วย และมีจดหมายสีชมพูสดฉบับหนึ่งที่ทำให้ศาสตราจารย์ Slotterback ต้องตื้นตัน เป็นจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวบรรจงว่า หนูขอคุณแม่ เพราะคุณพ่อต้องทำงานเหนื่อยเลี้ยงดูครอบครัวอยู่คนเดียว อยากมีคุณแม่มาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง 

ศาสตราจารย์บอกอีกว่ามีจดหมายประเภทขอความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 3-6% และปริมาณของจดหมายถึงลุงซานตาคลอสจะยิ่งเยอะขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี น่าเสียดายที่ไม่มีจดหมายฉบับไหนเลยไปถึงมือซานต้าคลอส

“He knows if you have been bad or good so be good for a goodness sake…”

(ลุงซานต้ารู้ว่าใครเป็นเด็กดีหรือเป็นเด็กไม่ดี ฉะนั้นจงทำดีเพื่อประโยชน์ที่ดีงาม)

ตำนานปรัมปราทางศาสนากลายมาเป็นทริคให้เด็กประพฤติตัวดีน่ารักนั้นได้ผลดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาคลินิกชาวออสเตรเลีย Kathy McKay อ้างว่า มีโอกาสที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากการโกหกเรื่องซานต้าคลอสได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์ Slotterback แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ลองให้ลูก ๆ เขียนจดหมายหรือทำลิสต์ของขวัญถึงลุงซานต้า เพื่อจะได้รู้ว่า เด็ก ๆ ต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่อยากได้อะไร ให้เด็กได้หัดเขียนอย่างมีเป้าหมายและกำชับให้เขียนอย่างสุภาพ 

หากลูกถามเราว่าซานต้าคลอสมีอยู่จริงมั้ย คำตอบที่ปลอดภัยที่สุดต่อความรู้สึกผิดหวังกับเด็กนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ตอบไปตามความเป็นจริงที่เหมาะสมกับวัยของลูกค่ะ 

อย่าเพิ่งตัดสินว่าลูกอยากได้อะไรเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ลูกอาจจะขออีกอย่างที่ไม่ได้ขอกับคุณพ่อคุณแม่จากลุงซานต้าก็ได้ แล้วถ้าลูกเป็นเด็กดีเพราะขอของขวัญลุงซานต้าไว้ ลุงซานต้าคลอสตัวจริงอย่าลืมทำตามที่ลูกขอด้วยนะคะ


ข้อมูลอ้างอิง : https://www.voathai.com/a/a-47-2009-12-25-voa1-90651069/922866.html

https://www.melbournechildpsychology.com.au/blog/believing-in-santa-claus-harmless-or-hurtful/ 

สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก Link https://www.facebook.com/foryourchildz

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

การรับฟังลูกในทุกช่วงวัย คือจุดเริ่มต้นของครอบครัวที่อบอุ่น

ฟังเสียงแต่ไม่ได้ยิน...

ประโยคสั้น ๆ โดนใจใครหลายคน ไม่เว้นเพศ วัย หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เจ้าความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’ นี้ เกิดได้แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ เสียงกรี้ด ร้องไห้โวยวายของเด็กวัย 2-3 ขวบ คือความพยายามจะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ถึงความต้องการของหนู หากพ่อหรือแม่ยังไม่ตอบสนอง หนูก็ตะเบ็งเสียงต่อเหมือนคอจวนแตก พ่อแม่อาจตีตราว่าลูกเอาแต่ใจตั้งแต่เล็ก และกลายเป็นต้นตอของความเงียบในความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

นักจิตวิทยาวัยรุ่นและเด็กแบ่งปันให้เราฟังว่า การฟังนั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน

  1. ฟังเนื้อหา เป็นการฟังจับข้อมูลว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 
  2. ฟังด้วยความรู้สึก หากเราฟังด้วยความรู้สึก เราจะได้ยินคำว่า เศร้า เหงา โกรธ ไม่ชอบ เบื่อ 

เราจะคุ้นเคยการฟังเพื่อเนื้อหามากกว่าการฟังด้วยความรู้สึก เพราะเราใช้ในการเรียนและทำงาน แต่สำหรับความสัมพันธ์ เนื้อหาเป็นเพียงบทนำเพื่อไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด 

วิวัฒนาการของความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’

ความรู้สึกไม่ได้ยินมันทำงานแปลกมากค่ะ ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้าได้หยอดกระปุก ‘การไม่ได้ยิน’ สะสมวันละนิด จะกลายเป็นความรู้สึกที่แข็งแรง ยิ่งลูกโตขึ้น รู้เรื่องมากขึ้น กลับยิ่งรู้สึกไม่ได้ยิน เริ่มกันตั้งแต่เด็กเล็กเลยที่ยังสื่อสารด้วยภาษาไม่ได้ พอวัยประถมเด็กจะเริ่มซุกซนจนบางครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่หัวเสีย หรือลูกเรียนรู้สังคมที่โรงเรียนและนำมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่เครียดจากการทำงาน อาจไม่ทันได้ใส่ใจสิ่งที่ลูกเล่าเท่าไร เมื่อเติบโตขึ้น ลูกที่ไม่เคยถูกได้ยินจะเริ่มเงียบกับพ่อแม่ และจะแสดงออกชัดเจนในช่วงวัยรุ่น แม้แต่นักจิตวิทยายังบอกว่ายากมากที่จะปลดความรู้สึกนั้นออกไปได้ 

บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เวลาที่ลูก ๆ มาเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ลูกอาจไม่ได้ต้องการทางออกจากเราแต่อยากระบายอะไรบางอย่าง การฟังเฉย ๆ ไม่ออกความเห็นนั้น ง่ายกว่าการช่วยลูกหาทางออกซะอีก เราไม่ต้องคิดอะไรแทนลูกเลย เหมือนยิงหนังสติ๊กทีเดียว ได้นกถึง 3 ตัว นกตัวแรก คือ self esteem ของลูก การฟังลูกเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของลูกได้ดีมาก นกตัวที่ 2 คือ EQ ซึ่งการฟังจะได้ฝึก EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ไปทั้งลูกและพ่อแม่ นกตัวที่ 3 คือสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ส่งผลระยะยาวระหว่างพ่อแม่และลูก

เห็นอย่างนี้แล้ว เรามาลองฝึกฝนการฟังลูกกันค่ะ 

.

วิธีเตรียมฟังเสียงลูกแล้วได้ยิน

อย่างแรกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากได้ยินเสียงของลูกคือ สะสมคำศัพท์ทางความรู้สึกค่ะ คุ้นเคยกับคำที่แสดงถึงความรู้สึก อย่างเช่น โกรธ เสียใจ เบื่อ เจ็บ หิว ร้อน หนาว กลัว โดยเริ่มคุยกับลูกตั้งแต่วัยเด็กเล็กหรือทารกได้เลย เพราะเด็กเล็กเป็นช่วงที่สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เยอะมากผ่านการร้องนั่นเอง ให้ลูกได้คุ้นเคยกับคำศัพท์เหล่านี้ และเป็นการแสดงออกว่าคุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้อารมณ์หนูแล้วนะ

ในช่วงวัยอนุบาลและประถม คุณพ่อคุณแม่อาจจะแสดงออกกับลูกว่าเราฟังลูกอยู่นะ เช่นตอบรับลูกว่า “อ๋อ” “เหรอลูก” “แล้วยังไงต่อล่ะ” “อยากทำอะไรต่อ” สะท้อนคำพูดลูกหรือพูดซ้ำคำของลูกเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าเราฟังอยู่ ถึงแม้เราอาจจะคิดเรื่องอื่นอยู่ก็ตาม

หากลูกอยู่ในช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว การเริ่มฟังลูกแบบใส่ใจ ช่วงแรกจะอาจรู้สึกแปลก ๆ ทำให้ลูกสงสัย คิดว่าเราต้องการอะไรจากเขาหรือเปล่า รุ่นนี้ต้องใช้เวลาค่ะ ทำไปอย่างต่อเนื่อง ใจเย็น ๆ 

หากลูกเป็นวัยรุ่นที่โตแล้ว การเปลี่ยนมาฟังลูกแบบใส่ใจ ลูกจะจับได้ทันที วิธีที่ดีคือ พูดเปิดอกไปเลยว่าก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ฟังลูก ต่อไปจะฟังลูกมากขึ้น และจะดีที่สุด ถ้าลูกได้ยินคำว่า ขอโทษ จากปากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะเอากลับไปคิดเองไม่มากก็น้อยค่ะ

.

เรื่องจริงมีอยู่ว่า ไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ลูกไปโกรธเราตั้งแต่เมื่อไร เด็กยังอยู่ในช่วงพัฒนาการรับรู้อยู่ เรื่องเล็ก ๆ ของเรา ลูกอาจตีความผิดเพี้ยนได้ การขอโทษนั้น เยียวยาได้ ยกโทษและอภัยให้ตัวเราเองกับลูก อาจปลดล็อกสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ในใจลูกได้เพียงเราเอ่ยคำว่า พ่อ(แม่)ขอโทษนะ

แล้วเราจะสอนลูกได้ตอนไหน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง สอนลูกได้แน่นอนค่ะ เพียงเลือกสอนในเวลาที่เหมาะสม คือช่วงที่อารมณ์ของลูกเป็นปกติหรืออารมณ์ดีอยู่ เก็บเรื่องที่เราอยากจะพูดทันทีไว้ก่อน ทำตัวเป็นผู้ฟัง เป็นผู้ที่อยู่ข้างเดียวกันกับลูกตอนที่ลูกอยากระบาย เมื่อลูกพร้อม เราค่อยใส่คำสอนลงไปค่ะ
 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: การฟังคือการใส่ใจ 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/763229607561738

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 

5 เทคนิค ทำใจสบาย ไม่กดดันตัวเอง สำหรับคุณแม่

Sandwich Generation คำนิยามใหม่ของคุณแม่ยุค COVID19 ขยายความกันสักนิด เรียกว่า ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ ทั้งคุณแม่ใจดีของคุณลูก ภรรยาสายสตรองของคุณสามี เป็นเพื่อนที่ดีของก๊วน งานก็ต้องปั่น ไหนจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีก โอ้ยยย คุณแม่ขอยาดมแพร้บ! 

ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเช่นนี้ อะไรๆ ก็เร่งรีบไปหมด เป็นใครก็ต้องเครียด อย่าว่าแต่คุณแม่เลย จริงไหมคะ ยิ่งคนที่เป็นคุณแม่ต้องมารับศึกหลายด้านแบบนี้ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ไหนคุณแม่ลองมาเช็กอาการกันหน่อยสิคะ ว่าตอนนี้ตัวเองมีอาการแบบนี้อยู่หรือเปล่า

ช่วงนี้วีนเหวี่ยง: ถ้าคุณแม่วีนเหวี่ยงอย่าเพิ่งโทษตัวเอง การวีนเหวี่ยงหรือบ่น คือสัญญาณเตือนค่ะ เป็นสัญญาณว่าเราเครียด การบ่นเป็นกลไกในการระบายความเครียดของผู้หญิงตามธรรมชาติค่ะ เมื่อได้พูดความในใจออกไปให้ใครซักคนฟังแล้ว จะรู้สึกสบายตัวขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมหรือหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้ แต่ว่าคุณสามีหรือคุณลูก หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว จะพานเครียดกับเราไปด้วยรึเปล่า หากว่าเราระบายความเครียดเยอะไป อันนี้ก็ต้องระวัง 

ช่วงนี้นอนไม่หลับ รู้สึกเครียด ท้องผูก สิวขึ้น: ถ้าคุณแม่มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย ท้องผูก หรือมีสิวขึ้น อย่างนี้ก็เป็นสัญญาณความเครียดเช่นกันค่ะ อาการแบบนี้น่าเป็นห่วงกว่าคุณแม่ที่เลือกระบายออกทางการวีนเหวี่ยงหรือบ่นเสียอีก เพราะคุณแม่เก็บและกดความเครียดนั้นเอาไว้ หรือทางจิตวิทยาเรียกว่า suppression ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้เลยค่ะ

ความเครียดที่เกิดเหล่านี้ อย่าคิดว่าไม่ส่งผลต่อคุณลูกนะคะ มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนคิดว่าความเครียดที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่นั้น เด็กไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือคงไม่ส่งผลต่อเด็กหรอก แท้จริงแล้ว ลูกๆ สามารถรับรู้และเลียนแบบอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วย จากการศึกษาพบว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการเลี้ยงดูยาวนานว่าสิ่งมีชีวิตอื่น และมีเส้นประสาทพิเศษชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า mirror neuron คือเส้นประสาทที่ทำให้เราเลียนแบบอย่างอัตโนมัติ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะบอกลูกว่า ปัญหาของผู้ใหญ่ ลูกไม่ต้องเอาไปเครียดด้วย หรือสอนลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ แต่ลูกจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่กระทำให้เห็นอยู่จริง ไม่ได้เรียนรู้จากการสอนค่ะ

“Happy child comes from happy parents”

“เด็กที่มีความสุขมาจากพ่อแม่ที่มีความสุข”

เมื่อคุณแม่ตกอยู่ในภาวะความเครียด จะสร้างความสุขในครอบครัวได้อย่างไร

วิธีการสร้างความสุขภายในครอบครัวนั้น คือการที่เรามีความสุขกับตัวเองก่อน เพราะ “ธรรมชาติของมนุษย์ มีทุกข์จะแบ่งปันทุกข์ มีสุขจะแบ่งปันสุข” ดังนั้น วันนี้เรามีวิธีในการปรับสมดุลอารมณ์ของคุณแม่ด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า SMART มาฝากกันค่ะ

S - STOP เพื่อตั้งสติ 

หยุดเพื่อตั้งสติ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าช่วงนี้เรานอนไม่หลับ เครียด วีนเหวี่ยง ปี๊ดแตก ลองให้เวลาตัวเองซัก 5 นาที สำรวจตัวเองเพื่อตระหนักว่า เรากำลังเครียดอยู่หรือเปล่า แล้วถ้าเครียด เครียดเรื่องอะไร

M - Meta เมตตา

เมตตาในเทคนิคนี้ไม่ใช่เมตตาต่อผู้อื่นนะคะ แต่เป็นการเมตตาต่อตัวเองค่ะ ในแต่ละวันนั้นคนที่พูดกับเรามากที่สุดไม่ใช่ใคร แต่คือตัวเราเอง หรือที่เรียกว่า self talk คุณแม่ที่อยู่ในภาวะเครียด ส่วนใหญ่เกิดจากการกดดันตัวเองค่ะ คุณแม่มักจะโทษตัวเอง โกรธตัวเองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ใช้คำพูดกับตัวเอง หรือมี self talk ในเชิงตำหนิติเตียน ดุร้ายเฆี่ยนดีตัวเองด้วยคำพูด ฉะนั้น อยากให้คุณแม่เมตตาต่อตัวเองก่อนโดยการพูดกับตัวเองดีๆ เราเป็นมนุษย์ธรรมดา มีเหนื่อย มีเครียด มีอารมณ์ มีผิดพลาดได้ ลองหันมาให้กำลังใจตัวเอง ให้อภัยตัวเอง ยอมรับความเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ความเมตตาเหล่านี้จะแผ่ออกไปยังผู้อื่นได้ทันทีเลยค่ะ เพียงแค่คุณแม่เมตตาตนเองได้ คุณแม่จะเมตตาผู้อื่นไปโดยปริยาย

A- Adding (success of the day)

คุณแม่สามารถสร้างความรู้สึกมั่นใจกับตัวเองโดยการมองเห็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ลองหยิบสมุดขึ้นมาจดหรือจะโน้ตในโทรศัพท์แล้วแต่คุณแม่จะสะดวกเลยค่ะ เขียนความสำเร็จในแต่ละวันอย่างน้อยวันละ 3 ข้อ โดยเป็นเรื่องง่ายๆ ที่วันนี้เราทำสำเร็จ เช่น วันนี้เราตื่นเช้า วันนี้ดื่มน้ำครบ 8 แก้ว ได้อ่านหนังสือก่อนนอน หรืออะไรก็ได้ ให้โน้ตความสำเร็จลงไป บางทีเรามาเปิดอ่าน จะเห็นว่าเราได้สะสมความสำเร็จในแต่ละวันเยอะแยะเลย ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ตัวคุณแม่ได้เป็นอย่างดี

R- Revive ฟื้นฟูให้เกิดชีวิตชีวา

เราทุกคนมีฮอร์โมนที่รักษาความเครียดตามธรรมชาติ อย่าง Endorphin และ Dopamine สารเหล่านี้จะหลั่งเมื่อเราได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การนวด อ่านหนังสือการ์ตูน ไปเที่ยว ทำสปา หาเวลาเล็กๆ ทำกิจกรรมช่วยฟื้นฟูความสุข ผ่อนคลายความเครียดให้ร่างกายรีแลกซ์ เป็นวิธีที่ทำให้คุณแม่มีชีวิตชีวาได้ดีเช่นกันค่ะ

T- Thank you การขอบคุณ

การขอบคุณนั้นฟังดูง่ายแต่ทรงพลังมากค่ะ ขอบคุณที่นี้หรืออีกคำที่เรียกว่า gratitude คือการระลึกถึงและขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เวลาที่เครียดเรามักจะพยายามแสวงหานู่นนี่นั่นที่เราไม่มี เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีความสุขขึ้น แล้วถ้ายังไม่ได้ก็เหมือนไปเพิ่มความทุกข์อีก การขอบคุณสิ่งที่มีนั้น เป็นการเติมเต็มและเตือนใจเราว่ามีชีวิตที่ดีแค่ไหน ถ้าคุณแม่นึกไม่ออกว่าจะขอบคุณเรื่องอะไร เรามีตัวอย่างเช่น ขอบคุณที่วันนี้เรายังมีลมหายใจ ขอบคุณที่วันนี้อาหารอร่อย ขอบคุณที่คุณพ่อคุณแม่ยังแข็งแรง ขอบคุณที่มีสามีอยู่ข้างๆ ขอบคุณที่ลูกเป็นเด็กดี ขอบคุณที่วันนี้ร้อนแต่ยังมีลม ขอบคุณที่มีคนเล่าเรื่องตลกให้เราได้หัวเราะ อะไรง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้น

เทคนิคเหล่านี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับคุณแม่ทั้งหลาย แต่ผู้คนในสถานภาพอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้เป็นเทคนิคทำใจให้สบายนี้ได้เช่นกันค่ะ สังคมที่มีความสุขย่อมเกิดจากครอบครัวที่มีความสุข เป็นกำลังใจให้คุณแม่และลูกๆ ทุกคนนะคะ

สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1019527608469219


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top