Thursday, 14 November 2024
FAMILY

เรื่องการเงินถือว่ามีความสำคัญในการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษารวมไปถึงค่ากิจกรรมต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรศึกษาและมีการวางแผนการเงินให้ดีเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อลูก

สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงลูกนอกจากความรัก ความเอาใจใส่ดูแลของคุณพ่อและคุณแม่ เรื่องค่าใช้จ่ายก็ถือว่ามีความสำคัญที่จะต้องดูแลและจัดการให้ดี เพราะในยุคปัจจุบันการเงินถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงลูก ยิ่งโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรที่จะมีการวางแผนให้ดี 

คุณแม่อุ้ย กัลยวีร์ โรจน์พัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP และเจ้าของเพจที่ชื่อว่า "การเงินฉบับคุณแม่ต้องรู้" ได้เล่าถึงการจัดสรรเงินค่าใช้จ่ายโดยสิ่งที่ต้องจัดการหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้ 

1.) การจัดสรรเงินเป็นก้อน ๆ แยกค่าใช้จ่ายออกมาเป็นหลาย ๆ ส่วน ที่เราจะต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารต่าง ๆ เงินเก็บที่จะต้องออม และ ค่าใช้จ่ายเรื่องลูก อาจจะมีการวางแผนเขียนออกมาเป็นสัดส่วนเพื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือของเราก็จะมีแอพลิเคชันรายรับ รายจ่าย รวมไปถึงแอพลิเคชันธนาคารจะทำให้เราได้เห็นรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน 

2.) แยกบัญชีที่เป็นธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกโดยเฉพาะ การมีบัญชีเก็บเอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในเรื่องลูกจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่สามารถมีเงินเก็บในส่วนนี้ แยกออกไปจากค่าใช้จ่ายปกติได้ โดยบัญชีนี้อาจจะรวมพวกค่าเทอม ค่ากิจกรรมต่าง ๆ ของลูก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้เห็นภาพโดยรวมชัดเจนว่าในแต่ละเดือนลูก ๆ ของคุณมีค่าใช้จ่ายเท่าไร และเราสามารถออมเงินเพื่อเก็บไว้ให้ลูกจากบัญชีที่เป็นธุรกรรมทางการเงินของลูกโดยเฉพาะได้ อาจจะโอนเป็นรายเดือนเก็บเอาไว้

3.) ทำตารางค่าใช้จ่ายของลูก การศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอม หรือ ค่ากิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้คุณพ่อและคุณแม่ได้ทราบว่าถ้าลูกจะต้องเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จะต้องเสียค่าเทอมเท่าไร หรือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราจะได้คำนวณและวางแผนทางการเงินได้อย่างง่ายและดียิ่งขึ้น เช่น ถ้าเราต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีการเรียนแบบ English Program จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเท่าไร การเรียนพิเศษในแต่ละที่มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เป็นต้น 

นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะวางแผนเรื่องการเงินให้กับลูก ๆ แล้ว คุณแม่อุ้ย ยังให้แนวทางปฏิบัติกับคุณพ่อคุณแม่ให้ปลูกฝังในเรื่องของการออมเงินหรือการประหยัดให้กับลูก ๆ ได้อีกด้วยเช่นการอ่านหนังสือนิทาน หรือ การฝึกให้ลูกหยอดกระปุกออมสินเพื่อที่จะได้ซื้อของที่อยากได้ ฝึกการออมให้เป็น ทำทุกวันเป็นนิสัย หรือมีกิจกรรมสนุก ๆ เช่นการเล่นบทบาทสมมุติเป็นคนขายของเพื่อฝึกการคิดเลข ต่อยอดเป็นการรู้จักให้ลูกรู้ในเรื่องของการหาเงินแต่ละบาทมีความยากมากแค่ไหน 

การปลูกฝังลูกในเรื่องของการวางแผนการเงิน การออมเงินตั้งแต่เล็ก ๆ ก็จะทำให้ลูกมีความรู้และฝึกความคิดในเรื่องของการบริหารทางการเงิน โดยทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นจากพฤติกรรมของคุณพ่อและคุณแม่ เริ่มปรับที่ตัวของเรา การวางแผนทางการเงินก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : วางแผนทางการเงิน เรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่มือใหม่
Link : https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/362360858805105
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: สถาพร สุตจิตจูล 
 

Creative Mindfulness หรือการฝึกสติและสมาธิให้ลูก ไม่เฉพาะแค่การนั่งสมาธิ แต่สามารถฝึกได้จากการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

คุณแม่มายด์ จากเพจ Mindful Mummy Mild เพจที่เน้นในเรื่อง Mindfulness & Meditation การฝึกสติและสมาธิให้กับคุณพ่อ คุณแม่ และลูกๆ โดยเน้น Creative Mindfulness ให้กับลูก

คุณแม่มายด์ เล่าว่า Mindfulness หรือ การมีสติ และมีสมาธิ คือการฝึกให้ลูกอยู่กับตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ให้รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ เข้าใจความรู้สึกตัวเองว่าในขณะที่ทำกิจกรรมนั้นๆ เขาคิดหรือรู้สึกแบบไหน เป็นเรื่องของการเข้าใจและอยู่กับตัวเองให้เยอะ การฝึกเช่นนี้จะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น

การฝึกลูกในเรื่องของ Mindfulness นั้น สำหรับเด็กเล็กอาจจะต้องมีกิจกรรมเข้ามาช่วย ทำทุกอย่างให้เป็นการเล่น ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเขา ในการเชื่อมโยงกับสิ่งนั้นๆ เด็กถึงจะเข้าใจในเรื่องของสติและสมาธิ เช่น ใช้เกม วาดภาพ กิจกรรมประเภท Art & Craft เข้ามาผสมผสานในการฝึก จะทำให้เด็กเข้าใจส่วนที่เป็น Concept ได้มากขึ้น

สำหรับเด็กวัยที่โตขึ้นมาหน่อย ต้องใช้สิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้หรือนึกออกเข้ามาสอน เช่น หากจะสอนลูกในเรื่องการหายใจ เขาต้องเข้าใจว่าการหายใจเข้า-ออกเป็นอย่างไร อาจอาศัยอุปกรณ์เข้ามาช่วยเพื่อสร้างความเข้าใจ

นอกจากนี้การพาลูกไปเดินสวนสาธารณะให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวก็เป็น Mindfulness ได้ เช่น หากจะสอนลูกเรื่องการหายใจ ลองหยิบใบไม้ขึ้นมาให้ลูกเป่า หรือให้ลูกได้หลับตาฟังเสียงรอบตัว เหล่านี้จะช่วยฝึกให้ลูกมีสติกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น 

พ่อแม่จะใช้ Mindfulness เพื่อให้ลูกตามหาสิ่งที่ชอบได้อย่างไร? 

พ่อแม่ควรให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย เมื่อเด็กอยู่กับตัวเอง จนเข้าใจความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เขาจะรู้ว่าสิ่งไหนที่เขาชอบ สิ่งไหนที่ทำให้หัวใจเขามีความสุข สำคัญคือ พ่อแม่ต้องให้เวลาในการลองและตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองว่าสิ่งไหนที่ทำให้เขามีความสุข นอกจากนี้ การฝึกเรื่องของสติและสมาธิ จะช่วยในเรื่องของ Mindset เพราะเมื่อลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบและรัก สิ่งเหล่านั้นจะไปเปลี่ยน Mindset ของลูก

กิจกรรมฝึกให้ลูกมี Mindfulness ฝึกสมาธิ และหายใจให้ช้าลง

ลูกสามารถมี Mindfulness ฝึกสมาธิ และหายใจให้ช้าลง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ  การที่ลูกเล่นเป่าลูกโป่งก็สามารถฝึก Mindfulness ได้โดยการสอดแทรกเรื่องการหายใจเข้าไป ให้เขาได้ลองดูว่า หากเขาเป่าเร็ว ผ่อนลมหายใจออกมาเร็ว ฟองสบู่ที่ออกมาจะเป็นลูกเล็กๆ แต่หากหายใจเข้าและผ่อนลมหายใจช้าๆ ยาวๆ เขาจะได้ฟองสบู่ลูกใหญ่ ช่วยฝึกทั้งการหายใจ รวมทั้งความคิด เพราะเมื่อหายใจช้าลง ความคิดก็จะช้าลงตาม 

ฝึกสมาธิและการหายใจของลูกด้วยการร้อยลูกปัด การร้อยด้าย กำหนดว่า ร้อยเข็มขึ้นหายใจเข้า ร้อยเข็มลงหายใจออก

หนังสือนิทานก็สามารถสอนลูกในเรื่องของความคิดและความรู้สึกได้ เวลาที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง ลองสอดแทรกอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครนั้นๆ ว่ามีอารมณ์อย่างไร แลกเปลี่ยนกับลูก จะทำให้ลูกเข้าใจเรื่องของความคิดความรู้สึกมากขึ้น

สร้าง Mindfulness ด้วยการให้ลูกมองสิ่งดีๆ เกี่ยวกับตัวเอง

กิจกรรมที่ทำ เช่น ให้ลูกเขียนสิ่งดีๆ เขียนขอบคุณสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ลูกกลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเอง คอยเตือนว่าเขาก็เป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ มีความอดทน เพราะการพูดสิ่งดีๆ กับตัวเองจะช่วยเปลี่ยน Mindset และสร้างความมั่นใจให้กับลูกได้ 

เมื่อลูกโตขึ้นพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมความคิด ความรู้สึกของลูกได้ เพราะฉะนั้นการฝึกให้ลูกสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเอง มองเห็นข้อดีของตัวเอง จะช่วยให้ลูกเดินไปตามเส้นทางชีวิตของเขาได้ ยิ่งเริ่มเร็วก็จะยิ่งมีผลดีต่อตัวลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวพ่อแม่เอง ทั้งการเข้าใจความคิดความรู้สึกของตัวเอง อยู่กับตัวเองมากขึ้น รวมถึงการหายใจให้ช้าลง เพราะเมื่อเราเปลี่ยน ลูกก็จะเปลี่ยนตาม


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : Creative Mindfulness
Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/845780762668680 
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

อิทธิพลสื่อมีมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้รับสื่อจากต่างประเทศ วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลให้ลูก ๆ มีความชื่นชอบ และ ติดตามอย่างบ้าคลั่งจนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกว่า “ ติ่ง “ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการรับมือหรือพูดคุยอย่างไร

คุณหมอจริง พญ. ชญานิน ฟุ้งสถาพร เป็นคุณหมอที่มีประสบการณ์ทางด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของติ่งว่าจริง ๆ แล้วอาการของการเป็นแฟนคลับหรือติ่งทางจิตวิทยาเรียกอาการเหล่านี้ว่า “Celebrity worship syndrome” ซึ่งอาการนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกันคือ 

1.) ระดับบันเทิง คือ เป็นการดูสื่อหรือสิ่งที่ชอบเพื่อความบันเทิง ชื่นชอบในรูปแบบให้ความเพลิดเพลิน เพื่อความจรรโลงใจ นอกจากนี้ยังมีการนำสิ่งที่เราชื่นชอบไปเป็นคนต้นแบบหรือเรียกว่าเป็น Idol ของคน ๆ นั้นได้ เช่นในเรื่องของความพยายาม หรือการตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในระดับนี้ก็อาจจะมีสังคมที่ชื่นชอบสิ่ง ๆ นั้นไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 

2.) ระดับหมกมุ่น คือ ระดับที่นำสิ่งที่ชื่นชอบหรือศิลปินมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องมีสิ่งที่ชอบหรือศิลปินนั้นเข้ามาเกี่ยวโยงด้วยทุกครั้ง สะสมหรือใช้ของตามศิลปิน เก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่ศิลปินมีหรือใช้ตาม บางคนถึงขั้นศัลยกรรมให้หน้าตาเหมือนศิลปินเลยทีเดียว

3.) ระดับรุนแรง คือ เหล่าแฟนคลับที่ชื่นชอบในตัวศิลปินมาก ๆ ถึงขนาดอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งหรืออยากใช้ชีวิตกับศิลปิน คอยติดตามขั้นรุนแรง อย่างที่ประเทศเกาหลีจะเรียกกลุ่มแฟนคลับเหล่านี้ว่า “ซาแซง” ซึ่งจะคอยตามศิลปินไปทุกที่ รู้ลึกถึงขนาดรู้เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของตัวศิลปิน และอาจมีขั้นร้ายแรงที่สุดคือทำร้ายตัวศิลปิน ไม่ให้ศิลปินไปรักใครได้อีก ซึ่งระดับนี้ควรได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ 

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่มีลูกเป็นแฟนคลับหรือติ่งศิลปินอาจจะสงสัยว่าถ้าลูกของตนมีอาการที่ชื่นชอบศิลปินมากแต่ไม่รู้ว่าจะต้องพูดคุยอย่างไร จริง ๆ แล้วในช่วงวัยรุ่นของคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะมีความชื่นชอบในตัวศิลปินหรือสิ่งที่ชอบเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่ยุคสมัยที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวไกลมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นสามารถรับสื่อได้ทั่วโลก และทำให้ตัวของลูกคุณอาจจะเจอกับสิ่งที่ชอบ ศิลปินที่เขารัก มากกว่าในสมัยของคุณพ่อคุณแม่ 

แต่ด้วยความห่วงใยอยากที่จะพูดคุยกับลูก กลัวว่าลูกจะเสียการเรียน ไม่มีอนาคต จริง ๆ แล้วในช่วงวัยนี้สมองส่วนเหตุผลและความคิดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้สมองส่วนอารมณ์จะเจริญเติบโตมากกว่าจะทำให้เห็นว่าลูกของคุณมีอารมณ์ที่แปรปรวน พอลูกของคุณอายุ 25 ปีหรือเมื่อเริ่มโตขึ้นสมองส่วนเหตุผลและความคิด ตรรกะการใช้ชีวิตก็จะมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูว่าลูกของคุณมีอาการเป็นติ่งในระดับไหน 

ถ้าเป็นในระดับบันเทิงก็สบายใจได้ เพราะลูกของคุณอาจจะยกศิลปินมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมด้วยว่าลูกของคุณมีทิศทางในการใช้ชีวิตแนวทางไหน คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะกังวล กลัวว่าลูกของตัวเองนั้นอาจจะไม่สนใจการเรียน และเอาเวลาไปเป็นแฟนคลับ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยดู สังเกตและที่สำคัญคือการพูดคุย เปิดใจกัน โดยไม่ใช้อารมณ์ และ สอนวิธีการคิดหรือลองปรับเปลี่ยนเป็นพูดคุยในสิ่งที่ลูกชอบหรือสนใจ เพื่อคอยดูว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร 

เชื่อหรือไม่ว่าบางคนก็นำศิลปินหรือไอดอลมาเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน เหมือนกับว่ายิ่งเห็นศิลปินมีความพยายามทำเป้าหมาย ความฝันได้สำเร็จ อดหลับอดนอนเพื่อซ้อมเป็นศิลปิน เหล่าแฟนคลับในวัยเรียนก็จะพยายามตั้งใจเรียนและนำศิลปินมาเป็นแบบอย่างในการตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ และหลาย ๆ คนเมื่อเรียนจบก็มีการถ่ายรูปคู่กับแท่งไฟ หรือ สิ่งของที่มาจากศิลปิน เป็นการบรรลุเป้าหมายของตัวเองว่าทำตามความฝันสำเร็จแล้ว ถ้าลูกของคุณเห็นศิลปินเป็นแบบอย่างที่ดีก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ 

มีคำ ๆ หนึ่งที่คุณหมอจริงได้กล่าวว่า “Children must be taught how to think, Not want to think” คือการสอนลูกให้รู้จักวิธีคิด ไม่ใช่การยัดความคิดให้ลูก ด้วยความที่โลกสมัยใหม่มีเทคโนโลยี มีสื่อต่าง ๆ มากมายที่ลูกของคุณสามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เราควรสอนวิธีการคิด อย่างในเรื่องติ่งหรือแฟนคลับอาจจะถามถึงข้อดีของตัวศิลปินหรือสิ่งที่ลูกชอบแล้วให้ลูกของคุณลองคิดและให้ลูกลองเลือกข้อดีและทำตามในสิ่งที่ดี เช่น ถ้าลูกของคุณเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี ก็สนับสนุนลูกด้วยการให้เรียนภาษาเพิ่มเติม หรือสนับสนุนให้ลูกทำวิดีโอเกี่ยวกับศิลปินเกาหลี เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้เสริมก็จะเป็นการสนับสนุนลูกในทางที่ดีและเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวได้ดีอีกด้วย 

คุณหมอจริงฝากข้อคิดไว้ว่า นอกจากการพูดคุยแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การฟัง” ให้ลูกได้พูดในสิ่งที่เค้าอยากทำ สิ่งเค้าชื่นชอบ จะทำให้เราได้เห็นว่าลูกมีความคิดอย่างไร มีความฝันในทางไหน และคุณพ่อคุณแม่ก็คอยสนับสนุนลูกให้ทำตามความฝันให้สำเร็จ เพียงเท่านี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะดีขึ้น ทำให้เราไม่ได้เป็นส่วนเกินในชีวิตของเขาอีกด้วย


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกวัยรุ่นกับการเป็นติ่ง
Link : https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/933889133821053
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: สถาพร สุตจิตจูล 
 

เรื่องที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป!! เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ต้องดูแลอย่างไร?

จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆ สิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือเรื่องของสุขภาพ แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป ‘ครูเบิร์ด’ จากเพจปั้นลูกปลูกรัก ได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ "ความเครียด และการดูแลเด็ก" ในช่วง COVID ระบาดหนัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร? 

งานวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า เด็กๆ ที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นสีเขียว เช่น สวน ต้นไม้ จะทำให้เด็กมีไอคิวที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2-3 คะแนน ส่วนเด็กที่ไม่ได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมสีเขียวเลย เด็กกลุ่มนี้จะมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% หมายความว่า เด็ก 100 คนที่ไม่ได้เติบโตในธรรมชาติ 40 คนจะมีคะแนนไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการยืนยันว่าเด็กที่เติบโตในพื้นที่สีเขียวจะทำให้ไอคิวดีขึ้น และยังมีงานวิจัยที่บอกว่านอกจากไอคิวที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ Cognitive skill, EF และ Working memory ที่ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน

ครูเบิร์ดกล่าวว่า การเรียนรู้ในธรรมชาติเป็นการเรียนรู้แบบเปิด เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามที่อยากเรียนได้เอง โดยที่คุณครูไม่ต้องคอยนำ เพราะธรรมชาติเป็นครูที่ดีสำหรับเด็กในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่เมื่อ COVID-19 เข้ามา เด็กๆ ถูกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้น ข้อมูลทางวิชาการของมหิดล พูดถึงเด็กในช่วงวัยนี้ว่าเป็นช่วง Indoor Generation คือ 90% ของชีวิตอยู่กับอาคาร สิ่งแวดล้อมเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอายุสั้นลงในอนาคต เพราะการที่เด็กถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันลดน้อยลง การเรียนรู้ต่างๆ แคบลง เรียนรู้แค่ผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนา

การที่เด็กถูกแยกออกจากธรรมชาติทำให้เด็กเกิดความเครียดมากขึ้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ซึ่งครูเบิร์ดแนะนำว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการควบคุมอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะกฎในการดูแลเด็ก คือ Action = Reaction ถ้าคุณพ่อคุณแม่อารมณ์เสียใส่ลูก ลูกก็จะสะท้อนอารมณ์เสียนั้นกลับมา อีกสิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจในตัวเด็ก ว่าเด็กมีพฤติกรรมหรือมีธรรมชาติเป็นอย่างไร จัดตารางเวลาให้กับเด็กๆ โดยที่ต้องยอมรับธรรมชาติของเด็ก อาทิ

•  เด็กเป็นนักสำรวจ เป็นวัยที่ชอบมองหาสิ่งใหม่ๆ สนใจสิ่งต่างๆ ช่างค้นหา การยอมรับในสิ่งนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดความเครียดลง

•  เมื่อเด็กสำรวจเสร็จจะเกิดความคุ้นชินกับสถานที่ รู้สึกปลอดภัย เด็กจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีแบบแผนในชีวิตขึ้น นำไปสู่ตารางเวลา การที่เด็กมีตารางเวลาที่แน่ชัดจะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตหรืออยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีความสุข ลดความเครียดลง  

ซึ่งการจะช่วยไม่ให้เด็กไม่เบื่อ พ่อแม่ต้องมีกิจกรรม มีงานให้ทำ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความฟุ้งซ่าน อย่าปล่อยให้เด็กว่าง พยายามจัดตารางเวลาให้เด็กมีกิจกรรมทำ เช่น วาดรูป ระบายสี ทำขนม รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง

ครูเบิร์ดฝากทิ้งท้ายว่า COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่พอทำได้คือการอยู่ร่วมกับมันอย่างมีความสุข อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ บาลานซ์ระหว่างสุขภาพและการดูแลลูกๆ ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดทั้งกับตัวพ่อแม่และตัวลูก


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ความเครียด และการดูแลเด็ก #COVID
Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1643706599351050 
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

ลูกฉลาด...แต่ไม่สามารถสื่อสารได้ ไขข้อข้องใจ พร้อมวิธีแก้!!

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ ผู้ซึ่งมีความสนใจพิเศษในเรื่องพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ให้ข้อมูลว่า ในทางพัฒนาการมอง ‘ความฉลาด’ คือ ทักษะ หรือความสามารถที่เด็กทำได้ดีเป็นพิเศษ หรือมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ง่ายกว่าทักษะอื่นๆ ในความเป็นจริงทุกคนจะมีความฉลาด สิ่งที่ถนัด สิ่งที่เรียนรู้ได้เร็วเฉพาะด้านของตัวเอง  

แต่ในปัจจุบัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้นิยามความฉลาดมาจากการพูดเป็นหลัก โดยมองว่า เด็กที่สามารถพูดคุย ตอบโต้สื่อสารได้ เป็นเด็กฉลาด หรือเด็กที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เป็นเด็กฉลาด ซึ่งเป็นความเข้าใจไปเองของผู้ปกครอง ไม่ใช่ความฉลาดตามช่วงวัย หรือสะท้อนศักยภาพของสมองที่แท้จริง เนื่องจากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบันออกแบบมาให้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน การที่เด็กเล็กใช้งาน Smartphone หรือ Tablet ได้จึงเป็นเรื่องปกติ ความเข้าใจผิดในนิยามความฉลาดรูปแบบนี้ทำให้ผู้ปกครองมองข้ามความฉลาดและพัฒนาการที่แท้จริงที่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กในแต่ละช่วงวัยไป

การสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
•    ช่วงประมาณ 1 ขวบ เด็กควรมีการสื่อสารแบบ specific ในการเรียกคุณพ่อคุณแม่ คนใกล้ชิด ด้วยคำเฉพาะ หรือเสียงเฉพาะ เช่น พ่อแม่ ป๊าม๊า 
•    ช่วงประมาณ 1 ขวบครึ่ง เด็กควรจะพูดคำศัพท์เดี่ยวๆ ได้ คือ คำที่มีความหมายและเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เด็กมองเห็นลูกบอลแล้วพูดว่า บอลๆ อยากกินนมแล้วพูด นมๆ เป็นคำที่หมายถึงสิ่งนั้นจริงๆ จึงจะเรียกว่าการสื่อสาร ซึ่งการที่เด็กไม่รู้จะพูดอะไรกับผู้ใหญ่ คิดคำไม่ออก อาจทำให้พูดออกมาเป็นภาษาต่างดาวหรือผสมภาษาใหม่ขึ้นมาเอง  สิ่งนี้เป็นสัญญาณว่าเด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือ หรือมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร
•    ช่วงประมาณ 2-3 ขวบ เด็กต้องพูดเป็นประโยคได้ มีประธาน กิริยา กรรม สามารถเข้าใจได้

กรณีต่อมาคือ เด็กพูดได้ตามช่วงวัยและพัฒนาการแล้ว แต่ไม่ชอบสื่อสารกับคนอื่น เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ บุคลิกภาพ ที่เป็นคนพูดน้อย เก็บตัว  หรืออีกแบบคือ อยากสื่อสาร แต่ขาดทักษะเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนอื่น ซึ่งหากเป็นรูปแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยเหลือได้เยอะมาก โดยใช้เวลาที่อยู่บ้านทำการฝึกพูดกับลูกก่อน 

สิ่งที่จะช่วยเสริมทักษะการสื่อสารต่อมาคือ การอ่าน เด็กที่ชอบอ่านหนังสือมีแนวโน้มจะสื่อสารได้ดี เนื่องจากมีคลังคำศัพท์ในหัวเยอะ ภาษาทางวรรณกรรมหรือการเขียนเป็นภาษาที่สวยงาม เด็กจะได้รับการปลูกฝังทางภาษาที่ดีไปด้วย หนังสือที่เด็กอ่านได้มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน วรรณกรรมเยาวชน สารคดี นิตยสาร การ์ตูนที่มีคุณภาพ

สิ่งสำคัญในการสื่อสาร คือ เด็กต้องรู้จักเข้าใจตัวเองก่อน ถึงจะกล้าสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจ การสร้างความมั่นใจให้กับตัวเด็กเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขากล้าที่จะพูดและแสดงออก วิธีที่สามารถทำได้คือ เวลาที่ลูกแสดงความคิดเห็นที่บ้าน ผู้ปกครองอย่าเพิ่งตัดสินว่าเขาเถียง เพราะเมื่อเด็กโดนเบรคบ่อยๆ จากในบ้านจะทำให้รู้สึกว่าการไปพูดกับคนอื่นนอกบ้าน เป็นการไม่ดีต่อตัวเองหรือไม่ 

กรณีที่เด็กเคยสื่อสารกับเพื่อนและมีความผิดพลาดบางอย่าง เช่น พูดแล้วทะเลาะกัน เพื่อนไม่เข้าใจ คุยกันคนละภาษา พัฒนาการไม่ตรงกัน ต้องอาศัยพ่อแม่เข้ามาช่วยซักถาม ต้องหาก่อนว่าปัญหาคืออะไร กรณีที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กที่ไม่พูดอะไรจนเหมือนไม่มีเพื่อน กรณีนี้อาจแปลว่าต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากขาดทักษะทางสังคม ต้องการการกระตุ้นและการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

กรณีที่เด็กมีข้อมูลอยู่ในหัวแต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ ครูพิมพ์กล่าวว่า ในเรื่องของการสื่อสารอาจไม่ได้มองเรื่องของการพูดเพียงอย่างเดียว การสื่อสารสามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่นได้ เช่น อาจลองให้ลูกเขียน วาดรูป  ทำท่าทาง ฝึกให้คุ้นเคยกับการแสดงออกก่อน จากนั้นค่อยนำมาปรับว่าจะแสดงออกในเรื่องของการพูดอย่างไร ตัวอย่างคือ ระหว่างที่ลูกเขียนให้ดู เราอาจจะพูดไปกับเขาด้วย บางครั้งพ่อแม่ต้องเป็นคนที่นำลูกก่อน ทำให้ลูกรู้วิธีการพูด เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากับลูกพอสมควร เพราะบางเรื่องลูกไม่สามารถที่จะฝึกได้ด้วยตัวเอง 

เพราะคนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่สื่อสารเก่ง สื่อสารเป็น รู้วิธีที่จะสื่อสารออกไป พ่อแม่จะช่วยลูกได้โดยการลดเวลาเรียนรู้ เพิ่มเวลาเล่น คุมตารางเวลาของลูกที่เหลือให้เป็นโอกาสที่เขาได้ฝึกตัวเอง การไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน คำถามง่ายๆ ที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารโดยธรรมชาติ

ครูพิมพ์ฝากไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของลูก สิ่งที่ได้จากการฟังข้อมูลเป็นแนวทางอย่างหนึ่ง แต่จะไปถึงตัวเด็กได้ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ บางครั้งอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือความรู้สึกของตัวเราเอง ที่อยากเปลี่ยนแปลง ซัพพอร์ต หรือสงสารลูก พยายามทำให้ความรู้สึกชัดเจนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความต่อเนื่องมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง วิธีการแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องมีคือการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงทั้งตัวลูกและตัวเอง

สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกฉลาด...แต่ไม่สามารถสื่อสารได้
Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/470271574330379
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

Critical Thinking หรือ การคิดแบบมีวิจารณญาณ ทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี

คุณแม่ติ๊ด เจ้าของเพจเลี้ยงลูกให้ยอดเยี่ยม มีความสนใจในเรื่องของการพัฒนาเด็ก ได้มาร่วมพูดคุยถึง Critical Thinking ที่ถือเป็นทักษะสำคัญมากในยุคที่ข่าวสารล้นโลก 

Critical Thinking หรือการคิดแบบมีวิจารณญาณ คือ การคิดแบบที่มีการใตร่ตรองก่อน ไม่ใช่เห็นปุ๊บเชื่อเลย แชร์เลย สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่อ่าน ด้วยเหตุผล มองในหลายแง่มุม อย่าเชื่อเพียงเพราะมันตรงกับความเชื่อเดิมของเรา เพราะจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ถูกต้อง 

4C ทักษะที่ควรมีในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ Creativity ความคิดสร้างสรรค์, Critical Thinking การคิดแบบมีวิจารณญาณ, Communication การสื่อสาร และ Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่ง Critical Thinking ถือเป็นทักษะที่ฝึกยากที่สุด เนื่องจากต้องอาศัยทักษะอื่นๆ มาช่วยด้วย เช่น เด็กที่จะมี Critical Thinking ต้องมี Creativity ด้วยในระดับหนึ่ง 

ที่สำคัญที่สุดคือ Self-Awareness ความตระหนักรู้ในตนเอง เพราะหลังจากรับรู้ข้อมูลมาแล้ว จะต้องกลับมามองตัวเองอย่างเป็นกลางที่สุด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะฉะนั้นการที่จะมี Critical Thinking ได้ดี จะต้องทำตัวว่างๆ เป็นกลาง ไม่นำความคิดของตัวเองมาตัดสินข้อมูลที่ได้รับมา

ปัจจัยหลัก 3 อย่างที่ส่งผลต่อการมี Critical Thinking ได้แก่ 1.) ตัวของเด็ก 2.) คุณพ่อคุณแม่ และการเลี้ยงดู 3.) โรงเรียน หรือระบบการศึกษา โดยทั้งสามปัจจัยหลักต้องสอดคล้อง ส่งเสริมไปด้วยกัน 

โดยพ่อแม่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถทุ่มเทกับลูกได้มากกว่าคุณครูที่โรงเรียน และด้วยระบบการศึกษาที่ล้าสมัยไม่สามารถสร้างทักษะบางอย่างที่เป็นทักษะในอนาคตได้ทันเวลา การทำให้เป็นวิถีชีวิต เป็นการเรียนรู้แบบเป็นธรรมชาติมากกว่าการสอน พ่อแม่ในยุคนี้จึงต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเด็กคนหนึ่งไม่ได้เกิดมาโดยการมี Critical Thinking เลย  ต้องมีพ่อแม่ที่คอยช่วยชวนพูดคุย ตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น 

ในยุคที่ข้อมูลมีความหลากหลาย รวดเร็ว เข้าถึงง่าย การฝึกลูกให้มีทักษะ Critical Thinking  เพื่อปกป้องลูกให้รู้เท่าทัน ไม่ถูกชักจูง สิ่งสำคัญคือ การสอนว่าอย่าเชื่อสิ่งที่เห็นในครั้งแรก ฝึกลูกให้เป็นเด็กช่างสงสัย เวลาที่ได้รับสารอะไรมา ไม่ต้องเชื่อทุกอย่าง หากอยากรู้ค่อยมาทดลองหรือพิสูจน์ หาข้อมูลจากหลายๆ แห่ง บางครั้งหากลูกไม่มี Critical Thinking อาจทำให้ mindset ผิดเพี้ยนไป

นอกจากนี้การที่เด็กได้อ่านหนังสือเยอะ หากทำให้เป็นวิถีของเขา จะฝึกในเรื่องของ Critical Thinking ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีคลังข้อมูลความรู้เยอะ และการมี Critical Thinking ยังทำให้สามารถเชื่อมโยงความคิดได้ดี 

ในส่วนของการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่พบเจอ หากพ่อแม่ใช้วิถีชีวิตแบบชวนกันคิดแก้ปัญหา ชวนแชร์มุมมอง เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ ก็เป็นส่วนที่ช่วยให้เกิด Critical Thinking ประสบการณ์ประจำวันเหล่านี้ล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันที่พ่อแม่สามารถหยิบยกขึ้นมาสอนลูกได้

การฝึกทักษะให้ลูก ไม่ได้ฝึกด้วยการผลักให้ลูกต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ จนกลายเป็นความเครียดในครอบครัว การฝึกทักษะต่างๆ หากฝึกด้วยความรู้สึกสนุก หรือเป็นธรรมชาติโดยที่เด็กไม่รู้ตัว ย่อมดีกว่าการที่จะไปสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กจนเกิดความเครียด เด็กแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน เด็กที่มีโอกาสฝึก Critical Thinking ได้ดี ต้องเป็นเด็กที่ชอบคิด แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีธรรมชาติแบบนี้ เพราะฉะนั้นเด็กสามารถไปโดดเด่นด้านอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นครบทั้ง 4C 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : Critical Thinking ทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี
Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/435405360869716
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

เวลาคุณภาพ คือ การที่พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดี ๆ ซ่อนอยู่ เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่จะได้ใช้เวลาอยู่กับลูก กอบโกยช่วงเวลาที่ลูกอยู่บ้าน ใช้เวลาคุณภาพกับลูกให้มากขึ้น 

เวลาคุณภาพ คือ การใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็แล้วแต่ ที่คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับลูก มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ อาจเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาทีแต่ขอให้เวลานั้นมีคุณภาพ ให้ความสำคัญกับคนข้างหน้า ให้ลูกเป็นศูนย์กลาง หลีกเลี่ยงการสอน การบ่น การสั่ง ขณะที่ใช้เวลาคุณภาพ

วิธีสร้างเวลาคุณภาพ สำหรับลูกแต่ละวัย
• สำหรับเด็กเล็ก ให้วางแผนทำกิจกรรมร่วมกัน ลองวางแผนว่าวันนี้จะทำอะไร แต่ไม่บังคับให้ลูกทำ เช่น วางแผนจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเล่นอิสระ หลีกเลี่ยงที่จะสอน บังคับ หรือเข้าไปช่วย แต่ให้ชื่นชม พูดเชิงบวก ให้กำลังใจลูก

• สำหรับวัยประถม ควรเป็นกิจกรรมที่ให้ลูกได้เลือกว่าเขาอยากทำอะไร เช่น ไปว่ายน้ำ ท่องเที่ยว ให้เขาลองหาข้อมูล และรับฟังเขา การได้รับการยอมรับ ความรู้สึกมีตัวตนที่ได้เลือกเอง ทำเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน เป็นการสร้าง Self-Esteem อีกทางหนึ่ง

สำหรับวัยรุ่น มีความเป็นอิสระ มีความเป็นตัวตน มีเวลาของตัวเองมากขึ้น อาจต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลาคุณภาพ ถามไถ่ความรู้สึก หลีกเลี่ยงการถามเรื่องเรียน ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยกัน ลูกวัยรุ่นจำเป็นต้องฟังให้เยอะ ยอมรับในตัวตนของลูกให้มาก บางครั้งที่ลูกไม่อยากคุยกับพ่อแม่ อาจเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายใจ

เวลาคุณภาพ ระหว่างพ่อแม่ลูกที่ถือว่าประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมา คือ ความสัมพันธ์และการสื่อสาร ลูกจะเข้าหาพ่อแม่มากขึ้น ปฏิสัมพันธ์จะสร้างได้ดีมาก หากสร้างมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก ความสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นปัจจัยดึงลูกให้อยู่กับบ้าน แต่หากความสัมพันธ์ไม่ดี อาจจะมีความขัดแย้งหรือความไม่ไว้ใจ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในบ้าน บ้านจะกลายเป็นปัจจัยที่ผลักเด็กออกไปข้างนอก 

บางครั้งที่พบเด็กกระทำความผิด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านที่อาจจะพร่องไป ลูกเลือกออกไปข้างนอก เพราะข้างนอกรับฟังเขา เขามีตัวตน จึงต้องหาวิธีทำอย่างไรที่จะให้ลูกรู้สึกว่าอยู่กับพ่อแม่แล้วเขามีตัวตน ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกจะสื่อสารอะไรก็ได้กับพ่อแม่ 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : เวลาคุณภาพกับลูก สร้างอย่างไรดี
Link : https://www.facebook.com/watch/live/?v=438639954254704&ref=watch_permalink
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

ลูกเรียนรู้ช้า ไม่ใช่แค่ความขี้เกียจ แต่อาจมีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางด้านสมอง แนะเทคนิคพ่อแม่ ส่งเสริมเด็กที่เรียนรู้ช้า

บางครั้งที่ลูกสอบได้รั้งท้ายของห้อง เรียนไม่ทันเพื่อน อ่านหนังสือไม่เข้าใจ พ่อแม่อาจมีความคิดว่าลูกขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน แต่สาเหตุของสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจเสมอไป แต่เกิดจากความบกพร่องทางด้านสมอง

ครูแนน เจ้าของเพจ ครูแนนนักกิจกรรมบำบัด เล่าว่า ลูกเรียนรู้ช้า เกิดได้จาก 3 ปัจจัย 

1.) ความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities) หรือไอคิวต่ำ 

• ไอคิวต่ำ คือ ระดับไอคิวที่ต่ำกว่า 70 จัดได้ว่ามีสติปัญญาบกพร่อง
ครูแนนเล่าว่า เด็กที่มีไอคิวช่วงนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจน พ่อแม่จึงไม่ค่อยกังวลเพราะทำใจไว้แล้ว

• ไอคิวระดับ 80 – 89 จัดได้ว่า ปัญญาทึบ
เป็นช่วงที่พ่อแม่มีความกังวลสูง เพราะจะอยู่ก้ำกึ่ง เด็กที่มีไอคิวระดับนี้ อยู่ในโรงเรียนปกติ แต่อาจสอบได้รั้งท้ายของห้อง หากผู้ปกครองทราบเร็วก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ผ่านคำแนะนำของคุณหมอหรือการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ

• ไอคิวปกติ อยู่ที่ระดับ 90 – 109 

• ไอคิว 130 ขึ้นไป จัดได้ว่า อัจฉริยะ

2.) ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disabilities) เกี่ยวกับการทำงานของสมอง โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กชาย แบ่งได้เป็น 

• บกพร่องทางด้านการอ่าน โดยเป็นด้านที่พบได้มากที่สุด เด็กที่เป็น LD จะบอกว่า เหมือนเห็นตัวอักษรเคลื่อนไหวตลอด ซึ่งนักวิทยาศาตร์พยายามศึกษาถึงสาเหตุ เผยว่า สมองในช่วงขมับเชื่มโยงกับด้านข้าง ที่ทำงานเกี่ยวกับภาษาอย่างซับซ้อน เกิดความบกพร่อง ทำให้เกิดความยากลำบากในการอ่าน  

• บกพร่องทางด้านการเขียน ไม่ใช่เฉพาะเขียนไม่ดีเพียงอย่างเดียว เด็กที่มีปัญหาด้านนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ทางด้านสายตา คือ มองแล้วเห็นสลับไปสลับมา เช่นเห็น ด เด็ก เป็น ค ควาย 

• บกพร่องทางด้านการคำนวณ เช่น สามารถบวกลบคูณหารได้ แต่คิดโจทย์ปัญหาไม่ได้

3.) พัฒนาการช้ารอบด้าน (Global Developmental Delay) เด็กบางคนมีการพัฒนาช้า เช่น ยังไม่นั่ง ยังไม่ยืน ยังไม่ยังไม่คลาน ยังไม่เดิน โดยอาจจะมีพัฒนาการช้าด้านอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ไอคิว จึงเรียกว่า พัฒนาการช้ารอบด้าน 

หาจุดอ่อนและจุดแข็ง
เด็กที่เรียนรู้ช้า พ่อแม่ต้องทำการหาทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของลูก วิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อป็นเป้าหมายในการส่งเสริมความมั่นใจของเด็ก พ่อแม่ต้องเข้าไปช่วย ตั้งเป้าจากเล็กไปหาใหญ่ โดยพยายามหาจุดแข็งให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเรียน แต่เน้นไปที่ความพยายาม ครูแนนเล่าว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น รู้ว่าพ่อแม่หวังดี และต้องการอะไรจากเขา แต่พวกเขาเองก็ต้องการการเข้าใจ และกำลังใจจากพ่อแม่เช่นกัน

ตั้งเป้าหมาย สร้างความมั่นใจให้เด็กที่เรียนรู้ช้า
1.) ฟังมากกว่าพูด ยอมให้เขาพูดระบายความรู้สึก รับฟังโดยไม่ตัดสิน
2.) เน้นในสิ่งที่พวกเขาทำได้ และไม่ตำหนิในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ อะไรที่เขาผิดพลาดให้ชวนคิด แต่ไม่ตำหนิ
3.) ชมในความพยายามมากกว่าชมในเรื่องของผลลัพธ์

เทคนิคในการส่งเสริมเด็กที่เรียนรู้ช้า 
1.) ให้แรงเสริมที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องของความพยายามของเขา
2.) พูดสั้น ๆ กระชับ แล้วให้เขาทวนกลับ
3.) จัดตารางเช็คลิสต์หรือตารางชีวิตประจำวันให้ชัดเจน
4.) สร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและเพื่อน 
5.) ทำกิจกรรมร่วมกับที่บ้านให้เยอะ 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกเรียนรู้ช้าพ่อแม่ยังไงดี
Link : https://www.facebook.com/watch/live/?v=3699317736772086&ref=watch_permalink

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย : ภารวี สุภามาลา

คติประจำใจจาก "Arthur Ashe" นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก

“Start where you are. Use what you have. Do what you can.”

"จงเริ่มจากจุดที่คุณยืนอยู่ จงใช้ในสิ่งที่คุณมี และจงทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้"


Arthur Ashe (นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก)

คติประจำใจจาก "Bruce Lee" (นักแสดงภาพยนตร์บู๊ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัว)

“Life itself is your teacher, and you are in a state of constant learning.” 

“ชีวิตก็เป็นเหมือนครูในตัวของมันเอง และหน้าที่ของคุณคือเรียนรู้อยู่เสมอ”


- Bruce Lee (นักแสดงภาพยนตร์บู๊ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัว)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top