ลูกเรียนรู้ช้า ไม่ใช่แค่ความขี้เกียจ แต่อาจมีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางด้านสมอง แนะเทคนิคพ่อแม่ ส่งเสริมเด็กที่เรียนรู้ช้า

บางครั้งที่ลูกสอบได้รั้งท้ายของห้อง เรียนไม่ทันเพื่อน อ่านหนังสือไม่เข้าใจ พ่อแม่อาจมีความคิดว่าลูกขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน แต่สาเหตุของสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจเสมอไป แต่เกิดจากความบกพร่องทางด้านสมอง

ครูแนน เจ้าของเพจ ครูแนนนักกิจกรรมบำบัด เล่าว่า ลูกเรียนรู้ช้า เกิดได้จาก 3 ปัจจัย 

1.) ความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities) หรือไอคิวต่ำ 

• ไอคิวต่ำ คือ ระดับไอคิวที่ต่ำกว่า 70 จัดได้ว่ามีสติปัญญาบกพร่อง
ครูแนนเล่าว่า เด็กที่มีไอคิวช่วงนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจน พ่อแม่จึงไม่ค่อยกังวลเพราะทำใจไว้แล้ว

• ไอคิวระดับ 80 – 89 จัดได้ว่า ปัญญาทึบ
เป็นช่วงที่พ่อแม่มีความกังวลสูง เพราะจะอยู่ก้ำกึ่ง เด็กที่มีไอคิวระดับนี้ อยู่ในโรงเรียนปกติ แต่อาจสอบได้รั้งท้ายของห้อง หากผู้ปกครองทราบเร็วก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ผ่านคำแนะนำของคุณหมอหรือการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ

• ไอคิวปกติ อยู่ที่ระดับ 90 – 109 

• ไอคิว 130 ขึ้นไป จัดได้ว่า อัจฉริยะ

2.) ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disabilities) เกี่ยวกับการทำงานของสมอง โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กชาย แบ่งได้เป็น 

• บกพร่องทางด้านการอ่าน โดยเป็นด้านที่พบได้มากที่สุด เด็กที่เป็น LD จะบอกว่า เหมือนเห็นตัวอักษรเคลื่อนไหวตลอด ซึ่งนักวิทยาศาตร์พยายามศึกษาถึงสาเหตุ เผยว่า สมองในช่วงขมับเชื่มโยงกับด้านข้าง ที่ทำงานเกี่ยวกับภาษาอย่างซับซ้อน เกิดความบกพร่อง ทำให้เกิดความยากลำบากในการอ่าน  

• บกพร่องทางด้านการเขียน ไม่ใช่เฉพาะเขียนไม่ดีเพียงอย่างเดียว เด็กที่มีปัญหาด้านนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ทางด้านสายตา คือ มองแล้วเห็นสลับไปสลับมา เช่นเห็น ด เด็ก เป็น ค ควาย 

• บกพร่องทางด้านการคำนวณ เช่น สามารถบวกลบคูณหารได้ แต่คิดโจทย์ปัญหาไม่ได้

3.) พัฒนาการช้ารอบด้าน (Global Developmental Delay) เด็กบางคนมีการพัฒนาช้า เช่น ยังไม่นั่ง ยังไม่ยืน ยังไม่ยังไม่คลาน ยังไม่เดิน โดยอาจจะมีพัฒนาการช้าด้านอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ไอคิว จึงเรียกว่า พัฒนาการช้ารอบด้าน 

หาจุดอ่อนและจุดแข็ง
เด็กที่เรียนรู้ช้า พ่อแม่ต้องทำการหาทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของลูก วิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อป็นเป้าหมายในการส่งเสริมความมั่นใจของเด็ก พ่อแม่ต้องเข้าไปช่วย ตั้งเป้าจากเล็กไปหาใหญ่ โดยพยายามหาจุดแข็งให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเรียน แต่เน้นไปที่ความพยายาม ครูแนนเล่าว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น รู้ว่าพ่อแม่หวังดี และต้องการอะไรจากเขา แต่พวกเขาเองก็ต้องการการเข้าใจ และกำลังใจจากพ่อแม่เช่นกัน

ตั้งเป้าหมาย สร้างความมั่นใจให้เด็กที่เรียนรู้ช้า
1.) ฟังมากกว่าพูด ยอมให้เขาพูดระบายความรู้สึก รับฟังโดยไม่ตัดสิน
2.) เน้นในสิ่งที่พวกเขาทำได้ และไม่ตำหนิในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ อะไรที่เขาผิดพลาดให้ชวนคิด แต่ไม่ตำหนิ
3.) ชมในความพยายามมากกว่าชมในเรื่องของผลลัพธ์

เทคนิคในการส่งเสริมเด็กที่เรียนรู้ช้า 
1.) ให้แรงเสริมที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องของความพยายามของเขา
2.) พูดสั้น ๆ กระชับ แล้วให้เขาทวนกลับ
3.) จัดตารางเช็คลิสต์หรือตารางชีวิตประจำวันให้ชัดเจน
4.) สร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและเพื่อน 
5.) ทำกิจกรรมร่วมกับที่บ้านให้เยอะ 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกเรียนรู้ช้าพ่อแม่ยังไงดี
Link : https://www.facebook.com/watch/live/?v=3699317736772086&ref=watch_permalink

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย : ภารวี สุภามาลา