ลูกฉลาด...แต่ไม่สามารถสื่อสารได้ ไขข้อข้องใจ พร้อมวิธีแก้!!
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ ผู้ซึ่งมีความสนใจพิเศษในเรื่องพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ให้ข้อมูลว่า ในทางพัฒนาการมอง ‘ความฉลาด’ คือ ทักษะ หรือความสามารถที่เด็กทำได้ดีเป็นพิเศษ หรือมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ง่ายกว่าทักษะอื่นๆ ในความเป็นจริงทุกคนจะมีความฉลาด สิ่งที่ถนัด สิ่งที่เรียนรู้ได้เร็วเฉพาะด้านของตัวเอง
แต่ในปัจจุบัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้นิยามความฉลาดมาจากการพูดเป็นหลัก โดยมองว่า เด็กที่สามารถพูดคุย ตอบโต้สื่อสารได้ เป็นเด็กฉลาด หรือเด็กที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เป็นเด็กฉลาด ซึ่งเป็นความเข้าใจไปเองของผู้ปกครอง ไม่ใช่ความฉลาดตามช่วงวัย หรือสะท้อนศักยภาพของสมองที่แท้จริง เนื่องจากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบันออกแบบมาให้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน การที่เด็กเล็กใช้งาน Smartphone หรือ Tablet ได้จึงเป็นเรื่องปกติ ความเข้าใจผิดในนิยามความฉลาดรูปแบบนี้ทำให้ผู้ปกครองมองข้ามความฉลาดและพัฒนาการที่แท้จริงที่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กในแต่ละช่วงวัยไป
การสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
• ช่วงประมาณ 1 ขวบ เด็กควรมีการสื่อสารแบบ specific ในการเรียกคุณพ่อคุณแม่ คนใกล้ชิด ด้วยคำเฉพาะ หรือเสียงเฉพาะ เช่น พ่อแม่ ป๊าม๊า
• ช่วงประมาณ 1 ขวบครึ่ง เด็กควรจะพูดคำศัพท์เดี่ยวๆ ได้ คือ คำที่มีความหมายและเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เด็กมองเห็นลูกบอลแล้วพูดว่า บอลๆ อยากกินนมแล้วพูด นมๆ เป็นคำที่หมายถึงสิ่งนั้นจริงๆ จึงจะเรียกว่าการสื่อสาร ซึ่งการที่เด็กไม่รู้จะพูดอะไรกับผู้ใหญ่ คิดคำไม่ออก อาจทำให้พูดออกมาเป็นภาษาต่างดาวหรือผสมภาษาใหม่ขึ้นมาเอง สิ่งนี้เป็นสัญญาณว่าเด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือ หรือมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร
• ช่วงประมาณ 2-3 ขวบ เด็กต้องพูดเป็นประโยคได้ มีประธาน กิริยา กรรม สามารถเข้าใจได้
กรณีต่อมาคือ เด็กพูดได้ตามช่วงวัยและพัฒนาการแล้ว แต่ไม่ชอบสื่อสารกับคนอื่น เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ บุคลิกภาพ ที่เป็นคนพูดน้อย เก็บตัว หรืออีกแบบคือ อยากสื่อสาร แต่ขาดทักษะเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนอื่น ซึ่งหากเป็นรูปแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยเหลือได้เยอะมาก โดยใช้เวลาที่อยู่บ้านทำการฝึกพูดกับลูกก่อน
สิ่งที่จะช่วยเสริมทักษะการสื่อสารต่อมาคือ การอ่าน เด็กที่ชอบอ่านหนังสือมีแนวโน้มจะสื่อสารได้ดี เนื่องจากมีคลังคำศัพท์ในหัวเยอะ ภาษาทางวรรณกรรมหรือการเขียนเป็นภาษาที่สวยงาม เด็กจะได้รับการปลูกฝังทางภาษาที่ดีไปด้วย หนังสือที่เด็กอ่านได้มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน วรรณกรรมเยาวชน สารคดี นิตยสาร การ์ตูนที่มีคุณภาพ
สิ่งสำคัญในการสื่อสาร คือ เด็กต้องรู้จักเข้าใจตัวเองก่อน ถึงจะกล้าสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจ การสร้างความมั่นใจให้กับตัวเด็กเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขากล้าที่จะพูดและแสดงออก วิธีที่สามารถทำได้คือ เวลาที่ลูกแสดงความคิดเห็นที่บ้าน ผู้ปกครองอย่าเพิ่งตัดสินว่าเขาเถียง เพราะเมื่อเด็กโดนเบรคบ่อยๆ จากในบ้านจะทำให้รู้สึกว่าการไปพูดกับคนอื่นนอกบ้าน เป็นการไม่ดีต่อตัวเองหรือไม่
กรณีที่เด็กเคยสื่อสารกับเพื่อนและมีความผิดพลาดบางอย่าง เช่น พูดแล้วทะเลาะกัน เพื่อนไม่เข้าใจ คุยกันคนละภาษา พัฒนาการไม่ตรงกัน ต้องอาศัยพ่อแม่เข้ามาช่วยซักถาม ต้องหาก่อนว่าปัญหาคืออะไร กรณีที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กที่ไม่พูดอะไรจนเหมือนไม่มีเพื่อน กรณีนี้อาจแปลว่าต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากขาดทักษะทางสังคม ต้องการการกระตุ้นและการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
กรณีที่เด็กมีข้อมูลอยู่ในหัวแต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ ครูพิมพ์กล่าวว่า ในเรื่องของการสื่อสารอาจไม่ได้มองเรื่องของการพูดเพียงอย่างเดียว การสื่อสารสามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่นได้ เช่น อาจลองให้ลูกเขียน วาดรูป ทำท่าทาง ฝึกให้คุ้นเคยกับการแสดงออกก่อน จากนั้นค่อยนำมาปรับว่าจะแสดงออกในเรื่องของการพูดอย่างไร ตัวอย่างคือ ระหว่างที่ลูกเขียนให้ดู เราอาจจะพูดไปกับเขาด้วย บางครั้งพ่อแม่ต้องเป็นคนที่นำลูกก่อน ทำให้ลูกรู้วิธีการพูด เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากับลูกพอสมควร เพราะบางเรื่องลูกไม่สามารถที่จะฝึกได้ด้วยตัวเอง
เพราะคนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่สื่อสารเก่ง สื่อสารเป็น รู้วิธีที่จะสื่อสารออกไป พ่อแม่จะช่วยลูกได้โดยการลดเวลาเรียนรู้ เพิ่มเวลาเล่น คุมตารางเวลาของลูกที่เหลือให้เป็นโอกาสที่เขาได้ฝึกตัวเอง การไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน คำถามง่ายๆ ที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารโดยธรรมชาติ
ครูพิมพ์ฝากไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของลูก สิ่งที่ได้จากการฟังข้อมูลเป็นแนวทางอย่างหนึ่ง แต่จะไปถึงตัวเด็กได้ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ บางครั้งอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือความรู้สึกของตัวเราเอง ที่อยากเปลี่ยนแปลง ซัพพอร์ต หรือสงสารลูก พยายามทำให้ความรู้สึกชัดเจนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความต่อเนื่องมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง วิธีการแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องมีคือการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงทั้งตัวลูกและตัวเอง
สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกฉลาด...แต่ไม่สามารถสื่อสารได้
Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/470271574330379
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา