Saturday, 20 April 2024
FAMILY

Saturday School หรือโรงเรียนวันเสาร์ ไม่มุ่งเน้นวิชาการ แต่มุ่งเน้นพัฒนา Soft Skill โดยวัดผลจากการจัดแสดงผลงานของเด็ก ๆ แทนการจัดอันดับหรือการแข่งขัน

ยังมีอะไรอีก ที่สำคัญต่อชีวิต และโรงเรียนไม่ได้สอน

เมื่อครั้งคุณยีราฟเป็นอาสาสมัคร Teach for Thailand ได้มีโอกาสเห็นศักยภาพมากมายในตัวเด็ก ๆ ในโครงการ แต่โรงเรียนสายสามัญกลับยังไม่มีหลักสูตรรองรับ คุณยีราฟเล่าว่า เห็นเด็กมีความสามารถหลายด้าน เช่น เด็กบางคนวาดรูปสวยมาก บางคนทำกิจกรรมกับผู้คนเก่ง บางคนเขียนโปรแกรมเก่ง หรือบางคนเต้นเก่ง หรืออาจจะพูดเก่ง แต่ในโรงเรียนกลับไม่มีวิชาเหล่านี้

คุณยีราฟจึงดึงครูอาสาที่ความสามารถเหมือนกับเด็กเหล่านั้นมาร่วมงาน และต่อยอดขยายผลจากการเป็นครูอาสามาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ที่ชื่อว่า Saturday School มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์

ประสบการณ์ตั้งแต่ได้เป็นครูอาสา ทำให้คุณยีราฟเล็งเห็นความสามารถที่หลากหลายของเด็ก ที่หลักสูตรโรงเรียนในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรองรับเด็ก ๆ เหล่านั้นให้สามารถต่อยอดความถนัดที่เค้ามีอยู่แล้วได้ โรงเรียนวันเสาร์ จึงไม่มุ่งเน้นวิชาการ แต่มุ่งเน้นพัฒนา Soft Skill โดยวัดผลจากการจัดแสดงผลงานของเด็ก ๆ แทนการจัดอันดับหรือการแข่งขัน

Soft Skill ที่โรงเรียนวันเสาร์มุ่งเน้นนั้น มี 4 ทักษะด้วยกัน คือ

  1. Self-Awareness การรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง
  2. Resilience ความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น เรียนรู้แล้วลุกเร็ว
  3. Growth Mindset ความเชื่อว่าตัวเองทำได้
  4. Potential Behavior คือความมีจิตใจที่จะทำเพื่อสังคม

ในกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนวันเสาร์นั้น คุณยีราฟใช้ Design Thinking มาปรับใช้และเอาวิธีคิดแบบ Ownership หรือความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมาจับ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ปัจจุบันโรงเรียนวันเสาร์จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมนอกเหนือจากโรงเรียน โดยมีระดับชั้นมัธยมต้นเป็นโปรแกรมหลัก เด็ก ๆ ในโปรแกรมยังสามารถชวนเพื่อนจากโรงเรียนอื่นมาร่วมเข้าโปรแกรมได้ด้วยเช่นกัน

หากคุณคือคนหนึ่งที่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ในขณะที่เวลาของความเป็นเด็กนั้นมีจำกัด เราคงไม่สามารถเอาเวลาไปเรียนอะไรที่สุดท้ายแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ และยังมีอะไรอีกมากมายที่ในรั้วโรงเรียนไม่ได้สอน

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ : โรงเรียนวันเสาร์ “วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน”

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/466518634738895

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ออกจาก ‘Comfort Zone’ เพราะการติดอยู่ในนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายที่สุดในยุคนี้ ทั้ง ๆ ที่ Comfort Zone เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ทำไมแนะนำให้ออกจากตรงนั้น เพื่อความปลอดภัย

โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน  คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ และทิศทางของโลกในอนาคต ไม่เช่นนั้นเราจะคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง

พ่อแม่หลายคนมีความกังวลว่า ไม่รู้จะสอนลูกอย่างไรหลังสถานการณ์โรคระบาดผ่านไป เพราะอาชีพที่เคยมั่นคงกลับไม่มั่นคง ทักษะบางเรื่องกลับไม่จำเป็นอีกต่อไป

ปัจจัยในการดำรงชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทักษะบางอย่างกลับใช้ไม่ได้ อาชีพบางอาชีพที่มีความมั่นคง กลับล่มสลาย การใช้ชีวิตมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น  และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ Comfort Zone ที่เคยทำหน้าที่ปกป้องเราไม่ให้ได้รับภัยอันตราย มันกลับกลายเป็น “คอกปิดกั้นความสำเร็จ” ของเราไปเสียแล้วค่ะ

นั่นคือเหตุผลว่าทุกคนไม่ควรอยู่ใน Comfort Zone เพราะการติดอยู่ในนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายที่สุดในยุคนี้

มารู้จักกับ Comfort Zone

Comfort Zone คือ การทำงานของสมองและระบบประสาทของมนุษย์ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติออกแบบมาให้เรามีความสามารถในการมีชีวิตรอด โดยการทำอย่างไรก็ได้ให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพื่อเป้าหมายพื้นฐานที่สำคัญนี้เอง ระบบประสาทของเราจึงสร้างกลไกที่เรียกว่า Comfort Zone ขึ้นมา เพื่อลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตเรา

ลองเช็คตัวเองดู ว่าเราเคยมีความรู้สึกแบบนี้บ้างไหม

ความรู้สึกว่า “ฉันกลัว” ฉันต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย”

ความรู้สึกว่า “ฉันไม่สามารถ”  หรือ “ฉันไม่มีวันทำได้”

ความรู้สึกว่าสิ่งนั้น “มันเป็นไปไม่ได้”

ความรู้สึกว่าใครๆ “จะไม่ยอมรับ” หรือ “ไม่ชอบ”

ความรู้สึกว่า “ฉันเหนื่อยแล้ว”  “พอแล้ว”

ความรู้สึกว่า “ฉันสำเร็จ  สมบูรณ์ดีแล้ว” หรือ “ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว”

ความรู้สึกที่ว่า “ฉันผิด” และต้องการไถ่ถอนความรู้สึกผิด จนไม่กล้าก้าวไปข้างหน้า

ลองตั้งข้อสังเกตว่าบรรยากาศในบ้านเราเป็นแบบนี้หรือไม่

เพราะมีใครสักคนในบ้าน วางกรอบให้ลูกเดินไว้ใช่หรือไม่  ลูกถึง “ไม่กล้า” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน เป็นคนขี้กลัว ขี้กังวลมากเกินเหตุใช่หรือไม่ ลูกถึง “ขี้กลัว” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน เป็นคนที่คิดแทนลูกเองทุกเรื่องใช่หรือไม่  ลูกถึง “ไม่กล้าคิด” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน ชอบดุด่าเมื่อลูกแสดงความคิดเห็น ใช่หรือไม่ ลูกถึง “ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก”

เพราะมีใครสักคนในบ้าน ชอบลงโทษเมื่อลูกทำผิดใช่หรือไม่ ลูกถึง “ไม่กล้าพูดความจริง” เอาแต่โกหก

เพื่อลูก พ่อแม่ที่ฉลาดจะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก

การฝึกให้ลูกออกจาก Comfort Zone

เริ่มต้นง่ายๆ จากการอนุญาตให้ลูก ทำกิจกรรมใหม่ๆ กับคนใหม่ สถานที่ใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ภายใต้ค่านิยมของสังคม โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยง ให้เขาได้เลือกเอง พ่อแม่ควรเคารพและยอมรับในการตัดสินใจของลูก พ่อแม่เพียงผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ เป็นพี่เลี้ยงบ้างบางเวลาที่เขาต้องการ ไม่ต้องไปคาดหวังว่าสิ่งที่ลูกเลือกนั้นจะประสบความสำเร็จสูงสุด

ผลลัพธ์ในครั้งแรกอาจจะเสียมากกว่าได้ หรือพอ ๆ กัน แต่สิ่งที่เขาได้คือประสบการณ์ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน และที่บ้าน ทุกคนในบ้านมีหน้าที่คอยเป็นพื้นที่ทำให้พวกเขาสบายใจ เสมือนคอยเป็นฟองน้ำนุ่มๆ เมื่อเขาผิดหวังหรือเซล้มลงมาพวกเขาจะได้ เจ็บปวดน้อยที่สุด คอยโอบกอดไว้ และคอยพูดเตือนสติ เพื่อให้ลูกๆ ค้นหาวิธีแก้ไข และต่อสู้ชีวิตต่อไป  

พูดให้กำลังใจ “คนทำงานก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ลูกจงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น” เพื่อครั้งต่อไปลูกจะได้ไม่พลาดซ้ำ และ “การที่ลูกสามารถข้ามผ่านปัญหาในครั้งนี้ไปได้ เท่ากับว่า ลูกได้เติบโตและเก่งขั้นอีกหนึ่งขั้น” ถือเป็นเรื่องดี  พ่อแม่ทั้งหลายจงรู้ไว้เถิดว่านั่นคือ วัคซีนเข็มแรกที่ลูกๆ ได้รับและเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดในการสอนลูกให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งค่ะ

ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนชีวิต สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ การเปลี่ยนความคิด

เพราะคุณไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ จากการคิดเหมือนเดิม พูดเหมือนเดิม และทำเหมือนเดิม


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล:

https://noodee2012.wordpress.com/

https://www.jeab.com/

https://www.nopadolstory.com/

หลังจากตอนที่แล้ว คุณพ่อแฟรงค์ เล่าเรื่องการรับมือกับลูกวัยรุ่นในแบบของคุณพ่อ วันนี้จะมาแบ่งปันวิธีจัดการกับเวลาและงานอดิเรก รวมถึงการเตรียมพร้อมลูกให้เดินทางไปสู่ความฝันได้

“ความเชื่อทำให้เราไม่ได้ตรวจสอบอะไรทั้งสิ้น”

คำพูดของคุณพ่อแฟรงค์ทำให้ได้ฉุกคิด คุณพ่อแฟรงค์มีลูก 2 คน คนโตก้าวเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ในช่วงวัยรุ่นคุณพ่อผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และพ่อแฟรงค์คือผู้ใหญ่ที่เตือนเราให้ไม่ลืมตรวจสอบความเชื่อของเราเอง

“ผมจะบอกกับลูกว่า ฟังพ่อนะลูก แต่อย่าเชื่อพ่อทั้งหมด มีอะไรที่พ่อไม่รู้ ให้บอกพ่อด้วย เด็กรุ่นนี้ถูกต่อว่าว่ารอไม่เป็น แต่มองอีกอย่าง เค้าเกิดมารองรับความรวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยที่คนรุ่นเราเริ่มตามไม่ทัน ผมเคยคุยกับลูก เวลาเราเห็นคนนุ่งจีวร เราเห็นเค้าเป็นอะไร เห็นเป็นพระ ลองให้ลูกจินตนาการว่าให้คนเดิมที่นุ่งจีวรมาใส่ชุดแนวฮิปฮอป เราจะเห็นเค้าเป็นแบบไหน ผมกับลูกก็หัวเราะกัน บางทีรูปลักษณ์ภายนอกหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ส่งผลต่อความเชื่อของเราที่มีต่อเค้าได้ ผมไม่ได้ให้ปฏิเสธความเชื่อ แต่ให้ตรวจสอบความเชื่อ”

ตอนที่แล้วคุณพ่อแฟรงค์พูดถึงการรับมือกับลูกวัยรุ่นในแบบของคุณพ่อ วันนี้เรามาต่อกันว่า คุณพ่อแฟรงใช้วิธีใดจัดการกับเวลาและงานอดิเรก รวมถึงการเตรียมพร้อมลูกให้เดินทางไปสู่ความฝันได้

จากที่พ่อแฟรงค์เล่า พ่อแฟรงค์ไม่ได้ทำอะไรแตกต่างไปจากพ่อแม่คนอื่น ๆ ส่งลูกไปเรียนดนตรี เล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่เป็นที่นิยม แต่สิ่งที่พ่อแฟรงค์น่าจะทำได้ดีเป็นพิเศษกว่าพ่อแม่หลายคน คือคุณพ่อแฟรงค์เลือกที่จะใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด

“ครั้งหนึ่งผมส่งลูกไปเรียนดนตรีเป็นปกติ แล้วหลังจากเค้าเรียนเสร็จ ก็ให้ลูกเดินเล่นในห้างรอพ่อไปรับ ผมรู้สึกว่าทำไมเราปล่อยให้เค้าเดินเรื่อยเปื่อยในห้างรอเราอยู่คนเดียว หลังจากนั้นผมตั้งใจว่าจะใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด แล้วพอเราใช้เวลากับเค้า เราจะรู้ว่าลูกชอบอะไร เก่งอะไร พิเศษเรื่องไหน เราก็จัดเวลา จัดลำดับความสำคัญให้ลูกได้ จัดลำดับความสำคัญของงานอดิเรก อันไหนหาเงินได้ หาได้เท่าไหร่ เราจะทำอันไหนก่อนหลัง จัดตารางแต่ละวัน เด็กสมัยนี้ทำงานอดิเรกได้หลายอย่างต่อวัน อันไหนเร่งด่วนและมีประโยชน์ก็ทำก่อน การบ้านยังถึงเวลาส่ง ก็ทำทีหลังได้ งานไหนได้ประโยชน์ ได้ความรู้ได้ทักษะ ก็แบ่งเวลาไปทำ และเมื่อเราทำแล้ว ก็ให้ทำงานอดิเรกนั้นให้ดี”

ความฝันมีให้เรารู้ว่าเราไปไหน แค่ระหว่างเดินทางไปเรามีความสุขก็เพียงพอแล้ว

“จะทำตามความฝัน ต้องเตรียมตัวเราให้เราไปสู่เป้าหมายได้ สุขภาพต้องพร้อมด้วย อาหารการกินสำคัญ ทานอาหารเช้า ออกกำลังกาย พยายามนอนช่วง 4 ทุ่มถึงตี 5 นอนเวลาอื่นยังไงก็ไม่เพียงพอเหมือนช่วงนี้ เพราะไม่ใช่ช่วงที่ Growth Hormones หลั่ง”

เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้ลูกหา skill ของเค้าเอง แล้วสนับสนุนเค้า

“เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดได้ก่อน บางคนวิ่งได้ก่อน ให้ลูกหา skill ของเค้าเอง แล้วสนับสนุนเค้า ถ้าเรากดเค้าไว้ นอกจากสิ่งนั้นจะไม่เบิกบานแล้ว เราจะสูญเสียอัจฉริยะบุคคลแน่นอน ความฝันมีไว้ให้เรารู้ว่าเราเดินไปไหน เราก็เดินสบาย ๆ เดินของเราไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข สำคัญคือ อย่าผลักลูกไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม”

น้องเฟียนที่นั่งอยู่เคียงข้างพ่อ ดูเป็นตัวของตัวเองเหมือนวัยรุ่นทั่วไป และเมื่อเค้าเดินไปจับเปียโน น้องเฟียนก็ฉายแสงของศิลปินออกมาทันที ความสัมพันธ์ที่ดีของลูกชายศิลปินวัยรุ่นกับพ่อที่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกเปล่งประกายตลอดการสัมภาษณ์

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และคุณลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รับมือกับลูกวัยรุ่น เพื่อไปต่อให้ถึงเป้าหมาย

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/249307613299909

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

เรื่องเล่าของคุณพ่อแฟรงค์ คุณพ่อที่มีลูกก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จะมาแบ่งปันมีวิธีการ พ่อแม่จะพาลูกก้าวข้ามช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไปกับลูกได้อย่างไร Part 1

“ถ้าเรากดเค้าไว้ นอกจากสิ่งนั้นจะไม่เบิกบานแล้ว เราจะสูญเสียอัจฉริยะบุคคลแน่นอน”

คำพูดของคุณพ่อน้องเฟียน หรือคุณพ่อแฟรงค์ เปิดนำก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้น้องเฟียนโชว์ฝีมือการบรรเลงเปียโนให้ฟัง บทเพลงที่น้องเฟียนเล่นเป็นเพลงแนวคลาสสิค และที่น่าประทับใจไปกว่านั้น น้องเฟียนแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเอง ตอนนี้หนุ่มน้อยนักดนตรีคลาสสิคคนนี้ได้ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว พ่อแฟรงค์จึงมาแบ่งปันมีวิธีการว่าเราจะพาลูกก้าวข้ามช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปกับลูกได้อย่างไร

คุณพ่อแฟรงค์เปรียบวัยรุ่นเป็นเหมือนกับผีเสื้อ

“ผมเปรียบวัยรุ่นเป็นผีเสื้อตอนที่กำลังเปลี่ยนจากดักแด้เป็นผีเสื้อ ช่วงที่เค้ากำลังออกมาจากตัวดักแด้มันเร็วมากแล้วเค้าจะกลายเป็นผีเสื้อเลย พ่อแม่จะทำตัวไม่ถูกเมื่อเห็นลูกเปลี่ยนไป จะกลัวและเครียด พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า ถึงเมื่อวานเค้ายังเป็นเด็กอยู่ก็จริง แต่วันนี้เค้ากำลังจะไปเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลูกเค้าเปลี่ยนไปแล้ว เค้าไม่ใช่คนเดิมแล้ว มีแต่เรานั่นแหละที่ยังเหมือนเดิม เราต้องเข้าใจการเติบโตของลูก”

คุณพ่อแฟรงค์ไม่ห้ามลูก และสนันสนุนให้ลูกได้ลองทำ

“เวลาจะห้ามลูก ให้นึกถึงตอนเราอายุเท่ากันกับเค้า ตอนเราอายุ 15 - 16 ปีเท่าเค้าเรารู้สึกยังไง เราก็เป็นแบบเค้าเหมือนกัน ผมจะคุยกับลูกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือการซ้อมในการใช้ชีวิตจริง ลูกซ้อมไว้เลย ทำให้ดี แล้วเรียนรู้ว่าอยากจะมีชีวิตแบบไหน วัยรุ่นเป็นช่วงที่เค้ากำลังสร้างตัวตน ปล่อยให้ลูกสร้างตัวตน เค้าจะได้เป็นเค้าที่แข็งแรง ไปห้ามเค้า เค้าจะสร้างตัวตนไม่สำเร็จ อย่าเป็นศัตรูกับลูก การห้าม เป็นการผลักให้ลูกไปอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วเมื่อไหร่ที่เค้าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเรา เค้าจะอยู่กับเราเพราะเค้ามาขอเงินเราเท่านั้น เมื่อเค้าไปได้เค้าจะไปทันที ตอนเด็กเค้ายอมเราได้ แต่ตอนเค้าเป็นวัยรุ่น เค้าไม่ยอมเราแล้ว ฉะนั้นให้เค้าได้ลองและสนับสนุนเค้า”

ให้ลูกได้เห็นชีวิตจริง น้องเฟียนเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่าพ่อเคยพาไปดูเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต เฟียนจึงรู้ว่ากว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดเพื่อแลกกับเงินไม่มากนั้นยากเย็นขนาดไหน

“ผมให้ลูกเห็นว่า มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีการรอคอย มีงาน มีหน้าที่ ความรู้เป็นเรื่องที่หาได้ทั่วไปแล้ว แต่การกระทำ การรู้จักหาวิธีสร้างรายได้สำคัญกว่า ผมเห็นตอนนี้มี AI ที่แปลภาษาได้หลายภาษาแล้ว ฉะนั้น AI จะเข้ามาทำงานแทนที่ทักษะด้านนี้ เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เทรนด์มันมาแล้ว ถ้าปรับตัวได้ก่อน ก็ไปได้ก่อน”

ตอนต่อไปเราจะมาต่อเรื่องวิธีการจัดเวลาให้กับงานอดิเรกที่ไม่อดิเรก และวิธีจัดการกับความเชื่อของคนยุคเก่าที่คุณพ่อแฟรงค์ใช้กันค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และคุณลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รับมือกับลูกวัยรุ่น เพื่อไปต่อให้ถึงเป้าหมาย

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/249307613299909

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

แม่ที่มี EQ สูงสามารถเลี้ยงลูกได้ดี แม้สถานการณ์บางอย่างไม่เอื้ออำนวย เธอก็ยังสามารถแยกแยะ และสามารถทำหน้าที่แม่ที่ดีได้อย่างไม่บกพร่อง

ผลงานวิจัย พบว่า ลูกเก่ง มาจากการเลี้ยงดูของแม่ที่มี EQ สูง

แม่ สำคัญต่อความสุข และความสำเร็จของคนในครอบครัวอย่างไร

จริงอยู่เรายกให้พ่อเป็นผู้นำครอบครัว แต่ แม่ คือ คนกำหนดบรรยากาศภายในบ้าน จะสังเกตได้ว่าถ้าวันไหนแม่อารมณ์ดี คนในบ้านก็มีแต่รอยยิ้ม ถ้าวันไหนแม่อารมณ์เสีย บรรยากาศในบ้านก็หม่นหมองไปด้วย

แต่ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นแบบนี้

ผู้หญิงส่วนใหญ่ มักมีจุดศูนย์กลางของชีวิตไปขึ้นอยู่กับผู้ชาย (สามี) อารมณ์ก็จะขึ้นลงตามความรักของผู้ชาย กลายเป็นโลกทั้งใบคือนายคนเดียว เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิด ที่ไปสั่นคลอนต่อความรัก จิตแม่ก็จะตก อารมณ์จะไม่มั่นคง ขาดจุดยืน อ่อนไหวทางด้านจิตใจ  คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือลูก ๆ ของเรานั่นเอง

แม่ที่ EQ สูงสามารถเลี้ยงลูกได้ดี แม้สถานการณ์บางอย่างไม่เอื้ออำนวยก็ตาม เธอก็ยังสามารถแยกแยะและสามารถทำหน้าที่แม่ที่ดีได้อย่างไม่บกพร่อง

ผู้หญิงที่มี EQ สูงมักเลี้ยงลูกแบบไหน​​​

1.) ให้ความรัก หมั่นพูดคุยกับลูก แสดงออกให้ลูกรับรู้ถึงความรักและความอบอุ่น

2.) เข้าใจพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย จะได้ปฎิบัติต่อเขาอย่างถูกต้อง เหมาะสม

3.) ให้ความเป็นส่วนตัว กิจกรรมพักผ่อน อยู่กับเพื่อนบ้าง ฟังเพลงที่เขาชอบ เล่นดนตรีที่เขารัก

4.) ส่งเสริมให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ด้วยการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

5.) ให้โอกาสและอิสระในการตัดสินใจ จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่บังคับจิตใจ จะทำให้ลูกรู้สึกมีความภาคภูมิใจในตัวเอง

6.) สอนให้ลูกรักตัวเอง และรักคนอื่นเป็น จะได้มีความโอบอ้อมอารี เริ่มต้นจากเรื่องง่าย ช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ รินน้ำให้ดื่ม ช่วยยกกระเป๋า

7.) มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่พอดี ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ให้ลูกสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี ถ้าบังคับมากจนเกินไป จะทำให้ลูกมีความกดดันสูง เกิดความเครียดในการใช้ชีวิต

8.) ให้ลูกรู้จักคิดแบบเป็นเหตุและเป็นผล หมั่นอธิบาย ว่าอะไรควรไม่ควร เรื่องกาลเทศะ การรักษามารยาทเป็นเรื่องสำคัญที่ลูกต้องเข้าใจเหตุผล

9.) สอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ ฝึกให้มีวินัย ในกิจวัตรประจำวัน เวลาไหนเรียน เวลาไหนเล่น

10.) การศึกษาที่ดี การฝึกจิตใจที่ดี มีผลต่อการมี EQ สูง พยามให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง พยายามแยกแยะให้ลูกเข้าใจระหว่าความจริง กับความเห็น

สายตาที่ลูกมองมา ต้องการเห็นอะไร

“ลูก” อยากเห็นแม่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีเหตุมีผล เป็นตัวของตัวเอง มากกว่าแม่ที่อ่อนไหวอารมณ์แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ลูกต้องการเสาหลักไว้ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ ในขณะที่พวกเขายังแกร่งไม่มากพอ

สำหรับลูก ๆ ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออนาคต ถ้าวันหนึ่งเจอกับความผิดหวัง เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ในเวลานั้นทุกคนต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับไว้เยียวยาตัวเอง และที่แห่งนั้น ก็คือ “บ้าน” ขอให้ทุกคนกลับไปบ้าน  เพราะที่นั่น มี “แม่” ที่จะคอยซับความทุกข์ของลูกให้คลายลง แม่ที่คอยโอบกอดให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง

แม่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งและอดทน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม่จะยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไปไม่มีวันหยุด “แม่ คือผู้สร้างโลก” โลกที่สวยงามเสมอสำหรับลูก

วิธีคิดที่ถูกต้องนำมาสู่ชีวิตที่ถูกต้องเสมอ

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับ “คุณแม่” ทุกคน ขอให้มีชีวิตที่ทรงพลังในทุกๆวันคะ


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima

อ้างอิงจาก

https://th.theasianparent.com/

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

การเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก องค์ประกอบสำคัญ นอกเหนือจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ รวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

นอกจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ย่อมต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาในสถาบันที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่ชาวไทยหลายครอบครัวต้องการปลูกฝังวิธีคิดแบบสากลให้ลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย

ทั้งยังสร้างเสริมความแข็งแกร่งด้านวิชาการรวมไปถึงภาษาที่สองหรือสาม เตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาขั้นสูงในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสและอนาคตสำหรับหน้าที่การงานที่ได้เปรียบกว่าอีกด้วย

กรุงเทพฯ นับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งที่มีตัวเลือกของสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติมากมายให้เลือก แต่ละที่ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอกเหนือจากการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และดูรีวิวแล้ว การเดินทางไปดูโรงเรียน หรือ School Visit นั้นสำคัญมาก นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ facility ที่ดีแล้ว สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน บทความนี้จะช่วยรวบรวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

1.) โรงเรียนมีเครือข่ายระดับนานาชาติหรือความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่ขนาดไหน

เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรถาม เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งในประเทศไทย มีทั้งแบบที่ก่อตั้งขึ้นโดยอิสระ และแบบโรงเรียนสาขาที่ถ่ายทอดระบบการเรียนการสอนมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายจากต่างประเทศย่อมได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงระดับสากล ยิ่งโรงเรียนแม่เก่าแก่ ได้รับการยอมรับและมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเท่าไร ก็เป็นได้ไปว่าสาขาโรงเรียนในกรุงเทพฯ จะมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน ซึ่งควรถามให้แน่ใจว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่มากน้อยแค่ไหน มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางการศึกษาในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

2.) โรงเรียนมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับใด

โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองที่ลูกใช้เวลาทุกวัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มาตรฐานความปลอดภัยรวมไปถึงสุขอนามัยและความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้าม โรงเรียนที่น่าเชื่อถือจะสามารถอธิบายได้ถึงระบบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่มี รวมไปถึงแนวทางปฎิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น อุบัติเหตุในชั้นเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรม ไปจนถึงการเกิดโรคระบาด เหตุเพลิงไหม้ ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การก่อวินาศกรรม

3.) โรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูอย่างไร

นอกจากหลักสูตรแล้ว ครูผู้สอนก็นับเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของลูก แต่ละโรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูที่แตกต่างกันไป โรงเรียนนานาชาติที่ดีควรจะมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันนอกเหนือจากใบสมัครและการสัมภาษณ์ รวมถึงการเดินทางไปประเมินทักษะการสอนที่โรงเรียนเดิมและพูดคุยกับบุคคลอ้างอิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่านอกจากครูท่านนั้นจะมีความรู้ความสามารถแล้วยังมีทัศนคติที่ดีอีกด้วย

4.) จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนของโรงเรียนจะทำให้เด็ก ๆ มีความสุข

การศึกษาที่ดีไม่ควรเน้นให้เกิดเพียงความเป็นเลิศด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังควรสร้างความสุขและสร้างเสริมทักษะอื่น ๆ ของเด็กด้วย นอกจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เหมาะสม และอุปกรณ์การสอนที่ครบครันแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรตั้งคำถามคือ โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามช่วงวัย เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคมอย่างไรบ้าง มีแนวทางการปลูกฝังด้านสังคมและวัฒนธรรมในโรงเรียนอย่างไร เช่น มีนโยบายจัดการกับการล้อเลียนและพฤติกรรมรุนแรง (บูลลี่) อย่างไร มีครูและบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ และมีการเรียนการสอนหรืออบรมที่ถูกต้องเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมและทัศนคติที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์หรือไม่

5.) หลักสูตรของโรงเรียนปูทางสำหรับการศึกษาขั้นสูงต่อไปอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เป็นความคาดหวังของพ่อแม่คือลูกจะประสบความสำเร็จในระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่ดี ดังนั้นโรงเรียนที่ดีควรมีการปูพื้นฐานความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เช่น หากต้องการให้ลูกได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ผู้ปกครองควรถามว่าทางโรงเรียนมีโปรแกรม IGCSE หรือไม่ หรือมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดระดับ A-Level ให้กับเด็กอย่างไร มีการแนะแนวทางสำหรับการศึกษาต่ออย่างไร

6.) มีจุดเด่นที่สร้างสรรค์แปลกใหม่และแตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ อย่างไร

นอกเหนือจากข้อมูลด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) สภาพแวดล้อมในการเรียน ความยิ่งใหญ่ของขนาดสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ โรงอาหาร โรงละคร ต่าง ๆ ซึ่งมีเหมือนกันแทบจะทุกโรงเรียนแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะถามว่าจุดเด่นที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจส่งผลสำคัญมากต่อการเรียนของลูก

อาทิ ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติบางแห่งเริ่มสร้างความแตกต่างด้วยการนำเอาระบบที่เรียกว่า Harkness (ฮาร์คเนส) โดยบางวิชาจะให้เด็กๆ นั่งโต๊ะกลม ถกกันในหัวข้อที่กำหนด ไม่มีใครถูกผิด รับฟังความเห็นของทุกคนอย่างเปิดกว้าง และร่วมกันหาคำตอบ ไปด้วยกัน โดยไม่มีการชี้นำจากครู ซึ่งเป็นการเริ่มปลูกฝังทักษะแบบซีอีโอตั้งแต่ระดับประถม มีบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับระบบดังกล่าวนี้มาก เช่น โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่จะมีการสร้างห้องเรียน Harkness ไว้โดยเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละระดับ

7.) โรงเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นศิลปะหรือกีฬามากน้อยแค่ไหน

อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” โรงเรียนที่มีกิจกรรมกระตุ้นและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดจินตนาการและพลังความคิดสร้างสรรค์จึงมักสามารถสร้างนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อไปเยี่ยมชมโรงเรียนอย่าลืมถามถึง Co-Curricular อื่น ๆ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา กีฬา ตลอดจน Facilities ที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

8.) พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าผู้ปกครองอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของลูก สิ่งที่เราควรรู้ล่วงหน้าก็คือทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนรับรู้ ให้แนวทาง หรือเสนอแนะวิธีในการจัดการด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน หรือมีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของลูกร่วมกันโรงเรียนอย่างไรบ้าง เพราะแม้ทางโรงเรียนจะมีหลักสูตรที่แข็งแกร่ง แต่ผู้ปกครองรู้ดีที่สุดว่าลูกของเราต้องการอะไร ชอบการเรียนรู้แบบใด ซึ่งผู้ปกครองควรจะได้มีโอกาสในการนำเสนอต่อโรงเรียนได้

9.) หากเกิดกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โรงเรียนมีความพร้อมในด้านการเรียนแบบ virtual อย่างไรบ้าง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยทั่วไป นอกเหนือจากมาตรการด้านความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดที่โรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอแล้ว โรงเรียนที่ดีต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างไร จะทำอย่างไรให้การสอนแบบ Virtual นั้นมีประสิทธิภาพ สอนแบบ live หรือเป็น video มีการจัดตารางเรียนให้เหมาะกับช่วงอายุและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอย่างไร หากเกิดปัญหาระหว่างเรียนมีจะวิธีการแก้ไขอย่างไร มีการสร้างความสมดุลของเวลาที่เด็กอยู่หน้าจอและโอกาสในการเรียนรู้เชิงปฏิบัติได้อย่างไร รวมถึงประเมินประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างไร

10.) ค่าใช้จ่ายและเทอมเป็นอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

โครงสร้างของค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จนพ่อแม่สับสนมาแล้วหลายราย ดังนั้นต้องถามและศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนไม่ได้ เช่น ค่ายื่นใบสมัคร (Application Fee) ค่าทดสอบความรู้ (Assessment Fee) ค่าแรกเข้า (Registration Fee) ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนได้ เช่น ค่ามัดจำ (Refundable Deposit) ที่จะจ่ายคืนจบการศึกษาหรือลาออก ส่วนค่าเทอม (Tuition Fees) จะมีทั้งจ่ายเป็นรายเทอมหรือรายปี ต้องรู้ว่าทางโรงเรียนมีกี่เทอม มีการปรับเพิ่มค่าเทอมตามระยะเวลาหรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี (Annual Fee) ค่าหนังสือ (Book Fee) ค่าอาหารและของว่าง (Lunch and Snack Fee) ค่าค่ายฤดูร้อน (Summer Camp) ค่าทัศนศึกษา (Field Trip) เป็นต้น

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญคือการลองสอบถามเรื่องส่วนลดหรือข้อเสนอพิเศษ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่งเปิดใหม่มักจะมีส่วนลดเพื่อดึงดูดผู้ปกครอง อาทิ โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่ตอนนี้กำลังมีข้อเสนอพิเศษส่วนลด 20% นานถึง 5 ปี และให้สิทธิ์ส่วนลดเดียวกันสำหรับในครอบครัวด้วย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการพิจารณา


หมายเหตุ : ขอขอบคุณภาพประกอบจาก โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ

Self-Control ทักษะในการสร้างความมีวินัย หรือความสามารถในการบังคับตนเอง เป็นหนึ่งใน Soft Skill ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ Self-Control สำคัญอย่างไร แนะการเสริมสร้าง Self-Control ในเด็ก

เราได้พูดถึงความสำคัญของ Self-Esteem และวิธีการเสริมสร้าง Self-Esteem ทักษะพื้นฐานที่ดีเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จให้แก่ลูกไปแล้ว คุณผู้อ่านสามารถติดตามอ่านย้อนหลังได้ใน https://thestatestimes.com/post/2021030411

ส่วนทักษะต่อไปที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า Self-Esteem เลย ก็คือทักษะที่เรียกว่า Self-Control และวันนี้เราจะมาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่านกันว่า Self-Control สำคัญอย่างไร และการเสริมสร้าง Self-Control ในเด็กต้องทำอย่างไรกันค่ะ

Self-Control คืออะไร

Self-Control เป็นหนึ่งใน Soft Skill ที่เป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ นั่นก็คือทักษะในการสร้างความมีวินัย หรือความสามารถในการบังคับตนเอง การสร้างความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ตกลงกับตัวเองว่าจะไม่หยุดกลางคันจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายหรือชัยชนะนั้น ๆ  หัวใจสำคัญของ Self-Control หรือการควบคุมตัวเองได้นี้คือ เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เจ้าตัวหรือตัวเด็กเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง การกำหนดเป้าหมายเองทำให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ให้เด็กเป็นคนกำหนดผลลัพธ์ แล้วเด็กจะเกิดพลังขับเคลื่อนภายในเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ

จะเสริมสร้าง Self-Control ให้กับลูกได้อย่างไร

วิธีการเสริมสร้างความมีวินัยหรือ Self-Control ให้กับเด็กนั้นสร้างได้ตั้งแต่วัย 3-5 ขวบ สามารถสร้างไปพร้อม ๆ กับ Self-Esteem ได้เลยโดยการชวนลูกตั้งเป้าหมาย คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกตั้งเป้ากับเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น มื้อนี้หนูจะกินผักกี่ชิ้น วันนี้หนูเล่นเสร็จแล้วหนูจะเอาของเล่นไปเก็บที่เดิมได้มั้ย หนูอยากติดกระดุมเองมั้ยหนูจะติดเองกี่เม็ด

การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นควรมีผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ทันทีและเข้าใจง่าย เช่น ผักหมดจาน ของเล่นกลับไปอยู่ในที่เก็บของเล่น หรือลูกติดกระดุมเองครบทุกเม็ด หากเป็นเรื่องที่วัดผลลัพธ์ยาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ตัวเลขกำหนดผลลัพธ์ได้ เช่น วันที่หนูจะเข้านอนตอนเข็มนาฬิกาชี้ไปที่เลขอะไรระหว่างเลข 8 กับเลข 9 เป็นต้น และเมื่อเด็กทำได้สำเร็จแล้ว อย่าลืมชื่นชมในความสำเร็จนั้น เด็กจะจดจำว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีจากคำชมและคำติของผู้ปกครอง อยากให้เน้นไปที่คำชมและให้กำลังใจเค้า เพราะจะเป็นการสร้าง Self-Esteem ไปพร้อม ๆ กันด้วย

อยากให้ลูกเก่งให้ชมที่ผลลัพธ์ อยากให้ลูกพยายามให้ชมที่การกระทำ

ขอถามคุณพ่อคุณแม่ก่อนว่า คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเก่งหรืออยากให้ลูกเป็นคนเข้มแข็ง รู้จักอดทนอดกลั้น และรู้จักความพยายาม หากอยากให้ลูกเก่ง ให้ชมลูกที่ผลลัพธ์ เช่น ชมที่เกรดเฉลี่ย ชมเมื่อลูกได้รับรางวัล แต่หากอยากให้ลูกเป็นคนมีความพยายาม ให้ชมในการกระทำ ชมที่ความตั้งใจของลูก ลูกจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่ต้องสนใจ ขอให้ลูกลงมือด้วยความตั้งใจเป็นเพียงพอ

การฝึกทักษะของลูกนั้นต้องการความต่อเนื่องเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่อยากฝึกทักษะด้านใดให้กับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งเป้าหมายเลย เช่น ภายใน 6 เดือนต่อจากนี้เราจะฝึกเรื่องความกล้าให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ลูกได้ลองคิด ตัดสินใจ ลงมือด้วยตนเองเป็นระยะเวลา 6 เดือน หากมีแนวโน้มว่าลูกจะคิด ตัดสินใจ หรือลงมือทำผิด ก็ปล่อยให้เค้าเรียนรู้เองไปก่อน เพราะเรากำลังฝึกทักษะความกล้าให้แก่เค้าอยู่

Soft Skill เป็นทักษะที่ไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการอ่านคู่มือหรือตำราได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ เด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกบ้าง ประสบการณ์จะนำพาเด็กให้เค้าสร้างทักษะที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเค้าเองค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ อยากให้ลูกมีชีวิตที่มั่นคง พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูกมี Soft Skills กับครูพี่หญิงฝาย โรงเรียนคู่ขนาน

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3651437871537025

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

เปิดใจ ‘ครูเสริฐ’ แม้เกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เพราะพลังรักจากแม่ ถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครู นำไปสู่การส่งต่อพลังที่ดี ให้กับเด็กนักเรียน

“ต้องขอบคุณที่พ่อเดินจากผมกับแม่ไปตั้งแต่ผม 2 ขวบ”

คำพูดของลูกผู้ชายที่ประสบกับจุดแตกหักของครอบครัวในแบบที่สังคมตีความว่าคือความแตกแยก แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ เรื่องมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น มันกลับเป็นจุดตัดของชีวิตที่ขยายพลังความรักและความปรารถนาดีของแม่ให้เห็นชัดและยิ่งใหญ่จนโอบกอดและห่อหุ้มหัวใจของลูกชายเอาไว้ได้ทั้งดวง

ครูเสริฐ คุณครูสอนเด็กชั้นประถมโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่มีความตั้งใจจะทำอาชีพครูตั้งแต่เด็ก ครูเสริฐทำทุกอย่างให้ตัวเองได้เป็นครูที่ดีพร้อม ถึงแม้จะไม่ได้เรียนครูมาโดยตรง เพราะได้รับทุนเต็มให้ไปเรียนในสาขาวิชาอื่น แต่ในแผนการของครูเสริฐนั้น ทุกวิชา ทุกกิจกรรม ทุกงานคือส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่การสร้างตน เพื่อกลายเป็นครูที่ดี แล้วอะไรทำให้ผู้ชายคนนี้ถึงรักการเป็นครูนัก

ครูเสริฐสอนนักเรียนชั้นไหน?

ผมมาลงที่สอนชั้น ป.1 ครับ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

ทำไมเลือกสอนเด็ก ป.1?

การสอนเด็กเล็กน่าจะเป็นทางของผม แต่ให้ไปสอนอนุบาลเลยผมก็กลัวว่าจะไปทับเด็ก (หัวเราะ) คือผมสูง 182 ซม. เด็กอนุบาลตัวเล็กไปสำหรับผม ป. 1 สูงประมาณเอวผมก็พอได้ ผมชอบสอนเด็กเล็กเพราะเค้าใสซื่อ ปากกับใจตรงกันจริง ๆ ไม่มีมารยา ไม่มีอะไร

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเสริฐรักการเป็นครู?

น่าจะเป็นคุณครูที่เราเรียนด้วยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นครูเหมือนอย่างท่าน

ครูเสริฐเคยเจอครูที่ไม่ชอบบ้างมั้ย?

(คิดนานก่อนจะตอบ) น้อยมาก เคยมีนะ จำได้ว่ามีครูที่ตีเพื่อนเรา เราก็แบบว่าเค้าตีเพื่อนเราทำไม แต่ผมก็ไม่ได้อะไรนะ

วิธีการสอนในชั้นเรียนของครูเป็นแบบไหน?

ผมเคยตอบคำถามในการอบรมครูครั้งหนึ่ง วิทยาการถามว่า ครูที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร ผมตอบไปว่า ครูที่ดีที่สุด คือครูที่สามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กได้ ผมไม่ใช่คนเก่งนะ ผมตอบไปตามที่ผมรู้สึก ถ้าครูสามารถเข้าไปนั่งในใจเด็ก ๆ ได้ เด็กเค้าจะเชื่อฟัง เค้าจะทำตามที่เราบอกทุกอย่าง

ในชั้นเรียนผม ผมจะสอนไม่ยากนะ เน้นให้เด็กมีความสุข แล้วเค้าจะรักการเรียนเอง อย่างช่วงที่ผ่านมาเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองชอบมาก พอถึงเวลาเริ่มเรียนผมก็เอาเครื่องดนตรีมาเล่นให้เด็ก ๆ ได้ร้องเพลงผ่านการเรียนแบบออนไลน์ เด็กได้เต้นได้ร้องเพลง เค้าก็สนุกกับการเรียนและจำบทเรียนได้

ซึ่งผมได้ไปอบรมเกี่ยวกับจิตวิทยาสมัยใหม่มา อธิบายความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาสมัยใหม่และสมัยเก่าคร่าว ๆ คือเค้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ positive psychology ให้มองโลกในแง่บวก บวกไว้เลย เด็กจะมีความสุข ให้กำลังใจเค้า บอกเค้าว่า หนูทำได้นะ หนูเก่ง อย่างตอนที่เด็กฟันหลุด ผมก็บอกเค้าว่า หนูฟันหลุดเพราะว่าหนูโตแล้วนะลูก เราให้กำลังใจเค้า

ในวัยที่ครูเสริฐอายุเท่านักเรียนของครู ครูมีเรื่องให้ต้องไม่มีความสุขบ้างมั้ย?

(ครูเสริฐคิดอยู่เสี้ยววินาที) ไม่ค่อยมีนะ จริง ๆ ต้องขอบคุณคุณแม่ผมนะ คุณแม่ผมจบแค่ ป. 4 เป็นแม่ค้า แต่เลี้ยงลูกแบบจิตวิทยาสมัยใหม่ตรงกับที่ผมไปอบรมมาเลย คือพ่อแม่ผมแยกทางกัน เป็นบ้านอื่นเค้าจะพูดถึงกันไม่ดีให้ลูกฟัง แต่มาม้าไม่เคยพูดลบถึงพ่อให้ผมฟังเลย ต้องขอบคุณคุณพ่อที่จากผมไปตั้งแต่ผม 2 ขวบ ผมไม่เคยโกรธพ่อผมเลยนะ คุณแม่ไม่เคยทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น จริง ๆ ผมต้องบอกว่าคุณแม่คือครูคนแรกที่สำคัญของผม แม่ทำให้ผมอยากส่งต่อพลังที่ดีให้กับเด็ก

ครูเสริฐอยากให้ลูกศิษย์ได้อะไรติดตัวไปจากครู อยากเห็นลูกศิษย์ครูโตไปเป็นยังไง?

อยากให้เค้าเข้าใจความเป็นคน เหรียญมีสองด้าน ให้เราพิจารณาทุกคน อะไรทำให้เค้าเป็นแบบนี้ อะไรทำให้เค้าทำแบบนี้ มันมีอะไรที่นำพาเค้ามาให้เค้าเป็นแบบนี้ อยากให้เค้าเข้าใจว่าความเก่งไม่เก่งไม่สำคัญ ขอให้เป็นคนดีของประเทศ รู้จักเอาตัวรอด นำประโยชน์ที่ได้ไปใช้ เมื่อได้ดีแล้ว อย่าลืมตอบแทนบุญคุณ เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ในเวลาเดียวกัน ผมเป็นครูผมก็รู้นะ เด็กบางคนเก่ง เด็กบางคนไม่เก่ง แต่เด็กทุกคนเป็นคนดีได้

อยากฝากอะไรให้กับคนที่ผ่านเข้ามาอ่าน?

อยากให้เข้าใจคน อย่างที่บอกเหรียญมีสองด้าน เรื่องนี้พูดแล้วก็ขนลุกนะ เด็ก ๆ ทุกคนทำได้ เค้าแค่ขาดโอกาส ผมเคยคัดเด็กเป็นนางรำแล้วผมคัดเด็กอ้วนดำมารำ ครูคนอื่นเค้าก็ถามว่าทำไมคัดเด็กอ้วนดำมารำล่ะคะครูเสริฐ สำหรับผม ถึงเค้าจะอ้วนดำ แต่พอจับแต่งตัวแต่งหน้าออกมาสวยเลย และพอเค้าได้โอกาสที่เค้าคิดว่าเค้าไม่น่าจะได้รับ เค้าก็ตั้งใจกับมันมาก ผมให้เด็กคนนั้นอยู่ข้างหน้า หนูอยู่ข้างหน้าทำให้ดีนะลูก แล้วเค้าก็ทำออกมาได้ดีเลย เด็กทุกคนต้องการแค่โอกาส กำลังใจที่เป็นพลังบวก ความเชื่อมั่นที่เรามีต่อเด็กสามารถทำให้เด็กเรียนไม่เก่งกลายเป็นเรียนเก่ง ไม่สวยกลายเป็นสวย แค่กำลังใจอย่างเดียวก็เพียงพอ เด็กเค้าจะพยายามเอง

ขอฝากถึงพ่อแม่ด้วย ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนกลับบ้านมาคุณต้องมอบความสุขให้กับลูก รับฟังลูก กอดลูก การกอดคือสัมผัสที่ทรงพลังมากกว่าคำพูด กอดของพ่อแม่คือเกาะกำบังของลูก อย่าส่งลูกออกไปนอกบ้าน อย่าไล่ลูกไปอยู่ในที่ที่อันตราย บ้านคือสวรรค์ของลูก

ครูเสริฐเป็นตัวอย่างชิ้นดีชิ้นหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า ถึงแม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ครบสมบูรณ์แบบ แต่ความใส่ใจของผู้เป็นแม่หรือสมาชิกที่เหลือในครอบครัวก็สามารถเติมเต็มความสุขให้ลูกจนเอ่อล้นได้ ครูเสริฐได้ส่งต่อพลังความห่วงใยและความหวังดีนั้นไปยังนักเรียนในชั้นของครู พลังบวกของแม่ครูเสริฐนั้นได้แผ่ขยายออกไปเรื่อย ๆ

จากจุดเริ่มต้นที่แตกหัก ในแบบที่สังคมตีความว่าคือความแตกแยก กลับกลายเป็นจุดตัดขยายอนุภาพแห่งความรักจากแม่สู่ลูก สู่หัวใจที่เต็มอิ่มไปด้วยรักของลูก สู่จิตวิญญาณของความเป็นครูที่รักและหวังดีต่อเด็ก พลังรักของคุณแม่ครูเสริฐสัมฤทธิ์ผลแล้ว นั่นคือตัวครูเสริฐเอง

ครูเสริฐ คุณครูสอนชั้นประถมที่อยากทำให้เด็กทุกคนเป็นคนดีและมีความสุข


ขอขอบคุณ ครูประเสริฐ ปานเพชร ครูเอกชน สอนประจำ ณ  โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์  เขตคลองเตย  กรุงเทพมหานคร สอนวิชา ภาษาอังกฤษ  ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น

สัมภาษณ์และเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

ปิดเทอมนี้ Around The Green Junior Golf Camp ชวนพ่อแม่เสริมทักษะลูก ด้วยการพาลูกอายุช่วง 8 - 12 ปี ที่สนใจอยากเริ่มเล่นกอล์ฟหรือมีทักษะอยู่แล้ว มาเข้าร่วมกิจกรรม

โดยแคมป์นี้เน้นการสอนและแบ่งปันให้กับน้อง ๆ ที่อยากเรียนรู้ว่าจะเล่นกอล์ฟอย่างไรให้สนุก พร้อมทั้งมีสุขภาพกายและใจดีได้อย่างไร โดยโปรกอล์ฟ 2 ท่าน ที่ทำทั้ง 2 อาชีพคือ นักบินและโปรกอล์ฟ

ชวนเด็ก ๆ มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเน้นสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องผ่านกิจกรรมสนุก ๆ ไม่ต้องห่วงเพราะมีโปรกอล์ฟอาชีพดูแลอย่างใกล้ชิด

ยังไม่หมด! นอกจากกอล์ฟแล้ว ยังมีโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายมาเสริมทักษะการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับกีฬากอล์ฟให้กับน้อง ๆ อีกด้วย

กิจกรรมจะจัดขึ้น 2 รอบ โดยสามารถเลือกรอบใดรอบหนึ่งหรือทั้ง 2 รอบก็ได้

✅รอบที่ 1 วันที่ 15 - 19 มี.ค.64

✅รอบที่ 2 วันที่ 26 - 30 เม.ย.64


สนใจเข้าแคมป์ สอบถามรายละเอียดได้ทางไลน์

https://lin.ee/np2EGnj

หรือโทร 081 - 8308100 (โปรเดช)

086 - 9071843 (โปรยู)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top