อิทธิพลสื่อมีมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้รับสื่อจากต่างประเทศ วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลให้ลูก ๆ มีความชื่นชอบ และ ติดตามอย่างบ้าคลั่งจนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกว่า “ ติ่ง “ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการรับมือหรือพูดคุยอย่างไร
คุณหมอจริง พญ. ชญานิน ฟุ้งสถาพร เป็นคุณหมอที่มีประสบการณ์ทางด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของติ่งว่าจริง ๆ แล้วอาการของการเป็นแฟนคลับหรือติ่งทางจิตวิทยาเรียกอาการเหล่านี้ว่า “Celebrity worship syndrome” ซึ่งอาการนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
1.) ระดับบันเทิง คือ เป็นการดูสื่อหรือสิ่งที่ชอบเพื่อความบันเทิง ชื่นชอบในรูปแบบให้ความเพลิดเพลิน เพื่อความจรรโลงใจ นอกจากนี้ยังมีการนำสิ่งที่เราชื่นชอบไปเป็นคนต้นแบบหรือเรียกว่าเป็น Idol ของคน ๆ นั้นได้ เช่นในเรื่องของความพยายาม หรือการตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในระดับนี้ก็อาจจะมีสังคมที่ชื่นชอบสิ่ง ๆ นั้นไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
2.) ระดับหมกมุ่น คือ ระดับที่นำสิ่งที่ชื่นชอบหรือศิลปินมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องมีสิ่งที่ชอบหรือศิลปินนั้นเข้ามาเกี่ยวโยงด้วยทุกครั้ง สะสมหรือใช้ของตามศิลปิน เก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่ศิลปินมีหรือใช้ตาม บางคนถึงขั้นศัลยกรรมให้หน้าตาเหมือนศิลปินเลยทีเดียว
3.) ระดับรุนแรง คือ เหล่าแฟนคลับที่ชื่นชอบในตัวศิลปินมาก ๆ ถึงขนาดอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งหรืออยากใช้ชีวิตกับศิลปิน คอยติดตามขั้นรุนแรง อย่างที่ประเทศเกาหลีจะเรียกกลุ่มแฟนคลับเหล่านี้ว่า “ซาแซง” ซึ่งจะคอยตามศิลปินไปทุกที่ รู้ลึกถึงขนาดรู้เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของตัวศิลปิน และอาจมีขั้นร้ายแรงที่สุดคือทำร้ายตัวศิลปิน ไม่ให้ศิลปินไปรักใครได้อีก ซึ่งระดับนี้ควรได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่มีลูกเป็นแฟนคลับหรือติ่งศิลปินอาจจะสงสัยว่าถ้าลูกของตนมีอาการที่ชื่นชอบศิลปินมากแต่ไม่รู้ว่าจะต้องพูดคุยอย่างไร จริง ๆ แล้วในช่วงวัยรุ่นของคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะมีความชื่นชอบในตัวศิลปินหรือสิ่งที่ชอบเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่ยุคสมัยที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวไกลมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นสามารถรับสื่อได้ทั่วโลก และทำให้ตัวของลูกคุณอาจจะเจอกับสิ่งที่ชอบ ศิลปินที่เขารัก มากกว่าในสมัยของคุณพ่อคุณแม่
แต่ด้วยความห่วงใยอยากที่จะพูดคุยกับลูก กลัวว่าลูกจะเสียการเรียน ไม่มีอนาคต จริง ๆ แล้วในช่วงวัยนี้สมองส่วนเหตุผลและความคิดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้สมองส่วนอารมณ์จะเจริญเติบโตมากกว่าจะทำให้เห็นว่าลูกของคุณมีอารมณ์ที่แปรปรวน พอลูกของคุณอายุ 25 ปีหรือเมื่อเริ่มโตขึ้นสมองส่วนเหตุผลและความคิด ตรรกะการใช้ชีวิตก็จะมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูว่าลูกของคุณมีอาการเป็นติ่งในระดับไหน
ถ้าเป็นในระดับบันเทิงก็สบายใจได้ เพราะลูกของคุณอาจจะยกศิลปินมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมด้วยว่าลูกของคุณมีทิศทางในการใช้ชีวิตแนวทางไหน คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะกังวล กลัวว่าลูกของตัวเองนั้นอาจจะไม่สนใจการเรียน และเอาเวลาไปเป็นแฟนคลับ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยดู สังเกตและที่สำคัญคือการพูดคุย เปิดใจกัน โดยไม่ใช้อารมณ์ และ สอนวิธีการคิดหรือลองปรับเปลี่ยนเป็นพูดคุยในสิ่งที่ลูกชอบหรือสนใจ เพื่อคอยดูว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
เชื่อหรือไม่ว่าบางคนก็นำศิลปินหรือไอดอลมาเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน เหมือนกับว่ายิ่งเห็นศิลปินมีความพยายามทำเป้าหมาย ความฝันได้สำเร็จ อดหลับอดนอนเพื่อซ้อมเป็นศิลปิน เหล่าแฟนคลับในวัยเรียนก็จะพยายามตั้งใจเรียนและนำศิลปินมาเป็นแบบอย่างในการตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ และหลาย ๆ คนเมื่อเรียนจบก็มีการถ่ายรูปคู่กับแท่งไฟ หรือ สิ่งของที่มาจากศิลปิน เป็นการบรรลุเป้าหมายของตัวเองว่าทำตามความฝันสำเร็จแล้ว ถ้าลูกของคุณเห็นศิลปินเป็นแบบอย่างที่ดีก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ
มีคำ ๆ หนึ่งที่คุณหมอจริงได้กล่าวว่า “Children must be taught how to think, Not want to think” คือการสอนลูกให้รู้จักวิธีคิด ไม่ใช่การยัดความคิดให้ลูก ด้วยความที่โลกสมัยใหม่มีเทคโนโลยี มีสื่อต่าง ๆ มากมายที่ลูกของคุณสามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เราควรสอนวิธีการคิด อย่างในเรื่องติ่งหรือแฟนคลับอาจจะถามถึงข้อดีของตัวศิลปินหรือสิ่งที่ลูกชอบแล้วให้ลูกของคุณลองคิดและให้ลูกลองเลือกข้อดีและทำตามในสิ่งที่ดี เช่น ถ้าลูกของคุณเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี ก็สนับสนุนลูกด้วยการให้เรียนภาษาเพิ่มเติม หรือสนับสนุนให้ลูกทำวิดีโอเกี่ยวกับศิลปินเกาหลี เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้เสริมก็จะเป็นการสนับสนุนลูกในทางที่ดีและเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวได้ดีอีกด้วย
คุณหมอจริงฝากข้อคิดไว้ว่า นอกจากการพูดคุยแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การฟัง” ให้ลูกได้พูดในสิ่งที่เค้าอยากทำ สิ่งเค้าชื่นชอบ จะทำให้เราได้เห็นว่าลูกมีความคิดอย่างไร มีความฝันในทางไหน และคุณพ่อคุณแม่ก็คอยสนับสนุนลูกให้ทำตามความฝันให้สำเร็จ เพียงเท่านี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะดีขึ้น ทำให้เราไม่ได้เป็นส่วนเกินในชีวิตของเขาอีกด้วย
สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ลูกวัยรุ่นกับการเป็นติ่ง
Link : https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/933889133821053
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: สถาพร สุตจิตจูล