การรับฟังลูกในทุกช่วงวัย คือจุดเริ่มต้นของครอบครัวที่อบอุ่น

ฟังเสียงแต่ไม่ได้ยิน...

ประโยคสั้น ๆ โดนใจใครหลายคน ไม่เว้นเพศ วัย หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เจ้าความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’ นี้ เกิดได้แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ เสียงกรี้ด ร้องไห้โวยวายของเด็กวัย 2-3 ขวบ คือความพยายามจะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ถึงความต้องการของหนู หากพ่อหรือแม่ยังไม่ตอบสนอง หนูก็ตะเบ็งเสียงต่อเหมือนคอจวนแตก พ่อแม่อาจตีตราว่าลูกเอาแต่ใจตั้งแต่เล็ก และกลายเป็นต้นตอของความเงียบในความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

นักจิตวิทยาวัยรุ่นและเด็กแบ่งปันให้เราฟังว่า การฟังนั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน

  1. ฟังเนื้อหา เป็นการฟังจับข้อมูลว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 
  2. ฟังด้วยความรู้สึก หากเราฟังด้วยความรู้สึก เราจะได้ยินคำว่า เศร้า เหงา โกรธ ไม่ชอบ เบื่อ 

เราจะคุ้นเคยการฟังเพื่อเนื้อหามากกว่าการฟังด้วยความรู้สึก เพราะเราใช้ในการเรียนและทำงาน แต่สำหรับความสัมพันธ์ เนื้อหาเป็นเพียงบทนำเพื่อไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด 

วิวัฒนาการของความรู้สึก ‘ไม่ได้ยิน’

ความรู้สึกไม่ได้ยินมันทำงานแปลกมากค่ะ ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้าได้หยอดกระปุก ‘การไม่ได้ยิน’ สะสมวันละนิด จะกลายเป็นความรู้สึกที่แข็งแรง ยิ่งลูกโตขึ้น รู้เรื่องมากขึ้น กลับยิ่งรู้สึกไม่ได้ยิน เริ่มกันตั้งแต่เด็กเล็กเลยที่ยังสื่อสารด้วยภาษาไม่ได้ พอวัยประถมเด็กจะเริ่มซุกซนจนบางครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่หัวเสีย หรือลูกเรียนรู้สังคมที่โรงเรียนและนำมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่เครียดจากการทำงาน อาจไม่ทันได้ใส่ใจสิ่งที่ลูกเล่าเท่าไร เมื่อเติบโตขึ้น ลูกที่ไม่เคยถูกได้ยินจะเริ่มเงียบกับพ่อแม่ และจะแสดงออกชัดเจนในช่วงวัยรุ่น แม้แต่นักจิตวิทยายังบอกว่ายากมากที่จะปลดความรู้สึกนั้นออกไปได้ 

บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เวลาที่ลูก ๆ มาเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ลูกอาจไม่ได้ต้องการทางออกจากเราแต่อยากระบายอะไรบางอย่าง การฟังเฉย ๆ ไม่ออกความเห็นนั้น ง่ายกว่าการช่วยลูกหาทางออกซะอีก เราไม่ต้องคิดอะไรแทนลูกเลย เหมือนยิงหนังสติ๊กทีเดียว ได้นกถึง 3 ตัว นกตัวแรก คือ self esteem ของลูก การฟังลูกเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของลูกได้ดีมาก นกตัวที่ 2 คือ EQ ซึ่งการฟังจะได้ฝึก EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ไปทั้งลูกและพ่อแม่ นกตัวที่ 3 คือสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ส่งผลระยะยาวระหว่างพ่อแม่และลูก

เห็นอย่างนี้แล้ว เรามาลองฝึกฝนการฟังลูกกันค่ะ 

.

วิธีเตรียมฟังเสียงลูกแล้วได้ยิน

อย่างแรกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากได้ยินเสียงของลูกคือ สะสมคำศัพท์ทางความรู้สึกค่ะ คุ้นเคยกับคำที่แสดงถึงความรู้สึก อย่างเช่น โกรธ เสียใจ เบื่อ เจ็บ หิว ร้อน หนาว กลัว โดยเริ่มคุยกับลูกตั้งแต่วัยเด็กเล็กหรือทารกได้เลย เพราะเด็กเล็กเป็นช่วงที่สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เยอะมากผ่านการร้องนั่นเอง ให้ลูกได้คุ้นเคยกับคำศัพท์เหล่านี้ และเป็นการแสดงออกว่าคุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้อารมณ์หนูแล้วนะ

ในช่วงวัยอนุบาลและประถม คุณพ่อคุณแม่อาจจะแสดงออกกับลูกว่าเราฟังลูกอยู่นะ เช่นตอบรับลูกว่า “อ๋อ” “เหรอลูก” “แล้วยังไงต่อล่ะ” “อยากทำอะไรต่อ” สะท้อนคำพูดลูกหรือพูดซ้ำคำของลูกเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าเราฟังอยู่ ถึงแม้เราอาจจะคิดเรื่องอื่นอยู่ก็ตาม

หากลูกอยู่ในช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว การเริ่มฟังลูกแบบใส่ใจ ช่วงแรกจะอาจรู้สึกแปลก ๆ ทำให้ลูกสงสัย คิดว่าเราต้องการอะไรจากเขาหรือเปล่า รุ่นนี้ต้องใช้เวลาค่ะ ทำไปอย่างต่อเนื่อง ใจเย็น ๆ 

หากลูกเป็นวัยรุ่นที่โตแล้ว การเปลี่ยนมาฟังลูกแบบใส่ใจ ลูกจะจับได้ทันที วิธีที่ดีคือ พูดเปิดอกไปเลยว่าก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ฟังลูก ต่อไปจะฟังลูกมากขึ้น และจะดีที่สุด ถ้าลูกได้ยินคำว่า ขอโทษ จากปากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะเอากลับไปคิดเองไม่มากก็น้อยค่ะ

.

เรื่องจริงมีอยู่ว่า ไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ลูกไปโกรธเราตั้งแต่เมื่อไร เด็กยังอยู่ในช่วงพัฒนาการรับรู้อยู่ เรื่องเล็ก ๆ ของเรา ลูกอาจตีความผิดเพี้ยนได้ การขอโทษนั้น เยียวยาได้ ยกโทษและอภัยให้ตัวเราเองกับลูก อาจปลดล็อกสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ในใจลูกได้เพียงเราเอ่ยคำว่า พ่อ(แม่)ขอโทษนะ

แล้วเราจะสอนลูกได้ตอนไหน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง สอนลูกได้แน่นอนค่ะ เพียงเลือกสอนในเวลาที่เหมาะสม คือช่วงที่อารมณ์ของลูกเป็นปกติหรืออารมณ์ดีอยู่ เก็บเรื่องที่เราอยากจะพูดทันทีไว้ก่อน ทำตัวเป็นผู้ฟัง เป็นผู้ที่อยู่ข้างเดียวกันกับลูกตอนที่ลูกอยากระบาย เมื่อลูกพร้อม เราค่อยใส่คำสอนลงไปค่ะ
 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: การฟังคือการใส่ใจ 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/763229607561738

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์