แนะนำเคล็ด (ไม่) ลับ การเล่นของลูกเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา

นัก neuroscience หรือผู้ที่ศึกษาระบบการทำงานของสมองชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับการเล่นซุกซนของเด็ก ๆ ใหม่ การเล่นของเด็ก ๆ นั้น สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสติปัญญา เขายังบอกอีกว่า ในระบบประสาทมีสิ่งที่เรียกว่า neuropathway ที่เชื่อมเซลล์ประสาทของเซลล์สมองเข้าด้วยกัน

ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างให้เด็กไปสู่ศักยภาพสูงสุด และวิธีที่เด็ก ๆ เชื่อมเจ้า neuropathway นั้นก็คือ การเล่น นั่นเอง

เรามีเคล็ด (ไม่) ลับแนะนำการเล่นของลูกจากนักบำบัดมาบอก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมตามช่วงวัยกันค่ะ

ช่วงวัยของการเล่น

ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน เป็นช่วงที่ลูกเรียนรู้ประสาทสัมผัสทางร่างกาย ดังนั้น ควรยิ้ม มองหน้า ร้องเพลง คุย หัวเราะ กับลูกเยอะ ๆ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ร่างกายเบื้องต้นได้

ช่วง 7-12 เดือน เป็นช่วงสำรวจ สงสัย ควรมีของเล่นขนาดใหญ่ ๆ ปลอดภัยจากการเอาเข้าปาก มาให้ลูกเล่นเพื่อกระตุ้นการเล่นใหม่ ๆ มองตาลูกอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาความรู้สึกปลอดภัย

ช่วง 1-3 ขวบ เป็นช่วง toddler หรือเด็กวัยเตาะแตะ ลูกจะเริ่มใช้ร่างกายมากขึ้น เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเอง ควรให้ลูกได้คลาน เดิน เล่นน้ำ 

ช่วง 4-6 ขวบ ช่วงนี้พร้อมที่จะเล่นของเล่นขนาดเล็ก ๆ ได้ เรียนรู้สัญลักษณ์ เริ่มเล่นบทบาทสมมติ เล่นกับเพื่อน ๆ เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์โดยมีผู้ใหญ่สังเกตอยู่ข้างๆ 

ช่วงประถมต้น เริ่มให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น ตกลงเวลาเล่นกับเด็ก ๆ ให้เด็กฝึกการตัดสินใจและสร้างวินัยในตนเอง

ช่วงประถมปลาย เหมาะกับการเล่นที่มีกติกา มีความซับซ้อน โดยปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นเองอย่างเต็มที่

ช่วงวัยรุ่น รุ่นนี้เป็นช่วงที่ซุนซนสนุกสนาน หรือช่วง playfulness ไม่มีรูปแบบการเล่นที่ตายตัว วัยรุ่นจะหาสิ่งสนใจ

ด้วยตัวเอง เราเพียงเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง หาวิธีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเพื่อพอสังเกตการณ์ได้

บางครอบครัวสงสัยว่าทำไมลูกไม่ค่อยเล่นเลย

เด็กที่ไม่ค่อยเล่น ไม่อยากเล่น เล่นไม่เป็น หรือนั่งอยู่เฉยๆ เหตุผลหลักคือ ขาดความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งการเล่นน้อยเกินไป ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาได้ นักบำบัดด้วยการเล่นแนะนำว่า ให้เวลาเขา ไม่ต้องไปเร่งรัด เด็กจะค่อย ๆ สร้างพลังเยียวยาด้วยตัวเอง พอเด็กเริ่มรู้สึกปลอดภัยขึ้น เขาจะเริ่มมาสังเกตของเล่น เริ่มหยิบมาดู และจะเล่นได้เอง เราเพียงให้เวลาเขาแบบค่อยเป็นค่อยไป

เล่นกับลูกช่วงการระบาดของโควิด 19 

ในช่วงโควิด ลูกที่อยู่ในวัยเรียนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของตารางเรียน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนกระทันหัน อาจทำให้ลูกเกิดอาการกังวลรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความกังวลของลูกได้โดยเริ่มจากผ่อนคลายความเครียดก่อนไปเจอลูก อยู่กับลูก พูดคุยกับลูกด้วยการพูดสะท้อนกลับ หรือพูดซ้ำในสิ่งที่ลูกพูด  วิธีนี้ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกได้

Quality time = เวลาร่วมกันของครอบครัว

Special time = เวลาของคุณและลูกโดยเฉพาะ

นักบำบัดด้วยการเล่นฝากบอกกับเราอีกว่า ช่วงเวลาคุณภาพกับช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่เหมือนกัน เวลาพร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัวนั้นสำคัญ และยังมีช่วงเวลาสำคัญสำหรับลูกอีกช่วงหนึ่ง คือการที่คุณได้อยู่กับลูกเพียงสองคน คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวนั้นเพียงพอแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้น ความสัมพันธ์กับคุณเป็นเรื่องที่พิเศษ ควรมีเวลาพิเศษที่คุณกับลูกมีโอกาสเสริมสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ที่แข็งแรงค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกด้วยการเล่น

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/955352284963952

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์