วิธีการแก้ปัญหาการบูลลี่ในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

ตอนเราเป็นเด็ก ๆ เคยมีประสบการณ์ล้อเล่นชื่อพ่อชื่อแม่บ้างไหมคะ เคยถูกเพื่อนเปิดกระโปรงหรือไปเปิดกระโปรงเพื่อนเอง หรือถูกเพื่อนแกล้งด้วยการเอาของเราไปซ่อน ดูเป็นการเล่นสนุกของเด็กทั่วไป แต่ลึก ๆ แล้วสะท้อนพฤติกรรมบางอย่างในเด็กที่ตอนนี้เราเรียกรวม ๆ ว่า บูลลี่ (bully)

การบูลลี่ คืออะไร

นพ. โกวิทย์ นพพร แพทย์ชำนาญการด้านจิตวิทยาโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า การบูลลี่ (bully) คือพฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร่ายร่างกาย ส่วนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้ง การบูลลี่สร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลในใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและสร้างบาดแผลทางกายได้ 

บูลลี่นั้นพบได้ในทุกเพศทุกวัย 

ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนเกษียณอายุ ในประเทศไทยก็พบปัญหานี้ไม่น้อยเลยเหมือนกัน การบูลลี่ในเด็กนั้น เหล่านักโค้ชเด็กหรือลูกมองว่า เกิดจากปัญหาของเด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท เรียกว่า SPEC ประกอบด้วย social, problem solving, emotion, และ communication

S = social คือความสามารถในการเข้าสังคม

P = problem Solving คือความสามารถในการแก้ปัญหา

E = emotion คือความสามารถในเข้าใจอารมณ์ตนเอง

C = communication คือความสามารถในการสื่อสาร

ในวัยเรียนรู้ของเด็ก ๆ จะได้ฝึกฝนทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกันในสถานการณ์ต่างๆ โดยมี C หรือความสามารถในการสื่อสารเป็นตัวเชื่อมทักษะอื่น ๆ 

เตรียมพร้อมก่อนลูกโดนบูลลี่

หากลูกเราโดนบูลลี่หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจ สมองส่วน amygdala ซึ่งทำหน้าที่รับรู้ความทรงจำด้านอารมณ์จะเกิดความวิตกอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมเสริมทักษะการป้องกันตัวลูกได้ด้วยการเล่นกับลูกให้รู้สึกผ่อนคลาย หรืออาจจะเล่นบทบาทสมมติว่า ถ้าลูกโดนเพื่อนแกล้ง หรือเพื่อนทำให้ไม่พอใจ ลูกจะจัดการอย่างไร ฝึกให้ลูกประเมินสถานการณ์ แยกได้ว่าอะไรคือก้าวร้าว อะไรคือเข้มแข็ง หากเกินความสามารถของลูก ก็สามารถแจ้งคุณครูให้ทราบได้ ในสถานการณ์ที่ลูกโดนเพื่อนบูลลี่นั้น ลูกจะได้ฝึกทักษะทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างความมั่นใจโดยการเล่นสร้างสถานการณ์สมมติกับลูกได้ 


แล้วหากลูกไปบูลลี่คนอื่น

เด็กที่บูลลี่หรือใช้ความรุนแรงกับคนอื่นนั้นมีหลายเหตุปัจจัย อาจเป็นปัจจัยทางสังคม ความมั่นคงภายในจิตใจ การหนี การแสวงหาความสำเร็จ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เปรียบเด็ก ๆ เหมือนกับการปลูกดอกไม้ หากอยากให้ดอกไม้สวยไม่ได้แก้ที่ดอกไม้ แต่แก้ที่สภาพแวดล้อม น้ำ ดิน แดด ดอกไม้จะปรับรูปร่างตามสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ 

หากลูกเราชกต่อยหรือทำร้ายร่างกายกับเด็กคนอื่น ๆ อย่าเพิ่งดุลูกนะคะ เติมสิ่งดีๆ ก่อนโดยการหาวิธีชมเขาก่อน เช่น ลูกเป็นนักสู้ ลูกเข้มแข็ง แล้วชวนลูกหาเหตุผลของการกระทำ และหาผลลัพธ์ของการกระทำ ลูกคิดยังไง รู้สึกอย่างไร เพื่อนจะเป็นอย่างไร จะคิดยังไง ให้ลูกลองคิดและเรียนรู้เอง 

ยิ่งลูกหัวร้อน พ่อแม่ยิ่งต้องมีสติ

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดวีธีพูดกับลูกไม่ทัน ให้ตั้งสติก่อน แล้วเริ่มด้วยการชมลูก แล้วถามลูกว่าจะทำอะไรต่อไป จะเกิดอะไรหลังจากนี้ ชวนปรับปรุง ลูกสามารถทำอะไรที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ให้ลูกเรียนรู้ไปเองค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ติดอาวุธให้พ่อแม่กับแม่เก่ง https://www.facebook.com/299800753872915/videos/2545549342411257

หัวข้อ: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกด้วยการเล่น

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/955352284963952 

ข้อมูลอ้างอิง: https://www.sanook.com/health/18825/ 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์