เผยวิธีการ ‘โค้ชชิ่ง’ ให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ตุ๊บ!! เสียงมาจากทิศที่ลูกเราเล่นอยู่ ลูกเราล้ม เพียงเสี้ยววินาที แววตาลูกน้อยพุ่งมาหาแม่ทันที หนูจะร้องหรือหนูจะลุกดี หนูต้องทำยังไง

สำนึกแรกของแม่อยากจะวิ่งไปประคองลูกใจจะขาด แต่แม่กัดฟันยิ้มอย่างสดใส แล้วพูดออกไปว่า “หนูลุกได้มั้ยลูก”

ถ้าศักยภาพของนักกีฬา ถูกดึงออกมาด้วยมือของโค้ช ศักยภาพของลูกก็ต้องถูกดึงออกมาด้วยมือของพ่อและแม่ นักกีฬาเก่ง ๆ ที่ขาดโค้ชที่ดี ยากที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายหรือชัยชนะ ลูกของเราก็เช่นกัน วันนี้จะมาชวนคุยเรื่อง การโค้ชลูกกันค่ะ

ศาสตร์การโค้ช หรือ โค้ชชิ่ง เริ่มต้นมาจากอุตสาหกรรมกีฬานี่แหละค่ะ จุดมุ่งหมายของโค้ชนักกีฬานั้น คือการดึงศักยภาพของนักกีฬาออกมาใช้ได้สูงสุดและเหมาะสม ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งต่อมาศาสตร์การโค้ชถูกนำไปใช้ในวงการอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงศาสตร์การเลี้ยงลูก หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า Parenting

จำเป็นไหมที่ต้อง ‘โค้ชลูก’ เรามาลองอ่านประโยคนี้ดูค่ะ

“จุดมุ่งหมายของพ่อแม่นั้น คือการดึงศักยภาพของลูกของมาใช้ได้สูงสุดและเหมาะสม ค้นพบจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จ”

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นด้วยกับประโยคนี้แล้วล่ะก็ มาเป็นโค้ชให้ลูกของเรากันดีกว่า อันที่จริง คุณพ่อคุณแม่โค้ชให้ลูกกันอยู่แล้วตามสไตล์ของเราเอง แต่มันมีกลเม็ดเทคนิคที่โค้ชมืออาชีพเขาใช้กัน การเป็นโค้ชให้ลูกนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงมีความตั้งใจ และมีวินัยในการปฏิบัติค่ะ

มีศาสตร์การโค้ชศาสตร์หนึ่งที่นิยมนำมาโค้ชลูก เรียกว่า NLP 

NLP ย่อมาจาก Neuro Linguistic Programming เป็นศาสตร์ที่ศึกษาภาษาสมองและสร้างกลยุทธ์ทางภาษา เพื่อนำพาบุคคลนั้นไปถึงเป้าหมาย ตัวอย่างศาสตร์ NLP ที่ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงลูก เช่น NLP พบว่า การใช้คำว่า “ไม่” หรือ “อย่า” ในการสอน มักจะไม่ได้ผลและอาจจะได้ผลตรงข้าม ไม่เชื่อลองดูนะคะ “อย่านึกถึงหมูอ้วนสีชมพูผูกโบว์สีแดง” สมองคุณเห็นอะไรคะ หมูผูกโบว์ลอยมาเลยหรือเปล่า

มาดูเทคนิคการโค้ชลูกอย่างง่าย ที่เริ่มทำได้ทันทีกันค่ะ

เล่านิทานก่อนนอน 

ช่วงก่อนเข้านอนเป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับเด็ก เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่สมองของลูกจะซึมซับข้อมูล เพราะช่วงก่อนนอนเป็นช่วงที่คลื่นสมองมีความถี่ต่ำ ลูกจะรับข้อมูลทันที หรือพูดอีกอย่างคือเป็นช่วงโปรแกรมสมอง การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นประจำก่อนนอนนั้น คือช่วงเวลาสอนเด็กที่เกิดประสิทธิภาพที่สุด คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกรู้อะไร หรือบอกรักลูก ให้คุยกับลูกก่อนนอนจะได้ผลดีค่ะ

คุยกับลูกหน้ากระจก 

นึกถึงฉากในหนังเวลาคุณแม่นั่งหวีผมหรือแต่งตัวให้ลูกหน้ากระจก และเปลี่ยนบทพูดเป็นคำพูดอวยพร เช่น วันนี้จะต้องมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับลูกอย่างแน่นอน วันนี้ต้องมีอะไรสนุกที่โรงเรียนแน่นอน ใส่ชุดความคิดที่ดีต่อลูกหน้ากระจก ลูกก็จะตามหาสิ่งดี ๆ เหล่านั้นที่เราได้บอกเขาไปค่ะ

เขียนจดหมายคุยกับคุณครู

คุณครูทำหน้าที่ดูแลลูกของเราที่โรงเรียนอย่างเต็มที่ แต่คุณครูต้องดูแลลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่คนอื่นอีกหลายคนพร้อม ๆ กัน คนที่รู้จักลูกของเรามากที่สุดก็ต้องเป็นเราอยู่แล้วใช่ไหมคะ เราสามารถช่วยให้คุณครูดูแลลูกเราได้ดียิ่งขึ้นโดยการสื่อสารกับคุณครูผ่านการเขียนจดหมายแนะนำไปเลยว่า “คุณครู ลูกเราเป็นคนขี้อายนะ ลูกเรารู้คำตอบแต่ไม่ชอบยกมือ คุณครูช่วยเรียกชื่อน้องให้ตอบหน่อยนะคะ” ถามไถ่ครูว่าลูกเราอยู่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง สื่อสารกับคุณครูเพื่อที่คุณครูจะเข้าใจบุคลิกนิสัยของลูกเรามากขึ้น ทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูได้ร่วมมือกันติดตามและปฏิบัติต่อลูกเราได้อย่างเหมาะสม

ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างลูกให้เติบโตเป็นเด็กที่มีอนาคตสดใสและมีความสุขได้ ติดตามบทความจากเรา ใน The States Times Family เราจะนำเทคนิคการเลี้ยงดูลูกอีกเพียบ ความรู้ใหม่ๆ อีกพรึ้บ คุณพ่อคุณแม่ได้ติดอาวุธลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีความสุขกันอย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก  

หัวข้อ: ติดอาวุธให้พ่อแม่กับแม่เก่ง 

Link https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/?ref=page_internal

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์