Saturday, 20 April 2024
COLUMNIST

ภาค ‘ประชาชน’ ออกโรงลุย!! ช่วยบรรเทาวิกฤติโควิด-19 สะท้อนการจัดการภาครัฐไทย!!

ระยะหลังมาจะเห็นบทบาทของภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กลุ่มคนที่เสียสละ พร้อมเป็นอาสาสมัครออกมาช่วยเหลือผู้อื่นในยามทุกข์ยาก ซึ่งยิ่งภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนกลไกภาครัฐมีปัญหา

“ในวิกฤต จะพบธาตุแท้ของคน” คำกล่าวนี้กล่าวเอง จากประสบการณ์ก็เห็นว่าจริง มีคนเห็นแก่ตัว มีคนเฉย ๆ และมีคนเสียสละเสมอ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไต่ระดับขึ้นทุกวันแบบนี้ ก็สะท้อนว่าตอนนี้ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม เมืองหลวงและจังหวัดโดยรอบอยู่ท่ามกลางมหันตภัยโรคระบาด

ระยะหลังมาจะเห็นบทบาทของภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ออกมามีบทบาทมากขึ้น ยิ่งโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่ากลุ่มไหนทำอะไรก็จะมีให้เห็นตลอดเวลา กลุ่มคนที่เสียสละ พร้อมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่นในยามทุกข์ยากโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 

เมื่อเห็นภาคประชาชน อาสาสมัคร จัดระบบการจัดการเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการต้องกักตัว หรืออยู่ในชุมชนแบบนี้ โดยที่แต่ละกลุ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน แต่กลับพบว่าเหตุการณ์ไม่บรรเทาลงเลย แถมยังหนักขึ้นทุกวัน แต่ละกลุ่มก็ทำงานกันหนักขึ้น ระดมกำลัง พลังกาย พลังใจ พลังทรัพย์ เพื่อให้การช่วยเหลือมากขึ้น ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาเหมือนกันว่า “ยิ่งภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนกลไกภาครัฐมีปัญหา” เพราะหากการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตของภาครัฐจัดการได้ดี ภาคประชาชนคงไม่ต้องออกมาช่วยกันมากขนาดนี้กระมัง

เรื่องการจัดหาวัคซีนนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการบริหารจัดการผู้ป่วย ครอบครัว และลดระดับการติดเชื้อ การตรวจ การจัดการเตียง การจัดการระบบต่าง ๆ นี่ก็เรื่องหนึ่ง 

ในฐานะที่ผู้เขียนเองเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มที่จัดทำโรงครัวเพื่อจัดทำอาหารปรุงสุกให้กับผู้ที่ประสบภัย และจัดหาของอุปโภคบริโภค ให้กับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด แคมป์คนงาน โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และอื่น ๆ อีกมากมาย เรากลับพบว่า ตลอด 80 กว่าวันที่ผ่านมา งานอาสาสมัครของเราไม่ลดน้อยลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น และขยายระดับความช่วยเหลือจากภารกิจหลักมากไปกว่าเดิมมาก 

จากที่ตอนแรกเป็นกลุ่มอาสาด่านหลัง เพื่อจัดส่งยุทโธปกรณ์ เสบียงให้คนด่านหน้า ณ ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องขยายภารกิจไปช่วยประสานส่งต่อผู้ป่วยที่ติดต่อมาเอง ให้กับหน่วยงานหรือกลุ่มอาสาหาเตียง รวมไปถึงการประเมินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยที่รอเตียงและเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข

“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” เป็นคำถามที่สงสัย แต่การหาคำตอบในวันนี้คงไม่สำคัญไปกว่า ณ วันนี้เราทำอะไรกันอยู่? มีคนที่เสี่ยง เสียชีวิต และติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน คำถามที่มีอยู่ในใจ หากวันนี้แก้ปัญหาตรงหน้ายังไม่ได้ ก็วางไปสักแปปนึง เพราะตอนนี้คงต้องลงแรงมาช่วยกันก่อน ช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วยกันแล้ว เอาพลังทั้งหมดมาคิดหาวิธีที่เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน อย่างน้อยที่สุดต่อให้ไม่เหลืออะไรให้พึ่งพา เราก็ยังพึ่งพาตัวเองได้ แล้วคำถามทั้งหมด เราจะได้คำตอบเมื่อวิกฤตผ่านไป 

ขอให้ผู้อ่านทุกคนรอดพ้นจากวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ 


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เมื่อแม่น้ำ “อุมโงท” เสน่ห์วารีแห่งแดนภารตะ​ (รัฐเมฆาลัย)​ อาจสูญสลาย!! เพราะ​ 'เขื่อน'​

แม้ว่าจะย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ผมก็ยังคงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอินเดียอยู่เสมอด้วยความสนใจ หรืออาจจะเป็นเพราะหลงมนต์เสน่ห์แดนภารตะเข้าไปแล้วอย่างจังก็เป็นได้ 

โดยล่าสุดผมเพิ่งได้อ่านข่าวจากนิตยสาร Northeast Today ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ก็เลยได้ทราบว่ารัฐบาลแห่งรัฐเมฆาลัยมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอุมโงท (Umngot River) เพื่อจะผลิตกระแสไฟฟ้าระดับ 210 เมกกะวัตต์ เพื่อให้รัฐเมฆาลัยมีกระแสไฟฟ้าเพียงพอ อ่านข่าวแล้วก็รู้สึกตกใจเพราะแม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งรายได้สำคัญของประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสายนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนแม่น้ำไหน ๆ นั่นคือมีความใสสะอาดเหมือนแก้วเจียระไน บางคนก็บอกว่าใสเหมือนคริสตัล สามารถมองทะลุเห็นพื้นด้านล่างของแม่น้ำเลย ยิ่งถ้ามองมาจากริมฝั่งหรือที่สูงก็จะเห็นเรือในแม่น้ำที่เหมือนลอยอยู่ในอากาศเลยทีเดียว

แต่เท่าที่ทราบตอนนี้มีชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำในแถบเทือกเขาเจนเทียตะวันออก (East Jaintia Hills) ก็ออกมาประท้วงขอให้รัฐบาลแห่งรัฐเมฆาลัยยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนเพราะชาวบ้านเชื่อว่าถ้าหากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนี้แล้วจะทำให้แม่น้ำอุมโงท (Umngot) แสนสวย และมีชื่อเสียงโด่งดังนี้ถูกทำลาย และในที่สุดก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวอีกต่อไป และท้ายที่สุดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านเหล่านี้เคยได้รับและเป็นแหล่งรายได้สำคัญก็จะหายไปด้วย และคนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำนั่นเอง

ที่ชาวบ้านต้องออกมาโวยวายและต่อต้านก็เพราะพวกเขามองว่ารัฐบาลแห่งรัฐไม่เคยมารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แถมสื่อกระแสหลักในประเทศอินเดียก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะลงข่าวหรือช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านเลย ตอนนี้ที่ทำได้ก็แค่ออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาลแห่งรัฐกันเท่านั้นเอง ในขณะที่ Meghalaya Energy Corporation Limited (MeECL) เจ้าของโครงการก็ออกมาชี้แจงว่าโครงการสร้างเขื่อนนี้ก็เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างดีมานด์กับซัพพลายของกระแสไฟฟ้าในรัฐ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องการทำให้ความต้องการกระแสไฟฟ้ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าไม่มีช่องว่างมากเกินไปหรือมีสมดุลมากขึ้น 

นอกจากนี้ก็ยังมีเป้าหมายที่จะทำให้สัดส่วนระหว่างปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังน้ำมีความสมดุลกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานความร้อนและถ่านหิน แถมยังบอกอีกว่าชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมอย่างมากจากโครงการนี้ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการมอบเงินชดเชยให้และมีแผนในการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมแผนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านด้วย

แต่ถ้ามาฟังทางฝั่งชาวบ้านแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะแน่นอนว่าแหล่งท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์นี้จะต้องสูญหายไปพร้อมกับรายได้หลักที่ได้จากการท่องเที่ยว แต่ที่ชาวบ้านหวั่นวิตกกังวลมากกว่าก็คือจะมีพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำจากโครงการสร้างเขื่อนนี้ และที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านรู้สึกว่าภาครัฐไม่เคยให้ความสำคัญที่จะรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งไม่เคยเหลียวแล และไม่เคยใยดีกับผลกระทบเชิงลบต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่จะเกิดขึ้น 

แต่ประเด็นขัดแย้งนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ เพราะว่าในปัจจุบันนี้ เราคงยังหาจุดสมดุลระหว่าง “การพัฒนา” กับ “ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม” ไม่ได้ลงตัว แต่โดยส่วนตัวในฐานะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอินเดียก็ไม่อยากให้ “การพัฒนา” ไปทำลาย “สิ่งแวดล้อม” ที่สวยงามและโดดเด่นอย่างแม่น้ำอุมโงทที่จะหาแม่น้ำอื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้

ผมลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วงและเสียดายแม่น้ำแสนสวยสายนี้จริง ๆ เพราะจุดเริ่มต้นของความสนใจใน “รัฐเมฆาลัย” ของผมก็เริ่มมาจากที่ได้เห็นรูปแม่น้ำอุมโงทนี่แหละ แถมมาเห็นเอาเมื่อตอนย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยแล้วอีกต่างหาก ทำให้ต้องดั้นด้นเดินทางจากประเทศไทยไปเยือนแม่น้ำสายนี้และกว่าจะได้ชมโฉมก็ต้องไปถึงสองครั้งเพราะครั้งแรกผมเดินทางไปในช่วงปลายฤดูฝน โดยผู้นำทางบอกว่าฤดูฝนไม่เหมาะสำหรับการไปล่องเรือในแม่น้ำอุมโงท เพราะฝนจะชะดินจากริมฝั่งลงไปในแม่น้ำทำให้น้ำขุ่น เพราะฉะนั้นการเดินทางไปรอบแรกก็เลยไม่ได้ไปเยือนแม่น้ำสายนี้ ก็เลยต้องกลับไปอีกรอบหนึ่งในช่วงฤดูหนาวประมาณปลายปี ซึ่งนอกจากจะไม่มีฝนแล้วแถมอากาศยังเย็นสบายอีกด้วย และการเดินทางไปรอบที่สองก็สมใจ ได้ชื่นชมแม่น้ำแสนสวยสายนี้แบบเต็มอิ่มด้วยการใช้บริการเรือพายของชาวบ้านที่มีให้บริการอยู่ริมแม่น้ำ ได้เห็นน้ำที่ใสเหมือนแก้วด้วยตาตัวเองและได้สัมผัสด้วยมือตัวเองระหว่างที่อยู่บนเรือพายด้วย

สำหรับ “รัฐเมฆาลัย” เป็นรัฐหนึ่งในรัฐเจ็ดสาวน้อยและหนึ่งน้องชาย (Seven Sisters States and One Brother State) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เขตแดนทางตะวันออกและทางเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐอัสสัม และมีชายแดนติดต่อกับประเทศบังกลาเทศในทางทิศใต้และทิศตะวันตก โดยรัฐเมฆาลัยมีพื้นที่ทั้งหมด 22,429 ตารางกิโลเมตร โดยมีเทือกเขากาสีเป็นเทือกเขาแบ่งเขตแดนจากทางตอนกลางไปจนถึงทางตะวันออกของรัฐ ลาดเอียงสู่หุบเขาพรหมบุตรทางตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบติดกับประเทศบังกลาเทศ ทั้งนี้ ความหมายของคำว่า “เมฆาลัย” ก็คือ “บ้านของเมฆ” นั่นเอง เพราะพื้นที่ของรัฐเมฆาลัยจะเป็นเขตพื้นที่ภูเขาสูงเกือบทั้งหมด

การเดินทางก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ ปกติผมจะบินไปลงที่เมืองกอลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วต่อเครื่องบินไปลงที่เมืองกูวาฮาติ เมืองหลวงของรัฐอัสสัม หลังจากนั้นก็นั่งรถต่อไปจนถึงเมืองชิลลอง เมืองหลวงของรัฐเมฆาลัย ใช้เวลานั่งรถประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว พักที่เมืองชิลลองหนึ่งคืนแล้วค่อยเดินทางต่อไปเมืองดอกี (Dawki) เพื่อไปเยี่ยมชมแม่น้ำอุมโงท ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพราะสภาพถนนยังไม่ดีมากทำให้รถวิ่งได้ช้า แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางและได้เห็นน้ำใส ๆ ในแม่น้ำอุมโงทแล้วก็หายเหนื่อย

ก็หวังว่าเมื่อหมดโควิด-19 แล้ว แม่น้ำอุมโงทแสนสวยจะยังคงอยู่รอให้นักท่องเที่ยวคนไทยได้มีโอกาสไปเยือนและชื่นชมความงดงามอยู่ตลอดไปนะครับ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พลิกปูมประวัติศาสตร์การเมืองไทย “วันเสียงปืนแตก” เมื่อ 7 สิงหาคม 2508 ไม่ใช่วันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปะทะ กับกองกำลังของรัฐบาลเป็นครั้งแรก

ทำไม 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเป็นวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทั้ง ๆ ที่ครั้งแรกกองกำลังติดอาวุธของพคท.ปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้นเป็นวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508

7 สิงหาคม ของทุกปีจะมีการกล่าวถึง วันเสียงปืนแตก เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ของพคท. (ซึ่งไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือน 56 ปีก่อน เพราะพคท.ล่มสลายไปแล้ว จะเหลืออยู่แต่พวกที่มีอุดมการณ์ที่ส่วนใหญ่ฝังตัวอยู่อย่างเหนียวแน่นในวงการเมือง) โดยพคท. อ้างว่า เริ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 (นักวิชาการบางส่วนก็ว่าเป็นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508 หรือ 080808) ซึ่งต่อมาเรียกวันนี้ว่า "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคกับรัฐบาล

องค์บริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ให้ข้อมูลถึงบ้านนาบัว ซึ่งพคท.ถือเป็นจุดเสียงปืนแตกว่า เป็นชุมชนตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 โดยชาวบ้าน 90% อพยพมารวมกันเพราะไม่มีที่ทำกิน ปีพ.ศ. 2445 ยกฐานะเป็นหมู่บ้าน ปีพ.ศ. 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ปีพ.ศ. 2504 มีการจับกุมราษฎรในหมู่บ้านข้อหาอันธพาล นำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และย้ายไปขังไว้ที่เรือนจำสันติบาล กรุงเทพฯ

พันตำรวจเอกสงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัสในวันเสียงปืนแตก ถูกยิง 3 นัด เข้าที่ขาขวาท่อนล่าง 1 นัด เหนือราวนมขวา 1 นัด หลังเท้าขวา 1 นัด และถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ

ปีพ.ศ. 2507 แม้ราษฎรจะถูกปล่อยตัวกลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง แต่รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและอาสาสมัคร มาเคลื่อนไหวปราบปรามราษฎรอย่างหนัก ราษฎรในพื้นที่ทยอยเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากขึ้น วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ทางการได้ส่งตำรวจทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ในพื้นที่รอยต่อสามอำเภอ คือ อำเภอธาตุพนม อำเภอเมือง อำเภอนาแก พื้นที่ระหว่างบ้านนาบัว บ้านหนองฮี บ้านดงอินำ

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เกิดการปะทะขึ้นที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อหน่วยติดอาวุธเคลื่อนที่ของพคท. จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายหนูลา จิตมาตย์, นายหนูทอง นามวุฒิ, นายคำทา จิตมาตย์, นายลำเงิน จิตมาตย์, นายกายน ดำบุดดา, นายสนไชย มูลเมือง, นายยวน จิตมาตย์ และนายกองสิน จิตมาตย์ ได้ปะทะ ยิงต่อสู้กับกำลังของตำรวจ “สหายเสถียร” หรือ “กองสิน จิตมาตย์” วัย 25 ปี ได้ยิงคุ้มกันเพื่อให้สหายถอยออกไปได้ แต่ตนเองตกอยู่ในที่ล้อม จนมุมอยู่คันนากลางทุ่ง และถูกยิงเสียชีวิต สำหรับหน่วยดังกล่าว อยู่ภายใต้ “ขุนรมย์ จิตมาตย์” ผู้ปฏิบัติงานของพคท. การปะทะนานประมาณ 45 นาที ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ สูญเสีย ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต ส.ต.ต. มนต์ชัย โพธิดอกไม้ บาดเจ็บถูกยิงขาทะลุ พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส

“สหายเสถียร” หรือ “กองสิน จิตมาตย์” ซึ่งถูกยิงสียชีวิตในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

หลังจากนั้นทางราชการยิ่งปราบปรามมากยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับราษฎรหลายคนในหมู่บ้าน ถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทางการยิ่งเร่งการปราบปรามมากยิ่งขึ้นไปอีก สั่งให้ราษฎรทำรั้วรอบหมู่บ้านอย่างแน่นหนา สั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวก่อนออกไปทำไร่ทำนา และช่วงกลับมาบ้านอย่างเคร่งครัด ถ้าคนไหนฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก เช่น เตะ ตี และนำไปคุมขังที่ค่ายทหารบ้านหนองฮี และส่งไปที่ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 2 อำเภอมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น

เมื่อทางราชการเร่งมือปราบปราม ราษฎรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท.มากยิ่งขึ้น จนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พคท.เปิดการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองขึ้นที่ภูพาน มีมติ ให้ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตชนบทอย่างเป็นทางการ หลังจากตระเตรียมการสร้างฐานที่มั่นในเขตป่าเขา มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 และให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันเสียงปืนแตก” และถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชนในประเทศไทย

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) (Communist Party of Thailand - CPT) เดิมเรียก พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ ชาวเวียดนาม ใช้นามแฝงว่า สหายซุง โดยประชุมครั้งแรกแบบลับ ๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ.  2473 โดยแต่งตั้งหลี หรือ โงจิ๊งก๊วก เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และมีตัวแทนสองคนคือ ตัง หรือ เจิ่นวันเจิ๋น และ เหล่าโหงว หรือ อู่จื้อจือ จนก่อตั้งเป็นรูปร่างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485

หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 57 คน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นพรรคแนวอุดมการณ์ ยึดมั่นในลัทธิมาร์กซิส-เลนิน และลัทธิเหมา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ชี้นำสังคมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อสู้เอาชนะระบบทุนนิยมด้วยวิธี "ป่าล้อมเมือง" แต่มิได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ ในอดีตยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ พคท. อีกด้วย 

พรรคคอมมิวนิสต์สยาม ประชุมครั้งแรกแบบลับ ๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2473

แต่ภายหลังการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่ฝ่ายทหารได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกพรรคจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพรรคพวกของนายปรีดีด้วยเคยร่วมงานในขบวนการเสรีไทยถูกจับ ทำให้พรรคต้องยุติการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย แล้วมุ่งสู่ชนบทเพื่อหาแนวร่วมจากประชาชนระดับล่าง ในที่สุดจึงต้องจับอาวุธขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาล

เหตุที่ พคท.จึงไม่ยอมรับให้วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกของ พคท. (และเป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) และไม่ยอมรับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่มวลชนพลพรรค พคท. ในเขตงานจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศเป็น "วันกองทัพ" ของ พคท. แต่กลับยอมรับเอาวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก และยังให้ถือเป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) มีความเป็นมาดังนี้ 

พื้นที่ป่า ตำบลโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

เขตงานปฏิบัติการในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของสหาย "เพียร" (ครูเพียร) ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ ณ ป่าภูเกษตร ตำบลโพนทอง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งปัจจุบันเป็น ตำบลโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ) วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 สหายเพียร ได้นำกองกำลังพลพรรค พคท.ดักซุ่มโจมตีรถตำรวจบนเส้นทางระหว่างบ้านป่าเตยกับบ้านคำไหล เขตงาน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร) โดยการปฏิบัติการในครั้งแรกนี้ถือว่า กองกำลัง พคท.ประสพความสำเร็จสูงสุด

เนื่องจากสามารถทำลายรถตำรวจลงได้ มีตำรวจเสียชีวิต 3 นาย พร้อมทั้งได้ยึดอาวุธบุทโธปกรณ์อื่น ๆ อีกหลายรายการ โดยที่กองกำลัง พคท.ไม่สูญเสียอะไรเลย ถือได้ว่าในการปะทะในครั้งนี้ พคท.ชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังจากปฏิบัติการเสียงปืนแตกเป็นวันแรก และได้รับชัยชนะโดยสมบูรณ์แบบ ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการเขตงานพิเศษ สหายเพียรได้รายงานรายละเอียดให้ที่ประชุมทราบ จึงได้รับการตอบรับจาก สหาย สวน (วิรัช อังคถาวร ) และกล่าวคำชื่นชมว่า "เป็นความกล้าหาญและฉลาดมาก" แต่แล้วทำไม พคท. จึงปฏิเสธการรับเอาวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 ให้เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก

สหายเพียร ซึ่งได้รวบรวมมวลชน พคท.จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น ณ ฐานที่มั่นป่าภูเกษตร ซึ่งในเวลานั้นเรียกกองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้ว่า "พลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย (พล.ปตอ.) โดยมีเป้าหมายคือ ปฏิบัติการ "ต่อต้านอเมริกา" และประกาศวันก่อตั้ง "กองทัพ" เป็นทางการในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยมี สหายเพียร เป็นประธานในพิธี แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทย" (ทปท.) ด้วยเหตุผลว่า เมื่อ ทปท. มีเป้าหมายขับไล่อเมริกาแล้ว ก็ต้องขับไล่รัฐบาล "เผด็จการ" ด้วย เพราะรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้นอยู่ในภายใต้อำนาจของจักรวรรดินิยมอเมริกา

สหาย “ลุงคำตัน” พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน)

เหตุผล พคท.ปฏิเสธไม่ยอมรับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508  เป็นวันวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย โดยวันทั้งสองนี้เกิดจากผลของ "ปฏิบัติการ" และผลจากการ "ก่อตั้ง" ของสหายเพียร ผู้มีอดีตเป็นครูบ้านนอก เป็นนักต่อสู้กับผู้มีอิทธพลท้องถิ่นชนิดตาต่อตา เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี พ.ศ. 2492 เดินทางไปรับการอบรมลัทธิมาร์ค เลนิน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2495 (รุ่นเดียวกับ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, วิรัช  อังคถาวร, พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน), ผิน บัวอ่อน, ธง แจ่มศรี, รวม วงษ์พันธ์ และคนอื่น ๆ รวม 20 คน)

เมื่อสำเร็จการอบรมแล้วได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2499 และ พคท.แต่งตั้งให้ ครูเพียร เป็น "ผู้อำนวยการสถาบันอบรมลัทธิมาร์ค - เลนิน" ซึ่งเปิดดำเนินการลับ ๆ ในจังหวัดพระนคร รับผู้ฝึกอบรมได้ประมาณ 4 - 5 รุ่น ต้องปิดตัวลงเมื่อมีเค้าลางว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะทำการรัฐประหาร หลังจากสถาบันฯ ปิดตัวลง พคท.ได้ส่งตัวสหายเพียรไปช่วยงานเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับพลพรรคคอมมิวนิสต์ "มาลายา" (พคม.) หลังจากปฏิบัติงานเป็นครูสามารถสอนภาษาไทยให้นักเรียนที่เป็นพลพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาแล้ว จึงเดินทางกลับประเทศไทย แล้วถูก พคท. กำหนดให้เป็นผู้จัดหา "ฐานที่มั่น" และเตรียมจัดตั้งกำลังรบให้ พลพรรค พคท.ในเขตพื้น จังหวัดตรังเชื่อมโยงกับ จังหวัดพัทลุง ในเขตพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชเชื่อมโยงกับ จังหวัดสุราษฎร์ฯ

ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

จากนั้นปี พ.ศ. 2505 พคท. ส่งสหายเพียรไป "ขยายมวลชน" ในจังหวัดนครพนม โดยได้สร้างฐานที่มั่นขึ้นในป่า ตำบลดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม โดยปฏิบัติการอบรมจนขยายมวลชนได้อย่างกว้างขวางเป็นที่พอใจของ พคท. ในปี พ.ศ. 2506 จึงเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตงาน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี โดยประจำอยู่ที่ฐานที่มั่นในป่า "โคกกลาง" ตำบลบ้านด่าน ปฏิบัติงานอยู่ในเขตพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลา 6 เดือน แล้วจึงเดินทางเข้าเขตงาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี และตั้งฐานที่มั่นในป่าภูเกษตร ตำบลโพนทอง ตามที่ได้กล่าวแล้ว

ต่อมา สหายเพียร เป็น "แกนนำ" ในการคัดง้างกับ "ฝ่ายค้าน" อุดมการณ์พรรค" (ฝ่ายลัทธิแก้) ซึ่งมี "ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร" เป็นแกนนำ แต่ฝ่ายของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีอำนาจในพรรคเหนือกว่า ฝ่ายสหายเพียรจึงสู้ไม่ได้ นอกจากความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์แล้ว ฝ่ายของประเสริฐยังนำเอาเรื่องที่สหายเพียรผิดวินัยพรรคเมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันอบมรมลัทธิมาร์คซิส - เลนิน มาโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อน (ความผิดนั้นคือ สหายเพียร มีผู้หญิงคนใหม่ ในขณะที่สหายเพียรมีภรรยาและลูกอยู่แล้ว) ด้วยสาเหตุ 2 ประการนี้ สหายเพียรจึงถูกยึดทุกตำแหน่งในพรรคทั้งหมด จนเหลือเพียงแค่ตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 สหายเพียร จึงออกมอบตัวกับทางราชการ และกลายเป็นคน "ทรยศ" และเป็นคน "นอกพรรค" ไป

ด้วยเหตุนี้ พคท.จึงไม่ยอมรับผลงานที่สหายเพียรสร้างไว้ให้อยู่ปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ของ พคท. จึงเป็นสาเหตุของการไม่ยอมรับว่า วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย 

ด้วยเหตุนี้เอง พคท.จึงถือเอาวันที่ 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก ซึ่งเป็นวันแรกที่พคท.สู้รบ และได้รับความ "พ่ายแพ้" ทั้งยังถือเป็นวันกองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทยแทนวันทึ่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 อันเป็นวันเสียงปืนแตกวันแรก และกองกำลังติดอาวุธของพคท.สามารถทำการรบเอารบชนะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างเด็ดขาด หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 อันเป็นวันที่ สหายเพียร ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เป็นวันกองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อก่อนหน้านี้แล้ว

หลังจาก “วันเสียงปืนแตก” เป็นต้นมา การต่อสู้ก็ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงทั่วทุกภาค ภายหลังเหตุการณ์ "6 ตุลา 19" นักศึกษา ปัญญาชนหลายพันคนได้ตัดสินใจเข้าป่าร่วมการต่อสู้กับ พคท. ส่งผลให้พรรคเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ภายในพรรคก็เกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างสมาชิกรุ่นเก่ากับสมาชิกรุ่นใหม่ รัฐบาลก็แก้เกมการเมืองได้อย่างทันท่วงที โดยหันไปสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ผู้ให้การช่วยเหลือรายใหญ่ของพรรคในเวลานั้น จีนต้องยุติการช่วยเหลือแก่พรรค

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือคำสั่งที่ 66/23 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบของคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ต่อมารัฐบาลไทยหันมาใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ด้วยการประกาศ "นโยบาย 66/2523" อันมีสาระสำคัญให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาชาติไทย ไม่เอาผิดกฎหมายกับคนที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐ มีโครงการแจกที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่ออกมามอบตัว ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนออกมามอบตัวกันเกือบหมด ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกต่ำ และล่มสลายลงในเวลาอันรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือคำสั่งที่ 66/23 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบของคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็งที่ดำเนินมาแต่รัฐบาลฝ่ายขวาในยุคที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2520) มาสู่สายกลางมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อมาตรการทางการเมืองเหนือการปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการ

คำสั่งนี้กำหนดให้มีการจัดการความอยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสอดคล้องกับคำสั่งอนุญาตให้ผู้แปรพักตร์ผละขบวนการก่อการร้าย เมื่อประกอบกับการลดลงของการสนับสนุนจากต่างชาติ นำไปสู่การเสื่อมสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สลายตัวแล้วอย่างสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2523 และการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง แม้ปัจจุบันมีผู้พยายามสืบทอดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้คงอยู่ แต่ไม่ได้มีบทบาทอะไรทางการเมืองเช่นในอดีตแล้ว

ด้วยเหตุที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถือเอา 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกแห่งความพ่ายแพ้ การสู้รบของพคท. จึงพ่ายแพ้ พลพรรคยอมจำนนต่อทางการตามนโยบาย 66/23 ฤกษ์วันที่ 7 สิงหาคมของขบวนการผู้คิดร้ายต่อชาติบ้านเมืองจึงกลายเป็น ‘ฤกษ์แห่งความ "พ่ายแพ้" ตลอดกาล’ 

จะไม่มีเหตุการณ์เช่นวันเสียงปืนแตกเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อีก และบรรดาผู้ที่คิดและมุ่งร้ายต่อบ้านนี้เมืองนี้ที่สุดย่อมได้รับผลจากการกระทำทั้ง กายกรรม มโนกรรม และวจีกรรม จากที่ได้ทำผิดคิดชั่วเช่นที่ปรากฏให้เห็นในมากมายหลายต่อหลายราย ด้วยราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักของเราท่าน มีสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิมากมาย คอยปกปักษ์รักษา คอยปกป้องคุ้มครอง ซึ่งจะทำให้สถาบันหลักทั้งสามดำรงคงอยู่เป็นหลักชัยของประชาชนชาวไทยตลอดไป

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยอมบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ด้วยเพราะสหายเพียรกลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามไป เรื่องราวของสหายเพียรจึงสืบค้นได้ยากมาก ๆ แต่ได้ความอนุเคราะห์ข้อมูลจากคุณพีระ ทองพิทักษ์ กัลยาณมิตรใน FB ได้กรุณาให้ข้อมูลเรื่องนี้มา ผู้เขียนจึงได้สอบทานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงข่าวกรองก็ได้รับการบอกเล่าข้อมูลลักษณะเดียวกัน โดยกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก่อนวันที่ 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 หลายครั้งแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณพีระ ทองพิทักษ์


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เหลือ​ 1​ ล้าน!! บทสรุป​ 'มาตรการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก'​ สะท้อนสุขภาพการเงินสถาบันไทย...ยังดีจริงหรือ?

ตามที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ในกรณีที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินล้มละลาย ปิดกิจการ หรือโดนเพิกถอนใบอนุญาต จากเดิมวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้แล้วในพระราชกฤษฎีกาจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์ของ The International Association of Deposit Insurers (IADI) 

ทั้งนี้เพื่อให้วงเงินคุ้มครองเงินฝากสอดคล้องกับหลักการของระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิผล รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ช่วยให้ทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินไม่ละเลยต่อการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดภาระงบประมาณของภาครัฐไม่ให้สูงเกินจำเป็น ทำให้ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากดังกล่าวยังคงคุ้มครองผู้ฝากเงินถึงร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินในปัจจุบันที่สูงกว่าในอดีต ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทำให้ผู้ฝากเงินสามารถมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินได้ แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

มาตรการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ของ ธปท. นั้น ได้กำหนดกฎเกณฑ์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง มีความระมัดระวัง ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่เงินฝากของประชาชน ตลอดจนมีเกณฑ์กำกับด้านธรรมาภิบาลของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและผู้ฝากเงิน 

ทั้งนี้การกำกับดูแลของ ธปท. เป็นไปตามแนวทางการกำกับตรวจสอบความเสี่ยง (Risk based Supervision) โดยในส่วนของการกำกับดูแลด้านความเพียงพอของเงินกองทุน สถาบันการเงินจะถูกประเมินด้วยอัตราส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด และด้านปฏิบัติการ ทั้งนี้กำหนดให้ค่า BIS ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 8.5% ซึ่งปัจจุบันพบว่า ค่า BIS ของสถาบันการเงินมีค่าร้อยละ 20 ซึ่งแสดงถึงสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ธปท. ยังได้กำหนดให้มีมาตรการ PPA (Prompt Prevention Action) เพื่อป้องกันก่อนสถาบันการเงินจะมีฐานะเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (ต่ำกว่า 8.5%) และมาตรการ PCA (Prompt Corrective Action) เพื่อแก้ไข ผ่านการเสนอแผนเข้าควบคุมกิจการ (ต่ำกว่า 5.1%) และสั่งปิดกิจการ (ต่ำกว่า 2.97%) อีกด้วย 

อย่างไรก็ตามผู้ฝากเงินสามารถศึกษาความมั่นคงของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ผ่านแนวทางการประเมินใน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 
1.) ฐานะและกำไรจากการทำธุรกิจ 
2.) เงินทุนของสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง 
3.) คุณภาพของสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี 
4.) มีสภาพคล่องเพียงพอ และ 
5.) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน (Rating) 

นอกจากนี้ ธปท. กำหนดให้มีศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงิน ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างอิสระ มีช่องทางร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม และได้รับการพิจารณาค่าชดเชยกรณีได้รับความเสียหาย ผ่านสายด่วน 1213 หรือ www.1213.or.th 

ขอบคุณข้อมูลจาก 
ข่าว ธปท. ​ฉบับที่  58/2564 
https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n5864.aspx
การกำกับดูแลสถาบันการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 
https://www.1213.or.th › aboutfcc › Documents
การคุ้มครองเงินฝาก การกำกับดูแลสถาบันการเงิน - สำนักงานเศรษฐกิจ 
http://www.fpo.go.th › CNT0014403-1.pdf.aspx


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พลิกวิกฤต!! “กระชาย” ความหวังของสมุนไพรไทย ในยุคโควิด-19 ?

ผ่านไปแล้วหลายวันครับ ในการใช้มาตรการสูงสุดของรัฐบาลโดยการล็อกดาวน์ ในจังหวัดที่มีสีแดงเข้มหลายจังหวัด และมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยมีแนวโน้มที่จะขยายมาตรการที่เข้มข้นนี้ออกไป ทั้งระยะเวลาและพื้นที่ในการบังคับใช้ อีกด้วย อย่างไรก็ตามผลจากการใช้มาตรการแบบเข้มข้นของรัฐบาลในรอบนี้ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นทางสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย เนื่องจากจำนวนยอดผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นว่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดปัจจุบันมาแตะที่หลักสองหมื่นกว่าแล้ว 

ท่ามกลางกระแสของการแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และความกลัวในเรื่องยารักษาหลักคือ “ฟาวิพิราเวียร์” ที่ไม่เพียงพอ ก็ได้มีการผุดทางออกในเรื่องของการใช้สมุนไพรไทย ในการรักษาและยับยั้งการแพร่ไปสู่อวัยวะที่สำคัญ โดยเฉพาะสมุนไพรไทยที่ชื่อ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เริ่มมีการศึกษาในระดับการใช้งานในคน และมีการยอมรับแล้วว่า สามารถยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว โดยการออกฤทธิ์คล้ายกับยาฟาวิพิราเวียร์ เลยทีเดียว 

นอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ก็มีสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้มีการศึกษาสำหรับใช้ในการรักษาโควิด-19 และผลการศึกษามีแนวโน้มที่ดีด้วยในการออกฤทธิ์ ยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย นั่นก็คือพืชสมุนไทยที่คนไทยคุ้นเคยกันดีที่ชื่อว่า “กระชาย” 

สำหรับวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกระชายกันครับ “กระชาย” มีชื่อสามัญว่า Fingerroot หรือ Chainese ginger หรือ Chainese Key หรือ Galingale มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf อยู่ในวงศ์ขิง เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ที่เรียกว่า เหง้า รากของกระชายจะสะสมอาหารจนพองเป็นก้าน เรียกว่า แง่ง กระชายมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกกันว่า ขิงจีน เราจะรู้จักกระชายกันดีในเรื่องของนำมาทำเป็นส่วนประกอบสำหรับทำอาหาร โดยเมื่อนำเหง้าหรือแง่งในปริมาณ 100 กรัม ของกระชายมาวิเคราะห์ พบว่ามีสารอาหารที่สำคัญได้แก่ คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.0 กรัม น้ำตาล 1.7 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม โซเดียม 13 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว 0.2 กรัม วิตามีนบี 6 8% วิตามีนซี 8% แคลเซียม 2% เหล็ก 3% แมกนีเซียม 11% กระชายที่ใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย มี 3 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง หรือกระชายขาว 

สำหรับสรรพคุณของกระชายนั้น สามารถแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเป็นแผล แก้อาการวิงเวียนหัว แน่นหน้าอก ได้ และกระชายดำก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีว่าช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศได้อีกด้วย สำหรับกระชายที่มีการศึกษาว่ามีฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งการกระจายตัวของไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว คือ กระชายขาว โดยจากผลการวิจัยร่วมกันของคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) พบว่า มีสารสำคัญ 2 ชนิด ที่พบในสารสกัดกระชายขาว ซึ่งสามารถช่วยในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย คือ พิโนสโตรบิน (Pinostrobin) และ แพน​ดูราทิน เอ (Panduratin A) 

โดยมีกลไกลทำงาน คือเมื่อร่างกายได้รับสารสกัดที่สำคัญของกระชายนี้ในปริมาณที่เหมาะสม สารดังกล่าวจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 และทำให้ไวรัสสลายไปในที่สุด โดยพบว่าสามารถลดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 100% เลยทีเดียว โดยผลจากการทดลองในการยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่าสามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ จาก 100% ไปถึง 0% ได้ และ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการยับยั้งในการผลิตตัวไวรัสออกจากเซลล์ พบว่า สารสกัดจากกระชายขาวสามารถยับยั้งได้ถึง 100% นั่นก็คือเซลล์นั้นไม่สามารถที่จะผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกมาจากตัวเซลล์ได้เลย  

ทั้งนี้ในกรณีการศึกษาวิจัยในกรณีดังกล่าวนั้น เป็นการศึกษาในระยะเริ่มต้น หรือระดับห้องปฏิบัติการ คือศึกษาในหลอดทดลอง และเริ่มนำมาใช้ในสัตว์ทดลองคือหนูเท่านั้น ยังไม่ได้เริ่มมีการศึกษาโดยทดลองใช้กับมนุษย์จริง และคงมีการศึกษาใช้กับมนุษย์ในระยะต่อไป ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของฟ้าทะลายโจร ที่เริ่มมีการทดลองใช้กับคนมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ผลพบว่าสามารถยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ เข้าสู่ร่างกายแล้วได้จริง 

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่าเนื่องจาก กระชายเป็นทั้งพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร และยังเป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ถ้าเรามีไว้ติดบ้านนอกจากมีสรรพคุณสำหรับรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปากเป็นแผล หรือเพิ่มสมรรถนะทางเพศ ตามความเชื่อแล้ว ก็ยังอาจเป็นทางออกอีกทางออกหนึ่งหนึ่งที่ สามารถยับยั้งการแพร่ของไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรา ในยุคของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไรก็ได้ครับ 


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“Kfir” เครื่องบินรบที่อิสราเอลสร้างจากปฏิบัติการ ‘จารกรรมพิมพ์เขียว’ Mirage ของฝรั่งเศส!!

MIRAGE III ทอ.อิสราเอล

เรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิสราเอลที่หาความรู้ด้วยวิธีการที่ว่า "ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา" เลยทีเดียว ในทันทีที่สงคราม 6 วันสิ้นสุดลง ชาร์ล เดอ โกลล์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้นได้สั่งให้งดขายอาวุธต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องบินแบบ Mirage 3-s จำนวน 15 เครื่องให้อิสราเอล ซึ่งอิสราเอลได้จ่ายเงินให้ไปแล้วด้วย อันที่จริงแล้วกองทัพอากาศอิสราเอลได้ยึดติดแน่นอยู่กับระบบต่าง ๆ ของเครื่องบิน Mirage แม้ว่า รัฐบาลอเมริกันได้ยื่นข้อเสนอที่จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้ โดยจะจัดส่งเครื่องบินขับไล่ F-4 PhantomII มาให้ทันที แต่มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้เลย เพราะอิสราเอลได้พัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้สำหรับเครื่องบินแบบ Mirage จนครบหมดแล้ว ด้วยอิสราเอลได้ลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงที่มุ่งจะใช้กับระบบของ Mirage ไปเป็นจำนวนมหาศาล และไม่ได้มีการพัฒนาระบบอื่นเผื่อไว้เลย

F-4 PhantomII ทอ.อิสราเอล

IAI Kfir เป็นเครื่องบินขับไล่-ทิ้งระเบิดไอพ่นแบบแรกที่สร้างในอิสราเอล โดยต้นแบบของ Kfir คือ Mirage 5 ของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1969 ฝรั่งเศสงดขายเครื่องบิน Mirage ให้กับอิสราเอล ทำให้เกิดโครงการ Kfir ซึ่งเป็นงานแผนแบบเครื่องบินไอพ่นขับไล่และทิ้งระเบิดในระดับความเร็ว 2 มัค และเป็นความลับสุดยอดของอิสราเอล เครื่องบิน Kfir ต้นแบบก็สำเร็จในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งตั้งชื่อว่า Nesher ได้ทำการบินทดสอบ และแก้ไขดัดแปลงหลายส่วน โดยเฉพาะส่วนท้ายที่สันดาปท้ายร้อนจัดจนละลาย และเมื่อทดสอบปรับปรุงใหม่เสร็จ Nesher ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Barak การผลิต Barak เริ่มในปี ค.ศ. 1972 และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการต่อสู้กับเครื่องบิน MiG ของอาหรับ และนับจากนั้น Barak จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Kfir เครื่องบินขับไล่-ทิ้งระเบิด Kfir ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 เมษายน ปี ค.ศ. 1975 

Nesher ต้นแบบของ Kfir

โดย Kfir มีทั้งหมด 4 รุ่นคือ  

>> Kfir C.1 (1975) เป็นรุ่นที่มาจากการปรับปรุง Nesher โดยตรง โดยเพิ่มปีก Canard ขนาดเล็กเข้าไป อิสราเอลผลิต C.1 จำนวน 27 ลำ

และในวันที่ 20 กันยายน ปี ค.ศ. 1976 บริษัท ไอเอไอก็ได้เปิดตัวรุ่นใหม่ชื่อว่า 
>> Kfir C. 2 มีลักษณะแตกต่างจากรุ่นแรกคือ ติดตั้ง Canard หรือปีกเล็ก ๆ ด้านหน้า เหนือช่องรับอากาศ Kfir C.2 (1976) พัฒนามาจากประสบการณ์ในการใช้ C.1 โดยติดตั้งปีก Canard ที่สมบูรณ์ลงไป ปรับปรุงคุณสมบัติด้านอากาศพลศาสตร์ ลดระยะทางที่ต้องใช้ในการขึ้นลง และติดตั้งเก้าอี้ดีดตัว Martin-Baker Mk.10 ติดตั้งเรดาห์ EL/M 2001/2001B ที่อิสราเอลผลิตเอง ติดตั้งคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินและจอ HUD และได้ผลิตรุ่น TC.2 ซึ่งเป็นรุ่นสองที่นั่งสำหรับใช้ฝึก โจมตี และปฏิบัติการสงครามอิเล็กทรอนิคส์ โดยอิสราเอลผลิต C.2 และ TC.2 ทั้งหมด 185 เครื่อง

>> Kfir C.7 (1983) เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น J79-GE-17E ซึ่งเพิ่มแรงขับอีก 1,000 ปอนด์ ติดตั้งระบบ Jammer รุ่น EL/L-8202 ซึ่งในรุ่นนี้ Kfir ได้เปลี่ยนภารกิจจากขับไล่สกัดกั้นเป็นโจมตี เนื่องด้วยต้องเหลีกทางให้ F-15 ที่มาทำภารกิจขับไล่แทน (ทำให้สถิติการยิงเครื่องบินศัตรูตกของ Kfir หยุดอยู่ที่ 1 เครื่อง คือ MiG-21 ของซีเรียซึ่งถูกยิงตกโดย Kfir C.2)

>> Kfir C.10 หรือ Kfir 2000 รุ่นสุดท้ายของ Kfir ในรุ่นนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนห้องนักบินไปเป็นระบบ Glass cockpit (ติดตั้งจอภาพสี 2 จอแทนมาตรวัดแบบเข็ม) ติดตั้งท่อรับการเติมน้ำมันกลางอากาศ เปลี่ยนคันบังคับเป็นแบบ HOTAS ซึ่งช่วยลดภาระของนักบิน นักบินสวมหมวกบินติดศูนย์เล็ง และเปลี่ยนเรดาห์เป็นรุ่น EL/M-2032

Kfir รุ่นต่าง ๆ

การที่ฝรั่งเศสห้ามขายอาวุธยุทโธปกรณ์กลายเป็นปัญหาระยะสั้นที่ทำให้รัฐบาลและกองทัพอิสราเอลต้องคิดหาทางออกอย่างหนัก ส่วนปัญหาระยะยาวที่จะตามมาอีกคือ จะทำอย่างไรในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน Mirage ที่มีอยู่แล้ว ความสามารถในการป้องกันประเทศของอิสราเอลต้องขึ้นอยู่กับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับจากประเทศเดียวเท่านั้น ถ้าประเทศนั้นเกิดเปลี่ยนใจไม่ส่งอาวุธมาให้โดยไปเข้ากับศัตรูในขณะที่อิสราเอลเจอกับวิกฤตเช่นนั้น หรือ อิสราเอลจะทำอย่างไร เหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจฉะนั้นหรือ คณะรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้นได้มีมติด่วนให้จัดหางบประมาณให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องบินของอิสราเอลเพื่อสร้างเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่สามารถต่อกรกับเครื่องบินชั้นเยี่ยมของชาติอื่น ๆ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญหน้าอยู่

คณะกรรมการสรุปข้อมูลและประเมินสถานการณ์แล้วได้รายงานว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการสร้างเครื่องบินสัญชาติอิสราเอลให้ขึ้นบินได้ทั้งนี้ เพราะอิสราเอลจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ A จนถึง Z นอกจากนั้นยังไม่อาจประกันได้ว่าเครื่องบินที่ผลิตออกมานั้นจะสามารถเทียบชั้นกับเครื่องบินของรัสเซีย อังกฤษ อเมริกา หรือฝรั่งเศสได้ วิธีแก้ปัญหานี้ให้ได้รวดเร็ว คือสร้างเครื่องบินที่ลอกแบบ จาก Mirage ซึ่งวิศวกรและนักเทคนิคของอิสราเอลมีความชำนาญและคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่วิธีนี้ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ดี เนื่องจากเครื่องบินขับไล่สมัยใหม่แต่ละเครื่องมีชิ้นส่วนประมาณ 1 ล้านกว่าชิ้น และทุกชิ้นส่วนได้รับการทดสอบมาแล้วเป็นอย่างดี ถ้าจะลอกแบบจากเครื่องบินจริงย่อมไม่ได้คุณภาพเท่าของแท้ นอกเสียจากจะมีพิมพ์เขียวของวิศวกรผู้สร้าง Mirage เอง ตัวอย่างที่อิสราเอลรู้ดีก็คือ สวิตเซอร์แลนด์ได้ผลิตเครื่องบิน Mirage ภายใต้สิทธิบัตรที่ได้รับอนุญาตจากฝรั่งเศส ซึ่งสามารถใช้แบบพิมพ์เขียวและนักเทคนิคของฝรั่งเศสอีกด้วย แม้กระนั้นยังต้องใช้เวลาถึง 6 ปี เครื่องบิน Mirage ที่สร้างในสวิตเซอร์แลนด์จึงสามารถขึ้นบินได้ 

เดือนธันวาคม ปี 1967 ฝรั่งเศสได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือสิทธิบัตรในการผลิตเครื่องบิน Mirage ทั้งลำหรือบางส่วนขึ้นในกรุงปารีส โดยปกติแล้วเครื่องบินหรือเครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องบินจะไม่ค่อยเป็นไปตามรายการประกอบแบบ (Specifications) ที่เขียนขึ้น โดยยืนยันสมรรถนะหรือเพื่อประกันความปลอดภัยเครื่องบิน ซึ่ง Mirage เองก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น บริษัท Dassault ผู้ผลิตลำตัวเครื่องบินและบริษัท Senikama ผู้ผลิตเครื่องยนต์ ATA-9 ทั้งสองบริษัทเป็นเจ้าภาพร่วมกัน จัดให้มีการประชุมสำหรับผู้ใช้งานเครื่องบิน Mirage ทั้งหลายขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมสร้างเครื่องบินของชาติต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้า วัตถุประสงค์ก็เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยออสเตรเลียและสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ผลิต Mirage ทั้งตัวเครื่องบินและเครื่องยนต์ ส่วนอิสราเอลและเบลเยี่ยมนั้น นำชิ้นส่วนไปประกอบและผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นขึ้นเอง ทั้งหมดภายใต้สิทธิบัตรที่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้นก็ยังมีแอฟริกาใต้ เลบานอน และเปรู ซึ่งซื้อเครื่องบิน Mirage ที่ประกอบสำเร็จรูปไปใช้

ในการประชุมครั้งนี้อิสราเอลได้ส่งพลจัตวา โดฟ ไซเยียน แห่งกองทัพอากาศอิสราเอลเข้าร่วมประชุม (นายพลไซเยียน เป็นบุตรเขยของนายพล Moshe Dayan (สามีของ Yael Dayan บุตรีของนายพล Moshe) ไซเยียนไม่ได้ออกความเห็นอะไรมากนัก เพราะนั่งติดกับผู้แทนจากเลบานอน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรู และอิสราเอลเองยังไม่พอใจฝรั่งเศสที่ไม่ยอมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการใช้เครื่องบิน Mirage ในระหว่างสงคราม 6 วันที่เตรียมมาจึงไม่ได้เสนอในที่ประชุมแต่อย่างใด

เครื่องยนต์ ATA-9 ที่ติดตั้งอยู่ใน Mirage

ในการประชุมนั้นผู้ผลิตเครื่องยนต์ ATA-9 บริษัท Senikama ได้รับความกดดันจากลูกค้าที่ใช้ Mirage เป็นอันมาก เพราะต่างผิดหวังกับเครื่องยนต์ ATA-9 ที่ติดตั้งอยู่ใน Mirage โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลเฟร็ด ฟรอเอนค์เนทค์ ผู้แทนจากบริษัท Solzer Brothers แห่งสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งได้สิทธิบัตรในการสร้าง Mirage ได้วิจารณ์เครื่องยนต์ ATA-9 อย่างหนัก สำหรับไซเยียนแล้วทุกสิ่งที่ฟรอเอนค์เนทค์พูดนั้นได้เกิดขึ้นกับเครื่องบิน Mirage ของอิสราเอลเช่นเดียวกัน หลังการประชุม ไซเยียนได้หาโอกาสพบและรับประทานอาหารกับฟรอเอนค์เนทค์ และได้บอกกับผู้แทนบริษัทสวิสว่า เขาจงใจที่จะไม่เสนอข้อมูลในการใช้งาน Mirage ของอิสราเอลในที่ประชุม

อัลเฟร็ด ฟรอเอนค์เนทค์ ผู้แทนจากบริษัท Solzer Brothers แห่งสวิตเซอร์แลนด์

พลจัตวา ไซเยียน กลับอิสราเอลพร้อมกับข่าวดี โดยฟรอเอนค์เนทค์ได้เปิดเผยกับเขาว่า รัฐบาลสวิสได้สั่งชิ้นส่วน Mirage III จำนวน 100 เครื่อง แต่เนื่องจากราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลสวิสจึงตัดสินใจสร้างเพียง 53 เครื่อง ชิ้นส่วนที่เหลือนั้นจึงพอที่จะสร้างอีก 47 เครื่องได้อย่างสบาย แถมยังมีแบบพิมพ์เขียวและรายการอย่างละเอียดที่อยู่ในสวิสเซอร์แลนด์อีกด้วย ถ้าอิสราเอลได้เป็นเจ้าของชิ้นส่วนและแบบพิมพ์เขียวเหล่านั้นก็สามารถสร้างเครื่องบิน Mirage ได้อีกประมาณ 50 เครื่อง เพื่อทดแทนจำนวนที่สั่งจากฝรั่งเศส แต่ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งกักเอาไว้ 

มิตรใหม่ทั้งสองติดต่อกันทางจดหมายเรื่อยมา แม้ว่าฟรอเอนค์เนทค์จะไม่ใช่คนยิว แต่ก็มีความเห็นอกเห็นใจยิวอยู่เป็นอันมาก เพราะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวได้หนีตายจากฮิตเลอร์เข้ามาพึงสวิตเซอร์แลนด์เหมือนหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่สวิตเซอร์แลนด์กลับขับไล่ไสส่งชาวยิวเหล่านั้นให้ไปพบกับความตาย ซึ่งฟรอเอนค์เนทค์ถือว่า เป็นความผิดของสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่อาจล้างบาปได้ ฟรอเอนค์เนทค์เป็นวิศวกรฝ่ายพัฒนาที่อายุเพียง 40 ปี ก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในระดับสูงของบริษัท Solzer Brothers แล้ว

อิสราเอลได้พบช่องโหว่ของการรักษาความปลอดภัยที่หนาแน่นของฝรั่งเศสเข้าแล้ว ต่อไปนี้ต้องหาทางทะลุทะลวงช่องโหว่นี้ให้กว้างขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือทำให้ฟรอเอนค์เนทค์ภักดีต่ออิสราเอลให้ได้เสียก่อน โดย ไซเยียน และนายทหารอิสราเอลอื่น ๆ ได้ส่งข้อมูลในการปรับแต่งเครื่องยนต์ ATA-9 ให้ฟรอเอนค์เนทค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟรอเอนค์เนทค์ต้องการเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ในที่สุดการติดต่อกันทางจดหมายระหว่างฟรอเอนค์เนทค์กับเพื่อนทหารอิสราเอลทำให้มิตรภาพแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

คณะกรรมการชุดหนึ่งได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อควบคุมและติดตามกรณีของ ฟรอเอนค์เนทค์ โดยมี นายพลอาฮารอน ยาริฟ หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอิสราเอลเป็นประธาน ประกอบไปด้วยคนของกองทัพอากาศและอุตสาหกรรมสร้างเครื่องบินเป็นกรรมการ ผู้ที่สมควรกล่าวถึงอีกสองคนคือ เมียร์ อมิท อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ และ อัล ชวิมเม ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวผู้ซึ่งได้วางรากฐานของอุตสาหกรรมเครื่องบินในอิสราเอลตั้งแต่ ปี 1947 ร่วมกันรับผิดชอบในด้านปฏิบัติการ

ตอนแรกคณะกรรมการตกลงว่าจะติดต่อกับรัฐบาลสวิสอย่างเปิดเผยผ่านทางฟรอเอนค์เนทค์ก่อน โดย อัล ชวิมเม ได้เสนอกับรัฐบาลสวิสว่า อิสราเอลจะขอซื้อส่วนประกอบของ Mirage จำนวน 47 เครื่อง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนที่ทางอิสราเอลจะมอบความลับอันสำคัญในการปรับแต่งเครื่องยนต์ ATA-9 ให้แก่รัฐบาลสวิสเป็นการตอบแทน รัฐบาลสวิสจึงได้ติดต่อกับฝรั่งเศสและคำตอบจากฝรั่งเศสนั้นทำให้อิสราเอลผิดหวัง คือไม่ให้สวิสขายชิ้นส่วนให้กับอิสราเอล แต่คณะกรรมการเดาว่า คำตอบน่าจะออกมาในด้านลบอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เตรียมแผนสองเอาไว้

วิธีการตามแผนสองก็คือ หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลหรือ MOSSAD ได้จัดตั้งบริษัทบังหน้าขึ้นในสวิสเซอร์แลนด์เพื่อ โดยอาจได้รับการช่วยเหลือจาก Marcel Dassault (นามสกุลเดิม Bloch) เจ้าของบริษัท Dassault ซึ่งมีเชื้อสายยิว และอาจต้องการช่วยเหลืออิสราเอล อีกทางหนึ่งอิสราเอลได้ติดต่อกับ ฟรอเอนค์เนทค์ วิศวกรชาวสวิสเซอร์แลนด์ของบริษัทผู้ได้สิทธิบัตรผลิตเครื่องบิน Mirage โดย MOSSAD ได้จัดหานักจิตวิทยา วางแผนมาเป็นอย่างดีเพื่อที่จะโน้มน้าวให้ฟรอเอนค์เนทค์เห็นอกเห็นใจชาวยิว และยอมช่วยหาพิมพ์เขียวของเครื่องบิน จำนวน 150,000 แผ่น และพิมพ์เขียวเครื่องกล 45,000 แผ่น โดยฟรอเอนค์เนทค์ตกลงและคิดว่า ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะทำทุกอย่างสำเร็จ ฟรอเอนค์เนทค์ได้เสนอเจ้านายในบริษัทให้ถ่ายพิมพ์เขียวเข้าไมโครฟิล์ม แล้วจะเผาทำลายแบบต้นฉบับ เพื่อการเก็บรักษาที่ง่าย โดยทุกครั้งที่ทำลายจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ฟรอเอนค์เนทค์ได้ซื้อพิมพ์เขียวเก่า ๆ ของเครื่องบินที่คล้าย ๆ กันมาเผาทำลายแทน 

สายลับ MOSSAD ได้เลือกที่จะตีสนิทกับ ฮานส์ สเตรคเกอร์ ชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่กับบริษัทขนส่งสวิสชื่อบริษัทรอทซิงเจอร์ และเสนอเงินจำนวนมากเพื่อให้นำพิมพ์เขียวข้ามชายแดนสวิสเข้าไปเยอรมันให้ได้ โดยใช้ระยะเวลาต่อเนื่องหลายเดือน เมื่อขนเข้าเยอรมัน จะมีเครื่องบินอิตาลีบินมารับ แล้วบินกลับประเทศลงจอดยังสนามบินส่วนตัว และมีเครื่องอิสราเอลมารอรับอยู่ ผ่านไปหลายเดือนการส่งเอกสารพิมพ์เขียวไปแล้วกว่าแสนแผ่น สเตรคเกอร์เกิดทำพลาด ประการแรกเขาทำให้คนเห็นขณะนำกล่องบรรจุพิมพ์เขียวขึ้นรถเบนซ์สีดำ และประการที่สองเขาลืมกล่องอีกหนึ่งกล่องไว้ในโกดัง ซึ่งเป็นที่สังเกตของ คาร์ล รอทซิงเจอร์ เจ้าของบริษัทขนส่งที่ชื่อเดียวกับนามสกุลของเขา คาร์ลจึงได้ดึงแบบออกจากกล่องหนึ่งแผ่น และได้พบกับคำว่า Solzer ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทสวิสที่ทำธุรกิจในด้านวิจัย และผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ข้างใต้ชื่อบริษัทเขาพบคำว่า License-Senikama ซึ่งหมายถึงบริษัท Solzer ได้รับสิทธิบัตรจากบริษัท Senikama ของฝรั่งเศส และที่สำคัญคือ ข้อความอีกบรรทัดหนึ่งที่มีความหมายว่า “ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้รักษาความลับในทางทหารไว้อย่างสูง” 

คาร์ลได้ทราบจากคนงานที่ทำงานใกล้เคียงว่า สเตรคเกอร์ได้เคลื่อนย้ายกล่องกระดาออกไปเป็นระยะเวลาหลายเดือนมาแล้ว เขาจึงได้แจ้งให้ตำรวจทราบ ฝ่ายอิสราเอลซึ่งได้เฝ้าจับตาดูอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้ทราบถึงความหละหลวมและพลาดท่าของสเตรคเกอร์ จึงโทรศัพท์บอกเป็นรหัสว่า “ดอกไม้ได้ร่วงโรยเสียแล้ว” เพื่อให้เวลากับฟรอเอนค์เนทค์ ได้หนีทัน แต่ฟรอเอนค์เนทค์ตัดสินใจไม่หนี เขาต้องติดคุกในระหว่างดำเนินคดี 1 ปีเต็ม ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทางการสวิสต้องการทราบว่า ความเสียหายมีมากน้อยขนาดแค่ไหนจึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดี และในที่สุดได้ข้อสรุปว่า ฟรอเอนค์เนทค์ ได้ส่งแบบพิมพ์เขียวเครื่องบิน Mirage ไปให้อิสราเอลเป็นจำนวน 2,000 แผ่น สำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ 80,000-100,000 แผ่น สำหรับ Jigs (เครื่องมือประกอบการผลิตชิ้นส่วน) 35,000-40,000 แผ่น สำหรับเครื่องมือ (Tools) 80-100 แผ่น สำหรับตัวเครื่องบิน 1,500 แผ่น สำหรับรายการประกอบแบบ (Specifications)

วันที่ 23 เมษายน 1971 ศาลสวิตเซอร์แลนด์ได้พิพากษาให้ อัลเฟร็ด ฟรอเอนค์เนทค์ ถูกจำคุก 4 ปี 6 เดือน จากการที่ฟรอเอนค์เนทค์ได้ถูกจองจำระหว่างการดำเนินคดี และประกอบกับการประพฤติตัวดี เขาจึงได้รับอิสรภาพเมื่อ 21 กันยายน 1972 สองปีครึ่งหลังจากที่ออกจากคุก ฟรอเอนค์เนทค์ได้เดินทางไปยังอิสราเอล เพื่อชมการบินของเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดความเร็ว 2.2 มัค ชื่อว่า Kfir ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก Mirage III และ Kfir ได้เป็นกำลังสำคัญของกองทัพอิสราเอลต่อมา

Kfir C.10 BLOCK60 รุ่นปรับปรุงแล้ว

อิสราเอลเคยเสนอขาย Kfir C.10 BLOCK60 รุ่นปรับปรุงแล้ว ให้กองทัพอากาศไทยในราคาลำละ 20 ล้านเหรียญอเมริกัน (ราว 660 ล้านบาท) Israel Aerospace Industries (IAI) เสนอเครื่องขับไล่ Kfir C.10 Block 60 ที่เป็นการนำเครื่องเก่าที่กองทัพอากาศอิสราเอลปลดประจำการไปแล้วในช่วงปี 1990s มาปรับปรุงใหม่ เป็นเครื่องบินที่ขีดความสามารถสูงทัดเทียบเครื่องบินขับไล่ยุคปัจจุบัน โดย Kfir Block 60 สามารถติดอาวุธได้หนักถึง 5.5 ตัน ทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ Python 5 และ Derby อาวุธอากาศสู่พื้นความแม่นยำสูงอย่าง Spice และระบบเครือข่าย Link-16 มีรัศมีทำการรบ 1,000 กิโลเมตร และจะบินได้ไกลขึ้นถ้าเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ ความเร็วสูงสุดมากกว่า 2 Mach แต่กองทัพอากาศไทยไม่ได้ให้ความสนใจ ด้วยมีเครื่องบินสำหรับภารกิจนี้มีใช้อยู่แล้ว 3 แบบ คือ F-5E/F, F-16 A/B, ADF และ JAS-39 GRIPPEN หากมี Kfir มาใช้อีกแบบจะยิ่งเพิ่มภาระและปัญหาในการบริหารทรัพยากรทั้งบุคลากร (นักบิน ช่างอากาศ ช่างสรรพาวุธ) ตลอดจนค่าใช้จ่ายในเรื่องระบบอาวุธและการซ่อมบำรุงอีกมากมาย 

Kfir C.10 Columbian Air Force

มีหลายความเห็นว่า การจารกรรมพิมพ์เขียว Mirage ของฝรั่งเศสโดยอิสราเอลไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องของฝรั่งเศสที่แอบช่วยเหลืออิสราเอลอย่างลับ ๆ ด้วย ตระกูล Dassualt เป็นชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายยิว แต่เท่าที่ได้ทำการสืบค้นข้อมูลมาพบเพียง Tom Cooper นักเขียนชาวออสเตรเลียเพียงรายเดียวเท่านั้นที่นำเสนอความเชื่อในแนวนี้


ขอบคุณข้อมูลจาก 
คุณ sillfai pantip.com 
http://www.gunsandgames.net/smf/index.php?topic=54947.msg1318617
http://skyfighter-a2z.html
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skyman&month=08-2006&date=21&group=1&gblog=7
http://www.magnumphotos.com
http://www.geronimohoorspelen.nl/Special/mossad/achtergronden_mossad_luchtmacht.htm


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
- ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
- รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
- สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
- แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“DeFi” โลกการเงินไร้กฎหมาย (จริงหรือ?)

ปัจจุบันระบบการเงินการธนาคารของโลกเราพัฒนาไปมาก เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกสบายจากที่บ้าน แทบไม่ต้องไปต่อแถวทำธุรกรรมอะไรที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกต่อไป

แต่โลกการเงินก็ยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ ตอนนี้กระแสของโลกการเงินในยุคใหม่ที่กำลังมาแรงและถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ โลกการเงินแบบ DeFi

DeFi ย่อมาจากคำว่า Decentralized Finance หรือระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลางเหมือนในระบบการเงินในปัจจุบันที่เรามีธนาคาร หรือ สถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ

>>> ตัวอย่างเช่น เราไปทำการฝากเงินกับธนาคาร ธนาคารก็จะบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมการฝากเงินเข้าไปในระบบของธนาคาร ส่วนเราก็จะได้ข้อมูลนั้นกลับมาในรูปแบบของสมุดบัญชีเงินฝาก หากเราต้องการตรวจสอบดูว่าเรามีเงินคงเหลือในธนาคารเท่าไหร่ เราก็สามารถนำสมุดบัญชีเงินฝากนั้นไปอัพเดทที่ธนาคาร แล้วเราจะเห็นข้อมูลล่าสุดที่เป็นปัจจุบัน

ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินของโลกเรามาโดยตลอด เพราะทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่เรามีอยู่กับธนาคารนั้นมีความถูกต้อง เงินที่เราฝากไว้กับธนาคารจะไม่สูญหายหรือถูกขโมยไปไหน เว้นแต่ธุรกิจของธนาคารจะล้มละลายและต้องปิดกิจการไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อคริปโตเคอร์เรนซีเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาเทคโนโลยีดังกล่าวก็ถูกนำมาต่อยอดในรูปแบบ Smart Contract  หรือ สัญญาอัจฉริยะ ที่เราสามารถแปลงเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ มาอยู่ในรูปแบบของโค้ดและโค้ดนั้นก็จะสามารถทำงานได้ทันทีที่ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้

ยกตัวอย่างเช่น หากผมทำสัญญากับบริษัทไว้ว่า ถ้ามีคนอ่านบทความของผมเกิน 10,000 วิว ผมจะได้รับเงิน 1,000 บาท และต่อจากนั้นที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 วิว ผมจะได้เพิ่มอีก 100 บาท เวลาที่บริษัทจะจ่ายเงิน บริษัทก็จะต้องส่งคนมาตรวจสอบว่ามีบทความนี้มียอดวิวเท่าไหร่แล้ว หลังจากตรวจแล้วก็ต้องนำเรื่องไปเสนอผู้มีอำนาจในการอนุมัติเพื่อสั่งจ่าย ต่อจากนั้นฝ่ายบัญชีถึงจะทำการจ่ายเงินให้กับผมได้

แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่มาเขียนข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรูปแบบของ Smart Contract โค๊ดที่เราเขียนไว้ก็จะสามารถเช็กยอดวิวบนบทความผมได้ตลอดเวลา และเมื่อยอดวิวถึงตามข้อกำหนดที่ตกลงกันเอาไว้ ระบบก็จะโอนเงินมาเข้าบัญชีผมทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครมานั่งนับ ตรวจสอบ แล้วก็ทำเรื่องจ่ายเงินอีก

เมื่อมีคนเห็นถึงประโยชน์ของ Smart Contract ที่ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความสะดวก โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงมีการต่อยอดนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาเป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง หรือ DeFi โดยสิ่งที่เข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง คือ Smart Contract ที่เขียนเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นไว้นั่นเอง 

ประโยชน์หลักของการเงินแบบ DeFi คือ การที่ไม่มีกลางเข้ามากินส่วนต่าง ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลตอบแทนมากขึ้น เพราะเราไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมให้ตัวกลางเหล่านั้น

เช่น คนที่ต้องการปล่อยกู้ กับ คนที่ต้องการกู้เงิน สามารถกู้เงินกันได้โดยตรง ไม่ต้องมีธนาคารมาเป็นตัวกลาง คนกู้ก็เสียดอกเบี้ยถูกลง ส่วนคนให้กู้ก็ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น เพียงแต่เราก็จะมีความเสี่ยงถ้าคนกู้ไม่ยอมชำระหนี้ แล้วเราจะไปติดตามทวงคืนยาก ต่างจากการฝากเงินไว้กับธนาคารที่เราสามารถไปถอนเงินเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ Smart Contract สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ โดยคนกู้อาจจะต้องมีหลักประกันอะไรเข้ามาวางไว้ในระบบ และถ้าถึงกำหนดชำระหนี้แล้วไม่ชำระ ระบบก็จะโอนหลักประกันนั้นให้เจ้าหนี้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องร้องกันทีหลัง

อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินแบบ DeFi ที่ทำให้ตัวกลางหรือสถาบันการเงินหายไปนั้น สิ่งที่ตามมา คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเหล่านั้น ก็จะไม่สามารถเข้าไปช่วยกำกับดูแลแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ ได้

ดังนั้น หากผู้ใช้บริการเกิดปัญหาเราก็จะไม่สามารถไปเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาช่วยเหลือได้

ยกตัวอย่าง เช่น หากเราถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม DeFi แห่งหนึ่งไม่ได้ เราจะไปร้องเรียนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามาช่วยจัดการกับแพลตฟอร์ม DeFi ดังกล่าวไม่ได้ เพราะหน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ​DeFi 

ทำให้หลายคนเข้าใจว่า DeFi เป็นโลกการเงินที่ไร้กฎหมาย คนที่ใช้บริการทุกคนต้องรับความเสี่ยงและต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง หากถูกแพลตฟอร์ม DeFi หลอกลวง หรือโกง เราไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้

ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ เพราะ โลกการเงินแบบ DeFi เป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลในการประกอบธุรกิจเท่านั้น

แต่ก็ไม่ได้ความว่าใครจะเข้ามาโกงใครในโลก DeFi ก็ได้ครับ

เพราะการโกงหรือหลอกลวงไปให้ได้ซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา และยิ่งเป็นการหลอกคนจำนวนมาก ๆ ก็จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่มีโทษหนักขึ้นด้วย

ถ้าใครจำคดี Forex3D กันได้ บริษัทที่ให้บริการ Forex3D เขาก็ไม่ได้มีใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากใครไปลงทุนกับบริษัทนั้นก็จะต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง ซึ่งช่วงแรกมีกรณีที่คนถอนเงินแล้วมีความล่าช้าใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่จะได้เงินคืน แบบนี้เราก็ไม่สามารถไปร้องเรียนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยเหลือได้ เพราะบริษัทเขาไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ภายหลังเมื่อมีการเปิดโปงออกมาว่า Forex3D นั้น ความจริงแล้วไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง แต่บริษัทดังกล่าวหลอกลวงให้คนเข้ามาลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ผู้เสียหายจึงสามารถรวมตัวกันไปแจ้งความเอาผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับ DSI

ซึ่งไม่ต่างจากโลกการเงินแบบ DeFi ที่แม้ว่าเราจะไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่ถ้าแพลตฟอร์ม DeFi นั้นมีลักษณะหลอกลวงคนเข้าไปลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ เราก็สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าวได้

เพียงแต่ความยากของการดำเนินคดีกับพวกที่โกงในโลกการเงินแบบ DeFi นี้อาจจะยากเสียหน่อย เพราะต้องอธิบายการทำผิดนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล เข้าใจก่อนว่า DeFi คืออะไร คนที่หลอกลวงคนให้เข้ามาลงทุนได้ทรัพย์สินอะไรไปบ้าง ซึ่งบางทีสิ่งที่เขาได้ไปอาจจะไม่ใช่เงินจริง ๆ แต่เป็น คริปโตเคอร์เรนซี เราก็ต้องอธิบายเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลให้คนในกระบวนการยุติธรรมเข้าใจด้วย เขาถึงจะช่วยเราเอาผิดได้

สรุปแล้ว โลกการเงินแบบ DeFi แม้จะเป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่โลกที่ไร้กฎหมาย เรายังสามารถดำเนินคดีอาญากับคนที่เข้ามาหลอกลวงหรือฉ้อโกงได้เหมือนระบบการเงินปกติ เพียงแต่โลกการเงินแบบ DeFi นี้ เราจะต้องใช้ความระมัดระวังตัวมากขึ้นในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลนั่นเอง


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ขอดเกล็ดมังกร!! 1​ ศตวรรษ​ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ความยิ่งใหญ่​ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง​ ที่หาใครปรับตัวตามยาก

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนคือสถาบันทางการเมืองที่ปกครองประเทศจีนมาอย่างยาวนาน และที่จีนพัฒนาประเทศมาได้ถึงขั้นนี้นั้น พรรคคอมมิวนิสต์ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายและบริหารราชการแผ่นดิน จนถึงวันนี้ที่คนจีนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าตัวเองเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกไปแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะมีการฉลองอย่างเอิกเกริกในวาระครบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ซึ่งหากย้อนกลับไปดูประเทศจีนในยุคก่อตั้งพรรคเมื่อร้อยปีที่แล้ว เทียบกับประเทศจีนในวันนี้ การเดินทางอันสุดเหลือเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องผ่านอะไรมาบ้างในแต่ละยุคสมัย ? และเพราะเหตุใดที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจึงถูกนักวิเคราะห์ทั่วโลกขนานนามว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปรับตัวมากที่สุดในโลก” ?

พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1921 ซึ่งเชื่อกันว่า Timeline ประวัติศาสตร์ของจีนในช่วงนี้เป็นยุคที่ตกต่ำและมืดหม่นที่สุด นับตั้งแต่จีนพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายในสงครามฝิ่น อันเป็นเหตุให้เสียดินแดนฮ่องกงและเกาลูนไป จนยุคล่มสลายของราชวงศ์ชิงในปี 1912 ซึ่งอำนาจการปกครองก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของ ‘พรรคกั๋วหมินตั่ง’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามก๊กมินตั๋ง ซึ่งก็คือพรรคประชาธิปไตยนั่นแหละครับ

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์นั้นผงาดขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถปฏิวัติประเทศและเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองสำเร็จ ทำให้จีนเริ่มต้นยุคสมัยที่ปกครองประเทศด้วยรูปแบบสังคมนิยมในปีค.ศ. 1949 ภายใต้การนำของประธานเหมา หรือ เหมาเจ๋อตง

พรรคคอมมิวนิสต์ในยุคประธานเหมาเป็นรูปแบบที่นักวิชาการนิยามว่า “คอมมิวนิสต์แบบลัทธินิยม” หรือ “หรือคอมมิวนิสต์ในแบบเหมาเจ๋อตง” (Maoist - communism) ซึ่งเน้นไปที่การปลูกฝังให้คนหนุ่มสาวเป็นคอมมิวนิสต์ในแบบที่เหมาต้องการ เกิดลัทธิบูชาบุคคล เกิดการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 10 ล้านชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว การบริหารของรัฐบาลในยุคนั้นก็ยังไม่สามารถพาให้คนจีนหลุดพ้นจากความยากจนได้เสียทีเดียว

ด้วยความที่การปกครองของเหมานั้นถูกครหาว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำรุ่นต่อไปอย่าง “เติ้งเสี่ยวผิง” ที่จะต้องเข้ามาปฏิรูปแนวคิดทางการบริหารประเทศใหม่ ไม่ต้องเน้นอุดมการณ์ แต่เน้นไปที่ความเป็นจริง ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองว่าการปกครองในรูปแบบดั้งเดิมของคอมมิวนิสต์ยังมีจุดอ่อน ปรับตรงไหนได้ก็ต้องปรับ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยของผู้นำเติ้งถูกมองว่าปกครองแบบ “เศรษฐกิจนิยม”

“ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี”

“ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทุนนิยมหรือสังคมนิยม ขอเพียงทำให้คนจีนรวยได้ก็ถือเป็นอุดมการณ์ที่ดี”

นั่นทำให้วิธีการของผู้นำเติ้งมีรูปแบบของการผสมผสานระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ซึ่งก็ได้ผลลัพท์อย่างเป็นรูปธรรมเลยครับ เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโต ประชาชนจีนกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

การปกครองในรูปแบบ “เศรษฐกิจนิยม” นี้ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประเทศจีนเติบโตขึ้นมาและมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ “สีจิ้นผิง” ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายแค่การยืนบนลำแข้งตัวเอง หรือทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากเท่านั้น แต่คือการทำให้ประเทศจีนกลับมายิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจโลกเหมือนอย่างในอดีต ขึ้นมาตีคู่กับเจ้าโลกในยุคปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ 

การปกครองของพรรคคอมิวนิสต์ในยุคนี้ถูกนักวิเคราะห์ทั่วโลกเรียกว่า “ชาตินิยม” คือ อะไรก็ตามที่จะทำให้ประเทศจีนแข็งแกร่ง ผู้นำก็จะนำประชาชนให้มุ่งไปทางนั้นอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นการบุกตลาดการค้า ตีตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยี และผนึกกำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานของตัวเองขึ้นมา โดยมิได้เกรงกลัวแรงต้านใด ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งเพื่อเป้าหมายในการเป็นหนึ่ง ผมมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีความผสมผสานระหว่างการใช้อุดมการณ์เพื่อรวมใจคนในชาติ และการออกนโยบายเชิงรุกเพื่อเดินเกมเศรษฐกิจ เป็นมังกรนักล่าที่ครบเครื่อง มีทั้งเขี้ยวเล็บ มีทั้งปีก และยังสามารถพ่นไฟได้อีกด้วย!! 

สำหรับการปรับตัวในครั้งต่อไปของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังโควิด-19 นั้นจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องติดตามดูกันไปครับ เพราะช่วงนี้ทางฝั่งสหรัฐฯ ก็กำลังเดินเกมรวบรวมพรรคพวกและพันธมิตรเพื่อเข้าสกัดการเจริญเติบโตของจีนอยู่เช่นกัน

จะเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเกมนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มากก็น้อย...ไม่ดีก็ร้ายอย่างแน่นอน


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

Beethoven’s Ode to Joy “ปีติศังสกานท์” เพลงอมตะแห่งสหภาพยุโรป (Anthem of Europe) จากกวีที่หูหนวก...

ภาพถ่ายต้นฉบับของ บทกวี An die Freude (Ode to Joy) ซึ่งประพันธ์โดย Johann Christoph Friedrich (von) Schiller กวีเอกชาวเยอรมัน

Ode to Joy หรือ ปีติศังสกานท์ เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกเพลงท่อนที่สี่และเป็นท่อนสุดท้ายของ Symphony No. 9 (ซิมโฟนีหมายเลข 9) ของ Ludwig van Beethoven นักประพันธ์เพลงชื่อดังชาวเยอรมัน สำหรับการขับร้อง เพลงนี้ใช้ข้อความจากบทกวี An die Freude (Ode to Joy) ซึ่งประพันธ์โดย Johann Christoph Friedrich (von) Schiller กวีเอกชาวเยอรมันเช่นกัน

Ode หรือ ศังสกานท์ เป็นศัพท์บัญญัติที่คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วรรณกรรมบัญญัติขึ้น จากคำ ode ซึ่งหมายถึง บทร้อยกรองประเภทหนึ่ง ที่ประพันธ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ หรือเพื่อสรรเสริญ สดุดี บุคคล สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ ตลอดจนสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่มีความยาวพอสมควร และมีลักษณะสำคัญคือ เป็นบทร้อยกรองที่มีรูปแบบประณีต ซับซ้อน ใช้ภาษาและถ้อยคำที่สูงส่ง สง่างาม มีท่วงทำนองการเขียนเป็นแบบพิธีการ แสดงอารมณ์และความคิดที่สูงส่ง 

คำว่า “ศังสกานท์” เป็นการบัญญัติศัพท์ด้วยวิธีสร้างคำขึ้นใหม่ โดยนำคำภาษาสันสกฤต “ศงฺส”  ซึ่งแปลว่า สรรเสริญ มารวมกับคำ “กานท์” ซึ่งแปลว่าบทกลอน ศังสกานท์ จึงมีความหมายว่า บทกลอนเพื่อสรรเสริญ อย่างไรก็ดี ศัพท์นี้คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วรรณกรรมได้คิดขึ้นเพื่อเสนอให้ทดลองใช้กัน ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย
(ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2532)

Ludwig van Beethoven ผู้ประพันธ์เพลง Ode to Joy

Ludwig van Beethoven (17 ธันวาคม พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) - 26 มีนาคม พ.ศ. 2370 (ค.ศ. 1827)) เป็นนักประพันธ์เพลงและนักเปียโนชาวเยอรมัน Beethoven ยังคงเป็นหนึ่งในนักประพันธ์เพลงที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ผลงานของเขาติดอันดับหนึ่งในละครเพลงคลาสสิกที่มีการแสดงมากที่สุด และขยายช่วงการเปลี่ยนผ่านจากยุคคลาสสิกไปสู่ยุคโรแมนติกในดนตรีคลาสสิก ตามอัตภาพอาชีพของเขาแบ่งออกเป็นช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงปลาย ยุคแรก ๆ ซึ่งเขาเริ่มนำเสนอผลงานนั้น เริ่มจาก พ.ศ. 2345 (ค.ศ. 1802) ถึงราวปี พ.ศ. 2355 (ค.ศ. 1812) ยุค "กลาง" ของเขาแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการส่วนบุคคลจากรูปแบบ "คลาสสิก (Classical)" ตามแบบของ Joseph Haydn และ Wolfgang Amadeus Mozart และบางครั้งก็มีลักษณะของความ "เก่งกล้า (Heroic)" ในช่วงเวลานี้เขาเริ่มมีอาการหูหนวกมากขึ้น ในช่วง "ปลาย" ของเขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2355 จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2370 เขาได้ขยายนวัตกรรมทางดนตรีของเขาทั้งรูปแบบและการแสดงทางดนตรี

Beethoven ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2370 อายุ 56 ปี

https://www.youtube.com/watch?v=erWU0NHm1Xg

Johann Christoph Friedrich (von) Schiller ผู้ประพันธ์บทกวี An die Freude (Ode to Joy)

Johann Christoph Friedrich (von) Schiller (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2302 (ค.ศ. 1759) - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2348 (ค.ศ. 1805)) เป็นนักเขียนบทละคร กวี และปราชญ์ชาวเยอรมัน โดย 17 ปีสุดท้ายของชีวิต Schiller ได้พัฒนามิตรภาพที่มีประสิทธิผลหากค่อนข้างซับซ้อนกับ Johann Wolfgang von Goethe (นักเขียนนิยาย นักเขียนบทละคร นักสิทธิมนุษยชน นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และนัการเมืองชาวเยอรมัน) นำไปสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า Weimar Classicism อันเป็นขบวนการวรรณกรรมและวัฒนธรรมของเยอรมัน ซึ่งสังเคราะห์แนวคิดมนุษยนิยมใหม่จากแนวจินตนิยม ลัทธิคลาสสิค และยุคแห่งการรู้แจ้ง สันนิษฐานว่าเป็นการตั้งชื่อตามเมือง Weimar ประเทศเยอรมนี ด้วยนักเขียนชั้นนำของ Weimar Classicism ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่นั่น Schiller  และ Goethe ยังทำประพันธ์ผลงานร่วมกันใน Xenien ซึ่งเป็นชุดของบทกวีเสียดสีสั้น ๆ ที่ทั้ง Schiller และ Goethe ต่างท้าทายวิสัยทัศน์เชิงปรัชญาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

อนุสาวรีย์ของ Goethe (ซ้าย) และ Schiller (ขวา) สองเสาหลักแห่งวรรณคดีเยอรมัน

Ode to Joy ตัดตอนจาก ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven ซึ่งกล่าวว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์ซิมโฟนีนี้จากบทกวี  An die Freude (Ode to Joy) ของ Johann Christoph Friedrich (von) Schiller ความพิเศษของ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ในช่วงเกิดขึ้นมีหลายเรื่อง ด้วยเป็นผลงานการประพันธ์ซิมโฟนีชิ้นสุดท้ายของ Beethoven การสร้างความประทับใจอย่างมากมายในขณะออกแสดงครั้งแรก ณ กรุงเวียนนาในปี พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1824) ซึ่งขณะนั้น Beethoven ได้สูญเสียการได้ยินไปแล้ว และอีกหนึ่งความพิเศษคือในท่อนที่ 4 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายของซิมโฟนี Beethoven ได้นำบทกวี  An die Freude มาให้นักร้องขับร้อง โดยให้เสียงร้องมีความสำคัญเท่าเครื่องดนตรีในวง หลังออกแสดงครั้งแรก เพลงนี้ยิ่งมีความหมายต่อทั้งโลกอย่างมากมายจนทุกวันนี้

Ode to Joy ถูกนำมาใช้เป็น "เพลงชาติของยุโรป (Anthem of Europe)" เป็นเพลงชาติที่ใช้โดยสององค์กร ได้แก่ สภายุโรปในปี พ.ศ. 2515 และต่อมาโดยสหภาพยุโรป (EU) ในปีพ.ศ. 2514 รัฐสภาแห่งสภายุโรปได้ตัดสินใจเสนอให้นำบทเพลง "Ode to Joy" จากเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven มาใช้เป็นเพลงประจำสภายุโรปในฐานะตัวแทนของยุโรปทั้งหมด โดยนำข้อเสนอแนะของ Richard von Coudenhove-Kalerg นักการเมืองชาวออสเตรียในปี พ.ศ. 2498 โดยทั่วไปแล้วเพลงของ Beethoven ถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเพลงประจำชาติยุโรป คณะกรรมการรัฐมนตรีของสภายุโรปได้ประกาศเพลงประจำชาติยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2515 ณ เมืองสตราสบูร์ก : ท่อนโหมโรงของ "Ode to Joy" อันเป็นท่อนที่ 4 ของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Ludwig van Beethoven ผู้ควบคุมวง Herbert von Karajan ถูกขอให้เรียบเรียงเพื่อการบรรเลงเครื่องดนตรีสามชุด สำหรับการแสดงเดี่ยวเปียโน, สำหรับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า และสำหรับวงดุริยางค์ซิมโฟนี และเขาได้ดำเนินการการแสดงเพื่อใช้ในการบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการ 

Herbert von Karajan

Ode to Joy ในฐานะเพลงประจำชาติยุโรปได้รับการเปิดตัวในวันยุโรปในปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) ในปี พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) ผู้นำรัฐและรัฐบาลของสหภาพยุโรปได้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการของประชาคมยุโรปในขณะนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) สหภาพยุโรป ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ Ode to Joy แทนที่เพลงชาติของประเทศสมาชิก แต่ใช้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองค่านิยมที่ชาวยุโรปทั้งหมดมีร่วมกัน ตลอดจนความสามัคคีในความหลากหลาย เป็นการแสดงออกถึงอุดมคติของยุโรปที่รวมกันเป็นหนึ่ง เสรีภาพ สันติภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และจะต้องรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญยุโรปพร้อมกับสัญลักษณ์อื่น ๆ ของยุโรป

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาที่ล้มเหลวในการให้สัตยาบัน และถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญา Lisbon ซึ่งไม่ปรากฏสัญลักษณ์ใด ๆ ต่อมาจึงมีการประกาศญลักษณ์แนบมากับสนธิสัญญา ซึ่งประเทศสมาชิกสิบหกประเทศได้รับรองสัญลักษณ์ที่เสนออย่างเป็นทางการ รัฐสภายุโรปจึงตัดสินใจว่าจะใช้เพลงเพลงประจำชาติยุโรปให้มากขึ้น เช่น ในโอกาสที่เป็นทางการ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 รัฐสภาได้เปลี่ยนกฎขั้นตอนเพื่อให้เล่นเพลงประจำชาติยุโรปในพิธีเปิดรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง และในการประชุมอย่างเป็นทางการ

https://www.youtube.com/watch?v=Jo_-KoBiBG0

"Ode to Joy" เป็นเพลงประจำสภายุโรป (CoE) และสหภาพยุโรป (EU) ในบริบทของ CoE เพลงนี้ถูกใช้เพื่อเป็นตัวแทนของยุโรปทั้งหมด ในบริบทของสหภาพยุโรป เพลงนี้ใช้เพื่อเป็นตัวแทนของสหภาพและประชาชน ใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันยุโรป และกิจกรรมที่เป็นทางการ เช่น การลงนามในสนธิสัญญา รัฐสภายุโรปพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากดนตรีให้มากขึ้น Hans-Gert Pöttering ประธานแห่งรัฐสภายุโรปในขณะนั้นกล่าวว่า เขารู้สึกซาบซึ้งใจเมื่อได้ยินเพลง "Ode to Joy" อันเป็นเพลงประจำรัฐสภายุโรป ในระหว่างการเยือนอิสราเอล และเห็นว่า ควรจะใช้ในยุโรปให้บ่อยขึ้น

Ode to Joy ได้รับการบันทึกเป็นพิเศษโดย Berlin Radio Symphony Orchestra ใน Version ที่มีลักษณะ "สุภาพ เรียบร้อย และเข้มแข็ง"

Deutschlandfunk สถานีวิทยุสาธารณะของเยอรมนี ได้ออกอากาศเพลงประจำชาติยุโรปร่วมกับ Deutschlandlied เพลงชาติของเยอรมนี ก่อนเที่ยงคืนตั้งแต่วันส่งท้ายปีเก่า พ.ศ. 2549 ทั้งสองเพลงได้รับการบันทึกเป็นพิเศษโดย Berlin Radio Symphony Orchestra ใน Version ที่มีลักษณะ "สุภาพ เรียบร้อย และเข้มแข็ง" ในพิธีลงนามสนธิสัญญา Lisbon พ.ศ. 2550 ผู้มีอำนาจเต็มของประเทศสมาชิก 27 ประเทศของสหภาพยุโรปได้เข้าร่วม ในขณะที่มีการบรรเลงเพลง "Ode to Joy" และคณะนักร้องประสานเสียงของเด็ก ๆ ชาวโปรตุเกส 26 คนร้องเพลงต้นฉบับด้วยภาษาเยอรมัน

สาธารณรัฐโคโซโวได้ใช้ "Ode to Joy" เป็นเพลงชาติจนกระทั่งมีเพลง “Europe” เป็นเพลงชาติของตัวเอง

ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) สาธารณรัฐโคโซโวได้ใช้ "Ode to Joy" เป็นเพลงชาติจนกระทั่งมีเพลง “Europe” เป็นเพลงชาติของตัวเอง และเล่นเพลงนี้เมื่อมีการประกาศเอกราช เพื่อเป็นการแสดงถึงบทบาทของสหภาพยุโรปในการที่โคโซโวได้รับเอกราชจากเซอร์เบีย "Ode to Joy" ที่เรียบเรียงในเจ็ดรูปแบบที่แตกต่างกัน ถูกนำมาใช้ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ระหว่างพิธีเฉลิมฉลองผู้เป็นสมาชิกสภาวิจัยแห่งยุโรป (European Research Council : ERC) คนที่ 5,000 เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการวิจัยของยุโรป "Ode to Joy" ถูกใช้เป็นเพลงประจำกอบการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) และการแข่งขันฟุตบอลฟุตบอลโลก พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) รอบคัดเลือกของยุโรปเมื่อเริ่มต้นของทุกนัดการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2560 สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรจากพรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ได้ผิวปากก่อน แล้วร้องเพลง "Ode to Joy" ระหว่างการลงคะแนนที่รัฐสภาเพื่อประท้วง Brexit ในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) เพลงชาติญี่ปุ่นและ "Ode to Joy" เพลงประจำชาติแห่งสหภาพยุโรป ได้ถูกบรรเลงระหว่างการลงนามอย่างเป็นทางการของข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว "Ode to Joy" เพลงประจำชาติยุโรปมักจะถูกนำมาบรรเลงเมื่อมีการลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจหรือการเมืองอย่างเป็นทางการระหว่างสหภาพยุโรปกับรัฐบาลต่างประเทศ 

https://www.youtube.com/watch?v=E9dLGDCdg3g

"Rise, O Voices of Rhodesia" เพลงชาติของอดีตสาธารณรัฐโรดีเซีย และอดีตสาธารณรัฐซิมบับเวโรดีเซีย (สาธารณรัฐซิมบับเวในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ถึง พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ก็ใช้ทำนองเพลง "Ode to Joy" ด้วย 

"Rise, O Voices of Rhodesia" เพลงชาติของอดีตสาธารณรัฐโรดีเซีย (สาธารณรัฐซิมบับเวในปัจจุบัน) ก็ใช้ทำนองเพลง "Ode to Joy" ด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=fd9ndlieJxg


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ว่าด้วย “ข่าวลือ” (Rumor) เนื้อหาใน ‘แง่ลบ’ ที่มักจะแพร่กระจายได้ดีกว่า ‘แง่บวก’ ?

ข่าวลือ คือ "เรื่องเล่าที่มีการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคนสู่คน และเกี่ยวข้องกับวัตถุ เหตุการณ์ หรือประเด็นที่เป็นประเด็นสาธารณะ" หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ข่าวที่พูดกันไปทั่ว แต่ไร้หลักฐานยืนยัน

โลกใบนี้ ข่าวลือสามารถแพร่หลายได้เร็วและไกลมากกว่าข่าวจริง อย่าว่าแต่บ้านเราเลย แม้ในประเทศที่เจริญสุดขีดอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข่าวลือที่เรียกว่า ทฤษฏีสมคบคิด (Conspiracy theories) เกิดขึ้นมากมาย

ในทางสังคมศาสตร์ ข่าวลือเกี่ยวข้องกับรูปแบบของคำแถลงของความจริงที่ไม่ได้รับการยืนยันอย่างรวดเร็วหรือไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้มีนักวิชาการบางคนระบุว่า ข่าวลือเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาทางสังคมวิทยา จิตวิทยา และการสื่อสารจึงมีคำจำกัดความของคำว่า ข่าวลือ ที่แตกต่างหลากหลาย

ข่าวลือยังมักถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับ "ข้อมูลที่ผิด" และ "การบิดเบือนข้อมูล" (อดีตมักถูกมองว่าเป็นเท็จและหลังถูกมองว่าเป็นเท็จโดยจงใจ แม้ว่ามักจะมาจากแหล่งข่าวของรัฐบาลที่มอบให้กับสื่อหรือรัฐบาลต่างประเทศ) ข่าวลือจึงมักถูกมองว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของแนวคิดในการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ 

German William Stern

การวิจัยทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งเศสและเยอรมันเกี่ยวกับข่าวลือเพื่อหาคำจำกัดความทางวิชาการสมัยใหม่ งานวิจัยบุกเบิกของ German William Stern ในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) Stern ทำการทดลองเรื่องของข่าวลือกับ "กลุ่มตัวอย่าง" ที่ทำการถ่ายทอดเรื่องราวจาก "ปากต่อปาก" โดยไม่มีสิทธิ์พูดซ้ำหรืออธิบาย เขาพบว่า เรื่องราวสั้นลงและเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่ ลูกศิษย์ของเขาซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในศาสตร์ด้านนี้อีกคนหนึ่งคือ Gordon Allport การทดลองนี้คล้ายกับ "เกมกระซิบต่อกันจากหัวแถวถึงท้ายแถวสำหรับเด็ก"

"จิตวิทยาแห่งข่าวลือ" ("A Psychology of Rumour") ตีพิมพ์โดย Robert H. Knapp ในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) รายงานการวิเคราะห์ข่าวลือมากกว่าหนึ่งพันครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์ "Rumour Clinic" ของ Boston Herald ได้ให้นิยามข่าวลือว่า

"ข้อเสนอสำหรับความเชื่อเกี่ยวกับการอ้างอิงเฉพาะที่เผยแพร่ โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ข่าวลือที่มีคำจำกัดความอย่างน่ากลัวจึงเป็นเพียงกรณีพิเศษของการสื่อสารทางสังคมที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงตำนาน เรื่องบอกเล่าสืบต่อกันมา และอารมณ์ขันในปัจจุบัน จากตำนานและเรื่องบอกเล่าสืบต่อกันมา มีความโดดเด่นด้วยการเน้นที่หัวข้อที่มีอารมณ์ขันจากการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเสียงหัวเราะ ข่าวลือใช้ในการทำให้เกิดความเชื่อ

Knapp ได้ระบุลักษณะพื้นฐานสามประการที่ใช้กับข่าวลือ คือ

1.) ถ่ายทอดแบบปากต่อปาก

2.) ให้ "ข้อมูล" เกี่ยวกับ "บุคคล เหตุการณ์ หรือเงื่อนไข" และแสดงและสนอง "ความต้องการทางอารมณ์ของชุมชน"

3.) สิ่งสำคัญสำหรับคำจำกัดความนี้และลักษณะเฉพาะคือ การเน้นที่การถ่ายทอด (คำพูดจากปากต่อปาก ซึ่งต่อมาได้ยินและรายงานในหนังสือพิมพ์) เกี่ยวกับเนื้อหา ("เฉพาะเรื่อง" หมายความว่าสามารถแยกแยะได้จากเรื่องเล็กน้อยและเรื่องส่วนตัวหรือประเด็นสาธารณะ) และการรับ ("ความต้องการทางอารมณ์ของชุมชน" แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะได้รับข่าวลือจากบุคคลที่เป็นปัจเจก แต่ก็ปัจเจกบุคคลก็ไม่ได้เข้าใจในรายละอียด ทั้งตัวชุมชน หรือเงื่อนไขทางสังคม)

จากการศึกษาคอลัมน์หนังสือพิมพ์ Knapp ได้แบ่งข่าวลือออกเป็นสามประเภท

1.) ข่าวลือเรื่องเพ้อฝัน (Pipe dream rumors) สะท้อนความปรารถนาของสาธารณชนและผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น น้ำมันสำรองของญี่ปุ่นมีน้อย และสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า

2.) ข่าวลือเรื่องสะพรึงกลัวหรือสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่น่ากลัว (Bogie or fear rumors) เช่น การโจมตีโดยไม่คาดคิดของศัตรูกำลังจะเกิดขึ้น

3.) ข่าวลือที่ยั่วยุให้เกิดการบ่อนทำลายความจงรักภักดีของกลุ่ม หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Wedge-driving rumors) เช่น ชาวอเมริกันคาทอลิกกำลังพยายามหลีกเลี่ยงร่างกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชาวเยอรมัน-อเมริกัน, อิตาเลียน-อเมริกัน, ญี่ปุ่น-อเมริกัน ไม่ภักดีต่อสหรัฐอเมริกา

Knapp ยังพบว่าข่าวลือเชิงลบมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายมากกว่าข่าวลือเชิงบวก ประเภทเหล่านี้ยังแยกความแตกต่างระหว่างข่าวลือเชิงบวก (pipe dream) และเชิงลบ (Bogie และ Wedge-driving rumors)

ในการศึกษาปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) The Psychology of Rumour, Gordon Allport และ Leo Postman ได้สรุปว่า "ในขณะที่ข่าวลือแพร่สะพัด ข่าวลือนั้นก็สั้นลง กระชับขึ้น เข้าใจ และบอกได้ง่ายขึ้น" ข้อสรุปนี้มีพื้นฐานมาจาก การทดสอบการแพร่กระจายข้อความระหว่างบุคคล ซึ่งพบว่าประมาณ 70% ของรายละเอียดในข้อความหายไปในการส่งต่อแบบปากต่อปากใน 5-6 ครั้งแรก

ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองได้แสดงภาพประกอบ และให้เวลาในการดู จากนั้นพวกเขาถูกขอให้อธิบายฉากจากความทรงจำไปยังตัวแบบทดสอบที่สอง จากนั้นให้ผู้ทดสอบคนที่ 2 อธิบายฉากนี้กับคนที่สาม เป็นต้น บันทึกการบอกต่อของแต่ละคน กระบวนการนี้ถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยมีภาพประกอบต่างกันโดยมีการตั้งค่าและเนื้อหาต่างกันมาก

Allport และ Postman ใช้คำศัพท์สามคำเพื่ออธิบายความเคลื่อนไหวของข่าวลือ ได้แก่ การปรับระดับ การลับคม และการดูดกลืน การปรับระดับหมายถึงการสูญเสียรายละเอียดในระหว่างกระบวนการส่ง เพิ่มความคมชัดในการเลือกรายละเอียดบางอย่างที่จะส่ง และการดูดซึมไปสู่การบิดเบือนในการส่งข้อมูลอันเป็นผลมาจากแรงจูงใจในจิตใต้สำนึก

มีการสังเกตการซึมซับเมื่อผู้ทดลองบรรยายภาพประกอบ ตามที่ควรจะเป็น แต่ไม่เป็นที่พวกเขาเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ในภาพประกอบที่แสดงฉากการต่อสู้ ผู้ทดสอบมักจะรายงานรถพยาบาลอย่างไม่ถูกต้องในพื้นหลังของภาพประกอบว่า บรรทุก "เวชภัณฑ์" โดยที่จริงแล้ว มันคือ กล่องที่มีเครื่องหมาย "TNT (102)" อย่างชัดเจน"

การรับรู้ทางสังคม ในปี พ.ศ. 2547 Prashant Bordia และ Nicholas DiFonzo ได้ตีพิมพ์หนังสือ Problem Solving in Social Interactions on the Internet : Rumor As Social Cognition และพบว่าการส่งข่าวลือน่าจะสะท้อนถึง "กระบวนการอธิบายโดยรวม" ข้อสรุปนี้มีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ กระดานข้อความที่เก็บถาวรซึ่งมีการเข้ารหัสและวิเคราะห์คำสั่ง พบว่า 29% (ส่วนใหญ่) ของข้อความในการอภิปรายเหล่านี้สามารถเข้ารหัสเป็นข้อความ "สร้างความรู้สึก" ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความพยายามในการแก้ปัญหา" มีข้อสังเกตว่าการสนทนาที่เหลือสร้างขึ้นจากข้อความเหล่านี้ เป็นการตอกย้ำแนวคิดในการแก้ปัญหาร่วมกัน นักวิจัยยังพบว่า ข่าวลือแต่ละอันผ่านรูปแบบการพัฒนาสี่ขั้นตอน ซึ่งมีการแนะนำข่าวลือเพื่อการอภิปราย ข้อมูลได้รับการอาสาและอภิปราย และในที่สุดก็มีการลงมติหรือหมดความสนใจ

สำหรับการศึกษานี้ มีการรวบรวมการสนทนาที่เก็บถาวรเกี่ยวกับข่าวลือบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เช่น BITnet ตามกฎแล้ว การสนทนาแต่ละครั้งจะมีการโพสต์ข้อความอย่างน้อยห้าข้อความในช่วงเวลาอย่างน้อยสองวัน ถ้อยแถลงถูกเข้ารหัสให้เป็นหนึ่งในสิ่งต่อไปนี้ : รอบคอบ วิตกกังวล ตรวจสอบ สอบปากคำ การให้ข้อมูล ความเชื่อ ความไม่เชื่อ การแสดงความรู้สึก พูดนอกเรื่อง หรือไม่สามารถเข้ารหัสได้ การอภิปรายข่าวลือแต่ละครั้งได้รับการวิเคราะห์ตามระบบการเข้ารหัสนี้ ระบบการเข้ารหัสที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอิงจากการวิเคราะห์ทางสถิติถูกนำไปใช้กับการอภิปรายแต่ละครั้งโดยรวม และรูปแบบสี่ขั้นตอนดังกล่าวของการอภิปรายข่าวลือก็ปรากฏขึ้น

4 องค์ประกอบในการจัดการข่าวลือ

>> ประการแรก ความวิตกกังวล (สถานการณ์และบุคลิกภาพ) คือเมื่อคนที่มีบุคลิกวิตกกังวลมากกว่า หรือคนที่ อยู่ในสถานการณ์ที่วิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะสร้างข่าวลือเพื่อบรรเทาความไม่มั่นคงของพวกเขา

>> องค์ประกอบที่สองของการจัดการข่าวลือคือความคลุมเครือ ความคลุมเครือคือการที่ใครบางคนไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงลงเอยที่เลวร้ายที่สุด

>> องค์ประกอบที่สามคือความสำคัญของข้อมูล ข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญ และหากข้อมูลนั้นไม่น่าสนใจหรือไม่สนใจผู้คน ก็จะไม่มีข่าวลือ แต่ข้อมูลมักจะเป็นเท็จ ข้อมูลยังสามารถคลุมเครือได้

>> องค์ประกอบสุดท้ายของการจัดการข่าวลือคือ ความน่าเชื่อถือ ข่าวลือมักแพร่กระจายโดยแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวลือนั้นไม่น่าเชื่อถือเว้นแต่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง นั่นคือเหตุผลที่คนบอกว่าอย่าไว้ใจหนังสือพิมพ์

กลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง ข่าวลือมีบทบาทสำคัญในการเมืองมาโดยตลอด โดยข่าวลือเชิงลบเกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่าข่าวลือเชิงบวกเกี่ยวกับด้านของตัวเอง "การโฆษณาชวนเชื่อ ถูกกำหนดอย่างเป็นกลางว่าเป็นรูปแบบการโน้มน้าวใจอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่างเป็นระบบ ซึ่งพยายามโน้มน้าวอารมณ์ทัศนคติความคิดเห็นและการกระทำของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อวัตถุประสงค์ทางอุดมการณ์การเมืองหรือเชิงพาณิชย์ ผ่านการส่งข้อความด้านเดียวที่มีการควบคุม (ซึ่งอาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง) ผ่านช่องทางสื่อมวลชนและสื่อทางตรง องค์กรโฆษณาชวนเชื่อจ้างนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีส่วนร่วมในการโฆษณาชวนเชื่อ - การสร้างและเผยแพร่รูปแบบการโน้มน้าวใจดังกล่าว" Richard Alan Nelson, A Chronology and Glossary of Propaganda in the United States, พ.ศ. 2539

ในอดีต การวิจัยเกี่ยวกับข่าวลือส่วนใหญ่มาจากแนวทางทางจิตวิทยา (ตามข้อสรุปของ Allport และ DiFonzio ข้างต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นที่ข้อความเกี่ยวกับความจริงที่น่าสงสัย (เป็นเท็จอย่างยิ่งต่อหูของผู้ฟังบางคน) หมุนเวียนด้วยวาจาจากคนสู่คน นักวิชาการให้ความสนใจข่าวลือทางการเมืองอย่างน้อยซึ่งเก่าแก่พอ ๆ กับสำนวนโวหารของ Aristotle อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้มีความสนใจอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาแนวความคิดมุ่งไปที่การใช้ข่าวลือทางการเมือง นอกเหนือบทบาทในสถานการณ์สงคราม แทบไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ว่าสื่อรูปแบบต่าง ๆ และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมอาจเอื้อต่อการแพร่กระจายของข่าวลือได้อย่างไร

การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีสื่อใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ สำหรับการแพร่กระจายข่าวลืออย่างรวดเร็วในขณะที่เว็บไซต์ debunking (ข้อเท็จจริงหักล้าง) เช่น snopes.com, urbanlegend.com และ factcheck.org แสดงให้เห็น ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการวิจัยใดที่พิจารณาถึงรูปแบบหรือรูปแบบของข่าวลือที่จงใจเลือกโดยเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในสถานการณ์เฉพาะ (แม้ว่าความสนใจอย่างมีนัยสำคัญต่อพลังของข่าวลือสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อสงครามที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนนั้นเป็นที่นิยมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 นักวิชาการด้านกฎหมายบางคนได้ให้ความสำคัญกับการใช้ข่าวลือทางการเมือง แม้ว่าแนวความคิดของพวกเขาจะยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาทางสังคม และเป็นการแก้ปัญหาของพวกเขาเนื่องจากปัญหาสาธารณะมาจากมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นประมาทและความเป็นส่วนตัว และความเสียหายต่อชื่อเสียงส่วนตัว

Jayson Harsin

Jayson Harsin ผู้ซึ่งทำการศึกษาการสื่อสารทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 นำเสนอแนวคิดของ "ระเบิดข่าวลือ (ข่าวลือที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง)" เพื่อตอบสนองต่อปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่แพร่หลายของการสื่อสารที่ลือชื่อในความสัมพันธ์ร่วมสมัยระหว่างสื่อและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในการบรรจบกันที่ซับซ้อน สื่อหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต วิทยุ ทีวี และสิ่งพิมพ์ Harsin เริ่มต้นด้วยคำจำกัดความที่แพร่หลายของข่าวลือว่า เป็นคำกล่าวอ้างที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริง และมักไม่มีที่มาที่แน่ชัด แม้ว่าต้นกำเนิดและเจตนาของลัทธิหรือพรรคพวกจะชัดเจนก็ตาม จากนั้นเขาก็ถือว่ามันเป็นกลยุทธ์เชิงโวหารเฉพาะในบริบทปัจจุบันของสื่อและการเมืองในหลากหลายสังคม สำหรับ Harsin "ระเบิดข่าวลือ" ขยายคำจำกัดความของข่าวลือไปสู่แนวคิดการสื่อสารทางการเมืองด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

>> วิกฤตของการตรวจสอบอาจเป็นแง่มุมที่สำคัญและเป็นอันตรายทางการเมืองมากที่สุดของข่าวลือ Berenson (1952) ให้คำจำกัดความข่าวลือว่าเป็นข้อความโน้มน้าวใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ขาด 'มาตรฐานของหลักฐานที่ปลอดภัย' (Pendleton 1998)

>> บริบทของความไม่แน่นอนหรือความวิตกกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับกลุ่ม บุคคล หรือสาเหตุทางการเมือง ซึ่งข่าวลือแพร่สะพัดหรือส่งต่อไปยังฝ่ายตรงข้าม

>> การเข้าข้างอย่างชัดเจนแม้ว่าจะมีแหล่งที่ไม่ระบุชื่อ (เช่น "ที่ปรึกษาประธานาธิบดีที่ไม่เผยนาม") ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากการแพร่กระจายของข่าวลือ

>> การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านสังคมสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาอย่างมากจนข้อมูลข่าวสารสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว

ข่าวลวง ข่าวลือ มลพิษทางข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และเว็บ จาก การสำรวจร่วมสมัยเกี่ยวกับ ความทันสมัย ​​ความท้าทาย และโอกาส

นอกจากนี้ Harsin ยังพบ "ระเบิดข่าวลือ" ในรูปแบบการสื่อสารอื่น ๆ เช่น การบิดเบือนข้อมูล (ข้อมูลเท็จโดยเจตนา) และการโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่ข่าวลือถูกคนอื่นดู อย่างไรก็ตาม เขาได้ทำการแยกความแตกต่างจากแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากข้อมูลเท็จมักเกี่ยวข้องกับรัฐบาลมากจนเกินไป และการโฆษณาชวนเชื่อคือความพยายามที่จะควบคุมความคิดเห็นโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความถูกต้องของข้อความ ในทำนองเดียวกัน "ลูกข่าง" ("Spin") เป็นศัพท์ทั่วไปสำหรับการสื่อสารทางการเมืองเชิงกลยุทธ์ที่พยายามวางกรอบหรือจัดโครงสร้างใหม่ให้กับเหตุการณ์หรือคำแถลงในลักษณะที่สร้างผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับฝ่ายหนึ่ง แล้วเป็นอันตรายต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วมันอาจเป็นเพียงข้อมูลที่ถูกทำให้เข้าใจผิด (Red herring )

นอกจากนี้ "การรณรงค์หาเสียง" ยังเป็นคำที่หมายถึงความพยายามร่วมกันเพื่อโจมตีตัวบุคคลอย่างหลวม ๆ "ระเบิดข่าวลือ" ไม่เหมือนกับ "การรณรงค์หาเสียง" ระเบิดข่าวลือไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการทำให้เสียชื่อเสียง (เช่นในกรณีเช่นในการอ้างสิทธิ์ในการบุกอิรักและ 9/11 หรืออาวุธทำลายล้างสูงที่ถูกย้ายไปซีเรีย) "ลูกข่าง" ยังหมายถึงเหตุการณ์และการจัดฉากใหม่อีกด้วย ตัวข่าวลือก็อาจพยายามสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเองก็เป็นได้

ระเบิดข่าวลือ สามารถถูกมองว่า มีลักษณะบางอย่างของแนวคิดทั่วไปเหล่านี้ แต่ระเบิดข่าวลือเกิดขึ้นในเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงมาก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวลือระหว่างบุคคลเลยแบบปากต่อหู เนื่องจากมีการวิจัยข่าวลือที่น่าสนใจมาก พวกเขาเริ่มต้นในสายสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้บิดเบือนข้อมูล" โดยเจตนากับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางโทรทัศน์ ทอล์คโชว์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ จากนั้นพวกเขาก็แพร่กระจายไปทั่วสื่อเหล่านี้ แต่อาจไม่จำเป็นต้องส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายข่าวลือแบบปากต่อหูระหว่างบุคคล

Harsin แยกแยะข่าวลือข่าวลือออกจากแนวคิดทั่วไปอื่น ๆ ของข่าวลือ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยีสื่อ และวัฒนธรรม Harsin กล่าวว่า ข่าวลือทางการเมืองมีอยู่เสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่สุกงอมสำหรับข่าวลือทางการเมืองรูปแบบใหม่ : สื่อใหม่ "วัฒนธรรมการบรรจบกัน" ซึ่งข้อมูลที่ผลิตบนอินเทอร์เน็ตสามารถมีอิทธิพลต่อการผลิตเนื้อหาสื่อในรูปแบบอื่น ๆ  เทคโนโลยีสื่อใหม่และค่านิยมทางธุรกิจที่เน้นความเร็วและการหมุนเวียนที่ผสมผสานกับคุณค่าความบันเทิงในข่าว การตลาดทางการเมือง และความปรารถนาของสาธารณชนต่อข่าวแท็บลอยด์ที่สะท้อนความบันเทิงประเภทอื่น ๆ

ข่าวลือเรื่อง "อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)" และข้อกล่าวหาการเคลื่อนย้าย WMD ไปยังประเทศอื่น" John Kerry เป็นชาวฝรั่งเศส" OBAMA เป็นมุสลิม John McCain มีลูกผิวสีนอกสมรส ทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับข้อความที่เป็นความจริงในคำถามหรือที่เป็นเท็จ ข้อความอื่น ๆ อาจมีลักษณะคลุมเครือ ซึ่งทำให้ดึงดูดต่อผู้ที่มีความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจตีความพวกเขาในลักษณะเฉพาะและเผยแพร่ให้พวกเขาได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง Harsin สรุปจากการวิจัยข่าวลือที่เน้นการรับรู้ทางสังคมและการแพร่กระจายของการโฆษณาชวนเชื่อ เขาขยายงานของ Prashant และ Difonzio โดยเฉพาะ เนื่องจากพวกเขาพยายามแยกแยะข่าวลือออกจากเรื่องซุบซิบ (Gossip) โดยข่าวลือดังกล่าวเป็นข่าวลือเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ และการนินทาเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่สำคัญ การเกิดขึ้นของสาระบันเทิงและแท็บลอยด์โดยเฉพาะในอเมริกาและข่าวของอังกฤษได้ทำลายความแตกต่างนั้น เนื่องจากตอนนี้การเมืองเป็นเพียงการนำความเป็นส่วนตัวไปสู่มุมมองจากสาธารณะ เช่นเดียวกับเรื่องอื้อฉาวของ Clinton-Lewinsky ที่มีความชัดเจนมาก ๆ

การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ คล้ายกับลักษณะที่ปรากฏและยังทำหน้าที่ในการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งข่าวลือสามารถนำไปใช้กับผลกระทบที่เป็นอันตราย (ระเบิดข่าวลือ) หรืออาจก่อให้เกิดภยันตรายร้ายแรงต่อผู้สมัครรับตำแหน่งทางการเมือง ข่าวลือยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ การสื่อสารเชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการสร้างข้อความเพื่อสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรอย่างเฉพาะเจาะจง และมักเกี่ยวข้องกับรัฐบาล กองทัพ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดต้องเข้าใจในเรื่องราว แนวโน้ม และ memes (การแพร่กระจายของไอเดีย หรือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ โดยไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรมด้วยการเลียนแบบ) ซึ่งยังคงหมุนเวียนอยู่ในกระแสของวัฒนธรรมตามแต่ละยุคสมัย

หนังสือ Narrative Landmines : Rumours, Islamist Extremism and the Struggle for Strategic Influence โดย Daniel Bernardi, Pauline Hope Cheong, Chris Lundry และ Scott W. Ruston

ข่าวลือสามารถมองได้ว่า เป็นเรื่องราวที่ดูเหมือนมีเหตุผล แต่แฝงไปด้วยความคาดเดา เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์การเล่าเรื่องบางอย่าง (การแสดงออกทางวัฒนธรรมมากมายที่หมุนเวียนอยู่ภายในชุมชนหรือภูมิภาค) ในหนังสือ Narrative Landmines : Rumours, Islamist Extremism and the Struggle for Strategic Influence โดย Daniel Bernardi, Pauline Hope Cheong, Chris Lundry และ Scott W. Ruston ได้ประดิษฐ์คำศัพท์ "IED" เพื่อช่วยอธิบายการทำงานและอันตรายของข่าวลือใน บริบทการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ข่าวลือในฐานะ IED (Improvised explosive device) หรือ ระเบิดข่าวลือแสวงเครื่อง ซึ่งถูกบรรยายว่า เป็นอาวุธในการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีต่ำและต้นทุนต่ำ ซึ่งทุกคนสามารถใช้เพื่อขัดขวางความพยายามในการสื่อสาร กิจการพลเรือน หรือการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เช่น รัฐบาลที่ดำเนินการในสถานการณ์ตอบโต้วิกฤต หรือกองทัพในการก่อความไม่สงบ ดังที่ Bernardi ตั้งข้อสังเกตว่า "เกือบทุกคนสามารถสร้างและเป็นผู้แพร่ข่าวลือ ราวกับข่าวของญาติตัวเองที่ถูกระเบิดได้ สามารถจำกัดทรัพยากร แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในทางตรง และสามารถทำให้เกิดความกลัวเพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ"

Daniel Bernardi


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top