Wednesday, 24 April 2024
COLUMNIST

เมื่อ​ 'ประกันชีวิต'​ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เชื่อเถอะครับว่า​ นาทีนี้คำว่าประกันชีวิต คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราอีกต่อไป 

หลาย ๆ​ คนมีวัตถุประสงค์ ในการทำประกันชีวิตแตกต่างกัน เช่น... 

- เพื่อคุ้มครองเวลาจากไป​ คนข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก 
- เพื่อออมเงิน 
- เพื่อลดหย่อนภาษี 
- เพื่อลงทุน 
- หรือเพื่อช่วยเหลือเพื่อน 

สำหรับผมแล้ว การได้เข้ามาสู่ธุรกิจประกันชีวิตเมื่อ​ 20​ ปีก่อน ภาพลักษณ์ของธุรกิจช่างแตกต่างกับตอนนี้มาก 

สมัยนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ​ ก็ไม่มีอะไรมา​ Support มากนัก หลาย ๆ​ ครั้งต้องอธิบายแบบประกันด้วยการวาดแบบบนกระดาษ​ A4 พกเอกสารนำเสนอเป็นตั้ง 

แต่สมัยนี้ ipad เครื่องเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง 

การพบลูกค้าสมัยนั้นก็ต้องโทรนัด เปิดกระบวนการขาย แต่สมัยนี้ส่งเอกสารทางไลน์ ลูกค้าตัดสินใจ ตัวแทนส่งเอกสารไปให้เซ็น ลูกค้าถ่ายรูปบัตรประชาชน กับ เซลฟี่รูปตัวเอง และเซ็นเอกสารกลับมา แล้วรอรับกรมธรรม์ที่บ้านได้เลย 

ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามาแทน คนเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ​ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ 

แน่นอนว่าหลาย ๆ​ คนอาจถามว่า แล้วจะหาลูกค้าจากไหน? 

คำตอบสมัยก่อน กับสมัยนี้ คงไม่ต่างกัน คือ เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน คนในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อน และลูกค้าแนะนำ หรือถ้าใครรู้จักคนเยอะ​ ก็ยิ่งง่าย

เช่นเดียวกันกับตัวผม ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เรารู้จักคนเยอะ และท่านผู้อ่านก็คงคิดว่า งานง่ายละสิ...แต่เปล่าเลยครับ!! อาชีพนี้แปลก!!

หลาย ๆ​ ครั้งเราไม่กล้าเปิดปากว่าเราทำอะไรอยู่ จึงทำให้พลาดอะไรไปหลาย ๆ​ อย่าง ซึ่งในส่วนของผมนั้น​ จำนวนลูกค้ากลุ่มแรก คือ​ กลุ่มเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรมต่างมหาวิทยาลัยที่พวกเรารวมตัวกัน และได้สนิทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เราตั้งชื่อว่า​ 'กลุ่มหัวจุก'​ ครับ แต่ผมคงไม่ขอลงรายละเอียด​ เพราะว่าถ้าบอกชื่อไปท่านผู้อ่านคงรู้แน่ ๆ​ ว่าเป็นใครบ้าง เพราะหลาย ๆ​ ท่านตอนนี้ เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมครับ (^^)​

เพื่อนกลุ่มนี้ เราได้​ Support ซึ่งกันและกันมาตลอดครับ เอาเป็นว่าในตอนถัดไป ผมจะเล่าประสบการณ์ขายประกันให้กับเพื่อน หรือคนที่รู้จักให้อ่านกันครับ ว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นบ้าง

หลาย ๆ​ ครั้งได้รับการตอบรับดี แต่หลายๆ​ ครั้งก็โดนปฏิเสธ 

พบกันตอนหน้าครับ กับเรื่องเล่าสนุก ๆ ของคนขายประกัน

ส่วนครั้งนี้ขออนุญาตมาแนะนำตัวก่อนครับ


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ความจริงอีกครึ่ง!! เผย​ราคาจริง 'วัคซีน​ Moderna'​ เมื่อ​ 584 บาท​ คือ​ ราคาขายในสหรัฐฯ

มีคำกล่าวว่า...

"ข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้น น่ากลัวกว่าข่าวเท็จ"

เพราะคนที่กระจายข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้น มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้กระจายความเข้าใจผิดเหล่านั้นไป 

ยิ่งเป็นคนมีชื่อเสียง​ ยิ่งทำให้ข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้นมีความน่าเชื่อถือขึ้น จนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคมมาก 

วันนี้ผมจะขอนำ​ 'ความจริง'​ อีก 'ครึ่งหนึ่ง'​ มานำเสนอให้ลองคิดพิจารณาดูครับ

จากกระแสข่าวที่ว่าวัคซีนโมเดอร์นา​ (Moderna)​ ควรจะมีราคา 584 บาทต่อโดส แต่องค์การเภสัชฯ ได้นำเข้ามาขายในราคา 1,100 บาทต่อโดส >> นี่คือการเก็บภาษี 100% ของรัฐตามที่ผู้ให้ข่าวบอกนั้น!!

ตัวผมเองไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งกาจเหมือนกับท่าน แต่ก็เห็นความผิดปกติ จากที่ท่านทำคลิปวีดีโอบอกว่า "มันเป็นราคาที่ส่งในประเทศอเมริกาเอง และส่งภายในยุโรป เป็นราคารวมค่าขนส่งแล้ว" 

ผมเลยลองหาข่าวยืนยันข้อความอันกล่าวโดยท่าน แต่จะหาข่าวภาษาไทย ก็คงจะยากเพราะสื่อไทยเองก็มีปัญหาเลือกข้าง เลยขอหาจากสื่อญี่ปุ่น ประเทศที่นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาใช้เป็น 1 ใน 3 วัคซีนหลักของประเทศ และตัวผมสามารถอ่านรู้เรื่อง

จากเนื้อข่าว (https://www.businessinsider.jp/post-233036)​ พบว่า...ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนมีนาคม 2021 ระยะเวลา 4 เดือน บริษัทโมเดอร์นาได้ขายวัคซีนไปแล้ว 116 ล้านโดส (ไม่รวมส่งไปทดสองกับสถานวิจัย BARDA อีก 4 ล้านโดส) 

โดยเป็นการส่งมอบวัคซีนในประเทศอเมริกา 102 ล้านโดส และส่งออกต่างประเทศไป 14 ล้านโดส ทั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่งส่งออกเพียง 3 ล้านโดส มีอัตราส่วนระหว่างส่งในประเทศกับส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4 ต่อ 1

จากเอกสารบอกอีกว่า ราคาวัคซีนของโมเดอร์นาที่ขายในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 88 ล้านโดสมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.4 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,650 เยน) ในขณะที่บริษัทคู่แข่งที่ทำสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ​ อย่างบริษัทไบโอเอ็นเทคกับวัคซีนไฟเซอร์ที่ขายในราคา 2 โดส 39 ดอลลาร์ ราคาของวัคซีนโมเดอร์นา​ 

>> จึงถูกกว่าที่ราคา 2 โดส 32 ดอลลาร์ 

และในเอกสารยังบอกอีกว่า ในไตรมาสแรกของปี 2021 ราคาขายในอเมริกาเฉลี่ยต่ำสุดที่ 2 โดส 30.8 ดอลลาร์

ในขณะที่ราคาสำหรับการส่งออก 14 ล้านโดสนั้น มีราคาอยู่ระหว่าง 22-37 ดอลลาร์ต่อโดส ขึ้นอยู่กับปริมาณสั่งซื้อในแต่ละสัญญา ส่วนราคาขายในยุโรปนั้น จากสื่อของเบลเยี่ยม (เป็นข้อมูลหลุดจากทวิตเตอร์) ได้บอกราคาไว้ที่ 1 โดส 18 ดอลลาร์

จากข่าวที่ผมหาได้ ก็ทำให้ได้ทราบว่า การขายวัคซีนโมเดอร์นา​ ถูกแบ่งออกเป็นสามรูปแบบ​ ดังนี้... 

>> ขายในประเทศอเมริกาเอง จะถูกสุดถึง 15.4 ดอลลาร์ต่อโดส (504.5 บาท) 
>> ขายในยุโรปที่ 22 ดอลลาร์ต่อโดส (589.7 บาท) 
>> และขายประเทศอื่น ๆ 22-37 ดอลลาร์ต่อโดส (720 - 1212 บาท) ขึ้นอยู่กับปริมาณที่สั่งต่อสัญญา 

เพราะฉะนั้นแล้ว​ ราคาขายในไทยคงไม่สามารถขายได้ในราคา 22 ดอลลาร์อย่างแน่นอน เนื่องจากเขาขายแต่ในยุโรปเท่านั้น!! 

ปัญหา คือ องค์การเภสัชทำสัญญากับโมเดอร์นา อยู่ที่เท่าไหร่ เพราะถ้าอิงจากราคาที่ตั้งคือ 1,100 บาทแล้ว องค์การเภสัชน่าจะซื้อมาด้วยราคา 32 ดอลลาร์ บวกกับภาษี 7% จะได้ใกล้เคียงกับ 1,100 บาทที่สุด 

แค่นี้แหละครับที่ผมอยากจะบอก!! 

ความจริงอีกครึ่ง!! 


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.businessinsider.jp/post-233036


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คนเราจะมี ‘เพื่อน’ ได้มากที่สุดกี่คน ? “Dunbar’s Number” (ตัวเลขของดันบาร์) ความสัมพันธ์ที่จำกัดจากสมองมนุษย์

มนุษย์คนหนึ่ง ๆ จะสามารถมีเพื่อนจำนวนเท่าใดจึงพอเหมาะต่อการที่จะรู้จักคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันจนสนิทชิดเชื้อ และสามารถรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้เป็นอย่างดี ? คำตอบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dunbar’s Number ขึ้น และตัวเลขจำนวนนี้มีความหมายโยงใยไปถึงหลายเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดของธุรกิจ ขนาดของกลุ่มออกค่าย ขนาดของหน่วยรบ ขนาด Network ของ Social Media ฯลฯ 

ในปี พ.ศ. 2535 ‘Robin Dunbar’ ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ได้นำเสนอตัวเลขจำนวนนี้ต่อสาธารณะ จากการศึกษาทั้ง การแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา เพื่อหาจำนวนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สมองของมนุษย์คนหนึ่งสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี Dunbar พบว่ามนุษย์มีทางโน้มที่สามารถจัดการกลุ่มของตน (Self-organize) เองได้ดีเมื่อกลุ่มของตนมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ดังนั้นตัวเลข 150 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการและถูกเรียกว่า Dunbar’s Number 

Robin Dunbar ปัจจุบันอายุ 74 ปี ชาวอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Oxford และเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่ง Bristol จากนั้นทำงานวิจัยและสอนให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอังกฤษก่อนที่จะมีชื่อเสียงเพราะการการนำเสนอทฤษฏี Dunbar’s Number

คำจำกัดความอย่างเป็นทางการของ Dunbar’s Number คือ “ตัวเลขของจำนวนคนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดเชิงการใช้ความคิดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้” พูดง่าย ๆ คือ จำนวนตัวเลขที่สร้างข้อจำกัดในการทำงานของสมองของมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

Dunbar ไม่ได้ยกเมฆตัวเลขจำนวนนี้ขึ้นเอง หากแต่ได้ทำการศึกษาในเชิงสังคมวิทยาอย่างรอบคอบ บทความของเขาใน Journal of Human Evolution ในปี พ.ศ. 2535 ได้อธิบายว่า การที่คนเรามีสมองขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันภัยจากศัตรู อย่างไรก็ดีการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกมักแย่งชิงอาหารและเพศตรงข้ามกัน ต่างต้องระวังการถูกโกงและการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในขณะเดียวกันต่างก็หาช่องทางที่จะข่มขู่และกดขี่คนอื่นเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย 

สัตว์เผ่าพันธุ์ Primates

เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ขนาดของข้อมูลที่สมองของสัตว์เผ่าพันธุ์ Primates ซึ่งครอบคลุมลิงและมนุษย์จะต้องประมวลก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มที่มีคน 5 คน มี 10 คู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ถ้ากลุ่มเป็น 20 ก็มี 190 ถ้ากลุ่มเพิ่มเป็น 50 ก็มี 1,225 เมื่อความซับซ้อนของความสัมพันธ์มากขึ้นเช่นนี้สมองก็จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลากหลายชั้นของเซลล์สมองเพื่อจัดการความสัมพันธ์ซึ่งสมองเป็นเครื่องมือสำคัญ Dunbar ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของ Neocortex (ส่วนสำคัญของสมอง) ของแต่ละประเภท Primates กับขนาดของกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน ยิ่ง Neocortex ใหญ่เท่าใดขนาดของกลุ่มที่สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ใหญ่ขึ้น แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็น Primate ที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ 

Dunbar พบว่า สำหรับลิงประเภทต่าง ๆ มีขนาดของกลุ่มที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ 5 ถึง 80 ตัว ส่วนลิงเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหาง มีขนาดของกลุ่มประมาณ 5 ตัว และขนาดของกลุ่มของมนุษย์คือ 147.8 คน และ Dunbar ยังพบข้อมูลจากประวัติศาสตร์ว่า ขนาดของกลุ่มทหารโรมัน กลุ่มทหารในศตวรรษที่ 16 กลุ่มชนที่เดินทางเร่ร่อนในสมัยโบราณ กลุ่มชนที่อาศัยในถิ่นต่าง ๆ ล้วนมีจำนวนประมาณ 150 คน เช่นเดียวกับที่เขาคำนวณได้จากโมเดลทางคณิตศาสตร์ งานศึกษาของ Dunbar จนได้ตัวเลข 150 สร้างความฮือฮาในทางวิชาการในทศวรรษ 1990’s จนถึงปัจจุบัน มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Social Media

กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ลองผิดลองถูกกับขนาดของหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดมายาวนานและใช้ตัวเลข 150 เป็นจำนวนของทหารหนึ่งกองร้อยของหน่วยรบในปัจจุบัน สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น Gore-Tex นั้น หากสาขามีจำนวนลูกจ้างถึง 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกสาขาหนึ่ง และสำหรับชุมชนปกครองตนเองในสหรัฐอเมริกา (เช่น พวก Hutterites ซึ่งคล้ายพวก Amish ซึ่งยึดการใช้ชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม) หากสมาชิกเกิน 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกชุมชนหนึ่ง

ชาว Hutterites

ในโลกของ Social Media นั้น Dunbar’s Number ถูกนำมาทดสอบเพื่อยืนยันจำนวนเพื่อนที่สมาชิกคนหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นขนาดของ Network ที่จะต้องนำเอามาออกแบบเชิงธุรกิจ Facebook สนใจ Dunbar’s Number เช่นเดียวกับ Path ซึ่งช่วยให้สมาชิกโพสต์รูปและความเห็นผ่านสมาร์ทโฟนตลอดจนบอกเวลานอนและตื่นได้อีกด้วย ผู้บริหาร Path พบว่า แต่ละ Network ไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน Path ประสบความสำเร็จจากการใช้จำนวนนี้จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ Dunbar’s Number ปัจจุบัน มีนักวิชาการ/นักวิจัยซึ่งทำการวิจัยได้โต้แย้งการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่มมนุษย์พบว่า มีจำนวนประมาณ 150 คนโดยเฉลี่ย โดยนำเสนอการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่ม ซึ่งบ่งชี้ถึงจำนวนอื่น ๆ ที่หลากหลาย (กลุ่มอายุ 46-53) ดังนั้นการวิจัยเชิงนิเวศวิทยาเกี่ยวกับสังคมของ ความเป็นเอกลักษณ์ของความคิดของมนุษย์และการสังเกตเชิงประจักษ์ ล้วนบ่งชี้ว่าไม่มีข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ การวิเคราะห์ใหม่ของเราให้หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเพิกเฉยต่อ 'Dunbar's number' โดยสรุปการอนุมานขีดจำกัดการรับรู้ของมนุษย์จากการถดถอยของข้อมูล Primates ที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นมีค่าจำกัด ด้วยเหตุผลทั้งทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ เป็นความหวังของเรา แม้ว่าอาจจะไร้ประโยชน์ แต่การศึกษาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยุติการใช้ 'Dunbar’s Number' ในวิทยาศาสตร์ และในสื่อยอดนิยมต่าง ๆ ว่า 'Dunbar's number' เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานทางทฤษฎีที่จำกัด ซึ่งยังคงขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุน ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความต่อเนื่องกับมนุษย์คนอื่น ๆ ถ้ามีจำนวนน้อยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่หากมีมากจนเกินไปก็ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อย่างดีไว้ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลข 150 ของ Dunbar จึงอาจเหมาะสมพอดีกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะเฉพาะในการรักษาความสัมพันธ์อันแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็เป็นได้ ในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมเป็นพิเศษเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย (เช่น ของฝาก การไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ ของขวัญฯ) จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนตัวเลข 150 นี้อาจไม่ถูกต้องตามบริบทของสังคมตะวันออกก็เป็นได้


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สวนกระแสโลก!! เมื่ออินเดีย เพาะพันธุ์ 'ยูนิคอร์น' ไล่กวด 'สหรัฐฯ-จีน' ภายใต้ 'คนเก่ง - รัฐเร่ง Go - โควิดหนุน'

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยมีข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นที่กล่าวขวัญและฮือฮาที่สุด นั่นก็คือ กรณีที่กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชสัญชาติไทยแบบครบวงจรที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักบริษัทในเครือคือ แฟลชเอ็กซ์เพรส (Flash Express) ได้รับเงินระดมทุนล่าสุดซึ่งเป็นการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ เป็นเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจแฟลชขึ้นแท่นเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ไต่สู่ระดับ “ยูนิคอร์น (Unicorn)” ด้วยมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีเท่านั้น

แต่ว่าในช่วงไล่เลี่ยกันที่ประเทศอินเดียที่คนส่วนใหญ่อาจจะคาดไม่ถึง ปรากฏว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง กลับมีการแจ้งเกิดของ “ยูนิคอร์น” รายใหม่มากถึง 11 บริษัท ส่งผลทำให้ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 อินเดียมีบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ “ยูนิคอร์น” รวมทั้งสิ้นจำนวนมากถึง 48 บริษัท มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวน 288 บริษัทและประเทศจีนที่มีจำนวน 133 บริษัท ตามลำดับ


สำหรับผู้ที่รู้จักประเทศอินเดียดีก็จะไม่รู้สึกแปลกใจกับการที่อินเดียติดอันดับ 3 ของโลกที่มีจำนวน “ยูนิคอร์น” มากที่สุดถึง 48 บริษัทและมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ถึง 11 บริษัทภายใน 6 เดือนแรกของปี 2564 หรือโดยเฉลี่ยมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ในอินเดียเกือบ 2 บริษัทต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือได้มาง่าย ๆ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากการทำงานหนักของทั้งภาครัฐและเอกชนของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของท่านนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ตั้งแต่ในสมัยแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ  (ปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง) ที่มีการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนประเทศอินเดียให้เป็น “อินเดียใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย “Digital India” ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพของประเทศในระยะยาวที่ยั่งยืนรวมทั้งเป็นการสร้างแบรนด์ India ไปทั่วโลกด้วย

สำหรับคำว่า “ยูนิคอร์น” (Unicorn) ซึ่งหมายถึงสัตว์ในตำนานของยุโรปที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้เกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป ก็เพราะการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถระดมทุนได้สูงขนาดนี้ถือเป็นสิ่งที่ยากมา ถ้าหากทำได้ก็จะกลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง ทั้งนี้ ทางฝั่งอินเดียเองก็พบว่ามีสัตว์ประเภทนี้อยู่ในตำนานโบราณของอินเดียด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาษาฮินดีซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตจะเรียกสัตว์ในตำนานนี้ว่า “Ekshringa” ซึ่งน่าสนใจมาก ผมเลยสอบถามไปที่กัลยาณมิตรทางด้านอินเดียของผมคือ อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮินดี แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Northeastern Hill University ที่เมืองชิลลอง รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย โดยท่านได้กรุณาให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า คำว่า Ekshringa หรือ “เอกศฤงค์” (อ่านว่า เอก-สะ-ริง) แยกออกได้เป็นคำว่า Eka หรือ “เอกะ” แปลว่า หนึ่ง ส่วนคำว่า Shringa หรือ “ศฤงคะ” แปลว่า เขาสัตว์ เพราะฉะนั้น คำว่า Ekshringa หรือ เอกศฤงค์ จึงแปลว่า “ผู้มีเขาเดียว” นั่นก็คือ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง

จากข้อมูลของ India Today ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบว่านอกจากยูนิคอร์นของอินเดียจะมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ปรากฏว่าธุรกิจสตาร์ทอัพของอินเดียที่เป็น Tech Start-Ups ก็มีจำนวนอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกด้วยเช่นกันด้วยจำนวนมากกว่า 12,500 ราย แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เฉพาะในปี 2563 (ค.ศ. 2020) แค่ปีเดียวซึ่งเป็นปีแห่งวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทั้งโลกโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย แต่ปรากฏว่าจำนวน Tech Start-Ups ในอินเดียกลับเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,600 รายภายใน 1 ปี สวนกระแสวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าทุกวิกฤติย่อมนำมาซึ่งโอกาสดี ๆ เสมอ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นเติบโตอย่างมากในอินเดียหรือในโลกในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง อย่างบริษัท Razorpay ซึ่งเป็น Payment Gateway ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออย่างบริษัท Swiggy ซึ่งเป็น Food Delivery Platform ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เช่นกัน ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

นอกจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอินเดียแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ของประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาความเร็วในการสื่อสารหรือการถ่ายโอนข้อมูล รวมทั้งการเชื่อมต่อของระบบอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจากรายงานของสมาคมอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่แห่งอินเดีย (Internet and Mobile Association of India หรือ IAMAI) เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาพบว่า 43% ของประชากรอินเดียหรือคิดเป็นจำนวนประชากรอินเดียประมาณ 622 ล้านคนเป็นผู้ที่ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต (Active Internet Users) อยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราการขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทสูงกว่าพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเปิดเผยว่าในปี 2563 อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 13% ในขณะที่ในพื้นที่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น โดยการใช้งานอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ในเขตชนบทและในพื้นที่ในเขตเมืองจะใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนเป็นหลัก นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาร่วมระหว่าง ICEA (Indian Cellular and Electronics Association) กับบริษัทที่ปรึกษา KPMG เมื่อปีที่แล้วพบว่า ภายในอีก 2 ปีข้างหน้าอินเดียจะมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนจำนวน 820 ล้านคน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดผลดีต่อบรรดาบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นของอินเดียอย่างแน่นอน และจะยิ่งส่งผลให้เกิดบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Tech Start-Ups และยูนิคอร์นจำนวนมากในอินเดียมิได้เป็นผลมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้นเพราะวิกฤติเป็นเพียงปัจจัยเสริมปลายน้ำ แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเกิดขึ้นของบริษัททางด้าน Info-Tech ชั้นดีของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 1990 อย่างเช่นบริษัท Infosys และบริษัท TCS (Tata Consultancy Services) เป็นต้น พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Hub) ที่เมืองบังกาลอร์ (หรือเบงกาลูรูในปัจจุบัน) และมาได้พลังเสริมจากนโยบายของรัฐบาลของท่านนเรนทรา โมดีตั้งแต่สมัยแรกที่มีความชัดเจนในเรื่องของดิจิตอล ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของอินเดียที่มีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญสองเหตุการณ์ที่ส่งผลมาถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน โดยจุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องลดจำนวนพนักงานลงจำนวนมาก โดยในอดีตที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักจะจ้างคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ ไปทำงานอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องเลิกการจ้างงานก็เลยทำให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหลกลับหรือ Brain Drain ของคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ เหล่านี้ที่เดินทางกลับไปแสวงหาโอกาสในบ้านเกิด ทำให้เกิดธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกขึ้นที่เมืองบังกาลอร์จำนวนมาก ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันคือ การพัฒนาและขยายระบบอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่งผลทำให้เกิดการขยายต้วของธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอัตราสูงในปัจจุบัน

            สำหรับยูนิคอร์นของอินเดียจำนวน 48 บริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้าน Fintech ด้านบริการซอฟท์แวร์ (Saas: Software as a Service) และ E-Commerce แต่ทั้ง 48 บริษัทมีมูลค่าบริษัทรวมกันสูงถึง 139,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.47 ล้านล้านบาท

เห็นจำนวนยูนิคอร์นของอินเดียและมูลค่าบริษัทแล้วก็ถึงกับอึ้งกันเลยทีเดียว แต่อินเดียมีเรื่องให้อึ้งมากกว่านี้ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าจากจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 12,500 บริษัท อินเดียมียูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 48 บริษัทมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่อินเดียยังเหนือชั้นกว่านี้อีกเพราะในปัจจุบันอินเดียมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า “Decacorn” ถึง 3 บริษัทซึ่งได้แก่ บริษัท PayTM  บริษัท OYO และล่าสุดหมาดๆคือ บริษัท Byju ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพทางด้าน Edtech ชื่อดังของอินเดียที่มีมูลค่าพุ่งขึ้นเป็น 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้ Byju กลายเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

มาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าเราคงต้องหันมา “มองอินเดียใหม่” กันแล้วครับ !!

 

‘ฟ้าทะลายโจร’ ทางออกของโควิด-19 ??

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 

ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

อิทธิพลของการสื่อสารแบบปากต่อปาก “Word - of - Mouth” บอกต่อไว้ให้จำอีกนาน

การบอกต่อ (word-of-mouth) เป็นการตลาดภาคพลเมือง (citizen marketing) คือการที่ผู้บริโภครีวิวสินค้าและบริการด้วยความสมัครใจ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเอง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าด้วยความคิดเห็น บทวิเคราะห์ รูปภาพ วิดิโอ หรือจัดทำเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือในเว็บไซต์ แต่ความหมายของ “การตลาดภาคพลเมือง” ไม่ได้หมายถึง การชักชวนให้ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น เพราะการรีวิวสินค้าโดยกลุ่มผู้บริโภค อาจจะนำไปสู่การปฎิเสธ หรือการต่อต้านสินค้าและบริการได้เช่นกัน 

การตลาดภาคพลเมือง มีพลัง และมีอิทธิพลอย่างมาก เพราะมาจากคนทั่วไปที่ใช้สินค้าและบริการ ความคิดเห็นต่าง ๆ จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้มาจากชุดคำพูดที่เอเจนซีโฆษณาสร้างสรรค์ให้ หรือไม่ได้มาจากนักเขียนรีวิว ที่ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของสินค้าและบริการ

เมื่อมีการรีวิวจากผู้ซื้อหลาย ๆ ราย ที่ให้รายละเอียดต่าง ๆ โดยมีเจตนาที่จะแจ้งให้ผู้คนทั่วไปที่กำลังสนใจในสินค้าหรือบริการได้ทราบถึง ข้อดี ข้อเสีย ความพึงพอใจ ความผิดหวังในคุณภาพและการใช้งาน

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในตลาดมายาวนาน ผู้ใช้จำนวนมากอาจมีความภักดีในสินค้า (brand loyalty) ในระดับระดับหนึ่ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พอใจในคุณภาพ จึงไม่มีการรีวิวตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดมานานหลายปีมากนัก แต่หากเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เพิ่งปรากฎในตลาด จะมีการรีวิวมากมาย จากผู้ที่ได้ลองซื้อมาใช้ รีวิวเหล่านี้ มีผลต่อความสำเร็จของสินค้า

ผู้ที่รีวิวสินค้าและบริการเหล่านี้ ใช้สิทธิของผู้บริโภคในการวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยอาจแชร์ความไม่พอใจ ความแตกต่างจากความคาดหวังและกฎเกณฑ์ส่วนตัว ลักษณะสินค้าที่ไม่ตรงปก บางครั้งมีการแนะให้ปรับปรุงสินค้าราวกับเป็นผู้มีส่วนในการออกแบบและวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์ จนถือว่าเป็นผู้บริโภคที่เรียกว่า proactive consumer หรือผู้บริโภคเชิงรุก หรือ prosumer (producer+consumer)

การรีวิวสินค้านั้น เป็นการบอกต่อ (word-of-mouth) ชนิดหนึ่ง ในอดีต การบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน จนเกิดการรับรู้ในกลุ่มใหญ่ขึ้นนั้นใช้เวลานาน จากหนึ่งคนกว่าจะรู้กันทั้งหมู่บ้าน จนรู้กันทั่วจังหวัดและประเทศอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ในยุคดิจิทัล การสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต ทำให้การบอกต่อ ในลักษณะของการรีวิว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่จะรับรู้กันได้ทั้งโลก !!

การทำการตลาดภาคพลเมือง โดยผู้บริโภคเชิงรุกนั้น สร้างผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบได้รุนแรง มีพลังไม่แพ้การโฆษณาที่ใช้งบประมาณมหาศาล

เหตุการณ์ที่แสดงถึงผลกระทบด้านลบต่อสินค้าและบริการ ที่เริ่มต้นโดย citizen marketing มีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่สังคมแตกแยก แบ่งฟาก และนำการเมืองเข้ามาปนกับนโยบายการดำเนินธุรกิจ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผลิตภัณฑ์ขนมปัง ฟาร์มนมสด ร้านสุกี้ ร้านชาไต้หวัน และสินค้าอื่น ๆ ที่ประกาศตัวว่า ไม่ยินดีให้บริการ “สลิ่ม” ไม่ว่านโยบายที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว จะมาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง หรือคนอื่นถือวิสาสะจัดชุดข้อมูลให้เอง การบอกต่อของสังคมและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน สินค้าเหลือค้างบนชั้นวางในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายนมและไอศครีม ซึ่งเคยเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม กลายเป็นลูกค้าลดฮวบ 

Citizen marketing ทำโดยผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ และไม่แคร์ว่า ยอดขายจะลด หรือลูกค้าจะหดหาย เพราะไม่ใช่ปัญหาของนักการตลาดภาคพลเมือง ซึ่งโฟกัสไปที่การกระจายข้อมูลให้กว้างที่สุด แรงที่สุด และเร็วที่สุด 

ในขณะที่นักการตลาดมืออาชีพ จะต้องเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ รสนิยม ไลฟสไตล์ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอย่างรอบคอบ นักการตลาดพลเมืองมองสินค้าและบริการแบบแบน ๆ เท่านั้นคือ “เชียร์” หรือ “ต่อต้าน”

การทำการตลาดโดยแสดงการกีดกัน หรือเลือกผู้บริโภค (discriminatory marketing) มีอยู่รอบตัวแต่เราไม่ได้สร้างประเด็น เช่น การตั้งราคาสินค้าให้สูงย่อมเป็นการแบ่งชนชั้น การที่ร้านอาหารตั้งราคาอาหารสูงลิ่ว แม้ว่าคุณภาพและปริมาณอาหารจะไม่ได้ต่างจากร้านทั่วไปมากนัก ถือว่าเป็นการคัดเลือกลูกค้า ร้านกาแฟก็เช่นกัน การทำการตลาดแบบกีดกัน เป็นการเลือกอย่างเต็มใจของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ การตั้งราคาสินค้าแพงย่อมมียอดขายน้อยกว่าสินค้าราคาถูกกว่า ร้านอาหารราคาแพง ได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า แต่ต้องรับแรงกดดันและการคาดหวังของผู้จ่ายเงินเช่นกัน

ในยุคที่บรรยากาศของสังคมเต็มไปด้วยความคับข้องใจทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองถูกนำมาใช้ในลักษณะ การตลาดแบบกีดกันมากขึ้น เช่น
>> โรงแรมที่เชียงใหม่ ประกาศตัวว่าไม่ต้อนรับสลิ่ม 
>> ร้านอาหารย่านซอยอารีย์ในกรุงเทพฯ ประกาศตัวว่าพนักงานที่ร้านไม่พูด “นะจ๊ะ” เพื่อเหน็บนายกรัฐมนตรี ถ้าลูกค้าได้ยินขอให้แจ้งทางร้าน จะไล่พนักงานออก 
>> แท็กซี่ติดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า “ไม่รับตำรวจและทหาร” 
>> ร้านขายเนื้อสัตว์และผักสดในตลาด แขวนป้ายประกาศไว้ว่า “ไม่ขายให้ทหารและตำรวจในเครื่องแบบ”

การประกาศแบบกีดกันกลุ่มลูกค้า เป็นสิทธิที่เจ้าของธุรกิจทำได้โดยไม่มีข้อห้าม และเมื่อมี citizen marketing เข้าร่วมช่วยทำการตลาด โดยการบอกต่อ ความต้องการที่จะกีดกันลูกค้ากลุ่มที่ไม่ชอบก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ในขณะที่การกีดกันด้วยราคานั้น สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไขไปตามสถานการณ์โดยรอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจ โดยการลดราคาให้ถูกกว่าเดิม หรือออกสินค้ารุ่นใหม่ในราคาใหม่

แต่การกีดกันกลุ่มผู้บริโภคด้วยทัศนคติทางการเมือง นอกจากกลุ่มที่ระบุแล้ว ยังมีผลทำให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด เลี่ยงที่จะใช้บริการนั้นด้วย เพราะความรู้สึกว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่รู้จักแยกแยะ และกังวลว่า การไปใช้บริการทั้งในร้านอาหาร พักในโรงแรม หรือขึ้นแท็กซี่ อาจไม่รื่นรมย์ ต้องระวังตัวทั้งคำพูด การแต่งกาย และพฤติกรรมต่าง ๆ จึงขอตัดปัญหาโดยการเลือกผู้ให้บริการรายอื่น และการตีตราให้ธุรกิจนั้นจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน แม้จะกลับลำภายหลัง ก็ยากที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้

ผู้ประกอบธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะดำเนินธุรกิจเชิงกีดกันกลุ่มผู้บริโภค ควรตั้งชื่อร้านอาหาร โรงแรม และสินค้าต่าง ๆ ให้ชัดเจนไปเลยว่าต้องการลูกค้ากลุ่มไหน สีไหน วัยไหน นอกจากจะให้ความสะดวกแก่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ต้องการแล้ว ยังช่วยเรียกกลุ่มที่ต้องการให้มาสนับสนุนธุรกิจด้วย

ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยร้านอาหารไม่สามารถปฎิเสธลูกค้าด้วยพื้นฐานของ เพศสภาพ เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา แต่ร้านอาหารมีสิทธิปฎิเสธลูกค้าที่แต่งกายไม่เหมาะสม หรือมีลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ได้ และมีการฟ้องร้องระหว่างร้านอาหารและลูกค้าที่ถูกปฎิเสธ มากมายตลอดมา

การปฎิเสธกลุ่มลูกค้าในเมืองไทย คงไม่ถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล แต่น่าจับตามองเป็นกรณีศึกษา ว่าจะไปต่อได้ตลอดไปจนกลายเป็นแนวทางการตลาดที่ได้รับความนิยมหรือไม่


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ประชาชน “ฟ้อง” รัฐบาล ได้หรือไม่ ?

ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องนอนรอรับการรักษาอยู่ที่บ้าน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงว่างมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ติดเชื้อและครอบครัวของผู้ติดเชื้อต่างใช้ความพยายามในการติดต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงโทรเข้าไปที่เบอร์สายด่วนโควิดที่หน่วยงานรัฐแจ้งไว้เพื่อหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ

แต่ก็ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกรายจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ผู้ติดเชื้อบางรายนอนรอเตียงอยู่เป็นสัปดาห์ สุดท้ายร่างกายก็ไม่สามารถต้านทานความร้ายกาจของเจ้าไวรัสโควิดนี้ได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องจากไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลตามที่ควรจะเป็น

มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสะเทือนใจมาก คือ พลเมืองดีรายหนึ่งได้ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นมาทราบในภายหลังว่ามีเชื้อโควิดอยู่ จึงได้แจ้งให้พลเมืองดีที่ลงไปช่วยเหลือตนทราบ หลังจากทราบเรื่องเพื่อน ๆ และครอบครัวของพลเมืองรายดังกล่าวได้พยายามติดต่อโรงพยาบาล โทรสายด่วนต่าง ๆ จนผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์กว่าก่อนที่จะมีรถพยายาลมารับตัวเขาไปรักษา แต่เนื่องจากการที่ได้รับการรักษาที่ล่าช้าทำให้อาการของเขาทรุดหนัก ผ่านไปเพียง 2 วัน พลเมืองดีท่านนี้ก็ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

หลายคนที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้วอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของความโชคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน สถานการณ์โรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด 

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของพลเมืองดีรายดังกล่าวกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น โชคชะตาอาจเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ แต่การบริหารจัดการที่ดี ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ครอบครัวดังกล่าวจึงได้ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมี 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ

1.) การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดสถานบันเทิง จนนำมาซึ่งคลัสเตอร์ทองหล่อ และ
.
2.) การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมถึงการให้ข้อมูลหรือข้อแนะนำของผู้ติดเชื้อที่ให้กักตัวรอการมารับของเจ้าหน้าที่จนนำมาซึ่งการเสียชีวิต

โดยทางครอบครัวได้เรียกร้องให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 4,530,000 บาท แบ่งเป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูบุพการี อีกเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี 

หากมองที่ตัวเงินแล้ว คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่เล็กมาก แต่ถ้าเราพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ คดีนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิฟ้องรัฐที่บริหารจัดการผิดพลาด ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วปกติประชาชนธรรมดาอย่างเรานี้ จะสามารถลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐได้หรือไม่

แม้ว่าผมจะไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคดีที่ผมกล่าวถึงข้างต้นศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หรือว่ารับพิจารณาไปแล้วจะมีคำพิพากษาออกมาแบบใด 

แต่ผมก็ขอเล่าถึงอุทาหรณ์จากคดีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และแนวทางการวินิจฉัยของศาลปกครองที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

คดีแรก เป็นกรณีที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายหนึ่งเมาสุรา แล้วปรากฏว่าขับรถไปประสบอุบัติเหตุตกช่องเปิดท่อระบายน้ำข้างทางที่ไม่มีฝาปิด จนทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ โดยมีอาการอวัยวะซีกซ้ายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่ขับมานั้นเสียหายไปด้วย

หลังจากที่ได้รับการรักษาตัวแล้ว ผู้ขับขี่ที่ประสบเหตุคนดังกล่าวได้ออกมาฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่าไม่มีการดูแลและตรวจสอบฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่ตั้งอยู่ริมขอบทางของถนนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย จึงถือว่า อบต. ดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนด้วย

อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า คนฟ้องคดีขับรถจักรยานยนต์ไปตกท่อเอง แถมยังตอนขับยังเมาด้วย แล้วแบบนี้เขาจะไปเรียกร้องให้ อบต. รับผิดชอบได้อย่างไร ?

แต่ศาลปกครองท่านไม่ได้คิดแบบนั้นครับ ในคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า อบต. และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาบำรุงทางในเขตพื้นที่ของตนเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการตรวจตราฝาท่อระบายนำหรือสิ่งใด ๆ ที่อยู่บนถนนหนทางให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ทางสัญจรประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่า อบต. จะละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราฝาท่อระบายน้ำให้ดี แต่ในส่วนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็มีส่วนประมาทที่ขับขี่ขณะเมาสุรา ศาลจึงละค่าสินไหมทดแทนที่จะได้ลงร้อยละ 50 ของค่าสินไหมทดแทนที่พึงจะได้

สรุปสุดท้าย คดีนี้ศาลได้ตัดสินให้ อบต. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มาฟ้องคดี แต่ลดจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีส่วนประมาทที่เมาแล้วขับด้วย

อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คดีที่คุณพ่อท่านหนึ่งพาลูกไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของเทศบาล ปรากฏว่าลูกของเขาจมน้ำเสียชีวิต พ่อของเด็กที่เสียชีวิตจึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเทศบาลไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระ จึงไม่สามารถช่วยลูกของเขาได้อย่างทันท่วงที ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ

ฝ่ายของเทศบาลก็ต่อสู้ว่า สระได้เขียนระเบียบว่าด้วยการใช้สระน้ำไว้แล้วว่า ผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องระมัดระวังในการใช้สระว่ายน้ำ และหากเกิดเหตุสุดวิสัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทางเทศบาลจะไม่รับผิดชอบทุกกรณี 

อ่านดูแล้วก็เหมือนว่ามีเหตุผลทั้งสองฝ่าย แต่มาลองดูกันครับว่าในเคสนี้ ศาลปกครองท่านวินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร

ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาว่า ขณะเกิดเหตุมีเด็กมาใช้บริการจำนวนมาก เทศบาลย่อมคาดหมายได้ว่าอาจเกิดกรณีเด็กจมน้ำได้ง่าย จึงต้องควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณที่สามารถสอดส่องดูแลผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระว่ายน้ำได้ ถือได้ว่ามาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำนั้นยังไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เด็กจมน้ำเสียชีวิต เทศบาลจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียไหมทดแทนให้กับพ่อของเด็ก

จากอุทาหรณ์ทั้งสองคดีดังกล่าว เราไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่าครอบครัวของพลเมืองดีที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะชนะคดีนะครับ

ผมต้องการแต่เพียงชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ หากได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายจากการที่หน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นสิทธิของเราที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

เรามารอติดตามกันนะครับว่าในคดีครอบครัวของพลเมืองดีฟ้องรัฐว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้โควิดระบาด และการบริหารจัดการที่ล่าช้าจนทำให้ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น ศาลท่านจะพิพากษาออกอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าคำพิพากษาในคดีนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของประเทศไทยเราอย่างแน่นอนครับ 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy)” ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก หนามยอกเอาหนามบ่ง !!

การระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักในบ้านในเมืองของเราเวลานี้ การรักษาโดยกระบวนการทางการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียวคงจะไม่พอเพียงและทันต่อเหตุการณ์แล้ว การรักษาด้วยกระบวนการแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ด้วยวิธีการรักษาแบบผสมผสาน (Complementary Medicine) จึงเป็นทางเลือกอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งน่าสนใจ และควรที่จะนำมาใช้ในการรักษาภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการจำแนกตามกลุ่มของการแพทย์ทางเลือกออกเป็น 5 กลุ่ม

การแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “Complementary Medicine” ส่วนการแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “Alternative Medicine” โดย ศูนย์สุขภาพเสริมและสุขภาพเชิงบูรณาการแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กำกับดูแลการแพทย์ทางเลือก ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในชื่อว่า สำนักงานการแพทย์ทางเลือก (Office of Alternative Medicine : OAM) และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การแพทย์ผมผสานและการแพทย์ทางเลือก (National Center for Complementary and Alternative Medicine : NCCAM) 

ก่อนที่จะได้รับชื่อปัจจุบันคือ ศูนย์สุขภาพเสริมและสุขภาพเชิงบูรณาการแห่งชาติ (The National Center for Complementary and Integrative Health : NCCIH) เป็นหนึ่งใน 27 ศูนย์และสถาบันที่ประกอบเป็น สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (National Institutes of Health : NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (Department of Health and Human Services) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้จำแนกออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้ 

Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่าง ๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese  Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น

Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น

Biologically Based Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่าง ๆ เช่น สมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy Ozone Therapy หรือแม้กระทั่งอาหารสุขภาพ เป็นต้น โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) จัดอยู่ในอยู่ในกลุ่มนี้

Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ หัตถการต่าง ๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy Chiropractic เป็นต้น

Energy Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานในการบำบัดรักษาที่สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

ในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก ต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ

ความน่าเชื่อถือ (Rational) โดยดูจากวิธีการหรือองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกชนิดนั้น ประเทศต้นกำเนิดให้การยอมรับหรือไม่ หรือมีการใช้แพร่หลายหรือไม่ ใช้มาเป็นเวลานานเพียงใด มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

ความปลอดภัย (Safety) เป็นเรื่องสำคัญมากว่า จะส่งผลกับสุขภาพของผู้ใช้อย่างไร การเป็นพิษแบบเฉียบพลันมีหรือไม่ พิษแบบเรื้อรังมีเพียงใด อันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมีหรือไม่ หรือวิธีการนั้นทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นต้น

การมีประสิทธิผล (Efficacy) เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หรือมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง มีข้อมูลยืนยันได้ว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งอาจต้องมีจำนวนมากพอหรือใช้มาเป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับจากการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธีการ เป็นต้น

ความคุ้มค่า (Cost - Benefit - Effectiveness) โดยเทียบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดด้วยวิธีนั้น ๆ คุ้มค่ากับการรักษาโรคที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานหรือไม่ โดยอาจเทียบกับฐานะทางการเงินของผู้ป่วยแต่ละคน เป็นต้น

โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) เป็นการแพทย์ทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2339 โดย Christian Friedrich Samuel Hahnemann แพทย์ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเชื่อว่าสารที่ทำให้เกิดอาการของโรคในคนที่มีสุขภาพดีสามารถรักษาอาการคล้ายคลึงกันในคนป่วย ความเชื่อพื้นฐานตามหลักการนี้เรียกว่า similia similibus curentur หรือ "เหมือนการรักษาเหมือน" (like cures like) หรืออาจจะเปรียบได้ว่า เป็นการรักษาแบบ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในคนที่มีสุขภาพดี สามารถรักษาด้วยการใช้เชื้อของโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันได้ในขนาดที่เล็กมาก สิ่งนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย การเตรียม Homeopathic เรียกว่าการเยียวยา และทำโดยการเจือจาง Homeopathic ในกระบวนการนี้ สารที่เลือกจะถูกเจือจางซ้ำ ๆ จนกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะแยกไม่ออกจากตัวเจือจางทางเคมี มักไม่มีแม้แต่โมเลกุลเดียวของสารดั้งเดิมที่สามารถคาดหวังให้คงอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ ระหว่าง Homeopaths การเจือจางแต่ละครั้งอาจกระทบและ/หรือเขย่าผลิตภัณฑ์ โดยอ้างว่าสิ่งนี้ทำให้ตัวเจือจางจำสารเดิมได้หลังจากกำจัด 

ทฤษฏีนี้กล่าวว่า การเตรียมการดังกล่าวเมื่อรับประทานเข้าไปสามารถรักษาหรือรักษาโรคได้ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้ : หลักการโฮมีโอพาธีย์ในการผลิตยาปกติสำหรับบำบัด รักษาผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยในอาการเดียวกัน โดยใช้สารที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในคนหนึ่งส่วนมาเจือจางกับน้ำหรือแอลกอฮอล์อีก 9 หรือ 99 ส่วน พร้อมทั้งเขย่าขึ้นลงในแนวตั้ง 10 หรือ 100 ครั้งตามสัดส่วนที่เจือจางซึ่งเรียก ขนาดความแรง เป็น 1D หรือ 1C จากนั้นนำสาร 1D หรือ 1C มาเจือจางต่ออีก 1:10 หรือ 1:100 พร้อมเขย่าเช่นเดิม 10 หรือ 100 ครั้ง จะเรียก ขนาดความแรง 2D หรือ 2C ทำไปเรื่อย ๆ จะมีความแรงในการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นตามความแรงที่เพิ่มขึ้น อันที่จริง ยาเหล่านี้จำนวนมากไม่มีโมเลกุลของสารดั้งเดิมเหลืออยู่อีกต่อไป ยาโฮมีโอพาธีย์มีอยู่ในหลายรูปแบบลักษณะ เช่น ของเหลว ครีม เจล และยาเม็ด โดยระหว่างการรักษา แพทย์ Homeopathic (Homeopaths)จะถามคำถามหลายข้อเกี่ยวกับสุขภาพจิต อารมณ์ และร่างกายของคนไข้ เพื่อจะกำหนดวิธีการรักษาที่ตรงกับอาการของคนไข้มากที่สุด จากนั้นจะมีการปรับแต่งกระบวนการรักษาสำหรับคนไข้ตามแต่อาการเฉพาะราย

อาร์นิกา (ARNICA) เป็นสมุนไพร ดอกสีเหลือง มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรค และช่วยการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อ

ตัวอย่างเช่น หอมแดงทำให้ดวงตามีน้ำ นั่นเป็นเหตุผลที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางชีวจิต การรักษาโรคอื่น ๆ ด้วยตัวยาจากไม้เลื้อยพิษ สารหนูสีขาว ผึ้งทั้งตัวบด และสมุนไพรที่เรียกว่า อาร์นิกา (ARNICA) เป็นดอกสีเหลือง มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรค และช่วยการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อ เป็นที่นิยมสำหรับบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากรอยฟกช้ำหรืออักเสบ นอกจากนั้นยังมีคนไข้สมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-aging) และช่วยลดอาการบวมอีกด้วย

การรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) สามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย รวมถึงโรคเรื้อรังบางอย่าง 
>> โรคภูมิแพ้
>> ไมเกรน
>> อาการซึมเศร้า
>> โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
>> ข้ออักเสบรูมาตอยด์
>> อาการลำไส้แปรปรวน
>> กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
นอกจากนี้ยังสามารถใช้สำหรับปัญหาเล็กน้อย เช่น รอยฟกช้ำ รอยถลอก ปวดฟัน ปวดหัว คลื่นไส้ ไอ และหวัด

ร้านขายยาสไตล์ละตินอเมริกันคาริเบียน (การแพทย์สเปนและโปรตุเกสแบบดั้งเดิม) ซึ่งอาจมีลักษณะเหมือนร้านขายยาที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่ปรากฏ แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า ยามีผลต่อการรักษา

การทำงาน ? การวิจัยมีความหลากหลาย การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) มีประโยชน์ด้วยการรักษาที่การรักษาแบบอื่นไม่ทำกัน นักวิจารณ์กล่าวถึงประโยชน์ของยาหลอก นั่นคือเวลาที่อาการดีขึ้นเพราะคนไข้เชื่อว่าการรักษานั้นได้ผล ไม่ใช่เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ สิ่งนี้สามารถกระตุ้นสมองให้ปล่อยสารเคมีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่น ๆ ได้ชั่วครู่ แต่ทฤษฎีบางอย่างที่โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) นำมาใช้อ้างอิงนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการของเคมีและฟิสิกส์ โดยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์คือ ยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ (ยาหลอก) ไม่ควรมีผลกับร่างกาย

ความเสี่ยงคืออะไร ? สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (U.S Food & Drug Administration (FDA) ได้กำกับดูแลการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) แต่จะไม่ตรวจสอบเพื่อดูว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วพบว่า ส่วนใหญ่รับยาและดื่มน้ำน้อยจนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ แต่มีข้อยกเว้น กรณียาที่อาจมีสารออกฤทธิ์จำนวนมาก เช่น โลหะหนัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ กรณีตัวอย่าง : ในปี พ.ศ. 2559 FDA ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ยาเม็ดและเจลสำหรับการรักษาตามกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) เนื่องจากความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับทารกและเด็ก หากคนไข้กำลังพิจารณาที่จะลองใช้วิธีการรักษาทางเลือกเหล่านี้  ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อความมั่นใจว่า ปลอดภัยและจะไม่มีผลต่อยาอื่น ๆ ที่คนไข้กำลังใช้อยู่

จากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ทางเลือกในบ้านเราพบว่า ศาสตร์ที่คนไทยรู้จัก และให้ความศรัทธาและมีความนิยมใช้จำนวน 25 ศาสตร์ ดังนี้ 

1.) สมุนไพร 2.) การนวด 3.) สมาธิ/โยคะ 4.) การนวดศีรษะ 5.) การรำมวยจีน/ไทเก็ก 6.) พลังรังสีธรรม 7.) สมาธิหมุน 8.) ชีวจิต 9.) พลังจักรวาล/โยเร 10.) การฝังเข็ม 11.) การฟังดนตรี 12.) การสวดมนต์/ภาวนา 13.) อบสมุนไพร 14.) การใช้เครื่องหอม/ยาดม 15.) การใช้วิตามิน/เกลือแร่/อาหารปลอดสารพิษ 16.) ดื่มน้ำผัก/ผลไม้ 17.) การสวนล้างพิษ 18.) การดูหมอ/รดนำมนต์ 19.) ศิลปะบำบัด 20.) การผ่อนคลายแบบ Biofeedback 21.) การใช้คาถา/เวทมนต์ 22.) การเพ่งโดยการใช้แสง สี เสียง 23.) การเข้าทรงนั่งทางใน 24.) การใช้เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า 25.) การใช้วิชาธรรมจักร 

นอกจากนี้ยังมีการนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังต่าง ๆ ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น มีการนำเอาการแพทย์ทางเลือกทั้งในรูปแบบของอาหารสุขภาพ การนั่งสมาธิ การใช้หินบำบัด ฯลฯ มาใช้ร่วมกันในการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเป็นต้น

ภาพรวมจากรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ จะพบว่า การแพทย์ทางเลือกในบ้านเรามีอัตราการขยายตัวสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังกระทรวงสาธารณสุขจึงมีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดการและทำการศึกษาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป โดยเฉพาะการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักในบ้านเมืองของเราเวลานี้ จำเป็นต้องเร่งให้ทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการใช้สมุนไพรต่าง ๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว สมุนไพรต่าง ๆ ตลอดจนศาสตร์ทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) ด้วย ซึ่งต่อทำคู่ขนานกันไปในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีการตามกระบวนการแพทย์ทางเลือกจะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์มากที่สุดในอันที่จะพัฒนาต่อยอดการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์ของการแพทย์ทางเลือกต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 4) “รู้เขา รู้เรา” การสร้างโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

“การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” หลาย ๆ ท่านคงไม่คุ้นเคยกับประโยคนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คิดว่าคงจะคุ้นเคยมากกว่า จากประโยคดังกล่าวเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาของซุนวู ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู ได้ให้ข้อคิดและผู้เขียนได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากความเดิมจากตอนที่ 3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ โดยการทำ SWOT analysis เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ขององค์การ ถือเป็นการประเมินการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

สำหรับผู้ประกอบการใหม่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) คงพิจารณาได้แล้วสำหรับวิธีการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) การก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship) การซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover) หรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) โดยในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นควรมีการตรวจสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ความพร้อมด้านตนเองโดยการประเมินคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ การยอมรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงการสำรวจฐานะทางการเงินมีเพียงพอเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่

ดังนั้น การบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่โดยทั่วไปการบริหารงานของผู้ประกอบการจะมีหน้าที่การบริหารงานที่สำคัญเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ของ Peter F. Drucker (2005) ดังต่อไปนี้

1.) การวางแผน (Planning)

2.) การจัดองค์การ (Organizing)

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)

4.) การควบคุม (Controlling)

ที่มา : https://www.pinterest.com/njbusinessbuild/management/

สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

1.) การวางแผน (Planning) 

การวางแผนถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขององค์การ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหรือควบคุมให้องค์การดำเนินงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Goal) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การวางแผนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ประกอบด้วย

1.1.) กำลังคน (Man)
คนงาน พนักงาน หรือบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด องค์การจะต้องมีการบริหารกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานมากที่สุด

1.2.) เงินทุน (Money)
เงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นหัวใจของการบริหารงานในทุกระบบขององค์การ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินได้ดีหากขาดเงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้

1.3.) วัสดุ (Material)
วัสดุ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการใช้ในการผลิตและจำหน่าย มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขาย

1.4.) การบริหารจัดการ (Management)
การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกระบวนการจัดการบริหารควบคุม เพื่อให้งานทั้งหมดภายในองค์การมีระบบที่ชัดเจนตลอดจนมีระเบียบขั้นตอน วิธีการต่าง ๆ ในการทำงานที่ส่งให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.twenty20.com/photos/91bcfe00-556f-4a52-ad05-f7d95c9b31ab
สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

2.) การจัดองค์การ (Organizing)
การจัดองค์การเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย การแบ่งส่วนงานย่อยภายในกิจการให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานให้ชัดเจน และการกำหนดคำบรรยายลักษณะงาน (Job description) เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดองค์การเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากการวางแผนและการควบคุมของกิจการขึ้นอยู่กับระดับของโครงสร้างองค์การ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555) ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรกำหนดรูปแบบการตัดสินใจและควบคุมว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือ การรวมอำนาจ (Centralize) กำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานตามขนาดของกิจการ รวมถึงความรู้ความสามารถของพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานภายในองค์การ 

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)
การชี้นำและการจูงใจเกี่ยวข้องกับการมอบหมายงานให้บุคคลนำไปปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงาน การมอบหมายงานด้วยการสื่อสาร (Communication) ที่ทั่วถึงทั้งองค์การ ผู้ประกอบการใหม่ในฐานะผู้บริหารต้องจัดองค์การ โดยการจัดทำผังองค์การ (Organization chart) ที่ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนสายการบังคับบัญชาและควรมีการจูงใจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้พนักงานตั้งใจและกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานให้แก่องค์การ

4.) การควบคุม (Controlling)
การควบคุมถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นสุดท้าย เป็นกิจกรรมการติดตามผลและการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานบรรลุตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแผนงานจะนำไปปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ การควบคุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะบรรลุผลได้นั้นจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในฐานะผู้บริหาร (Management control) และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Operational control) โดยการควบคุมจะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (Performance report) เพื่อประเมินผลโดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริงกับแผนงานที่วางไว้ (เมธสิทธิ์ พูลดี, 2550) 

จากที่กล่าวมา ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกิจการขนาดใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ก็คือ “หน้าที่การบริหาร” เพื่อนำพาให้องค์การอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับกำลังคน เงินทุน วัสดุ และการบริหารจัดการ หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า “4 M” การจัดองค์การ เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์การในการใช้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ การชี้นำและการจูงใจ ในการมอบหมายงานให้บุคลากรนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด และท้ายที่สุดคือ การควบคุม เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานที่วางไว้ได้นำไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง 
เมธสิทธิ์  พูลดี. การบัญชีบริหาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2550.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. การวางแผนและควบคุมทางการบัญชี. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพรส, 2555. 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“ดารา” กับต้นทุนที่ไม่ใช่แค่หน้าตา แต่พ่วงมาด้วยทักษะ “ทุนร่างกาย” ที่สามารถต่อยอดการทำงานได้

ดารา นักแสดง ในวงการบันเทิง นอกจากความสามารถในการแสดง การร้องเพลง การเล่นดนตรีแล้ว การมีทักษะความสามารถพิเศษอื่น ๆ ที่เสริมเข้ามา เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงาน เช่น การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา ก็เป็นงานอดิเรกที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ เนื่องจากการทำอาชีพนักร้อง นักแสดง ต้องใช้ร่างกายในการทำงาน ทำให้การดูแลรูปร่างเป็นสิ่งที่คู่กันกับคนในวงการบันเทิง 

แต่บางคนพัฒนาทักษะการออกกำลังกายโดยการยกระดับความจริงจังไปจนถึงการฝึกฝนจนเป็นกีฬา ซึ่งจะมีระดับการฝึกฝนที่เข้มข้นและจริงจังกว่าแค่การออกกำลังกายเพื่อดูแลรูปร่าง และถึงแม้ว่าจะไม่ถึงระดับการแข่งขันกีฬาเป็นอาชีพ แต่สิ่งที่พวกเค้าเหล่านั้นได้ฝึกฝนมา กลายเป็น “ทุน” ติดตัวของตนเองที่สามารถสร้างรายได้ได้อีกหนึ่งช่องทางหนึ่ง 

หากพูดถึงกีฬาที่ดารา นักแสดง หรือแม้แต่คนธรรมดาเข้าได้ถึงได้ และในช่วงหนึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ต้องยกให้กับการวิ่ง ซึ่งบางคนพัฒนาไปจนถึงการวิ่งมาราธอน ได้รับการนำเสนอภาพลักษณ์ของกีฬาควบคู่ไปกับผลงานในวงการบันเทิง เช่น ตูน บอดี้แสลม, ณัฐ ศักดาทร, แมทธิว ดีน, โย ยศวดี เป็นต้น 

ความสำเร็จเบื้องต้น ดูได้จากการที่ดาราในวงการบันเทิงได้รับเลือกให้เป็น Influencer ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกีฬา หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ไปจนถึงการเป็นพรีเซนเตอร์งานวิ่งมาราธอนต่าง ๆ ที่เป็นงานทางด้านกีฬา แต่ให้การยอมรับคนในวงการบันเทิงมาช่วงชิงพื้นที่ 

ซึ่งการที่จะพัฒนาไปสู่ความสำเร็จในการเล่นกีฬาได้นั้น ทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนด้วยตนเอง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่มีคำว่าปาฏิหาริย์ หรือ ฟลุ๊ค แต่มันคือทักษะ และ “ทุนร่างกาย” ที่ต้องสร้างมันขึ้นมาเหมือนกับทักษะความสามารถในวงการบันเทิง อาจจะแตกต่างกับการทำงานในวงการบันเทิง ที่เมื่อดารา นักแสดง นักร้อง มีผลงานออกมา จะมีคนดูหรือคนฟังเป็นผู้ตัดสิน ความสามารถเราขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนอื่น 

แต่สำหรับเส้นทางของการเล่นกีฬานั้น ความสำเร็จ...มาจาก “ตัวเอง” การเป็นดารา คนดัง ในวงการบันเทิงมาก่อน ไม่ได้มีผลกับการเล่นกีฬา เพราะทุกคนต้องเริ่มฝึกฝนและพัฒนาตนเองใหม่หมด บางคนฝึกซ้อมกับโค้ชอย่างจริงจัง ใช้วิธีการฝึกซ้อมเช่นเดียวกันกับที่นักกีฬาอาชีพทำ สิ่งที่แตกต่างกันคือความยืดหยุ่นที่อาจจะต้องปรับให้เข้ากับการทำงานในวงการบันเทิง 

มนต์เสน่ห์ของการวิ่งมาราธอน ที่ทำให้คนดังในวงการบันเทิงสนใจและติดใจ หลาย ๆ คนเคยให้สัมภาษณ์ไว้คล้าย ๆ กันว่า มาราธอน มันคือความสนุกที่ได้ชนะใจตัวเอง และความภูมิใจที่ทำได้ แม้ในครั้งแรกที่ไปวิ่ง จะรู้สึกถึงความเหนื่อย ความทรมาน ทำไมทำไม่ได้ดีแบบที่คิดไว้ เพราะบางคนเล่นฟิตเนส ออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่เมื่อมาสนามวิ่ง ร่างกายกลับไม่สามารถตอบสนองได้อย่างที่ใจเราต้องการ เพราะมันคือการต่อสู้กันระหว่าง จิตใจและร่างกาย และการที่ได้ชนะใจตนเองนี่แหละ คือ แรงจูงใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความท้าทายให้กับตัวเอง โดยเราสามารถเป็นคนที่เก่งขึ้นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะแต่ละคน มีต้นทุนในการสร้างร่างกายและการฝึกฝนมาต่างกัน แค่ชนะตัวเองในอดีตได้ ก็ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการวิ่งมาราธอนแล้ว 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top