Friday, 29 March 2024
COLUMNIST

เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ “วัฒนธรรมรักษาหน้า” ของสังคมจีน 

หากผู้อ่านท่านใดเป็นลูกหลานชาวจีน ก็คงจะได้เคยเห็นญาติผู้ใหญ่ของตัวเองกระทำการ “แย่งกันจ่าย” หรือการพยายามออกตัวเป็นเจ้าภาพผู้ใจกว้างที่จ่ายเงินเลี้ยง และดูแลพวกพ้องตามมื้ออาหารต่าง ๆ รวมถึงเวลามีงานเลี้ยงกับเพื่อนฝูงหรืองานเลี้ยงรวมญาติ

ดูเหมือนว่าการแย่งกันจ่ายสำหรับคนจีนนั้นจะทำกันอย่างเป็นวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ “爱面子 - อ้ายเมี่ยนจึ” แปลตรงตัวได้ว่า “รักหน้า” หรือหากจะหาคำภาษามานิยาม ก็คงจะใกล้เคียงกับคำว่า “หน้าใหญ่” ที่สุด ซึ่งก็คือการยึดติดกับเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และการมีภาพลักษณ์ที่ดีสมบูรณ์ ซึ่งคนจีนหลายคนให้ความสำคัญกับ “หน้า” เป็นอย่างมาก

ตัวผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีนมาเป็นเวลา 4 ปี หนึ่งในประโยคที่ผมได้ยินบ่อยมากคือ...

“什么都可以丢,但不能丢脸” (อะไรก็ยอมเสียได้หมด แต่จะไม่ยอมเสียหน้า)

หากแปลเป็นไทยก็จะคล้ายกับประโยคที่ว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

แล้วต้องทำอย่างไรให้ “ได้หน้า” หรืออย่างน้อยก็คือ “ไม่เสียหน้า” ? ซึ่งการกระทำให้ได้หน้านั้นก็เหมือนจะมีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว สำหรับผู้ชายก็คือการประสบความสำเร็จในชีวิต มีเงิน มีบ้าน มีรถ และมีเมีย ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือเครื่องประดับบารมีของผู้ชาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนิยามของคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการประสบความสำเร็จนั่นแล ที่เป็นตัวชี้วัดระดับสถานะทางสังคม หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า “มีหน้ามีตาในสังคม”

แต่ความเป็นจริงก็มิได้สวยหรูหรอกครับ เพราะพื้นที่ของปลายยอดพีระมิดนั้นมีจำกัด ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ กระนั้นแล้ว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เพื่อการมีหน้ามีตาในสังคม หลายคนยอมทำทุกอย่างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูรุ่งโรจน์ มีความมั่นคง และใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้คนจีนมากมายเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “打肿脸充胖子 - ต่า จง เหลี่ยน ชง พ่าง จึ” แปลเป็นไทยได้แบบตรงตัวได้ว่า “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” มีความหมายว่า ทำเรื่องเกินตัวเพื่อรักษาหน้า หรือการพยายามสร้างบารมีเกินกว่าความเป็นจริงจนเป็นโทษแก่ตัวเอง

ยกตัวอย่างพฤติกรรมการตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน เช่นการดึงดันจะเป็นคนออกเงินเลี้ยงอาหารเพื่อนเพื่อทำให้ตัวเองดูดีมีฐานะ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วอาจมีหนี้สินติดค้างคนอื่น ๆ อยู่มากมาย หรือการดื่มเหล้ามากเกินไป เพื่อทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองคอแข็ง สามารถดื่มได้มาก แต่สุดท้ายเมาจนต้องให้คนหิ้วปีกกลับบ้าน หรือจะเป็นการลงทุนกับเครื่องแต่งกายด้วยการซื้อแบรนด์หรูให้ตัวเองดูมีมูลค่า แต่ต้องแอบกินบะหมี่สำเร็จรูปอยู่ที่บ้านไปทั้งเดือน

ซึ่งกรีณีเหล่านี้อาจถือได้ว่าเบาไปเลยครับ เมื่อเทียบกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย แต่เพราะกลัวจะเสียหน้า จึงไม่กล้าหย่ากับสามี (ค่านิยมสำหรับคนจีน การหย่าคือเรื่องน่าอับอาย) และได้แต่ยอมทนถูกกระทำต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเด็ก ๆ บางคนที่ยอมโกงข้อสอบเพื่อรักษามาตรฐานของตัวเอง และเพื่อไม่ให้พ่อแม่เสียหน้า หรือเพื่อให้พ่อแม่เอาคะแนนลูกไปอวดคนอื่นเพื่อเอาหน้า หรือแม้กระทั่งบางคนที่เคยประสบความสำเร็จจริง ๆ แต่เมื่อถึงคราวลำบากกลับไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากญาติมิตรเพราะกลัวจะเสียหน้านั่นเอง

ซึ่งค่านิยมการรักหน้าในรูปแบบของการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” นับว่าเป็นค่านิยมที่ผิด ส่วนคนที่ยึดติดกับมายาคติของคำว่า “หน้า” มากเกินไปก็มักจะลงเอยด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ยากลำบากกว่าเดิม

แต่หากถามว่าการรักหน้านั้นมีข้อดีหรือไม่ ก็มีครับ หากอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่เป็นแก่นหลักของวัฒนธรรมการรักหน้านั้นคือการพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้มีความรุ่งโรจน์ และตรงกับสิ่งที่นิยามคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการรักหน้าก็ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตให้เดินไปข้างหน้าของคนในสังคมได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนา ยิ่งคนในประเทศมีความมุ่งมั่นในการทำงานพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจและบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศในภาพรวม

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ค่านิยมเกี่ยวกับการ “รักหน้า” นั้นควรจะอยู่ในระดับที่พอดี เพราะหากมากเกินไปจนการแข่งขันเพื่อพัฒนากลายเป็นแข่งขันเพื่อบลัฟ เพื่ออวดเบ่งความยิ่งใหญ่ของตัวเอง และทำให้เกิดการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน”

ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนแล้ว การให้ค่าตัวเองนั้นสำคัญที่สุดครับ และควรปล่อยวางคำตัดสินต่าง ๆ ของคนอื่นที่เกิดจากค่านิยมในสังคม การประสบความสำเร็จของเรานั้นเป็นอย่างไร เราควรมีส่วนในการตัดสินใจด้วย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กระแส “กัญชง” ในดงอินเดีย

ปัจจุบันกระแสกัญชงกับกัญชาในไทยกำลังมาแรงมากจากกระแสการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมายทั้งในด้านการครอบครอง การปลูก และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หลายคนอาจจะยังสับสนว่า “กัญชง” กับ “กัญชา” เหมือนหรือต่างกันยังไง ผมเลยไปสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตก็พบความกระจ่างในเพจ “ทันข่าว Today” ซึ่งระบุว่า ทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่สามารถสังเกตในเบื้องต้นได้คือ กัญชงมีใบแคบเรียวและสีเขียวอ่อนกว่า มีลำต้นสูงและแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่ากัญชา จึงมีการนำกัญชงไปใช้เป็นพืชเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้าและเยื่อกระดาษ

แต่ถ้าต้องการจำแนกให้ลึกลงไป เพจดังกล่าวก็ให้พิจารณาจากสารประกอบที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นั่นคือ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) และสารสำคัญอีกชนิดคือ CBD (Cannabidiol) ซึ่งช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC ถ้าต้นที่มีสาร THC น้อยกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็น Hemp หรือกัญชง แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็น Marijuana หรือกัญชา กรณีใช้ทางการแพทย์ต้องสกัดสาร THC, CBD รวมถึงสารประกอบแคนนาบินอยด์อื่น ๆ ออกมาจากต้น ซึ่งแตกต่างจากการเสพกัญชาที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง

สำหรับที่อินเดีย มีรายงานที่น่าสนใจจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย ระบุว่า กระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ “กัญชง” แต่ว่าการแปรรูปกัญชง (Hemp / Cannabis Sativa) เชิงอุตสาหกรรมในอินเดียยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี คนอินเดียมีความคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชงมาตั้งแต่โบราณ โดยนำกัญชงมาเป็นส่วนหนึ่งของสมุนไพรแบบอายุรเวท (Ayurveda) และเครื่องเทศประกอบอาหาร รวมถึงเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้า กระเป๋าและเชือกด้วย ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้มีส่วนทำให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิจัยของอินเดียเข้าใจในศักยภาพของกัญชงเป็นอย่างดี และตระหนักในการควบคุมผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชงมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในตลาดได้ง่าย

จากรายงานของ Grand View Research ระบุว่าในปัจจุบันตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียยังมีมูลค่าเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของตลาดโลกเท่านั้น ในขณะที่ การใช้/บริโภคในอินเดียจะขยายตัวได้อีกมาก ทั้งการนำกัญชงไปใช้ในการผลิตน้ำมัน อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เส้นใยสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ของใช้สำหรับทำความสะอาด ปุ๋ย และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระดาษรีไซเคิล วัสดุเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงพลังงานชีวมวล นอกเหนือจากการนำมาผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาทิ ยาบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ และอาการเจ็บปวดเรื้อรังต่าง ๆ นอกจากนี้ คาดว่าภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้คนอินเดียหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ซึ่งเมล็ดกัญชงจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ทดแทนถั่วและเนื้อสัตว์ โดยปราศจากกลูเตน และมักจะเป็นการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เพราะกัญชงเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง 

ผลิตภัณฑ์จากกัญชง

ขอบคุณภาพจาก : https://medium.com

ทั้งนี้ ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ประมาณการณ์ว่า ในปี 2567 ตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียจะมีมูลค่าประมาณ 584.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลการสำรวจของ All India Institutes of Medical Sciences ที่พบว่าผู้บริโภคชาวอินเดียจะตอบรับต่อผลิตภัณฑ์กัญชงได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีคนอินเดียจำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านคนที่เคยใช้กัญชงมาแล้ว โดยการซื้อมาทดลองใช้เอง และมีราคาขายปลีกในอินเดียอยู่ที่ประมาณ 4.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัม

ตาม พรบ. The Narcotic Drugs and Psychotropic Substances Act (1985) รัฐบาลกลางของอินเดียอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้เฉพาะที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ไม่เกิน 0.3 % โดยน้ำหนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกัญชงในอินเดียส่วนใหญ่มีระดับสาร THC สูงกว่าที่กำหนดไว้ การผลิตและซื้อ-ขายกัญชงในอินเดีย จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พรบ. ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐให้สามารถพิจารณาอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากใบและเมล็ดของกัญชงได้ ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบและส่งเสริมโดยกระทรวงการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย (Ministry of Ayurveda, Yoga & Naturopathy: AYUSH) เป็นระยะ

ในปัจจุบันมีเพียงสามรัฐในอินเดียที่อนุญาตให้มีการปลูกกัญชงได้ ได้แก่ รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐอุตตรประเทศ และรัฐมัธยประเทศ ส่วนรัฐอื่น ๆ อีกหลายรัฐก็มีแนวโน้มจะอนุญาตให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเช่นกัน อาทิ รัฐมณีปุระ รัฐอานธระประเทศ และรัฐหิมาจัลประเทศ โดยรัฐอุตตราขัณฑ์เป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกได้ โดยได้ให้ใบอนุญาตแก่ Indian Industrial Hemp Association (IIHA) ซึ่งเป็น NGO สามารถเพาะปลูกเพื่อทำการทดลองในพื้นที่ 6,250 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเป็น 62,500 ไร่ และมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ และนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยสำหรับป็นสิ่งทอเป็นหลัก

แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกในไม่กี่รัฐ แต่มีผู้นำกัญชงมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วภายใต้กิจการของสตาร์ทอัพประมาณ 30-40 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ (Biotech Startups) อาทิ บริษัท Bombay Hemp Company (BOHECO) โดยมีโรงงานแปรรูปอยู่ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ (เมือง Almora) และในรัฐอุตตรประเทศ (เมือง Lucknow) นอกจากนี้ ยังมี Startups อีกหลายรายที่พร้อมจะผลิตเชิงอุตสาหกรรม และขยายตลาดทั้งภายในอินเดียและตลาดโลก อาทิ Hemp Street, Best Weed และ India Hemp Organics โดยมีแบรนด์หลักในตลาด ได้แก่ VEDI, SATLIVA, BOHECO Life และ B LABEL

ขอบคุณภาพจาก : https://www.vice.com

ทั้งนี้ การผลิตสินค้าจากกัญชงในอินเดียมีแนวโน้มที่จะเติบโตในปี 2564 จากการที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานทางอาหาร (The Food Safety and Security Authority of India : FSSAI) ของอินเดียซึ่งเทียบได้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ได้จัดทำร่างกฎระเบียบสำหรับการกำกับดูแลสินค้าที่นำกัญชงมาผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ The Food Safety and Standards (Food Products Standards and Food Additives) Amendment Regulations, 2020 ซึ่งผู้ประกอบการในอินเดียมองว่าจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนและเป็นสัญญาณที่เปิดให้สินค้ากัญชงมีการแข่งขันกันอย่างเสรีในตลาด โดย FSSAI ได้ยอมรับว่ากัญชงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งล่าสุดได้มีการกำหนดว่าเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกัญชงต้องมี THC ไม่เกิน 0.2mg/kg โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการเตรียมการผลิตเครื่องดื่มกัญชงและสถานบริการเครื่องดื่มกัญชงตามมาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คุณสุพัตรา แสวงศรี ทูตพาณิชย์ไทยประจำนครมุมไบ ประเทศอินเดียได้ให้ความเห็นว่าการเพาะปลูกและการแปรรูปในอินเดียยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่สินค้าจากต่างชาติจะเข้าไปแทรกตลาดหากมีราคาที่เทียบเคียงได้กับจีน ทั้งนี้ อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับกัญชงในอัตรา 30% โดยผู้นำเข้าต้องมีใบอนุญาตให้นำเข้าไปเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ด้วย ดังนั้น โอกาสที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย จึงน่าจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนในการแปรรูปกัญชงเพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีสภาพอากาศเหมาะสมและเกษตรกรมีทักษะในการปลูกที่ดี รวมถึงโอกาสจากการเข้าไปถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับ Tech-Startups ของอินเดียที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อรองรับการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อภาครัฐของอินเดีย (FSSAI) มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าจากกัญชงที่ชัดเจนแล้ว ในขณะที่ ผู้บริโภคในอินเดียเองก็มีความคุ้นเคยกับกัญชงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเอื้อให้เกิดการตอบรับของตลาดได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย

ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยหรือนักลงทุนไทยที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ที่ประเทศอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากประเทศจีน

ขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างปรแทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

โศกนาฏกรรม “โคเรียนแอร์ไลน์” (Korean Air Lines) เที่ยวบิน 007 ปริศนา? หายนะกลางอากาศ

มีผู้อ่านท่านหนึ่งเขียน In box ใน Facebook ดร.โญ มีเรื่องเล่า ว่า “ สวัสดีครับอาจารย์ ผมอยากได้ข่าวเก่า ๆ อดีตสหภาพโซเวียตส่งเครื่องบินรบไล่ยิงเครื่องบินโดยสารเกาหลีใต้ อยากทราบว่ายิงทำไมครับ ? ” เรื่องนี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลกในยุคนั้น (พ.ศ. 2526) เลย ขอจัดให้ในบทความนี้ ซึ่งผนวกเรื่องราวเช่นนี้ที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารของ Korean Air Lines และโดยเครื่องบินรบของสหภาพโซเวียตแบบเดียวกันเมื่อ 5 ปี ก่อนหน้าเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเกิดขึ้น

เครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747-230B (HL-7442) ลำดังกล่าว

ข่าวใหญ่ระดับโลกที่โด่งดังมากที่สุดในปี พ.ศ. 2526 คือ ข่าวโศกนาฏกรรม Korean Air เที่ยวบิน 007 ซึ่งถูกเครื่องบินขับไล่ของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นยิงตก ทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747-230B (HL-7442) เสียชีวิตทั้งหมด ถึง 269 ราย และมีคนไทยรวมอยู่ด้วย 5 ราย

เครื่องบินโดยสารของ Korean Air แบบ Boeing 707 (HL-7429) ลำที่ถูกยิง

เหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ของโซเวียต ยิงเครื่องบินโดยสารของ Korean Air ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น โดย 5 ปีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่  20 เมษายน พ.ศ. 2521 ก็มีเหตุเครื่องบินขับไล่ของสหภาพโซเวียตยิงเครื่องบินโดยสารของ Korean Airเที่ยวบินที่ 902 (KAL 902 หรือ KE 902) มาแล้ว ครั้งนั้นเป็นเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 707 (HL-7429) จากกรุงปารีส ฝรั่งเศส มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีกำหนดแวะพักเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานนานาชาติเทด สตีเวนส์ เมืองแองคอเรจ มลรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา มีผู้โดยสาร 97 คน ลูกเรือ 12 คน

เครื่องบินสอดแนมแบบ Boeing RC-135 ซึ่งพัฒนาจากเครื่องบิน Boeing 707

เหตุการณ์ Korean Air เที่ยวบินที่ 902 มีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 คน เครื่องบินถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินบนทะเลสาบน้ำแข็ง Korpijärvi ทางทิศใต้ของเมืองเมอร์มานส์ ใกล้ชายแดนฟินแลนด์

เครื่องบินโดยสาร Korean Air เที่ยวบินที่ 902 หลังจากถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินบนทะเลสาบน้ำแข็ง Korpijärvi

ต่อมาเมื่อ 38 ปีก่อน เครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 747 -230B เที่ยวบิน KAL 007 สายการบิน Korean Air ของเกาหลีใต้ถูกสหภาพโซเวียตยิงตก หลังจากที่พลัดหลงเข้ามาในเขตน่านหวงห้ามของโซเวียต ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และทั้ง 269 ชีวิตบนเครื่องเสียชีวิต โดยหาศพไม่เจอ และกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าใครผิดใครถูก ระหว่างโซเวียตที่เป็นคนยิง เกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของและผู้บังคับเครื่องบิน หรือสหรัฐอเมริกา เที่ยวบิน KAL 007 บินจากนครนิวยอร์กสู่กรุงโซล โดยแวะพักที่เมืองแองเคอเรจ มลรัฐอะแลสกา และในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2526 เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินดังกล่าวถูกเครื่องบินสกัดกั้น SU-15 ของสหภาพโซเวียตยิงตกใกล้เกาะโมเนรอน ทางตะวันตกของเกาะซาฮาลิน ในทะเลญี่ปุ่น นักบินของเครื่องบินสกัดกั้นลำนั้น คือ นาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich โดยผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 269 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้ง Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรัฐจอร์เจีย เครื่องบินลำดังกล่าวกำลังอยู่ในเส้นทางจากเมืองแองเคอเรจสู่กรุงโซลเมื่อบินผ่านน่านฟ้าโซเวียตซึ่งเป็นเขตหวงห้ามในเวลาไล่เลี่ยกับภารกิจของเครื่องบินสอดแนมสหรัฐฯ

โดยตอนแรก สหภาพโซเวียตปฏิเสธการรู้เห็นในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ภายหลังยอมรับว่า เครื่องบินขับไล่ของโซเวียตเป็นผู้ยิง โดยอ้างว่าเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวอยู่ระหว่างภารกิจสอดแนม คณะตรงโปลิตบูโรแถลงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการยั่วยุโดยเจตนาของสหรัฐ เพื่อทดสอบความพร้อมทางทหารของสหภาพโซเวียต หรือกระทั่งยั่วยุให้เกิดสงคราม ทำเนียบขาวก็กล่าวหาสหภาพโซเวียตว่า ขัดขวางปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย กองทัพโซเวียตระงับการค้นหาหลักฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อใช้ในการสอบสวนสาเหตุ โดยเฉพาะ เครื่องบันทึกข้อมูลการบิน หรือกล่องดำ ซึ่งสุดท้ายก็มีการเผยแพร่ในแปดปีหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดขณะหนึ่งของสงครามเย็นและส่งผลให้การต่อต้านโซเวียตทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ มุมมองตรงข้ามต่อเหตุการณ์ไม่เคยยุติอย่างสมบูรณ์ ต่อมามีอีกหลาย ๆ กลุ่มได้ดำเนินการเกี่ยวกับรายงานอย่างเป็นทางการในกรณีพิพาทและเสนอทฤษฎีทางเลือกของเหตุการณ์นี้ มีการเผยแพร่เอกสารต่าง ๆ และข้อมูลเครื่องบันทึกของเที่ยวบิน KAL 007 ภายหลังโดยสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งได้เปิดเผยรายละเอียดบางอย่างซึ่งยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

ระบบ GNSS ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นความลับอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2526)

ผลของเหตุการณ์ สหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนวิธีดำเนินการติดตามเครื่องบินที่บินออกจากมลรัฐอะแลสกา พัฒนาโปรแกรมต่อประสานนักบินอัตโนมัติที่ใช้ในสายการบินโดยได้รับการออกแบบใหม่ให้สมบูรณ์มากขึ้น นอกเหนือจากนี้แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นเหตุการณ์เดี่ยวที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี Reagan อนุญาตให้ทั่วโลกเข้าถึงระบบ GNSS ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นความลับอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบันระบบดังกล่าวรู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อว่า GPS (Global Positioning System)

เครื่องบินของ Korean Air เที่ยวบินที่ 007 คือ เครื่องบินพาณิชย์แบบ Boeing 747-230B ส่งมอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2515 เลขทะเบียน CN20559/186 และ D-ABYH ซึ่งให้บริการโดยสายการบิน Condor ก่อนจะมาจดทะเบียนเป็น HL7442 ของ Korean Air KAL 007 ออกจากประตูที่ 15 ของท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2526 มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ ในเขตกังเซโอ กรุงโซล โดยออกเดินทางช้ากว่ากำหนด 35 นาที จากกำหนดเดิม 23:50 เขตเวลาตะวันออก (03:50 UTC ของวันที่ 31 สิงหาคม) เที่ยวบินนี้บรรทุกผู้โดยสาร 246 คนและลูกเรือ 23 คน หลังจอดเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานนานาชาติแองเคอเรจ ในเมืองแองเคอเรจ มลรัฐอะแลสกาแล้ว เครื่องบินดังกล่าว ซึ่งกัปตันของผลัดนี้คือ กัปตัน Chun Byung-in จึงได้ออกเดินทางสู่กรุงโซลเมื่อเวลา 04:00 ตามเวลาอะแลสกา (13:00 UTC) ของวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526

Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากมลรัฐจอร์เจีย หนึ่งในผู้โดยสาร

เที่ยวบินนี้มีสัดส่วนลูกเรือต่อผู้โดยสารสูงผิดปกติ โดยมีลูกเรือที่โดยสารแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (Deadheading) 6 คนบนเครื่อง ผู้โดยสาร 12 คนอยู่ในห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่งส่วนบน ขณะที่ที่นั่งชั้นธุรกิจมีผู้โดยสาร 24 ที่นั่ง ในชั้นประหยัดว่างราว 80 ที่นั่ง บนเครื่องมีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 22 คน ผู้โดยสาร 130 คนมีกำหนดการบินเชื่อมไปยังจุดหมายอื่น เช่น กรุงโตเกียว นครฮ่องกง และกรุงไทเป Larry McDonald สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจากมลรัฐจอร์เจีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นประธานคนที่สองของสมาคม John Birch Society อยู่บนเครื่องด้วย โซเวียตยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสันจะนั่งติดกับ Larry McDonald บน KAL 007 แต่ CIA ได้เตือนไม่ให้ไป จากข้อมูลของ นิวยอร์กโพสต์ และสื่อของสหภาพโซเวียต แต่นิกสันปฏิเสธข่าวดังกล่าว

จุดอ้างอิงในเส้นทางการบิน R-20

หลังจากบินขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติแองเคอเรจ เที่ยวบิน KAL 007 ได้รับคำสั่งจากการควบคุมจราจรทางอากาศ (ATC) ให้เลี้ยวหันหน้าไป 220 องศา ประมาณ 90 วินาทีต่อมา ATC สั่งให้เที่ยวบิน "มุ่งหน้าตรงสู่เบเธลเมื่อทำได้" เมื่อมาถึงเบเธล รัฐอะแลสกา เที่ยวบินที่ 007 จะเข้าสู่เหนือสุดของเส้นทางการบินกว้าง 80 กิโลเมตร ที่เรียก เส้นทาง NOPAC (แปซิฟิกเหนือ) ซึ่งเชื่อมชายฝั่งอะแลสกากับญี่ปุ่น เส้นทางการบินของ KAL 007 คือ R-20 (โรมีโอ 20) ผ่านห่างจากน่านฟ้าโซเวียตนอกชายฝั่งคัมชัตกาเพียง 28.2 กิโลเมตร ระบบนักบินอัตโนมัติที่ใช้ในขณะนั้นทำงานควบคุมระบบพื้นฐานสี่อย่าง ได้แก่ HEADING, VOR/LOC, ILS, และ INS สภาวะ HEADING รักษาเส้นทางแม่เหล็กคงที่ตามที่นักบินเลือก สภาวะ VOR/LOC รักษาเครื่องบินให้อยู่ในเส้นทางเฉพาะ การส่งสัญญาณจาก VOR ภาคพื้นดินหรือเครื่องบอกตำแหน่ง Localizer ตามที่นักบินเลือก สภาวะ ILS (ระบบลงจอดด้วยเครื่อง) ทำให้เครื่องบินติดตามทั้งเครื่องบอกตำแหน่งเส้นทางแนวตั้งและแนวระนาบ ซึ่งนำไปสู่ทางวิ่ง (Runway) ที่นักบินเจาะจงเลือกสภาวะ INS (Inertial navigation system : ระบบเดินอากาศยานเฉื่อย) ทำหน้าที่รักษาเครื่องให้อยู่ในเส้นทางแนวระนาบระหว่างพิกัดจุด (Waypoint) ตามแผนการบินที่เลือกที่ตั้งโปรแกรมเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของระบบ INS

อุปกรณ์ HEADING Mode

ประมาณ 10 นาทีหลังจากเครื่องขึ้น โดยบินหันหัวทาง 245 องศา KAL 007 เริ่มเบี่ยงไปทางขวา (เหนือ) ของเส้นทางที่กำหนดไปยังเบเธล และยังคงบินต่อไปอีกห้าชั่วโมงครึ่ง การจำลองและวิเคราะห์เครื่องบันทึกข้อมูลการบินของ ICAO ระบุว่า การเบี่ยงเบนนี้อาจเกิดจากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของเครื่องบินที่ทำงานในโหมด HEADING หลังจากจุดที่ควรเปลี่ยนเป็นโหมด INS ตามที่ ICAO ระบุ นักบินอัตโนมัติไม่ทำงานในโหมด INS เนื่องจากนักบินไม่ได้เปลี่ยนระบบอัตโนมัติเป็นโหมด INS หรือพวกเขาเลือกโหมด INS แต่คอมพิวเตอร์ไม่ได้เปลี่ยนการนำทางไปที่โหมด INS เนื่องจากเครื่องบินได้เบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางเกินพิกัดความเผื่อ 7.5 ไมล์ (12.1 กม.) ที่อนุญาตโดยคอมพิวเตอร์ INS ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักบินอัตโนมัติยังคงอยู่ในโหมด HEADING และนักบินไม่ได้พบปัญหา

หลังจากบินขึ้น 28 นาที เรดาร์ของพลเรือนที่คาบสมุทร Kenai บนชายฝั่งตะวันออกของ Cook Inlet และด้วยเรดาร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ 175 ไมล์ (282 กม.) ทางตะวันตกของแองเคอเรจ ติดตาม KAL 007 5.6 ไมล์ (9.0 กม.) ทางเหนือของจุดที่ควรจะเป็น เมื่อ KAL 007 ไม่ถึงเบเธลในเวลา 50 นาทีหลังจากเครื่องบินขึ้น เรดาร์ของกองทัพสหรัฐฯที่ King Salmon รัฐอะแลสกา ได้ติดตาม KAL 007 ที่ระยะทาง 12.6 ไมล์ทะเล (23.3 กม.) ทางเหนือของจุดที่ควรจะเป็น ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ทหารประจำเรดาร์ที่ฐานทัพอากาศ Elmendorf (ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะรับผลการวิเคราะห์จากเรดาร์ King Salmon) ทราบถึงความเบี่ยงเบนของ KAL 007 แบบเรียลไทม์ จึงสามารถเตือนได้ เครื่องบิน เพราะเกินค่าเบี่ยงเบนสูงสุดที่คาดไว้ถึงหกเท่า ข้อผิดพลาด 2 ไมล์ทะเล (3.7 กม.) เป็นค่าเบี่ยงเบนสูงสุดที่คาดหวังจากเส้นทางหาก INS (ระบบนำทางเฉื่อย) เปิดใช้งาน

ด้วย KAL 007 ไม่สามารถส่งตำแหน่งผ่านคลื่นความถี่สูงมาก (VHF) ที่มีช่วงสั้นกว่า ดังนั้นจึงขอให้ KAL 015 ซึ่งกำลังเดินทางไปยังกรุงโซลถ่ายทอดรายงานไปยังศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ KAL 007 ขอให้ KAL 015 ถ่ายทอดตำแหน่งสามครั้ง เมื่อเวลา 14:43 (UTC) KAL 007 ได้ส่งการเปลี่ยนแปลงเวลาที่ประมาณการมาถึงโดยตรงไปยังสถานีบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศที่แองเคอเรจ แต่ได้ส่งผ่านคลื่นความถี่สูง (HF) ที่มีพิสัยไกลกว่า แทนที่จะเป็น VHF การส่งสัญญาณ HF สามารถไปได้ไกลกว่า VHF แต่เสี่ยงต่อการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้าและไฟฟ้าสถิต VHF มีความชัดเจนกว่าและมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่า การที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางวิทยุโดยตรงเพื่อให้สามารถส่งตำแหน่งได้โดยตรง เพื่อเตือนนักบินของ KAL 007 ทราบถึงการเบี่ยงออกนอกเส้นทางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติโดยผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ระยะครึ่งทางระหว่างเบเธลและจุดอ้างอิง NABIE KAL 007 ได้บินผ่านส่วนใต้ของเขตกันชนของหน่วยบัญชาการป้องกันการบินและอวกาศอเมริกาเหนือ โซนนี้อยู่ทางเหนือของเส้นทางการบิน Romeo 20 และจำกัดเฉพาะเครื่องบินพลเรือน หลังจากออกจากน่านฟ้าอเมริการะยะหนึ่ง KAL Flight 007 ได้บินข้ามเส้นแบ่งวันที่สากล วันที่ท้องถิ่นจึงเปลี่ยนจาก 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526 เป็น 1 กันยายน พ.ศ. 2526 KAL 007 เดินทางต่อไป โดยความเบี่ยงเบนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนออกนอกเส้นทาง 60 ไมล์ทะเล (110 กม.) ที่จุดอ้างอิง NABIE และออกนอกเส้นทาง 100 ไมล์ทะเล (190 กม.) ที่จุดอ้างอิง NUKKS และออกนอกเส้นทางถึง 160 ไมล์ (300 กม.) ณ จุดอ้างอิง NEEVA จนกระทั่งบินถึงคาบสมุทรคัมชัตกา ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายและเป็นเขตหวงห้ามที่สำคัญที่สุดของสหภาพโซเวียตในเขตตะวันออกไกล

หมู่เรือในการซ้อมรบทางทะเล FleetEx '83 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 17 เมษายน พ.ศ. 2526

ด้วยช่วงเวลานั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ แต่เป็นช่วงระหว่างสงครามเย็นระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมกำลังตึงเครียดอย่างมาก จากการที่สหรัฐฯ นำขีปนาวุธ Pershing II มาประจำการในยุโรป การซ้อมรบทางทะเล FleetEx '83 ที่เป็นการซ้อมรบขนาดใหญ่ในแปซิฟิกเหนือ โดยเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ USS Midway และ USS Enterprise บินเข้ามาในลักษณะยั่วยุถึงเขตที่มั่นทางการทหารของโซเวียตบนเกาะคูริลในช่วงการซ้อมรบดังกล่าว จนสหภาพโซเวียตสั่งปลดนายทหารที่รับผิดชอบด้านการป้องกันพื้นที่ที่ไม่สามารถยิงเครื่องบินสหรัฐให้ตกได้ ดังนั้นโซเวียตจึงต้องป้องกันน่านฟ้าของตนอย่างเต็มที่ และในวันเดียวกับที่เกิดเหตุ สหภาพโซเวียตก็มีแผนจะซ้อมยิงขีปนาวุธ จึงมีการเตือนภัยทั่วเขตคาบสมุทรคัมชัตกา ขณะที่สหรัฐฯ ก็ส่งเครื่องบินแบบ RC-135 ออกสอดแนม (เหมือนกับกรณี Korean Air เที่ยวบินที่ 902)

15:51 น. (UTC) KAL 007 ได้เข้าสู่น่านฟ้าหวงห้ามของคาบสมุทรคัมชัตกา ซึ่งห่างจากน่านฟ้าเขตชายฝั่ง 200 กิโลเมตร และตำแหน่งที่อีก 80 กิโลเมตร KAL 007 จะเข้าสู่น่านฟ้าของคาบสมุทรคัมชัตกา โซเวียตจึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-23 ลำหนึ่ง และ SU-15 Flagon อีก 3 ลำเข้าสกัด แต่ฝ่ายโซเวียตมีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการบัญชาการ เรื่องทางเทคนิค รวมถึงเรื่องสภาพอากาศ ทำให้ทั้ง 4 ลำไม่สามารถทำอะไรเครื่องบินโดยสารได้ จนกระทั่งมันออกจากน่านฟ้าของคัมชัตกา เข้าสู่น่านน้ำสากลโดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด หลังจากพิจารณาถึงเส้นทางการบินของ KAL 007 ฝ่ายโซเวียตเห็นว่า KAL 007 น่าจะบินฝ่าเข้ามายังน่านฟ้าหวงห้ามของโซเวียตอีกครั้ง น่าจะเป็นบริเวณเกาะซาคาลิน จึงสั่งการให้เครื่องบินขับไล่จัดการทำลาย KAL 007 แม้ว่า KAL 007 จะอยู่ในเขตน่านฟ้าสากล หากสามารถแน่ใจว่า บนเครื่องบินไม่มีผู้โดยสาร แต่นายทหารระดับสูงอีกคนกลับบอกว่า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรกันอีกแล้วกับเครื่องบินที่ละเมิดน่านฟ้าของโซเวียตถึง 2 ครั้ง เมื่อ KAL 007 รุกล้ำน่านฟ้าเป็นครั้งที่ 2 โซเวียตได้ส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-23 ลำหนึ่ง และ SU-15 Flagon อีก 3 ลำแบบเดิม รวม 4 ลำขึ้นไปเพื่อหาทางสื่อกับนักบิน KAL 007 แต่การติดต่อทางวิทยุ ไม่ประสบผล เพราะนักบินเกาหลีไม่ตอบกลับ เครื่อง บิน SU-15 ที่นำฝูง ก็ได้ยิงปืนเตือนไป 243 นัด แต่ก็ไม่มีการตอบสนอง ซึ่งกระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนเจาะเกราะธรรมดา ไม่ใช่กระสุนส่องวิถี นักบิน KAL 007 จึงอาจจะไม่ทราบเรื่องการยิงเตือน

ในระหว่างนั้น กัปตัน KAL 007 ได้ติดต่อไปยังศูนย์ควบคุมการบินของญี่ปุ่น เพื่อขอเพิ่มเพดานบิน เพราะจะทำให้เครื่องบินประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และเมื่อเพิ่มเพดานบินแล้ว พวกเขาจึงต้องลดความเร็วลงกะทันหัน แต่สำหรับนักบินเครื่องบินขับไล่ที่ติดตามอยู่ กลับเห็นว่าเป็นความพยายามในการหลบหนี เพราะทำให้เครื่องบินรบที่บินเร็วกว่า ต้องบินเลย KAL 007 ออกไป ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งจากหน่วยบัญชาการให้จัดการกับ KAL 007 ก่อนที่ KAL 007 จะออกไปพ้นน่านฟ้าของโซเวียตเป็นครั้งที่ 2 นักบินจึงต้องบินวนกลับมาด้านหลังของ KAL 007 อีกครั้ง ด้วยการสั่งการ 6 ขั้นของสายการบังคับบัญชา หลังจาก KAL 007 รุกล้ำน่านฟ้าโซเวียตกว่า 2 ชั่วโมง ในเวลา 18.26 น. (UTC) เครื่องบินรบแบบ SU-15 ที่บินนำฝูง โดยนาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich ก็ได้ยิงขีปนาวุธแบบอากาศสู่อากาศ Kaliningrad K-8  จำนวน 2 ลูกใส่บริเวณส่วนหางของเครื่องบิน (เพราะกระสุนปืนถูกใช้ไปหมดแล้ว)  ทำให้เครื่องบินไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ และที่สุดก็ตกลงในทะเลญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา นาวาอากาศตรี Gennadiy Osipovich ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เขารู้แน่ว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing จากหน้าต่าง 2 แถว และรู้ว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินพลเรือน แต่สำหรับเขาแล้วเรื่องนี้ไม่มีความหมายอะไร เพราะสามารถดัดแปลงเครื่องบินพลเรือนเป็นเครื่องบินทางการทหารได้ไม่ยาก รายละเอียดสัญชาติของผู้โดยสารและลูกเรือเที่ยวบิน : ออสเตรเลีย 4 ฮ่องกง 12 แคนาดา 8 สาธารณรัฐโดมินิกัน 1 อินเดีย 1 อิหร่าน 1 ญี่ปุ่น 28 มาเลเซีย 1 ฟิลิปปินส์ 16 เกาหลีใต้ 105 สวีเดน 1 ไต้หวัน 23 ไทย 5 สหราชอาณาจักร 2 สหรัฐอเมริกา 62 เวียดนาม 1 รวม 269 เป็นผู้โดยสาร 76 คน ลูกเรือ 23 คน และลูกเรือที่โดยสารแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (Deadheading) 6 คน

หลังเครื่องบินหายไป หลายฝ่ายก็มีการออกค้นหาซากเครื่องบินและศพผู้เสียชีวิต แต่โซเวียตก็ไม่ให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการค้นหาภายในเขตของโซเวียตด้วย ในส่วนของการค้นหาในเขตน่านน้ำสากล เกาหลีใต้ในฐานะเจ้าของเครื่องบินมอบหมายให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯเป็นผู้ค้กนหาซากเครื่องบิน ในทางปฏิบัติก็เท่ากับว่าสหรัฐฯสามารถยิงฝ่ายโซเวียตได้ หากเข้ามาขโมยซากเครื่องบินในเขตน่านน้ำสากล ทำให้ทั้งสองฝ่ายส่งเรือรบเข้ามาในเขตมากมายราวกับเตรียมจะทำสงครามกัน นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็มีการก่อกวนยั่วยุกันตลอด แต่ในเขตน่านน้ำสากลไม่พบชิ้นส่วนอะไร ส่วนในฝั่งโซเวียตก็ไม่มีการแจ้งว่าพบอะไรบ้าง แต่ในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1991) มีการเปิดเผยว่า ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือที่ทันสมัย เจ้าหน้าที่ค้นหาของโซเวียตพบซากเครื่องบินอยู่ใกล้กับเกาะโมเนรอนที่ระดับความลึก 174 เมตร แต่เมื่อส่งประดาน้ำลงไปในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ก็ไม่พบว่ามีซากศพติดอยู่ภายในซากเครื่องบินแต่อย่างใด เท่าที่ฝ่ายโซเวียตพบก็มีเพียงแค่เศษซากชิ้นส่วนของมนุษย์ชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น

รองเท้าและเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต

8 วันต่อมาหลังการตก ศพผู้เสียชีวิตเริ่มลอยมายังญี่ปุ่น แต่อยู่ในสภาพชิ้นเล็กชิ้นน้อย และไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของใคร และ 26 วันหลังการตกของ KAL 007 โซเวียตได้นำรองเท้าและเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตที่เก็บได้ส่งคืนให้ตัวแทนสหรัฐ – ญี่ปุ่น เมื่อรวมกับที่ค้นพบในน่านน้ำสากล รองเท้า เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นของผู้ที่อยู่บนเครื่องบิน 213 คน ด้วยคำแนะนำจากรัฐมนตรีมหาดไทย ในเบื้องต้น ยูริ อังโดรปอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในฐานะผู้นำประเทศ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าโซเวียตเป็นผู้ยิงเครื่องบิน KAL 007 เพราะเชื่อว่า คงไม่มีใครพิสูจน์เรื่องนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สหรัฐฯซึ่งเป็นคู่อริจึงใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นในการโจมตีโซเวียต โดยการนำเทปบันทึกเสียงติดต่อของนักบินโซเวียตกับฐานที่ดักฟังได้ ไปเปิดในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เมื่อเจอเรื่องแบบนี้เข้าฝ่ายโซเวียตจึงต้องออกมายอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน ก็แฉกลับว่า จนทำให้โลกรู้เป็นครั้งแรกว่า สหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินลาดตระเวนแบบ RC-135 เข้ามาสอดแนมในน่านฟ้าของโซเวียต และเส้นทางการบินก็อยู่ในแนวเดียวกับ KAL 007 ที่ถูกยิงตก

ท่าทีของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งจ้องจะเอาผิดกับโซเวียตในเรื่องนี้ยิ่งทำให้ฝ่ายโซเวียตเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเจตนาร้ายและเป็นการวางแผนของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯเดินหน้าตอบโต้ฝ่ายโซเวียตต่อไป โดยการห้ามสายการบินแอโรฟล็อตบินเข้าสหรัฐฯ ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียตต้องยกเลิกการเดินทางมาสหประชาชาติ และจากการที่สหรัฐฯไม่ยอมให้เครื่องบินของเจ้าหน้าที่โซเวียตที่จะมาร่วมประชุมสหประชาชาติลงจอด ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ โซเวียตก็จึงแก้เผ็ดโดยการจุดประเด็นว่า ควรย้ายสำนักงานใหญ่สหประชาชาติไปที่อื่นน่าจะดีกว่า และเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงจะมีมติประณามโซเวียตเรื่องการยิงเครื่องบิน โซเวียตจะใช้อำนาจ VETO ในการบล็อคมติดังกล่าวทุกครั้งไป

Gennadiy Osipovich ผู้ยิงขีปนาวุธแบบอากาศสู่อากาศ Kaliningrad K-8  จำนวน 2 ลูกใส่ KAL 007 จนตก

หลังสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว ฝ่ายโซเวียตกล่าวหาว่า เป็นแผนการต่าง ๆ ของสหรัฐ ทั้งการซ้อมรบ การนำขีปนาวุธมาไว้ในยุโรป และอื่น ๆ บ่งบอกว่ากรณีแบบ KAL 007 จะต้องเกิดขึ้นแน่ โซเวียตบอกว่า ภารกิจของ KAL 007 คือการสอดแนม เป็นการยั่วยุของฝ่ายสหรัฐฯ และเพื่อทดสอบความพร้อมทางการทหารของโซเวียต หรือไม่ก็หวังให้เกิดสงครามขึ้น รัฐบาลโซเวียตขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิต แต่ไม่ขอโทษ และไม่ชดเชยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังตำหนิ CIA กลับไปด้วย โดยบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเหลือเชื่อมาก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจากนักบินที่เคยบินกับเครื่องบิน Boeing เป็นพัน ๆ ชั่วโมง ต่างก็บอกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ 3 เครื่องบนเครื่องบิน ไม่น่าจะเสียได้ในเวลาเดียวกันได้  เช่นเดียวกับเครื่องส่งสัญญาณวิทยุทั้ง 5 เครื่อง จึงไม่ต้องสงสัยอะไรอีกเกี่ยวกับความตั้งใจของ KAL 007 ลำนี้ 

ส่วนนักบินที่บินขึ้นสกัดนั้น ก็อาจไม่รู้ว่าแน่ชัดว่า KAL 007 เป็นเครื่องบินพลเรือน เพราะ KAL 007 บินโดยไม่มีไฟนำร่อง ท่ามกลางสภาพทัศนวิสัยการมองเห็นที่ไม่ดี และการไม่ตอบสนองต่อสัญญาณวิทยุ ในรายงานของ ICAO ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ สรุปในปีปลายปี พ.ศ. 2526 ว่า เรื่องนี้เป็นอุบัติเหตุ โดยมีสาเหตุมาตจากการใช้งานระบบ Auto pilot ของนักบิน แต่อีก 10 ปีต่อมา ICAO ก็ออกมาประณามโซเวียตที่ตอนแรกแจ้งว่า ไม่พบกล่องดำ แต่ต่อมามีการเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า โซเวียตพบกล่องดำของ KAL 007 และผลจากการตกของเครื่องบิน KAL 007 ทำให้สหรัฐฯต้องปรับเปลี่ยนวิธีการติดตามเฝ้าดูเครื่องบินที่บินออกจากน่านฟ้าของมลรัฐอลาสกา ในส่วนของเครื่องบินโดยสารเองก็มีการออกแบบหน้าปัดของระบบ Auto pilot ใหม่เพื่อให้มองเห็นความผิดพลาดได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ยังสั่งให้มีการพัฒนาระบบ GPS สำหรับกิจการพลเรือน เพื่อว่าจะได้ไม่เกิดความผิดพลาดในการนำร่องเช่นที่เกิดกับเที่ยวบิน KAL 007 อีกครั้ง

เส้นทางการบิน R-20 (เส้นประ) เส้นทางการบิน KAL 007 เส้นทึบ

องค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ได้ปิดเส้นทางการบิน R-20 ชั่วคราว ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางอากาศที่ Korean Air Flight 007 ตั้งใจจะบิน ในวันที่ 2 กันยายน สายการบินต่าง ๆ คัดค้านการปิดเส้นทางยอดนิยมนี้อย่างดุเดือด ด้วยเป็นทางเดินอากาศที่สั้นที่สุดในห้าทางเดินอากาศระหว่างมลรัฐอลาสกากับตะวันออกไกล FAA จึงเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2526 หลังจากมีการตรวจสอบความปลอดภัยและอุปกรณ์ช่วยนำทางแล้ว ต่อมา NATO ได้ตัดสินใจภายใต้แรงผลักดันของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ในการปรับใช้ขีปนาวุธ Pershing II และขีปนาวุธร่อนในเยอรมนีตะวันตก โดยการติดตั้งขีปนาวุธเหล่านี้นี้จะทำให้ขีปนาวุธอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 6-10 นาที การสนับสนุนการปรับใช้กำลังถูกสั่นคลอนและน่าสงสัยว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ แต่เมื่อสหภาพโซเวียตยิงเครื่องบิน KAL 007 ตก สหรัฐฯ ก็สามารถกระตุ้นการสนับสนุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเพียงพอเพื่อให้การติดตั้งและใช้งานขีปนาวุธดำเนินต่อไปได้

มีการเปิดเผยข้อมูลการสื่อสารที่ถูกเฝ้าฟังโดยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เปิดเผยให้เห็นข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับระบบข่าวกรองและความสามารถของพวกเขา ต่อมาสมาคมเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย KAL 007 อเมริกัน ภายใต้การนำของ Hans Ephraimson ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐสภาแห่งสหรัฐฯและอุตสาหกรรมการบินยอมรับข้อตกลงที่จะรับประกันว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ของสายการบินในอนาคตจะได้รับการชดเชยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยการเพิ่มค่าตอบแทนและค่าชดเชย ภาระการพิสูจน์การประพฤติมิชอบของสายการบิน กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบในทางบวกต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากภัยพิบัติเครื่องบินต่อ ๆ มาเป็นอย่างมาก สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้เรดาร์ทางทหารเพื่อขยายความครอบคลุมเรดาร์ควบคุมการจราจรทางอากาศจาก 200 ถึง 1,200 ไมล์ (320 ถึง 1,930 กม.) จากแองเคอเรจ โดย FAA ยังได้จัดตั้งระบบเรดาร์สำรอง (ATCBI-5) บนเกาะเซนต์พอล  ในปี พ.ศ. 2529 สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตได้จัดตั้งระบบควบคุมการจราจรทางอากาศร่วมกันเพื่อตรวจสอบเครื่องบินที่บินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตมีความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการตรวจสอบการจราจรทางอากาศของพลเรือน และตั้งค่าความเชื่อมโยงการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศของทั้งสามประเทศ

ประธานาธิบดีเรแกนประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2526 ว่า ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) จะพร้อมใช้งานสำหรับพลเรือนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเมื่อการติดตั้งระบบเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการนำทางที่คล้ายกันในอนาคต นอกจากนี้อินเทอร์เฟซของนักบินอัตโนมัติที่ใช้กับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ว่าจะทำงานในโหมด HEADING หรือโหมด INS มีการเปิดเส้นทางการบินปกติระหว่างกรุงโซลและกรุงมอสโกเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 อันเป็นผลมาจากนโยบาย Nordpolitik ของเกาหลีใต้ ซึ่งดำเนินการโดยสายการบิน Aeroflot และKorean Air ในขณะเดียวกัน เส้นทางยุโรปทั้ง 9 เส้นทางของ Korean Air จะเริ่มบินผ่านน่านฟ้าของโซเวียต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินของ Korean Air ได้รับอนุญาตให้บินผ่านน่านฟ้าของโซเวียตอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ยกเลิกการจัดประเภทเอกสารทางการทูต ซึ่งเปิดเผยว่าสองเดือนหลังจากเหตุการณ์ KAL 007 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ได้แจ้งกับนักการทูตของญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ ว่าสหภาพโซเวียตได้เข้าใจผิดว่า เครื่องบิน KAL 007 เป็นเครื่องบินลาดตระเวนแบบ RC-135 ของกองทัพสหรัฐฯ ปัจจุบัน Korean Air ยังคงให้บริการเส้นทางการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์ก ไปยังกรุงโซล อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินไม่ได้แวะหยุดที่แองเคอเรจหรือบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพอีกต่อไป โดยตอนนี้ทำการบินตรงไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เที่ยวบินหมายเลข 007 ถูกยกเลิกตั้งแต่นั้นมา โดยใช้หมายเลขเที่ยวบินสำหรับสองเที่ยวบินแยกกันเป็นเส้นทางการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี นครนิวยอร์กไปยังกรุงโซล (KAL/KE 82, 85 และ 250)


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 3) กลยุทธ์ ของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

การขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New entrepreneur) ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) เนื่องจากการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและความเข้มแข็งของผู้ประกอบการจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้โดยผู้ประกอบการใหม่จะต้องมีทักษะแห่งอนาคตที่มีความพร้อมทางด้านทัศนคติ ทักษะความสามารถและความรู้สำหรับการรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ (พ.ศ. 2561-2580) มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็น “ผู้ประกอบการยุคใหม่” ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีความสามารถในการแข่งขันและมีนวัตกรรมในการสร้างรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมของสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ตลอดจนมีทักษะในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงวิสาหกิจรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวิสาหกิจระยะเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และเกษตรกรทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องการขยายกิจกรรมหรือธุรกิจ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)

แล้วจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไรดี คงเป็นคำถามในใจสำหรับผู้ประกอบการใหม่เกือบทุกคนที่มองว่าเป็นเรื่องที่ยากในการเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี แล้วเมื่อเริ่มต้นแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แนวทางในการเริ่มต้นธุรกิจหากผู้ประกอบการนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้และผู้เขียนได้อัญเชิญมาเขียนอธิบายไว้ในตอนที่ 2 ในเรื่องของความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว มาใช้เป็นแนวทางและข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สภาพปัญหาของผู้ประกอบการใหม่โดยพิจารณากำลังของตนเองเพื่อประเมินว่ามีคุณสมบัติที่จะประกอบธุรกิจนั้นได้หรือไม่ เช่น การเลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสม การสำรวจฐานะทางการเงิน ทำเลที่ตั้ง เป็นต้น พิจารณาตลาดลูกค้าและคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรต่อไป

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่ อาจมีการพิจารณานำเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์สำหรับองค์การเพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบที่มีศักยภาพจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์การ โดยการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis 

ซึ่งอัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) ได้พัฒนาขึ้นมาในระหว่างปี ค.ศ. 1960 - 1970 ในโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ประเมินแผนกลยุทธ์และค้นหาสาเหตุที่การวางแผนขององค์การในยุคนั้นมักจะล้มเหลวและในปัจจุบัน SWOT analysis ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือวางแผนกลยุทธ์ที่ดีที่สุด และใช้กันแพร่หลายมากที่สุดประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ

1.) จุดเด่นหรือจุดแข็ง (Strengths) 

เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในองค์การและสามารถทำได้ดีเป็นพิเศษสร้างความได้เปรียบเหนือองค์การอื่น ๆ ทำให้องค์การมีความแตกต่างและองค์การสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ฐานะการเงินที่แข็งแรง เทคโนโลยี สิทธิบัตร บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ข้อได้เปรียบในการเข้าถึงวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

2.) จุดด้อยหรือจุดอ่อน (Weaknesses)

เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากภายในองค์การ เช่น ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

3.) โอกาส (Opportunities)

เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการใหม่ เช่น นโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของตลาดส่งออกสินค้าจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรสนิยมและรูปแบบการบริโภคของลูกค้าที่หันมานิยมสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาไทยมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแหล่งเงินลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้แหล่งเงินทุนร่วมกัน เป็นต้น

4.) อุปสรรคหรือภัยคุกคาม (Threats)

เป็นปัจจัยภายนอกที่องค์การไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้รวมถึงสิ่งที่อาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ เช่น ปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด การขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นต้น องค์การจะต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นและดำเนินการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ

จากการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis แล้วผู้ประกอบการใหม่คงมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้อย่างไร ธุรกิจมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง และหากดำเนินธุรกิจไปแล้วมีช่องทางหรือโอกาสใดบ้างในการที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโต รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความพร้อม ความรู้ ความสามารถ เงินทุน และโอกาส เช่น

1.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) 

เป็นกิจการที่ความเป็นเจ้าของส่วนใหญ่จำกัดภายในวงศ์ตระกูลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศและยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงการผลิตกับผู้ผลิตและคู่ค้าอื่น ๆ ขณะเดียวกันธุรกิจครอบครัวยังมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าธุรกิจโดยทั่วไป จากการสำรวจเหตุผลการทำธุรกิจวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อม พบว่า วิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อมทั้ง 3 ภาคธุรกิจ (ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ) มีเหตุผลหลักการทำธุรกิจ คือ เป็นแหล่งรายได้หลัก ส่วนเหตุผลรองลงมาสำหรับวิสาหกิจรายย่อย คือการทำธุรกิจเป็นการหารายได้เสริม ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อมมีเหตุผลรองในการทำธุรกิจเพราะต้องการสืบทอดธุรกิจเดิมของครอบครัวและมีแนวโน้มในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัวเพื่อให้เกิดการเติบโตต่อไปในอนาคต (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2563)  

2. การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship)  

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และพยายามที่จะก่อตั้งธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความอิสระในการเลือกองค์ประกอบของธุรกิจให้เป็นไปตามแนวคิดของผู้ประกอบการได้ การเป็นผู้ประกอบการใหม่ อาจทำได้โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และวางขายในตลาดอื่นอยู่แล้วมาเข้าสู่ตลาดใหม่ (New market) หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด หรือนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงให้มีคุณภาพดีกว่าเดิมเข้ามาขายในตลาดเดิม เป็นต้น

3.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover)

เป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยใช้วิธีรุก เข้าซื้อกิจการอื่นเพื่อความเป็นเจ้าของแล้วนำธุรกิจนั้น ๆ มาเป็นของตนเอง มีการควบคุมการบริหารงานต่าง ๆ รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถหลักของธุรกิจที่ซื้อมา เช่น ทรัพย์สิน ทักษะการดำเนินงาน เทคโนโลยี ขอบข่ายทางการตลาด สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงชื่อเสียงของสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิม การเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถมากในการพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรหลัก ๆ ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการเลือกการเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้อาจจะส่งผลให้สูญเสียความเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงไปส่วนหนึ่งเนื่องจากขาดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและมีต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่

4.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการขอรับสิทธิทางการค้าจากเจ้าของสิทธิหรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise)

เป็นการประกอบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ (Franchisor) ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ (Franchisee) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาขึ้น ผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ และจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ เจ้าของสิทธิจะให้ความช่วยเหลือผู้รับสิทธิในการดำเนินงาน เลือกทำเลที่ตั้ง อบรมวิธีปฏิบัติงาน สร้างระบบการเงินช่วยเหลือในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นหากผู้ประกอบการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการแล้วก็จะสามารถเลือกธุรกิจที่เหมาะสมในการดำเนินงานได้ไม่ยากนัก ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองด้วยความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือเกิดปัญหาน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ถนัด ไม่มีความชำนาญ หรือไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่มีอยู่

ในคราวหน้าซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 ผู้เขียนจะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง ที่จะทำให้ภารกิจขององค์การสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.  (2563).  รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564) แผนแม่บทประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564, จากเว็บไซต์ : http://nscr.nesdb.go.th/


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“ซินโครตรอน” แสงที่ไขปริศนา...คดีฆาตกรรมน้องชมพู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คดีการฆาตกรรมน้องชมพู่ เด็ก 3 ขวบ ในหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ที่หายตัวออกไปจากบ้าน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และหลังจากใช้เวลาตามหา 3 วัน ก็พบว่าเป็นศพเปลือย อยู่ในป่าบนภูเขาเหล็กไฟ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านที่น้องอาศัยอยู่เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร กลับเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากตำรวจใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี เต็ม 

จากระยะเวลาที่ยาวนาน ฝ่ายตำรวจกับอัยการคงต้องทำงานหนักในเรื่องการส่งฟ้องศาล เพราะทุกความเชื่อมโยงต้องไม่ให้เกิดความน่าสงสัยในพยานหลักฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยในคดีอาญา เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ ตามคำกล่าวที่คนเรียนกฎหมายมักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ “ปล่อยคนผิดไป 10 คน ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์มา 1 คน” และมีพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ตำรวจค่อนข้างจะมั่นใจ เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ นั่นก็คือการใช้แสง “ซินโครตอน” ในการพิสูจน์ลักษณะความสอดคล้องกันของพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ที่เชื่อมโยงกับพยานหลักฐานที่พบในผู้ต้องสงสัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับพยานบุคคล ที่อาจะเปลี่ยนแปลงคำให้การได้ตลอดเวลา 

สำหรับวันนี้ จะพาทุกท่านมาดูกันว่า แสงซินโครตรอน คืออะไร และทำไมจึงใช้เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตัวผู้กระทำความผิดได้ครับ 

แสงซินโครตอนคือแสงชนิดหนึ่ง ทั้งนี้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เราจะได้พบเห็นแสงต่าง ๆ มากกมาย เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากหลอดไฟ แสงจากดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งแสงจากหิงห้อย เป็นต้น แต่แสงซินโครตรอนที่จะพูดถึงนี้เป็นแสงที่มีลักษณะพิเศษกว่าแสงชนิดอื่น คือมีความเข้ม หรือความสว่างสูงกว่าแสงอื่นเป็นอย่างมาก โดยจะมีความเข้มของแสงมากกว่าแสงจากดวงอาทิตย์เป็นล้านเท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของแสงจะเป็นลำกรวยขนาดเล็กทำให้มีความเข้มสูง นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากแสงซินโครตรอนถูกปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอนอิสระ ค่าความยาวคลื่นของแสงจึงครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นกว้างตั้งแต่ย่านอินฟราเรดจนถึงรังสีเอกซ์ ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย 

สำหรับแหล่งกำเนิดของแสงซินโครตรอนนั้น เกิดจากการกระตุ้นหรือเร่งให้อิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง คือความเร็ว 1,080,000,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วนั้น ในระหว่างที่เลี้ยวโค้งนั้นจะทำให้เกิดลำแสงที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยขนาดเล็ก หลุดออกมาในระหว่างโค้ง เปรียบเทียบได้กับการที่เวลามีอะไรวิ่งมาด้วยความเร็วสูง เมื่อเลี้ยวโค้งจะทำให้มีสิ่งของหลุดออกมาได้ในระหว่างที่เลี้ยวโค้ง เนื่องจากเกิดแรงเหวี่ยงขณะเลี้ยวโค้ง ซึ่งเครื่องที่ใช้กระตุ้นหรือเร่งให้อิเล็กตรอนมีความเร็วสูงนี้ เรียกว่าเครื่องซินโครตรอน จึงเรียกแสงที่เกิดจากกรณีนี้ว่าแสงซินโครตรอน นั่นเอง 

เนื่องจากลักษณะสมบัติของแสงซินโครตรอนที่มีความเข้มสูง และมีความยาวคลื่นกว้าง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่าง ได้แก่การศึกษาองค์ประกอบของธาตุที่มีอยู่ในวัสดุ หรือการวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุต่าง ๆ โดย อาศัยหลักการ ทำให้แสงซินโครตรอนวิ่งผ่านเข้าไปกระตุ้นอะตอม ที่อยู่ภายในวัสดุที่จะวิเคราะห์ ทั้งนี้เนื่องจากแสงเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง เมื่อแสงวิ่งผ่านวัสดุหรือสิ่งกีดขวาง จะทำให้เกิดการสะท้อน การหักเห การเลี้ยวเบน หรือเกิดการกระเจิง และการดูดกลืนคลื่นแสงของวัสดุที่แสงวิ่งผ่าน

นอกจากนั้นการที่เรายิงแสงความเข้มสูงไปกระทบกับวัสดุก็ทำให้มีอิเล็กตรอนหลุดออกมาได้ เป็นไปตามทฤษฎีทางฟิสิกส์ของแสง ส่งผลให้มีการปลดปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา ซึ่งสมบัติเหล่านี้จะเป็นลักษณะเฉพาะของวัสดุ หรือสสารแต่ละชนิดที่มีพฤติกรรมต่อสมบัติของแสง และเมื่อนำลักษณะเหล่านี้มาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือจะทำให้ทราบลักษณะโครงสร้าง หรือองค์ประกอบของวัสดุ แต่ละชนิดได้ 

ทั้งนี้ในการใช้แสงซินโครตรอนมาช่วยวิเคราะห์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อาศัยหลักการดังกล่าวข้างต้นของแสงซินโครตรอน มาตรวจสอบพยานหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และพยานหลักฐานที่พบในตัวผู้ต้องสงสัย ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ โดยในกรณีคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่นั้น เป็นการพิสูจน์พยานหลักฐานคือเส้นผมของน้องชมพู่ที่พบว่าถูกหั่นในที่เกิดเหตุ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเส้นผมที่พบในรถของผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้พบว่าเป็นเส้นผมที่มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน แสดงว่าเป็นเส้นผมของคนคนเดียวกัน นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ได้ว่าลักษณะโครงสร้างของเส้นผมที่พบในทั้งสองจุด มีโครงสร้างที่เหมือนกันย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นเส้นผมของคนเดียวกัน ที่มาจากจุดที่เกิดเหตุเดียวกันอีกด้วย ทำให้ตำรวจมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้ศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องสงสัยได้นั่นเอง 

โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา และวิจัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน คือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ครับ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รู้เพื่อตั้งรับ 5+1 รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายหลังวิกฤติโควิด

มาตรการเร่งกระจายวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่จะกลับสู่ระดับเดิมเช่นก่อนเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประสิทธิภาพของนโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายถึง 5 รูปแบบ ของการฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่  V, U, W, Swoosh และ L-Shape ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ 

ที่มา ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article)

1.) การฟื้นตัวแบบ V-Shape (V-Shape Rebound) “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”

เป็นรูปแบบที่ถูกคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมื่อประเทศผ่านวิกฤติซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับสู่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอาจไม่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ยาก

2.) การฟื้นตัวแบบ U-Shape (U-Shape Rebound) “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า”

เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีรูปแบบคล้ายกับ V-Shape แต่แตกต่างตรงระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า ก่อนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดิม ทั้งนี้การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงระยะเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ไปได้ช้าเร็วเพียงใด

3.) การฟื้นตัวแบบ W-Shape (W-Shape Rebound) “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสอง”

จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และรัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีรูปแบบ “ดับเบิ้ล ดิป” ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือจุดที่ต่ำที่สุดอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนที่ถูกใช้ในเวลาหรือสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวในรูปนี้ก็เป็นได้

4.) การฟื้นตัวแบบ Swoosh (Swoosh Rebound) “ไถลลงเร็ว ค่อยๆ ฟื้นตัว” หรือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามแบบ “รูปเครื่องหมายไนกี้”

เป็นการไถลลงเร็วแบบตัว V และค่อยๆ ฟื้นตัว โดยการฟื้นตัวของนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว ที่แสดงถึงการเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ก็ไปในแนวโน้มที่ดีและพุ่งขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามการผ่อนปรนมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในช่วงแรกยังคงทำได้อย่างจำกัด

5.) การฟื้นตัวแบบ L-Shape (L-Shape Rebound) “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” 

เป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ที่เมื่อเศรษฐกิจปรับลดลงแล้ว อัตราการขยายตัวจะไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาเป็นปกติเท่ากับระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤติได้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องยาวนาน และไม่รู้ว่า่จะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ ดังเช่น วิกฤติโลก Great Depression ที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวในรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และเกิดภาวะถดถอยในระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเติม คือ รูปแบบ K-Shaped หรือ ตัวอักษร K ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับเดิมได้และขยายตัวต่อเนื่องในบางกลุ่ม (แทนหางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และยังคงเผชิญกับภาวะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ (แทนหางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ที่มา : บทความการฟื้นตัวแบบรูปตัว K ของเศรษฐกิจไทย: ในวิกฤตยังมีโอกาส ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx)

อย่างไรก็ตาม แสงสว่างปลายอุโมงที่อาจเริ่มมองเห็นได้ในขณะนี้ คงเป็นความหวังของทุกคนที่จะร่วมใจผ่านพ้นวิกฤติโควิดของประเทศในครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx
https://www.prachachat.net/public-relations/news-521654
https://www.terrabkk.com/news/198705/


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘Checkpoint Charlie’ (เช็กพอยท์ชาลี) จุดตรวจต่างแดน ตัวแทนการแบ่งแยก ในยุคสงครามเย็น

ในยุคสงครามเย็นมีเรื่องราวของ Checkpoint Charlie มากมายด้วยจุดตรวจผ่านแดนในอดีต ที่กั้นประชาชนชาวเยอรมัน 2 ฝ่าย คือฝั่งเสรีประชาธิปไตย (ฝั่งของเยอรมันตะวันตก) และฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ฝั่งของเยอรมันตะวันออก) ซึ่งอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ปัจจุบันเมื่อรวมเป็นเยอรมันเดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แล้ว Checkpoint Charlie จึงกลายเป็น Landmark ของกรุง Berlin ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยี่ยมชม เลยขอนำมาเขียนเป็นบทความนี้ครับ

Walter Ulbricht ผู้นำเยอรมันตะวันออกในขณะนั้นได้รับความเห็นชอบจากสหภาพโซเวียต ให้สร้างกำแพงเบอร์ลินในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)

Checkpoint Charlie เป็นจุดตรวจผ่านแดนที่รู้จักกันดีที่สุดระหว่างเบอร์ลินตะวันออก และเบอร์ลินตะวันตกในช่วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2490-2534) ตามที่พันธมิตรตะวันตกตั้งชื่อ Checkpoint Charlie เกิดจากการที่ Walter Ulbricht ผู้นำเยอรมันตะวันออกในขณะนั้นได้รับความเห็นชอบจากสหภาพโซเวียตให้สร้างกำแพงเบอร์ลินในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) เพื่อยุติการอพยพ และการหลบหนีไปเยอรมันตะวันตก เป็นการป้องกันการหลบหนีข้ามพรมแดนจากเบอร์ลินตะวันออกไปยังเบอร์ลินตะวันตก 

Checkpoint Charlie จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็น ซึ่งเป็นตัวแทนของการแบ่งแยกระหว่างเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก รถถังโซเวียตและอเมริกันเคยเผชิญหน้ากันในช่วงเวลาสั้น ๆ ณ จุดนี้ในช่วงวิกฤต Berlin ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2506 ประธานาธิบดี John F. Kennedy แห่งสหรัฐอเมริกาได้เยี่ยมชม Checkpoint Charlie และมองเข้าไปใน Berlin ตะวันออกจากแท่นบนกำแพง Berlin

ชาวเยอรมันตะวันออกหลบหนีออกจาก Berlin ตะวันออกด้วยวิธีการต่างๆ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 วิธีการจำกัดการย้ายถิ่นฐานของสหภาพโซเวียตได้รับการเลียนแบบโดยกลุ่มตะวันออกที่เหลือส่วนใหญ่ รวมทั้งเยอรมนีตะวันออกด้วย อย่างไรก็ตามในเยอรมนีที่ถูกยึดครองจนถึงปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) เส้นแบ่งระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับเขตที่ถูกยึดครองทางตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงสามารถข้ามไปมาได้อย่างง่ายดาย ต่อมาพรมแดนเยอรมันชั้นในระหว่างสองประเทศในเยอรมนีถูกปิด และมีการสร้างรั้วลวดหนามขึ้น

พรมแดนของเขต Berlin จึงเป็น "ช่องโหว่" ที่ประชาชนเยอรมันตะวันออกยังสามารถใช้หลบหนีได้

แม้หลังจากปิดพรมแดนเยอรมันชั้นในอย่างเป็นทางการในปี ปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) เขตแดนของเมือง Berlin ตะวันออกและ Berlin ตะวันตกยังคงสามารถข้ามไปมาได้ง่ายกว่าพรมแดนอื่น ๆ ที่เหลือ เนื่องจากถูกปกครองโดยพันธมิตรทั้งสี่ (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ สหภาพโซเวียต) ดังนั้น Berlin จึงกลายเป็นเส้นทางหลักที่ชาวเยอรมันตะวันออกออกอพยพเข้าเยอรมันตะวันตก ดังนั้นพรมแดนของเขต Berlin จึงเป็น "ช่องโหว่" ที่ประชาชนเยอรมันตะวันออกยังสามารถใช้หลบหนีได้

ทหารเยอรมันตะวันออก หลบหนีออกจาก Berlin ตะวันออก

ชาวเยอรมันตะวันออก 3.5 ล้านคน ที่อพยพออกมาในปี พ.ศ. 2504 คิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 20% ของประชากรชาวเยอรมันตะวันออกทั้งหมด ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นมักเป็นเยาวชนและผู้ที่มีการศึกษาดี ความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้จำนวนผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ช่างเทคนิค แพทย์ ครู ทนายความ และช่างฝีมือ ไม่สมส่วนและขาดแคลน สภาวะสมองไหลของผู้เชี่ยวชาญได้ทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันออกอย่างมาก จำเป็นต้องจัดตั้งด่านและระบบการควบคุมชายแดนตามแบบสหภาพโซเวียต ระหว่างปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)  ถึง พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ชาวเยอรมันตะวันออกกว่า 2.5 ล้านคน หลบหนีไปยังเยอรมันตะวันตก และจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสามปีก่อนที่กำแพง Berlin จะถูกสร้างขึ้น โดยมีจำนวน 144,000 คน ในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959), และ 199,000 คน ในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) และ 207,000 คน ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันออกได้รับความเดือดร้อน และเสียหายอย่างมาก

กำแพงลวดหนามกลายเป็นกำแพงที่แยก Berlin ตะวันออกและตะวันตกออกจากกัน ถูกสร้างขึ้นโดยเยอรมันตะวันออก

วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2504 กำแพงลวดหนามกลายเป็นกำแพง ซึ่งแยก Berlin ตะวันออกและตะวันตกออกจากกัน ถูกสร้างขึ้นโดยเยอรมันตะวันออก สองวันต่อมาวิศวกรของตำรวจและกองทัพเริ่มสร้างกำแพงคอนกรีตถาวรขึ้นตลอดแนวเขตแดนยาว 830 ไมล์ (1336 กม.) ข้างกำแพงนั้นกว้าง 3.5 ไมล์ (5.6 กม.) ทางด้านเยอรมันตะวันออกในบางส่วนของเยอรมนี โดยมีรั้วตาข่ายเหล็กสูงทอดยาวไปตาม "แถบมรณะ" ที่ล้อมรอบด้วยทุ่นระเบิด เช่นเดียวกับช่องทางไถดินเพื่อชะลอการหลบหนี และแสดงรอยเท้าได้ง่ายขึ้น

Checkpoint Charlie เป็นจุดผ่านแดนของกำแพง Berlin ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางแยก Friedrichstraße กับ Zimmerstraße และ Mauerstraße (ซึ่งด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เก่ากว่านั้นบังเอิญหมายถึง 'Wall Street') อยู่ในย่าน Friedrichstadt โดย Checkpoint Charlie ถูกกำหนดให้เป็นจุดข้ามแห่งเดียว (ด้วยการเดินเท้าหรือโดยรถยนต์) สำหรับชาวต่างชาติและสมาชิกของกองกำลังพันธมิตร (สมาชิกของกองกำลังพันธมิตรไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้จุดผ่านแดนจุดอื่น ๆ ที่กำหนดไว้สำหรับใช้โดยชาวต่างชาติ เช่น สถานีรถไฟ Friedrichstraße)

ชื่อ Charlie มาจากตัวอักษร C ตามอักษรรหัสของ NATO ในทำนองเดียวกันสำหรับด่านอื่น ๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตรบน Autobahn จากตะวันตก เรียกว่า Checkpoint Alpha ที่ Helmstedt และ Checkpoint Bravo ที่เทียบเท่ากันที่ Drelinden, Wannsee ตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้ของ Berlin และ โซเวียตเรียกว่า จุดผ่านแดน KPP Fridrikhshtr ชาวเยอรมันตะวันออกเรียก Checkpoint Charlie อย่างเป็นทางการว่า Grenzübergangsstelle ("Border Crossing Point") Friedrich-/Zimmerstraße

Cafe Adler ("Eagle Café") ตั้งอยู่ที่จุดตรวจ เป็นจุดชมวิวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการชม Berlin ตะวันออกขณะรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม

Checkpoint Charlie เป็นจุดตรวจที่กำแพง Berlin ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด จึงปรากฏในภาพยนตร์และหนังสือ ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงและจุดชมวิวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร กองกำลังติดอาวุธ และผู้มาเยือน Cafe Adler ("Eagle Café") ตั้งอยู่ที่จุดตรวจ เป็นจุดชมวิวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการชม Berlin ตะวันออก ขณะรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม

Checkpoint Charlie มีความไม่สมดุลอย่างน่าประหลาด ในช่วงที่ใช้งาน 28 ปี โครงสร้างพื้นฐานทางฝั่งตะวันออก ได้ขยายให้ครอบคลุมไม่เพียงแค่กำแพง หอสังเกตการณ์ และแนวซิกแซกเท่านั้น แต่ยังมีโรงจอดรถหลายช่องทางสำหรับตรวจสอบรถยนต์และผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามผู้มีอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เคยสร้างอาคารถาวรใด ๆ เลย และสร้างขึ้นเป็นเพิงไม้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกแทนที่ในช่วงทศวรรษ 1980 ด้วยโครงสร้างโลหะที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พันธมิตรใน Berlin เหตุผลของพวกเขา คือพวกเขาไม่ได้ถือว่าเขตแดนของ Berlin ชั้นในเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ

รถถังโซเวียตและอเมริกันเคยเผชิญหน้ากันในช่วงเวลาสั้น ๆ ณ จุดนี้ในช่วงวิกฤต Berlin ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)

ไม่นานหลังจากการก่อสร้างกำแพง Berlin ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2504 เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างรถถังสหรัฐและโซเวียตที่ด่านชาร์ลีทั้งสองด้าน เริ่มเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม จากข้อโต้แย้งว่า เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนของเยอรมันตะวันออกได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของนักการทูตสหรัฐฯ ที่อยู่ใน Berlin ตะวันตกชื่อ Allan Lightner มุ่งหน้าไปยัง Berlin ตะวันออกเพื่อชมการแสดงโอเปร่าที่นั่นหรือไม่ เนื่องจากตามข้อตกลงระหว่างทุกฝ่าย สี่มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรที่ยึดครองเยอรมนี จะต้องอนุญาตให้กองกำลังพันธมิตรในกรุง Berlin เดินทางได้อย่างอิสระเสรี และไม่มีกองกำลังทหารเยอรมัน จากทั้งเยอรมนีตะวันตกหรือเยอรมนีตะวันออกมาประจำการในตัวเมือง และยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกา (ในขั้นต้น) ไม่ได้ยอมรับความเป็นรัฐตะวันออกของเยอรมนี และสิทธิที่จะคงอยู่ในเมืองหลวง Berlin ตะวันออกที่ประกาศตนเอง ในทางกลับกัน ชาวอเมริกันยอมรับเพียงอำนาจของโซเวียตเหนือเบอร์ลินตะวันออก มากกว่าความเป็นเยอรมันตะวันออก 

วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2504 รถถังโซเวียตสิบคันและรถถังอเมริกันจำนวนเท่ากันจอดห่างกัน 100 หลา ณ จุดตรวจทั้งสองฝั่ง การเผชิญหน้าครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยความสงบในวันที่ 28 ตุลาคม หลังจากการทำความเข้าใจระหว่างสหรัฐฯ-โซเวียตในการถอนรถถังและลดความตึงเครียด การเจรจาระหว่างรัฐมนตรียุติธรรม (อัยการสูงสุด) ของสหรัฐอเมริกา Robert F. Kennedy และหัวหน้า KGB Georgi Bolshakov มีส่วนอย่างสำคัญในการบรรลุข้อตกลงนี้โดยปริยาย

พลเมืองของเยอรมันตะวันออกได้ขับรถฝ่าสิ่งกีดขวางด้วยรถเปิดประทุน โดยถอดกระจกบังลมออกก่อน และพุ่งลอดใต้ที่กั้น

กำแพง Berlin ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลเยอรมันตะวันออกในปี พ.ศ. 2504 แต่มีวิธีการหลบหนีมากมายที่ไม่คาดคิด ตัวอย่างเช่น Checkpoint Charlie ในขั้นต้นถูกปิดกั้นโดยประตูเท่านั้น และพลเมืองของเยอรมันตะวันออกได้ขับรถฝ่าผ่านเข้าไปเพื่อหลบหนี จึงมีการสร้างเสาที่แข็งแรงมั่นคง ผู้หลบหนีอีกคนหนึ่งพยายามฝ่าสิ่งกีดขวางด้วยรถเปิดประทุน โดยถอดกระจกบังลมออกก่อน และพุ่งลอดใต้ที่กั้น สิ่งนี้ถูกทำซ้ำในอีกสองสัปดาห์ต่อมา ดังนั้นเยอรมันตะวันออกจึงลดความสูงของเครื่องกั้น และเพิ่มเสากั้นให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505 Peter Fechter วัยรุ่นชาวเยอรมันตะวันออกถูกยิงที่กระดูกเชิงกรานโดยทหารเยอรมันตะวันออกขณะพยายามหลบหนีจาก Berlin ตะวันออก ร่างของเขาติดอยู่ในรั้วลวดหนาม และเลือดออกจนตาย ในมุมมองของสื่อทั่วโลกทหารอเมริกันไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ เพราะเขาอยู่ในเขตโซเวียตไม่กี่เมตร ทหารรักษาการณ์ชายแดนของเยอรมันตะวันออกไม่เต็มใจที่จะเข้าไปช่วยเขา เพราะเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุทหารฝั่งตะวันตก ซึ่งหนึ่งในนั้นได้ยิงตำรวจชายแดนของเยอรมันตะวันออกเมื่อไม่กี่วันก่อน อีกกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อมาร่างของ Fechter ก็ถูกทหารเยอรมันตะวันออกนำออกมา การประท้วงเกิดขึ้นเองที่จุดตรวจฝั่งอเมริกัน เป็นการประท้วงต่อต้านการกระทำของตะวันออกและความเฉยเมยของตะวันตก

อนุสรณ์สถานสงครามโซเวียต ซึ่งตั้งอยู่ใน Tiergarten ในเขตของอังกฤษ (ในขณะนั้น)

สองสามวันต่อมา ฝูงชนขว้างก้อนหินใส่รถบัสของสหภาพโซเวียตที่ขับไปยังอนุสรณ์สถานสงครามโซเวียต ซึ่งตั้งอยู่ใน Tiergarten ในเขตของอังกฤษ โซเวียตซึ่งพยายามคุ้มกันรถบัสด้วยรถหุ้มเกราะ (APCs) หลังจากนั้น โซเวียตได้รับอนุญาตให้ข้ามได้เฉพาะทางข้ามสะพาน Sandkrug (ซึ่งใกล้ Tiergarten ที่สุด) และห้ามมิให้นำรถหุ้มเกราะ (APCs) เข้ามา หน่วยทหารเยอรมันตะวันตกถูกส่งไปปฏิบัติการในตอนกลางดึกของต้นเดือนกันยายน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์และยานพาหนะเพื่อบังคับใช้คำสั่งห้าม

คืนวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ส่วนหนึ่งของกำแพง Berlin ถูกเปิดออก

ในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ส่วนหนึ่งของกำแพง Berlin ถูกเปิดออก แม้ว่ากำแพง Berlin จะถูกรื้อทุบในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และ ส่วนที่กำบังของ Checkpoint Charlie ถูกรื้อออกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2533 เพิงตรวจของ Checkpoint Charlie ยังคงเป็นจุดผ่านแดนอย่างเป็นทางการสำหรับชาวต่างชาติและนักการทูต จนกระทั่งการรวมชาติเยอรมันสำเร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2533 Checkpoint Charlie ได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลักของกรุง Berlin ที่ซึ่งเศษชิ้นส่วนของจุดผ่านแดนดั้งเดิมบางส่วนผสมกับชิ้นส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นอนุสรณ์สถานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว อาคารหลังที่สองในฝั่งอเมริกันถูกย้ายออกไปในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) 

เพิงตรวจปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ของพิพิธภัณฑ์พันธมิตรใน Berlin-Zehlendorf ป้อมยามจำลองและป้ายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดผ่านแดนถูกสร้างใหม่ในภายหลัง ในขนาดเดียวกันโดยคร่าว ๆ คล้ายกับเรือนยามหลังแรกที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยอยู่หลังแนวกั้นกระสอบทราย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ป้อมนี้ถูกแทนที่หลายครั้งด้วยป้อมยามที่มีขนาดและรูปแบบต่างกัน ที่ถูกรื้อออกระหว่างปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) มีขนาดใหญ่กว่าอันแรกมาก และไม่มีกระสอบทราย นักท่องเที่ยวเคยสามารถถ่ายรูปได้โดยเสียค่าธรรมเนียม โดยมีนักแสดงที่แต่งตัวเป็น ตำรวจ ทหารฝ่ายพันธมิตรยืนอยู่หน้าป้อม แต่ทางการ Berlin ได้สั่งห้ามในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) โดยระบุว่านักแสดงได้เอาเปรียบนักท่องเที่ยวด้วยการเรียกร้องเงินเพื่อถ่ายรูป

ชิ้นส่วนและเศษซากของกำแพง Berlin ถูกนำมาตั้งแสดง

เส้นทางของกำแพงและชายแดนเดิม ตอนนี้ถูกทำเครื่องหมายไว้ที่ถนนด้วยหินปูถนน การจัดแสดงกลางแจ้งเปิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2549 ผนังห้องแสดงภาพตามถนน Friedrichstraße และ Zimmerstraße แสดงข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามในการหลบหนี การขยายจุดตรวจ และความสำคัญในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้าของรถถังโซเวียตและอเมริกาในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) นอกจากนี้ยังมี Gallery รวมภาพของอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการแบ่งประเทศเยอรมนีและกำแพง Berlin

Checkpoint Charlie ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้มีการรื้อถอนหอสังเกตการณ์ของเยอรมันตะวันออกในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เพื่อเปิดทางสำหรับสำนักงานและร้านค้าต่าง ๆ หอสังเกตการณ์เป็นอาคารสุดท้ายของ Checkpoint Charlie ดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ เทศบาลกรุง Berlin พยายามรักษาหอคอยไว้แต่ล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ กระนั้น โครงการพัฒนานั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่ระหว่าง Zimmerstraße และ Mauerstraße/Schützenstraße (จุดผ่านแดนทางฝั่งเยอรมันตะวันออก) ยังคงว่างอยู่ทำให้มีพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวและอนุสรณ์สถานชั่วคราวจำนวนมาก แผนใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 บนเว็บไซต์สำหรับโครงการโรงแรมทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมืองเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม หลังจากการขึ้นทะเบียนสถานที่สุดท้ายให้เป็นพื้นที่มรดกที่ได้รับการคุ้มครองในปี พ.ศ. 2561 แผนต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปในแนวทางที่เป็นมิตรต่อความเป็นมรดกที่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

นิทรรศการ “BlackBox Cold War”

นิทรรศการ “BlackBox Cold War” ได้จุดประกายให้กับรัฐบาลเยอรมันและนคร Berlin ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 การจัดแสดงกลางแจ้งฟรี นำเสนอส่วนกำแพง Berlin ดั้งเดิม และข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงในร่มแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของ Berlin ด้วยสถานีสื่อ 16 แห่ง โรงภาพยนตร์ วัตถุสิ่งของ และเอกสารต้นฉบับ (ซึ่งต้องเสียค่าเข้าชม) ดำเนินการโดย NGO Berliner Forum fuer Geschichte und Gegenwart e.V.

พิพิธภัณฑ์ Haus am Checkpoint Charlie

พิพิธภัณฑ์ Checkpoint Charlie ใกล้กับที่ตั้งของป้อมยามคือ Haus am Checkpoint Charlie " พิพิธภัณฑ์ Haus am Checkpoint Charlie" เปิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ใกล้กับกำแพง Berlin แสดงให้เห็นภาพถ่าย และเรื่องราวของการแบ่งแยกเยอรมนี ป้อมชายแดนและ "ความช่วยเหลือของผู้มีอำนาจที่ปกป้อง" แสดงไว้ นอกจากภาพถ่ายและเอกสารประกอบความพยายามในการหลบหนีที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์หลบหนี เช่น บอลลูนลมร้อน รถหนีภัย ลิฟต์เก้าอี้ และเรือดำน้ำขนาดเล็ก ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2547 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2548 มีอนุสรณ์สถานเสรีภาพ (The Freedom Memorial) ซึ่งประกอบด้วยส่วนผนังดั้งเดิมและไม้กางเขนที่ระลึก 1,067 อันตั้งอยู่บนพื้นที่ (เช่า) พิพิธภัณฑ์ Haus am Checkpoint Charlie ดำเนินการโดยสมาคม Arbeitsgemeinschaft 13 สิงหาคม สมาคมจดทะเบียนก่อตั้งโดย Dr. Rainer Hildebrandt ผู้จัดการคือ Alexandra Hildebrandt ภรรยาม่ายของผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในอาคาร "House at Checkpoint Charlie" โดยสถาปนิก Peter Eisenman ด้วยผู้เข้าชม 850,000 คนในปี พ.ศ. 2550 พิพิธภัณฑ์ Haus am Checkpoint Charlie จึงเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดของนคร Berlin และเยอรมนี 

ไม้กางเขนที่ระลึก 1,067 อัน ใน The Freedom Memorial

Checkpoint Charlie มีบทบาทในการจารกรรมในยุคสงครามเย็นและนวนิยายและภาพยนตร์ทางการเมือง ตัวอย่างบางส่วน ได้แก่ 

James Bond (แสดงโดย Roger Moore) กับ Checkpoint Charlie

- James Bond (แสดงโดย Roger Moore) เดินผ่าน Checkpoint Charlie ในภาพยนตร์ 007 ตอน Octopussy (1983) จากเยอรมันตะวันตกไปเยอรมันตะวันออก

- Checkpoint Charlie เป็นจุดเด่นในฉากเปิดของภาพยนตร์ปี 1965 เรื่อง The Spy Who Came in from the Cold (นำแสดงโดย Richard Burton และ Claire Bloom) ซึ่งสร้างจากนวนิยายของ John le Carré ที่มีชื่อเดียวกัน

Francis Gary Powers (ซ้าย) กับ Rudolf Abel (ขวา)

- ในภาพยนตร์ Bridge of Spies นักศึกษาชาวอเมริกัน Frederic Pryor ที่ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวที่ Checkpoint Charlie โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนตัว Francis Gary Powers นักบินของ U-2 กับ Frederic Pryor โดยแลกกับ Rudolf Abel สายลับโซเวียตที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด การปล่อยตัวไพรเออร์เกิดขึ้นนอกจอในขณะที่การแลกเปลี่ยน Francis Gary Powers กับ Rudolf Abel เกิดขึ้นที่สะพาน Glienicke

เกมอินดี้ Papers Please โดย Lucas Pope

- Checkpoint Charlie เป็นแรงบันดาลใจให้กับเกมอินดี้ Papers Please โดย Lucas Pope ที่ซึ่งผู้เล่นทำหน้าที่ของหน่วยยามชายแดนสำหรับเวอร์ชั่นสมมติของ Berlin ตะวันออก

ฉากเปิดตัวของ The Man from U.N.C.L.E ณ Checkpoint Charlie

- นอกจากนี้ยังปรากฎในฉากเปิดตัวของ The Man from U.N.C.L.E ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) อีกด้วย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เกร็ดกฎหมายจากคดีน้องชมพู่

สัปดาห์ที่ผ่านมา คดีการเสียชีวิตปริศนาของ “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่หายตัวจากบ้าน ในหมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายจับ “นายไชย์พล วิภา” หรือ “ลุงพล” ลุงเขยของน้องชมพู่หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่เก็บหลักฐาน และสอบปากคำพยานมานานกว่า 1 ปี 

โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาลุงพล 3 ข้อหาด้วยกัน คือ

1.) พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร

2.) ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และ

3.) กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

ผมคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าลุงพลจะผิดตามข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับหรือไม่ เพราะผมไม่ได้มีส่วนร่วมในคดีนี้แต่อย่างใด

แต่ที่จะนำมาเล่าให้ฟัง คือ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อที่จะให้ผู้ที่ติดตามคดีนี้ได้เข้าใจมากขึ้นถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ มาลองติดตามอ่านกันไปทีละประเด็นนะครับ

ตอนนี้ลุงพลมีสถานะเป็น “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” ในคดีน้องชมพู่

ความแตกต่างระหว่าง ผู้ต้องหา กับ จำเลย คือ ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาล ส่วนจำเลย หมายถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องศาลว่าได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้นแล้ว

ดังนั้น ตอนนี้ลุงพลจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้ลุงพลยังไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งกว่าคดีจะไปสู่ศาลนั้น ลุงพลยังมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาทั้งในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ซึ่งอาจจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้

ทำไมลุงพลถึงถูกออกหมายจับ

ตามปกติแล้ว หากไม่ใช่กรณีที่เป็นความผิดซึ่งหน้า ตำรวจจะต้องไปขอศาลเพื่อออกหมายจับเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าศาลจะออกหมายจับให้ในทุกกรณี 

โดยศาลจะพิจารณาออกหมายจับให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ดังนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ซึ่งในกรณีของลุงพลนี้ ศาลคงได้พิจารณาจากพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเชื่อว่าลุงพลน่าจะได้กระทำความผิด และโทษตามข้อกล่าวหานั้นก็มีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลุงพลถูกออกหมายจับ ก็ไม่ได้หมายความว่าลุงพลมีความผิดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

ลุงพลเป็นผู้ต้องหาและถูกออกหมายจับแล้ว ทำไมถึงบอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิด

ที่บอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิดนั้น เป็นเพราะ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติเอาไว้ว่า 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าลุงพลเป็นผู้กระทำผิด เราจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตอนนี้ลุงพลยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติต่อลุงพลเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้

ทำไมลุงพลถึงไม่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา 

มีหลายคนสงสัยว่า การที่ตำรวจดำเนินคดีกับลุงพล 3 ข้อหา โดยไม่มีการตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนั้นเป็นเพราะอะไร 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในการดำเนินคดีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำไปตามพยานหลักฐานที่มี แม้ว่าจะน้องชมพู่จะเสียชีวิตจริง แต่ถ้าไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่าลุงพลเป็นผู้ลงมือทำ หากคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ข้อกล่าวหานั้นก็จะถูกหักล้างได้โดยง่าย

เนื่องจากในการดำเนินคดีอาญานั้น หากมีเหตุอันควรสงสัย ศาลจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ว่า 

“ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน”


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เยือน ‘อิสตันบูล’ (Istanbul) เมืองคูลๆ ที่ผสมผสานมหานคร ทั้ง 2 ทวีป อย่างมีเสน่ห์

ทั้งที่ยังไม่เคยได้ไปเยือนซานฟรานซิสโก แต่ความคิดแว้บแรกเมื่อไปถึงอิสตันบูล ผมรู้สึกว่าคล้ายเมืองริมทะเลแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียนี้มาก อาจจะเพราะเคยดูหนังที่มีฉากเมืองซานฟรานซึ่งมีความคล้ายคลึงกันหลายส่วน เช่นเป็นเมืองใหญ่ติดทะเล บ้านเรือนปลูกสร้างลดหลั่นกันไปตามเนินเขา ถนนหนทางคดเคี้ยวและบางช่วงชัน มองเห็นวิวทะเลได้แต่ไกลจากหลายมุม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม อิสตันบูลก็คืออิสตันบูล (และซานฟรานซิสโก ก็คือซานฟรานซิสโก) ยังคงมีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเมื่อได้สัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น

คนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าอิสตันบูลคือเมืองหลวงของตุรกี ที่จริงอังการาซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศต่างหากคือศูนย์กลางการเมืองการปกครองของประเทศนี้ แต่ด้วย “ความขลัง” กว่า ในแง่ที่มีประชากรหนาแน่นกว่าสิบห้าล้านคน นับว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังตั้งอยู่ ณ รอยต่อระหว่างสองทวีป คือเอเชียและยุโรป โดยมีช่องแคบบอสพอรัสกั้นไว้ ทำให้วัฒนธรรมและศาสนาของทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก คลุกเคล้ากันผ่านช่วงเวลายาวนาน ถ้าสาวประวัติเมืองย้อนกลับไปก็คงตั้งแต่สมัยสองพันกว่าปีก่อนในยุคที่เรียกว่าไบแซนไทน์ อิสตันบูลในยุคนั้นมีชื่อว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดินี้ยืนยงคงกระพันนับพันปีและถือว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พวกออตโตมันซึ่งเป็นมุสลิม และอิทธิพลอิสลามก็สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อนำภาพในอดีตมาปะติดปะต่อเข้ากับสภาพเมืองในปัจจุบันก็พบว่าประวัติศาสตร์เป็นปัจจัยหลักที่สร้างมนต์เสน่ห์ให้กับเมืองนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับภูมิทัศน์สวยงาม สถาปัตยกรรมเก่าแก่ผสมผสานหลายยุคสมัย ยิ่งทำให้ใครก็ตามที่ได้มาเยือนอิสตันบูลตกหลุมรักเมืองนี้อย่างง่ายดายยามแรกพบเลยทีเดียว

อิสตันบูลเป็นเมืองทันสมัย สามารถเดินทางสัญจรภายในเขตต่าง ๆ โดยเลือกใช้ขนส่งมวลชนหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า เรือข้ามฟาก รถราง รถบัส ซึ่งเมื่อซื้อบัตรโดยสารใบเดียวก็สามารถใช้ได้กับทุกระบบขนส่ง หรือถ้าต้องการความสะดวกรวดเร็วและเป็นส่วนตัวมากกว่าก็ใช้บริการแท็กซี่กับ Grab แต่วิธีดีที่สุดที่จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของสิ่งละอันพันละน้อย ก็คือการเดินนั่นเอง ยิ่งใครที่ชื่นชอบการถ่ายรูปจะรื่นรมย์เดินชมเมืองมาก จะทอดน่องไปตามตรอกซอยน้อยใหญ่ เดินเล่นบนบาทวิถีริมทะเล เดินข้ามสะพานที่เต็มไปด้วยชายนักหย่อนเบ็ดตกปลา หรือเบียดแทรกตัวเองท่ามกลางฝูงคนในย่านช้อปปิ้งล้วนให้ความเพลิดเพลินทั้งนั้น บรรดาแลนด์มาร์กและสถานที่น่าสนใจกระจายตัวในระยะเดินถึง ถ่ายรูปวิวสลับกับการสังเกตการใช้ชีวิตตามปกติของชาวเมือง หรือนั่งพักแล้วสังเกตอากัปกิริยาผู้คนที่เดินผ่านไปมาทั้งหลายก็เพลินดี

ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวมักไม่พลาดการไปชมงานสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นอลังการงานสร้างสองแห่งซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าสุลต่านอาห์เม็ด ได้แก่สุเหร่าสีน้ำเงินและฮาเกียโซเฟีย แม้ศาสนสถานทั้งสองจะสร้างในช่วงเวลาที่แตกต่างกันและเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประกอบพิธีทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่มองผิวเผินแต่ไกลกลับให้ความรู้สึกเหมือนอาคารฝาแฝดเพราะมีรูปทรงค่อนข้างคล้ายคลึงกัน

แต่ละช่วงของวันก็ให้ความรู้สึกผ่อนคลายที่แตกต่างกันด้วย ช่วงกลางวันที่แดดจัดจ้าจะเห็นน้ำทะเลใสสีฟ้า ฝูงนกนางนวลโฉบเฉี่ยวร่าเริง แมวจรทั้งหลายต่างย่องขึ้นไปบนหลังคาบ้าน หรือไม่ก็แอบอยู่ตามมุมถนน ส่วนบรรยากาศยามเย็นใกล้ค่ำนั้นโรแมนติกกว่ามาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใครที่เดินทางคนเดียวจะเกิดอาการเหงาจับใจเวลามองพระอาทิตย์ตกทะเลแต่อย่างใด เพราะแสงเงาบนท้องฟ้าสลับสีตระการตา คล้ายกำลังนั่งมองศิลปินผู้มีฝีมือล้ำเลิศละเลงสีเหลืองแดงชมพูม่วงส้มลงบนผืนผ้าใบชิ้นใหญ่มหาศาล ก็ทำให้หัวใจคับพองและ “อิ่ม” ได้เช่นกัน

ของคาวที่หาทานง่าย มีอยู่แทบทุกมุมเมืองคือเคบับ หิวเมื่อไหร่ก็แวะซื้อแล้วเดินทานไปด้วย เมนูปลาใกล้สะพานกาลาตาก็เด็ดไม่แพ้กัน หรือถ้าต้องการทานอาหารตุรกีที่มีความหลากหลายกว่าก็สามารถเลือกนั่งในร้านอาหารชนิดกินกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยก็ได้ ของหวานขึ้นชื่อเห็นจะเป็นไอศกรีมตุรกี จุดเด่นนอกจากจะเป็นความเหนียวหนึบแล้ว พ่อค้าไอศกรีมยังใช้มุกหลอกลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาว ๆ และเด็ก ๆ (มุกเก่าแต่ใช้ได้ตลอด) 

ในขณะที่ของหวานอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือบักลาวา หาซื้อได้ทั่วไปตามตลาด เปรียบเทียบแล้วน่าจะคล้ายกับใครมาเที่ยวเชียงใหม่ก็มักจะหาซื้อขนมกะละแมไปฝากเพื่อนฝูงญาติมิตรนั่นเอง ในส่วนของเครื่องดื่มยอดนิยมนั้นหนีไม่พ้นชาตุรกีซึ่งเสิร์ฟกันในแก้วทรงคอดตรงกลาง และกาแฟซึ่งต้มในภาชนะโลหะมีด้ามจับที่เรียกว่าอีบริก เสิร์ฟในถ้วยเซรามิกเล็ก เวลาจะจิบชาหรือกาแฟก็มักเติมน้ำตาลลงไปด้วยสักช้อนชาเพื่อตัดความขม และแม้จะเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็มีความเป็นเสรีนิยมค่อนข้างสูง ดังนั้น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งหลายอย่างเหล้าเบียร์หรือไวน์ก็ยังสามารถหาจิบได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

ที่พักหาไม่ยากและมีทุกระดับตั้งแต่ดาวเดียวถึงทะลุห้าดาว ในสมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู นักเดินทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกทุนต่ำแบกเป้ มักพกโลนลี่แพลเน็ต เสมือนคัมภีร์นำทาง เพราะมีข้อมูลที่จำเป็นแทบทุกอย่าง แต่ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวแทบทั้งหมดหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ที่พักก็จองผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะพักที่ไหนจะกินอะไรก็ดูรีวิวเอา ร้านไหนสถานที่อะไรคนนิยมมาก ๆ ก็ต้องไปเช็คอินเมื่อไปถึง นักท่องเที่ยววัยรุ่นขาโจ๋ผู้นิยมสังสรรค์ปาร์ตี้จนดึกดื่น มักเลือกพักโฮสเทลในย่านทักซิม ซึ่งเต็มไปด้วยร้านรวงสมัยใหม่และผับบาร์อึกทึก มีถนนคนเดินเหมาะสำหรับคนเสพติดการช้อปปิ้งเป็นที่สุด ในขณะที่ย่านสุลต่านอาห์เม็ดนั้นเหมาะสำหรับคนชอบความสงบ พวกผู้ใหญ่ คนสูงวัย นักเดินทางผู้รักความสันโดษ หรือคู่รักฮันนีมูนน่าจะชอบย่านเมืองเก่านี้มากกว่า 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเพียง “น้ำจิ้มชิมลาง” เท่านั้น เพราะยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่น่าสนใจ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นฉันใด อยากรู้ว่าอิสตันบูลมีเสน่ห์มากแค่ไหนก็ต้องมาให้เห็นด้วยตัวเองนะครับ 


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ส่อง 'เวียดนาม' ตลาดเงินดิจิทัลสุดร้อนแรง แห่งย่านอาเซียน

จากปรากฏการณ์ตื่นเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ที่มูลค่าสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ดึงกระแสนักลงทุนที่ต่างพร้อมใจถลกแขนเสื้อ กระโดดลงมาเล่นในตลาดเงินดิจิตอลกันอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่มีการพูดคุยกันถึงทิศทางการลงทุนในตลาดเงินคริปโตกันแบบรายวันไม่แพ้ตลาดหุ้น 

แต่ใครจะคาดคิดว่า ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนของเรากลับจริงจังในการลงทุนในคลังคริปโตเคอร์เรนซียิ่งกว่า จนมีสัดส่วนการถือครองเงินดิจิตอลที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

ประเทศที่กำลังพูดถึงนี้ก็คือ เวียดนาม 

จากการสำรวจของ Statista Global Consumer Survey ในปี 2020 พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนประชาชนที่ถือครอง หรือใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซี่ในการแลกเปลี่ยน ซื้อขายจริง ๆ ในโลก อันดับ 1 คือ ไนจีเรีย อยู่ที่ 32%  ส่วนอันดับ 2 ตกเป็นของเวียดนาม 21% และที่ 3 ก็ยังเป็นประเทศในย่านอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ 20%  ซึ่งห่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ที่มีสัดส่วนผู้ถือเงินดิจิตอลเพียง 6% 

นับว่าเวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีการใช้สกุลเงินดิจิตอล นอกเหนือจากเงินประจำชาติของตนแพร่หลายมากกว่าใคร ๆ ในอาเซียน

แต่หากเทียบกันระหว่าง เวียดนาม กับ ฟิลิปปินส์ กับนโยบายด้านการเงิน การธนาคารของทั้ง 2 ประเทศ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันตรงที่ รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดกว้างในการใช้เงินคริปโตในระบบการเงินมากกว่าเวียดนามอย่างมาก 

ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์อนุมัติการซื้อ - ขายเงิน

คริปโตเคอร์เรนซีหลากหลายสกุลได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย แถมรัฐบาลยังลงมาร่วมเป็นเจ้ามือเองด้วยการพัฒนาระบบบล็อคเชนของตัวเอง ที่เรียกว่า bonds.ph ร่วมกับธนาคาร Unionbank และนำพันธบัตรรัฐบาลออกขายผ่านระบบบล็อคเชนนี้ด้วย และยังมีการติดตั้ง Bitcoin ATM ในใจกลางกรุงมะนิลาอีกต่างหาก

แต่สำหรับรัฐบาลสังคมนิยมแบบเวียดนาม ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทิ้งเงินดอง ไปถือครองเงินดิจิตอลขนาดนั้น แถมในช่วงแรก ๆ ที่มีกระแสเงินบิทคอยน์ในเวียดนาม รัฐบาลยังออกมาเตือนถึงความเสี่ยง และยังไม่อนุญาตให้ใช้คริปโตซื้อขายสินค้าได้ในตลาดจริง แต่ทำไมตลาดเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ในเวียดนาม ยังคงคึกคัก แซงหน้าเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนได้อย่างไร

ถึงแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะห้ามใช้คริปโตเคอร์เรนซี ในระบบเงินสดดั้งเดิม แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้ "ขุด" ชาวเวียดนามก็สามารถเปิดเหมืองขุดคริปโตกันได้อย่างเต็มที่เท่าที่อยากจะขุด ดังนั้นจุดเริ่มต้นของกระแสคริปโตบูมในเวียดนาม จึงมาจากสายขุด ไม่ใช่สายเทรด ที่ทำให้มียอดการสั่งซื้อเครื่องขุดเงินดิจิตอล หรือในบ้านเราเรียกว่าเครื่อง "เสียบปลั๊กรับตังค์" ในเวียดนามเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มียอดนำเข้าเครื่องขุดเหรียญคริปโต ไม่ต่ำกว่า 7,000 เครื่อง และสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่นอกเหนือจากการตั้งหน้า ตั้งตาขุดเพื่อเก็งกำไรแล้วยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวเวียดนามมีทักษะคติในแง่ดีกับการมีอยู่ของเงินคริปโต อาจมาจากระเบียบข้อบังคับด้านการเงินที่เข้มงวดอย่างมากในประเทศ 

เลยทำให้การถือครองเงินดิจิตอลของชาวเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพส่วนบุคคล ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโอนเงิน แลกเปลี่ยนทำธุรกรรมกับต่างประเทศ ที่สามารถทำได้รวดเร็วกว่าผ่านธนาคารที่มีขั้นตอนเยอะ และต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลเวียดนาม

จนทำให้ทุกวันนี้มีชาวเวียดนามมากกว่า 1 ล้านคนที่ถือบัญชีกระเป๋าเงินคริปโตที่ใช้งานอยู่ประจำ และยังนิยมเทรดเงินคริปโตในแพลตฟอร์มต่างประเทศแม้จะไม่มีภาษาเวียดนามรองรับ เช่น Poloniex และ Bittrex ที่พบชาวเวียดนามล็อคอินเข้าทำการซื้อขายในระบบสูงมากติดอันดับต้นๆของลูกค้าจากหลากหลายประเทศทั่วโลกจนนักวิเคราะห์การเงินมองว่า ตลาดเงินดิจิตอลในเวียดนามจะเติบโตได้อีกมาก และอาจเพิ่มได้อีกถึง 30 เท่าภายในปี 2030  

เหตุที่ทำให้พฤติกรรมของนักลงทุนในเวียดนามเปลี่ยนไปในรูปแบบดิจิตอลอย่างรวดเร็ว มีอยู่หลายปัจจัย 

อย่างแรกคือ เวียดนามมีตลาดของผู้ใช้เงินนอกระบบสูงกว่าทุกชาติในย่านอาเซียน 

จากข้อมูลขององค์การสหประชาติพบว่า มีผู้ใหญ่ชาวเวียดนามทำธุรกรรมผ่านสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณธุรกรรมในระบบธนาคารของชาวอาเซี่ยนทุกประเทศที่สูงถึง 69% 

ดังนั้นจึงมีชาวเวียดนามที่เข้าไม่ถึงระบบบัญชีธนาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ทำให้ระบบเงินดิจิตอลเข้ามาตอบโจทย์ในการทำธุรกรรมการเงินที่รวดเร็วกว่า เข้าถึงง่าย และมีอิสระกว่า 

แต่ทั้งนี้ แค่การขุด การเทรดเพื่อเก็งกำไร ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมเงินคริปโตได้ถึงระดับนี้ หากขาดการสนับสนุน ผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจัง 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะยังไม่รับรองการใช้เงิน คริปโตแทนเงินสดจริงในประเทศ แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันคือ Fintech หรือ เทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่

รัฐบาลเวียดนามใช้งบลงทุนในโครงการ Fintech มากเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปรเท่านั้น ทั้งโปรเจคการสร้าง ฮานอย สมาร์ท ซิตี้ ตั้งเป้าหมายในการเป็น Hub ด้าน Fintech ในย่านนี้ หรือการสนับสนุน Start-up รุ่นใหม่ในประเทศที่พัฒนาระบบมาต่อยอดการใช้งานระบบ Fintech สู่คนในสังคม 

มีข้อมูลว่า ในช่วงระหว่างปี 2017 -2020 มีจำนวน Fintech Start-up ในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 179% ในจำนวน Start-up เกิดใหม่กว่า 30% เป็นผู้ให้บริการด้านการเงิน ระบบจัดการกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิค รวมถึงแอบพลิเคชั่นสำหรับการลงทุนแลกเปลี่ยนเงินคริปโตโดยเฉพาะ 

การขยายตัวของธุรกิจ Fintech ในเวียดนามก็สร้าง Start-up ระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าธุรกิจเกิน 1 พันล้านเหรียญได้เป็นตัวที่ 2 ของประเทศได้ในที่สุด นั่นก็คือ VNPay 

แต่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไกลกว่านั้น นอกจากการบรรลุเป้าหมายโครงการ ฮานอย สมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางเทคโนโลยีการเงินใหม่ในย่านอาเซียนแล้ว เวียดนามจะต้องมี Fintech Start-up ระดับยูนิคอร์นให้ได้ถึง 10 บริษัทภายในปี 2030 

นั่นจึงเป็นเหตุให้เทคโนโลยีบล็อคเชน และความนิยมเงินดิจิตอลในเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บวกกับทัศนคติของชาวเวียดนามรุ่นใหม่ ที่เรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว มีความมุ่งมั่นในเป็นผู้ประกอบการ และกล้าลงทุน 

ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากรราว ๆ 96.5 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 7% ในแต่ละปี แต่มีเพียง 4 ล้านคนที่มีกระเป๋าเงินดิจิตอลทั่วไปที่ใช้ในประเทศ จึงยังมีกลุ่มตลาดอีกมากมายให้บริษัท Fintech รุ่นใหม่ได้เติบโต และอาจมีการพิจารณาแก้ไขกฏหมายเรื่องการถือครองสินทรัพย์ ดิจิตอลในเร็วๆ นี้ 

แต่ทั้งนี้ ก็ยังคงต้องเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดเงินคริปโต และด้วยโครงสร้างการเมือง การปกครอง รัฐบาลเวียดนามยังไม่อาจปล่อยให้เงินคริปโตไหลเวียนในระบบการเงินในประเทศได้อย่างอิสระ 

ถึงอย่างนั้นก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ กระแสคริปโตเคอร์เรนซีในเวียดนามจะบูมจนทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาสับสวิทช์ หรือคิดใหม่อีกครั้งหรือไม่ และ โครงการ ฮานอย สมาร์ทซิตี้ จะกลายเป็นโมเดลเมือง Fintech ของหลายประเทศในย่านอาเซียนได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องจับตาดูกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://m.sggpnews.org.vn/business/vietnam-has-second-highest-rate-of-cryptocurrency-use-91737.html

https://www.asiablockchainreview.com/outlook-for-vietnams-blockchain-and-crypto-industries-in-2020/

https://www.citypassguide.com/blog/the-rise-of-cryptocurrency-in-vietnam

https://vietnaminsider.vn/why-vietnam-ranked-top-among-countries-use-cryptocurrency-the-most/

https://www.businesstimes.com.sg/asean-business/cryptocurrencies-have-driven-vietnams-fintech-boom-white-paper

https://news.bitcoin.com/vietnam-plans-to-regulate-digital-currencies-after-commissioning-a-crypto-research-group/

https://news.bitcoin.com/cryptocurrency-mining-soars-vietnam-7000-rigs-imported/

https://fintechnews.sg/45354/vietnam/2020-fintech-vietnam-report-and-startup-map/

https://e.vnexpress.net/news/business/companies/digital-payment-firm-vietnam-s-second-startup-unicorn-4199895.html


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top