Friday, 19 April 2024
COLUMNIST

‘Chuck Feeney’ (ชัก ฟีนีย์) อภิมหาเศรษฐีใจบุญ ยอดนักบริจาค ผู้เป็นต้นแบบของ Warren Buffett และ Bill Gates

Chuck Feeney (ชัก ฟีนีย์) ชายชราที่มัธยัสถ์และสุดแสนที่จะธรรมดา แต่สิ่งที่เขาลงมือทำกลายเป็นแบบอย่างให้อภิมหาเศรษฐีของโลกอย่าง Warren Buffett และ Bill Gates ยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม นับถือ และนำมาเป็นแบบอย่าง Chuck Feeney (เกิด 23 เมษายน พ.ศ.2474) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของ DFS บริษัทจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีอันดับ 1 ของโลก (ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือ LVMH : Moët Hennessy Louis Vuitton SE) ร่วมกับ Robert Warren Miller โดย Chuck Feeney ได้ขายหุ้นส่วนของตัวเองไปเพื่อนำเงินไปใช้ทำกองทุนการกุศล The Atlantic Philanthropies (AP)
 

DFS (DFS Group) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2503 เครือข่ายประกอบด้วยสาขากว่า 420 แห่ง รวมถึงร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินหลัก 18 แห่ง และร้านค้าในตัวเมือง 14 แห่ง ปัจจุบันบริหารโดย บริษัท Moët Hennessy Louis Vuitton (LVMH) ร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นของ DFS Robert Warren Miller เมื่อ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2540 DFS Group ดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทลูกของ LVMH สำนักงานใหญ่ของ DFS ตั้งอยู่ในฮ่องกง และมีสำนักงานใน ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเก๊า นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม DFS Group มีพนักงานมากกว่า 9,000 คนดำเนินงานใน 14 ประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ.2560 มีนักเดินทางเกือบ 160 ล้านคนเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการในร้านค้าของ DFS

Chuck Feeney ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ธรรมดา ๆ ในนครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟลอเนีย กับภรรยา Helga Feeney

Chuck Feeney อาศัยอยู่ในนครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟลอเนีย กับภรรยา Helga Feeney เขาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พำนักในอพาร์ทเมนต์ที่มีความเข้มงวดราวกับหอพักของนักศึกษาน้องใหม่ ไม่เคยสวมเสื้อผ้าแบรนด์เนม ไม่ชอบทานอาหารหรูหรา อาหารโปรดที่เขาชอบที่สุดคือแซนด์วิชชีสย่างมะเขือเทศราคาแสนถูก ใช้แว่นตาเก่า ๆ ใส่นาฬิกาธรรมดา และไม่มีรถขับ การเดินทางก็มักใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 

แต่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดในเรื่องการบริจาคขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช้โชคที่ได้รับส่วนใหญ่มาก ๆ ไปกับการบริจาคให้กับการกุศลครั้งใหญ่ แทนที่จะเป็นการบริจาคเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว “เพราะคนเราไม่สามารถนำเงินติดตัวไปในสัมปรายภพได้ ทำไมไม่บริจาคไปทั้งหมด ซึ่งจะสามารถควบคุมการบริจาคได้ว่า เงินบริจาคจะไปให้ใคร ที่ไหน อย่างไร และได้เห็นผลลัพธ์ด้วยตาของคุณเอง” Chuck Feeney กล่าวว่า “เราได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย เราจึงเลือกทำบางอย่างที่แตกต่างออกไป แต่ผมพอใจมาก และรู้สึกดีมากที่ได้ทำสิ่งนี้ได้เสร็จขณะมีชีวิตอยู่” Feeney กล่าวกับ Forbes ว่า “ขอขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมกับผมในการเดินทางครั้งนี้ และสำหรับผู้ที่สงสัยเกี่ยวกับ Giving While Living ขอให้ลองดู แล้วคุณจะชอบ”

ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา Chuck Feeney ได้บริจาคเงินกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กรการกุศล มหาวิทยาลัย และมูลนิธิต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านมูลนิธิ The Atlantic Philanthropies ของเขา เมื่อนิตยสาร Forbes พบเขาครั้งแรกในปี พ.ศ.2555 เขาคาดว่า เขาจะมีเงินเหลือประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สำหรับการเกษียณอายุของเขาและภรรยา กล่าวอีกนัยหนึ่งเขาได้รับเงินมากกว่ามูลค่าสุทธิในปัจจุบันถึง 375,000% และเขาบริจาคไปโดยไม่ระบุชื่อ ในขณะที่ผู้ใจบุญที่ร่ำรวยหลายคนต่างก็เกณฑ์กองทัพนักประชาสัมพันธ์เพื่อปาวประกาศถึงการบริจาคของพวกเขา Chuck Feeney ก็พยายามอย่างมากที่จะเก็บงำการบริจาคของเขาไว้เป็นความลับ เนื่องจากการบริจาคเพื่อการกุศลที่เป็นความลับ และกระจายไปทั่วโลก นิตยสาร Forbes จึงเรียก Chuck Feeney ว่า James Bond of Philanthropy

“การให้ในขณะที่ยังมีชีวิต ทำให้เกิดความแตกต่าง”
Chuck Feeney

ก่อนชายผู้แสนมัธยัสถ์นี้จะอายุ 85 เขาได้ทำอะไรมาบ้าง ?

1.) บริจาคเงิน 588,000,000 เหรียญสหรัฐให้มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยห้ามไม่ให้มหาวิทยาลัยประกาศชื่อผู้บริจาค

2.) บริจาค 125,000,000 เหรียญสหรัฐ ให้มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย 

3.) บริจาค 60,000,000 เหรียญสหรัฐ ให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ต

4.) ลงทุน 1,000,000,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อปรับปรุงมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่ง และอีก 2 แห่งในไอร์แลนด์เหนือ

5.) จัดตั้งกองทุนการกุศล The Atlantic Philanthropies (AP) ให้การรักษาพยาบาลฟรีสำหรับเด็กปากแหว่งในประเทศที่กำลังพัฒนา

6.) ได้บริจาคเงินไปทั้งสิ้น 8,000,000,000 เหรียญสหรัฐ เมื่ออายุ 89 ปี

วันที่ 14 กันยายน 2020 Chuck Feeney พร้อมด้วยภรรยา Helga Feeney ได้ลงนามในเอกสาร ณ นครซานฟรานซิสโกอันเป็นการปิดการบริจาคให้ The Atlantic Philanthropies (AP)

แม้ว่า Chuck Feeney จะรักในการหาเงิน แต่ก็ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดมาก Chuck Feeney มีความปรารถนาว่า ก่อนปี พ.ศ.2559 เขาจะบริจาคเงินที่เหลือให้หมด เพื่อจะได้ตายอย่างตาหลับ โดยเงินของเขาได้กระจายไปทั่วโลกให้พื้นที่จำเป็นในอัตรา 400,000,000 เหรียญสหรัฐ ต่อปี และในเดือนกันยายน พ.ศ.2563 Chuck Feeney ก็ทำได้สำเร็จ โดยเขาเหลือเงินเพื่อใช้ดำรงชีวิตกับภรรยาเพียงสองล้านเหรียญเท่านั้น 

วันที่ 14 กันยายน ค.ศ.2020 Chuck Feeney พร้อมด้วยภรรยา Helga Feeney ได้ลงนามในเอกสาร ณ นครซานฟรานซิสโกอันเป็นการปิดการบริจาคให้ The Atlantic Philanthropies (AP) หลังจากบริจาคมาแล้วทั่วโลกเป็นเวลาสี่ทศวรรษ The Atlantic Philanthropies พิธีซึ่งกระทำบนระบบ Zoom กับ The Atlantic Philanthropies รวมถึงข้อความวิดีโอจาก Bill Gates และอดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟลอเนีย Jerry Brown ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ Nancy Pelosi ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อขอบคุณ Feeney สำหรับการบริจาคของเขา

“ผมมีหนึ่งความคิดในใจ ซึ่งไม่เคยเปลี่ยน นั้นคือ เราต้องใช้ความมั่งคั่งที่มีเพื่อช่วยเหลือผู้คน” Chuck Feeney

เขาเป็นตัวอย่างสำหรับคนรวยที่ว่า "ในขณะที่มีความสุขกับชีวิต ต้องแบ่งปันความสุขนี้ให้กับผู้อื่นด้วย" การทำการกุศลของ Chuck Feeney เป็นที่โด่งดังมาก ผู้สื่อข่าวจำนวนมากเดินทางไปยังบ้านของเขา แล้วทุกคนก็ล้วนแต่แปลกใจ และถาม Chuck Feeney ว่า “คุณมีทรัพย์สินมากมาย ทำไมถึงไม่ใช้ชีวิตที่สวยหรู" 

เพื่อตอบข้อสงสัยของทุกคน Chuck Feeney ยิ้ม และบอกเล่าเรื่องราว 

"สุนัขจิ้งจอก พบไร่องุ่นที่เต็มไปด้วยผลไม้ อยากจะเข้าไปในไร่ เพื่อกินองุ่นให้เต็มที่ แต่มันอ้วนเกินไป เลยมุดผ่านรั้วไร่องุ่นไปไม่ได้ ดังนั้นมันจึงไม่กินไม่ดื่มอยู่สามวัน และแล้วตัวมันก็ผอมลง จนมุดผ่านรั้วเข้าไปในไร่องุ่นได้ ! 

เมื่อกินอิ่มเป็นที่พึงพอใจแล้ว แต่…ตอนที่จะกลับออกไป กลับออกไม่ได้อีก ทำอย่างไรก็ไม่ได้ เมื่อไม่มีทางเลือก มันจึงต้องอดน้ำ อดอาหารอีกสามวันสามคืน จนสุดท้ายแล้ว ท้องของมันตอนที่ออกมาจากไร่องุ่น ก็เหมือนกับตอนที่มันเข้าไปในไร่องุ่น" 

เมื่อเล่าเสร็จ Chuck Feeney กล่าวว่า "บนสวรรค์นั้นไม่มีธนาคาร ทุกคนเกิดมากับความว่างเปล่า ในที่สุดก็จากไปแบบมือเปล่า ไม่มีใครสามารถนำความมั่งคั่งไปกับความตายได้" และเมื่อมีสื่อถาม Chuck Feeney ทำไมต้องบริจาคเงินออกไปจนหมด คำตอบของเขาง่ายมาก ๆ และไม่มีใครคาดถึง เขากล่าวว่า "เพราะถุงใส่ศพนั้นไม่มีกระเป๋า" อันที่จริงแล้วความจนของเขาเกิดจากการบริจาคเงินมหาศาล สิ่งที่เขาได้มา ได้ส่งคืนกลับไปสู่สังคมทั้งหมด มันช่วยทำให้เขามีความสุขมากกว่ามีเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเสียอีก


Chuck Feeney กับ Warren Buffett

Chuck Feeney จึงมีอิทธิพลต่อทั้ง Warren Buffett และ Bill Gates เมื่อพวกเขาเปิดตัว การให้คำมั่นสัญญาในปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นการรณรงค์เชิงรุกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก บริจาคทรัพย์สมบัติอย่างน้อยครึ่งหนึ่งสำหรับการกุศล ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิต “Chuck Feeney เป็นต้นแบบที่สำคัญในแง่ของแรงบันดาลใจในการให้และทำตามคำมั่นสัญญา” Warren Buffett กล่าวว่า “เขาเป็นต้นแบบสำหรับพวกเราทุกคน ซึ่งจะต้องใช้เวลาราว 12 ปีหลังจากที่เสียชีวิตเพื่อทำสิ่งที่เขาทำภายในช่วงชีวิตของเขา” สำหรับ Bill Gates ได้กล่าวถึง Chuck Feeney ว่า “Chuck ได้สร้างเส้นทางให้ผู้ใจบุญคนอื่น ๆ เดินตาม ผมจำได้ว่า พบเขาก่อนเริ่มการให้คำมั่นสัญญา เขาบอกผมว่า เราควรสนับสนุนผู้คน ไม่ให้เพียงแค่ 50% แต่ให้มากที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา ไม่มีใครเป็นตัวอย่างที่ดีไปกว่า Chuck หลายคนพูดกับผมว่า Chuck Feeney เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้อย่างไร ช่างน่าทึ่งจริง ๆ ”

“Chuck ได้สร้างเส้นทางให้ผู้ใจบุญคนอื่น ๆ เดินตาม ผมจำได้ว่า พบเขาก่อนเริ่มการให้คำมั่นสัญญา เขาบอกผมว่า เราควรสนับสนุนผู้คนไม่ให้เพียงแค่ 50% แต่ให้มากที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา” Bill Gates
 

ถอดรหัส สภาพภูมิอากาศเมืองไทย สวรรค์แห่งการตั้งรกราก ที่ใคร ๆ ก็อยากมาอยู่อาศัย

ตอนนี้เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน คงได้ยินข่าวดังตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสฮิต นอกจากข่าวการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละวันแล้ว นั่นก็คือข่าวการตั้งกลุ่มชักชวนกันย้ายตัวเองไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ  ซึ่งคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่น่าจะมีการพูดถึงไปอีกซักระยะหนึ่งในสภาวะปัจจุบันที่โควิด-19 กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้ 

สำหรับในวันนี้ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วง หรือพูดถึงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะข้อดีสำหรับที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันกับภูมิอากาศที่เหมาะสมในการตั้งรกรากที่อยู่อาศัย ในรูปแบบเชิงภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันครับ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าถ้าให้ประชากรทั่วโลก โหวตเลือกว่าอยากไปอยู่ประเทศไหนกันมากที่สุดในบั้นปลายของชีวิต ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าประเทศไทยต้องติดอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน 

ในการเป็นประเทศปลายทางที่มีผู้คนอยากมาอยู่อาศัย จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศเราในสถานการณ์ปกติ หรือแม้แต่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่มักจะมาแต่งงานกับภรรยาชาวไทย เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในประเทศไทยในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยเฉพาะแถวภาคอีสานที่มีเป็นจำนวนมาก จนบางหมู่บ้านถูกขนานนามว่า เป็นหมู่บ้านเขยฝรั่งเลยทีเดียว 

สำหรับที่ตั้งของประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ กับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดหรือที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออก กับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก เมื่อดูลักษณะภูมิประเทศแล้ว ด้านทิศตะวันออกจะมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศลาว และทิศเหนือติดกับประเทศลาวและประเทศพม่า ส่วนทิศใต้จะติดประเทศมาเลเซีย และถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรขนาบด้านข้างซ้ายและขวา นอกจากนั้นเมื่อดูที่ตั้งของประเทศไทย แล้วด้านตะวันออกถัดไปจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเป็นมหาสมุทรที่เรียกว่าทะเลจีนใต้ ส่วนทิศใต้ก็จะถูกล้อมรอบด้วยทะเลอ่าวไทยในด้านตะวันออก และทะเลอันดามันในด้านตะวันตก ส่วนทิศเหนือเมื่อไล่ขึ้นไปข้างบนต่อจากประเทศลาว เวียดนาม ก็จะเป็นประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จากลักษณะพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยทั้งภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบต่ำ แม่น้ำ ตลอดทั้งมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้มีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เรียกว่าอยู่ในประเทศเดียวมีครบทุกอย่างไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยทีเดียว “นี้คือข้อดีข้อแรกของประเทศไทยครับ”

ทีนี้เราลองมาดูลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทยกันบ้างครับ จากพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยมีฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝนในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นและฝนเข้ามา ฤดูหนาวในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาความหนาวเย็นลงมา และฤดูร้อนในช่วงประมาณ เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยในช่วงนี้อาจมีลมพัดเข้ามาหลายทิศทาง ทำให้อากาศมีความแปรปรวน ส่งผลให้บางครั้งฤดูกาลในประเทศไทยอาจไม่แน่นนอน โดยอาจมีฝนตกในช่วงฤดูร้อน หรืออากาศหนาวในช่วงเดือนมีนาคมก็เป็นไปได้ 

ทีนี้จะมาพูดถึงลักษณะของการเกิดฤดูกาลในประเทศไทยกันบ้างนะครับ ทั้งนี้โดยทั่วไปประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และถูกขนาบด้วยมหาสมุทร ทำให้เราถูกเรียกว่าเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น คือประเทศที่มีความร้อนสูงเนื่องจากการทำมุมองศากับดวงอาทิตย์ของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ เราอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า ในขณะเดียวกันประเทศเราก็มีความชื้นเนื่องจากไอน้ำที่ถูกพัดพามาจากมหาสมุทรที่ขนาบข้างอยู่นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นแล้วในสภาวะกาลปกติแล้วประเทศไทยจึงมีความร้อนค่อนข้างจะสูง โดยช่วงที่ร้อนจะกินเวลาค่อนข้างจะยาว คือช่วงฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และเลยไปถึงช่วงหน้าฝนด้วยคือประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างหน้าร้อนก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะร้อนตลอดเวลา เพราะในระหว่างร้อน ๆ ก็จะมีลมหนาวที่พัดมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาเป็นระยะ ๆ เสมอ พอมาเจอกับลักษณะอากาศร้อนชื้นทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการปลูกพืชของเกษตรกรในหน้าแล้ง 

โดยทั่วไปแล้วการเกิดพายุฤดูร้อนจะเกิดช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่วงหน้าแล้งพอดี ส่งผลให้ประเทศไทยเราสามารถปลูกพืชในหน้าแล้งที่ไม่ต้องการน้ำมากได้ ได้แก่ อ้อย มันสำประหลัง ซึ่งนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ “เห็นไหมละครับข้อดีอีกข้อของประเทศไทย ในขณะที่เป็นฤดูแล้งก็ยังมีฝนตกลงมาให้พอปลูกพืชได้” 

มาดูกันต่อนะครับ พอในช่วงฤดูฝนหรือที่เราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าฤดูมรสุม ประเทศไทยก็จะมีฝนตกชุก และเมื่อเกิดพายุในหน้ามรสุม ซึ่งจะเป็นพายุที่มีความรุนแรงสูง และกินพื้นที่เป็นระยะกว้าง โดยทั่วไปพายุที่พบส่วนใหญ่จะก่อตัวในมหาสมุทรแถวทะเลจีนใต้ ลักษณะทั่วไปของพายุนั้นเพื่ออยู่ในมหาสมุทรจะมีความรุนแรงหรือความเร็วลมสูง แต่เมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งความรุนแรงของพายุก็จะลดลง จากพิกัดที่อยู่ของประเทศไทย เมื่อพายุเคลื่อนเข้าหาฝั่ง ก่อนที่พายุจะเคลื่อนมาถึงประเทศไทย ก็จะผ่านประเทศเพื่อนบ้านเราก่อน คือเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งจะเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านที่รับอิทธิพลของพายุก่อนที่จะมาถึงไทย ส่งผลให้พายุมีความเร็วลมลดลงเมื่อมาถึงไทย ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากพายุของประเทศไทยมีน้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นมีบางปีที่พายุก่อตัวแล้วเคลื่อนที่ลงใต้ไปยังอ่าวไทย และเคลื่อนที่ผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะมีผลกระทบกับประเทศไทยสูง เนื่องจากไม่มีประเทศเพื่อนบ้านคอยรับลมพายุ แต่จะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ผ่านมาด้านบนของประเทศไทย 

“เห็นไหมละครับข้อดีของประเทศไทยอีกข้อ เหมือนเรามีเมืองหน้าด่านที่คอยรับศึกจากพายุแทนเรา พอข้าศึกเคลื่อนที่มาถึงประเทศไทยเราก็อ่อนล้าหมดแรงลดความรุนแรงลง เหลือแค่การพาเอาฝนมาตกในประเทศไทยเท่านั้น” 

'ลดหย่อนภาษี' สิทธิประโยชน์ดี ๆ ที่กิจการ SMEs ควรรู้

ความเข้าใจในหลักการจัดเก็บและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่กิจการจะสามารถจัดการเพื่อชำระภาษีภายในกำหนดเวลาอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามกฏหมายแล้วเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่ภาระภาษีที่มีจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่ใช่การหลีกเลี่ยง ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาภาษีอากร และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้

รูปแบบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำแนกได้ทั้งในรูปของนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด) และ บุคคลธรรมดา (เจ้าของคนเดียว คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ) ดังนั้นภาระภาษีที่เกี่ยวข้องจึงเป็นไปตามรูปแบบของ SMEs ที่ผู้ประกอบการเลือก 

อย่างไรก็ตามในปีภาษี 2563 หากเปรียบเทียบระหว่างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า SMEs ที่เป็นนิติบุคคล มีอัตราภาษีสูงสุดที่ต้องจ่าย ต่ำกว่า SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 15% (นิติบุคคล 20% บุคคลธรรมดา 35% ) 

โดยในช่วงกำไรสุทธิ 300,000 บาท แรกของ SMEs นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนในกรณีที่มีผลขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำผลขาดทุนสุทธิ 5 ปีย้อนหลังมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ SMEs นิติบุคคล โดยให้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 

1.) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

2.) รายจ่ายจากการจ้างเงินผู้สูงอายุ รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รายจ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC รายจ่ายเพื่อส่งเสริมการเนินธุรกิจของ SMEs หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

3.) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า 

4.) SMEs รายใหม่ (New Start-Up) ที่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบระยะเวลาบัญชี 

นอกจากนี้กรมสรรพากรกำหนดมาตรการดูแล SMEs นิติบุคคล จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในปีภาษี 2563 ได้แก่

1.) ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ช่วงเมษายน ถึง ธันวาคม 2563 นำมาเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 1.5 เท่า

2.) รายจ่ายค่าจ้างพนักงานตั้งแต่มกราคม ถึง กรกฏาคม 2563 นำมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า 

3.) เงินบริจาคหรือสินทรัพย์ช่วย COVID-19 หักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2563 ถึง 5 มีนาคม 2564 

4.) รายจ่ายในการต่อเติม ปรับปรุงทรัพย์สินของกิจการโรงแรม นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

5.) การอบรมสัมมนาในประเทศ นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

6) ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการที่มีรายได้จากค่าจ้างทำของ ค่าบริการ ค่านายหน้า ค่าวิชาชีพอิสระ ลดเหลือ 1.5% ในช่วงเมษายน ถึง กันยายน 2563 และ ลดเหลือ 2% ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564

และในปีภาษี 2564 กรมสรรพากรได้ปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุน SMEs สู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ในยุคดิจิทัล โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า สำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่จ่ายให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 อีกด้วย

จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ SMEs นิติบุคคล ดังกล่าวข้างต้น อาจเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดใหญ่ พิจารณาเลือกจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เพื่อให้ได้เปรียบมากกว่าในรูปแบบของบุคคลธรรมดา 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดให้มีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบันทึกรายรับรายจ่ายของกิจการ รวมถึงการเก็บใบเสร็จหรือใบสำคัญต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงรายการต่างๆ ของธุรกิจ และคำนวณภาษีตามฐานกำไรสุทธิของกิจการต่อไป


ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สรรพากร https://www.rd.go.th/47331.html
 

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 5 การป้องกัน และการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้นยังพอมีหนทางที่จะทำได้ ซึ่งตอนที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้เสนอแนะในเรื่องการใช้งบการเงินในฐานะเครื่องมือที่ทรงพลังในการส่งสัญญาณที่ผิดปกติของแต่ละองค์กรภาครัฐไปแล้วนั้น สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบในการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีองค์ประกอบสำคัญในภาพใหญ่สองด้าน นั่นคือ (1) การป้องกันการทุจริต และ (2) การปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในโอกาสครบรอบ 4 ปีการจัดตั้ง ป.ป.ช. ว่า 

“…มีวิธีใดบ้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้น้อยลงไปได้นั้น เห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมี 2 วิธี คือ การป้องกันและการปราบปราม สำหรับการป้องกันนั้นถ้าได้ผล การปราบปรามก็จะมีความสำคัญน้อยลง ดังนั้น การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงควรเน้นหนักที่การป้องกัน แต่การที่จะทำให้การทุจริตลดน้อยลงได้นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นฝังรากลึกในระบบราชการ การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลจึงยากมาก ดังนั้น ก่อนที่จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรศึกษาอย่างเป็นระบบว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมีวิธีการอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน…” 

ในประเด็นนี้ นักคิด นักปฏิบัติ และผู้คร่ำหวอดในวงการธรรมาภิบาล เช่น ดร.บัณฑิต นิจถาวร ได้กล่าวไว้ว่า “มี 2 สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ยาก สาเหตุแรก การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ อีกเหตุผลหนึ่ง คือ สังคมเองอ่อนแอ” และเมื่อวิเคราะห์บริบทสำคัญย้อนกลับไปในอดีตนั้น จะพบว่า การที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และระบบอิทธิพลสูง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงและแก้ไขยาก ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “...คนพร้อมจะช่วยกันทำความผิด พร้อมช่วยคนผิดให้พ้นผิด และที่แย่ที่สุด คือ พร้อมสรรเสริญคนผิด เพียงเพราะเขารวย ไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความร่ำรวย ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้คนยิ่งกล้าทำผิดเพราะนอกจากจะรวยแล้ว ไม่ถูกจับแล้ว ยังมีคนสรรเสริญ มีหน้ามีตาในสังคม ในสังคมไทยเรื่องนี้ชัดเจน และเป็นความอ่อนแอ ทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นบันไดไต่เต้าให้กับคน จากที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นคนที่สังคมรู้จัก ร่ำรวย มีตำแหน่ง แม้จะโกงบ้านโกงเมือง...”

กลับมาที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เมื่อการป้องกันสำคัญกว่าการปราบปราม และหากสังคมเข้มแข็ง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกรณีการทุจริตประพฤติมิชอบ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะเบาบางลง ดังนั้น หากเรามองไปดูประเทศอื่นที่แต่เดิมปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง ว่าประเทศเหล่านั้นแก้ปัญหาได้อย่างไร และสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร เราจึงควรพิจารณากลุ่มประเทศที่ได้รับคะแนน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index--CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ซึ่งประเทศที่มีค่า CPI-2020 เกินครึ่งมีเพียง 57 ประเทศเท่านั้นจากการเปิดเผยข้อมูลใน 180 ประเทศและประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 โดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาในปี 2536 โดยมีพันธกิจสำคัญ คือการหยุดการคอร์รัปชั่น และส่งเสริม ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ ความซื่อสัตย์ในทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม (Our mission is to stop corruption and promote transparency, accountability and integrity at all levels and across all sectors of society.)

ความน่าสนใจก็คือ หากย้อนเวลากลับไปในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง ประสบปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนัก มีคำกล่าวของคนฮ่องกงในยุคนั้นว่า แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็ต้องโดนรีดไถแล้ว แต่ประมาณ 30-40 ปีต่อมาทั้งสองกลับมีการพัฒนาอย่างยิ่งยวด ทั้งที่หากมองจุดตั้งต้นทางเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นทางการเงินและทรัพยากรสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง จุดพลิกผันสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งคนสิงคโปร์และฮ่องกงยอมรับคือ การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศทั้งสองมีความเจริญก้าวหน้ามีการพัฒนาเช่นทุกวันนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่เป็นแคมเปญรณรงค์ขององค์กรความโปร่งใสสากลในปี 2547 ที่ว่า เมื่อมีคอร์รัปชั่นทุกคนเป็นผู้จ่าย (With corruption everyone pays)

น่าสนใจอย่างยิ่งละครับ

งานศึกษาจำนวนมากสรุปว่า “ความตั้งใจของคนในชาติ และผู้นำ” มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยที่สิงคโปร์และฮ่องกงจัดตั้งหน่วยงานพิเศษสำหรับการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ (ก็คล้าย ๆ ป.ป.ช. บ้านเรา) และหน่วยงานดังกล่าวเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่ไฟแรงและมีอุดมการณ์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เป็นทั้งผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ รายงานของ Transparency International เองก็ให้ข้อเสนอแนะในแนวทางเดียวกัน คือ ผู้นำรัฐบาลมีบทบาทสำคัญ และจะต้องแสดงออกชัดเจนถึงพันธกรณี โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

กรณีของฮ่องกงนั้น ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง I Corrupt All Cops (2009) ผลงานการกำกับของ หว่อง จิ้ง (Wong Jing) คำอธิบายของภาพยนตร์ดังกล่าวให้ข้อมูลว่า หว่อง จิ้ง เติบโตทันที่จะเห็นสภาพสังคมฮ่องกงในยุคที่ ตำรวจกับโจรแทบไม่ต่างกัน มาจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 80-90 ที่ผู้ปกครองฮ่องกงปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จนทำให้วันนี้ ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีความโปร่งใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

I Corrupt All Cops เริ่มต้นด้วยการฉายให้เห็นความฟอนเฟะของสังคมฮ่องกงยุค 50-70 ที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย คือ “หัวโจก” ใหญ่ของการรีดนาทาเร้นประชาชน โดยรัฐบาลที่ปกครองเกาะฮ่องกง ทำได้แค่ “หลี่ตา” แถมตัวหัวหน้าตำรวจยังรู้เห็นเป็นใจกับแก็งค์มาเฟีย โดยรับส่วยแลกกับการให้ความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมายและไม่ต้องถูกจับ การก่อตั้งหน่วย Independent Commission Against Corruption (ICAC) กลายเป็นความหวังที่เหลือของคนฮ่องกง แม้ว่าช่วงแรก ๆ คนจะมองว่าเป็นเพียงหน่วยงาน “เสือกระดาษ” ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่แตกต่างจากตำรวจทั่วไป แต่โชคดีที่หน่วยงานใหม่นี้เต็มไปด้วย คนหนุ่มไฟแรง นักศึกษาจบใหม่ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น อยากเห็นสังคมฮ่องกงดีขึ้น ต่างเข้ามาสมัครเป็นพนักงาน ท้ายที่สุด ICAC ได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดีรูปแบบหนึ่งของโลก

แต่กว่าจะเห็นความสำเร็จ คนที่เคยต่อสู้กับความอยุติธรรม และการคอร์รัปชั่นมาก่อนจะรู้ว่าไม่ง่าย

ความน่าสนใจคือ แล้วจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอย่างไร และจะฝ่าด่าน “แบบไทย ไทย” ได้หรือไม่ น่าติดตามในตอนหน้านะครับ

อัพเดตข้อมูลข่าวสารเล็กน้อยครับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีของเล่นใหม่ คือ คลังข้อมูลการป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Toolbox) สำหรับให้ประชาชนและเครือข่ายเข้าไปใช้บริการ ทั้งการเล่นเกม การแจ้งเบาะแส และข้อมูลต่าง ๆ น่าสนใจครับในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ขอให้ผู้สนใจลองดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้ เพื่อยืนยันว่าอย่างน้อยเราก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเล็ก ๆ ที่จะไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

คราวหน้าจะมาพูดถึงกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงครับ ว่าเค้าประสบความสำเร็จในการต่อสู้คอร์รัปชั่นอย่างไร และการมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญไม่แพ้การมีผู้นำที่ดีอย่างไร

 

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” จากมุมมองของครูบัญชี (ตอนที่1)

ในแต่ละปีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาออกมารับใช้สังคมเป็นจำนวนมากบางส่วนออกไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ก็มีบัณฑิตบางส่วนที่มีความคิดไม่อยากเป็นพนักงานประจำอยากมีกิจการเป็นของตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีในการกำหนดรูปแบบและประเภทของกิจการวิธีการดำเนินงานจะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตได้ในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอแนวความคิดเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับบัณฑิตหรือผู้ที่มีความสนใจอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองในการนำไปปรับใช้ สำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้ข้อมูลทางด้านบริหารธุรกิจโดยเฉพาะทางด้านศาสตร์บัญชี เพื่อทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises หรือ MSME) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นการประกอบธุรกิจเนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากการรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2563 ของคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานพบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP MSME ยังคงขยายตัวได้สูงมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคของภาครัฐ และภาคเอกชน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการบริการ ยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง 

ในทางกลับกันดัชนีความเชื่อมั่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 47.5 เท่ากับค่าเฉลี่ยของปี 2561 และเมื่อจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการ MSME ภาคการค้า และภาคการบริการ มีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยในปี 2562 ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ยังต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดีนักโดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากความต้องการของตลาดโลกลดลงการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติสงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริการวมทั้งค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่ารวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร

หากสังเกตจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงแม้นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.5 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 46.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เป็นอย่างมากโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP MSME ในปี 2563 อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 6.2 (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ) 

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) จำนวน 2,700 รายพบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มีแผนการปรับตัวทางธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 84.8 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวในด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รองลงมา คือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และ การเพิ่มประเภทสินค้าและรูปแบบการให้บริการ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมทักษะในการทำตลาดออนไลน์ การสนับสนุนต้นทุนขนส่งสินค้า และ การประชาสัมพันธ์สินค้าออนไลน์ท้องถิ่น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือโดยตรงต่อธุรกิจ MSME ที่มีความต้องการ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีและเงินกู้ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ไม่สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน ได้แก่ การขาดหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอปัญหาด้านประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาและการขาดเอกสารหลักฐานแสดงรายได้ (https://www.ryt9.com/s/cabt/3190747

แม้นว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีความสำคัญเพียงใดก็ตาม ในบทบาทของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับการองค์การได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพปัญหาภายในองค์กร เช่น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คุณภาพสินค้า รูปแบบบรรจุภัณฑ์ รูปแบบการให้บริการ ช่องทางการส่งเสริมการขาย หรือสภาพปัญหาภายนอกองค์กร เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อมาตรการด้านภาษี หรือแม้นกระทั่งแหล่งเงินทุนขององค์การ ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่องค์การได้นั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นแนวทางในเบื้องต้นสำหรับการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย โดยมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยต้องอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ของรัฐนักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม มีการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งวัตถุสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (สุเมธตันติเวชกุล, 2550, http://www.rdpb.go.th/th/Sufficiency

จากแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) จะพบว่าเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ดังนั้นในการที่จะเป็นเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจใด ๆ หากนำแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน โดยอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งก็จะทำให้ธุรกิจมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

ในการเป็นผู้ประกอบการนั้น อาจจะเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว หรืออาจจะมีหุ้นส่วนรวมกันหลายคน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการ โดยรูปแบบของธุรกิจสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

บุคคลธรรมดา : บุคคลทั่วไป ที่มีชีวิตอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 15)

คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อการทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน โดยทะเบียนนิติบุคคลหุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ห้างหุ้นส่วนจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน หุ้นส่วนมีทั้งที่จำกัดความรับผิดและไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บริษัทจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนลงทุน และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วิสาหกิจชุมชน : กิจการของชุมชนที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวประกอบกิจการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน โดยมีการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 2548 กับกรมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนการเกษตร 

ที่มา : https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/360_1_2.pdf

หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะพอมีแนวทางในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อประกอบธุรกิจในเบื้องต้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลพยายามเร่งพัฒนายกระดับให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการทำธุรกิจให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น และสามารถอยู่ได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ และมีการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันต้องถือว่าเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มทุกอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ไว้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทและขนาดของของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลต่อจากการกำหนดรูปแบบของธุรกิจ 

หมายเหตุ: แนวคิดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในบทความเป็นของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัด 

‘เมืองแปร’ มิแปรเปลี่ยนใจ สถานที่แห่งความทรงจำ กาลครั้งหนึ่งในเมียนมา

ผมมีโอกาสได้เดินทางไปในเมียนมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ได้พบสถานที่มากมาย ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมและแนวคิด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่มีสถานที่หนึ่งที่มีความงดงามทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนจนผมไม่มีวันลืม ที่นั่นคือ ‘เมืองแปร’ หรือ ‘เมืองปีย์’ ในภาษาพม่านั่นเอง

เมืองแปร ห่างจากย่างกุ้งออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร โดยการเดินทางสามารถไปได้ 2 ทางคือเดินทางผ่านเมืองมอว์บิ (Hmawbi) ขึ้นไปทางเมืองสายาวดี (Tharawaddy) จนถึงเมืองแปร ซึ่งเส้นนี้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่หากคุณเป็นสายท่องเที่ยวแวะเมืองนั้นเมืองนี้ด้วยแล้วละก็สามารถไปอีกทางหนึ่งคือไปทางรัฐอิรวดีผ่านเมืองซาลุน (Zalun) แวะสักการะเจดีย์ Zalun Pyi Taw Pyan ที่มีตำนานว่าเคยเกือบฆ่าพระนางวิคตอเรียมาแล้ว โดยเรื่องราวนี้มีอยู่ว่าเมื่ออังกฤษยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แล้วก็ขนทองเหลืองกลับไปอังกฤษเพื่อหลอมทำปืนใหญ่ ซึ่งทองเหลืองที่ติดไปด้วยในครั้งนั้นคือพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนแห่งนี้ 

เมื่อไปถึงช่างหลอมปืนใหญ่ก็ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาหายตายไปเรื่อย ๆ ส่วนพระนางวิคตอเรียในขณะนั้นก็ทรงพระสุบินประหลาดว่ามีคนน่ากลัวมาบอกว่าหากไม่นำพระพุทธรูปแห่งเมืองซาลุนที่อยู่ในห้องเก็บทองเหลืองสำหรับหล่อปืนใหญ่กลับไปคืน พระนางจะสิ้นพระชนม์ภายใน 10 วัน เมื่อพระนางตื่นจากความฝันก็ทรงให้เหล่าทหารไปค้นหาว่ามีพระพุทธรูปนี้จริงไหม สรุปว่ามีจริง…ทำให้พระนางรีบส่งพระพุทธรูปนี้กลับจากอังกฤษมายังพม่าเพื่อกลับมาประดิษฐานยังที่นี่นับจากนั้นเป็นต้นมา

พระพุทธรูป Zalun Pyi Taw Pyan ที่พระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรยังหวาดหวั่นในความศักดิ์สิทธิ์

แต่เส้นทางนี้จะสมบุกสมบันกว่าเส้นทางแรกและมีระยะทางยาวกว่า 100 กิโลเมตร และยังใช้เวลาเดินทางมากกว่าทางแรกมากกว่า 2 ชั่วโมงอีกด้วย หากใครใจไม่รักในการเที่ยวแบบลุย ๆ เสียเวลานั่งรถชมวิวไปเรื่อยแล้วละก็แนะนำเส้นทางแรกดีกว่า

เมื่อมาถึงเมืองแปรแล้ว ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายแต่สถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่เลย ผมขอแนะนำ 2 ที่สำหรับใครที่มาเมืองแปรแล้วถ้าไม่มาที่นี่ถือว่ามาไม่ถึง ที่แรกคือแหล่งมรดกโลกอาณาจักรศรีเกษตร (Thayay Khittayar Ancient Cities) ที่นี่คือจุดกำเนิดของจักรวรรดิเมียนมาที่ยิ่งใหญ่ ที่นี่เป็นอาณาจักรของชาวพิว (Pyu) ในภาษาไทยมักจะเขียนว่าพยู หรือ ปะยู เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเดียวกันกับอาณาจักรฟูนัน ศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองศรีเกษตร ปัจจุบันคือเมืองเมืองฮมอซา (Hmawza) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแปร (Pyay) ไปทางใต้ 6 ไมล์ มีอาณาบริเวณครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศพม่าในปัจจุบัน ชนชาติปะยูนับถือพระพุทธศาสนา ได้รับความเจริญทางอักษรศาสตร์จากอินเดีย ชนชาติพิวนั้นมีเชื้อสายเดียวกับพม่า โดยอพยพลงมาจากทิเบตและทางตอนใต้ของจีน ในยุคที่รุ่งเรืองอาณาจักรนี้มีอำนาจปกครองเกือบตลอดแหลมมลายู จากนั้นถูกชนชาติมอญและอาณาจักรน่านเจ้ารุกราน และเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม เข้ามารุกรานทำให้อาณาจักรศรีเกษตรล่มสลายไป

มีหลักฐานมากมายว่าชาวพิว มีความสัมพันธ์กับชาวพม่าในยุคต่อ ๆ มา โดยแสดงออกมาทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่พบในเมืองศรีเกษตร อย่างเช่นเจดีย์ขนาดใหญ่แบบก่อตัน เป็นเจดีย์ทรงระฆังชื่อว่าเจดีย์บอบอจี (Bawbaw Gyi) และเจดีย์ปะยาจีย์ (Pya Gi) ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบให้กับงานสถาปัตยกรรมของพม่าในยุคต่อ ๆ มา ได้แก่ เจดีย์ชเวดากอง มิงกาลาเจดีย์ เจดีย์ธรรมยันสิกะ เป็นต้น มีเจดีย์วิหารเป็นสิ่งก่อสร้างจากอิฐที่มีลักษณะรวมกันระหว่างเจดีย์ก่อตันและอาคาร (วิหาร) ที่เข้าไปใช้สอยพื้นที่ภายในในการประกอบพิธีกรรมได้ เจดีย์วิหารที่สำคัญ ได้แก่ วิหารเบเบจี (Bebe Gyi) และวิหารเลเมียทนา (Limyethna) อาคารลักษณะนี้เชื่อว่าพัฒนาไปเป็นเจดีย์วิหารที่มีขนาดใหญ่ในสมัยพุกามต่อมา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานงานประติมากรรมที่ทำจากหินสลัก ประติมากรรมดินเผา ซึ่งพบว่าเป็นดินชนิดเดียวกับอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและเจดีย์ ประติมากรรมสำริด โดยมีการพบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ประติมากรรมสำริดกลุ่มนักดนตรีและนักเต้นรำ โดยที่ท่ารำนั้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างอารยธรรมของอาณาจักรอินเดียและอาณาจักรศรีเกษตร

อีกสถานที่หนึ่งที่ผมขอแนะนำในแปรคือ ภูเขาอะก๊อกต่อง (A Kauk Taung) รูปหินสลักพระพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี หากใครจะเดินทางไปชมจะต้องไปลงเรือของชาวบ้านแล้วเดินทางไปยังที่แห่งนี้  เชื่อว่ารูปสลักหินที่นี่มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีเกษตรคือมากกว่า 2500 ปีเลยทีเดียว

แม้ผมจะเคยไปมาแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังอยู่ในความประทับใจไม่ลืมเลือนและหากสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด ผมจะกลับไปเยือนอีกครั้งแน่นอน และที่นี่คือ “เมืองแปร สถานที่ที่เวลาไม่เคยทำให้มนต์เสน่ห์ของเมืองแปรเปลี่ยนไป”

Second class citizen (พลเมืองชั้นสอง) ส่องด้านมืด จากโลกสวยในต่างแดน

ด้วยระยะนี้มีกระแสจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยากย้ายประเทศ เลยต้อง Search หาข้อมูลสำหรับเขียนบทความสักเรื่อง ก็เจอะเจอกับเรื่องของ Second Class Citizen ซึ่งเป็นนวนิยายเขียนโดยนักเขียนชาวไนจีเรีย Buchi Emecheta ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) โดย สำนักพิมพ์ Allison และ Busby ในกรุงลอนดอน ต่อมาสำนักพิมพ์ George Braziller ได้รับลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2518 Second Class Citizen เป็นเรื่องราวที่น่าปวดหัวของหญิงชาวไนจีเรียผู้มีไหวพริบ สามารถเอาชนะการครอบงำของผู้หญิงในชนเผ่าที่เข้มงวด และเอาชนะความพ่ายแพ้นับไม่ถ้วน เพื่อให้มีชีวิตที่เป็นอิสระสำหรับตัวเธอเองและลูก ๆ ของเธอ นวนิยายเรื่องนี้มักอธิบายว่า เป็นอัตชีวประวัติของการเดินทางจากไนจีเรียไปยังลอนดอนตามวิถีของผู้เขียน Buchi Emecheta

Adah เกิดเป็นหญิง เมื่ออยู่ไนจีเรีย เป็นหญิงผิวสี จึงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของอังกฤษ เมื่อเธอแต่งงานก็กลายเป็นทาสของสามี ชะตากรรมของพลเมืองชั้นสอง ผู้ฉลาด และเข้มแข็ง ภายใต้การนำของสามีผู้โง่เขลาและอ่อนแอ 

Second Class Citizen ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการเอาชนะการต่อสู้ และการใช้ชีวิตร่วมสมัยของสตรีแอฟริกันผิวสี ด้วยการตีพิมพ์เป็นนวนิยาย ซึ่ง Hermione Harris เขียนไว้ใน Race & Class ว่า "จากคะแนนของหนังสือเกี่ยวกับเชื้อชาติและชุมชนคนผิวสีในสหราชอาณาจักรที่ปรากฏในช่วงทศวรรษที่ 1960 และต้นปี 1970 ส่วนใหญ่เขียนโดยนักวิชาการผิวขาว ซึ่งท้ายที่สุดมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคมสีขาว และ 'ผู้อพยพ' ผิวสี และมักจะจบลงด้วยการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่ง Second Class Citizen เป็นเรื่องราวของการเปิดเผยเรื่องราวของเชื้อชาติและชุมชนคนผิวสีในสหราชอาณาจักรในแง่มุมตรงกันข้ามจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ Adah เป็นบุตรสาวของ Ibo จากเมือง Ibuza ประเทศไนจีเรีย อาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือกรุงลากอส ด้วยความใฝ่ฝันที่จะเป็นเด็กสาว ที่สามารถจะย้ายไปอยู่ในสหราชอาณาจักรได้ หลังจากบิดาของเธอเสียชีวิต Adah ถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวของลุง เธอเรียนโรงเรียนในไนจีเรีย และต่อมาเธอก็ได้งานทำในสถานทูตอังกฤษในตำแหน่งเสมียนห้องสมุด ค่าตอบแทนจากงานนี้เพียงพอที่จะทำให้เธอเป็นเจ้าสาวตามที่ปรารถนาของ Francis (สามีของเธอในปัจจุบัน) 

ต่อมา Francis ต้องเดินทางไปสหราชอาณาจักรเพื่อศึกษากฎหมายเป็นเวลาหลายปี Adah ปลอบโยนครอบครัวของสามีว่า เธอและลูก ๆ ก็อยู่ในสหราชอาณาจักรเช่นกัน แต่ Francis สามีของเธอเชื่อว่า พวกเขาเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองในสหราชอาณาจักรเท่านั้น เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่พลเมืองของประเทศ ทำให้ต่อมา Francis มีปัญหากับ Adah มากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดชีวิตคู่ของทั้งสองก็จบลงด้วยการหย่าร้าง

 

Florence Onyebuchi "Buchi" Emecheta OBE (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 - 25 มกราคม พ.ศ. 2560) เป็นนักประพันธ์ชาวไนจีเรียโดยกำเนิด ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 มีงานเขียนบทละครและอัตชีวประวัติรวมทั้งผลงานสำหรับเด็กด้วย เธอเป็นผู้เขียนหนังสือมากกว่า 20 เล่มรวมถึง Second Class Citizen (พ.ศ. 2517), The Bride Price (พ.ศ. 2519), The Slave Girl (พ.ศ. 2520) และ The Joys of Motherhood (พ.ศ. 2522) นวนิยายเล่มแรก ๆ ของเธอส่วนใหญ่ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Allison and Busby โดยเธอมี Margaret Busby เป็นบรรณาธิการ ซึ่งหนึ่งในนั้น Second class citizen เป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของตัวเธอเอง เกี่ยวกับการเป็นทาสของลูก ๆ ความเป็นแม่ ความเป็นอิสระ และเสรีภาพของผู้หญิงที่มีการศึกษา ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์และผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย 

บรรดาหนังสือที่ Buchi Emecheta แต่ง

Emecheta เขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเธอใน Black British คอลัมน์ประจำของ New Statesman ผลงานส่วนใหญ่ของเธอมุ่งเน้นไปที่การเลือกปฏิบัติทางเพศและอคติทางเชื้อชาติจากประสบการณ์ของเธอเอง ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้หญิงผิวสีที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ด้วยผลงานด้านวรรณกรรม ทำให้เธอได้รับรางวัล Jock Campbell Prize ในปี พ.ศ. 2521 จาก New Statesman สำหรับนวนิยายเรื่อง The Slave Girl ของเธอ และยังอยู่ในรายชื่อ 20 "Best of Young British Novelists" ของนิตยสาร Granta ในปี พ.ศ. 2526 เธอเป็นสมาชิกของ British Home Secretary's Advisory Council on Race ในปี พ.ศ. 2522 และต่อมา Buchi Emecheta ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักประพันธ์หญิงผิวดำที่ประสบความสำเร็จคนแรกที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรหลังปี พ.ศ. 2491" ทั้งยังเป็นสมาชิกของ British Home Secretary's Advisory Council on Race ในปี พ.ศ. 2522 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 เธอเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งปรากฏใน "A Great Day in London" ณ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ โดยมีนักเขียนผิวสีและเอเชีย 50 คนที่มีส่วนร่วมสำคัญในวรรณคดีอังกฤษร่วมสมัย เธอได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Farleigh Dickinson ในปี พ.ศ. 2535 และในปี พ.ศ. 2548 เธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ OBE (The Most Excellent Order of the British Empire) จากสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabeth II ด้วยผลงานด้านวรรณกรรม Buchi Emecheta ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 98 ในรายชื่อผู้หญิง 100 คนที่ได้รับการยอมรับว่า มีส่วนในการเปลี่ยนโลก เมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2561 โดยนิตยสาร BBC History วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 75 ปีของ Emecheta Google ได้รำลึกถึงชีวิตของเธอด้วยรูป Doodle ของวันนั้น และเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 พื้นที่จัดแสดงใหม่ในห้องสมุดสำหรับนักศึกษาที่ Goldsmiths มหาวิทยาลัยลอนดอนได้ถูกอุทิศให้กับ Buchi Emecheta

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 75 ปีของ Emecheta Google ได้รำลึกถึงชีวิตของเธอด้วยรูป Doodle ของวันนั้น

Second class citizen (พลเมืองชั้นสอง) หมายถึง บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการแบ่งแยก เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ฯลฯ และถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบภายในรัฐหรือเขตอำนาจทางการเมือง หรืออื่น ๆ แม้ว่า พวกเขาจะมีสถานะเป็นพลเมือง หรือผู้อยู่อาศัยตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ แล้วก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่ ทาส คนนอกกฎหมาย หรืออาชญากร แต่ Second class citizen ก็มีสิทธิทางกฎหมายสิทธิพลเมืองและถูกจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และมักจะถูกกระทำอย่างทารุณโหดร้าย หรือถูกทอดทิ้งละเลย ไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคมตามที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีสถานะทางสังคมสูงกว่า ระบบที่มีพลเมืองชั้นสองโดยพฤตินัยมักถูกมองว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมักถูกปฏิเสธในการมีเรื่องราวเหล่านี้ในประเทศเสรีประชาธิปไตย นานาประเทศย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นคำที่อยู่ในข่ายเดียวกับการรังเกียจเหยียด สีผิว-ชาติพันธุ์ สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ความเป็นจริงแล้วเรื่องราวเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ๆ จนทุกวันนี้

เงื่อนไขทั่วไปที่พลเมืองชั้นสองต้องเผชิญ 
- การตัดสิทธิ์ (การขาดหรือสูญเสียสิทธิในการออกเสียง)
- ข้อจำกัด ในการเข้าทำงานภาครัฐทั้งพลเรือนหรือทหาร (ไม่รวมถึงการเกณฑ์ทหารในทุกกรณี)
- ข้อจำกัด ด้านภาษา ศาสนา การศึกษา
- ขาดอิสระ ในการเคลื่อนไหวและการรวมกลุ่ม
- ข้อจำกัด ในการเป็นเจ้าของอาวุธปืน
- ข้อจำกัด ในการสมรส
- ข้อจำกัด เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์

Second class citizen (พลเมืองชั้นสอง) คำนี้มักใช้ในเชิงการดูถูกเหยียดหยาม และรัฐบาลต่าง ๆ มักจะปฏิเสธการมีอยู่ของ Second class citizen (พลเมืองชั้นสอง) ในหลาย ๆ ประเทศมีการแบ่งแยก เชื้อชาติ ชนพื้นเมือง เช่น 
- ในออสเตรเลียก่อนปี พ.ศ. 2510 
- กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเนรเทศซึ่งถูกกำหนดให้เป็น "ผู้ตั้งถิ่นฐานพิเศษ" ในอดีตสหภาพโซเวียต 
- การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ในอดีต 
- สตรีซาอุดีอาระเบียภายใต้กฎหมายซาอุดีอาระเบีย 
- Dalits (ทลิต) เช่น วรรณะจัณฑาลในอินเดียและเนปาล 
- ชาวโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือในอดีต 

ล้วนเป็นตัวอย่างของกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้ถูกอธิบายในอดีตว่า เป็นพลเมืองชั้นสอง ในอดีตก่อนกลางศตวรรษที่ 20 นโยบายนี้ถูกนำมาใช้โดยจักรวรรดิอาณานิคมในยุโรปบางแห่งกับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาณานิคมในต่างแดน ปัจจุบันจากการระบาดของ Virus COVID-19 ชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกามักจะถูกดูถูก เหยียดหยาม จนถึงการทำร้าย ด้วยความเชื่อที่ว่า คนเอเชียเป็นสาเหตุต้นตอในการระบาดของ Virus COVID-19

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงติดตามการทดลองปลูกกาแฟของชาวไทยภูเขา ซึ่งในปีแรกของการปลูกปรากฏเหลือรอดเพียงต้นเดียวเท่านั้น

นับเป็นความโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่บ้านเราไม่มีปัญหาความแปลกแยกแตกต่างในเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว ฯลฯ ดังเช่นที่ปรากฏเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านจนทุกวันนี้ ก็ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงดูเอาพระทัยใส่และพัฒนาอาณาประชาราษฎร์โดยถ้วนทั่ว เพื่อไม่ให้มีการแบ่งแยกเป็นชาวเขาหรือชาวเรา พสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมีล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยโดยเสมอกัน ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว ฯลฯ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ จึงไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา ชนชั้นของความเป็นพลเมืองจึงไม่มีในบ้านเรา 

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงดูเอาพระทัยใส่และพัฒนาอาณาประชาราษฎร์โดยถ้วนทั่ว เพื่อไม่ให้มีการแบ่งแยกเป็นชาวเขาหรือชาวเรา พสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมีล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยโดยเสมอกัน

 

มหากาพย์!! 'กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล'

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ Personal Data Protection Act (PDPA) ออกไปอีก 1 ปี ทำให้กฎหมายฉบับนี้จะเลื่อนไปมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

โดยเหตุผลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอให้ ครม. พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ... 

1.) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ มีรายละเอียดมากและซับซ้อน

2.) การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย

3.) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระบาดยังมีอยู่ต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมากไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
 
เท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2562 แต่กว่าจะได้บังคับใช้เต็มรูปแบบ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนอีกรอบ) ก็ปี 2565 เลย 

3 ปีที่กฎหมายออกมาแล้วกว่าจะมีผลใช้บังคับอาจจะดูว่านาน แต่ถ้าเพื่อน ๆ ได้ทราบประวัติศาสตร์ของกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลนี้แล้วจะตกใจกว่านี้ครับ

เพราะกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ ถือเป็นมหากาพย์การร่างกฎหมายที่ยาวนานที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว

เท่าที่ผมลองสืบค้นดู ก็พบว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของประเทศไทยเริ่มต้นร่างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยสาเหตุที่ต้องเริ่มต้นร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในขณะนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า... 

“มาตรา ๓๔ สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง”

แต่กว่าที่ร่างกฎหมายคุ้มครองฉบับแรกจะถูกเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ ก็ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2549  หรือ กว่า 8 ปีนับแต่ที่เริ่มต้นร่างขึ้น และแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะได้มีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการที่จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายให้ใช้บังคับได้นั้น ก็จะต้องกลับไปผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเสียก่อน

และอย่างที่ทุกท่านทราบกันก็คือ กว่าที่กฎหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคลได้ก็ในปี 2562 ซึ่งรวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นร่างจนผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 21 ปี 

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ กฎหมายจึงให้เวลาอีก 1 ปี กว่าที่จะมีผลใช้บังคับ 

ปรากฏว่าเมื่อใกล้จะครบ 1 ปี คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งออกมา ทำให้กฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ยังร่างไม่เสร็จ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ขอให้รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี

จนแล้วจนรอด เมื่อใกล้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบ ครม. ก็มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี เท่ากับว่าตั้งแต่เริ่มต้นร่างจนถึงวันที่จะเริ่มมีผลใช้บังคับจริงในปี 2565 (ถ้าไม่ถูกเลื่อนอีกรอบ) รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 24 ปีเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปรอบล่าสุด แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้มีการประกาศมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลออกมาแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ซึ่งก็คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ก็ต้องมีหน้าที่ตามมาตรฐานดังกล่าวด้วย เช่น ต้องมีการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control) ให้มีความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าทุกคนในหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นได้ตามอำเภอใจ คนที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน เช่น พ.ร.บ. การประกอบข้อมูลเครดิต พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรใดที่อยู่ภายใต้การกำกับกฎหมายนั้น ๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สำหรับหน่วยงานหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ถ้าถามว่าระหว่างรอกฎหมายบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะต้องทำอย่างไรดี ผมก็ขอแนะนำให้เริ่มศึกษาและดำเนินการไปได้เลยครับ เพราะตอนนี้ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองแล้ว 

การที่หน่วยงานเราให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลของลูกค้าหรือบุคคลที่มาใช้บริการของหน่วยงานเรานั้น ย่อมทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากบุคคลดังกล่าวด้วย 

ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ผมก็แนะนำให้ดูจากแนวทางของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า “General Data Protection Regulation (GDPR)” ซึ่งประเทศไทยเราใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับปัจจุบัน หรือ ไม่ก็ลองอ่าน “แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Version 3.0 ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามลิงค์นี้ก็ได้ครับ https://www.law.chula.ac.th/wp-content/uploads/2020/12/TDPG3.0-C5-20201224.pdf

และเดี๋ยวตอนที่กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มใช้บังคับจริงในปีหน้า ผมจะมาเขียนอธิบายถึงสิทธิหน้าที่ของเจ้าของข้อมูล และผู้ที่เก็บรวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้อ่านกันอีกทีนะครับ อย่าลืมติดตามเข้ามาอ่านกันได้
 

‘ทบิลิซี’ Tbilisi แดนแห่งความงาม ที่หลบเร้นอยู่ในหุบเขาจอเจียร์

เมืองสวยชดช้อยแห่งหนึ่ง อยู่ในหุบเขา ณ เทือกเขาคอเคซัส เปรียบประหนึ่งสาวงามร่างสูงโปร่งระหง โครงหน้ารูปไข่ แววตาเย้า ทั้งร่าเริงและเคร่งขรึมดุดันในที...จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้เลยหากไม่ใช่ ‘ทบิลิซี’ เมืองหลวงของประเทศจอร์เจียนั่นเอง

จะเรียกว่าจับพลัดจับผลูได้ไปเยือนประเทศนี้โดยบังเอิญก็เป็นได้ หลายปีก่อนผมเดินทางโดยจักรยาน เริ่มที่อิหร่าน โดยต้องการไปจบทริปที่ตุรกี ก่อนออกทริปไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีประเทศน่าแวะอย่างจอร์เจียด้วย แต่เนื่องจากแผนและเวลาค่อนข้างยืดหยุ่น เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงตัดสินใจปั่นอ้อมขึ้นไปทางเหนือ เลาะเข้าไปเที่ยวประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโซเวียต ปัจจุบันเป็นไทแก่ตัวแล้ว แต่ยังคงเป็นรัฐกันชนระหว่างกลุ่มอำนาจโลกขั้วตะวันออกและตะวันตก 

โดยทำเลที่ตั้งของทบิลิซีเอง เอื้อให้เป็นเมืองสวยได้ไม่ยากเลย เพราะเป็นหุบเขายาว ๆ มีแม่น้ำไหลผ่ากลาง สองฝั่งเป็นเนินสูงต่ำ ราบบ้าง ชันบ้าง บ้านเรือนสูงต่ำน้อยใหญ่ปลูกสร้างลดหลั่นกันไป ศาสนสถานแทรกแซมเป็นระยะ ๆ ถนนตรอกซอยคดเคี้ยว สถาปัตยกรรมเก่าแก่น้อยใหญ่ อายุอานามแตกต่างกันเรียงรายเบียดเสียดกัน ทว่ายังมีพื้นที่สีเขียวทั้งต้นไม้ใหญ่ริมถนนและสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน ถนนในย่านเมืองเก่าปูด้วยก้อนหิน ตึกทรงทันสมัยออกแบบและก่อสร้างโดยผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบ จึงกลมกลืนและไม่บดบังภูมิทัศน์

เมืองก่อร่างสร้างขึ้นบนไหล่เขา จึงเดินเล่นเพลิน ขยันก็ขึ้นไปยังจุดชมวิวซึ่งมีมากมายหลายจุดให้เลือก วันนี้เดินขึ้นเนินนี้ พรุ่งนี้เดินขึ้นอีกเนิน ได้ออกกำลังกายพร้อมกับหย่อนใจในเวลาเดียวกัน 

ตามผนังอาคารมักเห็นงานพ่นสเปรย์ประเภทกราฟฟิตี้สวย ๆ บางวันจึงสนุกไปกับการเดินตามถ่ายรูปศิลปะบนผนังเหล่านี้ พื้นที่ท้ายสะพานในย่านใจกลางเมืองถูกจัดสรรให้เป็นตลาดแบกะดิน พ่อค้าแม้ค้านำสมบัติมือสองผลัดกันชมมาวางขายกันในราคาย่อมเยา ลูกค้าเลือกชมและต่อรองราคา แล้วตกลงซื้อเมื่อพอใจทั้งสองฝ่าย อีกโซนใกล้กันขายงานศิลปะประเภทภาพวาด ทบิลิซีเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามาก

ศิลปะการแสดงยังคงเฟื่องฟูต่อเนื่อง โรงละครหุ่นกระบอกเปิดการแสดงทุกวัน ซึ่งผู้แสดงต้องอาศัยทักษะในการเชิด เรื่องราวมีทั้งร่วมสมัยและที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับผู้กำกับ ละครเวทีซึ่งใช้นักแสดงจริงเป็นอีกทางเลือกในการเสพศิลปะ หรือหากชอบความชดช้อยอ่อนหวานอลังการก็ตีตั๋วเข้าชมบัลเล่ต์ได้ นักแสดงหลายคนจากเมืองนี้ไปโด่งดังที่มอสโกในฐานะนางเอกพระเอก การันตีคุณภาพคับโรง แม้กระทั่งดนตรีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ซึ่งขับขานก้องกังวานในโบสถ์ฟังแล้วซาบซึ้งขนลุกกันเลยทีเดียว 

เมืองนี้ผลิตนักเขียนผู้ฝากผลงานวรรณกรรม...เป็นที่รู้จักในประเทศและทั่วโลกหลายท่าน อย่างเช่น โนดาร์ ดุมบัดเซ่ นักเขียนดังที่หนังสืออย่างน้อยสองเล่มของเขาได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ได้แก่ ความรื่นรมย์ของชีวิต และ คืนวันอันแสนงาม นอกจากนี้ ยังมีนักคิดนักเขียนอีกหลายคนกำเนิดเกิดมาจากเมืองนี้ด้วย

ใคร ๆ ก็ชอบออนเซ็นใช่ไหม เมืองนี้มีน้ำพุร้อนและโรงอาบน้ำด้วย เวลาอากาศหนาว แถมบางวันในฤดูใบไม้ผลิฝนดันตกและลมแรง หรือบางครั้งก็ทำงานจนเครียด ร่างกายขมึงตึงปวดเมื่อย การไปแช่น้ำร้อนให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายจึงเกือบเหมือนได้ขึ้นสวรรค์เลยล่ะ

ระบบขนส่งสาธารณะราคาย่อมเยาและครอบคลุม มีให้เลือกทั้งรถไฟใต้ดิน บนดิน พัฒนากันมาตั้งแต่สมัยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ปัจจุบันยังใช้การใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพ จะว่าไปค่าครองชีพไม่แพงเลย เทียบแล้วพอ ๆ กับบ้านเรา ส่วนราคาโรงแรมโฮสเทลมีตั้งแต่ไร้ดาวไปจนถึงห้าดาว ค่าอาหารเครื่องดื่มเทียบเป็นเงินไทยก็มื้อละประมาณสี่ห้าสิบบาท หากไปนั่งทานตามภัตตาคารต้องจ่ายมากกว่าเป็นเรื่องธรรมดา วัฒนธรรมอาหารนั้นผสมผสานความเป็นตะวันตก อย่างเมนูขนมปังและชีส ในขณะที่สำรับกับข้าวรับมาจากโลกตะวันออก หนีไม่พ้นข้าวราดต้มผัดแกงทอดอะไรต่าง ๆ คนบ้านเมืองนี้ปลูกองุ่นและทำไวน์กันมานานนับพันปี จึงถือเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำประเทศ หาซื้อง่าย มีตั้งแต่ราคาลิตรละไม่เท่าไหร่ไปจนถึงไวน์คุณภาพสูงแพงลิบลิ่ว สุรากลั่นดีกรีสูงประเภทวอดก้า หรือเบียร์สำหรับซื้อหามาจิบยามบ่ายยามเย็นก็มากมี มนุษย์คอทองแดงน่าจะหลงรักประเทศนี้เพราะเหตุผลนี้ล่ะ

แม้หน้าตา สีตา สีผม ผิวพรรณจะเป็นฝรั่ง แต่นิสัยใจคอของคนจอร์เจียกระเดียดไปทางเอเชีย เพราะโฉ่งฉ่างกระโตกกระตาก และมักไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง ความอิเหละเขะขะยังเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามตลาด ที่เห็นแล้วขำคือพฤติกรรมพ่อค้าแม่ค้าริมฟุตบาทพากันเก็บข้าวของวิ่งหนีกันจ้าละหวั่นเวลาเทศบาลมากวดขัน สิ่งละอันพันละน้อยอันเป็นปกติสามัญของที่นี่แหละที่เป็นสีสัน

สรุปก็คือ เมืองอันเปี่ยมเสน่ห์นี้ไม่เหมาะสำหรับรีบ ๆ ไปเยือนรีบ ๆ จากไป แต่เหมาะที่จะแช่อยู่นาน ๆ ค่อย ๆ ซึมซับความประทับใจกันไป

'คิวบา' เส้นทางแพทย์สันถวไมตรี ทองแท้ที่ท้าสู้ไฟการเมือง

ในระหว่างที่ทั่วโลกได้สัมผัสกับวิกฤติการแพร่ระบาด Covid-19 ก็เริ่มทำให้เราต้องย้อนมองมาตระหนักถึงความจริงได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตมนุษย์จริง ๆ แล้ว กลับไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, แสนยานุภาพด้านการทหาร หรือความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี 

หากแต่เป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขชุมชน ที่หลายคนมองข้าม และตีความเพียงแค่ว่า การที่เรามีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีหมอเก่ง ๆ มีเครื่องมือทันสมัยกว่าใคร คือ ความล้ำหน้าด้านการแพทย์ 

แต่พอเกิดโรค Covid-19 ระบาดทั่วโลก ก็ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ต่อให้มีโรงพยาบาลใหญ่โต ทีมแพทย์ฝีมือดี หรือเครื่องมือทันสมัยแค่ไหน แต่ถ้ามีไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงผู้ป่วยจำนวนมากก็จบเห่เหมือนกัน

และปัญหานี้ก็เกิดขึ้นแล้วในระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศตะวันตก ที่เคยมั่นใจว่ามีระบบรักษาพยาบาลดีเยี่ยม ก็ยังพังพินาศให้กับคลื่นการระบาดของ Covid-19 

แต่มีประเทศเล็ก ๆ และไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย กลับสามารถดูแลประชาชนจากการระบาดของ Covid-19 ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีหมอ-พยาบาลเหลือเฟือ ส่งออกไปช่วยเหลือประเทศอื่นได้ด้วย

ประเทศเล็กแต่แจ๋วจริงนั้นก็คือ 'คิวบา'

คิวบาเป็นประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลาง ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน มีขนาดเท่ากับรัฐเทนเนสซี ของสหรัฐเท่านั้น และมีประชากรประมาณ 11 ล้านคน 

คิวบาเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลก ที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และแน่นอน เป็นไม้เบื่อ ไม้เมารุ่นเดอะของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการคว่ำบาตร กดดันรัฐบาลคิวบามาตลอดหลายสิบปี 

แม้จะโดนชาติมหาอำนาจกดทับ และเจอวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่คุณภาพด้านระบบสาธารณสุขของคิวบา กลับพัฒนาสวนทาง จนทำให้ทุกวันนี้คิวบามีจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก 

ปัจจุบันนี้ ในคิวบามีแพทย์อยู่ถึง 8.4 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะมีแพทย์เพียง 2.6 คน ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น น้อยกว่าคิวบาถึง 3 เท่า 

และก็ไม่ใช่มีดีแค่ปริมาณ!! แต่คุณภาพก็ดีด้วย พิจารณาได้จากการที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขต่อปีถึง 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งสูงกว่างบประมาณของคิวบา 10 เท่า แต่ประชากรคิวบากลับมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 78.7 ปี ซึ่งมากกว่าชาวสหรัฐฯ ที่ 78.5 ปี 

ถึงจะมองว่าสหรัฐฯ มีประชากร, กำลังเงิน, เทคโนโลยีทางการแพทย์ และทรัพยากรที่เหนือกว่าคิวบาทุกด้าน แต่ค่าเฉลี่ยด้านสุขภาพกลับแทบไม่ต่างกัน ก็แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของคิวบานั้น ไม่ธรรมดาจริง ๆ

แล้วเหตุใดทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างคิวบา กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขได้อย่างยอดเยี่ยม? 

จุดเริ่มต้นนั้น มาจากการวางรากฐานสาธารณสุขของคิวบา ที่ต้องยกเครดิตให้กับ 'ฟิลเดล คาสโต' หลังจากที่เขาเป็นผู้นำการปฏิวัติคิวบา โค่นอำนาจ ของ 'ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา' ผู้นำเผด็จการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนั้น แล้วได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของคิวบามาเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1959 โดย ฟิเดล คาสโต ปฏิญาณว่า การศึกษา และสาธารณสุข เป็นหัวใจสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

และเป็นหลักที่รัฐบาลคิวบายึดมั่นเสมอมาว่า ชาวคิวบาทุกคนต้องได้เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี 

แต่ปัญหาคือ พอคิวบาเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้คนชั้นปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์กลัวว่าพวกเขาจะถูกกวาดล้าง จึงลี้ภัยหนีไปอยู่สหรัฐฯ จำนวนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีทางเดียวคือต้องสร้างทีมบุคลากรการแพทย์ขึ้นมาใหม่ และมุมมองของฟิเดล คาสโตร คือ แพทย์หลังยุคปฏิวัติคิวบาต้องยึดถือมวลชนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดถือแค่วิชาการ

โดยคาสโตร ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ และปรับแผนการเรียนใหม่ทั้งหมด ต่อมาพัฒนาจนกลายเป็น Latin American School of Medicine ที่จัดเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รับนักศึกษาแพทย์ในแต่ละปีเกือบ 2 หมื่นคนจาก 110 ประเทศทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนที่นี่เรียนฟรี มีที่พักให้ฟรี แถมได้ค่าจ้างในการฝึกงานระหว่างเรียนด้วย

ยิ่งไปกว่าการรับนักศึกษาของที่นี่ก็ไม่ได้ยึดเอาใบผลคะแนนสอบมาเป็นตัววัด ขอแค่มีใจรัก มุ่งมั่นที่จะเป็นหมอ ก็เข้ามาคุยกันได้ และยังเปิดรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านย่านแคริบเบียน และประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาอีกด้วย

ส่วนการสอน ไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนหรูหรา แต่จับมือสอนจากเคสจริง ด้วยการให้นักศึกษาแพทย์เรียนคู่กับฝึกงานในคลินิกชุมชนตั้งแต่ปี 1 เจอคนไข้จริง ๆ เพื่อให้เรียนรู้ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสาธารณสุข กับผู้คนในท้องถิ่น

เพราะหลังจากจบมาแล้ว หน้าที่สำคัญคือการทำให้ระบบสาธารณสุขเพื่อมวลชนเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องมีทีมเดินไปเยี่ยม ปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพตามบ้านด้วย จะได้รีบรักษาได้ตั้งแต่ต้นมือ ดีกว่ารอจนอาการหนักค่อยมาหาหมอ 

นอกจากนี้ เมื่อมีบุคลากรด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก ก็จัดทัพเป็นกลุ่มนักรบเสื้อขาวออกไปช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ที่เดือดร้อน อย่างเหตุระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล, เหตุสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แผ่นดินไหวที่เฮติ การระบาดของอีโบล่าในแอฟริกา และภัยพิบัติหลาย ๆ เหตุการณ์ ก็มีทีมแพทย์จากคิวบาไปร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่เสมอ 

นั่นจึงทำให้คิวบาไม่เคยขาดมิตรประเทศ แม้จะโดนมาตรการคว่ำบาตร บีบคิวบาให้โดดเดี่ยวด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ทั่วโลกจึงยกให้ทีมหมอเฉพาะกิจชาวคิวบาว่าเป็นเหมือน 'ฑูตสันถวไมตรี' ที่คิวบาส่งไปเชื่อมสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ ที่ต่อมาก็สร้างรายได้ให้กับคิวบามากถึงหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี เพราะมีหลายประเทศขอใช้บริการทีมหมอคิวบายาว ๆ เพราะหมอในประเทศตนขาดแคลน โดยมีการจ่ายค่าแรงคุณหมอให้กับรัฐบาลคิวบา หรือบางประเทศอย่างเวเนซุเอล่า ผ่าน 'ราคาน้ำมัน' ที่ต่ำกว่าท้องตลาด

นี่จึงกลายเป็นจุดที่สหรัฐฯ ไม่ปลื้ม จนออกมาโจมตีโครงการแพทย์สันถวไมตรีของคิวบาอย่างหนัก เพราะค่าแรงของหมอ ไม่ถึงหมอ แต่รัฐบาลคิวบาเก็บไป แล้วจ่ายเป็นเงินเดือนคืนให้หมอแต่ละคนที่ไปทำงานเสี่ยงภัยให้รัฐในต่างประเทศเพียงแค่ 10-20% และมีหมอคิวบาบางส่วนก็ออกมาบ่นว่างานหนักเหลือเกิน ไม่คุ้มเงินเดือนที่ได้ เพราะการเป็นหมอเพื่อชุมชนในคิวบาได้เงินเดือนน้อยมาก เพียงแค่ 200 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 6,000 บาท) 

สุดท้ายก็เข้าล็อคแผนการดูดคนของสหรัฐฯ จนกลายเป็นที่มาของแผนวีซ่าพิเศษ Cuba Medical Professional Parole Program (CMPP) ในปี 2006 ที่ให้สิทธิ์บุคลากรการแพทย์ ผู้มีประสบการณ์ของคิวบา เดินทางเข้ามาอยู่ทำงานถาวรในสหรัฐฯ ได้เลยทันที ขอเพียงแค่ออกจากคิวบามาสหรัฐฯ ให้ได้

ทว่าโครงการ CMPP ก็มาสิ้นสุดในปี 2017 ยุคประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี มีหมอจากคิวบาไหลไปทำงานที่สหรัฐฯ ด้วยวีซ่าพิเศษถึง 15,000 คน 

ทางรัฐบาลคิวบา กล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามทำลายความสำเร็จของระบบสาธารณสุขชุมชนของคิวบา และยืนยันว่า แม้รายได้ของแพทย์คิวบาจะน้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ก็เป็นค่าแรงที่สูงกว่าฐานเงินเดือนอาชีพอื่น ๆ ในคิวบาแล้ว

แต่หลังจบโครงการ CMPP สหรัฐฯ ยังไม่หยุดโจมตีโครงการแพทยสันถวไมตรีของคิวบา และเผยว่าเข้าข่ายใช้แรงงานทาส และค้ามนุษย์ รวมถึงกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ใช้บริการทีมแพทย์ของคิวบา เช่น เคนยา แอฟริกาใต้ ให้หยุดเสีย 

แล้วก็มีคนบ้าจี้ตามสหรัฐฯ จริง ๆ นั่นคือ ประธานาธิบดีบราซิล ชาอีร์ โบลโซนารู ได้สั่งให้ยกเลิกการนำเข้าหมอจากคิวบา เพราะไม่อยากสนับสนุนแรงงานทาส ซึ่งตอนนั้น คิวบาได้ส่งทีมแพทย์มาประจำช่วยเหลือคนพื้นเมืองในแถบป่าแอมะซอนอยู่แล้วหลายพันคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด Covid-19 เพียง 1 ปี 

แต่พอ Covid-19 มา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ระบบสาธารณสุขทั่วโลกถูกท้าทายอย่างหนักที่สุดในรอบ 100 ปี นับจากการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ทำให้ประธานาธิบดีบราซิลต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขอให้คิวบาส่งทีมแพทย์มาช่วย 

และคิวบายังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลืออิตาลี ที่เคยวิกฤติหนักจากการระบาดของ Covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คิวบาส่งนักรบเสื้อขาวไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และรวยกว่าคิวบาหลายเท่า

แม้ว่าศึกครั้งนี้จะหนัก และคิวบาก็ประสบปัญหาการระบาดของ Covid-19 เช่นกัน แต่ด้วยความพร้อมของระบบสาธารณสุขชุมชนที่วางรากฐานมานานหลายสิบปี ก็ทำให้คิวบาสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงที่พีคสุดไม่เกิน 1,500 คน และตอนนี้ได้พัฒนาวัคซีน Covid-19 ได้เองแล้วถึง 2 ตัว คือ Soberano 02 และ Abdala ที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ชาวคิวบาทุกคนด้วยวัคซีนที่ผลิตใช้เองในประเทศ

ต้องยอมรับว่า Covid-19 มาเบิกเนตรความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในระดับชุมชน ที่ทุกคนควรเข้าถึงสิทธิ์ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเริ่มตั้งแต่ทุ่มเทสร้างบุคลากรการแพทย์ ที่เน้นการบริการเพื่อประชาชนจริง ๆ แล้วผลลัพธ์ตอบแทน ก็จะเป็นแบบที่คนคิวบาได้รับ และชาวโลกได้เห็นเช่นทุกวันนี้


ข้อมูลอ้างอิง
https://time.com/5467742/cuba-doctors-export-brazil/
https://www.thinkglobalhealth.org/article/medical-diplomacy-lessons-cuba
https://hir.harvard.edu/exploring-the-implications-of-cuban-medical-diplomacy/
https://www.theguardian.com/world/2020/may/06/doctor-diplomacy-cuba-seeks-to-make-its-mark-in-europe-amid-covid-19-crisis
https://en.m.wikipedia.org/wiki/ELAM_(Latin_American_School_of_Medicine)_Cuba
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top