Thursday, 8 June 2023
COLUMNIST

เผยความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ผู้คนมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือ การรื้อทิ้งทำใหม่ทั้งฉบับ

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า "การแก้ไขนั้นทำได้" หากแต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันลงคะแนนเสียงรับ-ไม่รับ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559

ดังนั้นการแก้ไขก็ควรต้องกลับไปถามประชาชนก่อน

เพราะหากดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเลือก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนเพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คาดว่าต้องใช้เวลา 15 เดือนและใช้งบประมาณถึง 11,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

- ค่าทำประชามติแก้ - ไม่แก้ 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- [หากแก้ไข] ค่าเลือกตั้ง ส.ส.ร. 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- เงินเดือน ส.ส.ร. 200 คน ซึ่งอ้างอิงจากฐานเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว. ตกคนละแสนกว่าบาท/เดือน และเงินเพิ่มอีกคนละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท

- ค่าเบี้ยประชุม ส.ส.ร. รายบุคคล ในทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมาธิการ

- ค่าจัดทำประชามติใหม่เพื่อรับ-ไม่รับ รธน.ใหม่ อีก 3,000 - 4,000 ล้านบาท

-------------------

หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

-------------------

- ข้อดี : มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้ข้อครหาหรือข้ออ้างว่า รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย” นั้นหมดไป (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม)

- ข้อเสีย : ใช้งบประมาณเยอะ และไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนในยุคการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รวมถึงในความเป็นจริง น้อยคนมากที่จะนั่งอ่าน รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะข้อที่ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนก็มักจะไม่สนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฝ่ายการเมืองแอบยัดใส่ความต้องการของตน(ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชน)ไว้ได้

-------------------

หากแก้ รธน.เป็นรายมาตราในรัฐสภาฯ

-------------------

- ข้อดี : ประหยัดงบประมาณ ได้นำมาตราที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหาขึ้นมาหารือกัน สื่อมวลชนรายงานเจาะได้เป็นรายมาตรา และประชาชนได้เห็น "ความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง" อย่างชัดเจน ว่ามาตราที่ต้องการแก้ไขนั้น เกี่ยวกับปากท้องประชาชน การรักษาอำนาจของตน การเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง หรือการมุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ กันแน่?

- ข้อเสีย : แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามกระบวนการในสภาผู้แทนฯ แต่ฝ่ายค้านและม็อบนอกสภาฯ ยังก็คงนำเรื่อง รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เป็นประเด็นเพื่อเครื่องไหวทางการเมืองต่อไป

-------------------

สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเรื่อง รธน. 

-------------------

1.) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และ ความวุ่นวายทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ หรือมาจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส ?

2.) กฎหมายที่มีอยู่ เพียงพอในการจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ?

3.) หากกฎหมายมีประสิทธิภาพพอสมควร เหตุใดการบริหารงานราชการแผ่นดินหลายอย่างจึงมีปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพดังกฎหมายที่เขียนไว้ ?

4.) หากเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขหรือ "ปฏิรูป" ระบบการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพขึ้นต้องทำอย่างไร ?

คำตอบที่ได้ในคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องเป็นคำตอบที่มาจาก "ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในแง่ของกระบวนการทำงาน" ไม่ใช่เป็นโวหารหลักการลอยๆ อย่างที่ฝ่ายการเมืองใช้โจมตีกันไปมาตลอดหลายปีนี้

*** ในคอลัมน์ตอนต่อไป ผมจะมาเขียนเจาะลึกลงไปถึงปัญหาที่คนไทยทุกคนต่างเคยพบเจอและอยากให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางเท้า สัญญาณไฟจราจร การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตของหน่วยงานราชการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ และอื่นๆ

*** เพื่อวิเคราะห์กันให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงของ การขาดประสิทธิภาพ” นั้น มันต้องแก้ไขหรือ ปฏิรูป” กันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ตามเกมการเมืองที่ฝ่ายการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ทำกันอยู่แบบทุกวันนี้แน่นอนครับ


ข่าวอ้างอิงประกอบ:

https://www.posttoday.com/politic/news/631007

https://www.thairath.co.th/news/politic/2048532

https://www.prachachat.net/politics/news-621654

ปลดล็อก!! ‘นิ้วล็อก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

  • แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
  • ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
  • ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
  • แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
  • นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
  • เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
  • นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
  • ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
  • ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
  • ทันตแพทย์
  • ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
  • ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง

ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

  

ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ

หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน

เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน

เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด

ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที


เอกสารอ้างอิง

รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.

กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.

ฤา…‘พม่า’ จะประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย!

วันที่ผมเขียนบทความนี้ ผมได้เห็นประกาศของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา ได้ออกประกาศว่า ประชาชนมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเองจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามของคณะรัฐประหาร ซึ่งในความคิดของงผมมองว่า ‘นี่มันไม่ใช่แล้ว’ เพราะการประกาศแบบนี้เสมือนการสั่งให้ประชาชนไปตาย

ผมไม่เห็นประโยชน์อันใดจากคนที่ตายไปแล้ว ยกเว้นคนที่ต้องการหาประโยชน์จากจำนวนศพที่มากขึ้น ผมถามเพื่อนพม่าของผมว่า คนพม่าจะได้ประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีชีวิตเข้าคูหาไปเลือกตั้ง เพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมียนมาไม่ใช่ประเทศพม่าในอดีต

เมื่อพูดถึงหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ถามว่าดีไหม ผมบอกได้เลยว่าการไม่ยอมแพ้นั้นเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อยุธยาต้องเสียกรุงถึงสองครั้งก็เป็นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่สู้อย่างไม่ยอมแพ้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์คองบองครั้งเมื่อสงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่หนึ่ง การที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏยะไข่ หากหากพม่าไม่ได้ยกทัพเข้าไปถึงอัสสัมหรือจิตตะกอง นั่นก็ไม่สามารถทำให้อังกฤษอ้างเหตุผลในการรบกับพม่า และหากในช่วงเวลารบนั้น นายพลมหาพันธุละ เลือกที่จะยอมจำนนเมื่อรู้ว่าตนเพลี่ยงพล้ำ ท่านก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตในสนามรบ และย่างกุ้ง, พะโค จนไปถึงเมืองแปร ก็อาจจะไม่ต้องตกไปเป็นของอังกฤษทั้งหมดก็เป็นได้

เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 หากฝั่งพม่าเลือกดำเนินนโยบายอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับทางบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาร์ เทรดดิ้ง คอมปะนี แม้จะเสียบ้าง แต่หัวใจยังอยู่ นั่นก็อาจจะทำให้แผนการเข้ายึดพระราชวังมัณฑะเลย์ไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

กรณียอมหักไม่ยอมงอของพม่า จะเรียกได้ว่าเป็นนิสัยหรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนพม่าที่ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแต่ในขณะเดียวกันหากเราต้องสู้กับศัตรูที่มีพลังทำลายล้างเหนือเรามาก การยอมหักไม่ยอมงอ มันคือกำแพงที่สูงจนนำพาความล่มสลายมายังชีวิตผู้คนและอาณาจักร หากไม่เหลือแม้กระทั่งชีวิตจะใช้วิธีใดไปทวงคืนเอกราชที่ต้องการกันเล่า

หากย้อนมองดูประเทศไทยในยุคที่ยังเป็นสยามประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วง รศ. 112 ไทยเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับพระเจ้าธีบอ นั่นคือการถูกรุกรานโดยศัตรูที่มีแสงยานุภาพเกินต้านทาน แต่แทนที่ท่านจะเลือกที่จะสู้จนตัวตายสิ้นเอกราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงกลับเลือกเส้นทางที่รักษาหัวใจแห่งแผ่นดินไทย โดยการเฉือนตัดแผ่นดินให้แก่เหล่าประเทศผู้ล่าอาณานิคมไป ดังปรากฏข้อความในพระราชปรารภที่ว่า “—การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักร ซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน—”

ในวันนี้ผมก็หวังว่าชาวพม่าที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศเมียนมานั้น ขอให้ใช้สติตรึกตรองให้ถี่ถ้วน ว่าเรากำลังไปสู้เพื่อผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า..?

ทำไมต้องนำชีวิตไปทิ้งในขณะที่คนปลุกระดมไม่เคยออกมานำทัพเองปล่อยให้พวกคุณนำทัพไปตายกันเอง กลับกันหากวันนี้คนพม่าจะถอยสักหนึ่งก้าว อาจจะไม่ใช่การยอมศิโรราบให้แก่ระบบเผด็จการ แต่เป็นการเปิดทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยตามที่คณะรัฐประหารได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี

Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz สองราชินีผิวสีแห่งราชสำนักอังกฤษ

สัปดาห์ที่แล้วข่าวสงครามสื่อระหว่างสะใภ้หลวงคนดังกับราชสำนักอังกฤษถูกปั่นจนกลายเป็นข่าวใหญ่ดังสนั่น ด้วยบรรดาสื่อต่าง ๆ พากันได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากเรื่องในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งสหราชอาณาจักร นั่นคือข่าวการให้สัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ กับพิธีกรหญิงชื่อดังชาวอเมริกัน โอปราห์ วินฟรีย์ และได้เผยแพร่สู่สายตาผู้คนทั่วโลกเมื่อต้นสัปดาห์ จนกลายเป็นดราม่าในประเด็นเหยียดเชื้อชาติและสีผิว อันอาจนำมาซึ่งความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญสู่ราชสำนักอังกฤษ

แต่ราชสำนักอังกฤษไม่ได้ไร้ซึ่งประสบการณ์ ด้วยผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาแล้วมากมายแล้ว และตกผลึกจนแกร่งกล้าสามารถ จึงได้ส่งจดหมายสั้น ๆ ขนาด สี่ประโยค สามย่อหน้า กับหนึ่งคำขาด เพื่อสยบดราม่าจากการสัมภาษณ์สองชั่วโมงดังนี้ : 

- ย่อหน้าแรก หนึ่งประโยค : เพิ่งจะรู้จากการสัมภาษณ์ในทีวีหรือที่นสพ.ถูกเอามาประโคมข่าวเองว่า พระชายาของเจ้าชายแฮร์รี่ต้องทุกข์ระทมขนาดไหนตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าสงสารจังเลย (แต่ก็ทำให้คนที่พอจะมีปัญญาเข้าใจว่า นี่เป็นคำถามซึ่งถามว่า แล้วทำไมตอนนั้นไม่เห็นบอกหรือพูดอย่างนี้เลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในราชสำนักตั้งสองสามปี)

- ย่อหน้าที่สอง สองประโยค : เรื่องที่พระองค์พูดนี่ร้ายแรงนะ แต่ทำไมพวกเราไม่รู้เรื่องเลย และจำไม่ได้ด้วยซํ้าว่า มีเรื่องที่พระองค์พูดเกิดขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวพวกเราจะคุยกันเองในครอบครัว (อันเป็นการปฏิเสธอย่างกึ่งสุภาพกึ่งเลือดเย็นว่า เป็นเรื่องไม่จริง และคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชสำนักไม่สมควรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย)

- ย่อหน้าสุดท้าย หนึ่งประโยค : พวกเราจะรักพระองค์ทั้งสามคนเสมอ (ซึ่งเป็นการตัดบัวแบบไม่เหลือใย กลายเป็นคำไว้อาลัยราวกับทั้งสามคนได้ตายจากไปแล้ว ซํ้ายังจงใจละเลยไม่กล่าวถึงลูกคนที่กำลังจะเกิดเลย)

- และที่สำคัญที่สุดคือ คำขาดที่ระบุว่า ENDS” ตัวพิมพ์ใหญ่ให้เห็นกันชัดๆ (ซึ่งหมายความว่า สำหรับพวกเราแล้วเรื่องนี้ถือว่าจบ และจะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป)

อันที่จริงแล้วตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักร (Succession to the British throne) มีพระบิดาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายชาร์ลส์ (เจ้าชายแห่งเวลส์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่ง และพระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายวิลเลียม (ดยุกแห่งเคมบริดจ์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่สอง ส่วนเจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่หก ถัดจาก พระโอรส พระธิดา ของเจ้าชายวิลเลียมอีกสามพระองค์ โดย 20 ลำดับแรกในการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรล้วนแล้วแต่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา สายตรงในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น และหากได้ทำการศึกษาไล่เรียงประวัติศาสตร์ราชสำนักอังกฤษแล้ว จะพบว่าราชสำนักอังกฤษมีสะใภ้หลวงซึ่งมีเชื้อสายผิวสีมาแล้วถึงสองพระองค์ และทั้งสองพระองค์ต่างทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ อันได้แก่ Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz

Philippa of Hainaut (24 มิถุนายน ค.ศ. 1310 (หรือ ค.ศ. 1315) - 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369) ทรงเป็นธิดาของ William I (Count of Hainaut) และ เจ้าหญิง Joan of Valois ผู้ทรงเป็นพระปนัดดาใน พระเจ้า Philip III แห่งฝรั่งเศส สืบเนื่องด้วยพระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษทรงตัดสินพระทัยว่า การเป็นพันธมิตรกับ Flanders (ปัจจุบันหมายถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของเบลเยียม ซึ่งใช้ภาษาดัตช์ ในทางประวัติศาสตร์ ครอบคลุมบางส่วนของ เบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์) จะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ และได้ทรงส่ง Bishop Stapledon of Exeter เป็นราชทูตให้เดินทางข้ามเข้าไปในเขต Hainaut ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองโดยชนเผ่ามัวร์ เพื่อพิจารณาว่า ธิดาของ Count of Hainaut ผู้ใดจะเหมาะสมที่สุดในการเป็นเจ้าสาวของเจ้าชาย Edward พระราชโอรส 

รายงานของ Bishop Stapledon ซึ่งถวายต่อพระเจ้า Edward II ได้อธิบายรายละเอียดธิดาคนหนึ่งของ Count of Hainaut ถึง Philippa ในวัยเด็กว่า หญิงที่ข้าพระองค์พบเห็น ไม่ใช่หญิงที่มีผมเรียบๆ ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสีน้ำเงิน - ดำและน้ำตาล ... ใบหน้าของพระองค์ได้สัดส่วนดี ระหว่างดวงตาและส่วนล่างแคบกว่าส่วนหน้าผากของพระองค์ ดวงตาของพระองค์มีสีน้ำตาลอมดำและลึก จมูกของพระองค์ค่อนข้างเรียบและสม่ำเสมอ ปลายจมูกค่อนข้างกว้างและแบน... รูจมูกและปากค่อนข้างกว้าง ริมฝีปากของพระองค์อวบอิ่มโดยเฉพาะริมฝีปากล่าง ... ฟันล่างของพระองค์ยื่นออกมาเล็กน้อย ฟันบนเห็นได้น้อยมาก ... รูปร่างของพระองค์ทั้งหมดดูดีมาก ๆ จนไม่มีใครสามารถเทียบได้ และไม่มีสิ่งใด ๆ ผิดปกติเท่าที่ชายคนหนึ่งจะสังเกตเห็น

“นอกจากนี้พระองค์ยังมีผิวสีน้ำตาลทั้งตัวเหมือนกับบิดาของพระองค์ โดยพระองค์จะมีอายุเก้าปีในวัน St. John ที่กำลังจะมาถึงตามที่มารดาของพระองค์กล่าว พระองค์ไม่สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปสำหรับวัยเช่นนี้ พระองค์ดูวางตัวได้อย่างเหมาะสม หญิงคนนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีในทุก ๆ เรื่องที่สมควร ด้วยเพราะตำแหน่งของพระองค์ และบิดา มารดา และครอบครัวได้รับการยกย่องและเป็นที่รัก ทั้งหมดเท่าที่เราสามารถสอบถามและเรียนรู้จากความจริงในทุกสิ่ง สำหรับข้าพระองค์แล้วพระองค์เป็นหญิงที่น่าพอใจมาก” ซึ่ง Philippa น่าจะมีเชื้อสายทางพันธุกรรมของผู้ปกครองในอดีต (ชนเผ่ามัวร์ : ชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือซึ่งเดิมเป็นชนอาหรับ หรือ เบอร์เบอร์) ซึ่งมีสีผิวที่เข้มกว่าชาวยุโรป

Philippa of Hainault ได้หมั้นกับเจ้าชาย Edward of Windsor รัชทายาทของ พระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1326 ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า Edward III แห่งอังกฤษ ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1327 และหนึ่งปีหลังจากการขึ้นครองราชย์ พระเจ้า Edward III กษัตริย์หนุ่มแห่งอังกฤษก็ได้ทรงอภิเษกกับ Philippa of Hainault ในมหาวิหารยอร์ก ขณะพระชนมายุสิบห้าชันษา และเจ้าสาวอายุสิบสี่ปี สองสามปีแรกหลังการอภิเษกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ด้วยในช่วงที่ยังทรงเยาว์วัยของพระเจ้า Edward III สมเด็จพระราชินี Isabella พระราชมารดาได้ทรงปกครองอาณาจักร และทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานดินแดนหรือพื้นที่ใด ๆ ให้กับพระสุณิสาซึ่งทำให้ Philippa ไม่มีรายได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1330 สองปีหลังจากการอภิเษก Philippa ก็ได้รับการสวมมงกุฎให้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในมหาวิหาร Westminster ในที่สุดเมื่อ Philippa ตั้งครรภ์เจ้าชาย Edward (The Black Prince : เจ้าชายดำ) ได้ 5 เดือน จากนั้นสมเด็จพระราชินี Philippa ทรงให้ประสูติพระราชโอรส 5 พระองค์และพระราชธิดา 7 พระองค์ รวม 12 พระองค์

นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ยังทรงงานเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองแก่พระสวามี และเคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในคราวที่พระเจ้า Edward III พระสวามีเสด็จไปทรงทำการรบในสงครามร้อยปีอีกด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1346 และ 1347 ในขณะที่ พระเจ้า Edward III ทรงปิดล้อมท่าเรือและเมือง Calais พระองค์ทรงตั้งใจที่จะแขวนคอนายกเทศมนตรีและกลุ่มหัวขโมยเพื่อเป็นการลงโทษที่ชาวเมืองต่อต้านกองทัพของพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน สมเด็จพระราชินี Philippa ทรงคุกเข่าต่อหน้าพระสวามี และทรงขอร้องให้พระเจ้า Edward III ทรงไว้ชีวิตชายเหล่านั้น ด้วยคำวิงวอนของพระองค์ พระเจ้า Edward III จึงทรงยอมจำตามที่จะไม่ประหารชีวิต ทำให้มีผู้เรียก สมเด็จพระราชินี Philippa ว่า ราชินีผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา” พระองค์ทรงตกจากหลังม้าขณะเสด็จออกล่าสัตว์กับพระสวามีในปี ค.ศ. 1358 และทำให้สะบักไหล่หัก และทรงใช้ชีวิตช่วงสองสามปีสุดท้ายด้วยความเจ็บปวด

สมเด็จพระราชินี Philippa สิ้นพระชนม์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระสวามี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369 และพระศพถูกฝังเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1370 ในมหาวิหาร Westminster ซึ่งปัจจุบันยังคงมีหลุมฝังพระศพและพระรูปจำลองของพระองค์อยู่ และ Queen's College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1341 โดย Robert de Eglesfield หนึ่งในอนุศาสนาจารย์ของพระองค์ได้ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Philippa และอยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระองค์อีกด้วย

Charlotte of Mecklenburg-Strelitz (19 พฤษภาคม ค.ศ. 1744 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1818) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีซึ่งทรงมีเชื้อผิวสีอีกพระองค์หนึ่งแห่งราชสำนักอังกฤษ ทรงเป็นธิดาสุดท้องของดยุก Charles Louis Frederick of Mecklenburg ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูล Martim Afonso Chichorro และ เจ้าหญิง Elisabeth Albertine of Saxe-Hildburghausen พระนามเดิมคือ Sophia Charlotte แม้จะทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมัน แต่พระองค์ก็มีเชื้อชาติส่วนเสี้ยวหนึ่งเป็นแอฟริกัน ด้วยทรงมีเสด็จย่าเป็นเจ้าหญิงจากโปรตุเกส จึงทรงเป็นพระญาติห่างๆ ของพระเจ้า Alfonso III แห่งโปรตุเกส ซึ่งมีพระราชโอรสองค์หนึ่งกับ Madragana Ben Aloandro (Maior or Mór Afonso(ในภายหลัง) โดยสืบเชื้อสายจากชนเผ่ามัวร์) คือ Martim Afonso Chichorro อภิเษกสมรสกับพระชายาผิวสี และให้กำเนิดลูกหลานมากมาย

เมื่อพระเจ้า George III ขึ้นครองบัลลังก์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ด้วยการสวรรคตของเสด็จปู่ พระเจ้า George II ขณะทรงมีพระชนมายุ 22 ชันษา และทรงยังไม่ได้อภิเษกสมรส พระราชมารดาแม่และที่ปรึกษาต่างกระตือรือร้นที่จะให้พระองค์ทำการอภิเษกสมรส โดยเลือกเอาเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz วัย 17 ชันษา ด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหญิง Charlotte ทรงถูกเลี้ยงดูมาในดินแดนเยอรมันเหนือซึ่งไม่ค่อยมีนัยสำคัญทางการเมืองกับอังกฤษ ดังนั้นจึงอาจไม่มีประสบการณ์หรือความสนใจในการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่า พระเจ้า George III จะกำกับเจ้าหญิง Charlotte ได้ จึงมีกฎ "ไม่เข้าไปยุ่ง" ซึ่งเป็นกฎที่เจ้าหญิง Charlotte ยินดีที่จะทรงปฏิบัติตาม

พระเจ้า George III ทรงประกาศต่อรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1761 ว่า ทรงตั้งใจที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz หลังจากนั้นคณะผู้ดูแลคุ้มกันซึ่งนำโดยเอิร์ล Simon Harcourt เดินทางไปเยอรมนีเพื่อนำเสด็จเจ้าหญิง Charlotte มายังอังกฤษ พวกเขาไปถึง Strelitz ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1761 และได้รับการต้อนรับในวันรุ่งขึ้นโดยดยุก Adolphus Frederick IV ผู้ครองราชย์ผู้เป็นพระเชษฐาของเจ้าหญิง Charlotte ซึ่งดยุก Adolphus Frederick IV ได้ลงนามในสัญญาการอภิเษกสมรสกับเอิร์ล Harcourt หลังจากครบสามวันของการเฉลิมฉลอง

ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1761 เจ้าหญิง Charlotte เสด็จออกเดินทางไปอังกฤษพร้อมกับพระเชษฐาคือ ดยุก Adolphus Frederick IV และคณะผู้ดูแลคุ้มกันของอังกฤษ ในวันที่ 22 สิงหาคมพวกเขาไปถึงเมืองท่า Cuxhaven ซึ่งมีกองเรือขนาดเล็กรอที่จะส่งคณะไปยังอังกฤษ การเดินทางนั้นค่อนข้างยากลำบากมาก กองเรือเจอกับพายุกลางทะเลถึงสามครั้ง และเข้าเทียบท่าที่เมืองท่า Harwich ในวันที่ 7 กันยายน คณะเดินออกเดินทางต่อไปกรุงลอนดอน แวะพักที่เมือง Witham หนึ่งคืนที่บ้านพักของ Lord Abercorn และมาถึงพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน เวลา 15.30 น. ในวันรุ่งขึ้น โดย พระเจ้า George III และพระบรมวงศานุวงศ์รอต้อนรับที่ประตูสวน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว เวลา 21.00 น. ในเย็นวันเดียวกันนั้น (8 กันยายน พ.ศ. 2304) ภายในเวลาไม่ถึงหกชั่วโมงหลังจากเจ้าหญิง Charlotte เสด็จมาถึงก็ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้า George III พระราชพิธีจัดขึ้นที่ Chapel Royal พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี Thomas Secker มีเพียงฝ่ายราชวงศ์ของเจ้าหญิง Charlotte ที่เดินทางมาจากเยอรมนีและแขกอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน และเจ้าหญิง Charlotte ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี Charlotte แห่งอังกฤษ

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นเจ้าหญิง Charlotte ยังตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จึงทรงต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ตามเงื่อนไขในสัญญาการอภิเษกสมรสคือ "เจ้าหญิงต้องทรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกคริสตจักรแองลิกัน และอภิเษกสมรสกันตามพิธีกรรมของชาวอังกฤษ และต้องไม่ข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย" แม้ว่าสมเด็จพระราชินี Charlotte จะสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามอิสรภาพระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและชาวอาณานิคมในอเมริกา แต่พระองค์ก็ทรงทำตามข้อตกลงในสัญญาการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาสิบห้าพระองค์ โดยสิบสามพระองค์ทรงอยู่รอดจนวัยผู้ใหญ่ พระราชโอรสพระองค์โตคือ พระเจ้า George IV และพระราชโอรสพระองค์ที่สี่คือ เจ้าชาย Edward ดยุกแห่ง Kent และ Strathearn ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

สมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงสร้างคุณูปการให้กับอังกฤษไว้อย่างมากมาย ทรงรักการอ่าน และทรงสนพระทัยในศิลปกรรม เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้ทรงสนับสนุน Johann Christian Bach ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ภรรยาของ Bach หลังจากการเสียชีวิตของ Bach อีกด้วย พระองค์ยังทรงได้อุปถัมภ์ Wolfgang Amadeus Mozart ซึ่งตอนอายุแปดขวบได้ถวายบทประพันธ์เพลง 3 ชิ้นให้กับสมเด็จพระราชินี Charlotte ตามพระสงค์ สมเด็จพระราชินี Charlotte ยังทรงเป็นนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย ทั้งยังทรงช่วยก่อตั้ง Kew Gardens โดยทรงนำต้น Strelitzia reginae (Bird of Paradise) ซึ่งเป็นไม้ดอกจากแอฟริกาใต้ ซึ่งสมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงมีดอกไม้พันธุ์นี้ในพระตำหนักที่ประทับ ในปี พ.ศ. 2343 ได้ทรงแนะนำต้นคริสต์มาสให้กับอังกฤษ และกล่าวกันว่า ทรงเป็นผู้นำในการตกแต่งเทศกาลคริสมาสด้วย 'ขนมหวาน อัลมอนด์ ลูกเกด ผลไม้และของเล่น นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงพยาบาล Queen Charlotte Maternity ในกรุงลอนดอน อันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็กที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ

สมเด็จพระราชินี Charlotte สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2361 ที่พระตำหนักดัตช์ในเซอร์เรย์ ปัจจุบันคือ พระราชวังคิว เบื้องพระพักตร์พระราชโอรสพระองค์โต เจ้าชาย Regent ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมศพถูกฝังอยู่ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ งานเขียนส่วนพระองค์เพียงชิ้นเดียวที่คงอยู่รอดมาได้คือพระราชหัตถเลขา 444 ฉบับของสมเด็จพระราชินี Charlotte Queen Charlotte ถึงพระเชษฐาที่สนิทสนิทที่สุด Charles II (Grand Duke of Mecklenburg-Strelitz) ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง สมเด็จพระราชินี Charlotte รับบทโดย Helen Mirren ในภาพยนตร์เรื่อง The Madness of King George ปี พ.ศ. 2557 และโดย Golda Rosheuvel ใน Bridgerton ภาพยนตร์ซีรีส์ของ Netflix ในปี พ.ศ. 2563 ที่บอกเล่าชีวิตสังคมชั้นสูงของอังกฤษในยุคปี พ.ศ. 2356 โดยย้อนยุคโรแมนติกทั้งหมด 8 ตอน

มีสถานที่มากมายซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้แก่ สถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระองค์ ได้แก่ หมู่เกาะ Queen Charlotte (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Haida Gwaii) ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา และ Queen Charlotte City บน Haida Gwai i; Queen Charlotte Sound (ไม่ไกลจากหมู่เกาะ Haida Gwaii); Queen Charlotte Channel (ใกล้นครแวนคูเวอร์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา); Queen Charlotte Bay ใน West Falkland; Queen Charlotte Sound เกาะใต้ นิวซีแลนด์; ป้อมปราการหลายแห่งรวมทั้งป้อมชาร์ลอตต์เซนต์วินเซนต์; ชาร์ลอตส์วิลล์เวอร์จิเนีย; ชาร์ลอตต์ทาวน์, เกาะปรินซ์เอ็ดเวิร์ด; ชาร์ล็อต นอร์ทแคโรไลนา เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ นอร์ทแคโรไลนา; เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ เวอร์จิเนีย; Charlotte County, Virginia, Charlotte County, Florida, Port Charlotte, Florida, Charlotte Harbor, Florida และ Charlotte รัฐเวอร์มอนต์ Queen Street หรือ Lebuh Queen ตามที่รู้จักกันในภาษามาเลย์เป็นถนนสายหลักในปีนัง มาเลเซีย ซึ่งก็ตั้งชื่อตามพระองค์ ในตองกาพระราชวงศ์รับพระนามว่า Sālote (Charlotte ในภาษาตองกา) เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้แก่ Sālote Lupepauʻu และSālote Tupou III

ดอกแบบเบี้ยใหม่ ได้ใจลูกหนี้เต็ม ๆ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะเห็นข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องดอกเบี้ยในรอบเกือบ ๆ 100 ปีนับแต่ที่ ป.พ.พ. เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468

โดยสาระสำคัญของการแก้ไขดังกล่าว คือ การปรับลดดอกเบี้ยในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้คิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง ไม่รวมส่วนของเงินต้นหรือค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

แต่ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าพึ่งดีใจไปนะครับ เพราะ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับในตอนนี้ เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำร่างกฎหมายนั้นเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของดังกล่าวยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีก 3 วาระ แล้วหลังจากนั้นถึงจะมีผลเป็นกฎหมายออกมาให้เราได้ใช้กัน ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. จะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ออกมาโดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว

แปลว่า การกู้ยืมเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องรอให้สภาผู้แทนมีมติแก้ไข ป.พ.พ. แต่อย่างใด

สาระสำคัญของประกาศ ธปท. นั้นจะคล้ายกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. นั่นแหละครับ คือ มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึงกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศของ ธปท. ดังกล่าวจะมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ครับ

หนึ่ง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง” ห้ามนำเงินต้นที่คงค้างทั้งหมด หรือเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้ามารวมเพื่อคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

มาลองดูตัวอย่างกันครับ สมมุติว่านายสมชายกู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 8 ต่อปี ตกลงค่างวดไว้ 42,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันนายสมชายผ่อนชำระไปแล้ว 24 งวด งวดที่ 25 เกิดผิดนัด และมาชำระล่าช้าไป 1 เดือน ทั้งนี้ ในสัญญาได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ร้อยละ 10 ต่อปี นายสมชายจะต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยผิดนัด ดังนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม แม้นายสมชายผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง แต่ธนาคารจะถือว่านายสมชายผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ธนาคารจะนำเงินต้นคงค้างทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยจากนายสมชาย เช่นกรณีนี้ นายสมชายยังเหลือหนี้เงินต้นอีก 4.77 ล้านบาท นายสมชายจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี จากยอดเงินต้น 4.77 ล้านบาท

ดังนั้น นายสมชายจะต้องชำระเงินดอกเบี้ยผิดนัด 1 เดือน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น

                                     4,770,000 x 2% x 30/365 = 7,841.10 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 7,841.10 = 39,841.10 บาท

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะไม่สามารถนำเงินต้นคงค้าง 4.77 ล้านบาทมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ ธนาคารจะต้องพิจารณาก่อนว่าในงวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น งวดดังกล่าวมีเงินต้นที่นายสมชายจะต้องชำระอยู่เท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นธนาคารค่อยเงินต้นในงวดดังกล่าวมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

จากตัวอย่าง งวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น ความจริงแล้วมีเงินต้นที่ค้างชำระเพียง 10,000 บาท แปลว่าธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับนายสมชายได้เพียง

                                           10,000 x 2% x 30/365 = 16.44 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 16.44 = 32,016.44 บาท แปลว่าตามประกาศใหม่ของ ธปท. นายสมชายจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยผิดนัดลงได้เกือบ ๆ 8 พันบาทเลยทีเดียว

สอง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้แค่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เท่านั้น ไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้เองอีกต่อไป

สมมุติว่านายสมชายกู้เงินธนาคาร 1 แสนบาท โดยตกลงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ 8 ต่อปี หากนายสมชายผิดนัดชำระหนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดชำระหนี้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น ธนาคารอาจกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ได้

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวก 3% ดังนั้นในกรณีตามตัวอย่างที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นายสมชายไว้ร้อยละ 8 ต่อปี ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากนายสมชายได้สูงสุดเพียงร้อยละ 8 + 3 = 11 ต่อปีเท่านั้น

สาม กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องตัดชำระค่างวดที่ค้างขำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” ไม่ใช่นำเงินที่ชำระเข้ามาไปตัดค่าธรรมเนียม ตามด้วยดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปตัดเงินต้นแบบในอดีต

ตัวอย่างเช่น นายสมชายขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร และตกลงกันชำระเงินค่างวดกัน 10,300 บาทต่อเดือน โดยค่างวด 10,300 บาทนั้น ความจริงแล้วเป็นการชำระคืนเงินต้น 6,000 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และค่าธรรมเนียม 300 บาท หากนายสมชายค้างชำระ 3 งวด แล้วนำเงินมาชำระ 10,300 บาท

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารจะนำเงิน 10,300 บาทนั้นไปชำระค่าธรรมเนียมที่ค้าง 3 งวดก่อน จากนั้นนำเงินส่วนที่เหลือไปชำระดอกเบี้ย และถ้ามีเหลือถึงจะไปชำระคืนเงินต้น

                             เงินที่นายสมชายชำระเข้ามา                   10,300 บาท

                             ชำระค่าธรรมเนียม 3 งวด                     10,300 – (300 x 3)   =   9,400 บาท

                             ชำระดอกเบี้ยที่ค้าง 3 งวด                     9,400 – (4,000 x 3)  = - 2,600 บาท

แปลว่าเงิน 10,300 บาทนั้นจะชำระได้เพียงค่าธรรม 900 บาท และดอกเบี้ย 9,400 บาทเท่านั้น นายสมชายยังคงค้างดอกเบี้ยอีก 2,600 บาท และที่สำคัญ คือ เงินที่นายสมชายชำระเข้ามาดังกล่าว ไม่ได้ไปชำระคืนเงินต้นเลยแม้แต่บาทเดียว

แบบใหม่ ธนาคารจะต้องนำเงิน 10,300 บาท นั้นไปชำระค่างวดที่ค้างชำระเก่าที่สุดก่อน ซึ่งค่างวดนั้นจะหมายความรวมถึงค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น

แปลว่าตามประกาศ ธปท. ฉบับใหม่ เงิน 10,300 บาทที่นายสมชายจ่ายเข้ามานั้นจะไปชำระค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ของงวดเก่าสุดที่ค้างอยู่ ซึ่งจะต่างจากแบบเดิมที่เงิน 10,300 บาท ของนายสมชายจะไม่ถูกนำไปชำระคืนเงินต้นเลย

จะเห็นได้ว่าประกาศของ ธปท. ฉบับใหม่นี้ช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ไม่เจอสภาวะหนี้สินแบบดินพอกหางหมู ที่ชำระเข้าไปเท่าไหร่ เงินนั้นก็ถูกนำไปชำระแต่ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะสามารถชำระหนี้คืนทั้งหมดได้เมื่อไหร่ และสุดท้ายก็อาจถูกฟ้องบังคับยึดทรัพย์สิน หรือต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายไป

สุดท้ายนี้ ผมก็ต้องขอฝากท่านผู้อ่านเอาไว้ว่า แม้กฎหมายจะออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว และเมื่อมีหนี้แล้วเราก็ต้องมีวินัยในการชำระหนี้คืนด้วย เพราะปัญหาหนี้สินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของคนจำนวนมากจริง ๆ

ศึกษาประกาศ ธปท. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630272.pdf

อย่ามองข้าม “ตลาดชนบทอินเดีย”

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯอาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆแบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 2

ในตอนแรกได้กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจในการคอร์รัปชั่น คือ ทรัพย์แผ่นดินหรือสาธารณสมบัติ ซึ่งรัฐหรือประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้อ่านก็คงสงสัยว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ซึ่งหมายถึง มีกฎหมาย กฎเกณฑ์ในสังคม ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่คอยยับยั้งการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ในตอนนี้จึงขอกล่าวถึง ช่องว่างของกฎหมาย โดยใช้แว่นขยายทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยิ่งไปกว่านั้น การคอร์รัปชั่นโดยถูกกฎหมายนั้น “เบ่งบาน” มากขึ้นเนื่องจากความไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมหรือกลโกงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Der Teufel steckt im Detail.”  ซึ่งใกล้เคียงกับสำนวนในภาษาอังกฤษว่า “The devil is in the details.” แปลเป็นไทยว่า “ปีศาจอยู่ในรายละเอียด” เมื่อนำมาประยุกต์กับการคอร์รัปชั่นมักจะพบว่า กฎหมายหรือระเบียบที่ออกมามักจะให้อำนาจในกฎหมายลูก หลายครั้งต้องตามไปดูว่า รายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร และให้อำนาจใดกับใคร แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทั่วไปในการทำความเข้าใจตัวบทกฎหมาย

ความไม่เท่าเทียมในข้อมูลข่าวสาร (Incomplete Information) ความไม่รู้กฎหมาย จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่ง่ายและเร็วมากขึ้น

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ การฟ้องคดีทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน ไม่ว่าจะเพื่อการสร้างรถไฟฟ้า ถนน ทางด่วน สะพานลอย เสาไฟ หรือการกำหนดรูปแบบรายการ รายละเอียดอุปกรณ์ เครื่องมือประกอบแบบ ล้วนต้องอาศัยอำนาจรัฐและกฎหมายในการดำเนินการ หากผู้ใช้อำนาจนั้นกระทำการโดยสุจริตปัญหาการฟ้องร้อง ร้องเรียน จะมีไม่มาก แต่หากลองสวมหมวกเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ตรงไปตรงมาแล้ว การใช้อำนาจรัฐและกฎหมาย สามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นโดยง่าย การเรียกรับผลประโยชน์จากการกำหนดจุด การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบรายการโดยมิชอบ เป็นกรณีที่พบมากในการร้องเรียนแต่มีช่องว่างทางกฎหมาย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า “การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

การกำหนดจุดเสาตอม่อรถไฟฟ้า สะพานลอย ทางออกของถนน มีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนและเกี่ยวพันทั้งด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย ความสวยงาม แต่มีช่องว่างที่เอื้อต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยถูกกฎหมาย เพราะในขั้นตอนสำรวจจะมีทีมลงพื้นที่ก่อนการเวนคืน มีกระบวนการทางเอกสารและการเวนคืน ทำให้หากเกิดการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบแล้วประชาชนทั่วไปจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่สุ่มเสี่ยงในการถูกยกฟ้องเพราะพ้นกำหนดการฟ้องคดีที่มีระยะเวลา 90 วัน

วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี อาจถูกนับตั้งแต่วันที่ทีมสำรวจมาแจ้งด้วยวาจา หรือหน่วยงานออกเอกสารว่าอยู่ในเขตทางแต่ยังไม่เวนคืน เป็นต้น “รายละเอียด” เหล่านี้ ประชาชนทั่วไปไม่มีทางรู้เท่าทันกลโกงเล่ห์เหลี่ยมของเจ้าหน้าที่รัฐที่คดโกง และสำคัญที่สุดคือ ประชาชนไม่อยากเป็นความ ถึงกับมีคำกล่าวว่า “กินขี้หมาดีกว่าเป็นความ” ก็ได้แต่นึกโทษโชคชะตา ทั้งที่การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นกรรมปัจจุบันและเป็นการกระทำผิดของทุรชน

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรูปแบบรายการโดยมิชอบและขู่กรรโชกเรียกผลประโยชน์จากผู้รับเหมาโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบโครงการหรือเป็นกรรมการตรวจรับ เป็นกรณีที่ผู้รับเหมาพบบ่อยครั้ง และปล่อยผ่านเพราะไม่อยากมีเรื่องราว ทำให้การกระทำทุจริตประพฤติมิชอบเติบโตขึ้นและแทรกซึมลงไปใน “รายละเอียด”

อีกเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นเรื่อง การงด หรือ ลดค่าปรับ หรือ การขยายเวลา ของโครงการรัฐนั้น ที่ปรากฏว่า ผู้มีอำนาจที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานมักใช้ช่องทางนี้ในการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทั้งที่กฎหมายระบุรายละเอียดชัดแจ้งตั้งแต่เป็น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จนพัฒนามาเป็น พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

มาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า

“การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอํานาจที่จะพิจารณาได้ตามจํานวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง เฉพาะในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ

(๒) เหตุสุดวิสัย

(๓) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

(๔) เหตุอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

หลักเกณฑ์และวิธีการของดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนด”

ยังมีประเด็นเรื่อง “ค่าโง่” ซึ่งมีรายละเอียดมาก และน่าจะนำขึ้นมาเขียนเพราะสังคมควรได้เรียนรู้เรื่องการบริหารสัญญาภาครัฐ ที่เจือด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบ นำไปสู่การเสียประโยชน์ของรัฐโดยไม่ควรเสีย ซึ่งพบว่าพัวพันกับผู้มีอำนาจและนักกฎหมายที่เลว

ผู้สันทัดในทางกฎหมายเคยให้ความรู้ผู้เขียนว่า “นักกฎหมายที่เลว จะบิดเบือนข้อกฎหมาย หรือ บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือ ทำทั้งสองอย่าง” เช่น การขยายเวลาให้เนื่องจาก ฝนตกเยอะ เป็นต้น เพราะนักกฎหมายที่เลวจะรู้ว่า ผู้มีอำนาจที่อาจสมรู้ร่วมคิดมักจะตัดตอนคดีให้ได้และปกปิดนั่งทับเอาไว้ได้ ตัวอย่างที่ผู้มีอำนาจร่วมกับนักกฎหมายที่เลว หรืออาจเป็นคนเดียวกันได้ ก็คือ การกล่าวอ้างว่ามีอำนาจทั้งที่ไม่มี การละเว้นการพิจารณาของคณะกรรมการที่ราชพัสดุโดยอ้างว่าเอกชนให้ผลประโยชน์เหมาะสม เป็นต้น

ดังนั้น การกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีนักกฎหมายที่เลวผสมโรง หรือมีคราบนักกฎหมายนั้น จึงมักจะจับได้ไล่ทันยาก เพราะความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ความไม่รู้ของหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงทัศนคติของประชาชนทั้งเรื่อง การเป็นความ และความเชื่อเรื่องกรรมเก่า

ในความเป็นจริง ยังมีทางออก สำหรับการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดจาก “ช่องว่างทางกฎหมาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยข้อมูล เพราะ “ผีกลัวแสงสว่าง” ซึ่งคอลัมน์นี้จะมาลงรายละเอียดในภายหลัง

ทิ้งท้ายด้วยการขอน้อมนำพระบรมราโชวาท ของรัชกาลที่ 9 มาไว้เพื่อเตือนสติว่า

“...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากแต่เป็นบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม

ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รูกฎหมายแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่

ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต...”

I care a lot เมื่อห่วง….แต่หวังฮุบ

spoil alert (เนื้อหาในบทความอาจมีการกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญในหนัง I care a lot)

ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง I care a lot ชื่อไทยว่า ห่วง… แต่หวังฮุบ เรื่องราวของมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจ นักธุรกิจสาวที่แสร้งว่าตนเองและธุรกิจของตนเองนั้นเป็นธุรกิจที่ห่วงใย ใส่ใจสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ที่ไหนได้ ลับหลังคือการเอาเปรียบหลอกลวงและหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติบ้านช่องของผู้สูงอายุมาเป็นของตนเอง โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย จากหนังเรื่องนี้ทำให้มีพูดถึงปัญหาการจัดการทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีการรองรับ กฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด คือร่างพระราชบัญญัติบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ ทรัสต์ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ในบทความนี้จะไม่พูดถึงตัวกฎหมาย แต่อยากชวยคุยในประเด็นสังคมและวัฒนธรรมในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศตะวันตก ประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด แต่หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอีกมุมอันตรายจากการคุ้มครองสิทธินี้อย่างคาดไม่ถึง

หากมองสภาพสังคมในตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเราก็จะพบว่ามีลักษณะเป็นสังคมปัจเจกนิยม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเปรียบเสมือนศีลสำคัญของความดำรงอยู่ในสังคม  ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว  พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น เมื่อโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ก็จะแยกบ้านเรือนออกไปใช้ชีวิตตนเอง ไม่นิยมการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยายอย่างเช่นสังคมในประเทศในฝั่งตะวันออก อย่างประเทศไทยที่ลูกหลานพ่อแม่ปูยาตายายอยู่รวมกัน ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศแถบตะวันตกมักอยู่เพียงลำพัง พอถึงจุดหนึ่งผู้สูงอายุอาจถูกมองว่าต้องอยู่ในสภาวะพึ่งพิงผู้อื่น แต่หันซ้ายหันขวาลูกหลานอยู่ไกล หรือไม่รู้อยู่ไหนกัน รัฐจึงยื่นมือเข้ามาหวังจะช่วยดูแลผู้สูงอายุ  โดยให้อำนาจแก่บริษัทฯดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเอง ได้รวมถึงให้อำนาจบริษัทฯจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุด้วย  ซึ่งก็ดูเหมือนว่าน่าจะดีแต่หนังเรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่และสังคมเองก็ไม่ได้เชื่อมั่นว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเชื่อใจบริษัทตัวแทนเหล่านี้มาก จากกฎหมายที่อยากจะปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นผู้ลิดรอนสิทธิของผู้สูงอายุเสียเอง

เรื่องราวน่าหดหู่และชวนให้คิดใคร่ครวญ คือการสะท้อนว่าแม้ผู้สูงอายุยังสามารถดูแลตนเองได้ดีและยืนยันจะดูแลตัวเองต่อไป บริษัทฯก็จัดฉากสร้างเรื่องทำให้ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อนั้นดูเป็นคนไร้ความสามารถ ให้หมอที่รู้กันกับบริษัทวินิจฉัยว่าผู้สูงอายุมีความจำเลอะเลือนบ้าง หรือมีจิตไม่ปกติบ้างจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ เพื่อให้ศาลสั่งบังคับให้มีผู้ดูแล ซึ่งศาลก็มักจะเชื่อตามหลักฐานจากหมอมากกว่าจะเชื่อจากปากผู้สูงอายุ และสุดท้ายผู้สูงอายุก็เข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชราที่สมรู้ร่วมคิดกับกับบริษัทฯไว้แล้ว แม้ลูกหลานจะพยายามช่วย หรือแม้แต่จะขอเข้าพบพ่อแม่ยังไม่สามารถทำได้เพราะบ้านพักคนชราและบริษัทฯก็ใช้ข้อกฎหมายมาเล่นแง่จนลูกๆไม่สามารถเข้าพบหรือพาพ่อแม่ออกมาได้ 

สิ่งที่ทำให้มิจฉาชีพใช้กฎหมายมาเล่นแง่กับลูกๆของผู้สูงอายุได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความที่ลูกๆก็ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดหรือใส่ใจดูแลพ่อแม่มาก่อนหน้านี้ทำให้บริษัทฯใช้เป็นข้ออ้างถึงการไม่ควรให้ลูกเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุรวมถึงทรัพย์สินของผู้สูงอายุ พูดง่ายๆว่าระแวงลูกว่าลูกจะไม่ได้ใส่ใจในการดูแลพ่อแม่และศาลก็เชื่อตามนั้น หนังดำเนินเรื่องแบบตลกร้าย แต่ดูแล้วก็ตลกไม่ออกกับการเห็นผู้สูงอายุต้องตกเหยื่อของธุรกิจที่ชั่วร้ายนี้  ผู้สูงอายุทุกคนสมควรจะได้จะมีชีวิตที่ตามที่ใจปรารถนาในช่วงบั้นปลายชีวิต สมควรที่จะมีอิสระและมีความสุขตามวัย  แต่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในเรื่องนี้กลับเป็นการพรากคุณค่าและความสุขทั้งหมดทั้งมวลในช่วงบั้นปลายของมนุษย์คนหนึ่งไปอย่างหน้าชื่นตาบาน ซ้ำยังได้รับการชื่นชมในการของการบริหารธุรกิจในโลกของระบบทุนนิยมที่ผลกำไรเป็นเรื่องใหญ่เสมอ  สุดท้ายผู้สูงอายุจึงไม่ใช่ผู้ได้รับการคุ้มครองดูแลตามสิทธิอันพึงได้รับ แต่กลับกลายเป็นเหยื่อของธุรกิจค้าความชราจนผู้สูงอายุไม่มีสิทธิแม้แต่จะเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองได้เพียงเพราะความเชื่อว่าผู้สูงอายุไม่สามารถพึงพาตนเองได้และจะต้องอยู่ในการดูแลพึงพาอาศัยผู้อื่น

ดูหนังแล้วย้อนดูสังคมไทยกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศ  แอบใจชื่นขึ้นมาหน่อยเพราะสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีลักษณะความผูกพันในครอบครัวที่เหนียวแน่นกว่าในสังคมตะวันตก การอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยายของคน 3 รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย  ลูก หลานยังมีให้เห็นมากมาย ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าจะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น  ไหนๆก็พูดถึงผู้สูงอายุเลยขอชวนหันมาดูสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุกันสักหน่อย จากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 - พ.ศ.2583 พบว่าสัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ 13.2 ในปี 2553  จะเพิ่มเป็นร้อยละ 26.6 ในปี 2573 และเพิ่มเป็น 32.1 ในปี 2583

จากข้อมูลการสำรวจประชากร จะพบว่าตอนนี้ประเทศไทยเราเดินมาไกลเกินกว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว ( สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ)  แต่เรากำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  ภายในปี 2564นี้  ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เพราะจากข้อมูลสถิติประชาการศาสตร์ในปี 2562  ไทยมีประชากรรวม 66,558,935 คน  ในจำนวนนี้ มีประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ทั้งหมดจำนวน 11,136,059 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73   หรือนึกภาพเป็นตัวเลขกลมๆ ให้นึกว่าหากมีคนเดินมา 10 คน  2 คนใน 10 นั้นคือผู้สูงอายุ  และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะมีอายุขัยที่ยาวขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุวัยปลายมากขึ้นด้วย ดังนั้นภาครัฐของเรานั้นต้องหันมาเร่งดำเนินการเพื่อรองรับกับกับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร 

ประเทศไทยมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติมา 2 ฉบับแล้ว ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 แผนฉบับนี้มีวิสัยทัศน์ว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสมควรส่งเสริมให้คงคุณค่าไว้ให้นานที่สุดแต่ในกรณีที่ตกอยู่ในสถานะต้องพึ่งพิงผู้อื่นครอบครัวและชุมชนจะต้องเป็นด่านแรกในการเกื้อกูลเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงอยู่ในชุมชนได้อย่างมีสุขภาพที่เหมาะสมที่สมเหตุสมผลได้นานที่สุดโดยมีสวัสดิการจากรัฐเป็นระบบเสริมเพื่อให้เกิดหลักประกันในวัยสูงอายุและความมั่นคงของสังคม  แม้จะมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติมา 2  ฉบับแล้วแต่ภาครัฐต้องเร่งกำลังเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ การคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุซึ่งก็ต้องเร่งพัฒนากันต่อไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้น   

นอกจากการดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อผู้สูงอายุแล้ว สิ่งรัฐต้องเร่งดำเนินดำเนินการควบคู่ไปด้วยคือการสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมว่า การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) นั้นไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกครอบครัวและทุกคนในสังคม  เป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัยที่ต้องทำความเข้าใจและพึ่งพาอาศัยกันต่อไปด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน  ค่านิยมในการมองผู้สูงอายุเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นวัยที่ไม่สามารถทำงานหาเงินได้ เป็นวัยที่เป็นภาระ หรือทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงวัยว่า คือคนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้  โดยเปรียบเทียบผู้สูงวัยให้เป็นไดโนเสาร์เช่นนี้ อาจทำให้เกิดสถานการณ์อย่างในหนังที่กล่าวถึงขั้นต้นเข้าสักวัน 

ดังนั้นการสื่อสารเพื่อสร้างทัศนคติในการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ของคนทุกช่วงวัยจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถาบันครอบครัว ความรักความห่วงใยการดูแลเอาใจใส่กันและกันของคนในครอบครัว คือเกราะป้องกันชั้นดีให้กับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน มิใช่แค่เพียงเด็กๆหรือลูกหลานที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่  ในขณะเดียวกันเมื่อกาลเวลาผ่าน พ่อแม่ในวัยผู้สูงอายุก็ยิ่งต้องการความรัก ควาวมห่วงใยและน้ำใจจากลูกๆ เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่าวัฒนธรรมความรักในครอบครัวจะช่วยให้ผู้สูงอายุของไทยสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง

ช่วงนี้เห็นมีโฆษณาบ้านพักผู้สูงอายุหลักเกษียณมากมายมาใช้เลือกใช้บริการทั้งราคาย่อมเยาจนถึงราคาสูงลิบ โฆษณาว่าอยู่ดีอยู่สบายครบวงจรทั้งการดูแลสุขภาพ หมอพยาบาลและอาหารการกิน …. แว๊บหนึ่งแอบคิดถึงหนัง I care a lot ห่วง… แต่หวังฮุบ ขึ้นมาทันที  หวังว่าเราจะไม่เจอสภาพเช่นผู้สูงอายุในหนังเรื่องนี้  แต่คิดๆไปก็เบาใจ ผู้เขียนคงไม่เจอสถานการณ์อย่างในหนัง เพราะไม่มีเงินและสมบัติพอให้ใครมาฮุบ  ถ้าจะทำหนังคงต้องชื่อว่า  “ห่วงได้ แต่ไม่มีให้อะไรให้ฮุบ” 


ที่มา

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย (ด้านประชากร) – FOPDEV

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย (dop.go.th)  กรมกิจการผู้สูงอายุ

แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564)  คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ‘โลก - ไทย’

นับจากเดือนธันวาคม 2019 ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลง หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จนหลายคนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1930

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อพิชิตไวรัสดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 300 ล้านโดสให้กับประชากรทั่วโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วงกลางปี 2021 นี้

ประเด็นที่น่าสนใจจากการใช้ประโยชน์จากวัคซีนโควิดที่มีการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น คือ การนำไปสู่ความปกติใหม่ หรือ ’New Normal’ ของการใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ซึ่งเป็นหลักฐานการได้รับวัคซีนสำหรับผู้ต้องการเดินทางระหว่างประเทศทั้งเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนา ‘แอปพลิเคชันพาสปอร์ตวัคซีน’ อาทิเช่น…

...แอปพลิเคชัน IATA Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ

...แอปพลิเคชัน CommonPass เพื่อใช้ในสายการบิน Jet Blue, Lufthansa และ United

...แอปพลิเคชัน IBM Digital Health ของบริษัท IBM

...และแอปพลิเคชัน iProov แพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการจัดการวิกฤตสุขภาพของประเทศอังกฤษ

เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมสำคัญในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า หากวิกฤติโรคระบาดคลี่ ‘คลายลง’ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและอินเดียที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.3

ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังจากการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรก 2 แสนโดส (จากทั้งหมด 2 ล้านโดส) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อีกทั้งการยื่นขออนุญาตจาก อย. ของภาคเอกชนจาก 4 โรงพยาบาลใหญ่ ‘ธนบุรี - รามฯ - กรุงเทพ - เกษมราษฎร์’ นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก และโนวาแวกซ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ขณะเดียวกันมติเห็นชอบการใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีนของไทย’ จากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น เชื่อได้ว่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลบวกและกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% – 3.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3% – 5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% - 1%

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านี้ จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่...

1.) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ

2.) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตามในปี 2021 แนวโน้มเศรษฐกิจของโลก และของไทย กำลังจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุด ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา แต่จะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติแค่ไหน จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบเศรษฐกิจอย่างเฉิดฉายเพียงใด อีกไม่ช้านี้ คงได้ทราบกัน...


แหล่งที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-52291254

https://www.jsccib.org/th/news/view/350

https://www.prachachat.net/economy/news-623456

https://www.prachachat.net/marketing/news-623170

ทำไม? ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงเป็น ‘อินโดนีเซีย’

‘Startup’ ชื่อเท่ ๆ ของธุรกิจดิจิทัล และหรือธุรกิจแนวคิดใหม่ เย้ายวนให้บรรดาคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง สามารถทำเงินถึงหลักหมื่นล้านได้ภายในเวลาไม่กี่ปี (หากประสบความสำเร็จ)

แต่ทราบหรือไม่ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลกที่คนทั่วไปรู้จักกันดี อาทิเช่น Apple, Facebook, SpaceX, Amazon และ Alibaba ต่างก็เริ่มต้นจากกลุ่มคนทำงานไม่กี่คนในโฮมออฟฟิศเล็กๆ ที่บ้าน ก่อนที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโตจนกลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ในทุกวันนี้

ว่าแต่ ‘ยูนิคอร์น’ คืออะไร?

ยูนิคอร์น หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จเติบโตจนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) โดยปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 300 ล้านบริษัททั่วโลก แต่มีเพียง 556 บริษัทเท่านั้นที่สามารถเติบโตจนถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งในนั้นเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันมากที่สุดถึง 137 บริษัท รองลงมาคือจีน 120 บริษัท

ส่วนประเทศในย่านอาเซียนนั้น ก็มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอยู่ 11 บริษัท โดยประเทศอินโดนีเซียมีการผลิตสตาร์ทอัพสัญชาติอิเหนาได้มากถึง 6 บริษัท และทำให้อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากเป็นอันดับ 9 ของโลก รวมถึงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

เพราะเหตุใดอินโดนิเซียถึงกลายเป็นเจ้าแห่งยูนิคอร์น ‘สตาร์ทอัพ’ อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์เชิงธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซีย วันนี้เรามาลองแอบส่องเหตุ ‘ปัจจัย’ ในการสร้าง ‘ลูกม้า’ ให้กลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ของเมืองอิเหนา ประเทศเพื่อนบ้านของเรากัน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซียเกิดขึ้นในช่วงราว ๆ ปี 2009 จากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ได้เรียนรู้การทำธุรกิจในยุค ดอทคอมรุ่งเรืองและนำมาต่อยอด เพื่อสร้างธุรกิจในอินโดนิเซีย และตอนนี้ในอินโดนิเซีย ก็มีกลุ่มสตาร์ทอัพที่ยังคงอยู่ในธุรกิจมากถึง 2,000 บริษัท และเป็นถึงระดับยูนิคอร์น 6 บริษัท ได้แก่...

1.) Gojek ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2009 โดยนาเดียม อันวาร์ มาคาริม นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน เรียกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่มีอยู่เพียง 20 คัน จนกลายเป็น Super App ที่มีบริการหลากหลายถึง 24 ประเภท และขึ้นแท่นยูนิคอร์นตัวแรกในอินโดนิเซียเมื่อปี 2017 แถมตอนนี้ก็ยกระดับธุรกิจขึ้นไปอีกขั้น จนกลายเป็น ‘ดีคาคอร์น’ ที่มีมูลค่าของบริษัทมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ (3 แสนล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2.) Tokopedia เว็บไซด์ e-Commerce ที่ก่อตั้งปีเดียวกับ Gojek โดยนักธุรกิจดาวรุ่ง วิลเลี่ยม ทานุวิชยา ที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์ม Customer-to-Customer เพื่อรองรับตลาดการค้าที่ใหญ่ และหลากหลายมากในอินโดนีเซีย จนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจระดับยูนิคอร์นได้ แถมยังได้รับทุนสนับสนุนจาก Alibaba, Google และ เทมาเส็ก

3.) Traveloka ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพัก โรงแรม และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างครบวงจร เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในอินโดนิเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยด้วย ที่หลายคนอาจไม่คิดว่าบริษัทแม่ของ Traveloka ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ในอินโดนิเซียนี่เอง แถมมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่า 3 พันล้านเหรียญแล้วในปัจจุบัน

4.) Bukalapak เป็นอีกหนึ่ง e-Commerce ระดับยูนิคอร์นอีกเจ้าของอินโดนิเซีย แม้ว่าชาวอินโดฯ จะมี Tokopedia ไปแล้ว แต่ตลาดออนไลน์เจ้าเดียวคงไม่พอสำหรับประชากรที่มากถึง 270 ล้านคน ซึ่ง Bukalapak ก็มีจุดเริ่มต้นที่แสนจะคลาสสิค เนื่องจากทีมผู้ก่อตั้งบริษัท เกิดจากการรวมตัวของ เพื่อนร่วมสถาบัน 3 คนจาก Bandung Institute of Technology ที่ต้องการสร้างสตาร์ทอัพของตัวเองหลังเรียนจบ และมาลงตัวที่การสร้างมาร์เก็ตเพลส สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ของโชห่วย ไปจนถึงประกันชีวิต จนกลายเป็นแพล็ตฟอร์มตลาดนัดที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 70 ล้านคนต่อเดือน

5.) OVO ผู้ให้บริการด้านธุรกรรมออนไลน์ รายล่าสุดของอินโดนิเซียที่มาแรงมาก เกิดจากการร่วมทุนของบริษัทสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่อย่าง Grab Tokopedia ที่ทำให้ OVO ผู้ให้บริการ e-Payment ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีก็สามารถเติบโตจนกลายเป็น ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพได้ในปี 2019

6.) JD.id ธุรกิจสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอินโดนิเซีย ที่เป็นธุรกิจลูกของ JD.com จากประเทศจีน เป็นธุรกิจ e-Commerce ที่เน้นสินค้าเทคโนโลยี แก็ดเจททันสมัยที่หายากในท้องตลาด สินค้าพรีเมี่ยม เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มในอินโดนิเซีย แต่ก็สามารถสร้างมูลค่าธุรกิจระดับพันล้านเหรียญได้

หลายคนอาจมองว่าอินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น มากกว่าใครในย่านนี้ และหากคำนวนคร่าว ๆ แล้ว ก็เท่ากับว่าในอินโดนิเซียมีอัตราการเกิดสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น 1 บริษัทต่อประชากร 45 ล้านคน

แต่หากมองมาที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน ที่มีธุรกิจระดับยูนิคอร์นแล้วถึง 4 บริษัท แล้วกับประเทศไทยที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน กลับไม่มีสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์น เกิดเลยแม้แต่เจ้าเดียว ก็พอจะบอกได้ว่าปัจจัยเรื่องปริมาณของประชากรไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสร้างสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นได้

ดังนั้นสูตรสำเร็จของการแจ้งเกิดยูนิคอร์นของอินโดนิเซียนั้น มีความน่าสนใจมากกว่าขนาดของตลาดและประชากรในประเทศ

โดยมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดยูนิคอร์นน่าจะมาจาก…

ประชากรที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ จากการเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะน้อยใหญ่รวมกันมากกว่า 17,000 เกาะ จึงเป็นความท้าทายในเรื่องงานสร้างสรรค์บริการที่ต้องเข้าถึงคนในท้องถิ่น และการจัดการระบบขนส่ง

ขณะเดียวกันชาวอินโดนิเซียนิยมการใช้ ‘เงินสด’ มากกว่า ‘เครดิตการ์ด’ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการซื้อขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และนิยมใช้สินค้า/บริการจากคนในท้องถิ่น

จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ชาวอินโดนิเซียมากถึง 60% นิยมใช้สินค้า/บริการจากผู้ให้บริการในประเทศ มากกว่าแบรนด์ต่างประเทศ และมักเลือกสินค้า/บริการจากความรู้สึกที่คุ้นเคย และเข้ากับวิถีชีวิตแบบอินโดนิเซีย แต่ก็รับเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ในอินโดนิเซียมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ 171 ล้านคน และมีสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 45% ของจำนวนประชากรในอาเซียนทั้งหมด

ดังนั้นชาวอินโดนิเซีย จึงมีความพร้อมในการตอบรับธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขอเพียงแค่คุณต้องเข้าใจความต้องการของคนอินโดนีเซียได้อย่างแท้จริง ซึ่งโจทย์นี้เองที่เป็นความหินของสตาร์ทอัพต่างชาติที่ต้องการตีตลาดในอินโดนิเซีย แต่ก็เป็นความได้เปรียบของนักธุรกิจในประเทศที่มีความรู้ ความเข้าใจผู้บริโภคในตลาดได้ดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่น Gojek ที่มีจุดมุ่งหมายในการสกัดการรุกคืบตลาดของ สตาร์ทอัพ Ride-sharing ระดับโลกอย่าง Uber ทั้งๆ ที่มีทุนต่างกันมาก แต่เพราะ Gojek เข้าใจวิถีการเดินทางของชาวอินโดนิเซีย ที่คุ้นเคยกับการใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างมากกว่าระบบ Ride-sharing ในโมเดลของตะวันตก ทำให้ Gojek ยังคงรักษามาร์เก็ตแชร์ในบริการเรียกรถขนส่งเป็นอันดับ 1 ไว้ได้ และยังกินส่วนแบ่งตลาดถึง 95% ของบริการส่งอาหาร จน Uber ต้องยอมล่าถอยจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด

นอกจากจะเข้าใจคนอินโดนิเซียแล้ว การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ก็ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของชาวอินโดนิเซีย ‘ได้ใจ’ ผู้ใช้ในประเทศอย่างมาก อย่างโมเดลการทำธุรกิจของ Bukalapak ที่ต้องการสร้างมาร์เก็ตเพลสที่ช่วยสนับสนุน SME รายย่อยในอินโดนิเซียที่มีอยู่กว่า 99% ของภาคธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ที่อาจเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต หรือไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับธุรกิจค้าปลีกทุนหนาให้สามารถขายสินค้าได้อย่างหลากหลาย ทั้งของชำทั่วไป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ช่างทั่วไป จนถึงตั๋วรถไฟ หรือประกันชีวิต ทุกวันนี้จึงมี SME มากกว่า 4.5 ล้านราย นำเสนอสินค้าบน Bukalapak และมีการทำธุรกรรมซื้อขายไม่น้อยกว่า 2 ล้านครั้งต่อวัน

จอห์น ฟิทซ์แพทริค หัวหน้า Google Cloud Startup Program ในเขตเอเชียแปซิฟิค ได้ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ สตาร์ทอัพของอินโดนิเซียประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลอย่างมาก และมีกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ๆ ยังมีโอกาสโต แม้จะมีรุ่นพี่ระดับยูนิคอร์นเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ฟิทซ์แพทริค ยังเสริมว่า นักธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซียมี Mindset ที่ดีและพร้อมเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อโอกาสใหม่ๆเสมอ โดยไม่ยึดติดกับสูตรเดิม ๆ

"เราคงไม่เห็น Gojek ที่อัพเกรดจากแอปพลิเคชันที่มีเครือข่ายมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพียงแค่ 20 คัน กลายเป็น Super App ที่มีบริการให้ผู้ใช้งานได้เลือกถึง 24 ประเภทไม่ซ้ำกัน Traveloka คงอยู่ไม่รอดในวิกฤติ Covid-19 หากยังคงยึดติดเพียงแค่ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบิน และธุรกิจสตาร์ทอัพของอินโดนิเซียคงไม่เติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์นที่แข็งแกร่ง หากมองเพียงโอกาสแค่ตลาดในประเทศ"

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนิเซีย จึงดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ ทั้ง Amazon, Alibaba, Tencent, Softbank หรือ Microsoft ที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจที่สามารถต่อ ยอดได้ไกลทั่วภูมิภาค และยิ่งส่งเสริมให้ระบบนิเวศน์ของธุรกิจสตาร์ทอัพของอินโดนิเซียยังสามารถโตได้อีกอย่างไม่จำกัด

จากทั้งหมดที่ว่ามานี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมอินโดนิเซียถึงได้กลายเป็นเซียนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในย่านอาเซียน และยังสามารถตีตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย และนี่แหละที่จะเป็นโจทย์สำคัญของไทยนับจากนี้ ในการเร่งพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของคนไทยให้เติบโต และก้าวไปไกลกว่าในประเทศตัวเอง


อ้างอิง:

https://www.mime.asia/6-startup-unicorn-indonesia-that-you-should-know/

https://techcollectivesea.com/2021/02/22/we-take-a-closer-look-at-the-indonesian-unicorn-startups/

https://techsauce.co/news/indonesia-the-startup-ecosystem-with-the-most-unicorns-in-southeast-asia

https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/

https://www.techinasia.com/indonesias-unicorns-achieved-hyperscale

https://www.thejakartapost.com/travel/2020/06/30/from-cooking-to-art-traveloka-xperience-expands-to-live-content.html


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top