Friday, 26 April 2024
COLUMNIST

7 เทคนิคจัดฟัน เร่งให้เข้าที่ จัดเสร็จอย่างไว 

การจัดฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การเคี้ยวอาหารดีขึ้น ฟันเรียงเรียบสวย มีบุคลิกภาพดี รู้สึกมั่นใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การมีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในปากนานเกินไปไม่ใช่เรื่องที่ดี และมีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น แปรงฟันทำความสะอาดยาก เกิดฟันผุ หินปูน เหงือกอักเสบ และเครื่องมือบาดกระพุ้งแก้มเป็นแผล เป็นต้น เพราะฉะนั้นวันนี้หมอมี 7 วิธี ที่ช่วยให้การจัดฟันเสร็จไวขึ้น 

1.) หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็ง เช่น ห้ามเคี้ยวน้ำแข็งเด็ดขาด ส่วนของทอดกรอบ เมล็ดถั่วต่าง ๆ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือให้เคี้ยวเบา ๆ เพราะการเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งมีโอกาสทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดหรือทำให้ลวดจัดฟันงอและบิดเบี้ยว ส่งผลให้ฟันเคลื่อนที่ผิดทางหรือล้มเอียงตามลวดที่บิดงอ ทำให้ทันตแพทย์จัดฟันต้องเสียเวลาแก้ไขความผิดปกติมากขึ้นและเพิ่มระยะเวลาในการจัดฟันนานขึ้นได้

2.) หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง ลูกอม ของหวาน และน้ำอัดลม เพราะมีโอกาสทำให้เกิดฟันผุในระหว่างจัดฟันได้

3.) ควรทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี ด้วยการแปรงฟันให้สะอาด การใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้อุปกรณ์เสริมตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟัน เช่น แปรงซอกฟัน จะช่วยป้องกันการเกิดฟันผุและหินปูนที่ตัวฟัน ลดโอกาสเหงือกอักเสบระหว่างจัดฟัน และการมีเครื่องมือจัดฟันที่สะอาด ไม่มีหินปูนมาเกาะบนเครื่องมือจัดฟัน จะทำให้ฟันสามารถเคลื่อนไปบนลวดจัดฟันได้ไวขึ้น 

4.) คล้องยางจัดฟันสม่ำเสมอตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟัน ในบางขั้นตอนของการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจำเป็นต้องให้คนไข้คล้องยางดึงฟัน หากคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในคล้องยางดึงฟัน ฟันก็จะไม่เคลื่อนไปในตำแหน่งที่ทันตแพทย์จัดฟันวางแผนไว้ โดยทั่วไปการคล้องยางดึงฟันนั้น ทันตแพทย์จัดฟันมักแนะนำให้คนไข้คล้องยางดึงฟันตลอดเวลา ยกเว้นช่วงทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น หมายความว่าใน 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง คนไข้จำเป็นจะต้องใส่ยางดึงฟันอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเพียงพอที่ทำให้ฟันเคลื่อนที่ไปได้และจำเป็นต้องเปลี่ยนยางวงใหม่วันละ 1 ครั้ง 

5.) มารักษาตามนัดหมายเป็นประจำเพราะการจัดฟันจำเป็นจะต้องมาตรวจเช็ค ปรับเครื่องมือ และดึงฟัน หากไม่มาทำการรักษาตามนัดหมาย จะทำให้ระยะเวลาการรักษานานขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันเคลื่อนผิดทิศทางหรือเคลื่อนมากเกินไป

6.) เลือกเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสมกับตนเอง โดยปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันที่ให้การรักษา เช่น เครื่องมือจัดฟันติดแน่นแบบรัดยาง เครื่องมือจัดฟันติดแน่นแบบไม่รัดยาง หรือเครื่องมือจัดฟันแบบใส เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน

7.) เลือกคลินิกที่สามารถเดินทางได้สะดวกหรือใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน เพราะถ้าเลือกคลินิกที่ต้องเดินทางไกล คนไข้มักจะเบื่อในการเดินทางมาคลินิก มีโอกาสที่จะขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า การจัดฟันนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ หากคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาแล้ว มักส่งผลให้การรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทันตแพทย์จัดฟันวางแผนการรักษาไว้ได้ และทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานขึ้นได้


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) กับความเชื่อ 'ลัทธิคอมมิวนิสต์ครองโลก' และการสิ้นสุดที่หยุดลงตรงราชอาณาจักรไทย

คนที่อายุน้อยกว่าสี่สิบปีอาจไม่รู้ว่า โลกเคยผ่านช่วงของสงครามเย็น (Cold war) อันเป็นยุคสมัยที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกากับฟากฝ่ายคอมมิวนิสต์แข่งขันในการเผยแพร่และต่อต้านความเชื่อและลัทธิทางการเมืองอย่างหนัก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสิ้นสุดลงพร้อมกับความล่มสลายของสหภาพโซเวียต จึงขอเล่าเรื่องราวของทฤษฎีโดมิโนให้ทราบพอสังเขปด้วย บทความนี้

ผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect)

ทฤษฎีโดมิโนเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยอุปมาขึ้นจากลักษณะของการตั้งเรียงของตัวโดมิโน ซึ่งถ้าตัวโดมิโนตัวแรกล้มลงแล้ว จะทำให้ตัวโดมิโนตัวอื่น ๆ ซึ่งตั้งเรียงถัดมาพลอยล่มด้วยทั้งหมด ทฤษฎีโดมิโนจึงมีความหมายว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดหันไปใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แล้ว จะส่งผลให้ประเทศรอบข้างก็จะกลายเป็นระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย ซึ่งเรียกว่า "ผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect)” 

ทฤษฎีโดมิโนเกิดขึ้นในช่วงปี 1950 ถึง 1980 จากการขยายตัวของลัทธิและระบอบคอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรปจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนในทวีปเอเชีย เมื่อจีน เกาหลีเหนือ และเวียตนามเหนือกลายเป็นคอมมิวนิสต์ จึงมีความเชื่อว่า ประเทศอื่น ๆ ทีเหลือ เช่น ลาว กัมพูชา เวียตนามใต้ ไทย มาเลเซีย ฯลฯ ที่สุดจะถูกครอบงำโดยระบบคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย การล้มของแต่ละตัว “โดมิโน” จึงหมายถึงการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเลยก็ตาม เพียงแต่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เห็นดีและเห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา 

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower

ทฤษฎีโดมิโนได้ถูกใช้โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามเย็น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการการแทรกแซงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกของสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower อธิบายทฤษฎีโดมิโนเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2497 ในการแถลงข่าวเมื่อกล่าวถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า “สุดท้ายเรามีข้อพิจารณาที่กว้างขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปตามสิ่งที่เราจะเรียกว่า หลักการล้มของตัว "โดมิโน" เมื่อตัวมีโดมิโนที่ตั้งอยู่อันแรกล้มลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอันสุดท้ายคือความมั่นใจว่า มันจะเกิดขึ้นและผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอาจมีจุดเริ่มต้นของการล่มสลายที่จะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งที่สุด แต่เมื่อเรามาถึงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ที่จะมีการสูญเสียอินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาลายา (มาเลเซียและสิงคโปร์) และอินโดนีเซีย ตอนนี้เราพูดถึง…ผู้คนนับล้าน ๆ ๆ” 

พลเอก Douglas MacArthur

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความเชื่ออย่างลึกซึ้งของประธานาธิบดี Eisenhower เกี่ยวกับทฤษฎีโดมิโนในเอเชียทำให้เกิด “ต้นทุนการรับรู้ของสหรัฐอเมริกาในการไล่ตามลัทธิพหุภาคี” เนื่องจากเหตุการณ์ในหลายแง่มุมรวมถึง “ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี  พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) การบุกเกาหลีใต้ของเกาหลีเหนือในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) วิกฤตการณ์เกาะนอกชายฝั่ง Quemoy ของไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) และความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในวงกว้างไม่เพียงแต่เป็นเพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับประเทศเดียวหรือสองประเทศ แต่เป็นปัญหาของทั้งทวีปเอเชียและภูมิภาคแปซิฟิก” สิ่งนี้สื่อถึงพลังแม่เหล็กที่แข็งแกร่งที่กำลังจะถูกควบคุมโดยคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของพลเอก Douglas MacArthur ที่ว่า “ชัยชนะจะเป็นแม่เหล็กที่แข็งแกร่งในตะวันออก” 

ดร. Victor Cha

นอกเหนือจากคำอธิบายของประธานาธิบดี Eisenhower แล้ว ดร. Victor Cha นักวิชาการชาวอเมริกัน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังได้อธิบายทฤษฎีโดมิโนในหนังสือ Powerplay : The Origins of the American Alliance System in Asia ซึ่ง ดร. Cha วิเคราะห์ทฤษฎีโดมิโน โดยอ้างอิงโดยยึดถือเอาภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเขาได้ระบุว่า "การล่มสลายของประเทศเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเอเชีย อาจทำให้เกิดเครือข่ายของประเทศที่จะเข้าสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์"

แม้ว่า ทฤษฎีโดมิโนจะเกิดในทศวรรษ 1950 แต่ประเทศเสรีตะวันตก มีความหวาดระแวงเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ และด้วยวาระของความเป็นคอมมิวนิสต์สากลซึ่งมีมานานแล้ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ความหวาดระแวงนี้เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นทฤษฎีโดมิโน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งขณะนั้นนำโดย Josef Stalin ไปยังยุโรปตะวันออก และชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ผู้นำตะวันตกเชื่อว่า เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ตั้งหลักในประเทศหนึ่ง เพื่อนบ้านของประเทศจะถูกแทรกซึม บุกรุก และยึดครองโดยคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว เหมือนกับกลุ่มโดมิโนที่ยืนเรียงกันล้มลง คนหนึ่งล้มทับคนถัดไปจนทั้งหมดพังทลาย ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนแรกที่ใช้การเปรียบเทียบของโดมิโนที่ล้มลงหรือเป็นผู้บัญญัติศัพท์ ทฤษฎีโดมิโน แต่การกล่าวถึงต่อสาธารณะครั้งแรกเกิดขึ้นโดยประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ในสุนทรพจน์เมื่อปี พ.ศ. 2497 ซึ่งอธิบายว่า ทำไมอเมริกาจึงให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศสในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน (เวียดนาม) ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

Josef Stalin ผู้นำของสหภาพโซเวียตตลอดสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงต้นของสงครามเย็น

สองฟากฝ่ายในสงครามโลกครั้งที่สอง “สัมพันธมิตร (Allies)” และ “อักษะ (Axis)”

ความกลัวของสหรัฐฯ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ในยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1930 จากการที่ประเทศในยุโรปไม่อาจต้านทาน Adolf Hitler ได้ และสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นในเอเชีย ซึ่งการขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่แม้แต่จีนก็ไม่สามารถต้านทานได้ จนกระทั่งกลายเป็นการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีปัจจัยเพิ่มเติมคือความกังวลที่บางประเทศไม่สามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการยึดครองในภูมิภาคของตน ในขณะนั้นประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เหนื่อยล้า และอ่อนล้าทางเศรษฐกิจหลังจากสงครามอีกหลายปี รัฐบาลอ่อนแอและประชาชนต่างก็ หดหู่ สิ้นหวัง และหิวโหย สิ่งนี้ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการแทรกซึมและการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ได้โดยง่าย

เอเชียอ่อนแอพอ ๆ กับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ รัฐบาลและกองกำลังทหารของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนแอ ประชากรส่วนใหญ่เป็น ชาวไร่ ชาวนา ซึ่งอ่อนไหวต่อการโฆษณาชวนเชื่อ และง่ายต่อการชักจูงให้เป็นแนวร่วมและสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งขบวนการชาตินิยม และการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชในเอเชียถือเป็น "ที่หลบซ่อน" ในอุดมคติสำหรับผู้แทรกซึมของคอมมิวนิสต์ พรมแดนในเอเชียไม่ได้รับการดูแลอย่างดี และส่วนใหญ่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นคอมมิวนิสต์จึงสามารถย้ายเข้าและออกจากประเทศเป้าหมายได้โดยแทบจะไม่มีความยากลำบากเลย ทั้งยังมีความเสี่ยงและความอ่อนแอต่อการรับมือของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้

การขยายตัวของจีนทำให้ทฤษฎีโดมิโนได้รับแรงหนุนจากสมมติฐานจากการขยายตัวของจีน นักยุทธศาสตร์ตะวันตกเชื่อว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะกลายเป็นแนวหน้าในการขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย เช่นเดียวกับที่สหภาพโซเวียตเคยทำในยุโรปตะวันออก เหตุการณ์สงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493-2496) ดูเหมือนจะเป็นสนับสนุนความเชื่อนี้ จีนสนับสนุนการรุกรานเกาหลีใต้ของคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และขณะเดียวกันปักกิ่งก็ให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการขนส่งผ่านจากสหภาพโซเวียตแก่ Ho Chin Minh และขบวนการเวียตมินห์ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของเวียดนามอีกด้วย และเมื่อความสามารถทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนเพิ่มมากขึ้น ทางตะวันตกเชื่อว่า ปักกิ่งจะขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อสร้างกันชนระหว่างตัวเองและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น สิ่งนี้ทำให้หลายประเทศเสี่ยงต่อการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ได้แก่ เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย พม่า ทิเบต มาลายา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

Harry S. Truman, Dwight D. Eisenhower และ John F. Kennedy / Lyndon B. Johnson (ขวา) และ Richard M. Nixon

จากประธานาธิบดี Henry S. Truman จนถึงประธานาธิบดี Richard M. Nixon ต่างก็สนับสนุนทฤษฎีโดมิโน แม้ว่าประธานาธิบดี Truman จะไม่เคยใช้การกล่าวเปรียบเทียบแบบโดมิโน แต่ก็ยอมรับหลักการทั่วไปของทฤษฏีโดมิโน และใช้เป็นพื้นฐานในหลักการของ Truman (Truman doctrine) ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้กล่าวถึงทฤษฎีโดมิโน และบอกใบ้ถึงทฤษฎีนี้ในสุนทรพจน์เปิดตัวโดยเตือนว่า “ความปลอดภัยของเราอาจสูญหายไปทีละประเทศทีละประเทศ” ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson และประธานาธิบดี Richard Nixon ต่างยอมรับว่า ทฤษฎีโดมิโนเป็นความจริง ซึ่งเป็นจุดยืนในการสนับสนุนความต่อเนื่องและการลุกลามของสงครามเวียดนาม ความพ่ายแพ้ราคาแพงของอเมริกันในเวียดนามทำให้ทฤษฎีโดมิโนเป็นกลายเป็นเรื่องที่น่าอดสูอย่างยิ่ง ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นประเด็นความคิดที่มีการถกเถียงกันอยู่ทั่วไป โดยผู้คัดค้านจะมีจำนวนมากกว่าผู้สนับสนุน บางคนอ้างว่า ทฤษฎีโดมิโนนั้นถูกต้อง และได้รับการตรวจสอบ โดยการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย การแทรกแซงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เท่านั้นที่สามารถหยุดความคืบหน้า บ้างก็ว่า ทฤษฎีโดมิโนเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของขบวนการปฏิวัติในเอเชีย ซึ่งเป็นพวกชาตินิยมและสังคมนิยมมากกว่าคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง

แนวคิดของทฤษฎีโดมิโนในระหว่างสงครามเย็น

1.) ทฤษฎีโดมิโนเป็นความเชื่อที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะแพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เปรียบเหมือนตัวโดมิโนที่ล้มลงไล่เรียงต่อกันไป และเริ่มเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1950 กระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุด

2.) ทฤษฎีดังกล่าวเกิดจากอุดมการณ์ของ Vladimir Lenin ผู้ซึ่งเรียกร้องให้มี “การปฏิวัติระหว่างประเทศ” และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตจะเป็นแกนในการสนับสนุนการปฏิวัติของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ

3.) การใช้การเปรียบเทียบแบบโดมิโนครั้งแรกเกิดขึ้นโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ Dwight D. Eisenhower ซึ่งเตือนว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย และเข้าควบคุมครอบงำผู้คนนับล้าน ๆ ได้

4.) ประเทศในเอเชียถูกมองว่า มีความอ่อนแอต่อการรับมือกับลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นพิเศษ ด้วยรัฐบาลและกองทัพอ่อนแอ สังคมไร้การศึกษา และพรมแดนของประเทศเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง

5.) ทฤษฎีโดมิโน ได้รับการยอมรับว่าเป็นความจริง โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯหลายท่าน ด้วยความเชื่อจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งสนับสนุนต่อหลักการของ Truman รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

หลักการ Truman (Truman doctrine)

นายพล Lon Nol / เจ้าสุวรรณภูมา / นายพล Dương Văn Minh

หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนซึ่งพ่ายแพ้แก้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ อันได้แก่ รัฐบาลสาธารณรัฐกัมพูชานำโดยนายพล Lon Nol เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ต่อกองกำลังเขมรแดง รัฐบาลสาธารณรัฐเวียตนามนำโดยนายพล Dương Văn Minh เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ต่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนเวียตนามและกองลำลังเวียตกง และรัฐบาลราชอาณาจักรลาวนำโดย เจ้าสุวรรณภูมา เมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ต่อกองกำลังของขบวนการปลดปล่อยประเทศลาว ทั่วทั้งโลกต่างจับจ้องมายังราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของทั้งลาวและกัมพูชา และเวียดนามก็อยู่ถัดไปจากทั้งสองประเทศดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นแล้วรัฐบาลไทยยังอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพในประเทศส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดทำลาย สร้างความเสียหายแก่ทั้งสามประเทศดังกล่าวมากมายจนเหลือคณานับ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงงานเพื่อพสกนิกรอย่างหนัก

และไทยเองยังคงมีปัญหาความไม่สงบในประเทศจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในแทบทุกภาคของประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 พอปี 2518 เมื่อกัมพูชาถูกเขมรแดงยึดครอง และเวียตนามใต้ก็พ่ายแพ้แก่เวียตนามเหนือและเวียตกง ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติจำนวนหนึ่งคิดว่าไทยจะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฏีโดมิโน แต่คนไทยมีชื่อเสียงในด้านการโอนอ่อนไปตามลมที่พัดผ่าน เช่นเดียวกับไม้ไผ่ที่จะไม่แตก และจะโค้งงอลู่ไปตามแรงของลมพายุ นักธุรกิจต่างชาติบางคนคิดว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่เลวร้ายถึงขนาดยอมขายบริษัทของตนในราคาที่ถูกมาก การลงทุนของต่างชาติในไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง ชาวอเมริกันเคยได้รับการบอกเล่าจากเหล่าบรรดาผู้นำของตนว่า ประเทศไทยจะล่มสลายหากเพื่อนบ้านในอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ 

โดยที่ผู้นำอเมริกันได้ยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงสงครามเวียดนามว่า จีนอยู่เบื้องหลังเวียดนามเหนือ และเรียกร้องให้ทำสงครามต่อไป ดังที่ Lyndon B. Johnson แถลงที่มหาวิทยาลัย John Hopkins ในปี พ.ศ. 2508 ว่า หากจีนและเวียดนามเหนือชนะในเวียดนามใต้ ''การต่อสู้จะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศหนึ่งและจากนั้นอีกประเทศหนึ่ง” ทำให้ขณะนั้นเกิดปรากฏการณ์ “ฝันร้ายเกิดซ้ำในทุกวันของทั้งนักลงทุนต่างชาติและเหล่าคหบดีชาวไทยคือ พวกเขาอาจจะต้องต่อสู้แย่งกันเพื่อที่จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์อพยพเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากกรุงเทพฯ'' Jeffrey Race, นักวิชาการชาวอเมริกัน จาก Institute of Current World Affairs กล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 แต่เขาคาดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเขาคาดการณ์ได้ถูกต้อง 

ฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

การที่ไทยไม่เป็นโดมิโนตัวต่อไป อันเนื่องปัจจัยภายในประเทศดังนี้ : 
(1) เพราะการทรงงานเพื่อพสกนิกรอย่างหนักในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ “ด้วยในแผ่นดินประเทศไทยนี้ไม่มีจังหวัดใด อำเภอไหน ที่ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์” การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกเชื้อชาติศาสนา ถือเป็นพระบรมราโชบายที่จะได้ทรงทำความรู้จักกับราษฎร ทรงรับฟังความทุกข์ และทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริงของราษฎรด้วยพระองค์เอง และเมื่อทรงทราบถึงปัญหาแล้วจะพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หรือพระราชทานพระราชดำริถึงวิธีแก้ปัญหา บางปัญหาทรงทดลองหาทางแก้ไขด้วยพระองค์เอง ก่อนจะพระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่างๆ 

(2) การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในแทบทุกภาคของประเทศ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาทในการสู้รบ กองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกฝนอบรมจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) แต่ไม่อนุญาตหรือยินยอมให้กองทหารหรือเจ้าหน้าที่ต่างชาติใด ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิบัติการต่อต้านความไม่สงบในประเทศเลย เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ปละการฝึกฝนอบรมจากพรรคคอมมิวนิสต์ต่างชาติ แต่ก็ไม่ยินยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสู้รบกับรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน 

(3) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์” คำสั่งนี้ได้วางแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้ อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ โดยไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบางคนที่มีคดีอาญาร้ายแรง รวมทั้ง ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม อันเป็นแนวคิดของ พล.ต.เปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ) ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พล.ท. เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2520 และต้องเผชิญสงครามแย่งชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อท่านเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.เปรม และคณะทำงานคือ พล.ต.ปฐม เสริมสิน, พ.อ.หาญ ลีนานนท์, พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ เริ่มตระหนักว่าวิธีการปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด และดึงเอาประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับราชการ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 พล.อ.เปรม ได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หลังจากนั้น 1 เดือน ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หลังจากนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้ทยอยเดินทางออกจากป่าในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการยึดครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดทฤษฎีโดมิโนไปอย่างถาวร

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ริเริ่มคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์”

กองกำลังเวียดนามในกัมพูชา

ไม่พียงแต่ปัญหาอันเป็นปัจจัยภายในที่ได้กล่าวมาเท่านั้น ยังมีปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงที่ไทยต้องประสบพบเจอคือ แผนตัดขาดและยึดภาคอีสานของไทยตามยุทธการตัว L (L Operation) และรวมภาคอีสานของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นสหพันธ์อินโดจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้นำ โดยมีลักษณะภูมิประเทศรูปตัวแอลใหญ่ (L) คือพื้นที่ป่าภูเขาบริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ทอดตัวยาวลงมาทางใต้ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มาบรรจบกันบริเวณเขาใหญ่ บริเวณรอยต่อ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ซึ่งทอดตัวยาวมาจากทิศตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขาบรรทัด เขากำแพง และบรรจบกันที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

ซึ่งต่อมากำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และ เขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000-12,000 คน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif : FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ การที่กลุ่มต่อต้านทั้งสามกลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่าไทยยินยอมให้ชาวกัมพูชาฝ่ายต่อต้าน ใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของ เฮง สัมริน 

ขณะนั้นกองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด ในขณะนั้นมีการจัดอันดับความเข้มแข็งทางทหารของเวียดนามว่า อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยไม่ติดอันดับหนึ่งในยี่สิบเลย เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบมาก่อนหรือถ้าผ่านก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีแนวการรบแบบสหรัฐอเมริกาอันแตกต่างกับเวียดนามซึ่งกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่าและรู้วิธีการรบแบบกองโจร 

นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนาม ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้น กองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนมากถึง 875,000 คน โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮง สัมริน ที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบทั้งแบบกองโจรและการรบแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และมีกำลังทหารที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหลือจากสงครามเวียตนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 นี้เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัยและเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา จึงกล่าวได้ว่า ขณะนั้นไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก

การคงอยู่ในกัมพูชาของกองกำลังเวียดนามในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2522–2532 ถือเป็นช่วงวิกฤตของไทยเลยทีเดียว การจัดการกับปัจจัยภายนอกในกรณีนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศได้ทำงานอย่างหนักและได้ผล ด้วยการ 

(1) ใช้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ดำเนินการกดดันเวียดนามในกรณีนี้ในทุกเวทีนานาชาติ ซึ่งประสบผลสำเร็จโดยเวียดนามถูกโดดเดี่ยวในทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

(2) ใช้ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งกับเวียดนามเช่น จีนดำเนินการกดดันเวียดนาม และยอมให้จีนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านไทยไปสนับสนุนกองกำลังกัมพูชาที่ต่อต้านเวียดนาม (รวมทั้งเขมรแดง) 

(3) สหประชาชาติยังคงให้การรับรองรัฐบาลเขมรสามฝ่าย ซึ่งเป็นฟากฝ่ายที่ต่อต้านเวียดนาม ประกอบกับนโยบายของนานาชาติเกี่ยวกับกัมพูชาส่งผลต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม สหรัฐประกาศคว่ำบาตรเวียดนาม และมีหลายประเทศในสหประชาชาติไม่รับรองเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และมีการปฏิเสธสมาชิกภาพขององค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2522 ญี่ปุ่นได้กดดันโดยลดความช่วยเหลือต่อเวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และปัญหาเรือมนุษย์ ทำให้สวีเดนที่เคยสนับสนุนเวียดนามถอนการรับรองด้วย การโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ และปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้เวียดนามต้องพึ่งสหภาพโซเวียตมากขึ้น 

โดยเฉพาะหลังจากการทำสงครามกับจีนใน พ.ศ. 2522 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือเวียดนาม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงที่สุดใน พ.ศ. 2524 – 2528 ใน พ.ศ. 2529 สหภาพโซเวียตประกาศลดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเวียดนามลง 20% และลดความช่วยเหลือทางทหารลง 1 ใน 3 ต่อมา ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 คณะกรรมการโปลิตบูโรของเวียดนามได้ปรับนโยบายการต่างประเทศโดยจะเปิดประเทศรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างชาติ เวียดนามยุติการประณามสหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน และเริ่มมีการถอนทหารออกจากกัมพูชาโดยลำดับ รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา เวียดนามและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 การสิ้นสุดความขัดแย้งในกัมพูชา ทำให้ประเทศในอินโดจีนได้แก่ ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมกับอาเซียน ในช่วง พ.ศ. 2534 – 2535 เวียดนามได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวียดนามระหว่าง พ.ศ. 2534 – 2537 คิดเป็น 15% ของการลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม 

ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 7 ของอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2538 เวียดนามได้ประกาศยกระดับจากตัวแทนจากเป็นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติต่อกันตั้งแต่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 รวมทั้งการเข้าร่วมองค์การการค้าโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550 และการเข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ทำให้การโดดเดี่ยวเวียดนามออกจากสังคมโลกสิ้นสุดลง และทฤษฎีโดมิโน ซึ่งว่าด้วยความเชื่อที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองโลก หยุดลงที่ราชอาราจักรไทยโดยสิ้นเชิง


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เสียงสะท้อนแห่งความหวัง เหล่า​ 'คนดัง'​ ผู้พังกำแพงแห่งความสับสน​ 'ฉีด​-​ไม่ฉีดวัคซีน'​

ในช่วงนี้เราจะเห็นกระแสคนดังออกมารณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมากขึ้น​ แม้ว่าระบบการจัดการวัคซีนของบ้านเราอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด 

แต่ในมิติของการสื่อสาร การที่คนดัง (Celebrity) ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ มีผลเปลี่ยนแปลงต่อความคิดคนอย่างไรบ้าง? 

เราได้เห็นตัวอย่างว่ามีคนเปลี่ยนใจที่จะฉีดวัคซีนจากการฟังคนที่มีชื่อเสียงพูด เช่น คุณแม่ทองสุข คุณแม่ของพี่โน้ต อุดม ได้ฟังคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมาจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่มีการพูดถึงเรื่องวัคซีนพร้อมกับเชิญชวนให้ทุกคนไปฉีด ทำให้คุณแม่เปลี่ยนใจอยากไปฉีดวัคซีนจากตอนแรกที่ไม่อยากไปฉีด 

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะมันคือหลักการเดียวกันกับการโฆษณาที่ใช้คนดังหรือบุคคลทีมีชื่อเสียงมาเชิญชวน ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่ได้ศึกษาถึงเรื่องศิลปินที่มีชื่อเสียง สามารถชักจูงความคิด ความเชื่อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือเปลี่ยนลักษณะนิสัย 

การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิง นอกจากสร้างผลงานเพื่อมอบความบันเทิงให้กับคนดูได้แล้ว อีกด้านหนึ่งคือสามารถเป็นผู้นำทางความคิด (Opinion leader) และสามารถชี้นำสังคมได้ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนที่ติดตามได้​ แม้อาจจะเป็นแค่ทำให้ฉุกคิดตามก็เถอะ

เราจะเห็นว่าในสถานการณ์หลาย ๆ ครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือในการกระจายข่าวสาร มักจะมีคนดังออกมาช่วยพูด เพราะเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียง “ดัง” และสามารถชี้นำสังคมได้ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เราเห็นคนดัง ออกมาพูดเรื่องการฉีดวัคซีน แต่สิ่งที่ต้องระวังในการให้ข้อมูล คือ ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ เพราะเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและส่งผลต่อชีวิตและร่างกาย

มาถึงตอนนี้ เสียงของคนดัง ดังพอที่ประชาชนเริ่มหันมาสนใจเรื่องของการฉีดวัคซีนแล้ว แต่คงจะดีไม่น้อย ถ้าการกระจายวัคซีนของภาครัฐสามารถจัดการให้กับคนในประเทศได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วพอ ๆ​ กับเสียงของคนดังเหล่านั้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.sanook.com/news/8380622/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ข้อเสนอแนะปฏิรูปการสื่อภาครัฐ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารข้อมูลข่าวสาร และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคน

ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่าปัญหาของการสื่อสารของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น ถือว่ามีปัญหาและขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง

ประชาชนตกอยู่ในความวิตกกังวล สับสน และขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ ในขณะที่ผู้ปั่นกระแสข่าวปลอมก็ย่ามใจ กระทำการได้โดยเข้าถึงประชาชนมากกว่าภาครัฐ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่เน้น Keyword และย้ำข้อความเดิม ๆ จนทำให้คนเกิดความเชื่อในข่าวลือนั้น

ซึ่งทำให้การบริหารสถานการณ์โควิดและการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.) ทัศนคติในการสื่อสาร

ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และทัศนคติที่มีต่อการสื่อสารปัจจุบัน คือ ต้องเปลี่ยนจากการทำตัวเป็นเจ้านายที่ถนัดในการ “ออกคำสั่ง” ในแถลงการณ์ และคิดว่าประชาชนมีหน้าที่รับฟังและนำปฏิบัติตามโดยโดยไม่สนใจว่าผู้ฟังจะได้รับสาร หรือ จะเกิดความสับสนในสารที่ได้รับไปหรือไม่

โดยต้องปรับมาเป็นการต้องยึดผู้รับสารหรือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยพยายามสื่อสารในประเด็นที่เขาสงสัยและต้องส่งข้อมูลไปให้ถึงผู้รับสารให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้รัฐยังต้องเข้าใจว่าการต่อสู้กับการบิดเบือน ไม่ใช่แค่การหาเครือข่ายหรือผู้สนับสนุนมาโต้เถียงในโลกออนไลน์ แต่คือการสื่อสารที่ทำให้คนตรงกลางซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าใจข่าวสารและข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และนั่นคือวัคซีนสำคัญในการป้องกันไวรัสข่าวปลอม

2.) วิธีการสื่อสาร

การทำภาพเพื่ออธิบายข้อมูลที่จะสื่อสาร ต้องมีความกระชับ เข้าใจง่าย เสพง่าย สามารถนำไปส่งต่อหรือนำไปใช้อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หรือแก้ปัญหาความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งตีความให้ซับซ้อนวุ่นวาย เหมือนแถลงการณ์อันแสนยืดยาวที่ผู้มีอำนาจชอบทำในอดีต

การทำข้อมูลต้องอธิบายใน “ประเด็นที่ประชาชนสงสัย” ไม่ใช่สิ่งที่รัฐคิดว่าตนอยากอธิบายแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำได้ด้วย 2 วิธีการคือ 

(1) การใช้เครื่องมืออย่าง Social Listening หรือการเก็บข้อมูลเชิงสถิติในโลกออนไลน์หรือสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ ความสนใจและทัศนคติที่ประชาชนกำลังมีอยู่ในขณะนั้น 

(2) การใช้หน่วยสำรวจ ทีมงาน หรือคณะทำงานที่คอยสอดส่องกระแสอารมณ์หรือความสงสัยของผู้คนในโลกออนไลน์ในแต่ละแพลตฟอร์ม 

โดยทั้งสองวิธีการนี้ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา และสถานการณ์ความเข้าใจผิด รวมถึงวางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อดักทางกระแสข่าวปลอมได้ทันต่อสถานการณ์ 

3.) กระบวนการสื่อสาร

ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอให้คนมารับสาร เหมือนการแถลงข่าวก่อน/หลังภาพยนตร์ช่วง Prime Time ในทีวีเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เพราะทุกวันนี้แต่ละคนใช้มือถือกันหมดแล้ว ดังนั้นการนำข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนจึงต้องทำใน “เชิงรุก” คือทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อมูลที่ต้องการสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ไวที่สุด

กรณีเป็นชุมชน อาจใช้วิธีการภาคสนามคือ อาศัยเครือข่ายประธานชุมชน และ จิตอาสา อย่าง อ.ส.ม.หรือเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในการช่วยกระจายข้อมูลลงไปในพื้นที่

กรณีเป็นบ้านรั้ว ต้องประสานสื่อหรือเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ในการกระจายข่าวสาร และหากหน่วยงานภาครัฐต้องการเผยแพร่ข้อมูลเอง ต้องทำการยิงโฆษณาไปตามจำนวนประชากรที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยอาจขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, IG, TikTok ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับด้านการสาธารณสุขในช่วงวิกฤตไวรัสโควิดด้วยแล้ว ยิ่งน่าจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนได้ง่ายมากกว่าในภาวะปกติ

การทำงานในรูปแบบนี้ ต้องใช้การประสานงานแบบบูรณการจากหลายภาคส่วนทั้ง ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลด้านสาธารณสุขจากกระทรวงสาธารณสุข, การประสานงานด้านดิจิทัลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดจะทำไม่ได้เลยหากขาดการสั่งการที่เป็นเอกภาพ

4.) การปราบปรามผู้กระทำผิดและแก้ไขความเข้าใจผิด

แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ (1) การตรวจสอบสื่อที่บิดเบือน (2) การแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้รับสาร (3) การดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม

ตัวอย่างกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต จาก NIDA ซึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ ศบค. ได้ออกมาแก้ข่าวที่เกิดจากการบิดเบือนสื่อมวลชน จนทำให้สื่อใหญ่หลายสำนักต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษ และแสดงความรับผิดชอบ 

เช่น กรณีไทยพีบีเอส แปลข่าวประสิทธิภาพวัคซีนผิดจากข่าวต้นฉบับของต่างประเทศ หรือกรณีช่อง 3 บิดเบือนเนื้อหาของหมอทวีศิลป์ จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ศบค.และคุณ อรอุมา สิทธิรักษ์ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทย 

กรณีนี้ อ.วรัชญ์ ได้ทำการตรวจสอบการบิดเบือน จนทำให้สำนักข่าวต้องยอมลบเนื้อหา และแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชน รวมไปถึงการที่ อ.วลัชญ์ชี้แจงเนื้อหาที่แท้จริงให้กับคุณอรอุมา จนแก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างหมอทวีศิลป์และนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยได้สำเร็จ 

สุดท้ายคือ การดำเนินคดีกับผู้จงใจบิดเบือนข่าวสารหรือตั้งใจเผยแพร่ข่าวลือขาวปลอม โดยหวังผลให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในหมู่ประชาชนอย่างชัดเจน 

หากภาครัฐยังปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ลอยนวล ซึ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ทำผิด

จะไม่เกรงกลัวกฎหมายและย่ามใจคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ

ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ และที่ผมได้เขียนมานั้น มิได้เพราะนิยมชมชอบหรือสนับสนุนรัฐบาลหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการให้ภาครัฐเกิดความมีประสิทธิภาพในการสื่อสารต่อประชาชน

เพราะการสื่อสารและบริหารข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคง และเกิดความร่วมมือต่อโครงการหรือนโยบายสาธารณะต่าง ๆ 

เช่น หากภาครัฐมีนโยบายการพัฒนา ส่งเสริมธุรกิจและอาชีพ แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ก็จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสเหล่านั้น และการพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้อย่างล่าช้า ซึ่งไม่เป็นการดีต่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ดังนั้นเรื่องการสื่อสารจึงถือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศในเจริญรุดหน้าไปได้อย่างมั่นคง


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เช็คก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์ 

ข่าว​ Fake ว่อน​ Feed 

หากเป็นสมัยยุคอนาล็อค ถ้าถามว่าข่าวอะไรแพร่ไว ก็น่าจะเป็น “ข่าวลือ” แต่สมัยยุคดิจิทัลนี้ข่าวลือต้องแพ้ “ข่าวลวง” (Fake news) ข่าวลวงยุคนี้มีหลากหลายรูปแบบและแยบยลขึ้นทุกวัน

BBC ระบุถึงความหมายของ Fake news ในยุคโลกออนไลน์ไว้สั้น ๆ เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนว่า Fake news คือ ข่าว หรือเรื่องราวที่ไม่จริงในอินเตอร์เน็ต “ Fake news is news or stories on the internet that are not true.” จากนิยามสั้น ๆ นี้ ยากตรงเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ จริงหรือไม่ เพราะข่าวหรือเรื่องราวที่บอกความจริงไม่หมด หรืออาศัยข้อมูลจริงบ้างบางส่วนผสมไม่จริงหรือนำเสนอเพื่อให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญนี้แยกแยะลำบากเหมือนกัน   

วันนี้จะมาชวนช่วยกันลองเช็คข้อมูลหาความจริงกัน ขอยกกเรื่องราวจากรณีล่าสุดในโลกโซเชียลฯ ที่มีการเผยแพร่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยในเนื้อความระบุว่าบริษัทสามารถจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทยได้ โดยไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขเพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปนำเสนอวัคซีนได้เลย 

ครั้งแรกที่เห็นจดหมายนี้ ก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหม? เพราะเท่าที่จำได้จากข่าว วัคซีนซิโนฟาร์ม มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้แล้ว ทำไมจะมีอีกบริษัทแถมบอกว่าไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นด้วย มีความแปลก ๆ น่าสงสัย ๆ เลยลองหาข่าวจากสื่อพบว่า ด้านรัฐบาล โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ปรากฏว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดไม่สามารถนำเข้ายาเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และวัคซีน Sinopharm ได้มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ก่อนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอยู่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณา และยังระบุด้วยว่าการเจรจาติดต่อเรื่องการนำเข้าวัคซีนสามารถติดต่อผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้โดยตรงในเบื้องต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีตามที่อ้างแต่อย่างใด

ข้อมูลของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด กับของด้านรัฐบาลนั้นขัดแย้งกันพอสมควร…ยังไม่ต้องรีบเชื่อใครก็ได้ ก่อนจะเชื่อใคร ชวนลองมาตรวจสอบข้อมูลแบบง่าย ๆ กันกับความเป็นบริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ ที่บอกว่าจะเอาวัคซีน Sinopharm เข้ามา 20 ล้านโดส (ภายใน 2 สัปดาห์ด้วยนะ) บริษัทนี้คือบริษัทอะไร ทำไมถึงกล่าวอ้างว่าจะนำเข้าวัคซีนได้   

วิธีการตรวจสอบ คือ ลองไปเช็คข้อมูล บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดใน website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 (ถึงวันนี้ก็ปีกว่า ๆ เอง) ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัท คือ นายกรกฤษณ์ กิติสิน และ นายศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม จดทะเบียนในประเภทธุรกิจ “การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน คือ “ประกอบกิจการซื้อเเละการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลการส่งงบการเงินปรากฎอยู่เลย หากพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฎนี้ต้องบอกตรง ๆ ว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาฯนั้นไม่ใกล้เคียงกับการจะเป็นบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนได้เลย การนำเข้าวัคซีนในยามปกติก็ไม่ง่ายแล้ว ยิ่งในยามภาวะฉุกเฉินมีวิกฤตโรคระบาดนี้ยิ่งไม่น่าจะเป็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะวางใจให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ตรงมาเป็นตัวแทนนำเข้า 

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387

พอหาข้อมูลได้ชักอยากรู้ต่อว่าแล้วบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้เพื่อวัคซีน Sinopharm ละเป็นอย่างไรบ้าง จึงลองไปหาข้อมูลบริษัทฯจาก website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบ้าง  ก็พบว่า บริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2536 โดยจดทะเบียนในประเภทการขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และมีวัตถุประสงค์การจดทะเบียนเพื่อ นำเข้าและส่งออกขายสินค้าเคมีภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์ ทุนจดทะเบียน 24 ล้านและมีการแสดงงบแสดงสถานะการเงินปรากฎอยู่ชัดเจน 

ดังนั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลบริษัทของทั้งคู่แล้ว แล้วสมมุติว่าเราคือชิโนฟาร์ม เราจะเลือกบริษัทไหนเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน ระหว่างบริษัทที่เปิดมาเพื่อนำเข้า-เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ กับบริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์? 

นอกจากนี้บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างว่าตนเองมีฐานะเป็นพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชีย…ทำให้อยากรู้จักบริษัทTELLUS AGROTECH PTE. LTD.  ด้วย เลยลองไป search หาข้อมูลบริษัทนี้ ก็เจอบริษัทที่มีชื่อเดียวกันกับ TELLUS AGROTECH PTE. LTD.  ระบุว่าบริษัทมีสถานะการดําเนินงานในปัจจุบันและเปิดให้บริการมา 2 ปี 118 วัน โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 Jan 2019 ธุรกิจหลักของบริษัทคือบริการให้คําปรึกษาด้านการเกษตร ธุรกิจรองคือการพัฒนาซอฟต์แวร์สําหรับสื่อดิจิทัล…ถ้าบริษัทนี้คือบริษัทเดียวกันตามที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างถึงนี้ก็ต้องบอกว่า บริษัทฯนี้ ดูไม่ใกล้เคียงกับการเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชียเลย 

ที่มา : https://www.sgpbusiness.com/company/Tellus-Agrotech-Pte-Ltd

และที่สำคัญ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ที่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ระบุว่าส่งจดหมายไปถึงนั้น โพสต์ชี้แจงใน Facebook ส่วนตัวลงวันที่ 27 พ.ค. 64 ว่า “หนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็น ๆ เลย...” (เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ชวนสงสัยมากว่า หากตั้งใจให้คุณหมอ ทำไมคุณหมอถึงไม่ได้รับ แต่ชาวเน็ตเห็นก่อนอีกด้วย ชวนสงสัยยิ่งนักว่าจดหมายนี้มีวัตุประสงค์เพื่ออะไร) นอกจากนี้คุณหมอยังได้ระบุถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ในการเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนด้วย

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เมื่ออ่านที่คุณหมอเขียนแล้วก็รู้สึกสงสารคนทำงาน ลำพังจะต้องสู้กับโรคระบาด ต้องช่วยกันเพื่อให้คนไทยปลอดภัยที่สุดเท่าที่ทำได้นั้นก็ยากลำบากมากในยามนี้ แล้วยังต้องมาเจอเรื่องราวเช่นนี้อีก ดูจะบั่นทอนกำลังใจคนทำงานไม่น้อย ซึ่งสุดท้ายย่อมจะเป็นผลดีกับประชาชนและสังคมส่วนรวม 

ส่วนกรณีของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ก็คงต้องพิสูจน์ข้อเท็จเพิ่มเติมกันต่อไปว่าจะ fake หรือไม่ fake อย่างไร ยังไม่ขอฟันธง แต่เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้พอให้สังคมได้ช่วยกันพิจารณา ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงในกรณีจากเรื่องราวข้อมูลกรณีนี้ได้พอสมควร 

แต่แน่นอนว่า Fake news นั้นเกิดที่ไหน ก็เดือดร้อนที่นั้น เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดนี้นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งในยามที่เราต้องเผชิญกับภาวะการต่อสู้กับโรคระบาดอาจทำให้เกิความผลลบอย่างที่เราอาจจะคาดถึง  การรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยือของข่าวปลอมจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่เราจะสร้างให้ตัวเองได้  สุดท้ายนี้มีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโดยการสังเกต fake news จาก BBC มาฝากค่ะ ทำได้ไม่ยาก ทั้งหมดเริ่มต้นจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย แล้วตั้งคำถามถามตัวเองก่อนจะเชื่อ หรือจะแชร์อะไร ว่า

- มีการรายงานเรื่องราวไปที่อื่นหรือไม่? (คือดูว่ามีสื่อลงหลาย ๆ สำนักไหม หรือมีการนำเสนออย่างกว้างขวางชัดเจนไหมนั้นเอง)

- ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ อยู่ในวิทยุทีวีหรือในหนังสือพิมพ์? (ข้อนี้อาจต้องระวัง เพราะบางทีสิ่งที่อยู่ในสื่อหลักอย่างวิทยุและโทรทัศน์ก็อาจจะไม่จริงทั้งหมดเสมอไป)

- คุณเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักองค์กรที่เผยแพร่ข่าว หรือเรื่องราวหรือไม่? (ถ้าชื่อสำนักข่าว หรือชื่อ url ไม่คุ้นเคยต้องตั้งคำถามต่อว่า คนส่งข่าวหรือเรื่องราวนี้คือใคร น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน)

- เว็บไซต์ที่คุณพบว่าเรื่องราวดูเป็นของแท้หรือไม่? (เพื่อพึงระวังเว็บไซต์เลียนแบบ (copycat) ที่ออกแบบมาเพื่อมีลักษณะเหมือนเว็บไซต์จริงของคนอื่น)

- ที่อยู่ (URL) เว็บไซต์ที่ด้านบนของหน้าดูจริงหรือไม่? โดยให้สังเกตตอนท้ายของชื่อเว็บไซต์ ว่าดูปกติไหม เช่น '.co.uk' หรือ '.com'  ถ้าเป็น 'com.co' แบบนี้แสดงว่าไม่ปกติแล้ว ไม่น่าเชื่อถือ

- รูปภาพหรือวิดีโอดูปกติหรือไม่? (ในภาพหรือวิดีโอดูมีความผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่)

- เรื่องราวฟังดูน่าเชื่อถือหรือไม่? (บางเรื่องหากลองพิจารณาดูดี จะพบว่ามีความไม่สมเหตุ สมผลบ้างอย่าง ซึ่งควรนำไปสู่การหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กรณีจดหมายของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดนี้)

ถ้าหากคําตอบสําหรับคําถามเหล่านี้คือ 'ไม่' เช่น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคยได้ยินที่ไหน ไม่รู้จักแหล่งที่มา เป็นต้น เราอาจต้องการตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนที่เชื่อ จะแชร์ เพราะเราอาจกลายเป็นผู้ส่งต่อและขยาย fake news เสียเอง และการที่เราช่วยกันเช็คข้อมูลก็จะได้ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับทั้งคนใกล้ตัวและสังคมได้รับรู้ด้วย สิ่งที่จะทำให้ fake news พ่ายแพ้ไป คือความจริงที่ถูกต้อง หากยังเช็คข้อเท็จจริงไม่ได้ ก็อย่างเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอย่างน้อยก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยกันยับยั้งการระบาดของ fake news ได้ค่ะ 

ข้อมูลอ้างอิง 
https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387
https://www.thereporters.co/covid-19/270520212209/
https://www.bbc.co.uk/newsround/38906931


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘พี่จีน’ และ ‘น้องไทย’ ความสัมพันธ์แบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’

เป็นที่รู้กันดีครับ ว่าหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยเราก็ถือว่าเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ สำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เราต่างก็รู้ดีว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวของพวกเขานั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศเราอย่างมหาศาล

ในปีพ.ศ. 2559 (ช่วงก่อนโควิดระบาด) เพียงปีเดียว รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนมีมูลค่าสูงกว่า 400,000 ล้านบาท แถมการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เที่ยวไทยยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมูลค่าต่อคนที่สูงมาก ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายโดยการท่องเที่ยว และการซื้อของฝาก

โดยสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าชาวจีนค่อนข้างที่จะกรี๊ดกร๊าดกับแบรนดิ้งความเป็นไทยนั้นมีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแห่มาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ ฯลฯ หรือการที่ชาวจีนกว้านซื้อผลไม้ไทยส่งกลับไปที่แผ่นดินใหญ่ การที่ชาวจีน “คลั่งไคล้” ในทุเรียนไทย รวมถึงความนิยมในดารานักแสดงชาวไทย และละครไทยซึ่งหลายเรื่องที่เราคนไทยไม่รู้จัก แต่กลับดังพลุแตกอยู่ในจีน ซึ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในหมู่ “แม่จีน” ตอนนี้เห็นจะเป็น ‘ซีรี่ส์วาย’ หรือแม้กระทั่งล่าสุดคือกระแสเรื่อง ‘แนนโน๊ะ’ จากซีซั่นใหม่ของซีรี่ส์ ‘เด็กใหม่’ โดย Netflix

ความรักในความเป็นไทยของชาวจีนนั้นเป็นที่ประจักษ์ในตัวเลขสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ตัวผมและเพื่อน ๆ ชาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีนเองก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนในทุกครั้งที่ผมแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ชาวจีนว่าเราเป็นคนไทย มาจากไท่กั๋ว (泰国) ก็จะได้เห็นแววตาแห่งความตื่นเต้นในเกือบทุกครั้ง ซึ่งบทสนทนาต่อจากนั้นก็จะเป็นไปในทิศทางประมาณว่า

“โอ้ว,我去过泰国 ฉันเคยไปเที่ยวที่ไทย”

“我真的喜欢泰国的水果,特别是泰国的榴莲。ฉันชอบผลไม้ไทยมาก โดยเฉพาะทุเรียน”

“哦,你有没有看过爱在暹罗吗?หนี่เคยดูหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ หรือเปล่า ? ”

ซึ่งผมที่เป็นคนไทยก็จะได้โอกาสโม้เรื่องราวและโอ้อวดความเป็นไทยอย่างภาคภูมิใจอยู่บ้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมได้สะท้อนและมองมุมกลับ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือเหตุการณ์ “ดราม่าแนนโน๊ะ” นี่แหละครับ ที่หลังจากกลายเป็นกระแสทำให้คนจีนมากมายแต่งคอสเพลย์ชุดนักเรียนไทยตามแนนโน๊ะ

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ทีมงานซีรี่ส์เด็กใหม่ออกมาโพสต์ขอบคุณแฟนคลับจากทั่วโลกเป็นภาษาต่าง ๆ โดยมีการใช้คำยกฮ่องกงและไต้หวันว่าเป็น “ประเทศ” โดยวางสัญลักษณ์ธงชาติตามหลังชื่อ ซึ่งสำหรับคนจีนนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องซีเรียส เพราะประชาชนจีนเกือบทุกคนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน จนทำให้มีคนจีนจำนวนไม่น้อยออกมาเรียกร้องบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยติดแอชแท็ก #禁忌女孩辱华 หรือ #ซีรี่ย์เด็กใหม่ดูถูกประเทศจีน โดยเรียกร้องให้ #เด็กใหม่2 ออกมาขอโทษในกรณีดังกล่าว

ซึ่งก็เรียกได้ว่าจากรักกลายเป็นชังได้ภายในพริบตาเดียวจริง ๆ ครับ…

อีกหนึ่งกรณีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือประเด็นเดือดในทวิตเตอร์เมื่อกลางปีที่แล้ว (2020) จากแฮชแท็ก #nnevvy ของเหล่าแฟน ๆ นักแสดงซีรีส์วายอันเป็นชนวนที่ทำให้แฟนคลับชาวจีนทะเลาะกับแฟนคลับชาวไทยในโลกออนไลน์ จากกรณีนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งหน้าใส ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี รีทวีตโพสต์หนึ่งบนทวิตเตอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาพของฮ่องกง และเรียกฮ่องกงว่าเป็นประเทศ ซึ่งก็เป็นกรณีคล้ายกับดราม่าแนนโน๊ะเลยครับ กลายเป็นเหตุที่ทำให้ตัวนักแสดงต้องพบกับแฟนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยแฟนคลับชาวจีน ก่อนที่นักแสดงหนุ่มจะโพสต์ขอโทษ

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องคำว่า “ชาติ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่อ่อนไหวมาก ๆ สำหรับคนจีน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ในช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่คำพูดของผู้นำระดับสูงของประเทศไทยที่วิจารย์กรณีชาวจีน 41 รายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่มใกล้กับเกาะภูเก็ต และยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเหตุเกิดเนื่องจาก "บริษัทจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยใช้นอมินีของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินคดีอยู่ โดยเรื่องนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขและไทยก็มีกฎหมายของไทยอยู่” ซึ่งก็คือการกล่าวโทษไปที่ระบบ ‘ทัวร์ 0 เหรียญ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่คนพูดถึงกันในปีนั้น

คำพูดดังกล่าวถูกนำไปรายงานตามสื่อต่าง ๆ ของจีน ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวจีน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง คนจีนมากมายมองว่าปัญหาก็ส่วนปัญหา แต่การตายของคนจีน 41 คนที่อุบัติขึ้นในประเทศของคุณ ที่คุณเป็นผู้นำ การกล่าวแสดงความอาลัยมันยากนักหรือ การกล่าวโทษคนจีนด้วยสีหน้าที่เพิกเฉยมันผิดเวลาไปหน่อยหรือไม่ ? 

ซึ่งก็กลายเป็นเหตุให้เกิดกระแสแบนภูเก็ต จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในภูเก็ตในปีนั้นและปีต่อมาลดฮวบไปอย่างน่าตกใจ เพื่อนของผมที่เปิดร้านอาหารรองรับทัวร์จีนเล่าให้ผมฟังว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลให้กิจการร้านอาหารต้องเจ๊งไปเลยทีเดียว

จากสามกรณีที่ผมยกตัวอย่างมานี้คือลักษณะของความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’ คือรักกันอยู่ดี ๆ ก็เกลียดกันเสียอย่างนั้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากคำว่า “รัก” จนกลายมาเป็นคำว่า “เกลียด” หรือคำว่า “แบน” เนี่ย มันเกิดขึ้นจากประเด็นหลัก ๆ อยู่ที่ประเด็นคำว่า “ชาติ”

ด้วยลักษณะของคนจีนที่ยอมเสียได้ทุกอย่างแต่จะไม่มีวันยอมเสียหน้านั้น ทำให้ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับกรณีฮ่องกงและไต้หวันนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาหัวร้อนอยู่บ่อย ๆ เพราะหากมองในมุมรัฐบาลจีนที่พยายามอย่างหนักในการโปรโมทนโยบายที่มีชื่อว่า “จีนเดียว” (One China) และด้วยความที่กำลังแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ถูกโจมตีด้วยประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการที่โลกฝั่งตะวันตกเข้ามามีบทบาทการเมืองระหว่างจีนและไต้หวัน/ฮ่องกง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐจะต้องคอยปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมลงไปในดีเอ็นเอของคนในชาติ

การกระทำอันใดที่เป็นการดูถูกประเทศจีนนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นอันขาด ในกรณีอย่างดราม่าแนนโน๊ะนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจก็ดี หรือว่าไม่ได้ตั้งใจก็ดี แต่การจะทำการค้าขาย หรือตีตลาดในประเทศจีนอย่างมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้ เพราะหากเราเผลอทำตัวไม่น่ารัก เราอาจถูกเกลียดชังได้ภายในพริบตาเดียว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ผลไม้ไทยธรรมดากับการส่งออกแบบราชา จนกลายเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดีย 

ถ้าใครไม่เคยเดินทางไปอินเดียจะนึกไม่ออกเลยว่าผลไม้พื้น ๆ ราคาธรรมดา ๆ ในประเทศไทยจะกลายเป็นผลไม้ราคาแพงลิบลิ่วสำหรับเศรษฐีอินเดียไปได้ยังไง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลไม้ทุกชนิดของไทยจะได้รับความนิยมในอินเดียนะครับ หลัก ๆ ก็จะมีลำไย เงาะ มังคุด ฝรั่ง มะพร้าวอ่อน ลิ้นจี่ แก้วมังกร และช่วงหลัง ๆ ทุเรียนก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าพูดถึงผลไม้ไทยยอดนิยมที่สุดในอินเดียก็ต้องยกให้ลำไยเพราะเป็นผลไม้ที่ถูกโฉลกกับคนอินเดียมาก เนื่องจากคนอินเดียชอบรับประทานรสหวาน ลำไยไทยก็เลยตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมไปประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบใหม่ ๆ พอเห็นราคาผลไม้ไทยที่สูงลิบลิ่วก็ตื่นเต้นดีใจมาก แต่พอพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็พบว่าราคาผลไม้ของไทยที่สูงลิบลิ่วนั้น จริง ๆ แล้วพี่น้องเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยเราก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากราคาขายปลีกที่สูงมากในอินเดียเลย พูดง่าย ๆ ก็คือ เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ขายได้ในราคาปกติ แถมราคาที่สูงลิ่วนั้น ก็ทำให้เป็นการจำกัดเฉพาะลูกค้าระดับเศรษฐีเท่านั้นที่จะสามารถซื้อได้ ก็เลยทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวยาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาผลไม้ไทยที่อินเดียพุ่งขึ้นไปสูงมากขนาดนั้น ก็เพราะต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากเนื่องจากผู้นำเข้าอินเดียมักจะนำเข้าแต่ละครั้งในปริมาณไม่มาก ประกอบกับระบบห้องเย็นของอินเดียยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอและมีอยู่จำกัด จึงต้องนำเข้าผลไม้ไทยไปทางอากาศเพื่อเป็นการรักษาความสดของผลไม้ และช่วยยืดอายุผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่ายให้มีอายุในการจำหน่ายยาวขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ไทยมีราคาพุ่งสูงไปอีกก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการตั้งราคาที่ร้านค้าปลีกจะต้องตั้งราคาไว้สูงมากเผื่อการเน่าเสียของผลไม้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดามากในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่เราจะพบว่าราคาลำไยจากประเทศไทยที่ขายปลีกอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในอินเดียจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 รูปีขึ้นไปหรือ 300 บาทเลยทีเดียว (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น 1 รูปี = 0.50 บาท) แต่ภายหลังได้มีความพยายามของผู้นำเข้าอินเดียที่จะเปลี่ยนจากการขนส่งทางอากาศมาเป็นการขนส่งทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์เย็นซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญในการนำเข้าลำไยครั้งละมาก ๆ ได้ เลยส่งผลทำให้ราคาลำไยไทยในอินเดียในช่วงหลังมีราคาถูกลง จนล่าสุดจากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย พบว่าราคาลำไยไทยลดลงเหลือกิโลกรัมละ 199-249 รูปี หรือ 85-107 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี = 0.43 บาท) ซึ่งการที่สามารถทำราคาได้ต่ำลง ก็จะทำให้ลำไยไทยสามารถขยายไปยังตลาดส่วนอื่นได้เพิ่มขึ้นอีกมากนอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเศรษฐีของอินเดีย เพราะฉะนั้นตอนนี้ลำไยไทยก็อาจจะไม่ใช่ “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ไทยยอดนิยมอื่น ๆ ก็ยังคงมีราคาสูงมากหรือหนักกว่าเดิม และยังคงความเป็น “ผลไม้เศรษฐี” ในอินเดียอยู่เหมือนเดิม อย่างฝรั่งกิมจูจากประเทศไทยปัจจุบันวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อินเดียกิโลกรัมละ 499-600 รูปีหรือ 215-258 บาท ลิ้นจี่สด ราคา 625 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 2,500 รูปีหรือ 1,075 บาท มังคุด ราคากิโลกรัมละ 750 รูปี หรือประมาณ 320 บาท เสาวรสสด ราคา 300 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 1,200 รูปีหรือ 516 บาท มะพร้าวอ่อน ราคาลูกละ 550 รูปีหรือ 236 บาท (มะพร้าวอ่อนอินเดีย ราคาลูกละ 29-32 รูปีหรือประมาณ 12-14 บาท) เงาะ ราคากิโลกรัมละ 900 รูปี หรือ 387 บาท แก้วมังกร ราคา 100 รูปีต่อ 250 กรัมหรือกิโลกรัมละ 400 รูปีหรือ 172 บาท และมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ของไทยนั่นเอง วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตราคากิโลกรัมละ 1,500 รูปีหรือ 645 บาท

สำหรับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่คนอินเดียไม่รู้จักคุ้นเคยสักเท่าไหร่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วแทบจะไม่เห็นมีวางขายในอินเดียเลย จะพบก็แต่ในอินเดียทางตอนใต้โดยเฉพาะที่รัฐเกรละ ที่มีทุเรียนวางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว สืบสาวราวเรื่องก็ได้ทราบว่าคนอินเดียจากรัฐเกรละไปทำงานอยู่ต่างประเทศมากที่สุด โดยบางส่วนก็จะทำงานอยู่ในตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะฉะนั้นคนอินเดียในรัฐนี้ก็จะรู้จักและรับประทานทุเรียนเป็น แต่ในปัจจุบันพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองมุมไบมีการนำทุเรียนไปขายแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าส่งเสริมให้คนอินเดียรับประทานทุเรียนให้มากขึ้น สาเหตุสำคัญที่คนอินเดียรับประทานทุเรียนเป็น นอกเหนือจากการที่เคยไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะที่สิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่คนอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกันมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็พบว่ามีคนอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 1.98 ล้านคนเลยทีเดียว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปี 

จริง ๆ แล้ว อินเดียเป็นประเทศที่สามารถผลิตผักและผลไม้ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสามารถผลิตผลไม้ได้ประมาณปีละ 80 ล้านตัน อาทิ กล้วย มะม่วง องุ่น ส้ม ทับทิม ฝรั่ง มะละกอ แตงโม และ สับปะรด โดยรัฐที่มีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มาก (มีสัดส่วนรวมกัน 60% ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งหมด) ได้แก่ อานธรประเทศ มหาราษฏระ คุชราต ทมิฬนาฑู กรณาฏกะ มัธยประเทศ และ เกรละ ตามลำดับ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันให้มีการส่งออกด้วย โดยเฉพาะองุ่นและมะม่วง โดยตลาดส่งออกสำคัญของอินเดีย ได้แก่ UAE อิหร่าน โอมาน ซาอุดิอารเบีย การ์ต้า คูเวต และ อิรัก รวมถึงอีกหลายประเทศในยุโรป

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Food and Agribusiness Strategic Advisory & Research และธนาคาร YES BANK ของอินเดียพบว่าผลไม้หลายชนิดประสบภาวะขาดตลาดซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังพยายามเชื่อมโยงการค้าระหว่างรัฐที่มีสินค้าขาดและเกินเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตซึ่งกันและกัน อาทิ รัฐคุชราตมีมะละกอ กล้วยและส้ม แต่ยังขาดแคลนฝรั่ง รัฐมหาราชฏระมีองุ่น ทับทิม มะม่วงและส้ม แต่ยังขาดสับปะรด ในขณะที่ รัฐกัวขาดแคลนส้ม รัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละขาดแคลนองุ่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการจัดเก็บสินค้าเน่าเสียง่าย และการขนส่งทางรางเพื่อสินค้าเกษตร (Kisan Rail) ที่ได้เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เพื่อลดความสูญเสียและรักษาความสดของสินค้าในราคาที่ SMEs สามารถใช้บริการได้ โดยจะไม่จำกัดปริมาณขั้นต่ำในการจัดส่งและหากมีการเน่าเสียก็มีการจ่ายชดเชยให้ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำผลไม้ที่ผลิตได้มหาศาลนี้ไปแปรรูปด้วย ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บและแปรรูปผลไม้ในอินเดียยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากซึ่งถือว่าเป็นโอกาสหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน โดยเฉพาะการสูญเสียของผักและผลไม้ที่มีสูงสุดถึง 18% ของผลผลิตและมีสัดส่วนในการนำไปแปรรูปเพียง 2% เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน อินเดียก็กำลังส่งเสริมให้มีการผลิตผลไม้ทดแทนการนำเข้าเพื่อลดราคาในตลาดและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยในขณะนี้ได้มีการทดลองปลูกแล้วในรัฐเกรละ (Kerala) โดยเฉพาะในเขตอำเภอ Wayanad และ Idukki ได้แก่ ผลไม้ประเภทเงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ขนุน อโวคาโด และ โกโก้ รวมถึงสตรอเบอรรี่ โดยรัฐบาลมีงบประมาณมาอุดหนุนให้ประมาณ 1,800 บาทต่อไร่ และในปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 4,375 ไร่ ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาต้นพันธุ์และวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรด้วย นอกจากรัฐเกรละแล้ว รัฐบาลจะส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้เหล่านี้ในรัฐกรณาฏกะ มหาราชฎระ และทมิฬนาฑู ทั้งนี้ มีบางพื้นที่ที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยเฉพาะเงาะ ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 65 บาท/กก. โดยเป็นเงาะสายพันธุ์จากมาเลเซีย (ปูลาซัน) ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าเงาะสายพันธุ์อื่น

แต่อินเดียยังคงมีความต้องการนำเข้าผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่ (Exotic Fruits) โดยในปัจจุบันมีแอปเปิ้ลและสตรอเบอรี่เป็นผลไม้นำเข้าหลักในสัดส่วนประมาณ 60% นอกจากนี้จะเป็นผลไม้ประเภทลูกแพร์ บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ แบล็คเบอรี่ เชอรี่ กีวี อโวคาโด และผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ โดยแหล่งนำเข้าหลักได้แก่ อิหร่าน ชิลี นิวซีแลนด์ เวียดนาม ไทย UAE บังกลาเทศ กรีซ อิตาลี และ เนเธอร์แลนด์

สำหรับการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 98.29 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 26.61% เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผลไม้ไทยที่อินเดียนำเข้า โดยเฉพาะเงาะ มีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าแม้จะประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ตาม เช่นเดียวกับทับทิมและมะขาม อย่างไรก็ตามการส่งออกลำไย ทุเรียน ส้ม มังคุด และ มะม่วง ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันอินเดียเริ่มนำเข้าผลไม้จากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีได้ โดยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) มีผลไม้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจำนวน 8 ชนิด คือ มังคุด มะม่วง องุ่น แอปเปิ้ล ทุเรียน เงาะ ลำไย และทับทิม และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ที่มีผลไม้ได้รับการยกเว้นภาษีมากกว่า 20 ชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ มะนาว เชอร์รี่ อินทผลัม ลูกพีช ลูกแพร และน้อยหน่า

มาถึงจุดนี้ก็คงจะพอเห็นภาพนะครับว่าอินเดียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้สด แต่ที่ยังคงมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคอินเดียระดับเศรษฐีที่ต้องการบริโภคผลไม้ต่างชาติที่มีความแปลกใหม่หรือ Exotic Fruits แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศหลายเท่าตัวก็ตาม ซึ่งการที่ผลไม้ไทยถูกนำเข้าไปและขายในราคาที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะดีอกดีใจ เพราะราคาขายปลีกที่สูงขนาดนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพของอินเดีย ในขณะที่เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยก็ยังคงส่งออกผลไม้ไทยไปอินเดียในราคาปกติโดยไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากราคาขายปลีกที่สูงเกินไปขนาดนั้น แถมยังทำให้ตลาดสำหรับผลไม้ไทยในอินเดียกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มเศรษฐีอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์และระบบห้องเย็นในอินเดียได้ ก็น่าจะทำให้ผลไม้ไทยค่อย ๆ ปลดตัวเองจากตำแหน่ง “ผลไม้เศรษฐี” มาเป็นผลไม้สำหรับทุกคนในอินเดียได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้ตลาดผลไม้ไทยในอินเดียขยายตัวได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

Operation Ranch Hand ปฏิบัติการ ‘ฝนเหลือง’ อาวุธเคมีของกองทัพสหรัฐฯ สู่สมรภูมิในเวียดนามใต้ ที่มากที่สุดในโลก    

สงครามเวียดนาม แม้จะจบลงไปแล้ว 46 ปีก็ตาม แต่เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้จบตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่จะเล่าในครั้งนี้ คือ เรื่องของ “ฝนเหลือง (Agent Orange)” ซึ่งเป็นสารเคมีที่กองทัพสหรัฐฯ นำมาใช้ในสงครามเวียดนามด้วย และยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของเวียดนามจนทุกวันนี้ ด้วยมีผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับฝนเหลืองมากมาย จึงขอเขียนเรื่องราวโดยรวมและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราครับ

ฝนเหลือง (Agent Orange) เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีความเข้มข้นสูงที่กองกำลังสหรัฐฯ ใช้ในช่วงสงครามเวียดนามเพื่อกำจัด ต้นไม้ และวัชพืช ซึ่งปกคลุมป่า อันเป็นที่ซ่อนและซ่องสุมกำลังของกองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกง โดยมีชื่อรหัสปฏิบัติการว่า Operation Ranch Hand กองกำลังสหรัฐฯ ได้โปรยพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชหลายชนิดมากกว่า 20 ล้านแกลลอนทางอากาศใน เวียดนามใต้ กัมพูชา และลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2514

Agent Orange ซึ่งมีสารเคมีประเภท Dioxin ซึ่งมีความร้ายแรง และเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุด ในเวลาต่อมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ซึ่งรวมถึง โรคมะเร็ง ความพิการ และปัญหาทางด้านจิตใจและระบบประสาทที่รุนแรงในหมู่ชาวเวียดนาม รวมถึงในกลุ่มทหารที่กลับมาสหรัฐฯ รวมถึงครอบครัวของทหารเหล่านั้นด้วย

ถังบรรจุ Agent Orange

สารกำจัดวัชพืชที่ใช้โปรยพ่น มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ใช้ในการเกษตรทั่วไปถึงราว 50 เท่า สารกำจัดวัชพืชที่ใช้บ่อยที่สุดคือ Herbicide Orange หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Agent Orange เป็นส่วนผสม 50 : 50 ของสารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิด 2,4 -D (2,4-Dichlorophenoxyacetic acid) และ 2,4,5-T (2,4,5-Trichlorophenoxyacetic acid) ผลิตตามคำสั่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดย Monsanto Corporation และ Dow Chemical เป็นหลัก สารกำจัดวัชพืชใน Operation Ranch Hand ใช้การกำหนดด้วยรหัสสี และที่พบมากที่สุดคือ Agent Blue (กรด Cacodylic) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับพืชอาหาร และ Agent White ซึ่งมักใช้เมื่อ Agent Orange ไม่พร้อมใช้งาน

แผนที่แสดงเส้นทางการบินโปรยพ่น Agent Orange

Operation Ranch Hand เป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯโดยการโปรยสารกำจัดวัชพืชทางอากาศในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ถึง พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) โดยได้รับแนวคิดจากการที่กองทัพอังกฤษใช้สาร 2,4,5-T และ 2,4-D (Agent Orange) ในช่วงภาวะฉุกเฉินในมาลายาในปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสงครามกำจัดวัชพืชโดยรวมในช่วงสงครามที่เรียกว่า "Operation Trail Dust" เป็นการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชประมาณ 20 ล้านแกลลอน (76,000 ลบ.ม.) ในพื้นที่ชนบทของเวียดนามใต้ เพื่อพยายามกำจัดแหล่งอาหารและพืชผลของเวียดกง รวมทั้งพื้นที่ในลาว และกัมพูชา ก็ถูกพ่นด้วยในปริมาณที่น้อยกว่า มีการบินโปรยสารเกือบ 20,000 เที่ยว ในช่วงสิบปีของการบินโปรยพ่นในพื้นที่ป่ากว่า 5 ล้านเอเคอร์ (20,000 ตร.กม.) และไร่นาอีก 500,000 เอเคอร์ (2,000 ตร.กม. ) ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลายอย่างหนัก ป่าไม้ของเวียดนามใต้ราว 20% ถูกโปรยพ่นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

หมู่บินของเครื่องบินลำเลียงแบบ C-123 นามเรียกขานว่า "Hades" ขณะทำการบินโปรยพ่น Agent Orange

สารเคมีกำจัดวัชพืชถูกโปรยพ่นโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-123 โดยใช้นามเรียกขานว่า "Hades" เครื่องบินจะติดตั้งถังสเปรย์ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งมีความจุสารเคมีกำจัดวัชพืช 1,000 แกลลอน (4 ลบ.ม.) เครื่องบินลำหนึ่งพ่นพื้นที่กว้าง 80 เมตร และยาว 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ในเวลาประมาณ 4½ นาทีในอัตรา 3 แกลลอนสหรัฐฯ (3.785 ลิตร) ต่อเอเคอร์ (3 ลบ.ม. / ตร.กม. ) การบินเรียงลำดับประกอบด้วยเครื่องบินสามถึงห้าลำที่บินเคียงกัน 95% ของสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้ในสงครามถูกฉีดพ่นโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Operation Ranch Hand ส่วนที่เหลืออีก 5% ได้รับการฉีดพ่นโดย US Chemical Corps และกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม โดยใช้เครื่องพ่นสารเคมี รถสเปรย์ เฮลิคอปเตอร์ และเรือ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานทางทหารของสหรัฐฯ

หมู่บินของเครื่องบินลำเลียงแบบ C-123 นามเรียกขานว่า "Hades" ขณะทำการบินโปรยพ่น Agent Orange

Operation Ranch Hand หน่วยปฏิบัติตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศ Bien Hoa (พ.ศ. 2509-2513) สำหรับปฏิบัติการในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงบริเวณที่เรือลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากพื้นที่พงป่าริมฝั่งน้ำ พื้นที่จัดเก็บ การผสม การบรรทุก และการล้างทำความสะอาด และทางลาดจอดรถตั้งอยู่ไม่ไกลจากฐานด้านในของทางเดินระหว่างทางระบายสินค้าและหอบังคับการบิน 

สำหรับการปฏิบัติการตามชายฝั่งตอนกลาง และพื้นที่เส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chin Minh Trail) Operation Ranch Hand ได้ปฏิบัติการจากฐานทัพอากาศ Da Nang (พ.ศ. 2507–2514) ส่วนฐานปฏิบัติการอื่น ๆ ได้แก่ ฐานทัพอากาศ PhùCát (พ.ศ. 2511-2513) ฐานทัพอากาศ Tan Son Nhut (พ.ศ. 2505–2509) ฐานทัพอากาศ Nha Trang (พ.ศ. 2511–2512) ฐานทัพอากาศ Phan Rang (พ.ศ. 2513–2515) และฐานทัพอากาศ Tuy Hoa (พ.ศ. 2514–2515) ฐานทัพอากาศอื่น ๆ ยังใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการชั่วคราว สำหรับ Operation Ranch Hand ฐานทัพอากาศ Da Nang, Bien Hoa และ Phu Cat ยังคงมีการปนเปื้อนสารเคมีประเภท Dioxin จากสารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างมาก และได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับความสำคัญในการกันเขต และการทำความสะอาดโดยรัฐบาลเวียดนามจนปัจจุบัน

การโปรยพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชทางอากาศครั้งแรก เป็นการทดลองในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ในหมู่บ้านทางเหนือของอำเภอ Đắk Tô (เขตชนบทของจังหวัด Kon Tum ในภาคกลางของเวียดนาม) ด้วยสารเคมีกำจัดใบไม้ การทดสอบยังคงดำเนินต่อไปในปีต่อมา และแม้ว่าจะมีข้อสงสัยของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และทำเนียบขาวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดวัชพืช แต่ Operation Ranch Hand ก็เริ่มขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2505 การบินโปรยพ่นจะต้องได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี John F. Kennedy จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2505 เมื่อประธานาธิบดี Kennedy ให้อำนาจในการอนุมัติการโปรยพ่นส่วนใหญ่ไปยังหน่วยความช่วยเหลือทางทหาร กองบัญชาการทหารสหรัฐฯในเวียดนาม และเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้ Operation Ranch Hand ได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายให้ทำการบินโปรยพ่นเป้าหมายในลาวทางตะวันออกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2508 

Dean Rusk รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี John F. Kennedy

ประเด็นที่จะอนุญาตให้ทำลายพืชผลได้หรือไม่นั้น มีการถกเถียงกันอย่างหนักเนื่องจากอาจละเมิดพิธีสารเจนีวา (Geneva Protocol) อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อเมริกันชี้ให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้อังกฤษเคยใช้ 2,4,5-T และ 2,4-D (แทบจะเหมือนกับที่กองทัพอเมริกันใช้ในเวียดนาม) ในปริมาณมากตลอดช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินมาลายาในทศวรรษ 1950 เพื่อทำลายพุ่มไม้, พืชผล, และต้นไม้ เพื่อพยายามที่จะปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบคอมมิวนิสต์ด้วยการทำลายที่กำบังที่ใช้ซุ่มโจมตีขบวนรถที่ผ่านมา 

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ Dean Rusk กล่าวกับประธานาธิบดี Kennedy เมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 ว่า “การใช้ยาละลายน้ำแข็งไม่ได้ละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามเคมี และเป็นยุทธวิธีในการทำสงครามที่ได้รับการยอมรับ โดยอังกฤษในช่วงภาวะฉุกเฉินในแหลมมลายูโดยการใช้เครื่องบินด้วยการโปรยพ่นสารเคมีทำลายพืชผล

Ngo Dinh Diem ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ เริ่มผลักดันให้เหล่าที่ปรึกษาทางทหารสหรัฐฯประจำเวียดนามใต้และทำเนียบขาว เริ่มทำการทำลายล้างการเพาะปลูกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2504 แต่ยังไม่ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 ทำเนียบขาวให้การอนุมัติสำหรับการทดสอบ Agent Blue กับพืชผลในพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าถูกควบคุมโดยเวียดกง หลังจากนั้นไม่นานการโปรยพ่นสารเคมีทำลายพืชผลก็กลายเป็นส่วนสำคัญของ Operation Ranch Hand

เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธขณะโปรยพ่น Agent Orange

เป้าหมายสำหรับการฉีดพ่น ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีเพื่อตอบสนองเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และปฏิบัติการทางจิตวิทยาของกองทัพสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ มีการสำรวจเพื่อระบุพื้นที่เป้าหมาย จากนั้นจัดวางรายการลำดับความสำคัญ เนื่องจากระดับความสูงที่ต่ำ (150 ฟุต (46 ม.) จำเป็นสำหรับการบินโปรยพ่นของเครื่องบินลำเลียงแบบ C-123 จึงถูกนำมาโปรยพ่นโดยเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ เพื่อที่จะกราดยิงหรือทิ้งระเบิดในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้เกิดการทำลายเป้าหมายบนภาคพื้นดิน หากพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเชื่อกันว่า เป็น 'เป้าหมายที่มีความเร่งด่วน' มีการวางแผนการบินโปรยพ่นเพื่อให้สามารถบินเป็นเส้นตรงได้มากที่สุด เพื่อจำกัดระยะเวลาที่เครื่องบินซึ่งต้องบินในระดับความต่ำ ข้อมูลเกี่ยวกับการบินโปรยพ่น เป้าหมาย สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ และปริมาณที่ใช้ สภาพอากาศ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้รับการบันทึก และนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า แถบบันทึก Herbicide Reporting System (HERBS)

สภาพป่าโกงกางที่ถูกโปรยพ่นด้วย Agent Orange

ประสิทธิผลของการบินโปรยพ่นมาจากองค์ประกอบหลายปัจจัยรวมทั้ง สภาพอากาศ และภูมิประเทศ การบินโปรยพ่นเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ก่อนที่อุณหภูมิจะสูงกว่า 85 องศา และลมพัดแรง ป่าโกงกางในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต้องการการบินโปรยพ่นเพียงครั้งเดียว และไม่สามารถอยู่รอดได้เมื่อมีการผลัดใบ ในขณะที่ป่าทึบในพื้นที่สูงต้องใช้การบินโปรยพ่นอย่างน้อยสองครั้ง ภายในสองถึงสามสัปดาห์ของการบินโปรยพ่น ใบจะร่วงหล่นจากต้นไม้ ซึ่งจะยังคงไร้ใบจนถึงฤดูฝนถัดไป เพื่อที่จะทำให้ป่าไม้ลดลง จำเป็นต้องมีการบินโปรยพ่น และติดตามผลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ต้นไม้ที่ถูกโปรยพ่นประมาณร้อยละ 10 ตายจากการบินโปรยพ่นเพียงครั้งเดียว การบินโปรยพ่นหลาย ๆ ครั้ง ส่งผลให้ต้นไม้ตายเพิ่มขึ้น ดังที่การติดตามภารกิจกำจัดวัชพืชด้วยการทิ้งระเบิดนาปาล์ม (ระเบิดเพลิง) หรือการวางระเบิดทำลาย

ปฏิกิริยาของชุมชนทางวิทยาศาสตร์ การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในสงครามเวียดนามเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโปรยพ่นสารเคมีทำลายพืช ชุมชนวิทยาศาสตร์เริ่มประท้วงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เมื่อสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันคัดค้านการใช้สารกำจัดวัชพืช หรือ American Association for the Advancement of Science (AAAS) ได้ออกมติในปี พ.ศ. 2509 เรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการกำจัดวัชพืชในเวียดนามใต้ในภาคสนาม ในปี พ.ศ. 2510 ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 17 คน และนักวิทยาศาสตร์อีก 5,000 คนลงนามในคำร้องเพื่อขอให้ยุติการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในเวียดนามใต้โดยทันที มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960

สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน

ในปี 1970 AAAS ได้ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ - คณะกรรมการประเมินสารกำจัดวัชพืช (HAC) ซึ่งประกอบด้วย Matthew Meselson, Arthur Westing, John Constable และ Robert Cook ไปทำการทดสอบภาคสนามเกี่ยวกับผลกระทบทางนิเวศวิทยาของโครงการกำจัดวัชพืชในเวียดนาม รายงานในปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ที่เขียนโดย K. Diane Courtney และคณะพบว่า 2,4,5-T อาจทำให้เกิดความผิดปกติและข้อบกพร่องของการคลอดในหนูได้ การศึกษาและการติดตามผลนี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ จำกัด การใช้ 2,4,5-T ในสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ตามด้วยกระทรวงกลาโหมฯระงับการใช้ Agent Orange ในเวียดนามใต้เป็นการชั่วคราว แม้ว่าพวกเขาจะยังคงพึ่งพา Agent White จนกระทั่งอุปกรณ์หมด และการฉีดพ่นสำหรับการกำจัดใบครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 การทำลายพืชผลแบบประปรายโดยใช้ Agent Blue และ Agent White ดำเนินต่อไปตลอดปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) จนกระทั่งครั้งสุดท้ายของ Operation Ranch Hand เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2514 

ชาวเวียดนามราว 150,000 คน ที่พิการแต่กำเนิด ต้องเผชิญและทนทุกข์ทรมาน จากผลกระทบของสารเคมีต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้

ผลกระทบต่อมนุษย์ การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมีผลในการทำลายล้างในระยะยาวต่อผู้คนในเวียดนามรวมถึงดินแดนและระบบนิเวศ รวมถึงผู้ที่อพยพจากพื้นที่ที่มีการโปรยพ่น Agent Orange จำนวนมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ตามรายงานของรัฐบาลเวียดนามเปิดเผยว่า ชาวเวียดนามราว 4.8 ล้านคนได้รับผลจาก Agent Orange ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 400,000 คน เนื่องจากโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ 

การศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในภายหลังระบุว่า การประมาณการก่อนหน้านี้ของการได้รับสาร Agent Orange มีความเอนเอียงจากการแทรกแซงของรัฐบาล และการคาดเดาที่ต่ำเกินไป ซึ่งทำให้การประมาณการในปัจจุบันสำหรับการล่อยสาร Dioxin นั้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เกือบสองเท่า ข้อมูลการจากสำรวจสำมะโนประชากรระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้โปรยพ่นใส่ชาวเวียดนามหลายล้านคนโดยตรงระหว่างการใช้งาน Agent Orange ประชาชนเวียดนามได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคต่าง ๆ 

ผลกระทบต่อมนุษย์ การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมีผลต่อการทำลายล้างในระยะยาว และต่อผู้คนในเวียดนามรวมถึงพื้นดินและระบบนิเวศน์ รวมถึงผู้ที่อพยพจากพื้นที่ที่มีการโปรยพ่น Agent Orange จำนวนมาก ตามรายงานของรัฐบาลเวียดนามเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ชาวเวียดนามราว 4.8 ล้านคนได้รับผลจาก Agent Orange ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 400,000 คน อันเนื่องมาจากโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ การศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในภายหลังระบุว่า การประมาณการก่อนหน้านี้ของการได้รับสาร Agent Orange มีความเอนเอียงจากการแทรกแซงของรัฐบาลฯ และการคาดเดาที่ต่ำเกินไป ซึ่งทำให้การประมาณการในปัจจุบันสำหรับการล่อยสาร Dioxin นั้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เกือบสองเท่า ข้อมูลการจากสำรวจสำมะโนประชากรระบุว่า กองทัพสหรัฐฯได้โปรยพ่นใส่ชาวเวียดนามโดยตรงระหว่างการใช้งาน Agent Orange เป็นจำนวนหลายล้านคน ประชาชนเวียดนามได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคต่าง ๆ โดยมีชาวเวียดนามราว 3  ล้านคนที่ประสบปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย และพิการ ฯลฯ อันเกิดจากการสัมผัสกับ Agent Orange โดยตรง และ 24% ของพื้นที่ของประเทศเวียดนามถูกทำลาย นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯในการจัดการสารเคมีดังกล่าวข้างต้น รวมถึงผู้ที่เกิดในและรอบ ๆ พื้นที่โปรยพ่น Agent Orange เป้าหมายจำนวนมากตลอดช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งทำให้มีผลต่อประชาชนเวียดนามอย่างน้อย 2.8 ล้านคน  และเด็ก ๆ ลูกหลานของพวกเขาอีกราว 150,000 คนต้องพิการแต่กำเนิด ต้องเผชิญ และทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบของสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ใน Operation Ranch Hand


ชาวเวียดนามราว 150,000 คนที่พิการแต่กำเนิด ต้องเผชิญ และทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบของสารเคมีต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้

โครงการกำจัด Agent Orange ปนเปื้อนที่สนามบิน Da Nang

United States Agency for International Development หรือ USAID แถลงว่า โครงการกำจัด Agent Orange ปนเปื้อนที่สนามบิน Da Nang เสร็จสิ้นเมื่อเดือน พ.ย. พ.ศ. 2561 ต่อเนื่องตามด้วยโครงการกำจัด  Agent Orange ที่สนามบิน Bien Hoa เวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ปนเปื้อน Agent Orange มากที่สุดในประเทศเวียดนาม โดยเป็นโครงการระยะ 10 ปี งบประมาณ 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,700 ล้านบาท สนามบิน Bien Hoa อยู่นอกนครโฮจิมินห์ เป็นพื้นที่ที่มีสาร Agent Orange ปนเปื้อนมากที่สุดในประเทศเวียดนาม ปนเปื้อนดิน และไหลซึมลงแม่น้ำใกล้เคียงหลายแห่งตรวจพบ Agent Orange ปนเปื้อนมากกว่า 4 เท่าของปริมาณที่พบที่สนามบิน Da Nang 

ส่วนในสหรัฐฯ นั้น ทบวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ประมาณการว่า ทหารอเมริกัน จำนวน 2.8 ล้านคน ที่เคยไปปฏิบัติการ หรือ เหยียบแผ่นดินเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2505-2518 ล้วนมีโอกาสได้สัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดใบไม้ กระทรวงฯ ได้ระบุอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการได้รับผลกระทบเอาไว้ส่วนหนึ่ง และถ้าหากทหารผ่านศึกคนใดมีอาการต่าง ๆ เหล่านั้น ก็จะสามารถขอรับการรักษาพยาบาลเป็นสวัสดิการจากรัฐได้ ซึ่งจำนวนผู้ที่เข้าขอรับการช่วยเหลือมีเพิ่มขึ้นทุกปี ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้จ่ายชดเชยให้ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี แต่ไม่ได้จ่ายชดเชยให้กับฝ่ายเวียดนามแต่อย่างใด

ป้ายแสดงที่ระลึกโครงการกำจัด Agent Orange ปนเปื้อนที่สนามบิน Da Nang

Agent Orange ได้รับการทดสอบโดยหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยในช่วงสงครามเวียตนาม ในปี พ.ศ. 2542 คลองที่ถูกกลบได้ถูกขุดออก และพบถังบรรจุสารเคมี ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็น Agent Orange คนงานที่ขุดเปิดคลองนั้นล้มป่วยขณะปรับปรุงพื้นที่สนามบินบ่อฝ้ายใกล้อำเภอหัวหินทางใต้ของกรุงเทพฯราว 100 กม. ทหารผ่านศึกชาวไทยที่เข้าร่วมสงครามเวียตนามระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ถึง 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 อาจได้รับสารเคมีกำจัดวัชพืช และอาจมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากทบวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่ไม่ได้รับการจัดประเภทชั้นความลับ ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างมีนัยสำคัญรอบ ๆ ฐานทัพที่มีรั้วรอบขอบชิดในประเทศไทยเพื่อกำจัดใบไม้ที่อาจปิดบังการตรวจหากองกำลังฝ่ายศัตรู ในปี พ.ศ. 2556 ทบวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ระบุว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้ในพื้นที่ฐานทัพในประเทศไทยอาจเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเชิงพาณิชย์ที่มีฤทธิ์คล้ายสารเคมีกำจัดวัชพืชทางยุทธวิธีที่ใช้ในสงครามเวียดนาม ทุกวันนี้ยังมีหลาย ๆ ประเทศสะสมอาวุธเคมีชีวะเพื่อใช้ทำสงครามอยู่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทเรียนจากเรื่องราวที่ผ่านมาจะทำให้โลกใบนี้ไม่ต้องประสบพบเจอกับเรื่องราวที่สุดจะเลวร้ายเช่นนี้อีก


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

โชธะปุระ (Jodhpur) & บุณฑี (Bundi) วิถีชีวิตบนความจัดจ้าน นคร‘สีฟ้า’ที่ตราตึงใจ...ในอินเดีย

เมืองสีฟ้าย่อมถูกโฉลกกับคนบ้าสีฟ้า ผู้ซึ่งเข้าข่ายคลั่งไคล้สีนี้เป็นที่สุด จะเป็นใครเสียอีกล่ะถ้าไม่ใช่ผม การได้ไปเยือนไปอยู่ ณ สถานที่สีฟ้าย่อมทำให้มีความสุขสบายใจอย่างเป็นล้นพ้นสำหรับคนประเภทนี้ ในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่แห่งเสียด้วยสิ และบางแห่งในนั้นอยู่ในประเทศอินเดียนั่นเอง หากเจาะจงให้เฉพาะลงไปอีกก็ที่รัฐราชสถาน ที่นั่นมีเมืองสีฟ้าอย่างน้อยสองแห่ง หนึ่งนั้นคือ บุณฑี อีกหนึ่งก็คือ โชธะปุระ หรือจอดห์ปูร์นั่นเอง หากดูตามพิกัดแล้วจะเห็นว่าสองเมืองนี้ตั้งอยู่เกือบสุดขอบด้านตะวันตกของประเทศ ภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย ซึ่งแม้จะร้อนจะแห้งแล้งจะอะไรก็ตามแต่ นั่นไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่น้อย ตราบใดที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์บ้าสีฟ้ายังเป็นสีฟ้าอยู่

บุณฑี เป็นเมืองเล็กกว่า ป้อมวังอะไรต่าง ๆ เป็นฉบับย่อส่วนเมื่อเทียบกับเมืองโชธุปุระ บรรยากาศของสองเมืองมีทั้งคล้ายคลึงและแตกต่าง แน่นอน บุณฑีย่อมให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเรื่อยเฉื่อยมากกว่า ไม่ใช่แค่เพราะขนาดเล็กกว่า แต่น่าจะเพราะเมืองนี้ไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยฝูงนักท่องเที่ยว ในโชธะปุระนั้นลำพังคนท้องถิ่นก็หนาแน่นพอสมควรอยู่แล้ว ไหนจะยังต้องมามุด ต้องฝ่าดงแบ็คแพ็คเกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนหลักที่เลือกมาเดินทางท่องเที่ยวยังประเทศนี้ จะถ่ายรูปภาพเก็บเป็นที่ระลึกตามวัดวังอะไรต่าง ๆ ก็มักมีคนมาขวางฉากหรือหลุดเข้ามาในเฟรมภาพก่อนลั่นชัตเตอร์ให้เสียอารมณ์อยู่เนือง ๆ ซึ่งเจ้าความวุ่นวายขวักไขว่เช่นนี้ ก็แลกกันอย่างสมน้ำสมเนื้อกับความอลังการงานสร้างของงานสถาปัตยกรรมของเขาล่ะ 

อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปว่าป้อมปราการของเมืองบุณฑีนั้นกระจอกกว่าป้อมแห่งเมืองโชธะปุระนะ ผมไม่ได้ต้องการสื่อความหมายเช่นนั้น เพราะแต่ละเมืองก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเองที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญ ตราบใดที่สองเมืองนี้เป็นสีฟ้า ก็ย่อมนับว่าสวยเสมอกัน ...และสวยกว่าเมืองใดก็ตามบนโลกใบนี้ที่ไม่ใช่สีฟ้า (โปรดเข้าใจมนุษย์สีฟ้า)

หากรวบยอดประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้เป็นฉบับย่อที่สุด ก็คงต้องย้อนหลังกลับไปหลายร้อยปี ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการปกครองระบอบกษัตริย์ ประกอบด้วยอาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย โดยมักมีการแผ่อิทธิพลของเจ้าอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า โดยใช้วิธีทั้งการทูตและการทหาร หากอยากเห็นภาพชัดเจนกว่านี้ขอแนะนำให้ดูหนังบอลลีวูด (Bollywood) เรื่อง “โยดา อักบาร์” (Jodhaa Akbar) หนังรักโรแมนติกบอกเล่าช่วงเวลาที่ราชวงศ์โมกุลเรืองอำนาจและแผ่บารมีไปทั่วชมพูทวีป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับสมัยอยุธยา นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีแง่มุมเกี่ยวกับศาสนาฮินดูกับอิสลาม รวมถึงวัฒนธรรมของดินแดนแถบทะเลทรายแห่งราชสถานด้วย  

ทั้งสองเมืองนี้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ ชาวแบ็คแพ็กเกอร์ทั้งหลายถูกอกถูกใจเพราะค่าครองชีพไม่แพง ร้านรวงเกสต์เฮาส์ที่จอดห์ปูร์ดูจะพรักพร้อมกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ ห้องพักมีให้เลือกทั้งแบบนอนรวมราคาไม่กี่สิบรูปีต่อวัน ไปจนถึงห้องเดี่ยวราคาสูงกว่า ลวดลายสไตล์การตกต่างภายในตามแบบฉบับราชสถาน ในขณะที่บุณฑีนั้นส่วนใหญ่เป็นบ้านพักคล้ายโฮมสเตย์ราคาย่อมเยา บางแห่งมีอาหารเช้าแบบง่ายๆแถมให้ด้วย 

จุดเด่นของสถานที่พักของทั้งสองเมืองนี้ก็คือดาดฟ้าสำหรับขึ้นไปนั่งเล่นกินลมชมวิวยามเช้าหรือซึมซับบรรยากาศโพล้เพล้ยามค่ำ บ้านเรือนแถบนี้สร้างกันแบบไม่ต้องมีหลังคาจั่วมุงสังกะสีหรือกระเบื้องแต่อย่างใด ปล่อยโล่งกันแบบนั้น อาจจะเป็นเพราะฝนไม่ได้ตกชุกเหมือนที่อื่นก็เป็นได้ คนเขาจึงใช้พื้นที่ดาดฟ้าในการตากผ้าหรือเป็นที่หย่อนใจ นอกจากให้ความรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังสามารถสังเกตอากัปกิริยาผู้คนจากระยะไกลโดยไม่ต้องลงไปเดินไปเบียดกับฝูงชน บางครั้งบริเวณดาดฟ้านี่เองที่เป็นพื้นที่สำหรับเว้นระยะห่างทางสังคมที่ดีที่สุด

กิจกรรมเรื่อยเฉื่อยของการเป็นนักท่องเที่ยว ก็คือการทอดน่องท่องเมือง เดินลัดเลาะตรอกซอยแบบไม่ต้องกางแผนที่ แลนด์มาร์กสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในระยะเดินกันถึง ตลาดกลางสีสันจัดจ้านก็มี ร้านค้า แทรกอยู่ทั่วไป กระหายน้ำคอแห้งก็แวะซื้อดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือลาสซี (โยเกิร์ตปรุงรส) ของกินเล่นกินจริงทั้งคาวหวานก็มากมี คนที่ชอบเครื่องเทศรับรองติดใจ การได้ชิมโน้นกินนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการออกไปท่องโลกล่ะ

มนุษย์เรานี่ชอบงานรื่นเริงกันมาก แต่ดูเหมือนคนบ้านเมืองนี้จะชื่นชอบมากกว่าที่อื่นใด เพราะมักได้ยินเสียงฆ้องกลองตามจุดต่าง ๆ ของเมืองแทบทุกวัน หรือเดินอยู่ดี ๆ ก็เจอขบวนแห่อะไรสักอย่าง หรือเจอเวทีรื่นเริง มีคณะแสดงยิปซีกำลังร่ายรำระบำกัน

แน่นอน ที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือวังและป้อมปราการประจำเมือง นอกจากได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังได้เห็นงานสถาปัตยกรรมอลังการงานสร้างด้วย คนสมัยก่อนนี่ก็เก่งไม่แพ้คนยุคนี้เลย เผลอ ๆ อาจเก่งกว่าเพราะสมัยโน้นไม่ได้มีเครื่องทุ่นแรงเหมือนยุคนี้ ที่สำคัญ การขึ้นไปยังป้อม มองลงมาเห็นวิวบ้านเรือนที่พร้อมใจกันทาด้วยสีฟ้า นี่แหละคือไฮไลต์ล่ะ


 

ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง 'จีน' กับเส้นทางสู่อวกาศ ที่เริ่มต้นจาก 'คำดูถูก'

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ประเทศจีนได้ส่งยานสำรวจจู้หรง ที่มากับยานเทียนเหวิน-1 ร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่ความสำเร็จครั้งนี้ของจีนถือว่าล้ำหน้ากว่านั้น เพราะหากนับยานที่ร่อนลงจอดบนดาวอังคารแล้วยังสามารถติดต่อสื่อสารกับยานแม่ได้ ก็จะนับว่าจีนเป็นชาติที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกาที่ทำได้ และยังเป็นการประกาศความสำเร็จตามหลังนาซ่า ที่ส่งยาน "เพอร์ซีเวอแรนซ์" ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ก่อนหน้านั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์เพียงไม่กี่เดือน 

ความสำเร็จของโครงการสำรวจอวกาศของจีนครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจว่าจีนจะไปได้ไกลถึงไหน และนี่อาจเป็นการเปิดศักราชสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อย่างที่สหรัฐฯ และ สหภาพโซเวียต เคยขับเคี่ยวกันอย่างสูสีในการมุ่งสู่ห้วงอวกาศเมื่อกว่า 70 ปีก่อนก็เป็นได้ 

ถ้าหากมองย้อนกลับไปในสมัยที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ ๆ ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจีนจะกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจอวกาศ หรือ แม้แต่จะพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานได้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจของโลกได้อย่างที่เห็นในวันนี้ 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่เคยฝันว่าจะต้องได้ไปเหยียบเย้ยชมจันทร์อย่างชาติตะวันตกให้ได้สักวันหนึ่ง 

จุดเริ่มต้นของความพยายามมุ่งสู่อวกาศของจีนนั้นมาจากปณิธานของเหมา เจ๋อตุง ที่ได้เห็นยานสปุตนิก-1 ดาวเทียมดวงแรกของโลกจากสหภาพโซเวียต ที่ส่งออกไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จในปี 1957 จึงตั้งเป้าหมายว่าจีนต้องส่งยานอวกาศสักลำออกไปนอกโลกบ้างให้ได้ หลังจากนั้น เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งเดินหน้าโครงการสำรวจอวกาศของจีนทันที ภายใต้ชื่อ Project 581 ในปี 1958

เมื่อมีโปรเจกต์เริ่มต้นแล้ว ก็ต้องมีคนมาคุม ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอากาศยานที่ล้ำสมัยแบบตะวันตกที่หาไม่ได้ในประเทศจีน แต่ในที่สุด เหมา เจ๋อตุง ก็ได้หัวกะทิระดับประเทศมา ที่มีเบื้องหลังไม่ธรรมดา และต้องยอมแลกกับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันหลายคน 

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ต่อมาได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการบินอวกาศจีน คนนั้นก็คือ เฉียน สเวเซิน

เฉียน สเวเซิน พื้นเพเป็นคนเซี่ยงไฮ้ เกิดในปี 1911 พร้อมพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ และ ฟิสิกส์อย่างหาตัวจับยาก จึงได้ทุนจากสหรัฐฯ ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT

หลังจากจบปริญญาโทที่ MIT แล้ว เฉียน สเวเซิน ย้ายไปทำงานวิจัยพัฒนาด้านอากาศยานระบบแอโรไดนามิกกับ ธีโอดอร์ ฟอน คาร์มาน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่สถาบัน California Institute of Technology หรือ Caltech ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศาตราจารย์ คาร์มาน เป็นผู้ดูแลห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ช่วยพัฒนายานขับเคลื่อนไร้คนขับ และระบบยานขนส่งอวกาศให้กับองค์การ NASA 

และเมื่อเฉียน สเวเซิน จบปริญญาเอกที่ Caltech ในปี 1939 เขาได้รับบรรจุให้ทำงานในกองทัพสหรัฐฯ โดยรับผิดชอบการวิเคราะห์ จรวด และขีปนาวุธของฝ่ายเยอรมัน เพื่อพัฒนาอาวุธให้กับฝ่ายสหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่พอ เขายังได้รับเลือกให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ Manhattan Project ในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกอีกด้วย 

แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเย็นของ 2 ขั้วอำนาจใหม่ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำโดยสหรัฐอเมริกาที่ยึดแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย กับ สหภาพโซเวียตที่เดินตามแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 

ประกอบกับช่วงนั้น เหมา เจอตุง สามารถรบชนะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ก จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศสังคมนิยมตั้งแต่ 1949 เป็นต้นมา 

ด้วยความกลัวกระแสลัทธิสังคมนิยมในรัฐบาลสหรัฐฯ จึงทำให้ เฉียน สเวเซิน ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับให้จีน และถูกคุมขังในบ้านพักพร้อมครอบครัวนานหลายปี จนกระทั่งเหมา เจ๋อตุง ได้เจรจากับ ประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ เพื่อแลกตัว เฉิน สเวเซิน กับนักโทษการเมืองชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังในประเทศจีนหลายคน จนสามารถได้ตัว เฉียน สเวเซิน กลับมาประเทศจีน 

และให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CAST ที่นอกจากเขาจะเป็นคนวางพื้นฐานการพัฒนายานอวกาศ และดาวเทียมให้จีนเป็นคนแรกแล้ว ยังถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิศกรชาวจีนอีกมากมายหลายรุ่น ที่กลายเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าให้กับโครงการอวกาศของจีน

ตอนแรก เหมา เจ๋อตุง ต้องการเร่งพัฒนาดาวเทียมสัญชาติจีนสู่อวกาศให้ทันภายในปี 1959 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ยังทำไม่สำเร็จ ทำได้เพียงการทดลองปล่อยจรวดส่งหนูขาวออกไปนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น 

จนกระทั่งจีนสามารถพัฒนาดาวเทียมดวงแรกได้สำเร็จในปี 1970 ที่ชื่อว่า ตงฟางหง-1 ปล่อยจากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน ในมณฑลกานซู และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกได้ ตามหลัง สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น 

แต่ทั้งนี้ ในปี 1969 สหรัฐอเมริกาได้ส่งมนุษย์คนแรกไปปักธงชาติสหรัฐฯ บนดวงจันทร์เรียบร้อยแล้วด้วยยานอพอลโล่ 11 

เหมา เจ๋อตุงไม่อยากจะถูกทิ้งห่างไปนาน ยังคงฝันที่ไล่ตามชาติตะวันตกให้ทัน แต่ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนก็มีหยุดชะงักนานหลายปีเพราะปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม จนสิ้นสุดหลังจากการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุงในปี 1976 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ NASA เปิดตัวโครงการ Viking เพื่อมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารไปแล้ว

โครงการสำรวจอวกาศยุคแรกจึงไม่ได้รับความสนใจจาก 2 ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เท่าที่ควร เพราะมองว่าเทคโนโลยีของจีนยังล้าหลังอยู่หลายขุม และไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะชวนจีนให้มาเข้าร่วมสมาคม "มุ่งสู่ดวงจันทร์" ไปด้วยกัน 

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงได้เริ่มเดินหน้าแผนสำรวจอวกาศจีนขึ้นมาใหม่ โดยคราวนี้จีนตั้งใจพัฒนายานที่สามารถพามนุษย์ขึ้นไปได้จริง ๆ ด้วยโครงการยานเสินโจว และในที่สุดก็ทำสำเร็จกับยานเสินโจว-5 ในปี 2003 ที่สามารถพา หยาง ลี่เว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนไปสู่นอกโลกได้นาน 21 ชั่วโมง และกลาย เป็นชาติที่ 3 ของโลกที่สามารถก้าวมาจนถึงจุดนี้ได้ 

การพัฒนายานอวกาศของจีนยังเดินหน้าต่อเนื่อง จีนเริ่มพัฒนากระสวยอวกาศ ฉางเอ๋อ-1 เพื่อวนรอบดวงจันทร์ในปี 2007 และยานเสินโจว-7 ในปี 2008 ที่นักบินอวกาศจีนสามารถออกจากยานมาลอยอยู่นอกชั้นบรรยากาศได้ 

แต่พอมาถึงจุดนี้ แผนการสำรวจอวกาศของจีนก็เริ่มทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่พอใจ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาจรวดอวกาศ กับ จรวดพิสัยไกลข้ามทวีป ICBM ที่เป็นอาวุธทางทหารใช้พื้นฐานเดียวกัน 

และในปี 2011 สภาคองเกรซสหรัฐฯ ก็ลงมติแบนโครงการสำรวจอวกาศของจีน ไม่ยอมให้ NASA ใช้งบประมาณไปสนับสนุนโครงการของจีน และไม่ยอมให้จีนใช้สถานีอวกาศนานาชาติที่ดูแลโดย NASA ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่ต้องการให้จีนแอบใช้เทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ไปพัฒนาอาวุธ กล่าวหาว่าจีนแอบขโมยข้อมูลจากห้องแล็บของ NASA รวมถึง ดาวเทียมวงโคจรต่ำของจีน มีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง และจะกลายเป็นขยะในชั้นบรรยากาศที่อาจเป็นอันตรายกับโลกในภายหลัง

แต่จีนไม่ยอมแพ้ แก้ลำด้วยการสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเองในโครงการ เทียนกง-1 ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2011 เช่นเดียวกัน และตามมาด้วยสถานีอวกาศเทียนกง-2 ในปี 2016 

และในปี 2019 ทีมสำรวจอวกาศจีนก็สร้างความฮือฮาให้กับโลกอีกครั้ง ที่สามารถนำยาน ฉางเอ๋อ-4 ร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในด้านที่ยังไม่เคยมีประเทศไหนสำรวจมาก่อน จนนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการสำรวจดวงจันทร์ 

และต่อมาในปี 2020 จีนก็บรรลุภารกิจส่งดาวเทียมเป่ยโต่ว ที่เป็นดาวเทียมระบุพิกัดสัญชาติจีนที่ครอบคลุมพิกัดทั่วโลก ท้าทายธุรกิจดาวเทียมระบบ GPS ของสหรัฐฯ ได้แล้วในตอนนี้ 

จนกระทั่งวันนี้ เทคโนโลยีอวกาศของจีนก็ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้นจากความสำเร็จของยานจู้หรง-1 เพื่อมุ่งหน้าสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร นับว่า 60 ปีของโครงการพัฒนายานอวกาศของจีนเดินทางมาไกลมาก จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลย

แม้ความจริงในตอนนี้ จีนยังไม่สามารถทัดเทียมสหรัฐฯ ได้ ในโครงการอวกาศ และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไปถึงจุดที่สหรัฐฯ ทำได้ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้ห่างกันจนไม่เห็นฝุ่น แถมยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ใกล้เคียงในระดับหายใจรดต้นคอ

เรื่องนี้ เหมา เจ๋อตุง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อย่าปรามาสว่าเป็นเพียงฝันลม ๆ แร้ง ๆ เพราะก้าวแรกของความมุ่งมั่นนั้นสำคัญเสมอ 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าประเทศต่าง ๆ ทำไมถึงอยากมุ่งสู่นอกโลก และหากถามว่าการสำรวจอวกาศด้วยงบประมาณมากมายมหาศาลนั้น โลกจะได้ประโยชน์อะไร? 

การแสวงหาแร่หายาก และทรัพยากรใหม่ ๆ งั้นหรือ? การสร้างอาณานิคมนอกโลกสำรองไว้หากโลกเกิดหายนะงั้นหรือ? 

ฤาจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะ DNA ของความอยากรู้ ที่ทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาคำตอบมานับพันปี ถึงความจริงเรื่องจุดเริ่มต้นสิ่งมีชีวิต โดยมีโลกเป็นฐานผลักดันให้มนุษย์มุ่งสู่อวกาศเพื่อไขปริศนาความลับของจักรวาลกันแน่...


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nbcnews.com/science/space/china-becomes-only-second-nation-history-land-rover-mars-n1267410

https://interestingengineering.com/all-you-need-to-know-about-the-chinese-space-program

https://www.labroots.com/trending/space/16798/china-banned-international-space-station

https://www.reuters.com/article/us-space-exploration-china-moon-timeline/timeline-major-milestones-in-chinese-space-exploration-idINKBN28B5GE

https://www.washingtonpost.com/national/health-science/nasas-1976-viking-mission-to-mars-did-everything-right--except-find-martians/2016/06/18/749701f6-2c15-11e6-9b37-42985f6a265c_story.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_space_program

https://en.wikipedia.org/wiki/Qian_Xuesen


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top