‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ วีรชนแห่งสมรภูมิรบเกาหลี จากนักเรียนธรรมดา สู่ทหารผู้ยืนหยัดปกป้องชาติด้วยความหาญกล้า

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี (Korea Student Volunteer Force)

สังคมปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความรักชาติ’ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พ้นสมัยของคนเฒ่าชะแรแก่ชราในยุคก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องของ ‘ความรักชาติ’ นั้น เป็นปกติวิสัยทั่วไป เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามแต่ละประเทศที่เกิดและอาศัยอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของพลเมืองในทุกชาติบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการหยุดยิงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือ 70 ปีมาแล้ว และจนทุกวันนี้ ทั้งสองเกาหลียังไม่มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ อันเป็นการยุติสงครามระหว่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี กำลังขึ้นรถไฟเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหารกองประจำการโดยไม่มีการยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ รวมทั้งแทบไม่มีการผ่อนผันเลย เว้นแต่บางกรณี เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งยังต้องฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ 

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนอยู่ในเกาหลีใต้ และนักเรียนเกาหลีที่ไปเรียนในญี่ปุ่น (เกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในช่วงสงครามเกาหลี นักเรียนเกาหลีจำนวน 642 คน ได้รวมตัวกันเดินกลับมายังเกาหลีใต้ และอาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบภายใต้กองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในการรบมากมายหลายครั้งหลายหน

สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ต้องสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มี ยศ สังกัด หรือแม้แต่หมายเลขประจำตัวทหาร

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ (학서의용군 อ่านว่า Hak Do Ui Yong Gun) โดยนักเรียนอาสาสมัครเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14–17 ปี ซึ่งอายุต่ำกว่าอายุครบเกณฑ์ทหาร 18 ปี (ในขณะนั้น การแจ้งเกิดมักจะล่าช้า ดังนั้น อายุที่แท้จริงของนักเรียนอาสาสมัครจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16–19 ปี) หลังจากสงครามสองเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้สามารถระดมกำลังนักเรียนอาสาสมัครได้ถึง 198,380 นาย จัดกำลังเป็น กองพลทหารราบ 10 กองพล, กองพลยานเกราะ 1 กองพล และหน่วยยานยนต์ 1 หน่วย และระหว่างสงครามจนถึงการหยุดยิงระหว่าง 2 เกาหลี มีนักเรียนประมาณ 275,200 คน เข้าร่วมรบในสงครามกับกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ทั้งทำการรบ ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือประชาชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

‘การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในยามฉุกเฉิน’ (비상학 시단) โดยนักเรียน 200 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมนักเรียนอาสาปกป้องประเทศ (학 서호성단) จากทั่วกรุงโซลได้มารวมตัวกันที่ซูวอน นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนถูกเกณฑ์ให้ร่วมรบเช่นทหารประจำการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบหมายให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนส่วนใหญ่ รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่ด้านหลังแนวรบ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย การแจ้งข่าว และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนไม่พอใจกับภารกิจในแนวหลัง ต่อมากองทัพเกาหลีใต้ได้มอบภารกิจในการสู้รบเพื่อรักษาแนวป้องกันแม่น้ำนักดงให้แก่กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งสุดท้ายในขณะนั้น และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนก็ประสบความสำเร็จในการรักษาแนวป้องกันดังกล่าว แม้ไม่มีการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ไม่มียศทางทหาร แต่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปกป้องประเทศ ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีเข้าร่วมในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกอินชอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ, ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่วอนซันและอิวอน, ปฏิบัติการยึดคืนของกัปซันและฮเยซันจิน, ยุทธการที่อ่างเก็บน้ำจางจิน และยุทธการที่เนินเขาแบกมา ฯลฯ

ภาพวาดของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ขณะเดินทางเข้าสู่สนามรบ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหประชาชาติ สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพจีน จนข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปในเขตเกาหลีเหนือได้แล้ว ‘Syngman Rhee’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนกลับไปโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ และออกคำสั่งคืนสถานะ โดยตามคำสั่งคืนสถานะนี้ กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต้องถอดเครื่องแบบทหารและเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นนักเรียนตามเดิม โดย

1.) นักเรียนทุกคนจะต้องกลับคืนสู่หน้าที่เดิม ซึ่งก็คือการเรียนของตน
2.) การยอมรับการเป็นทหารของนักเรียนที่ถูกระงับการเรียน เนื่องจากการเป็นทหาร เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องยอมรับการกลับมาที่โรงเรียนของนักเรียนเหล่านั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.) โรงเรียนในแต่ละระดับ จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่กลับมาจากการเป็นทหาร
4.) นักเรียนที่พลาดการเลื่อนระดับชั้นในขณะที่เป็นทหาร จะได้รับอนุญาตให้เลื่อนระดับชั้นได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต่างยืนกรานที่จะสู้รบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด และได้รับยศ หมายเลขประจำตัวทหาร และเข้าร่วมในการสู้รบ โดยมีวีรกรรมสำคัญบางเหตุการณ์ ได้แก่

• การรบที่โรงเรียนมัธยมสตรี P'ohang จังหวัด Gyeongsang-do เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ซึ่งสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 71 นาย สู้รบกับทหารเกาหลีเหนือ หน่วยที่ 766 โดยฝ่ายเกาหลีเหนือมียานเกราะ 5 คันสนับสนุน การสู้รบกินเวลา 11 ชั่วโมง สมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนเสียชีวิตไป 48 นาย เหลือรอดชีวิตเพียง 23 นาย วีรกรรมครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘71 : Into the Fire’

ภาพยนตร์เรื่อง 71 : Into the Fire

• การรบที่หาด Jangsari อำเภอ Yeongdeok จังหวัด Gyeongsang-do ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ค.ศ. 1950 โดยสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียน 560 นาย ร่วมกับทหารของกองทัพเกาหลีใต้ ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘กองพันกองโจรอิสระที่ 1’ รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลวงกองกำลังเกาหลีเหนือ ให้คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะเปิดฉากการรุกอย่างเด็ดขาดที่นั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกพลขึ้นบกที่ Inchon สมาชิกของกองพันกองโจรอิสระที่ 1 เสียชีวิตไป 139 นาย และการยกพลขึ้นบกที่ Inchon ประสบความสำเร็จด้วยดี และวีรกรรมนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Battle of Jangsari’

ภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Jangsari

ตัวเลขสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี มีผู้เสียชีวิต 2,464 นาย และบาดเจ็บ 3,000 นาย ในจำนวนนี้มี 347 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ อีก 1,188 นาย ถูกจารึกไว้บนป้ายแห่งความทรงจำ และอีก 929 ราย ที่ไม่มีศพหรือแผ่นจารึกที่ระลึกเลย ส่วนสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนที่รอดชีวิตมักจะไม่กลับไปเรียนต่อ และยังคงอยู่ในกองทัพ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี

‘อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี’ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมัธยมหญิง P'ohang ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน 71 นาย เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละอันสูงส่งของพวกเขา เมือง P'ohang จึงสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1977 และจัดพิธีรำลึกขึ้นทุกปี

หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang

‘หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang’ เปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2002 ในสวนสาธารณะ Yongheung เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ในการร่วมรบที่เขตเมือง P'ohang ในช่วงสงครามเกาหลี ในห้องนิทรรศการมีโบราณวัตถุประมาณ 200 ชิ้น เช่น ไดอารี่ ภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนใช้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับสงครามในห้องโสตทัศนูปกรณ์อีกด้วย

อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม

‘อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม’ ตั้งอยู่ที่สุสานแห่งชาติ กรุงโซล ด้านหลังเป็นหลุมศพสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนามจำนวน 48 นาย ที่เสียชีวิตในเขตเมือง P'ohang ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะได้รับ ซึ่งมีสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 317 นาย ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลดังกล่าว ให้กับสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนอีก 45 คน ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน

ภาพจำลองแสดงเหตุการณ์ที่ยุวชนทหารสู้รบกับทหารญี่ปุ่น
ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีถึงจังหวัดสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 คน ได้ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคำสั่งจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ยุติการต่อต้าน และปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดไปทั่ว แต่ก็มียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด โดยไม่เกรงกลัวอันตรายแต่อย่างใด ยุวชนทหารในสมัยนั้นได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายมาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในสมัยนี้

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร 
ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ
ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ คือการเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นอีกในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ และไม่ได้หมายถึงสงครามที่ต้องรบกันด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติจะต้องร่วมรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่น่าเป็นห่วงที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ที่หลงผิดคิดว่า ภยันตรายที่คุกคามความมั่นคงของชาตินั้นได้หมดไปแล้ว หากพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่เยี่ยงปัญญาชนและวิญญูชนแล้วจะพบว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดทางยุทธศาสตร์ ในการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ

วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติน้อยที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและชัดเจน บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติ รวมทั้งกำลังทหารที่มีความพร้อมต่อการรุกรานของอริราชศัตรูตลอดเวลา ซึ่ง “พลังอำนาจทางการรบ” ตลอดจน “ศักย์สงคราม” จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง และหากเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ที่คุกคามแล้ว ชาติบ้านเมืองก็จะมีพร้อมต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์สร่างซาสงบลงแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความบอบช้ำที่น้อยที่สุด

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล