‘การค้น’ เครื่องมือสำคัญสำหรับจับโจร อำนาจ จนท.ตามหลักปฏิญญาสากล
ก่อน พ.ศ. 2540 การค้นเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสืบสวน จับกุม ผู้กระทำผิด
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการค้นว่า...
การค้นสถานที่ส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า ที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้ถ้าไม่มีคำสั่งหรือหมายค้นที่ออกโดยศาล
ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามหลักที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในเคหสถาน
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้มีการระบุหลักเกณฑ์สำคัญดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยการค้นตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 ประการ…
ประการที่ 1 ค้นเพื่อหาคน ทั้งคนร้ายและผู้ที่อาจถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้
ประการที่ 2 ค้นเพื่อหาสิ่งของ ได้แก่สิ่งของที่ผิดกฎหมายเพื่อพบและยึดสิ่งของนั้นๆ
>> ผู้มีอำนาจค้น 1.ตำรวจ (ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) 2.พนักงานฝ่ายปกครอง (ระดับสามขึ้นไป)
>> วิธีการค้น ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง สั่งให้เข้าของหรือคนอยู่ในนั้น ยินยอมให้เข้าไปค้นได้ ถ้าไม่ยินยอม มีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลาย ประตูหรือช่องทางต่างๆ หรือสิ่งกีดขวางได้ ต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหายหรือกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้
>> ช่วงเวลาที่ค้นได้ ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ยกเว้น ค้นตั้งแต่เวลากลางวันแล้วยังไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีฉุกเฉินหรือมีกฎหมายอื่นให้ค้นได้ หรือการค้นเพื่อจับผู้ร้ายสำคัญแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
ประชาชนทั่วไปหากมีเหตุการณ์ถูกค้นบ้าน ให้ตั้งสติและดำเนินการดังนี้…
1.ตรวจสอบหมายค้น เช่น ศาลที่ออกหมาย ฐานความผิด รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร
2.สอบถามรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ผู้ถือหมายว่ามาจากหน่วยงานใด
3.หากอยู่ตามลำพังควรขอให้เจ้าหน้าที่รอให้มีผู้ที่เราไว้วางใจเดินทางมาถึงที่ตรวจค้นก่อนจึงอนุญาตให้ค้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการประวิงเวลาเพื่อการอื่น
4.ควรอนุญาตให้ตรวจค้นทีละห้อง ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้น
5.เมื่อการตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำรายละเอียดการตรวจค้น ควรให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานและเก็บเอกสารดังกล่าวไว้
อย่างไรก็ตาม หากการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของบ้านสามารถอ้างสิทธิป้องกันตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อยกเว้นหมายค้นนั้น หากเจ้าบ้านยินยอม อาจไม่ต้องมีหมายค้น ก็สามารถทำการตรวจค้นได้ แต่ผู้ยินยอมต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือคู่สมรส
สำหรับการค้นบ้านพักบิ๊กตำรวจที่เป็นกระแสในระหว่างนี้ ในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบิ๊กคนดังกล่าว หมายค้นก็ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งในขั้นตอนการออกหมายค้น จะต้องมีหลักฐานพอสมควร ที่ทำให้ศาลเชื่อว่ามีบุคคลที่กระทำความผิด หรือมีสิ่งของที่เป็นความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ว่าบ้านพักดังกล่าวจะเป็นของใคร
เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด
เรื่อง: ธีระวุฒิ วชิรมโนวาทย์