Monday, 13 May 2024
ตรวจค้น

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สั่งเจ้าหน้าที่สืบสวนเข้าตรวจค้นอาคารย่านสีลม พบบุคคลต่างด้าวซุกซ่อนอยู่ คาดถูกใช้เป็นที่พักพิงแม่อุ้มบุญคนไทย

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 ได้เกิดเหตุกลุ่มคนร้ายชาวจีนอุ้มเหยื่อชาวจีน 2 รายเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 5 แสนบาท เหตุเกิดในพื้นที่ สภ.หนองปรือ ภ.จว.ชลบุรี ซึ่งต่อมาสามารถออกหมายจับดำเนินคดีกับชาวจีนที่ก่อเหตุจำนวน 4 ราย และประสานทางการจีนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ก่อเหตุดังกล่าว นอกจากนี้ จากการสืบสวนยังพบว่า ผู้เสียหายชาวจีนที่ถูกจับเรียกค่าไถ่นั้น เป็นบุคคลที่ลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการใช้บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วนั้น

กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนเร่งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 4 เม.ย.66 เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นที่บริเวณบ้านเลขที่ 491/13 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ลักษณะเป็นอาคาร 5 ชั้น ภายในพบบุคคลสัญชาติเมียนมา 3 ราย บุคคลสัญชาติจีนและไต้หวันจำนวน 4 ราย พบภายในลักษณะแบ่งซอยย่อยเป็นห้องจำนวนมาก คาดว่าเป็นสถานที่ที่เตรียมไว้สำหรับหญิงไทยที่จะทำหน้าที่อุ้มบุญให้กับลูกค้าชาวจีน โดยจะพักอาศัยอยู่ในช่วงตั้งท้องจนคลอดบุตร เบื้องต้นได้ดำเนินคดีกับบุคคลต่างด้าวทั้ง 7 ราย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และจับกุมผู้ดูแลชาวไทย 1 ราย ในความผิดเกี่ยวกับการให้ที่พักพิงบุคคลต่างด้าวฯ 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สถานที่ดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่สืบสวนได้เข้าตรวจค้นในวันนี้สืบเนื่องมาจากการขยายผลกรณีชาวจีนที่ถูกอุ้มเรียกค่าไถ่ในพื้นที่ สภ.หนองปรือ โดยสืบทราบว่าอาคารดังกล่าวมีลักษณะเป็นสถานที่ที่มีไว้เพื่อเป็นที่พักสำหรับหญิงชาวไทยที่จะมาทำหน้าที่อุ้มบุญให้กับชาวจีน โดยจากนี้ได้สั่งการให้ขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและจัดให้มีการอุ้มบุญให้ครบทั้งกระบวนการ เพื่อนำมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเด็ดขาด

‘การค้น’ เครื่องมือสำคัญสำหรับจับโจร อำนาจ จนท.ตามหลักปฏิญญาสากล

ก่อน พ.ศ. 2540 การค้นเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสืบสวน จับกุม ผู้กระทำผิด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการค้นว่า... 

การค้นสถานที่ส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า ที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้ถ้าไม่มีคำสั่งหรือหมายค้นที่ออกโดยศาล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามหลักที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในเคหสถาน 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้มีการระบุหลักเกณฑ์สำคัญดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยการค้นตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 ประการ…

ประการที่ 1 ค้นเพื่อหาคน ทั้งคนร้ายและผู้ที่อาจถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้
ประการที่ 2 ค้นเพื่อหาสิ่งของ ได้แก่สิ่งของที่ผิดกฎหมายเพื่อพบและยึดสิ่งของนั้นๆ

>> ผู้มีอำนาจค้น 1.ตำรวจ (ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) 2.พนักงานฝ่ายปกครอง (ระดับสามขึ้นไป)

>> วิธีการค้น ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง สั่งให้เข้าของหรือคนอยู่ในนั้น ยินยอมให้เข้าไปค้นได้ ถ้าไม่ยินยอม มีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลาย ประตูหรือช่องทางต่างๆ หรือสิ่งกีดขวางได้ ต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหายหรือกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้

>> ช่วงเวลาที่ค้นได้ ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ยกเว้น ค้นตั้งแต่เวลากลางวันแล้วยังไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีฉุกเฉินหรือมีกฎหมายอื่นให้ค้นได้ หรือการค้นเพื่อจับผู้ร้ายสำคัญแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

ประชาชนทั่วไปหากมีเหตุการณ์ถูกค้นบ้าน ให้ตั้งสติและดำเนินการดังนี้…

1.ตรวจสอบหมายค้น เช่น ศาลที่ออกหมาย ฐานความผิด รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร
2.สอบถามรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ผู้ถือหมายว่ามาจากหน่วยงานใด 
3.หากอยู่ตามลำพังควรขอให้เจ้าหน้าที่รอให้มีผู้ที่เราไว้วางใจเดินทางมาถึงที่ตรวจค้นก่อนจึงอนุญาตให้ค้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการประวิงเวลาเพื่อการอื่น 
4.ควรอนุญาตให้ตรวจค้นทีละห้อง ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้น 
5.เมื่อการตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำรายละเอียดการตรวจค้น ควรให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานและเก็บเอกสารดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม หากการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของบ้านสามารถอ้างสิทธิป้องกันตามกฎหมายได้ 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อยกเว้นหมายค้นนั้น หากเจ้าบ้านยินยอม อาจไม่ต้องมีหมายค้น ก็สามารถทำการตรวจค้นได้ แต่ผู้ยินยอมต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือคู่สมรส

สำหรับการค้นบ้านพักบิ๊กตำรวจที่เป็นกระแสในระหว่างนี้ ในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบิ๊กคนดังกล่าว หมายค้นก็ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งในขั้นตอนการออกหมายค้น จะต้องมีหลักฐานพอสมควร ที่ทำให้ศาลเชื่อว่ามีบุคคลที่กระทำความผิด หรือมีสิ่งของที่เป็นความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ว่าบ้านพักดังกล่าวจะเป็นของใคร

เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด

“บิ๊กราญ” รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. สั่งระดมทุกหน่วยปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายยาเสพติดทั่วประเทศ ห้วงเมษามหาสงกรานต์ จับผู้ต้องหา 321 คน ยึดทรัพย์กว่า 369 ล้านบาท

วันนี้ 3 พ.ค. 67 พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. เป็นประธานแถลงผลการปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 300 เครือข่าย ทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างวันที่ ๑๐ - ๓๐ เม.ย.๖๗ พร้อมระบุว่า การปราบปรามยาเสพติดในทุกพื้นที่เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เน้นการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อตัดวงจรและท่อน้ำเลี้ยง รวมทั้งทำลายเครือข่ายยาเสพติดทุกระดับทั้งระบบ ประกอบกับนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.ปส.ตร. ให้ทุกหน่วยทำงานเชิงรุกปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในทุกพื้นที่และสืบสวนขยายผล ทุกคดี เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ทั้งของผู้ค้ายาเสพติดเอง รวมทั้งผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนเครือข่ายทั้งหมดมาตรวจสอบ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 300 เครือข่ายทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างวันที่ ๑๐ - ๓๐ เม.ย.๖๗ ซึ่งหน่วยที่ปฏิบัติการประกอบด้วย ตำรวจภูธรภาค 1 – 9 , กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ส. ร่วมปฏิบัติในทุกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเข้าตรวจค้น 703 เป้าหมาย และเป้าหมายจับ 209 หมายจับ ผลการปิดล้อมสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 142 คดี 143 คน จับกุมคดียาเสพติดรวม 421 คดี ผู้ต้องหา 465 คน ตรวจยึดยาเสพติดคือยาบ้า 11,833,925 เม็ด, ไอซ์ 936 กก. ,คีตามีน 0.591 กก, เฮโรอีน 22 กก., ยาอี 2 เม็ด และ อิริมินไฟท์ 80 เม็ด ตรวจยึดอายัดทรัพย์สิน ได้แก่ เงินสด 5,652,429 บาท, อาวุธปืน 47 กระบอก มูลค่า 1,751,501 บาท, เครื่องกระสุนปืน 418 รายการ มูลค่า 15,404 บาท,สิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดิน/ที่ดิน 76 รายการ มูลค่า 157,690,380 บาท, ทองรูปพรรณ 74 รายการ มูลค่า 4,981,358 บาท, รถยนต์ 191 รายการ  มูลค่า 13,898,000 บาท, รถจักรยานยนต์ 199 รายการ มูลค่า 13,902,890 บาท โทรศัพท์ 199 รายการ มูลค่า 2,413,239 บาท สมุดธนาคาร 96 รายการ และ อื่นๆ อาทิ เงินสดในบัญชีธนาคาร, เรือประมง, เรือหางโหง, คอมพิวเตอร์, Notebook, พระเครื่อง, นาฬิกา และ วิทยุสื่อสาร รวมทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ 172 รายการ มูลค่า69,460,752 บาท ตรวจยึดทรัพย์สินทั้งสิ้น 1,520 รายการ รวมมูลค่า 369,765,953 ล้านบาท

ซึ่ง พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า จากผลการปฏิบัติในห้วง 20 วัน ของการปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 300 เครือข่าย จะเห็นว่าตำรวจทั่วประเทศได้รุกอย่างหนักเป็นรูปธรรม ทำจริง จับจริง และยึดจริง จนทำให้เครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญที่กระจายอยู่หลายพื้นที่สั่นสะเทือน โดยในขณะนี้ สำนักตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายเน้นการปราบปรามผู้ค้ารายย่อยซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในชุมชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าผลการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในห้วง 7 เดือน ที่ผ่านมา (ต.ค. 66 – เม.ย.67) สามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ถึง 61,196 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จำนวน 15,976 ราย หรือเพิ่มขึ้น 35.33 % ขณะเดียวกันได้เน้นการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด ทำให้สามารถสกัดกั้นจับกุมยาบ้าปริมาณ 100,000 – 500,000 เม็ด จับกุมได้ 149 คดี เพิ่มขึ้น 21 คดี คิดเป็น 16.41 %, ยาบ้าตั้งแต่ 500,000 เม็ด จับกุมได้ 137 คดี เพิ่มขึ้น 52 คดี คิดเป็น 61.18 % ทั้งนี้ สามารถตรวจยึดยาบ้ารวม 522,555,662 เม็ด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 166 ล้านเม็ด คิดเป็น 47.56 %, ยาอี 115,665 เม็ด เพิ่มขึ้น 15,514 เม็ด คิดเป็น 15.49 %, ยึดไอซ์ 8,407 กก. เพิ่มขึ้น 390 กก. คิดเป็น 4.84 %, ยึดคีตามีน 3,807 กก. เพิ่มขึ้น 879 กก. คิดเป็น 30.02 %, ยึดเฮโรอีน 649.27 กก. เพิ่มขึ้น 223 กก. คิดเป็น 52.33 % และ ยึดโคเคน 20 กก. เพิ่มขึ้น 10 กก. คิดเป็น 95.32 % รวมทั้งเน้นการยึดทรัพย์สินซึ่งสามารถตรวจยึดทรัพย์สิน รวมมูลค่า 4,862,700,7475 บาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top