Friday, 10 May 2024
ไขข้อข้องใจกับทนายหนุ่ม

จอดรถอย่างไรให้ถูกใจทุกคน ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย

ปี 2566 ในประเทศไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนมากถึง 41 ล้านคัน ต่อจำนวนประชากร 66 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้ว ในประชากร 100 คน มีรถยนต์มากถึง 61 คน ปัญหาที่ตามมานอกจากปัญหามลภาวะ ปัญหาการใช้พลังงาน และที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันคือปัญหาที่จอดรถ 

ในบางประเทศเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีข้อกฎหมาย กำหนดว่าหากใครต้องการซื้อรถยนต์ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงานรัฐว่ามีที่จอดรถ ถึงจะสามารถซื้อรถยนต์ได้ เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนและป้องกันปัญหาที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอ 

ในประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนบางเส้นที่มีการจราจรหนาแน่น และมีการเรียกเก็บภาษีรถยนต์ในอัตราสูง เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์

ในประเทศไทยมีแนวคิดการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปี กรณีรถยนต์ที่มีอายุเกินสิบปีเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์และเหตุผลเรื่องมลภาวะ ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเมื่อมีรถยนต์แล้ว ลองมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า เราจะจอดรถอย่างไรให้ถูกใจทุกคน และไม่เกิดปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สองอย่างคือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นเพื่อสร้างความปลอดภัย เนื่องมาจากการใช้รถ จึงกำหนดไว้ว่าห้ามจอดรถในที่ต่างๆ ดังนี้ เช่น ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง, บนทางเท้า, บนสะพานหรือในอุโมงค์, ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ, ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ, ในเขตปลอดภัย หรือในลักษณะกีดขวางทางจราจร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 การกระทำการต่อผู้อื่น...ให้เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือที่เรียกว่าความผิดลหุโทษ 

กรณีการจอดรถในหมู่บ้านจัดสรร ในซอยแคบ หรือในสถานที่ต่างๆ ในลักษณะที่ขวางทางเข้า-ออก ของเพื่อนบ้าน หรือกีดขวางการสัญจรโดยปกติของประชาชนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรณีปัญหาจากการจอดรถนี้ หากเกิดขึ้นในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สามารถออกกฎหรือระเบียบ การจอดรถเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในหมู่บ้านได้  หากมีการฝ่าฝืนกฎหรือระเบียบของหมู่บ้านก็สามารถมีมาตรการดำเนินการได้ตามที่ระเบียบของแต่ละหมู่บ้านกำหนด

แต่หากปัญหาการจอดรถเกิดขึ้นนอกเหนือพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร ท่านสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายได้ 

แต่ทุกปัญหา สามารถแก้ไขได้ด้วยการหันหน้ามาพูดคุยกัน โดยเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งครับ

‘การค้น’ เครื่องมือสำคัญสำหรับจับโจร อำนาจ จนท.ตามหลักปฏิญญาสากล

ก่อน พ.ศ. 2540 การค้นเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสืบสวน จับกุม ผู้กระทำผิด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการค้นว่า... 

การค้นสถานที่ส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า ที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้ถ้าไม่มีคำสั่งหรือหมายค้นที่ออกโดยศาล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามหลักที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในเคหสถาน 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้มีการระบุหลักเกณฑ์สำคัญดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยการค้นตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 ประการ…

ประการที่ 1 ค้นเพื่อหาคน ทั้งคนร้ายและผู้ที่อาจถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้
ประการที่ 2 ค้นเพื่อหาสิ่งของ ได้แก่สิ่งของที่ผิดกฎหมายเพื่อพบและยึดสิ่งของนั้นๆ

>> ผู้มีอำนาจค้น 1.ตำรวจ (ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) 2.พนักงานฝ่ายปกครอง (ระดับสามขึ้นไป)

>> วิธีการค้น ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง สั่งให้เข้าของหรือคนอยู่ในนั้น ยินยอมให้เข้าไปค้นได้ ถ้าไม่ยินยอม มีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลาย ประตูหรือช่องทางต่างๆ หรือสิ่งกีดขวางได้ ต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหายหรือกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้

>> ช่วงเวลาที่ค้นได้ ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ยกเว้น ค้นตั้งแต่เวลากลางวันแล้วยังไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีฉุกเฉินหรือมีกฎหมายอื่นให้ค้นได้ หรือการค้นเพื่อจับผู้ร้ายสำคัญแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

ประชาชนทั่วไปหากมีเหตุการณ์ถูกค้นบ้าน ให้ตั้งสติและดำเนินการดังนี้…

1.ตรวจสอบหมายค้น เช่น ศาลที่ออกหมาย ฐานความผิด รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร
2.สอบถามรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ผู้ถือหมายว่ามาจากหน่วยงานใด 
3.หากอยู่ตามลำพังควรขอให้เจ้าหน้าที่รอให้มีผู้ที่เราไว้วางใจเดินทางมาถึงที่ตรวจค้นก่อนจึงอนุญาตให้ค้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการประวิงเวลาเพื่อการอื่น 
4.ควรอนุญาตให้ตรวจค้นทีละห้อง ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้น 
5.เมื่อการตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำรายละเอียดการตรวจค้น ควรให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานและเก็บเอกสารดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม หากการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของบ้านสามารถอ้างสิทธิป้องกันตามกฎหมายได้ 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อยกเว้นหมายค้นนั้น หากเจ้าบ้านยินยอม อาจไม่ต้องมีหมายค้น ก็สามารถทำการตรวจค้นได้ แต่ผู้ยินยอมต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือคู่สมรส

สำหรับการค้นบ้านพักบิ๊กตำรวจที่เป็นกระแสในระหว่างนี้ ในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบิ๊กคนดังกล่าว หมายค้นก็ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งในขั้นตอนการออกหมายค้น จะต้องมีหลักฐานพอสมควร ที่ทำให้ศาลเชื่อว่ามีบุคคลที่กระทำความผิด หรือมีสิ่งของที่เป็นความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ว่าบ้านพักดังกล่าวจะเป็นของใคร

เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด

3 เหตุผลขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน เพื่อ ‘ปกป้องชีวิตทรัพย์สิน-ล่าสัตว์-การกีฬา’

การใช้ปืนยิงทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีโทษตามกฎหมายสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต แต่เมื่อผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเด็ก เหตุใดผู้ก่อเหตุจึงสามารถมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครองได้

สถิติการครอบครองปืนในประเทศไทยมีมากถึง 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งสิงค์โปร์เป็นประเทศในอาเซียนที่ประชาชนมีปืนในครอบครองน้อยที่สุดเพียง 20,000 กระบอก

ในประเทศไทยหากต้องการมีปืนสักกระบอก ต้องทำอย่างไรบ้าง และจะมีปืนไว้เพื่อประโยชน์อะไร

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการครอบครองปืนของประชาชน ทำให้รัฐสามารถควบคุม เก็บข้อมูลและและเป็นการจำกัดจำนวนของปืนที่มีอยู่ในประเทศไทย

หากประชาชนทั่วไปจะมีปืนสักกระบอกต้องเป็นไปเพื่อ 
1.ป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน 
2.ใช้ล่าสัตว์ 
3.เพื่อการกีฬา

ใบอนุญาตเกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญได้แก่ 
-การขออนุญาตซื้อขายปืน (แบบ ป.3)

-การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) มีสองประเภทคือชั่วคราว 6 เดือน และแบบถาวร

-ใบพกพา ทั่วราชอาณาจักร หรือในเขตจังหวัด (แบบ ป.12)

การพกพาอาวุธปืนไปในทางหรือที่สาธารณโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะเป็นปืนที่มีทะเบียนก็เป็นความผิด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น การใช้ป้องกันทรัพย์สิน หรือการนำปืนไปใช้ในการแข่งขันกีฬา

ยกเว้นอาวุธสงคราม ที่จะไม่มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถครอบครองได้

ปืน BB GUN หรือปืน แบลงค์ กัน ถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน หมายถึง สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงชื่อว่าเป็นอาวุธปืน การจะมีไว้ครอบครองไม่ต้องขออนุญาตเหมือนปืนจริง

ถึงเวลาแล้วที่การให้มีใบอนุญาตครอบครองอาวุธ ควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การกำหนดระยะเวลาใบอนุญาต การประเมินสภาพจิตก่อนออกใบอนุญาต เพื่อให้การควบคุมจำนวนปืน เป็นประโยชน์ในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสุจริตชน

ไขข้อข้องใจ!! หลากวิธีที่อาจส่อคุกคามทางเพศ แม้ 'ชมหยอก' แต่อีกฝ่าย 'หวาดกลัว-อับอาย' เท่ากับเสี่ยง

อุปนิสัย ใจคอของคนไทยเรา เป็นคนใจดี ร่าเริง สนุกสนาน ยิ้มง่าย การพูดจาหยอกล้อ ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม พฤติกรรมเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน 

แต่ในบางครั้ง เมื่อผู้พูดมีเจตนาไปในทางไม่เหมาะสม เช่นการพูดเรื่องสองแง่ สองง่าม พูดตลกเรื่องเพศ คู่สนทนาอาจไม่ได้มีความรู้สึกคล้อยตามคำพูดต่าง ๆ ของผู้พูด และทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือเกิดความกลัว สิ่งเหล่านี้จะถือเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้ฟังหรือไม่ และมีโทษทางกฎหมายอย่างไร

ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดเกี่ยวกับความผิดทางเพศไว้ 4 ประเภทได้แก่ 

1.ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา  
2.ความผิดฐานกระทำอนาจาร 
3.ความผิดฐานค้าบุคคลเพื่อความใคร่ 
4. ความผิดฐานค้าสิ่งลามกอนาจาร 

ความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่มีบททั่วไป วางเกณฑ์กว้าง ๆ ไว้ว่า ถ้ากระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคามหรือ กระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ จะเป็นความผิดและมีโทษ 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ก็จะได้รับโทษหนักขึ้น 

และหากอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะผู้บังคับบัญชาชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจที่เหนือ ประการอื่น ก็จะต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก

การคุกคามทางเพศมีหลายวิธีการ เช่น การคุกคามทางเพศทางวาจาเช่น “ห้องพี่ว่างนะ” “มีค่าเทอมรึยัง”   การคุกคามทางเพศโดยการสัมผัสร่างกาย เช่น การตั้งใจยืนเบียดบนรถโดยสาร การคุกคามทางเพศโดยกิริยาท่าทาง เช่น การแสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผิวปากแซว หรือการคุกคามทางเพศทางออนไลน์ เช่นการส่งรูปเปลือยหรือรูปที่ไม่เหมาะสม ให้ผู้อื่น

ดังนั้น ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ ส่งข้อความชวนคุยเรื่องเพศ ถึงทีมงานหาเสียงในสังกัดของท่าน ที่เป็นสุภาพสตรี ไม่ว่าจะเกิดจากการ ‘ชมหยอก’ หรือเจตนาอื่น ซึ่งทำให้สุภาพสตรีท่านนั้น รู้สึกหวาดกลัว อับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ คนส่งอาจจะสนุกฝ่ายเดียว แต่ผู้รับคงไม่รู้สึกสนุกด้วย  และอาจมีความผิดตามกฎหมาย 

‘การละเมิดอำนาจศาล’ พฤติกรรมน่าละอายที่ไม่ควรกระทำ ‘วิวาท-โวยวาย-ดูหมิ่น-ฝ่าฝืนกฎ’ เสี่ยงนอนคุกนาน 6 เดือน

ประชาชนทั่วไป ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ คงไม่มีใครอยากไปศาล ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า ‘ให้กินของไม่ดียังดีกว่าเป็นความหรือมีคดี’ อาจจะเพราะความเชื่อที่ว่า ไปศาลจะได้พบกับบรรยากาศที่น่ากลัว เข้มขลัง มีกฎระเบียบมากมาย หากไปเผลอทำผิดกฎต่าง ๆ ก็อาจจะมีความผิด

คำว่า ‘ศาล’ ในที่นี้มีความหมาย 2 อย่าง หมายถึงตัวผู้พิพากษา และยังหมายถึงสถานที่อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการศาลยุติธรรม

การละเมิดอำนาจศาลนั้น หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ไปทำให้ เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะเกิดภายในบริเวณศาล หรือเกิดขึ้นภายนอกบริเวณศาล แต่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เรียบร้อยต่อกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล มีขึ้นเพื่อให้การใช้อำนาจตุลาการ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว

โดยมีการกำหนดไว้ว่าศาลอาจออกข้อกำหนดสำหรับคู่ความหรือบุคคลที่มาอยู่ต่อหน้าศาล หรือการละเมิดอำนาจศาลของหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ เช่น การสั่งห้ามโฆษณา ซึ่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม หากผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ฝ่าฝืนก็จะมีความผิด

บทลงโทษสำหรับข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีทั้งการไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรืออาจจะลงโทษทั้งสองวิธีการ 

อย่างไรก็ตามศาลอื่น ๆ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทหาร ต่างมีข้อกำหนดหรือกฎหมายในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นการเฉพาะของแต่ละศาล แต่ก็มีหลักการคล้าย ๆ กันกับศาลยุติธรรม

ตัวอย่างของการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล เช่น อ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษา, นำยาบ้าไปส่งมอบให้ผู้ต้องหาในศาล, ฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาล, พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณศาล, ทะเลาะวิวาทชกต่อยกันในห้องพิจารณาคดี, ลงข้อความในสิ่งพิมพ์เปรียบเปรยว่าผู้พิพากษาให้เลื่อนคดีโดยไม่เป็นธรรม, ปลอมลายมือชื่อมาขอประกันตัว ฯลฯ

เนื่องจากในบริเวณพื้นที่ศาลเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนทั่วไปผู้มีอรรถคดีเดินทางมาเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ แม้เป็นสถานที่สาธารณะ แต่ก็ต้องมีกฎระเบียบ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากมีการประพฤติตน ในบริเวณศาล ซึ่งมีลักษณะไม่เรียบร้อย ตะโกนด่าทอด้วยเสียงดัง อันมีลักษณะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ก็อาจถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ตามที่กฎหมายกำหนด

‘ผู้ค้ำประกันรถยนต์’ ต้องรู้!! กรณี ‘ผู้เช่าซื้อ’ ไม่ส่งค่างวด หากถูกฟ้อง ต้อง ‘ตั้งสติ-ไปศาลตามนัด’ รักษาสิทธิตนเอง

การเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และเกื้อกูลกัน เป็นจุดเด่นที่ดีอย่างหนึ่งของสังคมไทย และคนไทยมักจะถูกสอนให้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ โดยบางครั้งก็ไม่ได้คิดให้รอบคอบว่า ตนเองจะได้รับผลร้ายจากความมีน้ำใจนั้น

การขอให้ช่วย ‘ค้ำประกันหนี้’ ให้ เป็นสถานการณ์ซึ่งหลายท่านเคยประสบมากับตนเอง หลีกเลี่ยงได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ทักษะการเอาตัวรอดของแต่ละบุคคล

กรณีที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในบทความนี้ คือ ‘ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์’ ซึ่งมักพบว่าตนเองถูกทวงหนี้จากไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อรถยนต์ ทั้งทางโทรศัพท์ หรือถูกทวงถามเป็นหนังสือไปถึงที่พักอาศัย ทำให้เกิดความเดือดร้อน อับอาย ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง

เมื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์ ผิดนัดไม่จ่ายค่างวด เจ้าหนี้จะเริ่มทวงถามไปที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ซึ่งในความเป็นจริง ส่วนใหญ่แล้วผู้เช่าซื้อมักจะหลบหน้า ปิดโทรศัพท์หนีหาย ปล่อยให้ผู้ค้ำประกันรับเคราะห์ตามลำพัง

ต่อมาหากถูกฟ้องเป็นคดี ให้ผู้ค้ำประกัน ‘ตั้งสติ’ ให้ดี และอ่านคำฟ้องให้ละเอียด

ให้ดูว่าถูกฟ้องที่ศาลไหน ต้องไปขึ้นศาลวัน เวลาใด ลายเซ็นในสัญญาค้ำประกันใช่ของเราหรือไม่ 

ทำสัญญากันตั้งแต่ปี พ.ศ.ไหน นับถึงวันฟ้องเกินอายุความ 10 ปี หรือไม่

เนื้อหาคำฟ้องดังกล่าว เป็นการฟ้องเรียกรถคืน หรือการฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์กรณีเจ้าหนี้ได้รถคืนไปแล้ว แต่เป็นการนำรถไปประมูลขายแล้วได้รับความเสียหาย หรือที่เรียกว่า ‘ขายขาดทุน’

มีการทวงถามมายังผู้ค้ำประกันเมื่อใด ภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้เบี้ยวค่างวดหรือไม่ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ทวงถามเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ค้ำจะหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดค่าดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าขาดประโยชน์ 

แต่ถ้าท่านอ่านฟ้องแล้วไม่เข้าใจ อาจจะไปขอคำปรึกษาจากผู้รู้หรือทนายความ

สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบว่าตนเอง ถูกฟ้องเป็นคดี อย่าเพิกเฉย ควรไปศาลตามวันนัดเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล มีขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ให้ความเป็นธรรม แก่ลูกหนี้ ทุกขั้นตอน 

ขอเพียงท่านแสดงตัว และไปศาลตามกำหนดนัด เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตนเอง

อย่าหนี้ อย่าเงียบเด็ดขาด!!

สุภาษิตว่าไว้ ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่หาก ‘ตี’ เกินกว่าเหตุ เสี่ยงนอนคุกยาวๆ

ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันครอบครัว แต่หากให้ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ‘มากจนเกินไป’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ‘ความรุนแรง’ ในครอบครัวได้

การอบรมสั่งสอนลูก หรือบุคคลในครอบครัว หากเกินขอบเขต ถึงขนาดการทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ จนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้กระทำอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (หลายคนคิดว่าทำได้ ไร้ความผิด)

คราวนี้จะต้องมาทำความเข้าใจในคำว่าความรุนแรงในครอบครัวเสียก่อน 

ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง ความรุนแรงที่พ่อ แม่ กระทำต่อลูก หรือสามีกระทำต่อภรรยา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทั้งที่มีผลกระทบต่อร่างกาย หรือจิตใจ

บุคคลในครอบครัว หมายถึง สามี ภรรยา บุตร อดีตสามี/ภรรยา หรือญาติที่พักอาศัยอยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน

หากฝ่าฝืน ผู้ที่กระทำความรุนแรงอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 

ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอาจจะมีคำสั่งใด ๆ เพื่อกำหนดมาตรการและเหตุบรรเทาทุกข์ ให้ผู้กระทำหยุดการกระทำรุนแรงดังกล่าวต่อไปอีก หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้กระทำความรุนแรง อาจถูกให้ใช้วิธีฟื้นฟู บำรุงรักษา หรือคุมความประพฤติ ห้ามใช้ความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก

หากภายหลังผู้กระทำความรุนแรง และบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ อาจตกลงยอมความกัน ซึ่งหากสามารถทำข้อตกลงและอยู่ร่วมกันต่อไปได้ อาจมีการถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องได้ และถือเป็นความผิดอันยอมความได้

เนื่องจากความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน กฎหมายจึงกำหนด วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง มีขั้นตอนแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไข ความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

รู้จัก พ.ร.บ. 2546 กฎหมายของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ หากยังไม่เกิน 18 ต้องระแวดระวังและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนสถิติเด็กนักเรียนในประเทศประมาณ 6.5 ล้านคน 

ในกระแสแห่งโลกดิจิทัล เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ทั้งสะดวก และมีราคาถูก ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านมืด การสอดส่อง ดูแล คอยให้คำปรึกษาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และทำให้เด็กสามารถเจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในภายหน้า 

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกัน การปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม

โดยกำหนดให้ เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี เว้นแต่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในระดับชาติและในระดับจังหวัด การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ มีข้อกำหนดการให้ความช่วยเหลือ วิธีการสงเคราะห์เด็ก เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูต่อไป

เด็กที่ได้รับการทารุณกรรม ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก มีการแยกตัวเด็กจากผู้กระทำ และต้องได้รับเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจเด็กอย่างเร่งด่วน

มีข้อกำหนดห้ามมิให้กระทำการใด ๆ กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เช่น การทารุณกรรมเด็ก การละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพ การบังคับขู่เข็ญให้เด็กไปเป็นขอทาน การแสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากเด็ก การยินยอมให้เด็กเล่นการพนัน เข้าไปในสถานที่ต้องห้าม หรือการขายสุราหรือบุหรี่ให้แก่เด็ก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีข้อกำหนดสำหรับผู้ปกครอง เช่น ห้ามทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงโดยมีเจตนาทิ้งเด็ก ต้องดูและให้สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ห้ามปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต

โลกในอนาคตข้างหน้า เป็นโลกของเด็กในยุคนี้ หากเด็กได้รับการดูแล อบรม ให้การศึกษา ปลูกฝังการรู้จักหน้าที่และเคารพในสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมของโลกยุคหน้าย่อมเป็นสังคมที่ดี ผู้คนจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแน่นอน

ธุรกิจสถานบริการ แหล่งสร้างความสุข ด้วยอบายมุข  คู่สังคมไทยแบบไร้กฎหมายคุม ก็แหล่งมั่วสุมดีๆ นี่เอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจสถานบริการนั้น มีมูลค่าเป็นจำนวนมหาศาล และมีความสำคัญกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหลอดเลือดใหญ่ของระบบธุรกิจไทย 

เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจสถานบริการหลายประเภท ที่อาจมีผลกระทบกับศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย หากไม่มีกฎหมายควบคุมจะทำให้เป็นแหล่งอาชญากรรมหรือแหล่งมั่วสุม 

ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 สถานบริการ หมายถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ โดยหวังผลประโยชน์ทางการค้า แบ่งเป็นหลายประเภท...

(1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ เช่น ไนต์คลับ ผับ สถานที่ที่มีฟอร์เต้นรำ 

(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า เช่น โรงน้ำชา 

(3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เช่น อาบอบนวด แต่ไม่รวมถึงสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ  

(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้... 
(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า 
(ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า 
(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม 
(ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง 

(5) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา 

สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ตามคำสั่ง คสช ที่ 22 /2558 และ 46/2559 หมายถึง “...สถานประกอบการที่ไม่ครบองค์ประกอบการเป็นสถานบริการ ตามพระราชบัญญัติสถานบริการฯ แต่มีลักษณะการให้บริการที่เห็นได้ว่าเป็นการรวมกลุ่ม หรือเป็นแหล่งมั่วสุมอันอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ด้วย...”

สถานบริการ ต้องไม่ตั้งอยู่ใกล้ วัด โรงเรียน สถานพยาบาล ในขนาดที่ว่าจะไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่ดังกล่าว

ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในต่างจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ในสถานบริการห้ามมิให้อายุต่ำกว่า 20 ที่ไม่ได้ทำงานในสถานบริการเข้าไปในสถานบริการนั้น ห้ามพกอาวุธ ห้ามขายสุราให้บุคคลที่เมาจนครองสติไม่อยู่ ห้ามปล่อยปละละเลยให้มีการขายหรือใช้ยาเสพติด 

ผู้ที่ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

แม้ธุรกิจสถานบริการ จะมีลักษณะธุรกิจ เกือบจะตรงข้ามกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย แต่หากเราเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย และเดินทางสายกลางเพื่อให้ธุรกิจและความเชื่อสามารถเดินคู่กันได้ อย่างสงบเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติของเรา

หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top