ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะ ฉายา ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซีย ผู้ปฏิวัติความปลอดภัยและยกระดับประสิทธิภาพระบบการบินของโลก

‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะแห่งอินโดนีเซีย

‘ประธานาธิบดี’ เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) และในอีกหลายประเทศที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร ได้แก่ อินโดนีเซีย
.
หากนึกถึงประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้คนอาจนึกถึงประธานาธิบดีเหล่านี้ อาทิ Abraham Lincoln, John F. Kennedy, Nelson Mandela หรือ Barack Obama แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรในสาขาการบินถึง 46 ฉบับ เขาผู้นั้น คือ ‘Bacharuddin Jusuf Habibie’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1998-1999)

‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ เกิดเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1936 จังหวัดซูลาเวซีใต้ ขณะนั้นอินโดนีเซียยังเป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (เนื่องจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) หลังจากจบการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง แล้ว ประธานาธิบดี Habibie ได้เดินทางไปยังเมือง Delft ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาการบินและอวกาศที่ Technische Hogeschool Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft) แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (กรณีพิพาทนิวกินีตะวันตก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย) เขาจึงต้องย้ายไปศึกษาต่อที่ Technische Hochschule Aachen (มหาวิทยาลัย RWTH Aachen) ในเมือง Aachen ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดี Habibie ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเยอรมนี (Diplom-Ingenieur) และยังคงอยู่ในเยอรมนีในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยของ ‘Hans Ebner’ ที่ Lehrstuhl und Institut für Leichtbau, RWTH Aachen เพื่อทำการวิจัยในระดับปริญญาเอก

‘ประธานาธิบดี Habibie’ แต่งงานกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962

ในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี Habibie ได้ลาหยุดเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเวลานี้เองที่ เขาได้พบกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ เพื่อนในวัยเด็กสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ SMA Kristen Dago (โรงเรียนมัธยม Dago Christian) เมืองบันดุง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 และเดินทางกลับเยอรมนี หลังจากนั้นไม่นาน Habibie และภรรยาของเขา ก็ได้ตั้งรกรากในเมือง Aachen ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังเมือง Oberforstbach ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 โดยพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ ‘Ilham Akbar Habibie’

ต่อมา ประธานาธิบดี Habibie ได้ร่วมงานกับบริษัทค้าหุ้นการรถไฟ ‘Waggonfabrik Talbot’ ซึ่งเขาได้เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบตู้รถไฟ ในปี ค.ศ. 1965 ประธานาธิบดี Habibie ทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้รับคะแนน ‘ดีมาก’ ทำให้เขาได้รับ ‘Doktoringenieur’ (Dr.-Ing.) ในปีเดียวกันนั้น เขายอมรับข้อเสนอของ Hans Ebner ที่จะวิจัยต่อเกี่ยวกับ Thermoelastisitas และทำงานด้าน Habilitation แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเข้าร่วมกับ RWTH ในตำแหน่งศาสตราจารย์ วิทยานิพนธ์ของเขานั้นยังดึงดูดข้อเสนอการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เช่น Boeing และ Airbus ซึ่งประธานาธิบดี Habibie ก็ได้ปฏิเสธอีกครั้ง

‘ประธานาธิบดี Habibie’ ได้ร่วมงานกับ ‘Messerschmitt-Bölkow-Blohm’ ในเมือง Hamburg ที่นั่น เขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหพลศาสตร์ การก่อสร้าง และอากาศพลศาสตร์ที่เรียกว่า ‘อุณหพลศาสตร์’ (Habibie Factor) เขามีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ‘Airbus A-300B’ ในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท ในปี ค.ศ. 1974 ‘ประธานาธิบดี Suharto’ ได้ขอให้เขากลับไปยังอินโดนีเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศ

ในตอนแรก ประธานาธิบดี Habibie ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพิเศษของ ‘Ibnu Sutowo’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันของรัฐ Pertamina และประธานหน่วยงานเพื่อการประเมินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Badan Pengkajian dan Penerapan Teknologi (BPPT)) อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ ‘Industri Pesawat Terbang Nurtanio’ (IPTN) หรือ ‘Nurtanio Aircraft Industry’ โดยในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Industri Pesawat Terbang Nusantara’ (Nusantara Aircraft Industry หรือ ‘IPTN’) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Indonesia Aerospace’ (PT. Dirgantara Indonesia) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000


เครื่องบินโดยสาร ‘N-250 Gatotkaca’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเพียง 2 ลำ

ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี (Menteri Negara Riset dan Teknologi, Menristek) แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ‘เชิงกลยุทธ์’ ของ IPTN โดยในช่วงทศวรรษ 1980 IPTN เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเชี่ยวชาญด้านการผลิตเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ Puma และเครื่องบิน CASA และเป็นผู้บุกเบิกออกแบบและสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ‘N-250 Gatotkaca’ ในปี ค.ศ. 1995 แต่โครงการนี้ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Habibie ได้นำแนวทางที่เรียกว่า ‘เริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดและสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น’ วิธีการนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การวิจัยขั้นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่การผลิตเครื่องบินจริงถือเป็นวัตถุประสงค์แรกที่สำคัญที่สุด

ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี Habibie ก็ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Suharto ซึ่งลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งมา 32 ปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงจุดสังเกตในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิรูป

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้เปิดให้กฎหมายสื่อและพรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีอิสระเสรีมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนกำหนดถึง 3 ปี ซึ่งส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสิ้นสุดลง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 517 วันและรองประธานาธิบดี 71 วัน ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดี Habibie ต้องประสบพบเจอกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
• การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
• การถูกโจมตีว่าเขาไม่สามารถก้าวพ้นจากอำนาจของประธานาธิบดี Suharto ได้
• ไม่มีฐานการเมืองมาสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ ‘พรรคกลการ์’ (Golkar : Partai Golongan Karya) ของอดีตประธานาธิบดี Suharto ไม่ได้ให้การสนับสนุนเขา 
• การลดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหาร และห้ามข้าราชการทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่ให้การสนับสนุนเขา
• เรื่องทุจริตอื้อฉาวเกิดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารบาหลี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าลูกชายของเขามีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ประธานาธิบดี Habibie ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในเรื่องการจัดการกับปัญหา ‘ติมอร์ตะวันออก’ แม้ว่า ประธานาธิบดี Habibie จะไม่เห็นด้วยกับการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช แต่เขาเห็นสมควรว่า ชาวติมอร์ตะวันออกควรลงประชามติเลือกว่าจะอยู่กับอินโดนีเซียต่อไปหรือเป็นเอกราช ซึ่งท้ายที่สุด ชาวติมอร์ตะวันออกก็ต้องการเป็นอิสระ ประธานาธิบดี Habibie จึงให้เอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก จนทำให้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจ ด้วยมองเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชาติ

รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของประธานาธิบดี Suharto รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie มีท่าทีประนีประนอมต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจลาจลในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของสถานะทางชนชั้นในเรื่องเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Habibie ได้ออก ‘คำสั่งของประธานาธิบดี’ ห้ามใช้คำว่า ‘pribumi’ และ ‘non-pribumi’ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างชาวอินโดนีเซียพื้นถิ่น และชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น

และสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกันเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดี B.J. Habibie ก็คือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ค้นพบทฤษฎีที่ก้าวล้ำ ซึ่งปฏิวัติความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องบิน จนได้รับฉายาว่า ‘Mr.Crack’ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ที่สามารถออกแบบวิธีคิดคำนวณรอยแตกร้าวบนโครงสร้างโลหะของเครื่องบิน ประธานาธิบดี Habibie มีระดับ IQ (Intelligence Quotient) ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่า IQ ของ ‘ประธานาธิบดี John Quincy Adams’ ที่มีระดับ IQ ประมาณ 175 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน

นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดี Habibie ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของ ‘สมาคมปัญญาชนมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย’ (ICMI) ในปี ค.ศ. 1990 และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างเครื่องบินเป็นลำแรกในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้รับตำแหน่ง ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซียด้วย

เครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่งที่ออกแบบและผลิตโดย ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) 

ในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ก่อตั้ง ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) บริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่ง และได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 150 ลำ

ประธานาธิบดี Habibie ผู้เป็นยอดอัจฉริยะทางวิศวกรรมการบิน เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เพียงสมัยเดียว เพราะความอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงตรรกะแห่งความจริงและความถูกต้องทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้ และทุกประเทศบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นเช่นนั้น

พิธีฝังศพของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata

ช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารบก Gatot Soebroto เนื่องจากเขาเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม’ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Habibie รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน (12-14 กันยายน ค.ศ. 2019) และประกาศลดธงชาติอินโดนีเซียครึ่งเสา

ประธานาธิบดี B.J. Habibie เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนแรกที่ได้รับการฝัง ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata เคียงข้างหลุมฝังศพของแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun Habibie’ ผู้เป็นภรรยาของเขา


อนุสาวรีย์ของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ใกล้กับท่าอากาศยาน Jalaluddin จังหวัด Gorontalo


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล