‘The Five Eyes’ ปฏิบัติการล้วงความลับระดับโลก สอดส่องคนดังทุกวงการไม่ให้เล็ดรอดสายตา

FVEY (The Five Eyes) : ชุมชนข่าวกรองเนตรทั้ง 5

ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความของผมมาโดยตลอด บางท่านหรือหลายท่านก็อาจจะรู้จักหรือได้ยินเรื่องราวของ ‘The Five Eyes (FVEY)’ ซึ่งเป็นชุมชนข่าวกรองของ 5 ชาติ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาคีของข้อตกลงพหุภาคี สหราชอาณาจักร – สหรัฐอเมริกา (UKUSA Agreement) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาอันเป็นข้อตกลงพหุภาคีตั้งต้นสำหรับความร่วมมือด้านข่าวกรองสัญญาณระหว่าง 5 ประเทศดังกล่าว พันธมิตรของปฏิบัติการข่าวกรองเป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘The Five Eyes’ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า ‘FVEY’ โดยแต่ละประเทศจะถูกเรียกด้วยชื่อย่อว่า AUS, CAN, NZL, GBR และ USA

ปี ค.ศ.1941 ‘The Atlantic Charter’ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับได้รับการต่ออายุโดยผ่านข้อตกลง ‘BRUSA’ ปี ค.ศ.1943 ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1946 โดยเริ่มจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมามีการขยายครอบคลุมถึง แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในฐานะ ‘บุคคลที่สามหรือผู้สังเกตการณ์’ เช่น เยอรมนีตะวันตก ฟิลิปปินส์ ประเทศกลุ่มนอร์ดิกหลายประเทศ เข้าร่วมชุมชน ‘UKUSA’ ในฐานะภาคี แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำหรับการแบ่งปันข่าวกรองโดยอัตโนมัติที่มีอยู่ตั้งแต่การก่อตั้งในปี ค.ศ.1946 พันธมิตรเกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ 5 ประเทศ ประกอบด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติเหล่านั้นได้แก่ National Security Agency (NSA) ของสหรัฐฯ, (GCHQ) ของสหราชอาณาจักร, (ASD) ของออสเตรเลีย, (CSEC) ของแคนาดา และ (GCSB) ของนิวซีแลนด์ ซึ่งประกอบด้วยข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและการแบ่งปันข่าวกรอง แม้ว่าข้อตกลงเหล่านี้มักเรียกกันทั่วไปว่า “เป็นข้อตกลง United Kingdom-United States Communication Intelligence Act (UKUSA)” เป็นองค์กรพหุภาคีในความร่วมมือร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารและข่าวกรองโดยเจ้าหน้าที่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอกสารของ FVEY แสดงให้เห็นว่า มีการจงใจในการสอดแนมพลเมืองของกันและกัน และแบ่งปันข้อมูลที่เก็บรวบรวมซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งมีความเข้มงวดต่อการเฝ้าระวังและการสอดแนมพลเมืองของตนเอง

ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการออกกฎบัตรแอตแลนติก โดยสัมพันธมิตรในการกำหนดเป้าหมายของพวกเขาสำหรับโลกหลังสงครามครั้งที่ 2 ในช่วงสงครามเย็น ระบบการเฝ้าระวัง ‘ECHELON’ เป็นโครงการเฝ้าระวังเครือข่ายการรวบรวมและวิเคราะห์สัญญาณ (SIGINT) ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย FVEY ในตอนแรกเพื่อตรวจสอบการสื่อสารของอดีตสหภาพโซเวียต และกลุ่มประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ตัวตนของ ECHELON ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้เกิดการอภิปรายครั้งใหญ่ในรัฐสภายุโรปและรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา และ FVEY ได้ขยายขีดความสามารถในการสอดแนมเฝ้าระวังในช่วง ‘สงครามกับความหวาดกลัว’ โดยเน้นที่การตรวจสอบเวิลด์ไวด์เว็บ (www.) เป็นอย่างมาก ‘Edward Snowden’ ผู้สร้าง wikileaks อดีตผู้รับจ้างของ NSA อธิบายว่า Five Eyes เป็น ‘องค์กรข่าวกรองระดับชาติ ที่ไม่ตอบโจทย์ของกฎหมายที่เป็นที่รู้จักในประเทศของตน’ เอกสารที่รั่วไหลโดย Snowden ในปี ค.ศ. 2013 เปิดเผยว่า “FVEY กำลังสอดแนมพลเมืองของกันและกัน และแบ่งปันข้อมูลที่รวบรวมซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบภายในประเทศที่เข้มงวดในการสอดส่องตรวจสอบพลเมือง” แม้จะมีการโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิธีการของ FVEY แต่ความสัมพันธ์ของ FVEY ยังคงเป็นพันธมิตรชุมชนข่าวกรองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เนื่องจากหน่วยข่าวกรองประมวลผลข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากหลายแหล่งข้อมูล ดังนั้น ข่าวกรองที่ใช้ร่วมกันจึงไม่จำกัดเฉพาะสัญญาณข่าวกรอง (Signal Intelligence (SIGINT) คือ การใช้อุปกรณ์ดักรับดักฟังการสื่อสาร การตัดการสื่อสาร การแปลงข่าวสารให้มีข้อความที่เปลี่ยนไป) และเกี่ยวข้องกับข่าวกรองด้านการป้องกัน เช่นเดียวกับหน่วยข่าวกรองที่ปฏิบัติการด้วยเจ้าหน้าที่ (Human Intelligence (HUMINT)) คือ การส่งบุคคลลงพื้นที่เข้าไปหาข่าว เมื่อได้ข้อมูลดิบมา จะมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรองที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น) และหน่วยข่าวกรองปฏิบัติการในเชิงพื้นที่ (ข่าวกรองในรูปแบบข่าวกรองภูมิสารสนเทศ (Geospatial Intelligence (GEOINT))

ในขณะที่ความสามารถในการเฝ้าระวังสอดแนมของ FVEY เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ระบบเฝ้าระวังทั่วโลกจึงได้รับการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดักจับการสื่อสารของประชากรทั้งหมดที่ข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ บรรดาบุคคลต่อไปนี้เป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งของ FVEY โดยเป็นบุคคลสาธารณะในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลของบุคคลที่อยู่ในรายชื่อจึงต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่มีข้อมูลครบถ้วนตามแหล่งที่มา ซึ่งเชื่อถือได้ เช่น เอกสาร FVEY ที่รั่วไหล หรือไม่ถูกจัดประเภท หรือบัญชีผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นเป้าหมายโดยเจตนาในการสอดแนมเฝ้าระวัง

ยอดดาราตลกชาวอังกฤษอย่าง ‘Charlie Chaplin’ เองก็เคยถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘MI5’ และ ‘FBI’ เขาเป็นทั้งนักแสดงตลก ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคเงียบ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่ MI5 ที่ทำหน้าที่ภายใต้การดูแลของ FBI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพื่อเนรเทศเขาออกจากสหรัฐอเมริกา

‘Diana, Princess of Wales’ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สัญชาติอังกฤษ ผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านการใช้กับระเบิดระหว่างประเทศ ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘GCHQ’ และ ‘NSA’ ซึ่งเก็บไฟล์ข้อมูลลับสุดยอดไว้มากกว่า 1,000 หน้า อีกทั้ง NSA ไม่ได้เผยแพร่ไฟล์ข้อมูลลับของ Princess Diana ด้วยเหตุผลจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

‘Kim Dotcom’ สัญชาติฟินแลนด์และเยอรมัน ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ‘FBI’ และ ‘GCSB’ นักธุรกิจผู้ประกอบการธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต และเป็นนักแฮ็กข้อมูล ชื่อสกุลเดิมของเขาคือ Kim Schmitz เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริการเว็บโฮสต์ ‘Megaupload’ โดย Dotcom ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในนิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรี ‘John Key’ ต้องออกมาขอโทษในภายหลัง สำหรับการสอดแนมเฝ้าระวังที่ผิดกฎหมายของ GCSB

‘Jane Fonda’ สัญชาติอเมริกัน นักแสดง นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีตนางแบบแฟชัน เป็นผู้รับรางวัลออสการ์สองรางวัล รางวัลเอ็มมี และลูกโลกทองคำสามรางวัล ถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย GCHQ และ NSA เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการสื่อสารของเธอ รวมถึง ‘Tom Hayden’ สามีของเธอจึงถูกขัดขวางโดย GCHQ และต่อมาภารกิจดังกล่าวถูกส่งมอบให้กับ NSA เพื่อปฏิบัติการต่อ

‘Ali Khamenei’ นักบวชชีอะห์และอดีตประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน ปัจจุบันเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศอิหร่าน ในระหว่างการเยือนประเทศเคอร์ดิสถานในปี ค.ศ. 2009 เขาและผู้ติดตามถูกกำหนดเป็นเป้าหมายที่ถูกสอดแนมเฝ้าระวัง ภายใต้ภารกิจจารกรรมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ไฮเทค ในการวิเคราะห์และประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียม เป็นปฏิบัติการร่วมกันโดย GCHQ และ NSA

‘John Lennon’ นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักร้องนำวง ‘The Beatles’ สัญชาติอังกฤษ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการต่อต้านสงครามผ่านบทเพลงที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์หลายเพลง เช่น Give Peace a Chance และ Happy Xmas (War Is Over) ในปี ค.ศ.1971 เขาย้ายไปนิวยอร์กซิตีและร่วมกับ นักเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกา เพื่อประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม อีก 12 เดือนต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มปฏิบัติการสอดแนมเฝ้าระวังอย่างกว้างขวาง เพื่อตรวจสอบกิจกรรมของเขา เพื่อส่งตัวเขากลับอังกฤษ การดำเนินการดำเนินการโดย FBI ด้วยความช่วยเหลือของ MI5

‘Nelson Mandela’ นักเคลื่อนไหว ทนายความ และผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1994 ถึงปี ค.ศ.1999 Nelson Mandela ถูกนักวิจารณ์ประณามว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และอยู่ภายใต้การสอดแนมเฝ้าระวังของ MI6 ใน ค.ศ. 1962 Mandela ถูกจับกุมหลังจากปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในเรื่องกิจกรรมการก่อการร้ายของเขา ที่ถูกรวบรวมโดย ‘CIA’ และส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

‘Angela Merkel’ นักการเมือง อดีตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ปี ค.ศ.2005-2021 ถูกดังฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์โดย ‘Special Collection Service’ (SCS หน่วยตรวจสอบเฝ้าฟัง F6 ของ NSA และ CIA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมเฝ้าระวัง ‘STATEROOM’ ของ FVEY

‘Ehud Olmert’ นักการเมือง นักกฎหมาย และอดีตนายกเทศมนตรีของนครเยรูซาเล็ม และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของอิสราเอล เขาพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ‘Ehud Barak’ ถูกระบุว่า อยู่ในรายชื่อเป้าหมายการสอดแนมเฝ้าระวังของ GCHQ และ NSA ด้วย

‘Strom Thurmond’ ผู้สมัครเข้าการรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรค Dixiecrat ในปี ค.ศ.1948 เขาเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐเซาท์แคโรไลนาในวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา และได้รับการยอมรับในปี ค.ศ.2003 ว่าเป็นวุฒิสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1988 ‘Margaret Newsham’ ซึ่งเป็นพนักงานของ Lockheed เปิดเผยในการสอบสวนเป็นการลับของรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า “โทรศัพท์ของ Thurmond ถูกดักฟังโดย FVEY ผ่านระบบเฝ้าระวัง ECHELON”

‘Susilo Bambang Yudhoyono’ อดีตหัวหน้าผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ของกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในบอสเนีย และอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และภรรยาของเขาเคยถูกสอดแนมเฝ้าระวังโดย ASD ซึ่งปฏิบัติการร่วมกับ NSA

ปัจจุบันข้อตกลงการแบ่งปันข่าวกรอง ซึ่งได้ขยายไปมากกว่า FVEY เพื่อร่วมงานกับหน่วยข่าวกรองของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ : 
9 Eyes : นอกเหนือจาก FVEY เพิ่มเติมด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์
14 Eyes : นอกเหนือจาก the 9 Eyes เพิ่มเติมด้วย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี สเปน และสวีเดน

แม้จะมีข่าวว่า ญี่ปุ่นจะเป็นผู้สมัครรายล่าสุดเพื่อเข้าเป็นสมาชิกใน FVEY ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการแบ่งปันข่าวกรองซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่เป็นรัฐ Anglosphere (English Native speaker) ทั้ง 5 ประเทศ แต่ ‘Tsuruoka Michito’ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศเชื่อว่า โตเกียวควรดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากกว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยคำนึงถึง FVEY ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นจะมีความร่วมมือในฐานะพันธมิตรภายนอก แต่ญี่ปุ่นเองก็ต้องการพัฒนางานของหน่วยข่าวกรองครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน และสิ่งซึ่งเราคนไทยต้องพึงระลึกเสมอคือ แม้ว่าไทยเราจะเป็นมิตรกับทุกประเทศสมาชิกของ FVEY ก็ตาม แต่ FVEY ก็พร้อมเสมอที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศ FVEY นั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล