กล่าวหา 'สมเด็จย่า' ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเราทุ่นดำทุ่นแดงจะกล่าวถึงในตอนนี้ น่าจะเป็นประเด็นหลักสุดท้ายที่พวกเราจะกล่าวถึง (หากยังไม่มีการตรวจสอบและพบจุดผิดพลาดเพิ่มเติมอีก) ซึ่งประเด็นนี้สำคัญไม่น้อยต่อการวิเคราะห์และประเมินการใช้หลักฐานในการอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งได้ส่งผลมาสู่การพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างกระแสความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งต้นเรื่องดังกล่าวพบว่ามีที่มาจากการที่ณัฐพล ใจจริง ได้กล่าวในวิทยานิพนธ์และหนังสือของเขาเรื่อง ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ จนเกิดการนำไปสู่การอ้างอิงต่อ ๆ กันอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน โดยพวกเราจะแยกโพสต์ออกเป็นสองโพสต์ โพสต์แรกคือกรณีสมเด็จย่า และโพสต์ที่สองคือกรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหารก่อนล่วงหน้า 2 เดือน

1. ข้อความของณัฐพลในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) หน้า 64 

ณัฐพล ได้ระบุข้อความว่า “สถานทูตอังกฤษได้รายงานผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ [พ.ศ. 2490] ว่า คือ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล” (โดยส่วนนี้ ณัฐพล อ้างอิงจาก Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3.) 

และได้ระบุข้อความต่อจากประโยคข้างต้นว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร” (ณัฐพล อ้างจาก หนังสือพิมพ์เอกราช, 10 พฤศจิกายน 1947)

ส่วนในหนังสือ ขุนศักดินา และพญาอินทรี (2563) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วก็ควรไปปรากฏอยู่ที่หน้า 61 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนเดียวกันกับในวิทยานิพนธ์ แต่ ณัฐพล กลับได้ตัดทิ้งข้อความในทั้ง 2 ประเด็นนี้ออกไป! ซึ่งพวกเราขอให้จำส่วนนี้ไว้ให้ดีเพราะมันจะกลับมามัดการใช้หลักฐานของณัฐพลเสียเอง

2. ข้อค้นพบในหลักฐานชิ้นแรกที่ณัฐพลอ้าง คือ Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” หน้าที่ 3 พวกเราได้ตรวจสอบงานชิ้นดังกล่าว โดยในงานชิ้นนี้ได้ระบุข้อความว่า…

“If, as it appeared, the coup was backed by the Princess Mother, Allen noted, ‘it behaves us to be doubly careful in condemning it – since one of its consequences may be something we have all along hoped for, namely the return of the young king […] his absence having been a serious factor in the instability of the country during the last eighteen months’.”

ซึ่งแปลได้ว่า “อย่างไรเสีย, มันดูเหมือนว่า, การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนโดยพระราชชนนี, อัลเลนได้บันทึกไว้ว่า, ‘เราเองก็ควรจะระมัดระวังในการประณามการรัฐประหาร เพราะอาจจะทำให้สิ่งที่เราคาดหวังมาตลอด, คือการเสด็จนิวัตพระนครของยุวกษัตริย์ […] การที่พระองค์ไม่ได้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อที่ความไร้เสถียรภาพตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา” โดยในข้อความนี้ Tarling อ้างมาจากเอกสาร F.O.371/65911 [F15065/1565/40] 

พวกเราจึงได้ไปตามเอกสารต้นฉบับดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติประเทศอังกฤษ และพบข้อความในเอกสารชิ้นนี้ ซึ่งระบุว่า…

“Siamese revolution, which appears to be not merely a stroke of ambition [of] … Pibul, but a concerted move supported by the more conservative members of the Royal Family (including no doubt the Princess Mother who controls the King).”

แปลได้ว่า “การปฏิวัติในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะมิใช่เป็นเพียงความทะเยอทะยานของหลวงพิบูลอย่างเดียว แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าด้วย (ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าหมายรวมถึงพระราชชนนี ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลยุวกษัตริย์ด้วย)”

เมื่อได้ทำการประมวลพร้อมกับหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้ไปสืบค้นเพิ่มเติมมา พวกเราจึงตั้งข้อสังเกตต่อการกล่าวอ้างของญัฐพล ดังนี้

1. ในรายงานของอังกฤษฉบับดังกล่าวเป็นรายงานลงวันที่ 8 Jan 1948 (8 มกราคม 2491) โดย Allen ซึ่งทราบจาก Thompson ทูตอังกฤษ

ซึ่งเป็นการรายงานย้อนหลังหลังการเกิดรัฐประหารได้ 2 เดือนแล้ว และหากสมเด็จย่าทรง ‘อยู่เบื้องหลัง’ ดังที่ณัฐพลกล่าวอ้างจากรายงานฉบับนี้ ก็ควรจะปรากฏรายงานเช่นนี้ออกมาให้เร็วกว่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันรัฐประหารหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก) 

อีกทั้ง การ ‘support’ ในที่นี้ยังหมายถึงการ ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้อีกด้วย (de facto) เพราะลองนึกภาพตามจะพบว่าเพียงพระราชชนนีลำพังทำอะไรได้ ในขณะที่อีกฝ่ายของจอมพล ป. มีทั้งปืนและทรัพยากรต่างๆ ? 

อีกทั้งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้แต่ Thompson ยังเคยได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในลอนดอนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2490 (ก่อนการรัฐประหารหลายเดือน) ว่าการกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตอาชญากรสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น “ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย” (Geoffrey F. Thompson, The British Minister in Bangkok, believed that the prospect of Pibul’s return was by no means unlikely.) 

และทูตอังกฤษยังได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “พวกรอยัลลิสต์ยังคงหวาดกลัวจอมพล ป. มิเสื่อมคลาย” (The very fear of him still endures in influential [including Royalists] circles here.) จากเอกสาร F.O. 371/63910, Thompson to Bevin 6 April 1947 อ้างใน Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup, p. 9.

นั่นหมายความว่า การกลับมาของจอมพล ป. (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม) “ไม่ใช่สิ่งที่พวกรอยัลลิสต์ไทยพอใจนัก” สอดคล้องกับพฤติกรรมของคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการบีบบังคับด้วยกำลังแก่กรมขุมชัยนาทฯ ให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 (ที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ชี้ให้เห็นในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวนี้ที่อาจารย์ไชยันต์ได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว) 

2. เมื่อได้ทำการตรวจสอบเอกสารชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นรายงานทั้งของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษ 

พวกเรากลับไม่พบรายงานอื่น ๆ ที่ระบุว่าพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า ‘อยู่เบื้องหลัง’ การรัฐประหารที่จะมาให้น้ำหนักหรือสอดคล้องกับเอกสารชิ้นนี้เลย 

โดยปกติแล้วการทดสอบหลักฐานด้วยการทดสอบไขว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง (crossed check) มักย่อมถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ว่ามีเอกสารใดบ้างกล่าวตรงกัน และได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าวเดียวกันหรือไม่ มีการประเมินความน่าเชื่อถืออย่างไร เช่น กรณีที่กรมขุนชัยนาทฯถูกบังคับให้ลงนามรับรองการรัฐประหารที่พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้เอาหลักฐานชั้นต้นของทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกามาให้ดูเป็นขวัญตาว่ากล่าวตรงกันว่าทรงถูกบังคับจริง ๆ 

จึงกล่าวได้ว่า รายงานนี้เป็นรายงานฉบับเดียวที่ระบุข้อความที่ว่าสมเด็จย่ามีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น ผู้ใดมีใจเป็นนักวิชาการก็ควรจะชั่งน้ำหนักให้มาก เพราะหากหากสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังจริง ก็ควรจะมีรายงานฉบับอื่น ๆ ให้รายละเอียดมาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น 

แต่เรากลับไม่พบหลักฐานต่อเนื่องเหล่านั้นแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเอกสารในช่วงหลังวันปฏิวัติ/รัฐประหาร สด ๆ ร้อน ๆ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การรัฐประหารของไทยในปี 2490 อย่างเป็นภาพรวม โดยระบุว่า “ในความเห็นเบื้องต้น [ของเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย - Thompson] เชื่อว่า การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์” (His preliminary opinion is that coup d’etat is a right-wing movement supported by Royal Family)  (ที่มา F15065/1565/40, 15 November 1947)

จึงกล่าวได้ว่า ข้อมูลชุดที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับมานี้ ล้วนแล้วแต่มาจาก Thompson เพียงคนเดียวนั่นเอง และข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ก็ได้ไปปรากฏซ้ำในรายงาน F.O.371/65911 [F15065/1565/40] ของ Thompson ในวันที่ 8 มกราคม 2491 หรือเกือบ 2 เดือนหลังจากเอกสารวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 นั้นเอง กล่าวคือ เป็นเอกสารคำพูดแทบจะ copy เลยทีเดียว หากแต่รอบหลังมีการอ้างถึงสมเด็จย่ามาด้วยเท่านั้น!

3. จะเห็นได้ว่าในงานเขียน Tarling ซึ่งได้อ้างอิงจากเอกสารอังกฤษชิ้นเดียวกันนั้น ทาง Tarling เองก็ได้จงใจใส่อนุประโยคว่า “as it appeared” ซึ่งแปลได้ว่า 

“มันดูเหมือนว่า/ดูราวกับว่า” เข้ามาด้วย ซึ่งถ้าหาก Tarling มั่นใจว่าสมเด็จย่ายู่เบื้องหลังจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องเติมประโยคนี้เข้ามาเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในข้อมูลนี้เลย 

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า Tarling ก็น่าจะเห็นข้อความจากเอกสารชิ้นเดียวกับเรา ที่ระบุเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวของ Thompson (ทูตอังกฤษผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ที่ Tarling นำมาอ้าง และณัฐพลเอามาอ้างต่อ ) ที่สันนิษฐานว่าพระราชชนนีทรงมีส่วนสนับสนุน ด้วยการเลือกใช้คำว่า ‘no doubt’ ที่แปลได้ว่า ‘ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่า…’

4. ควรต้องกล่าวด้วยว่าในเอกสารของอังกฤษเองก็ได้บอกถึงการสนับสนุนหรือการ ‘รับรอง’ ของพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ใช่แค่พระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว แต่ทำไม ณัฐพล จึงเจาะไปที่พระองค์ (ซึ่งรวมไปถึง Tarling ด้วย)

ซึ่งหากติดตามการอธิบายของณัฐพลให้ดี ก่อนหน้านี้เขาพยายามโยนความผิดในการรับรองรัฐประหารไปให้กรมขุนชัยนาทฯ มาโดยตลอด แต่ในประเด็นนี้ณัฐพลกลับจงใจเลือกที่จะพูดถึงสมเด็จย่าเท่านั้น 

5. ในความเป็นจริงแล้ว พระราชชนนีหรือสมเด็จย่าในขณะนั้น ทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไร้อำนาจและเครือข่ายทางการเมืองใด ๆ (เดิมทรงเป็นสามัญชน) จะให้พระองค์สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารอย่างไร? 

และข้อมูลการสนับสนุนให้พระราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมืองนี้ กลับย้อนแย้งกับความพยายามของสมเด็จย่าที่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองมาตลอด (โปรดอ่าน ‘เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์’ ประกอบ)

กรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหาร อ่านต่อไปในโพสต์ถัดไป!!


ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย