Sunday, 5 May 2024
ประวัติศาสตร์ไทย

ศธ. รับนโยบายปรับหลักสูตรปลูกฝังเด็กนักเรียน เน้นรัก ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ หวงแหนแผ่นดินเกิด

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ และมีนโยบาย 8+1 กำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกมา 1 รายวิชา เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน 

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน’ และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา กล่าวว่า ในร่างประกาศ ศธ. ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น หากบอร์ด กพฐ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศ ศธ. จะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยในแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) จะมีการแสดงผลการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

๓ ข้าหลวงต่างพระองค์ ที่ ร.๕ วางพระราชหฤทัย มอบให้ดูแลบ้านเมือง ‘ต่างพระเนตร-พระกรรณ’

ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความเรื่องนี้ ผมกลับมาอยู่บ้านในภาคอีสานพร้อมกับตระเวนไปตามจังหวัดใกล้เคียงบ้านเกิดของผม ซึ่งในอีสานจะมีถนนและสถานที่รำลึกถึงข้าหลวงต่างพระองค์อยู่หลายแห่ง อาทิ หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ถนนสรรพสิทธิ์ จ.นครราชสีมา หรืออย่าง ถนนพิชิตรังสรรค์ จ.อุบลราชธานี ข้าหลวงต่างพระองค์คือตำแหน่งอะไร สำคัญอย่างไร แล้วมีกี่ท่านที่นับได้ว่าเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ 

‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าข้าหลวงปกติ ข้าหลวงเทศาภิบาลหรือสมุหเทศาภิบาล เพราะคำว่า ‘ต่างพระองค์’ มีความหมายว่าเป็นตัวแทนดูแลราษฎรและพื้นที่ ‘ต่างพระเนตรพระกรรณ’ และมีฐานะเป็น ‘ผู้สำเร็จราชการ’ ตีความได้รับมอบความสำเร็จเด็ดขาดมาจากองค์พระเจ้าแผ่นดิน เพื่อดูแลทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร ตำแหน่ง ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ เท่าที่ปรากฏ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีทั้งสิ้น 3 พระองค์ คือ… 

๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร 
๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
และ ๓.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 

ซึ่งพระประวัติและพระกรณียกิจของทั้ง ๓ พระองค์ผมจะนำเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าโดยสังเขปดังนี้นะครับ

๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง มีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล’ เป็นต้นราชสกุล ‘คัคณางค์’ ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ เป็นหนึ่งในพระเจ้าน้องยาเธอที่ ‘เก่ง’ ทั้งทางการปกครอง ทางกฎหมาย และการประพันธ์ ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก มีหนังสือหลายเล่มโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๕ ว่าทรงกริ้ว จึงทรงให้ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปดูแลพื้นที่ห่างไกล แต่ถ้าหากมองจากบริบทของการปกครองแบบรวมศูนย์ในยุคนั้น การให้เชื้อพระวงศ์ระดับสูงไปดูแลภูมิภาคต่างๆ นั้นแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างยิ่ง โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้นได้ไปดูแลภูมิภาค ‘ต่างพระเนตรพระกรรณ’ อยู่หลายแห่ง เริ่มต้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ ไปรักษาเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับปรับปรุงการศาลต่างประเทศ และจัดระเบียบการปกครองภาคเหนือใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ‘ข้าหลวงใหญ่’ หัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทางภาคอีสาน ประมาณ ๒๐ หัวเมือง โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รวมเป็นมณฑล 

ต้องบอกว่าพระองค์มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านชายแดนลาว และกัมพูชาเป็นอย่างดี คือเรียกว่า เสด็จ ฯ ไปทั่วทุกพื้นที่ในหัวเมือง นอกจากนี้พระองค์ยังมีความชำนาญด้านภาษาอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญด้านยาทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาฝ่ายไทยร่วมกันพิจารณาคดีความร่วมกับฝรั่งเศส ในกรณี ‘พระยอดเมืองขวาง’ ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ‘เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม’ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริพระชันษาได้ ๕๔ ปีโดยการเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ ของพระองค์นั้นคือการดำเนินการปรับระบบการปกครองและระบบการพิจารณาคดีความให้เป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ เป็นหลัก 

๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง เช่นเดียวกับ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช’ เป็นต้นราชสกุล ‘ชุมพล’ ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งแรกทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่งก่อนจะดำรงตำแหน่งอธิบดีในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนกระทั้งในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นตามหัวเมืองทางตะวันออก ตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปจนถึงเมืองปราจีนฯ เจ้าเมือง กรมการเมือง ไม่สามารถที่จะปราบปรามให้สงบเรียบร้อยลงได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงพิเศษเสด็จขึ้นไปทรงบัญชาการปราบปรามโจรผู้ร้ายที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งก็ทรงสามารถทำได้เป็นผลดีตามพระราชประสงค์ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นข้าหลวงใหญ่เมืองนครราชสีมาจนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการว่างลง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แต่ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งใหม่นี้อยู่ได้ไม่นานนัก ก็เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จำเป็นต้องมี ‘ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ’ ไปดูแลพื้นที่มณฑลลาวกาว
และมณฑลอุดร กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับราชการสนอง พระเดชพระคุณในตำแหน่งข้าหลวงต่างประเทศสำเร็จราชการมณฑลลาวกาวอยู่เป็นเวลานานถึง ๑๗ ปี โดยประทับและตั้งกองบัญชาการข้าหลวงอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี 

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงปรับปรุง พัฒนามณฑลลาวกาว ซึ่งต่อมาคือ มณฑลอีสาน อย่างต่อเนื่อง ปรับรูปแบบ การปกครอง จากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ตำแหน่งอุปฮาดเป็นปลัดเมือง ฯลฯ จัดตั้งกองทหารในเมืองอุบลราชธานี เรียกคนเข้ารับราชการเป็นตำรวจ พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงตั้งศาลยุติธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี มีฐานะเป็นศาลเมืองอุบลราชธานี และศาลมณฑลอีสานอีกด้วย  โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์นั้นก็คือ ‘การปราบกบฏผีบุญ’ โดยเริ่มต้นจาก โนนโพขององค์มั่นก่อนจะดำเนินการอย่างราบคาบเรียบร้อย ซึ่งมีนักเขียนหลายสำนักโจมตีเรื่องการปราบผีบุญนี้ว่าเป็นการปราบที่โหดร้ายป่าเถื่อน แต่เอาเข้าจริงๆ บริบทของยุคสมัยที่กบฏผีบุญกลายเป็นลัทธิแห่งความขี้เกียจ การมั่วสุมไม่ทำงาน ผิดลูกผิดเมีย และชิงเอาของชาวบ้านดื้อๆ ไม่ผิดกับโจร ไม่ปราบ ก็ไม่รู้จะปล่อยไว้ทำขี้เกลืออะไร? จนมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ พระชันษาได้ ๖๕ ปี

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง 

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ ‘กบฏบวรเดช’

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน

จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน

จนวันที่ 15 ตุลาคมฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศไปยังเมืองไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์หลีกเส้นทางรถไฟฟ้า กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าได้นำไปไว้ที่ใด

กล่าวหา 'สมเด็จย่า' ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเราทุ่นดำทุ่นแดงจะกล่าวถึงในตอนนี้ น่าจะเป็นประเด็นหลักสุดท้ายที่พวกเราจะกล่าวถึง (หากยังไม่มีการตรวจสอบและพบจุดผิดพลาดเพิ่มเติมอีก) ซึ่งประเด็นนี้สำคัญไม่น้อยต่อการวิเคราะห์และประเมินการใช้หลักฐานในการอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งได้ส่งผลมาสู่การพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างกระแสความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งต้นเรื่องดังกล่าวพบว่ามีที่มาจากการที่ณัฐพล ใจจริง ได้กล่าวในวิทยานิพนธ์และหนังสือของเขาเรื่อง ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ จนเกิดการนำไปสู่การอ้างอิงต่อ ๆ กันอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน โดยพวกเราจะแยกโพสต์ออกเป็นสองโพสต์ โพสต์แรกคือกรณีสมเด็จย่า และโพสต์ที่สองคือกรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหารก่อนล่วงหน้า 2 เดือน

1. ข้อความของณัฐพลในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) หน้า 64 

ณัฐพล ได้ระบุข้อความว่า “สถานทูตอังกฤษได้รายงานผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ [พ.ศ. 2490] ว่า คือ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล” (โดยส่วนนี้ ณัฐพล อ้างอิงจาก Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3.) 

และได้ระบุข้อความต่อจากประโยคข้างต้นว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร” (ณัฐพล อ้างจาก หนังสือพิมพ์เอกราช, 10 พฤศจิกายน 1947)

ส่วนในหนังสือ ขุนศักดินา และพญาอินทรี (2563) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วก็ควรไปปรากฏอยู่ที่หน้า 61 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนเดียวกันกับในวิทยานิพนธ์ แต่ ณัฐพล กลับได้ตัดทิ้งข้อความในทั้ง 2 ประเด็นนี้ออกไป! ซึ่งพวกเราขอให้จำส่วนนี้ไว้ให้ดีเพราะมันจะกลับมามัดการใช้หลักฐานของณัฐพลเสียเอง

2. ข้อค้นพบในหลักฐานชิ้นแรกที่ณัฐพลอ้าง คือ Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” หน้าที่ 3 พวกเราได้ตรวจสอบงานชิ้นดังกล่าว โดยในงานชิ้นนี้ได้ระบุข้อความว่า…

“If, as it appeared, the coup was backed by the Princess Mother, Allen noted, ‘it behaves us to be doubly careful in condemning it – since one of its consequences may be something we have all along hoped for, namely the return of the young king […] his absence having been a serious factor in the instability of the country during the last eighteen months’.”

ซึ่งแปลได้ว่า “อย่างไรเสีย, มันดูเหมือนว่า, การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนโดยพระราชชนนี, อัลเลนได้บันทึกไว้ว่า, ‘เราเองก็ควรจะระมัดระวังในการประณามการรัฐประหาร เพราะอาจจะทำให้สิ่งที่เราคาดหวังมาตลอด, คือการเสด็จนิวัตพระนครของยุวกษัตริย์ […] การที่พระองค์ไม่ได้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อที่ความไร้เสถียรภาพตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา” โดยในข้อความนี้ Tarling อ้างมาจากเอกสาร F.O.371/65911 [F15065/1565/40] 

พวกเราจึงได้ไปตามเอกสารต้นฉบับดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติประเทศอังกฤษ และพบข้อความในเอกสารชิ้นนี้ ซึ่งระบุว่า…

“Siamese revolution, which appears to be not merely a stroke of ambition [of] … Pibul, but a concerted move supported by the more conservative members of the Royal Family (including no doubt the Princess Mother who controls the King).”

แปลได้ว่า “การปฏิวัติในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะมิใช่เป็นเพียงความทะเยอทะยานของหลวงพิบูลอย่างเดียว แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าด้วย (ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าหมายรวมถึงพระราชชนนี ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลยุวกษัตริย์ด้วย)”

เมื่อได้ทำการประมวลพร้อมกับหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้ไปสืบค้นเพิ่มเติมมา พวกเราจึงตั้งข้อสังเกตต่อการกล่าวอ้างของญัฐพล ดังนี้

1. ในรายงานของอังกฤษฉบับดังกล่าวเป็นรายงานลงวันที่ 8 Jan 1948 (8 มกราคม 2491) โดย Allen ซึ่งทราบจาก Thompson ทูตอังกฤษ

ซึ่งเป็นการรายงานย้อนหลังหลังการเกิดรัฐประหารได้ 2 เดือนแล้ว และหากสมเด็จย่าทรง ‘อยู่เบื้องหลัง’ ดังที่ณัฐพลกล่าวอ้างจากรายงานฉบับนี้ ก็ควรจะปรากฏรายงานเช่นนี้ออกมาให้เร็วกว่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันรัฐประหารหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก) 

อีกทั้ง การ ‘support’ ในที่นี้ยังหมายถึงการ ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้อีกด้วย (de facto) เพราะลองนึกภาพตามจะพบว่าเพียงพระราชชนนีลำพังทำอะไรได้ ในขณะที่อีกฝ่ายของจอมพล ป. มีทั้งปืนและทรัพยากรต่างๆ ? 

อีกทั้งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้แต่ Thompson ยังเคยได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในลอนดอนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2490 (ก่อนการรัฐประหารหลายเดือน) ว่าการกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตอาชญากรสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น “ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย” (Geoffrey F. Thompson, The British Minister in Bangkok, believed that the prospect of Pibul’s return was by no means unlikely.) 

และทูตอังกฤษยังได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “พวกรอยัลลิสต์ยังคงหวาดกลัวจอมพล ป. มิเสื่อมคลาย” (The very fear of him still endures in influential [including Royalists] circles here.) จากเอกสาร F.O. 371/63910, Thompson to Bevin 6 April 1947 อ้างใน Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup, p. 9.

นั่นหมายความว่า การกลับมาของจอมพล ป. (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม) “ไม่ใช่สิ่งที่พวกรอยัลลิสต์ไทยพอใจนัก” สอดคล้องกับพฤติกรรมของคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการบีบบังคับด้วยกำลังแก่กรมขุมชัยนาทฯ ให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 (ที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ชี้ให้เห็นในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวนี้ที่อาจารย์ไชยันต์ได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว) 

2. เมื่อได้ทำการตรวจสอบเอกสารชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นรายงานทั้งของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษ 

พวกเรากลับไม่พบรายงานอื่น ๆ ที่ระบุว่าพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า ‘อยู่เบื้องหลัง’ การรัฐประหารที่จะมาให้น้ำหนักหรือสอดคล้องกับเอกสารชิ้นนี้เลย 

โดยปกติแล้วการทดสอบหลักฐานด้วยการทดสอบไขว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง (crossed check) มักย่อมถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ว่ามีเอกสารใดบ้างกล่าวตรงกัน และได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าวเดียวกันหรือไม่ มีการประเมินความน่าเชื่อถืออย่างไร เช่น กรณีที่กรมขุนชัยนาทฯถูกบังคับให้ลงนามรับรองการรัฐประหารที่พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้เอาหลักฐานชั้นต้นของทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกามาให้ดูเป็นขวัญตาว่ากล่าวตรงกันว่าทรงถูกบังคับจริง ๆ 

จึงกล่าวได้ว่า รายงานนี้เป็นรายงานฉบับเดียวที่ระบุข้อความที่ว่าสมเด็จย่ามีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น ผู้ใดมีใจเป็นนักวิชาการก็ควรจะชั่งน้ำหนักให้มาก เพราะหากหากสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังจริง ก็ควรจะมีรายงานฉบับอื่น ๆ ให้รายละเอียดมาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น 

แต่เรากลับไม่พบหลักฐานต่อเนื่องเหล่านั้นแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเอกสารในช่วงหลังวันปฏิวัติ/รัฐประหาร สด ๆ ร้อน ๆ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การรัฐประหารของไทยในปี 2490 อย่างเป็นภาพรวม โดยระบุว่า “ในความเห็นเบื้องต้น [ของเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย - Thompson] เชื่อว่า การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์” (His preliminary opinion is that coup d’etat is a right-wing movement supported by Royal Family)  (ที่มา F15065/1565/40, 15 November 1947)

จึงกล่าวได้ว่า ข้อมูลชุดที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับมานี้ ล้วนแล้วแต่มาจาก Thompson เพียงคนเดียวนั่นเอง และข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ก็ได้ไปปรากฏซ้ำในรายงาน F.O.371/65911 [F15065/1565/40] ของ Thompson ในวันที่ 8 มกราคม 2491 หรือเกือบ 2 เดือนหลังจากเอกสารวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 นั้นเอง กล่าวคือ เป็นเอกสารคำพูดแทบจะ copy เลยทีเดียว หากแต่รอบหลังมีการอ้างถึงสมเด็จย่ามาด้วยเท่านั้น!

3. จะเห็นได้ว่าในงานเขียน Tarling ซึ่งได้อ้างอิงจากเอกสารอังกฤษชิ้นเดียวกันนั้น ทาง Tarling เองก็ได้จงใจใส่อนุประโยคว่า “as it appeared” ซึ่งแปลได้ว่า 

“มันดูเหมือนว่า/ดูราวกับว่า” เข้ามาด้วย ซึ่งถ้าหาก Tarling มั่นใจว่าสมเด็จย่ายู่เบื้องหลังจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องเติมประโยคนี้เข้ามาเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในข้อมูลนี้เลย 

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า Tarling ก็น่าจะเห็นข้อความจากเอกสารชิ้นเดียวกับเรา ที่ระบุเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวของ Thompson (ทูตอังกฤษผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ที่ Tarling นำมาอ้าง และณัฐพลเอามาอ้างต่อ ) ที่สันนิษฐานว่าพระราชชนนีทรงมีส่วนสนับสนุน ด้วยการเลือกใช้คำว่า ‘no doubt’ ที่แปลได้ว่า ‘ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่า…’

4. ควรต้องกล่าวด้วยว่าในเอกสารของอังกฤษเองก็ได้บอกถึงการสนับสนุนหรือการ ‘รับรอง’ ของพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ใช่แค่พระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว แต่ทำไม ณัฐพล จึงเจาะไปที่พระองค์ (ซึ่งรวมไปถึง Tarling ด้วย)

ซึ่งหากติดตามการอธิบายของณัฐพลให้ดี ก่อนหน้านี้เขาพยายามโยนความผิดในการรับรองรัฐประหารไปให้กรมขุนชัยนาทฯ มาโดยตลอด แต่ในประเด็นนี้ณัฐพลกลับจงใจเลือกที่จะพูดถึงสมเด็จย่าเท่านั้น 

5. ในความเป็นจริงแล้ว พระราชชนนีหรือสมเด็จย่าในขณะนั้น ทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไร้อำนาจและเครือข่ายทางการเมืองใด ๆ (เดิมทรงเป็นสามัญชน) จะให้พระองค์สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารอย่างไร? 

และข้อมูลการสนับสนุนให้พระราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมืองนี้ กลับย้อนแย้งกับความพยายามของสมเด็จย่าที่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองมาตลอด (โปรดอ่าน ‘เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์’ ประกอบ)

กรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหาร อ่านต่อไปในโพสต์ถัดไป!!

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ทราบแผนรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง
ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ

‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’

ซึ่งณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงครามให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ.1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500”!

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!? 

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) 

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด 

ดังนั้น การอ้างถึง ‘หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947’ ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่ ?  

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของ ณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ? 
หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?  

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง 

เนื่องจากสถานภาพของรัฐบาลปรีดี-หลวงธำรงฯ นั้นง่อนแง่นเต็มที่ ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่คอร์รัปชันอย่างรุนแรง 

กระแสการรัฐประหารนั้นรุนแรงกระทั่งว่า หลวงธำรงฯ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถึงกับให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ‘นอนรอคอยอยู่ที่บ้านก็ไม่เห็นมีปฏิวัติ’

ดังนั้น ไม่ว่าจะใครก็ตามในประเทศไทยหรือนอกประเทศในเวลานั้นก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับข่าวรัฐประหารอยู่แล้ว เพราะข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปไม่ใช่แค่เฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง

เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว เราจึงขอถามกลับไปยัง ณัฐพล ว่า ในหนังสือขุนศึกฯ ที่เขาได้ตัดประเด็นทั้งส่วนทั้งสองนี้ออกไป ย่อมแสดงว่าณัฐพลรู้อยู่แก่ใจใช่หรือไม่ว่าไม่มีน้ำหนักใช่หรือไม่ ? 

ทั้งในประเด็นแรกที่ณัฐพลเชื่ออย่างสนิทใจว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร’

ซึ่งหากณัฐพลต้องการจะให้น้ำหนักแก่สมมติฐานพวกเจ้าสนับสนุนการรัฐประหาร เขาก็ต้องคงเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ เพราะได้จะสอดคล้องกับการให้ภาพที่ชัดขึ้นของพวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนคณะรัฐประหารโดยดุษฎี (ไม่ใช่มาพบความจริงตอนหลังว่าไม่ได้สนับสนุนแต่ต้น แต่เพราะถูกคณะรัฐประหารใช้ปืนจี้บังคับให้เซนแบบกรมขุนชัยนาทฯ เช่นที่พวกเราได้นำเสนอไปแล้ว) 

อีกทั้งในประเด็นหนังสือพิมพ์เอกราชที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งสามารถสาวโยงถึงในหลวงได้โดยตรง แต่ ณัฐพล ก็กลับตัดข้อเสนอสำคัญนี้ทิ้งเสียอย่างน่าแปลกใจ

อย่างไรก็ดี พวกเรามีความกังวลใจว่า สิ่งที่ณัฐพลกระทำไว้ในวิทยานิพนธ์นั้นได้แผ่ขยายออกไปไกลจนมีการอ้างอิงในวิกิพีเดียไปเสียแล้ว ควรบันทึกไว้ด้วยว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลในประเด็นสมเด็จย่าสนับสนุนการัรฐประหารนี้ในวิกิพีเดียได้เลยจนบัดนี้ 

เพราะหากเมื่อทำการแก้ไขทีไร ก็มักจะมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แก้กลับให้เป็นข้อมูลของณัฐพลทุกครั้ง 
เราหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการกระทำของพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ในครั้งนี้ จะทำให้ทุก ๆ ท่านได้เห็นถึงการใช้หลักฐานและการพิจารณาบริบทแวดล้อมที่รายล้อมอยู่มากขึ้น 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนข้อมูลวิชาการในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ปรากฏขึ้นนี้ด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ -  ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

จากที่ได้โพสต์การตรวจสอบงานเขียนของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ไปเมื่อโพสต์ก่อนหน้าแล้ว

ต่อกรณีที่ ณัฐพลเขียนบิดเบือนให้ ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันและรวดเร็ว’ นั้น

ด้านอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ให้ความเห็นต่อข้อความของ Edwin F. Stanton ที่ว่า…

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist”

ที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ แปลว่า “ต่อมา The Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) ได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติที่สุด หากจำใจต้องยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่คุณก็ทราบดี’ และพระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าอีกว่า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ’”

ซึ่งย่อมไม่สามารถสื่อว่า กรมขุนชัยนาทฯ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันได้

แต่อาจารย์สมศักดิ์ ให้ความเห็นแย้ง ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ว่า “บทบาทของกรมขุนชัยนาทในการรับรองรัฐประหารนั้น เท่าที่ ‘โต้แย้ง’ มา ผมว่ายังอ่อนนะ"

โดยอาจารย์สมศักดิ์เห็นว่าข้อความที่ Edwin Stanton กล่าวว่า กรมขุนชัยนาทฯ ตรัสให้เหตุผลในการจำใจยอมรับรัฐประหารนั้น 

“เป็นการแก้ตัวตามสไตล์ที่เราเห็นกันอยู่”

หลังจากที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้อ่านความเห็นดังกล่าวของอาจารย์สมศักดิ์ ก็ได้ส่งข้อความมาถึงผมว่า…

“ทุ่นดำทุ่นแดงได้ฝากมาบอกว่า ให้อาจารย์สมศักดิ์ลองไปอ่านหนังสือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup ของ Nik Mahmud ดู (ได้แนบเอกสารหน้าที่อยากให้อาจารย์ดูมา) หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่ณัฐพลใช้ แต่เขาดันตัดวลี ‘โดนจี้’ ออก ลองอ่านนะครับ

“[Prince Rangsit] had been forced practically at the point of a tommy gun”

อาจารย์คิดว่า ประโยคข้างต้น แปลหรือสื่ออะไรครับ ?

แล้วดูประโยคที่ยกมาเองนะครับ ‘acquiesce’ ตาม Cambridge หมายความว่า “to accept or agree to something, often unwillingly”

ถ้าอาจารย์มีอะไรที่มีน้ำหนักและน่าสนใจกว่า ก็โพสต์มาได้เลยครับ 
และพวกเราจะโพสต์แยกถึงอาจารย์อีกอันนะครับ 

ขอบคุณครับ ที่มาร่วมวง

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว  10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ความถูกต้องทางวิชาการในงานของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของณัฐพล ใจจริง ปรากฎในหนังสือ: ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2556 และ 2564) พบประเด็นดังกล่าวถึง 5 จุด ดังนี้

>>​จุดที่ 1 หน้า 44

“ควรบันทึกด้วยว่า ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กรมขุนชัยนาทฯ หนึ่งในสองคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534) หน้า 96-100.

>> จุดที่ 2 หน้า 121
“การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Edwin F. Stanton, Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World (New York: Harper & Brothers Publishers, 1956, 209-210.)

>>จุดที่ 3 หน้า 122
“ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียว” (ขอความนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง เพราะเขาเท้าความจากหน้าก่อน)

>>จุดที่ 4 หน้า 168
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 ของคณะรัฐประหารจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 109.)

>>จุดที่ 5 หน้า 228
“วันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ทำให้การรัฐประหารนี้ราบรื่น” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 96-100.) 

หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>​จุดที่ 1 หน้า 60
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ณัฐพล อ้างจากจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100. แต่ในงานของ สุธาชัย ไม่มีคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ดังที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ของ ณัฐพล)

>>จุดที่ 2 หน้า 69 
ปรากฏภาพกรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมคำอธิบาย ว่า “พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ข้อความตรงนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง แต่เป็นการดึงความมาจากข้อความในจุดที่ 1 หน้า 60 และไม่ปรากฏคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ เช่นกัน)

>> จุดที่ 3 หน้า 266 (‘บทสรุป’ ของหนังสือของ ณัฐพล)
“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล ไม่ได้อ้างอิง เพราะเป็นการสรุป และ ณัฐพล ยังคงย้ำคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ในส่วนนี้)

>>จุดที่ 4 หน้า 342 (นามานุกรม)
“ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงหนึ่งเดียวในสามคนที่ลงนามรับรองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490” (ก็มีความคลาดเคลื่อน! เนื่องจากผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีสองท่านเท่านั้น) 

ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล 
​วิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>>​จุดที่ 1 หน้า 63
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างอิงจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100.)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
​1. จากการตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงที่ณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นหลัก คือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณัฐพลได้ใช้ฉบับตีพิมพ์คนละครั้งในการอ้างอิง คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์ปี พ.ศ. 2534) ถูกอ้างอิงในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 

ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2550) ถูกอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่ณัฐพลเขียนเสนอแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ แผนชิงชาติไทย (ทั้ง 2 ฉบับ) พบว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เขียนถึงประเด็น ‘ลงนามผู้เดียว’ ไว้จริง แต่ไม่ได้ถึงกับขยายพฤติกรรมของกรมขุนชัยนาทฯ เสียจนเกินจริงถึงขนาดว่าทรง ‘รับรองแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ อย่างที่ณัฐพลใช้แต่อย่างใด 
โดย สุธาชัย บรรยายไว้เพียงว่า

“น.อ. กาจ เก่งระดมยิง พร้อมด้วย พ.ท.ถนอม กิตติขจร รีบนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปหาพระวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ซึ่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการให้ลงพระนามประกาศใช้” 

ในหน้า 97 ในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 และในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2550 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวเช่นเดียวกันในหน้า 98 และ

​“การประกาศใช้ (รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการที่ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนามด้วย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา” หน้า 109 ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 (ข้อความส่วนหลังนี้ ณัฐพล ตัดออกหลังจากได้กล่าวว่าพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย)

​จากข้อความต้นฉบับทั้ง 2 ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุถึงข้อเท็จจริงเพียงว่า…

1. คณะรัฐประหารต้องการให้ทั้งกรมขุนชัยนาทฯ และพระยามานวราชเสวี ทั้ง 2 พระองค์/ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 (ฉบับตุ่มแดง)

2. แต่คณะรัฐประหารได้เดินทางไปถึงวังของกรมขุนชัยนาทฯ เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ลงนาม (อย่างไม่ได้เต็มใจนัก-รายละเอียดอ่านจากประเด็นรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันในครั้งก่อน)

3. สุธาชัย ระบุเพียงว่าพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนามด้วย (แต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ลงนาม)

4. สุธาชัย ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา ​แต่ณัฐพล ใจจริง กลับหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาตีความขยายเสียจนมีความหมายไปคนละทาง!

กล่าวคือ เขาระบุเพียงว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ เฉย ๆ หรือกระทั่งขยายให้ใหญ่โตไปถึงขั้นว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียวอย่างรวดเร็ว’

ซึ่งเกือบทุกจุดที่ ณัฐพล กล่าวในประเด็นนี้ ย้อนกลับสู่การอ้างอิงจากงานเขียน แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเท่านั้น (มีอ้างของ Stanton แค่ครั้งเดียว) และในจำนวนหลายครั้งในหน้าหลัง ๆ เป็นการกล่าวถึงแบบลอย ๆ ไม่มีเชิงอรรถหรืออ้างอิงประหนึ่งว่าการที่ ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ (อย่างรวดเร็ว) เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบอีกแล้ว

​ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สุธาชัย ระบุไว้ชัดเจนว่า…
คณะรัฐประหารต้องการให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 ลงนาม แต่เมื่อกรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว (อย่างไม่ได้เต็มพระทัยนัก) คณะรัฐประหารก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุว่า สุธาชัย ไม่ได้ระบุว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ นี่อาจเป็นช่องว่างให้ ณัฐพล เข้าใจผิดไปเองตามธงในใจที่มีอยู่แล้ว และนำช่องว่างนี้มาตีความขยายจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

​เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยในประเด็นย่อยที่ สุธาชัย ไม่ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ 

ในชั้นต้น ได้พบข้อความดังกล่าวอย่างละเอียดในเอกสารร่วมสมัยในเวลานั้น คือ หนังสือสารคดีการเมืองที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2493 ชื่อ ‘ประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมูนิสต์’ เขียนโดย คนสภา (นามปากกา) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ในการปฏิวัติวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไว้อย่างละเอียดว่า…

ภายใต้คณะของหลวงกาจสงครามพร้อมกำลังนายร้อยทหาร 20 คน เมื่อให้กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว

​“หลังจากนี้คณะผู้แทนรัฐประหารก็ได้มุ่งตรงไปยังบ้านพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถนนสาธร เพื่อจะให้ลงนามด้วยอีกคนหนึ่ง แต่พอเข้าไปถึงบ้านพระยามานวราชเสวีแล้ว พระยามานวราชเสวีไม่เต็มใจลงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​ชะรอยพระยามานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายจะนึกเหยียดในใจ หรือทราบแล้วแน่ว่า ถ้าลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใต้ตุ่มแดงนี้ อาจจะผิดแน่ ๆ เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ (ชาติเสือต้องไว้ลาย) เลยหลบหนีออกไปทางหลังบ้านเสีย ทำให้ท่านหัวหน้าตุ่มแดงหน้าแห้งกลับมากองอำนวยการ ณ กระทรวงกลาโหม.” (ดูหน้า 284-285)

​รายละเอียดดังกล่าวแยกเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า
1. คณะรัฐประหารเดิมทีมีความตั้งใจจะให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 พระองค์/ท่าน ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญ

2. กรมขุนชัยนาทฯ รับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงออกมาจากวังตอนเวลาตีสองกว่า เพื่อไปบ้านพระยามานวราชเสวีต่อ

3. พระยามานวราชเสวี รู้ตัวก่อน จึงแอบหนีออกจากบ้านไปก่อนที่คณะรัฐประหารจะเดินทางมาถึง

4. คณะรัฐประหารจึงได้มาเพียงแค่พระนามของกรมขุนชัยนาทฯ แต่เพียงพระองค์เดียว

5. ความรับผิดในการรับรองรัฐธรรมนูญจึงมาตกกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่ได้ลงนามไปแล้วเพียงพระองค์เดียว

​ทั้ง 5 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 3, 4 และ 5 จึงสามารถตอบคำถามที่ สุธาชัย ค้างไว้ในประเด็นว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ได้อย่างหมดจด (evidently) การณ์จึงกลับ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ หากเทียบกับข้อความของ ณัฐพล ใจจริง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ ณัฐพล พยายามทำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเชื่อว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญเพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ จึงเป็นการกล่าวไม่หมดและจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากหนังสือของสุธาชัยที่เขาอ้าง รวมไปถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเสนอนี้ 

การทำการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงโดยอาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นการอยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่วายชนม์ไปแล้ว 

​กล่าวโดยสรุป ณัฐพล ใจจริง พยายามอธิบายประหนึ่งว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทั้งรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันและรับรองรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว (อย่างรวดเร็ว)” โดยเขาพยายามโยนความรับผิดชอบในการรับรองรัฐประหารให้ตกแก่กรมขุนชัยนาทฯเพียงพระองค์เดียว อย่างที่หลักฐานประจักษ์ว่า ณัฐพลได้ ‘ตอกย้ำ’ บทบาทสำคัญของกรมขุนชัยนาทฯ ในประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก (นับได้เป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง) และทำขนาดถึงว่าต้องนำไปเขียนใส่ไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ว่า…

“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (หน้า 266)​

การระบุไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือเช่นนี้ ย่อมจะมองเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้ นอกจาก ณัฐพล พยายามขับให้บทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ สูงเด่น ‘ในแง่ลบ’ เพราะทรง ‘ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ แต่ข้อความดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’

​ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักอ่าน หรือนักวิชาการจะทราบดีว่า ในส่วนของบทสรุปของหนังสือวิชาการ มีความสำคัญเพียงใดต่อหนังสือทั้งเล่ม!! ตลอดจนถึงการนำเสนอประเด็นทางวิชาการนั้น ๆ ทั้งที่ข้อเท็จในเหตุการณ์คืนวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลักฐานระบุเพียงว่า

1. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องลุกขึ้นมากลางดึก (ตอนตี 1)
2. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกใช้กำลังบังคับให้ลงนามรัฐธรรมนูญ โดยคณะของหลวงกาจสงครามและ ‘นายร้อย 20 คน’
3. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่เต็มพระทัยที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญ 2490 (แต่จำใจต้องกระทำ)
4. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกปรักปรำว่าสนับสนุนและต้องรับผิดชอบกับการรัฐประหาร เพียงเพราะเหตุว่าผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่อยู่บ้าน
5. แต่กระนั้น กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่ได้กระทำรับรองรัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะปรากฏว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผู้รับสนองฯ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งจะกล่าวในวาระต่อไป)

​ควรบันทึกด้วยว่า ณัฐพล ใจจริง ได้พยายามเน้นประเด็น ‘ลงนามรับรองแต่เพียงผู้เดียว’ อย่างยิ่ง 
โดยในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ นั้น ณัฐพลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ‘5 ครั้ง’ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กล่าวไว้ ‘3 ครั้ง’ และในวิทยานิพนธ์เพียง 1 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกขยายมากขึ้นและพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทกรมขุนชัยนาทฯ ว่ามีส่วนในการทำให้รัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำเร็จไปได้ และในหนังสือ ขุนศึกฯ นั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการรับรอง ‘อย่างรวดเร็ว’ เพียงครั้งเดียวในบทสรุป แต่ไม่ปรากฏในที่อื่น ๆ ด้วย

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทำตัวแทรกแซงการเมืองดุจกษัตริย์ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

ทำไม 2 ปีกว่า จนบัดนี้ 

ในหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ฯ’ อ.ณัฐพลไม่แก้ ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทฯ แทรกแซงการทำงานของคณะรัฐมนตรี จอมพล ป.’ ที่ อ.ณัฐพลเขียนว่าพระองค์เข้าไปประชุม ครม. แต่ไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวในแหล่งอ้างอิง? 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 63 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหน้าที่ 3 ลงชี้แจงข้อมูลในกรอบแดง ระบุว่า “ขอชี้แจงกรณีข่าวเมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) ('Post' clarifies article from 1950)” โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยรายงานข้อมูลที่นายณัฐพล ใจจริง อ้างอิงในวิทยานิพนธ์การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

“จากการที่เชิงอรรถ (วิทยานิพนธ์) อ้างอิงถึงข่าวในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย ...บางกอกโพสต์ขอชี้แจงว่า หนังสือพิมพ์ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าวตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือนายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา” นสพ.บางกอกโพสต์ระบุ พร้อมตีพิมพ์ข่าวฉบับเต็มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ให้อ่านอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในหน้าที่ 124 ของหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2556 ย่อหน้าหนึ่งระบุข้อความว่า

“การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก...”

ทั้งนี้ นักวิชาการควรช่วยหาคำตอบตรงนี้ และหาทางออกร่วมกัน 
สามารถฟังการบรรยายได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=1-WHryPHPDM 

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงค้านตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกฯ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับการตรวจสอบงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

ประเด็นที่ 4 ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงไม่พอใจกับการขับไล่ ควง อภัยวงศ์ ลงจากอำนาจ  และค้านการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ใน หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>จุดที่ 1 หน้า 73
“เหตุการณ์ชับไล่ควงลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควงและคาดการณ์ว่ารัฐบาลจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน สถานทูตรายงานต่อไปว่า พระองค์ทรงมีความเห็นว่าจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการและส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. ในกระบวนการทางรัฐสภา” 

(ณัฐพลอ้างอิงจาก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 และ ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง, 2517) หน้า 612)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 77
“เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที่ การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือ ควง ด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ 

ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ’กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป’”
(ณัฐพลอ้างอิงจาก ที่เดียวกัน แต่ในวิทยานิพนธ์ไม่มีการอ้างเอกสารของประเสริฐ)

2. หลักฐานที่ค้นพบ

จากการตรวจสอบเอกสารที่ณัฐพล ใจจริง ใช้อ้างอิง คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ หรือเอกสาร NARA และหนังสือของประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ พบว่า ไม่มีข้อความที่กล่าวว่า “พระองค์ทรงไม่พอพระทัย” และ “คัดค้านอย่างเต็มกำลัง” แต่อย่างใด 

2.1 เราสามารถแยกประเด็นของณัฐพลที่นำเสนอไว้ออกมาได้ 3 ส่วน ดังนี้

2.1.1 ทรงคาดว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน และสมาชิกวุฒิสภาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจในกระบวนการรัฐสภา (อ้างอิงถูกต้อง)

ในส่วนประเด็นนี้ณัฐพลกล่าวได้ถูกต้อง โดยจากการตรวจสอบเอกสาร NARA พบว่ามีการระบุข้อความว่า “[…] he anticipated Field Marshal would experience difficulty in forming government […] Rangsit, had insisted cabinet must consist of good men and that not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time […] Attitude of Parliament, particularly Senate, which is largely pro-Khuan, also uncertain and rather than risk vote no confidence […]”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า…

“พระองค์ทรงคาดการณ์ว่า จอมพล ป. จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล [...] ซึ่งพระองค์เจ้ารังสิตฯทรงย้ำว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยคนดี และนั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจะไม่ถูกล้มล้างในเวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้ […] สำหรับท่าทีของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาซึ่งส่วนมากเป็นพวกนิยมควงนั้นไม่แน่นไม่นอน และอาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้”

ดังนั้น ข้อความในส่วนนี้ณัฐพลจึงไม่มีปัญหาในการอ้างอิง

2.1.2 ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง (อ้างอิงถูกต้องบางส่วน)

ข้อความส่วนนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ซึ่งแม้จะอ้างถูกต้องในคำพูดที่ว่า รัฐบาลจะถูกโค่นล้มลง แต่เป็นการ ‘คาดการณ์’ (anticipation) ของพระองค์เท่านั้นตามที่ได้กล่าวไว้ใน 2.1.1 มิใช่ว่าพระองค์จะมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในส่วนนี้ณัฐพลจึงอ้างอิงถูกต้องเพียงบางส่วน 

2.1.3 จุดอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏในหลักฐานอ้างอิง (ไม่มีข้อความปรากฏ) ในส่วนที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารพบว่าในวิทยานิพนธ์มีส่วนนี้อยู่มาก และถึงแม้จะแก้ไขในภายหลังตอนที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี แล้วก็ยังพบข้อความที่ไม่ปรากฏที่มาคงไว้เช่นเดิม คือข้อความที่ว่า…

1. “เหตุการณ์ขับไล่ ควง ลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควง”

2. “เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’”

3. “สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป””

4. 2.2 เมื่อพิจารณาจากเอกสารชั้นแรกเพิ่มเติม คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ ใน NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948 (ผู้เขียนเข้าไม่ถึงเอกสาร) ; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 

ทั้งนี้ ได้พบข้อความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ณัฐพลกล่าวถึง ดังนี้

ข้อความที่ 1 “This group told him coup d’etat party was determined force resignation Khuang government and place Phibun in power. They asked Prince Rangsit name Phibun Prime Minister.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนกลุ่มนี้กล่าวกับพระองค์ว่า คณะรัฐประหารมีความประสงค์จะบีบให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ลาออก และตั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามให้อยู่ในอำนาจ แทนโดยพวกเขาขอให้กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี”

ข้อความที่ 2 “He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshal was accompanied by General Luang Kach, Field Marshal talked at length situation in Siam, menace of Chinese and Communists, and Rangsit said he talked very intelligently.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระองค์ทรงเล่าว่าได้เชิญจอมพล ป. เข้าพบก่อนการประชุมของคณะองคมนตรี ซึ่งจอมพลได้เข้าพบพร้อมกับหลวงกาจสงคราม โดยจอมพล ป. ได้อธิบายถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในสยามอย่างยาวยืด เช่น ภัยคุกคามจากพวกจีนและคอมมิวนิสต์ พระองค์เจ้ารังสิตฯกล่าวแก่ข้าพเจ้า (สแตนตัน) ว่า จอมพล ป. พูดได้อย่างชาญฉลาด” 

ข้อความที่ 3 “Council now faced with problem appointing new prime minister. […] Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-in-Chief Army, someone else perhaps more suitable as prime minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ขณะนี้คณะองคมนตรีกำลังเผชิญกับปัญหาของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ […] หลวงกาจ สงครามได้กล่าวว่า ‘จอมพล ป. เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ แต่พระองค์เจ้ารังสิตฯ ตรัสแนะไปว่าเวลานี้จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ น่าจะมีบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามจึงประกาศกร้าวด้วยความฉุนเฉียวว่า ‘คณะทหารจะไม่ยอมรับใครเว้นเสียแต่จอมพล ป. เท่านั้น’”

จะเห็นได้ว่า หากณัฐพล ใจจริง อาศัยหลักฐานจากสหรัฐ ฯชิ้นนี้ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีส่วนใดของเนื้อหาที่ระบุว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจกับการบังคับควงออกและคัดค้านอย่างเต็มกำลังในการแต่งตั้งจอมพล ป.” อยู่เลย พบเพียงข้อความที่กล่าวแต่เพียงว่า พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยหากจอมพล ป. จะเป็นนายกแทนนายควง เพราะจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อคณะรัฐประหาร 2490 ยืนยันและประสงค์เช่นนั้นกรมขุนชัยนาทฯก็ทรงยอมกระทำตาม 

ควรบันทึกด้วยว่า หากอ่านรายงานฉบับนี้ของสแตนตันโดยละเอียดและวางใจเป็นกลาง จะพบว่า ไม่มีข้อความใดที่กรมขุนชัยนาทฯ บริภาษหรือแสดงความไม่พอใจต่อจอมพล ป. 

แต่การณ์กลับตรงข้ามกัน กล่าวคือ สแตนตันบันทึกไว้ด้วยตนเองว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงชมจอมพล ป. ไว้หลายจุด อาทิ ทรงกล่าวว่าจอมพล ป. เป็นคนที่พูดได้อย่างชาญฉลาด น่าคล้อยตาม หรือกระทั่งมีคุณสมบัติเหมาะสม 

ดังนั้น หากณัฐพลเชื่อว่ากรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจจอมพล ป. ในกรณีบีบให้ควงออก ณัฐพลก็ต้องอ้างจากเอกสารฉบับอื่นที่ไม่ใช่ทั้งจากเอกสารสหรัฐฯ 

เพราะในรายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ ล้วนมีแต่คำยกย่องชมเชยจอมพล ป. รวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับความโลภของบรรดาคนใกล้ชิดของจอมพล ป. ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวจอมพล ป. เองแต่อย่างใด

และเมื่อตรวจสอบหนังสืออีกเล่มที่ถูกอ้าง คือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) ซึ่ง ณัฐพล ได้ใส่เป็นเอกสารอ้างอิงเพิ่มเติมจากเอกสารสหรัฐฯ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ก็ไม่พบข้อความส่วนใดที่กล่าวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน พบเพียงแต่ข้อความว่า…

“คณะอภิรัฐมนตรีได้รับใบลาไว้แล้ว แต่หากว่าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมิได้มีบัญชาประการใด” (หน้า 612) 

ดังนั้น การอ้างอิงของ ณัฐพล ใจจริง ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นวิชาการอย่างยิ่ง 
เพราะไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากเอกสารต้นฉบับที่ใช้อ้างอิง โดยข้อความในงานวิชาการของเขาทั้ง 2 แห่งข้างต้น ได้ฉายภาพให้บทบาททางการเมืองและการต่อต้านจอมพล ป. ของกรมขุนชัยนาทฯ มีลักษณะเกินจริงและมุ่งประสงค์ร้ายต่อจอมพล ป. ทั้งที่เอกสารที่ใช้อ้างอิงไม่ปรากฏเนื้อหาเช่นนี้เลย

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงเอกสาร NARA วันที่ 7 April 1948 ได้ แต่อย่างไรก็ตามเอกสาร NARA ทั้ง 3 ชุดเป็นเอกสารที่ระบุเนื้อหาเดียวกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดที่สรุปย่อหรือขยายความเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏข้อความตามที่ณัฐพลกล่าวอ้างใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดทั้ง 2 ฉบับที่ผู้เขียนเข้าถึง

#จุดต่าง ๆ ในวิทยานิพนธ์ณัฐพลใจจริง

จุดที่สาม ได้เคยชี้จุดผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ไปแล้วสองจุด อันได้แก่ 

หนึ่ง การสร้างเรื่องให้กรมขุนชัยนาทฯ เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ  

สอง การเขียนให้กรมขุนชัยนาทฯรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ
มาคราวนี้ คือ จุดที่สาม 

ในวิทยานิพนธ์หน้า 77 หัวข้อ 3.5 จอมพลป. กับการล้มแผนทางการเมืองของ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ บรรทัดที่ 8-18 อ. ณัฐพลเขียนว่า…

“ในที่สุด เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ส่งทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เนื้อความตอนนี้ใช้เชิงอรรถที่ 52 โดยอ.ณัฐพลอ้างเอกสาร 3 ชิ้น 

สำหรับข้อความครึ่งแรกที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดย 

(ก) ทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล 

(ข) ทำให้ทรงบริภาษจอมพลป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’

(ค)  ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง” 

เมื่อตรวจสอบกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อความดังที่ อ.ณัฐพลเขียนไว้นี้เลย และสำหรับข้อความครึ่งหลังที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐอีกเช่นกันที่ว่า กรมพระยาชัยนาทฯ (ง) “ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เมื่อเช็กกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่ระบุว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงทำการกระทำทั้ง 4 อย่างนี้เลย! อยากจะชวนให้มาดูเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันไปทีละชิ้น

เอกสารชิ้นแรก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับรมว.ต่างประเทศ วันที่ 7 เมษายน 2491 เนื้อความที่พอจะเกี่ยวข้องกับกรมพระยาชัยนาทฯ มากที่สุดในเอกสารชิ้นนี้ คือที่เขียนว่า 

“ถึงแม้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะไม่มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน แรงกดดันจากผู้สำเร็จราชการและประธานวุฒิสภาอาจทำให้ต้องมีการประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม เหตุผลคือ ถ้าปราศจากรัฐสภาก็ไม่มีคณะอภิรัฐมนตรี ไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่มีประธานวุฒิสภาที่จะลงนามในคำสั่งของพระมหากษัตริย์ ไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (tribunal) ที่จะบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” 

[“All though government decided no special session parliament advantages pressure from Regency and Senate president may result in May session. Reasons being no Regency council without parliament, no new Senate appointment, no Senate president to countersign orders, no constitutional tribunal to enforce new provisions particularly regards RP's.”] 

ผมคิดว่าเนื้อความส่วนนี้ชัดเจนในตัวเองว่า ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ อ.ณัฐพล เขียนว่าท่านกระทำเลย และไม่จำเป็นต้องอธิบายความใด ๆ อีก

นอกจากข้อความที่เกี่ยวกับท่านแบบเฉียด ๆ นี้แล้ว ไม่มีที่ใดในเอกสารชิ้นนี้ทั้งสิ้นที่กล่าวว่ากรมพระยาชัยนาทฯ (ก) ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขาและทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ หรือ (ค) ทรงกล่าวว่า ‘รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง’ หรือ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เช่นนั้นเรามาดูเอกสารชิ้นถัดไปกัน คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับ รมว.ต่างประเทศ วันที่ 8 เมษายน 2491 ในเอกสารชิ้นนี้ก็ไม่มีข้อความที่กล่าวถึง (ก) กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารเลย 

ตรงกันข้าม เอกสารรายงานว่ากรมพระยาชัยนาททรงถูกจอมพลป. และคณะรัฐประหารบังคับให้เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

โดยจากคำบอกเล่าของพระองค์ที่ถ่ายทอดโดยสแตนตัน เริ่มต้นจากเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 ที่พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริเสด็จมาเยี่ยมพระองค์พร้อมพระชายาและนายพันเอกท่านหนึ่ง และแจ้งให้พระองค์ทราบว่าคณะรัฐประหารตั้งใจจะบังคับให้นายควงลาออกแล้วตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และขอให้พระองค์เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาเมื่อคณะอภิรัฐมนตรีขอพบจอมพล ป.

จอมพล ป. ก็มาพร้อมกับหลวงกาจซึ่งเป็นคนสนิท และหลวงกาจบอกแก่คณะอภิรัฐมนตรีว่าทหารจะไม่ยอมรับใครเป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากจอมพล ป. แม้กรมพระยาชัยนาทฯ จะทักท้วงว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นคนอื่น เนื่องจากจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่แล้วก็ตาม 

[“He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshall was accompanied by general luang Kach. Field Marshall talked at length situation in Siam, menace of Chinese and communists, and Rangsit said he talked very intelligently. Prince Rangsit described developments which forced resignation Khuang and said Council now faced with problem appointing new Prime Minister. At this juncture Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-In-Chief Army someone else perhaps more suitable as Prime Minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”]

ทำให้ในที่สุดหลังจากที่คณะอภิรัฐมนตรีอภิปรายกันแล้วก็ต้องยอมให้แก่แรงกดดันและเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ – เอกสารชิ้นนี้รายงานว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่า ทรงรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นโศกนาฎกรรมสำหรับประเทศสยาม และคนที่เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดต่อประเทศคือกลุ่มผู้ติดตามทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองที่รายล้อมรอบตัวจอมพลป. ซึ่งเป็นคนที่ไร้ศีลธรรม 

[“Prince Rangsit described these developments as real tragedy for Siam and said greatest danger lay in group of unscrupulous followers both military and political now surrounding Field Marshall.”] 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง" 

- เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่าจอมพล ป. ‘น่าจะ’ ประสบความยุ่งยากในการตั้งรัฐบาล” [“He anticipated Field Marshall would experience difficulty in forming government”] 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพระองค์ยืนกรานกับเขาว่าคณะรัฐมนตรีต้องประกอบด้วยคนดี [“He, Prince Rangsit, had insisted that cabinet must consist of good men.”] 

และทรงยอมรับว่า “ไม่ได้ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่จอมพลป. และรัฐบาลของเขาจะถูกโค่นล้มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” [“not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time.”] 

สำหรับ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป – เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่าพระองค์ทรงกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐสภาโดยเฉพาะวุฒิสภาจะตอบโต้กลับด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. เนื่องจากท่านทรงทราบองค์ประกอบที่เป็นอยู่ของรัฐสภาและทราบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่สนับสนุนนายควงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง  ดังนั้นจึงอาจลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. 

[“attitude of parliament particularly Senate which is largely pro-Khuang, also uncertain and rather than and risk vote no confidence by fighting parliament”] 

และท่านก็ได้กล่าวตามมาด้วยว่า จอมพล ป. อาจจะเลือกใช้วิธียุบสภาหรืออย่างน้อยก็ยกเลิกวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลของตนมั่นคงจากการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ 

[“Phibun may seek dissolution present parliament or at least of Senate by putting pressure on Supreme State Council which appointed Senate”] 

ซึ่งเท่ากับพระองค์เองก็ตระหนักอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้อาจอยู่รอดได้

ดังที่อ้างไปแล้ว ซึ่งเท่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทรง “มีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ทั้งวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเห็นได้จากเอกสารชิ้นต่อไปว่าพระองค์แทบไม่มีศรัทธาเท่าใดนักเสียด้วยซ้ำ 

ดังนั้น กรณีนี้ก็อีกเช่นกันที่ผมอยากจะกล่าวว่า ถ้า อ.ณัฐพลทำงานแบบที่อ้างไว้เกี่ยวกับวิธีวิทยาโดยให้ความสำคัญกับบริบทในการตีความจริง ๆ ก็ควรยกบริบทและปัจจัยแวดล้อมมาชี้ให้เห็นแบบชัด ๆ เลยว่าเพราะเหตุใดจึงควรเชื่อว่าท่านมีการกระทำเช่นนี้จริง โดยไม่ต้องหลบอยู่หลังคำรายงานของสแตนตัน (อีกแล้วครับท่าน)  ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้วว่าความจริงแล้วเขาก็ไม่ได้รายงานแบบนั้นด้วย 

อนึ่ง อยากเสริมว่า ตัวสแตนตันเองเขากล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “เขารู้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยความเสียดายอย่างยิ่งว่าเป็นการใช้กำลังโดยพลการ” [“I said I most unhappy at turn of events and knew US government could only view this further instance arbitrary use force with great regret.”] 

แต่คิดว่า อาจารย์ณัฐพลคงไม่สนใจท่าทีของสแตนตันต่อรัฐประหารที่กระทำโดยจอมพล ป. เท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับรัฐประหารที่อาจารย์ยัดเยียดให้ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงรับรอง ‘อย่างแข็งขัน’ ใช่ไหม? 

แล้วก็มาถึงเอกสารชิ้นที่สามคือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, บันทึกบทสนทนาระหว่างพระองค์เจ้ารังสิตกับสแตนตัน วันที่ 9 เมษายน 1948 เอกสารชิ้นนี้มีเนื้อความซ้ำกับเอกสารชิ้นที่สามค่อนข้างมาก จะมีจุดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีที่ใดเลยที่สแตนตันรายงานว่ากรมขุนชัยนาททรง (ก) พยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร 

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” 

เอกสารชิ้นนี้บันทึกคำกล่าวของพระองค์ว่า ทรงผิดหวังที่จอมพล ป. ไม่สามารถรักษาคำพูดและควบคุมคนของเขาได้ดังที่เคยให้ไว้กับพระองค์และคนอีกหลาย ๆ คนว่า เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และทรงกล่าวว่าพระองค์รู้สึกว่า จอมพล ป และผู้สนับสนุนของเขาได้ทำความผิดพลาดที่เป็นอันตรายในการที่จู่ ๆ ก็ไล่รัฐบาลที่พวกเขาเองเป็นผู้สร้างขึ้นและชื่อเสียงของนายพลรวมทั้งเกียรติยศของพวกของเขาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้ม และ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เอกสารชิ้นนี้รายงานว่าทรงแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลของจอมพล ป. น่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยทรงอธิบายว่าจอมพล ป. เป็นคนทะเยอทะยาน และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็เป็นแบบเดียวกัน และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำลายตัวจอมพล ป. เอง และเมื่อสแตนตันสอบถามพระองค์ว่าทรงคิดว่าจอมพล ป. จะสามารถพึ่งการสนับสนุนของรัฐสภาได้มากหรือไม่ ทรงตอบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่ไม่เอาจอมพล ป. แต่สภาผู้แทนราษฎรนั้น พระองค์คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะสภาแห่งนี้ไม่ใคร่จะมีความรู้ความสามารถเท่าใดนัก 

บวกกับมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วย จึงคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นเมื่อจอมพล ป. ขอมติไว้วางใจจากพวกเขา และจะไม่ทรงแปลกใจเลยหากมีการเพิ่มแรงกดดันให้คณะอภิรัฐมนตรีต้องยุบวุฒิสภาเป็นอย่างน้อยซึ่งจะลดความเสี่ยงที่พิบูลจะถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ 

“(I inquired whether he thought Phibun could count on much parliamentary support. Prince Rangsit replied that so far as the Senate was concerned sentiment there was largely anti-Phibun and pro-Khuang. As for the lower house he seemed to think that anything could happen and went on to explain that the caliber of members of the lower house was pretty poor and many of the members open to corruption. He said it was really difficult to say what might happen if Phibun appeared before parliament as now constituted and ask for vote of confidence. He said it would not surprise him if further pressures were brought on the council to dissolve at least the Senate which then would lessen the risk of a non-confidence vote. (It will be recalled that following the coup d’état of November 8 the Senate was appointed by the supreme council of state)”

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงมีความคิดจะกำจัดจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจสอบความถูกต้องในการอ้างอิงทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

‘ประเด็น กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีความคิดที่จะกำจัด จอมพล ป.’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ในหนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>> จุดที่ 1 หน้า 66

“พระองค์ [กรมขุนชัยนาทนเรนทร] แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ภายหลังการรัฐประหารว่า ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ เลย ทรงเห็นว่าขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup (Malaysia: Faculty of Social Sciences and Humanities, Universiti Kebangsaan Malaysia, 1988 หน้า 49.)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 71

“ทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก ที่เดียวกัน หน้าเดียวกัน)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารที่ ณัฐพล ใจจริง อ้างถึงจากทั้งหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และวิทยานิพนธ์ของเขา ณัฐพลได้เลือกใช้หนังสือของนักประวัติศาสตร์ชาวมาเลเซีย Nik Mahmud คือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup โดยเขาได้อ้างจากหน้า 49 ทั้งในหนังสือ ‘ขุนศึกฯ’ และวิทยานิพนธ์ข้างต้น พบว่า 

ไม่มีคำที่กล่าวใดในหน้า 49 นี้ หรือในส่วนใดจากเนื้อความจากหนังสือตลอดทั้งเล่ม ที่ Nik Mahmud เขียนว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. แต่อย่างใด

เราขอให้ผู้อ่านพิจารณาจากประโยคที่ Nik Mahmud อ้างจากรายงานการเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทฯ ของ  Sir Geoffrey Thompson ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า…

“He said that he would never trust Pibul who, like Pridi was very much at the mercy of certain extremely unscrupulous persons. He intimated that the longer the present Cabinet remained dependent upon Pibul for protection, the more difficult they would find it to shake him off.”

แปลได้ว่า “พระองค์ตรัสว่า ทรงไม่เชื่อใจ จอมพล ป. ผู้ซึ่งก็เหมือนกับปรีดี ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกคนฉ้อฉล พระองค์ยังทรงตรัสเป็นนัยอีกด้วยว่า ยิ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังขึ้นอยู่กับความคุ้มครองของจอมพล ป. อีกนานเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพบว่ามันเป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะสลัดจอมพล ป. ออกไปด้วยเท่านั้น”

จากข้อความข้างต้น สามารถย้อนกลับไปพิจารณาและวิเคราะห์การใช้เอกสารอ้างอิงอย่างวิชาการของณัฐพล ใจจริง ที่สามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นย่อย ดังนี้

ประเด็นที่ 1. กรมขุนชัยนาทฯ (ทรง) ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ (อ้างอิงถูกต้อง)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง ตรงตามข้อมูลที่หนังสือของ Nik Mahmud จะเอื้ออำนวย กล่าวคือไม่มีการตีความและขยายความเกินกว่าหลักฐาน ประเด็นนี้จึงไม่เป็นปัญหา

ประเด็นที่ 2. รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ (อ้างอิงถูกบางส่วน)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงถูกต้อง ‘เพียงบางส่วน’ (partial) เพราะหนังสือของ Nik Mahmud ในหน้านี้ ระบุเพียงว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเชื่อว่า รัฐบาลนายควงถูกคณะรัฐประหารครอบงำจริง แต่ไม่มีเนื้อความใดในเอกสารในส่วนนี้ระบุถึงกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์’ ว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายควงเลย ถ้าณัฐพลจะอ้างข้อความตรงนี้ ก็ต้องอ้างจากส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้ที่มีข้อความเช่นนี้ประกอบ จึงสรุปว่าประเด็นที่ 2 นี้ ‘อ้างอิงถูกต้องเพียงครึ่งเดียว’

ประเด็นที่ 3. กรมขุนชัยนาทฯทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. (ไม่มีข้อความตามปรากฏ)

สำหรับประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่จะสนับสนุนข้อความที่ ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.’ อยู่เลย พบแต่เพียงการกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ อาจจะพบความยากลำบากในอนาคต ถ้าหากยังคงอาศัยอิทธิพลของจอมพล ป. ต่อไป

หากอนุมานตามข้อความนี้ ก็จะพาไปสู่ทางออกที่ว่า หากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ต้องการเป็นอิสระจากจอมพล ป. ก็ต้อง ‘สลัด/กำจัด/ขจัด’ จอมพล ป. ออกไป (shake him off)  

ข้อเสนอเช่นนี้ก็เป็นที่ประจักษ์โดยกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามวิถีประชาธิปไตยของนายควงในเวลาต่อมา 

การพยายามสลัด/ขจัดอิทธิพลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร 2490 ดังกล่าว เป็นผลสำเร็จโดยการชนะเลือกตั้งของนายควงและประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต่างชาติสำคัญ ๆ เช่น อเมริกาและอังกฤษ รับรองสถานะของรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหาร 2490 

ต่อมาไม่นานได้เกิด ‘เหตุการณ์จี้ควง’ โดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เพื่อบีบนายควงออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็เชิญจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

และในอีก 3 ปีต่อมาจอมพล ป. ก็ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจให้มากขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 

ผลจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยยาวนานสืบเนื่องจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 

ควรบันทึกด้วยว่า การใช้คำว่า ‘กำจัด’ ซึ่งมีความหมายในทางที่ลบกว่า ‘สลัด’ หรือ ‘ขจัด’ ของณัฐพล ใจจริงนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องการที่จะ ‘กำจัด’ จอมพล ป. จริง ๆ

ทั้งที่คำดั้งเดิมและบริบทของประโยคนั้น ควรจะใช้คำว่า ‘สลัด’ เสียให้พ้นทางเท่านั้น 

อีกทั้งประธานของคำกริยาดังกล่าว คือ ‘They’ ก็มีนัยหมายถึงบุคคลที่สามคือนายควงและรัฐบาลของเขา ไม่ได้หมายถึงตัวของกรมขุนชัยนาทฯ เองแต่อย่างใด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top