กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว  10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ความถูกต้องทางวิชาการในงานของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของณัฐพล ใจจริง ปรากฎในหนังสือ: ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2556 และ 2564) พบประเด็นดังกล่าวถึง 5 จุด ดังนี้

>>​จุดที่ 1 หน้า 44

“ควรบันทึกด้วยว่า ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กรมขุนชัยนาทฯ หนึ่งในสองคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534) หน้า 96-100.

>> จุดที่ 2 หน้า 121
“การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Edwin F. Stanton, Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World (New York: Harper & Brothers Publishers, 1956, 209-210.)

>>จุดที่ 3 หน้า 122
“ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียว” (ขอความนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง เพราะเขาเท้าความจากหน้าก่อน)

>>จุดที่ 4 หน้า 168
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 ของคณะรัฐประหารจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 109.)

>>จุดที่ 5 หน้า 228
“วันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ทำให้การรัฐประหารนี้ราบรื่น” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 96-100.) 

หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>​จุดที่ 1 หน้า 60
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ณัฐพล อ้างจากจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100. แต่ในงานของ สุธาชัย ไม่มีคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ดังที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ของ ณัฐพล)

>>จุดที่ 2 หน้า 69 
ปรากฏภาพกรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมคำอธิบาย ว่า “พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ข้อความตรงนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง แต่เป็นการดึงความมาจากข้อความในจุดที่ 1 หน้า 60 และไม่ปรากฏคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ เช่นกัน)

>> จุดที่ 3 หน้า 266 (‘บทสรุป’ ของหนังสือของ ณัฐพล)
“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล ไม่ได้อ้างอิง เพราะเป็นการสรุป และ ณัฐพล ยังคงย้ำคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ในส่วนนี้)

>>จุดที่ 4 หน้า 342 (นามานุกรม)
“ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงหนึ่งเดียวในสามคนที่ลงนามรับรองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490” (ก็มีความคลาดเคลื่อน! เนื่องจากผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีสองท่านเท่านั้น) 

ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล 
​วิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>>​จุดที่ 1 หน้า 63
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างอิงจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100.)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
​1. จากการตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงที่ณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นหลัก คือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณัฐพลได้ใช้ฉบับตีพิมพ์คนละครั้งในการอ้างอิง คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์ปี พ.ศ. 2534) ถูกอ้างอิงในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 

ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2550) ถูกอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่ณัฐพลเขียนเสนอแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ แผนชิงชาติไทย (ทั้ง 2 ฉบับ) พบว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เขียนถึงประเด็น ‘ลงนามผู้เดียว’ ไว้จริง แต่ไม่ได้ถึงกับขยายพฤติกรรมของกรมขุนชัยนาทฯ เสียจนเกินจริงถึงขนาดว่าทรง ‘รับรองแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ อย่างที่ณัฐพลใช้แต่อย่างใด 
โดย สุธาชัย บรรยายไว้เพียงว่า

“น.อ. กาจ เก่งระดมยิง พร้อมด้วย พ.ท.ถนอม กิตติขจร รีบนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปหาพระวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ซึ่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการให้ลงพระนามประกาศใช้” 

ในหน้า 97 ในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 และในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2550 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวเช่นเดียวกันในหน้า 98 และ

​“การประกาศใช้ (รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการที่ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนามด้วย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา” หน้า 109 ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 (ข้อความส่วนหลังนี้ ณัฐพล ตัดออกหลังจากได้กล่าวว่าพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย)

​จากข้อความต้นฉบับทั้ง 2 ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุถึงข้อเท็จจริงเพียงว่า…

1. คณะรัฐประหารต้องการให้ทั้งกรมขุนชัยนาทฯ และพระยามานวราชเสวี ทั้ง 2 พระองค์/ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 (ฉบับตุ่มแดง)

2. แต่คณะรัฐประหารได้เดินทางไปถึงวังของกรมขุนชัยนาทฯ เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ลงนาม (อย่างไม่ได้เต็มใจนัก-รายละเอียดอ่านจากประเด็นรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันในครั้งก่อน)

3. สุธาชัย ระบุเพียงว่าพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนามด้วย (แต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ลงนาม)

4. สุธาชัย ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา ​แต่ณัฐพล ใจจริง กลับหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาตีความขยายเสียจนมีความหมายไปคนละทาง!

กล่าวคือ เขาระบุเพียงว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ เฉย ๆ หรือกระทั่งขยายให้ใหญ่โตไปถึงขั้นว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียวอย่างรวดเร็ว’

ซึ่งเกือบทุกจุดที่ ณัฐพล กล่าวในประเด็นนี้ ย้อนกลับสู่การอ้างอิงจากงานเขียน แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเท่านั้น (มีอ้างของ Stanton แค่ครั้งเดียว) และในจำนวนหลายครั้งในหน้าหลัง ๆ เป็นการกล่าวถึงแบบลอย ๆ ไม่มีเชิงอรรถหรืออ้างอิงประหนึ่งว่าการที่ ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ (อย่างรวดเร็ว) เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบอีกแล้ว

​ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สุธาชัย ระบุไว้ชัดเจนว่า…
คณะรัฐประหารต้องการให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 ลงนาม แต่เมื่อกรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว (อย่างไม่ได้เต็มพระทัยนัก) คณะรัฐประหารก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุว่า สุธาชัย ไม่ได้ระบุว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ นี่อาจเป็นช่องว่างให้ ณัฐพล เข้าใจผิดไปเองตามธงในใจที่มีอยู่แล้ว และนำช่องว่างนี้มาตีความขยายจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

​เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยในประเด็นย่อยที่ สุธาชัย ไม่ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ 

ในชั้นต้น ได้พบข้อความดังกล่าวอย่างละเอียดในเอกสารร่วมสมัยในเวลานั้น คือ หนังสือสารคดีการเมืองที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2493 ชื่อ ‘ประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมูนิสต์’ เขียนโดย คนสภา (นามปากกา) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ในการปฏิวัติวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไว้อย่างละเอียดว่า…

ภายใต้คณะของหลวงกาจสงครามพร้อมกำลังนายร้อยทหาร 20 คน เมื่อให้กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว

​“หลังจากนี้คณะผู้แทนรัฐประหารก็ได้มุ่งตรงไปยังบ้านพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถนนสาธร เพื่อจะให้ลงนามด้วยอีกคนหนึ่ง แต่พอเข้าไปถึงบ้านพระยามานวราชเสวีแล้ว พระยามานวราชเสวีไม่เต็มใจลงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​ชะรอยพระยามานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายจะนึกเหยียดในใจ หรือทราบแล้วแน่ว่า ถ้าลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใต้ตุ่มแดงนี้ อาจจะผิดแน่ ๆ เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ (ชาติเสือต้องไว้ลาย) เลยหลบหนีออกไปทางหลังบ้านเสีย ทำให้ท่านหัวหน้าตุ่มแดงหน้าแห้งกลับมากองอำนวยการ ณ กระทรวงกลาโหม.” (ดูหน้า 284-285)

​รายละเอียดดังกล่าวแยกเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า
1. คณะรัฐประหารเดิมทีมีความตั้งใจจะให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 พระองค์/ท่าน ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญ

2. กรมขุนชัยนาทฯ รับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงออกมาจากวังตอนเวลาตีสองกว่า เพื่อไปบ้านพระยามานวราชเสวีต่อ

3. พระยามานวราชเสวี รู้ตัวก่อน จึงแอบหนีออกจากบ้านไปก่อนที่คณะรัฐประหารจะเดินทางมาถึง

4. คณะรัฐประหารจึงได้มาเพียงแค่พระนามของกรมขุนชัยนาทฯ แต่เพียงพระองค์เดียว

5. ความรับผิดในการรับรองรัฐธรรมนูญจึงมาตกกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่ได้ลงนามไปแล้วเพียงพระองค์เดียว

​ทั้ง 5 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 3, 4 และ 5 จึงสามารถตอบคำถามที่ สุธาชัย ค้างไว้ในประเด็นว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ได้อย่างหมดจด (evidently) การณ์จึงกลับ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ หากเทียบกับข้อความของ ณัฐพล ใจจริง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ ณัฐพล พยายามทำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเชื่อว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญเพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ จึงเป็นการกล่าวไม่หมดและจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากหนังสือของสุธาชัยที่เขาอ้าง รวมไปถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเสนอนี้ 

การทำการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงโดยอาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นการอยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่วายชนม์ไปแล้ว 

​กล่าวโดยสรุป ณัฐพล ใจจริง พยายามอธิบายประหนึ่งว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทั้งรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันและรับรองรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว (อย่างรวดเร็ว)” โดยเขาพยายามโยนความรับผิดชอบในการรับรองรัฐประหารให้ตกแก่กรมขุนชัยนาทฯเพียงพระองค์เดียว อย่างที่หลักฐานประจักษ์ว่า ณัฐพลได้ ‘ตอกย้ำ’ บทบาทสำคัญของกรมขุนชัยนาทฯ ในประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก (นับได้เป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง) และทำขนาดถึงว่าต้องนำไปเขียนใส่ไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ว่า…

“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (หน้า 266)​

การระบุไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือเช่นนี้ ย่อมจะมองเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้ นอกจาก ณัฐพล พยายามขับให้บทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ สูงเด่น ‘ในแง่ลบ’ เพราะทรง ‘ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ แต่ข้อความดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’

​ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักอ่าน หรือนักวิชาการจะทราบดีว่า ในส่วนของบทสรุปของหนังสือวิชาการ มีความสำคัญเพียงใดต่อหนังสือทั้งเล่ม!! ตลอดจนถึงการนำเสนอประเด็นทางวิชาการนั้น ๆ ทั้งที่ข้อเท็จในเหตุการณ์คืนวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลักฐานระบุเพียงว่า

1. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องลุกขึ้นมากลางดึก (ตอนตี 1)
2. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกใช้กำลังบังคับให้ลงนามรัฐธรรมนูญ โดยคณะของหลวงกาจสงครามและ ‘นายร้อย 20 คน’
3. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่เต็มพระทัยที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญ 2490 (แต่จำใจต้องกระทำ)
4. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกปรักปรำว่าสนับสนุนและต้องรับผิดชอบกับการรัฐประหาร เพียงเพราะเหตุว่าผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่อยู่บ้าน
5. แต่กระนั้น กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่ได้กระทำรับรองรัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะปรากฏว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผู้รับสนองฯ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งจะกล่าวในวาระต่อไป)

​ควรบันทึกด้วยว่า ณัฐพล ใจจริง ได้พยายามเน้นประเด็น ‘ลงนามรับรองแต่เพียงผู้เดียว’ อย่างยิ่ง 
โดยในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ นั้น ณัฐพลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ‘5 ครั้ง’ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กล่าวไว้ ‘3 ครั้ง’ และในวิทยานิพนธ์เพียง 1 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกขยายมากขึ้นและพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทกรมขุนชัยนาทฯ ว่ามีส่วนในการทำให้รัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำเร็จไปได้ และในหนังสือ ขุนศึกฯ นั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการรับรอง ‘อย่างรวดเร็ว’ เพียงครั้งเดียวในบทสรุป แต่ไม่ปรากฏในที่อื่น ๆ ด้วย


ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย