Thursday, 9 May 2024
กรมขุนชัยนาทนเรนทร

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ -  ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

จากที่ได้โพสต์การตรวจสอบงานเขียนของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ไปเมื่อโพสต์ก่อนหน้าแล้ว

ต่อกรณีที่ ณัฐพลเขียนบิดเบือนให้ ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันและรวดเร็ว’ นั้น

ด้านอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ให้ความเห็นต่อข้อความของ Edwin F. Stanton ที่ว่า…

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist”

ที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ แปลว่า “ต่อมา The Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) ได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติที่สุด หากจำใจต้องยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่คุณก็ทราบดี’ และพระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าอีกว่า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ’”

ซึ่งย่อมไม่สามารถสื่อว่า กรมขุนชัยนาทฯ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันได้

แต่อาจารย์สมศักดิ์ ให้ความเห็นแย้ง ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ว่า “บทบาทของกรมขุนชัยนาทในการรับรองรัฐประหารนั้น เท่าที่ ‘โต้แย้ง’ มา ผมว่ายังอ่อนนะ"

โดยอาจารย์สมศักดิ์เห็นว่าข้อความที่ Edwin Stanton กล่าวว่า กรมขุนชัยนาทฯ ตรัสให้เหตุผลในการจำใจยอมรับรัฐประหารนั้น 

“เป็นการแก้ตัวตามสไตล์ที่เราเห็นกันอยู่”

หลังจากที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้อ่านความเห็นดังกล่าวของอาจารย์สมศักดิ์ ก็ได้ส่งข้อความมาถึงผมว่า…

“ทุ่นดำทุ่นแดงได้ฝากมาบอกว่า ให้อาจารย์สมศักดิ์ลองไปอ่านหนังสือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup ของ Nik Mahmud ดู (ได้แนบเอกสารหน้าที่อยากให้อาจารย์ดูมา) หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่ณัฐพลใช้ แต่เขาดันตัดวลี ‘โดนจี้’ ออก ลองอ่านนะครับ

“[Prince Rangsit] had been forced practically at the point of a tommy gun”

อาจารย์คิดว่า ประโยคข้างต้น แปลหรือสื่ออะไรครับ ?

แล้วดูประโยคที่ยกมาเองนะครับ ‘acquiesce’ ตาม Cambridge หมายความว่า “to accept or agree to something, often unwillingly”

ถ้าอาจารย์มีอะไรที่มีน้ำหนักและน่าสนใจกว่า ก็โพสต์มาได้เลยครับ 
และพวกเราจะโพสต์แยกถึงอาจารย์อีกอันนะครับ 

ขอบคุณครับ ที่มาร่วมวง

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว  10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ความถูกต้องทางวิชาการในงานของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของณัฐพล ใจจริง ปรากฎในหนังสือ: ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2556 และ 2564) พบประเด็นดังกล่าวถึง 5 จุด ดังนี้

>>​จุดที่ 1 หน้า 44

“ควรบันทึกด้วยว่า ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กรมขุนชัยนาทฯ หนึ่งในสองคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534) หน้า 96-100.

>> จุดที่ 2 หน้า 121
“การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Edwin F. Stanton, Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World (New York: Harper & Brothers Publishers, 1956, 209-210.)

>>จุดที่ 3 หน้า 122
“ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียว” (ขอความนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง เพราะเขาเท้าความจากหน้าก่อน)

>>จุดที่ 4 หน้า 168
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 ของคณะรัฐประหารจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 109.)

>>จุดที่ 5 หน้า 228
“วันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ทำให้การรัฐประหารนี้ราบรื่น” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 96-100.) 

หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>​จุดที่ 1 หน้า 60
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ณัฐพล อ้างจากจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100. แต่ในงานของ สุธาชัย ไม่มีคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ดังที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ของ ณัฐพล)

>>จุดที่ 2 หน้า 69 
ปรากฏภาพกรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมคำอธิบาย ว่า “พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ข้อความตรงนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง แต่เป็นการดึงความมาจากข้อความในจุดที่ 1 หน้า 60 และไม่ปรากฏคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ เช่นกัน)

>> จุดที่ 3 หน้า 266 (‘บทสรุป’ ของหนังสือของ ณัฐพล)
“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล ไม่ได้อ้างอิง เพราะเป็นการสรุป และ ณัฐพล ยังคงย้ำคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ในส่วนนี้)

>>จุดที่ 4 หน้า 342 (นามานุกรม)
“ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงหนึ่งเดียวในสามคนที่ลงนามรับรองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490” (ก็มีความคลาดเคลื่อน! เนื่องจากผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีสองท่านเท่านั้น) 

ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล 
​วิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>>​จุดที่ 1 หน้า 63
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างอิงจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100.)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
​1. จากการตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงที่ณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นหลัก คือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณัฐพลได้ใช้ฉบับตีพิมพ์คนละครั้งในการอ้างอิง คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์ปี พ.ศ. 2534) ถูกอ้างอิงในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 

ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2550) ถูกอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่ณัฐพลเขียนเสนอแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ แผนชิงชาติไทย (ทั้ง 2 ฉบับ) พบว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เขียนถึงประเด็น ‘ลงนามผู้เดียว’ ไว้จริง แต่ไม่ได้ถึงกับขยายพฤติกรรมของกรมขุนชัยนาทฯ เสียจนเกินจริงถึงขนาดว่าทรง ‘รับรองแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ อย่างที่ณัฐพลใช้แต่อย่างใด 
โดย สุธาชัย บรรยายไว้เพียงว่า

“น.อ. กาจ เก่งระดมยิง พร้อมด้วย พ.ท.ถนอม กิตติขจร รีบนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปหาพระวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ซึ่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการให้ลงพระนามประกาศใช้” 

ในหน้า 97 ในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 และในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2550 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวเช่นเดียวกันในหน้า 98 และ

​“การประกาศใช้ (รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการที่ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนามด้วย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา” หน้า 109 ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 (ข้อความส่วนหลังนี้ ณัฐพล ตัดออกหลังจากได้กล่าวว่าพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย)

​จากข้อความต้นฉบับทั้ง 2 ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุถึงข้อเท็จจริงเพียงว่า…

1. คณะรัฐประหารต้องการให้ทั้งกรมขุนชัยนาทฯ และพระยามานวราชเสวี ทั้ง 2 พระองค์/ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 (ฉบับตุ่มแดง)

2. แต่คณะรัฐประหารได้เดินทางไปถึงวังของกรมขุนชัยนาทฯ เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ลงนาม (อย่างไม่ได้เต็มใจนัก-รายละเอียดอ่านจากประเด็นรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันในครั้งก่อน)

3. สุธาชัย ระบุเพียงว่าพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนามด้วย (แต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ลงนาม)

4. สุธาชัย ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา ​แต่ณัฐพล ใจจริง กลับหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาตีความขยายเสียจนมีความหมายไปคนละทาง!

กล่าวคือ เขาระบุเพียงว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ เฉย ๆ หรือกระทั่งขยายให้ใหญ่โตไปถึงขั้นว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียวอย่างรวดเร็ว’

ซึ่งเกือบทุกจุดที่ ณัฐพล กล่าวในประเด็นนี้ ย้อนกลับสู่การอ้างอิงจากงานเขียน แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเท่านั้น (มีอ้างของ Stanton แค่ครั้งเดียว) และในจำนวนหลายครั้งในหน้าหลัง ๆ เป็นการกล่าวถึงแบบลอย ๆ ไม่มีเชิงอรรถหรืออ้างอิงประหนึ่งว่าการที่ ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ (อย่างรวดเร็ว) เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบอีกแล้ว

​ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สุธาชัย ระบุไว้ชัดเจนว่า…
คณะรัฐประหารต้องการให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 ลงนาม แต่เมื่อกรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว (อย่างไม่ได้เต็มพระทัยนัก) คณะรัฐประหารก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุว่า สุธาชัย ไม่ได้ระบุว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ นี่อาจเป็นช่องว่างให้ ณัฐพล เข้าใจผิดไปเองตามธงในใจที่มีอยู่แล้ว และนำช่องว่างนี้มาตีความขยายจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

​เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยในประเด็นย่อยที่ สุธาชัย ไม่ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ 

ในชั้นต้น ได้พบข้อความดังกล่าวอย่างละเอียดในเอกสารร่วมสมัยในเวลานั้น คือ หนังสือสารคดีการเมืองที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2493 ชื่อ ‘ประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมูนิสต์’ เขียนโดย คนสภา (นามปากกา) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ในการปฏิวัติวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไว้อย่างละเอียดว่า…

ภายใต้คณะของหลวงกาจสงครามพร้อมกำลังนายร้อยทหาร 20 คน เมื่อให้กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว

​“หลังจากนี้คณะผู้แทนรัฐประหารก็ได้มุ่งตรงไปยังบ้านพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถนนสาธร เพื่อจะให้ลงนามด้วยอีกคนหนึ่ง แต่พอเข้าไปถึงบ้านพระยามานวราชเสวีแล้ว พระยามานวราชเสวีไม่เต็มใจลงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​ชะรอยพระยามานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายจะนึกเหยียดในใจ หรือทราบแล้วแน่ว่า ถ้าลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใต้ตุ่มแดงนี้ อาจจะผิดแน่ ๆ เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ (ชาติเสือต้องไว้ลาย) เลยหลบหนีออกไปทางหลังบ้านเสีย ทำให้ท่านหัวหน้าตุ่มแดงหน้าแห้งกลับมากองอำนวยการ ณ กระทรวงกลาโหม.” (ดูหน้า 284-285)

​รายละเอียดดังกล่าวแยกเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า
1. คณะรัฐประหารเดิมทีมีความตั้งใจจะให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 พระองค์/ท่าน ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญ

2. กรมขุนชัยนาทฯ รับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงออกมาจากวังตอนเวลาตีสองกว่า เพื่อไปบ้านพระยามานวราชเสวีต่อ

3. พระยามานวราชเสวี รู้ตัวก่อน จึงแอบหนีออกจากบ้านไปก่อนที่คณะรัฐประหารจะเดินทางมาถึง

4. คณะรัฐประหารจึงได้มาเพียงแค่พระนามของกรมขุนชัยนาทฯ แต่เพียงพระองค์เดียว

5. ความรับผิดในการรับรองรัฐธรรมนูญจึงมาตกกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่ได้ลงนามไปแล้วเพียงพระองค์เดียว

​ทั้ง 5 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 3, 4 และ 5 จึงสามารถตอบคำถามที่ สุธาชัย ค้างไว้ในประเด็นว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ได้อย่างหมดจด (evidently) การณ์จึงกลับ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ หากเทียบกับข้อความของ ณัฐพล ใจจริง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ ณัฐพล พยายามทำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเชื่อว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญเพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ จึงเป็นการกล่าวไม่หมดและจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากหนังสือของสุธาชัยที่เขาอ้าง รวมไปถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเสนอนี้ 

การทำการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงโดยอาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นการอยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่วายชนม์ไปแล้ว 

​กล่าวโดยสรุป ณัฐพล ใจจริง พยายามอธิบายประหนึ่งว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทั้งรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันและรับรองรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว (อย่างรวดเร็ว)” โดยเขาพยายามโยนความรับผิดชอบในการรับรองรัฐประหารให้ตกแก่กรมขุนชัยนาทฯเพียงพระองค์เดียว อย่างที่หลักฐานประจักษ์ว่า ณัฐพลได้ ‘ตอกย้ำ’ บทบาทสำคัญของกรมขุนชัยนาทฯ ในประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก (นับได้เป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง) และทำขนาดถึงว่าต้องนำไปเขียนใส่ไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ว่า…

“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (หน้า 266)​

การระบุไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือเช่นนี้ ย่อมจะมองเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้ นอกจาก ณัฐพล พยายามขับให้บทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ สูงเด่น ‘ในแง่ลบ’ เพราะทรง ‘ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ แต่ข้อความดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’

​ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักอ่าน หรือนักวิชาการจะทราบดีว่า ในส่วนของบทสรุปของหนังสือวิชาการ มีความสำคัญเพียงใดต่อหนังสือทั้งเล่ม!! ตลอดจนถึงการนำเสนอประเด็นทางวิชาการนั้น ๆ ทั้งที่ข้อเท็จในเหตุการณ์คืนวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลักฐานระบุเพียงว่า

1. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องลุกขึ้นมากลางดึก (ตอนตี 1)
2. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกใช้กำลังบังคับให้ลงนามรัฐธรรมนูญ โดยคณะของหลวงกาจสงครามและ ‘นายร้อย 20 คน’
3. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่เต็มพระทัยที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญ 2490 (แต่จำใจต้องกระทำ)
4. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกปรักปรำว่าสนับสนุนและต้องรับผิดชอบกับการรัฐประหาร เพียงเพราะเหตุว่าผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่อยู่บ้าน
5. แต่กระนั้น กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่ได้กระทำรับรองรัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะปรากฏว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผู้รับสนองฯ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งจะกล่าวในวาระต่อไป)

​ควรบันทึกด้วยว่า ณัฐพล ใจจริง ได้พยายามเน้นประเด็น ‘ลงนามรับรองแต่เพียงผู้เดียว’ อย่างยิ่ง 
โดยในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ นั้น ณัฐพลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ‘5 ครั้ง’ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กล่าวไว้ ‘3 ครั้ง’ และในวิทยานิพนธ์เพียง 1 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกขยายมากขึ้นและพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทกรมขุนชัยนาทฯ ว่ามีส่วนในการทำให้รัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำเร็จไปได้ และในหนังสือ ขุนศึกฯ นั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการรับรอง ‘อย่างรวดเร็ว’ เพียงครั้งเดียวในบทสรุป แต่ไม่ปรากฏในที่อื่น ๆ ด้วย

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทำตัวแทรกแซงการเมืองดุจกษัตริย์ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

ทำไม 2 ปีกว่า จนบัดนี้ 

ในหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ฯ’ อ.ณัฐพลไม่แก้ ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทฯ แทรกแซงการทำงานของคณะรัฐมนตรี จอมพล ป.’ ที่ อ.ณัฐพลเขียนว่าพระองค์เข้าไปประชุม ครม. แต่ไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวในแหล่งอ้างอิง? 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 63 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหน้าที่ 3 ลงชี้แจงข้อมูลในกรอบแดง ระบุว่า “ขอชี้แจงกรณีข่าวเมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) ('Post' clarifies article from 1950)” โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยรายงานข้อมูลที่นายณัฐพล ใจจริง อ้างอิงในวิทยานิพนธ์การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

“จากการที่เชิงอรรถ (วิทยานิพนธ์) อ้างอิงถึงข่าวในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย ...บางกอกโพสต์ขอชี้แจงว่า หนังสือพิมพ์ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าวตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือนายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา” นสพ.บางกอกโพสต์ระบุ พร้อมตีพิมพ์ข่าวฉบับเต็มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ให้อ่านอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในหน้าที่ 124 ของหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2556 ย่อหน้าหนึ่งระบุข้อความว่า

“การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก...”

ทั้งนี้ นักวิชาการควรช่วยหาคำตอบตรงนี้ และหาทางออกร่วมกัน 
สามารถฟังการบรรยายได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=1-WHryPHPDM 

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงมีความคิดจะกำจัดจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจสอบความถูกต้องในการอ้างอิงทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

‘ประเด็น กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีความคิดที่จะกำจัด จอมพล ป.’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ในหนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>> จุดที่ 1 หน้า 66

“พระองค์ [กรมขุนชัยนาทนเรนทร] แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ภายหลังการรัฐประหารว่า ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ เลย ทรงเห็นว่าขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup (Malaysia: Faculty of Social Sciences and Humanities, Universiti Kebangsaan Malaysia, 1988 หน้า 49.)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 71

“ทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก ที่เดียวกัน หน้าเดียวกัน)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารที่ ณัฐพล ใจจริง อ้างถึงจากทั้งหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และวิทยานิพนธ์ของเขา ณัฐพลได้เลือกใช้หนังสือของนักประวัติศาสตร์ชาวมาเลเซีย Nik Mahmud คือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup โดยเขาได้อ้างจากหน้า 49 ทั้งในหนังสือ ‘ขุนศึกฯ’ และวิทยานิพนธ์ข้างต้น พบว่า 

ไม่มีคำที่กล่าวใดในหน้า 49 นี้ หรือในส่วนใดจากเนื้อความจากหนังสือตลอดทั้งเล่ม ที่ Nik Mahmud เขียนว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. แต่อย่างใด

เราขอให้ผู้อ่านพิจารณาจากประโยคที่ Nik Mahmud อ้างจากรายงานการเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทฯ ของ  Sir Geoffrey Thompson ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า…

“He said that he would never trust Pibul who, like Pridi was very much at the mercy of certain extremely unscrupulous persons. He intimated that the longer the present Cabinet remained dependent upon Pibul for protection, the more difficult they would find it to shake him off.”

แปลได้ว่า “พระองค์ตรัสว่า ทรงไม่เชื่อใจ จอมพล ป. ผู้ซึ่งก็เหมือนกับปรีดี ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกคนฉ้อฉล พระองค์ยังทรงตรัสเป็นนัยอีกด้วยว่า ยิ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังขึ้นอยู่กับความคุ้มครองของจอมพล ป. อีกนานเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพบว่ามันเป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะสลัดจอมพล ป. ออกไปด้วยเท่านั้น”

จากข้อความข้างต้น สามารถย้อนกลับไปพิจารณาและวิเคราะห์การใช้เอกสารอ้างอิงอย่างวิชาการของณัฐพล ใจจริง ที่สามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นย่อย ดังนี้

ประเด็นที่ 1. กรมขุนชัยนาทฯ (ทรง) ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ (อ้างอิงถูกต้อง)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง ตรงตามข้อมูลที่หนังสือของ Nik Mahmud จะเอื้ออำนวย กล่าวคือไม่มีการตีความและขยายความเกินกว่าหลักฐาน ประเด็นนี้จึงไม่เป็นปัญหา

ประเด็นที่ 2. รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ (อ้างอิงถูกบางส่วน)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงถูกต้อง ‘เพียงบางส่วน’ (partial) เพราะหนังสือของ Nik Mahmud ในหน้านี้ ระบุเพียงว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเชื่อว่า รัฐบาลนายควงถูกคณะรัฐประหารครอบงำจริง แต่ไม่มีเนื้อความใดในเอกสารในส่วนนี้ระบุถึงกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์’ ว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายควงเลย ถ้าณัฐพลจะอ้างข้อความตรงนี้ ก็ต้องอ้างจากส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้ที่มีข้อความเช่นนี้ประกอบ จึงสรุปว่าประเด็นที่ 2 นี้ ‘อ้างอิงถูกต้องเพียงครึ่งเดียว’

ประเด็นที่ 3. กรมขุนชัยนาทฯทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. (ไม่มีข้อความตามปรากฏ)

สำหรับประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่จะสนับสนุนข้อความที่ ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.’ อยู่เลย พบแต่เพียงการกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ อาจจะพบความยากลำบากในอนาคต ถ้าหากยังคงอาศัยอิทธิพลของจอมพล ป. ต่อไป

หากอนุมานตามข้อความนี้ ก็จะพาไปสู่ทางออกที่ว่า หากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ต้องการเป็นอิสระจากจอมพล ป. ก็ต้อง ‘สลัด/กำจัด/ขจัด’ จอมพล ป. ออกไป (shake him off)  

ข้อเสนอเช่นนี้ก็เป็นที่ประจักษ์โดยกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามวิถีประชาธิปไตยของนายควงในเวลาต่อมา 

การพยายามสลัด/ขจัดอิทธิพลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร 2490 ดังกล่าว เป็นผลสำเร็จโดยการชนะเลือกตั้งของนายควงและประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต่างชาติสำคัญ ๆ เช่น อเมริกาและอังกฤษ รับรองสถานะของรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหาร 2490 

ต่อมาไม่นานได้เกิด ‘เหตุการณ์จี้ควง’ โดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เพื่อบีบนายควงออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็เชิญจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

และในอีก 3 ปีต่อมาจอมพล ป. ก็ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจให้มากขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 

ผลจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยยาวนานสืบเนื่องจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 

ควรบันทึกด้วยว่า การใช้คำว่า ‘กำจัด’ ซึ่งมีความหมายในทางที่ลบกว่า ‘สลัด’ หรือ ‘ขจัด’ ของณัฐพล ใจจริงนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องการที่จะ ‘กำจัด’ จอมพล ป. จริง ๆ

ทั้งที่คำดั้งเดิมและบริบทของประโยคนั้น ควรจะใช้คำว่า ‘สลัด’ เสียให้พ้นทางเท่านั้น 

อีกทั้งประธานของคำกริยาดังกล่าว คือ ‘They’ ก็มีนัยหมายถึงบุคคลที่สามคือนายควงและรัฐบาลของเขา ไม่ได้หมายถึงตัวของกรมขุนชัยนาทฯ เองแต่อย่างใด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top